#รีวิวอินเดีย 8 ข้อแบบจุ่มๆ ฉบับเด็กทุนเต็มจำนวน ป.ตรี เรียนฟรีที่เมืองปาร์ตี้ติดทะเล (Goa University)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครอยากเรียนต่อประเทศที่ไม่ไกล ได้ฝึกภาษาอังกฤษ และเจอประสบการณ์ครบรส อินเดียนับว่าติ๊กถูกทุกข้อเลยนะคะ เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จัก “พี่ฟ้า-นันธิดา  พรอินทร์” นักเรียนทุนรัฐบาลอินเดีย ที่เรียนจบ ป.ตรี Business Administration (Travel and Tourism) จาก Rosary College of Commerce and Arts  ของ Goa University  หรือ มหาวิทยาลัยรัฐในเมืองตาเลเกา (Taleigão) ประเทศอินเดีย 

จากตอนแรกที่คนรอบข้างไม่เชียร์และเจออุปสรรคระหว่างทางเยอะมากๆ แต่ในที่สุดเธอก็สามารถสมัครทุนนี้สำเร็จ และได้ไปเรียน ป.ตรี ที่ประเทศอินเดีย // เรื่องราวหลังจากนั้นเป็นยังไงบ้าง?  ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกไหมนะ?  ตามไปอ่านรีวิวกันเลยค่า

เว็บสาขา BA Travel & Tourism

1. เรียนสายวิทย์-คณิต แต่ติดใจภาษาอังกฤษทำไงได้!

ต้องเล่า background ก่อนว่า ม.ปลาย ฟ้าเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ชอบวิชาภาษาอังกฤษ มีความฝันอยากไปต่างประเทศ รู้จักเพื่อนต่างชาติกับวัฒนธรรมต่างๆ บนโลกค่ะ คิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญๆ น่าจะตอน ม.ต้น มีโครงการที่นักเรียน 1 คนในโรงเรียนจะได้ไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์ ฟ้าลองสมัครแล้วได้ไปจริงๆ หลังกลับจากทริปยิ่งรู้สึกมีไฟฝึกภาษาจริงจัง ส่วนใหญ่ฝึกจาก YouTube แปะโน้ตศัพท์ไว้ตามมุมต่างๆ ที่บ้าน และเคยเป็นตัวแทนจังหวัดศรีษะเกษไปแข่งภาษาอังกฤษที่กรุงเทพฯ ด้วย 

ตอนอยู่ไทยฟ้าจะรู้สึกตัวเองโชคไม่ดีและต้องดิ้นรน เห็นเพื่อนเก่งๆ เลือกเรียนวิทย์-คณิตก็เลือกตามเพราะอยากเป็นเด็กห้องเก่ง แต่เรียนไปแล้วก็ไม่มีความสุข ในขณะที่เรื่องการฝึกภาษาอังกฤษเราไม่เคยเหนื่อยเลย  พอถึงช่วงที่ต้องคิดเรื่องมหาวิทยาลัย และมีข้อจำกัดเรื่องเงิน ทำให้อยากลองขอทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ 

จริงๆ ดูไว้หลายที่ แต่ตัดสินใจเลือก “อินเดีย” เพราะอาจารย์ที่สอนสังคมเค้าเล่าถึงหลานชายที่ไปเรียนต่ออินเดีย ฟ้าฟังแล้วสนุกจนไปหาซื้อหนังสือมานั่งอ่านตามเลย แถมอาจารย์ก็ช่วยซ้ปพอร์ตเต็มที่ ให้หนังสือของอาจารย์เองและยืมหลานมาให้   ทำให้ค้นพบความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ค่าครองชีพไม่สูง เหมาะกับสายลุย ในขณะที่การศึกษาก็มีคุณภาพและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

(ว่าแล้วก็ขอขอบคุณอาจารย์ประสานศรี โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา มา ณ ที่นี้ด้วยค่า)

Photo by Naveed Ahmed on Unsplash
Photo by Naveed Ahmed on Unsplash

2. ขั้นตอนไม่ยาก แต่กว่าจะเป็นเด็กทุน ไม่ง่าย

อย่างที่รู้กันว่าคนไทยเรามักได้ยินชื่อเสียงของประเทศอินเดียในแง่ลบ คนเราข้างเราก็มีทั้งไม่เข้าใจ เป็นห่วง ไม่เชียร์ให้ไปเท่าไหร่ ฟ้าเลยต้องมั่นคงกับจุดยืนและพยายามมากเป็นพิเศษ สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่รู้สึกคิดถูกและภูมิใจกับตัวเองที่สุดในชีวิต จบมาแบบไม่มีหนี้ติดพัน แล้วยังได้ภาษา ได้คอนเน็กชัน เพิ่มโอกาสหางานอีกเยอะมากๆ 

ข้อดีของทุนรัฐบาลอินเดียคือเรียนมหาวิทยาลัยรัฐฟรี ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด มีเงินให้ใช้จ่ายเป็นรายเดือนประมาณครั้งละ 18,000 รูปี (≈ 8,000 บาท) ตอนนั้นฟ้าไปอยู่หอพักรวมของมหาวิทยาลัย อาหารและของใช้ที่ต้องซื้อก็ราคาไม่แพง แทบจะเก็บเงินทั้งหมดไว้เที่ยวอย่างเดียวได้เลย

ประสบการณ์ขอทุนก็เรียกว่าสู้ชีวิตตั้งแต่ขั้นตอนส่งเอกสาร อย่างแรกคือต้องมีใบตรวจสุขภาพ ฟ้าอยู่ต่างจังหวัด จำได้ว่าไปหลายโรงพยาบาลกว่าจะเจอที่เค้าสามารถช่วยออกเอกสารสำหรับการคนที่ขอทุนได้ เพราะเป็นเคสที่เค้าไม่ค่อยเจอ

และอีกปัญหานึงคือ Recommendation Letter ฟ้าเกือบหาครูที่จะเขียนให้ไม่ได้ เพราะเขาอยากให้เรากลับไปตัดสินใจใหม่ดีๆ จะไปประเทศนี้จริงเหรอ (ร้องไห้เลยตอนนั้น TT) จนมาให้ครูสังคมที่เล่าเรื่องหลานชายช่วยเขียนฉบับภาษาไทยให้ แล้วเราเอามาแปลเป็นภาษาอังกฤษ + เอาไปให้อาจารย์เซ็นรับรองค่ะ

นอกจากนี้คือฟ้าพยายามปรึกษาอาจารย์กับรุ่นพี่ทุนอินเดียด้วย อย่างครั้งนึงก็ไปคุยกับพี่หนิงที่บูทปรึกษารุ่นพี่งานแฟร์ Dek-D ซื้อแนวข้อสอบมานั่งทำ เข้ากรุงเทพฯ มาสอบข้อเขียน และผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ สำหรับเรื่องการสอบคิดว่าไม่ยากถ้าเตรียมตัวมาดีและมีเป้าหมายชัดเจน

3. Go to 'Goa' เมืองปาร์ตี้ติดทะเล

ในใบสมัครทุน จะให้เลือกสาขาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการไปเรียนต่อ 3 ที่ค่ะ ฟ้าเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลว่าเมืองไหนปลอดภัยและเหมาะกับการไปเรียนต่อบ้าง และเลือกสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมทั้ง 3 มหาวิทยาลัยในรัฐบังกาลอร์ (Bengaluru), ปูเณ่ (Pune) และโกอา/กัว (Goa)

ผลคือติดทั้ง 3 ที่ คือจริงๆ ใจเราได้หมด แต่มาเลือกที่ Goa University  ที่รัฐโกอาค่ะ

  • โกอา หรือ กัว  เป็นรัฐที่เล็กที่สุดในอินเดีย และอยู่ติดทะเล (นั่งรถ 20 นาทีถึง) บรรยากาศคล้ายๆ  จ.ภูเก็ต หรือ จ.กระบี่ ของบ้านเรา  เป็นจุดหมายฮิตที่ชาวอินเดียหรือชาวต่างชาติชอบมาเที่ยวและปาร์ตี้
  • ด้วยความที่ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวเยอะ คนที่นี่จะไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงอินเดียเท่าไหร่
  • ปัจจุบันยังมีกลิ่นอายของศิลปะ ภาษา และวัฒนธรรมของโปรตุเกสอยู่ด้วย เพราะครั้งหนึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสประมาณ 400 กว่าปี  และได้รับเอกราชในปี 1961
  • ในเมืองมีคนอัฟกานิสถานเยอะมาก เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากพวกเขาค่ะ แล้วโชคดีมากที่เขาเองก็ชอบคนไทยเหมือนกัน
บรรยากาศเมืองโกอา
บรรยากาศเมืองโกอา
Palolem Beach is one of the most beautiful beaches in Goa.
Palolem Beach is one of the most beautiful beaches in Goa.
Photo by Sumit Sourav on Unsplash
Baga beach, Panaji , Goa, India
Baga beach, Panaji , Goa, India
Photo by Sarang Pande on Unsplash

4. ปรับตัวกับเรื่องภาษา การใช้ชีวิต และวิธีเรียนที่ไม่คุ้นเคย

ช่วงแรกที่มาถึงก็เจอ homesick คิดถึงบ้าน แล้วเจอรสชาติความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องจัดการหลายๆ ด้วยตัวเอง (อันดับแรกที่ต้องทำคือไปเปิดบัญชีธนาคารกับออกใบเช่าบ้านก่อนนะคะ)

ฟ้าเลือกโปรแกรม ป.ตรี Business Administration (Travel and Tourism) โดยรวมคิดว่าเป็นการเรียนที่หนัก แต่วิชาเรียนสนุกเยอะ ป.ตรี เรียน 3 ปี แต่จะมีช่วงปิดเทอมสั้นๆ 10 วัน ตอนฟ้าเรียนมีตั้งแต่ 8.00-14.00 น. หยุดแค่วันอาทิตย์ แต่วันหยุดนักขัตฤกษ์คือฉ่ำมากกก!! บางทีตามไม่ทันว่าช่วงนี้คนเค้ากำลังทำอะไรบ้าง

วิชาเรียนประมาณไหน?

ภาพรวมปีแรกเป็นพื้นฐาน กับสถานที่ท่องเที่ยวในโกอา พอปี 2 ถอยออกมาเป็นภาพใหญ่ขึ้น เรียนสถานที่ท่องเที่ยวในอินเดีย และปี 3 จะมีให้เลือกลงไปอีก

มีวิชาแนว Soft Skills เช่น จิตวิทยาการบริการ (พอมาทำงานจริงต้องใช้เยอะมาก) หรือวิชาบริหารจัดการเวลา นอกจากนี้ฟ้ามีลงเรียนภาษาโปรตุเกส (ตอนปี 2) กับเยอรมัน (ตอนปี 3) เรียนเป็นขั้นพื้นฐาน ชอบนะแต่รู้สึกยากมากจริงๆ งานกลุ่มกับพรีเซนต์เยอะเหมือนกัน

รูปแบบการเรียนเป็นยังไงบ้าง?

ส่วนใหญ่อาจารย์จะเปิด VDO ให้ดูประกอบการสอน หรือบางวิชามีพาไปดูสถานที่จริง เช่น ฟ้ามีโอกาสได้ดูบ้านโปรตุเกส โบสถ์ศาสนาคริสต์ ฯลฯ  ในวิชาประวัติศาสตร์ 

ฟ้าคิดว่านักเรียนไทยมักจะเจอปัญหาคล้ายกันคือติดเขิน ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะตอนเรียนที่อินเดีย ลงเรียน 7 วิชาต่อปี มีพรีเซนต์เกือบ 30 ครั้ง และเป็นคะแนนกลุ่ม ถ้าเตรียมตัวมาไม่ดีอาจส่งผลกับคะแนนของเพื่อนๆ ได้ค่ะ

Rosary College Of Commerce and Arts @ Goa University, India
Rosary College Of Commerce and Arts @ Goa University, India
FB: rosarycollegenavelim 

5. นอกคลาสไม่มีคำว่าเบื่อ

  • ทางทุนจะมีช่วงที่จัดกิจกรรม Summer Camp และ Winter Camp มีให้เลือกหลายที่ เช่น มุมไบ (Mumbai), บังกาลอร์ (Bengaluru) ฯลฯ ฟ้าเลือกไป “มะนาลี” (Manali) ได้แต่งชุดส่าหรี่ และอีกที่คือ “ชิมลา” (Shimla) อากาศหนาวแต่สวยเวอร์ๆ ทั้งหมดนี้ฟรีหมดทั้งค่ารถ ค่าเที่ยว และอื่นๆ ได้เจอเพื่อนหลายเมืองหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อียิปต์ 
     
  • เป็นมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนความสามารถแต่ละคนเต็มที่  เปิดโอกาสให้ทำสิ่งที่ชอบ เช่น ประกวดเพนต์เล็บ แต่งชุดประจำชาติ ร้องเพลง วาดรูป ฯลฯ และจะมีกิมมิกเล็กๆ ตามเทศกาลให้เราทำสนุกๆ เช่น วันฮาโลวีน (Halloween) เดรสโค้ดคือแต่งชุดผีไปโรงเรียน ไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม
     
  • เพื่อนคอยช่วยกันตอนเรียนตลอด พอนอกคลาสก็ชอบชวนกันไปเที่ยวน้ำตก ทะเล (โกอาคือเมืองปาร์ตี้ริมทะเล) หรืออาจจะชวนทำอาหาร แต่งชุดประจำชาติอินเดีย ฯลฯ

6. ฝึกงานจังหวะโควิดระบาด!

ตอนเรียนฟ้ามีโอกาสได้ฝึกงานกับอาจารย์ที่เขาจัดตั้งธุรกิจ Travel Agency แต่พอเจอช่วง COVID-19 ธุรกิจก็เลยเงียบๆ อาจารย์ก็เลยมอบหมายหัวข้อให้เราไปค้นคว้าช่วงฝึกงาน เช่น ขั้นตอนสำหรับคนอินเดียที่อยากมาเที่ยวไทย หรือชาวต่างชาติที่อยากเที่ยวอินเดีย เป็นต้น

7.  การทำงานโรงแรมหลังจบ

คนที่จบสายนี้ไปต่อยอดได้หลากหลายสายงานมาก มีทั้งเพื่อนและรุ่นพี่ที่ไปทำงานโรงแรม แอร์โฮสเตส หรือทำงานในประเทศที่น่าสนใจ เช่น ดูไบ บาห์เรน อเมริกา ฯลฯ 

และตอนนี้ฟ้ากลับไทยมาแล้วค่ะ ปัจจุบันทำงานเป็น Receptionist ที่โรงแรมแห่งนึงในย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ สนุกเพราะเป็นงานที่ได้เจอชาวต่างชาติเยอะ และท้าทายตรงที่เราไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ที่จะเจอแต่ละวันได้ ต้องทำงานแบบใจเย็น รอบคอบ พยายามสังเกตและจดจำ เตรียมรับมือกับงานลูกค้าที่หลากหลาย  ฝึกฝนจากประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ค่ะ

8. #รีวิวอินเดีย แบบจุ่ม!!
สามปีเจอประมาณสามพันเรื่อง

  1. ประเทศอินเดียมีเสน่ห์ถ้าชอบก็ชอบสุดๆ หรือไม่ก็ตรงกันข้าม ถ้าเกิดอยู่อย่างสะดวกสบายมาก่อนอาจต้องปรับตัวเยอะ
     
  2. ความหลากหลายสูง ร้อยพ่อพันแม่​​ ทำให้ข่าวแง่ลบมากตามไปด้วย หลักๆ ที่อยากให้ระวังคือตอนเที่ยวคนเดียว เราอาจไม่ได้รู้สึกเหมือนมาคนเดียว แทบทุกที่เราจะเจอขอทาน คนไร้บ้าน เด็กเดินตามดึงแขนจับมือ อาจเจอตามตลาด ตอนนั่งกินข้าว หรือเจอพวกเขานอนตามที่สาธารณะ
     
  3. ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังชัดเจน คนที่ได้เรียนจะมีฐานะกลางๆ ไปจนถึงฐานะดี เท่าที่สังเกตคนที่รวยก็รวยสุด คนลำบากก็สุดอีกเหมือนกัน ทุกอย่างต้องสู้เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น เป็นเหตุผลนึงที่อยากเตือนให้ทุกคนระวังทรัพย์สินและการถูกเอาเปรียบ ถึงจะเป็นคนใกล้ตัวก็อย่าไว้ใจมากเกินไป พยายามเก็บหลักฐานเกี่ยวกับเงินไว้เพื่อเซฟตัวเอง
     
  4. เรื่องอาหารอินเดีย ถ้าใครชอบทานเนื้อไม่ต้องกังวล ส่วนใหญ่คนเมืองโกอาจะนับถือศาสนาคริสต์​ มีขายทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และอาหารทะเลทั่วไปเลย // เท่าที่อยู่มา 3 ปี เราว่าอาหารที่เมืองโกอาสะอาด แค่อาจจะไม่ได้เน้นตกแต่งหน้าตาอาหารให้สวยงาม
     
  5. เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนอาจต้องแยกกันเข้าร้านอาหาร เพราะเงื่อนไขต่างกัน เช่น มีทั้งเพื่อนที่เป็นมังสวิรัติ (Vegetarian), บางคนทานอาหาร Vegan หรืออย่างเราอยู่หอแล้วเจอแต่ผักจนเอียน ถ้าได้ไปข้างนอกก็จะหาเนื้อสัตว์บ้าง (เมนูแปลกใหม่สุดที่เคยทานคือข้าวหมกแกะ)
     
  6. หนังอินเดีย เราว่าสนุกถึงจะฟังไม่ออก ไม่ใช่แค่เล่นถึง เราว่าเล่นเกินมากกว่า ร้องเพลงกับเต้นทั้งเรื่อง (โรงหนังอินเดียมีพักเบรกด้วยนะ)
     
  7. คนอินเดียก็ชอบดาราไทยกันเยอะ ถ้าอยากหาหัวข้อคุยเพื่อเมกเฟรนด์ ลองชวนคุยเรื่องนี้ได้
     
  8. ที่อินเดียเจอวัวเป็นปกติ แล้วไม่น่าเชื่อเลยค่ะว่าชีวิตนี้ฟ้าจะเจอวัววิ่งไล่มาจนเกือบชน แต่ตอนนั้นยกกระเป๋ามากันไว้ทันแบบหวุดหวิด (รับบทมาทาดอร์) แล้วเจ้าของวัวก็มาพากลับไป
     
  9. ข้ามถนนที่อินเดียต้องใจกล้า ก้าวเท้าอย่างเด็ดเดี่ยว เพราะถ้ายืนรอดูเหมือนเขาจะไม่มีทางหยุดให้เลย แต่ถ้าครั้งไหนมีเพื่อนก็อุ่นใจ สามารถให้เขานำได้
     
  10. เคยเจอมอเตอร์ไซค์ขับตาม เค้าจอดเทียบข้างๆ แล้วถามว่า “กางเกงซื้อที่ไหน?” // ตกใจหมด!!
     
  11. เวลาไปชอปปิง แนะนำให้พาเพื่อนอินเดียไปด้วย แล้วจะเห็นทักษะการเจรจาต่อรอง​ราคาระดับแอดวานซ์
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น