ฮ่องกงก็โฮ่งเกิน! รีวิวส่งตรงจาก 'พี่โตน' คว้าทุนฟรีเรียน ป.ตรี Data Science ที่ CityU (+ชี้เป้าร้านหมูกรอบที่ถูกต้อง)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D  สำหรับใครที่กำลังมองหาสภาพแวดล้อมการเรียนที่ทันสมัย ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก รวมถึงเป็นตัวตึงด้านไอทีและการเงิน ไม่แน่ว่า "ฮ่องกง" อาจตอบโจทย์ก็ได้ค่ะ~ วันนี้เรามีรีวิวจาก "พี่โตน-ธีร์ธัช ภัทรวโรดม" หรือ T-touch (Tone) Pattaravarodom  ศิษย์เก่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ไปเรียนต่อ ป.ตรี BSc Data Sicence ที่ City University of Hong Kong (CityU) มหาวิทยาลัยดังของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

และปัจจุบันพี่โตนทำงานเป็นประธานกลุ่ม ATSHM Association of Thai Students in Hong Kong and Macau ด้วย ใครกำลังหาคอนเน็กชันและอยากติดตามว่ามีอีเวนต์อะไรจัดขึ้นตอนไหนบ้าง ห้ามพลาดเลย!

*บทความนี้อ้างอิงค่าเงิน 1 Hong Kong Dollar = 4.7 บาท (อัปเดตค่าเงินเมื่อ ก.ค. 2024)

Note: อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ทุนตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ "พี่โตน" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูทงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบตุลาคม 2024 ด้วยนะคะ (พบพี่โตนได้ในวันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair 

T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

. . . . . . . . .

1
บังเอิญรู้จัก & สมัครเรียน
และคว้าทุนเต็มจำนวน

สวัสดีครับ ชื่อพี่โตนนะครับ เรียนจบจาก  ป.ตรี Data Science (BA of Science) จาก City University of Hong Kong (CityU) ของฮ่องกงครับ  ตอน ม.ปลาย ผมเรียนสายวิทย์-คณิต โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ ปทุมธานี ตั้งใจจะเรียนต่อต่างประเทศมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ก็เลยหาทุน ป.ตรี ไว้หลายๆ ตัวเลือก และมารู้จักฮ่องกงมากขึ้นเพราะมหาวิทยาลัย CityUHK และ CUHK เคยมาประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียน

แล้วด้วยความที่ผมไปเข้าค่ายวิชาการมาเยอะมาก เช่น ค่ายสถาปัตย์, ค่ายมัลติมีเดีย, ค่าย IT Camp ของ สจล.ลาดกระบัง (KMITL), ค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกของ สอวน., ค่ายอบรมวิทยาศาสตร์ทางทะเล  ฯลฯ ทำให้ผมได้ค้นหาตัวเองว่าสนใจด้าน Data & IT ฟังจากรุ่นพี่อธิบายแล้วชอบ แล้วรู้สึกถึงแพสชันของเขาด้วย ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากและเก่งด้าน IT ก็คือ "ฮ่องกง" และเขาใช้เทคโนโลยีกับด้านการเงินซะเยอะ (FinTech) รวมถึงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารหลายแห่งด้วย ผมเลยดูเรื่องข้อมูลทุนกับหลักสูตรครับ // ปล. ถ้าใครสนใจสายนี้  ฮ่องกงกับสิงคโปร์ Financial Hub  ขนาดใหญ่ น่าสนใจทั้งคู่ครับ

Bright cityscape at night @ Hong Kong
Bright cityscape at night @ Hong Kong
Photo by Yun Xu on Unsplash

การสมัครเรียน

ต้องเล่าก่อนว่าระบบรับสมัครที่นู่นจะแยกกันระหว่างเด็กต่างชาติกับเด็กฮ่องกงเองนะครับ อย่างเช่นผมเป็นคนไทย ก็สมัครตรงผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยได้เลย บังคับยื่นคะแนน O-NET, แบบทดสอบภาษาอังกฤษ + Portfolio (วัดความสนใจของเรา) + ยื่นคะแนนอื่นๆ ได้ (​ถ้ามี) เอกสารหลักๆ ก็คือ Statement of Purpose (SoP) และมีสัมภาษณ์ 1 รอบ

*ด้วยความที่เขาพยายามดึงดูดนักเรียนระดับ Top-Tier เลยกำหนดให้ยื่นคะแนน  O-NET เพราะเป็นการสอบมาตรฐาน (Standardized Test) ที่สามารถวัด Percentile ได้ครับ 

ทาง CityU จะมีทุนหลายประเภทตั้งแต่ Top Scholarships, *Full Tuition Scholarships (ผมได้ทุนนี้)และ ทุน Half Tuition Scholarships กระบวนการพิจารณาเข้าเรียนและให้ทุนจะแยกกันต่างหาก คือ

  1. หากผู้สมัครได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียน (Acceptance Letter) หมายความว่า คุณได้เข้าเรียน
  2. หากผู้สมัครได้คะแนน O-NET และ IELTS ผ่านเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ หมายความว่า คุณได้ทุน โดยมหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้อัตโนมัติและไม่จำกัดจำนวนผู้ได้รับทุน

แชร์โพรไฟล์ตอนสมัคร

  • จบ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต เกรด 3.67
  • คะแนน IELTS 6.5+
  • O-NET Percentile 4 วิชา = 98
  • เคยเข้าค่ายวิชาการ และแข่งโครงการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมหลายงานทั้งในและนอกประเทศ เช่น YSC, ศิลปหัตถกรรม, วันวิทยาศาสตร์, Symposium เครือจุฬาภรณ์ (อันนี้ของไทย), IEI Guangzhou (กวางโจว ประเทศจีน), AIGC Singapore (สิงคโปร์) และ SSH Hokkaido (ญี่ปุ่น) ฯลฯ

Note: พี่โตนเคยแชร์คำแนะนำบนเว็บ Dek-D เทคนิคพิชิต Portfolio แบบไหนถูกใจกรรมการ ตามไปส่องกันนน >> https://www.dek-d.com/board/view/3983409  

เลือกมหาวิทยาลัยจากเหตุผลอะไรบ้าง?

  1. สภาพแวดล้อมนานาชาติ (International Environment)  ผมเลือก CityU เพราะอินเตอร์ครองอันดับต้นๆ ประมาณ 1st-2nd ของโลก
  2. อันดับสาขาที่สนใจ (Department / University Research Ranking) แนะนำว่าไม่ดู Rank รวมดีกว่า แต่ควรเจาะสาขา  ถึงจะสะท้อนคุณภาพคณะที่เราอยากเข้าจริง
  3. อาจารย์ผู้สอน (Professors) ลองเข้าไปอ่านประวัติอาจารย์ที่ทำรีเสิร์ชเก่งๆ ว่าเค้าสอนภาคอะไรที่ไหน เพราะเรามีโอกาสเจอเค้าได้ตั้งแต่ตอนเรีียน
  4. ทุนและค่าครองชีพ (Scholarships / Budget / Cost of living)

ตอนนั้นผมสมัครมหาวิทยาลัย แล้วติด 2 ที่คือ City University of Hong Kong (CityU) กับ The University of Hong Kong (HKU) 

สำหรับ CityU ผมได้ทุนเรียนฟรี + เงินใช้จ่ายชีวิตประจำวันเทอมละ 15,000 HKD หรือประมาณ 70,000 กว่าบาท มีการันตีได้อยู่หอในตอนปี 1-2 ส่วนปี 3-4  จะต้องแข่งขันหรือหาหอพักข้างนอก *ที่พักฮ่องกงราคาสูงมาก ถ้าหอในเฉลี่ยกับเพื่อนๆ จ่ายเดือนละประมาณ 2,000 HKD แต่หอนอก 4,000-7,000 HKD ครับ

Note: 

  • น้องๆ ม.ปลายที่กำลังตัดสินใจเรื่องเรียนต่อ เริ่มจากค้นหาตัวเองก่อน แล้วทำความเข้าใจสาย Tech ที่ตัวเองสนใจ จากนั้นไปเข้าค่ายและแข่งขันเพื่อเป็นหลักฐาน (Footprint) ว่าเราสนใจด้านนี้จริงๆ
  • เตรียมสอบภาษาอังกฤษ IELTS ≥ 6.5 และ ONET (Percentile มีผลต่อการพิจารณาทุน ตรวจสอบเกณฑ์ได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยครับ)
เช็กข้อมูลทุน International Students
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

. . . . . . . . .

2
เปิดชีวิตเด็ก Data Science 
ในรั้ว City University of Hong Kong

ภาพรวมและบรรยากาศที่ CityUHK

City University of Hong Kong หรือ CityUHK พื้นที่ในมหาวิทยาลัยอาจไม่กว้างใหญ่ถ้าเทียบกับที่อื่นในฮ่องกง ตึกเรียนแต่ละคณะจะกระจายตามโซน แต่สำหรับ Data Science ที่ผมเรียน จะอยู่ Main Campus  ที่เกาลูน (Kowloon)  ย่านที่มีความหลากหลายมากของฮ่องกง

  • ตัวอย่่างคณะเด่น  Global Business, Business, Finance หรือที่ผมเรียนคือ Engineer-Technology จากประสบการณ์รู้สึกประทับใจครับ อาจารย์สอนดีมากๆ ครับ
  • บรรยากาศนานาชาติ จำได้ว่าเดินเข้ามาวันแรกก็ได้ยินหลายภาษารอบทิศ เวลาเรียนเราก็จะได้ความรู้ที่ตั้งบนบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดิสคัสทีก็อย่างมันส์ แล้วในระหว่างปี CityU จะถูกเนรมิตบรรยากาศให้เป็นธีมวัฒนธรรมชาติต่างๆ อย่างกลุ่มนักเรียนไทยก็จัดใหญ่ในวันสงกรานต์
Cr. www.cityu.edu.hk
Cr. www.cityu.edu.hk

การปรับตัวช่วงแรกๆ

ตอนนั้นผมยื่นคะแนน IELTS 6.5 ผ่านเกณฑ์รับสมัครพอดี รู้สึกการเรียนไม่มีปัญหา แต่ผมว่าถ้าจะคล่องเลยควรได้ IELTS 7 ขึ้นไป เพราะอาจารย์ไม่นั่งอธิบายคำศัพท์เทคนิค (Techical-Term) อาจมีปูพื้นฐานก่อน แล้วเราควรจะทบทวนก่อนเข้าเรียนด้วย

ในมหาวิทยาลัยการสอนและแทบทุกกิจกรรมจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้  ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องได้ภาษาจีนแมนดาริน/จีนกลาง กับ จีนกวางตุ้ง และไม่มีอะไรที่เราเข้าไม่ถึง แต่ถ้าเป็นนอกมหาวิทยาลัย ถ้าแนะนำว่าถ้าได้ภาษาจีนกวางตุ้งบ้างก็จะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น สั่งของ สั่งข้าว ติดต่อธุระ ฯลฯ  CityU มีคอร์สให้เราลงเรียน (ไม่บังคับ) เดี๋ยวจะมีรีวิวเล็กน้อยในหัวข้อต่อไป

https://www.sdsc.cityu.edu.hk/
https://www.sdsc.cityu.edu.hk/ 

เรียนประมาณไหน?

Bachelor of Science in Data Science เป็นหลักสูตร 4 ปี วิชาส่วนใหญ่ตัดผ่านที่ 30% ขึ้นไปครับ ช่วงปี 1-2 แทบทุกวิชาของ Computer Science เราจะได้เรียนคอนเซ็ปต์หมด  แล้วไปฝึกเขียนโค้ดเองนอกจากเวลาจากการบ้านหรือแบบฝึกต่างๆ และเก็บเกรดจากโค้ดดิ้งตรงนั้น พอขึ้นปี 3-4  เราจะเข้าใจไปอัตโนมัติเลยว่าเราจะใช้หลักการเลขเรื่องนี้เพื่ออธิบายตอนไหน  ดังนั้นการบ้านจะไม่ได้ยากมาก (เพื่อนๆ ในคลาสเป็นยอดมนุษย์กันหมด แต่ช่วยกันเรียนและแชร์ๆ กันเพราะ Professor จะค่อนข้างให้เราไปคิดต่อครับ)

เรื่อง Coding จะชำนาญได้ต้องอาศัยฝึกฝนเก็บประสบการณ์เยอะๆ เหมือนกับเราเขียนเสร็จแล้วปล่อยให้มัน run แล้วถ้าเกิดมี error ก็ไปดูว่าผิดตรงไหนแล้วไปแก้ นั่งเถียงกับโค้ด  มีแน่นอนที่รู้สึกกดดันและต้องลองผิดลองถูกหลายรอบ แต่พอมันสำเร็จแต่ละงานขึ้นมา โหฟินมาก!! มันโล่งใจ คุ้มค่า ความรู้สึกนี้น่าจะเป็นเหตุผลคนเลือกมาเรียนสายคอมพ์กัน 

// ทั้งนี้  Data Science  จะเน้นใช้ภาษาไพธอน (Python) ประยุกต์ได้ทุกสายที่มีการเก็บข้อมูล กลุ่มตลาดใหญ่ๆ ในไทยคือ Finance หรือ Business เพราะมีการทำรายการเกิดขึ้นตลอดเวลา

T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

ตัวอย่างวิชาในความทรงจำ

ว้าวสุดสำหรับผมคือวิชา  Human Contexts and Ethics in Data Science เรียนเกี่ยวกับจริยธรรมทางวิทยาการข้อมูล ถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งปกติจะต้องคิดในมุมศีลธรรมค่อนข้างเยอะ  ในวิชานี้เราจะได้ถกเถียงกันว่าสิ่งนี้สามารถทำได้ไหม ควรหรือเปล่า ควรทำในแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมั้ย  อาจเป็นทางการแพทย์ ทางศิลปะ ฯลฯ พอช่วงท้ายๆ คอร์สจะมีโต้วาทีด้วย  แต่ละคนได้โจทย์ ฟอร์มทีม เข้าคลาสแล้วเถียงกันเลย อย่างตอนนั้นผมได้หัวข้อเกี่ยวกับ AI ด้านการแพทย์ แล้วข้อมูลจะเซนซิทิฟมาก เราก็มาถกเถียงกันว่าควรใช้ Data Science เข้ามาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทยมั้ย เถียงเรื่องสิทธิการใช้ข้อมูลว่าเป็นของใคร 

วิชา Math & Computer ก็สนุก เพราะปกติ Data Science คือลูกผสมของ Math +  Computer อยู่แล้ว เราจะใช้เลขเพื่ออธิบาย How does the world work. ส่วนคอมพิวเตอร์คือเรียนเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คิดในหัว

วิชา Statistics รู้สึกเปิดโลกพอสมควร เพราะเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ด้วยตัวเลข สิ่งนี้มีโอกาสเกิดเยอะแค่ไหน มีทฤษฎีอะไรรองรับบ้าง

ผมมีข้ามไปลงวิชาฝั่ง Management  เรียนทฤษฎีวิชาการบริหารในสไตล์ของฮ่องกง โดยมีกรณีศึกษาและตัวอย่างจากอาจารย์หรือเพื่อนร่วมคลาสมาแชร์กัน เขาจะสาธิตว่าทฤษฎีนี้สามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์ไหน ฝึกวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เมื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ผมว่าการจัดการฮ่องกงจะไปทางสไตล์อเมริกาและมีความยุโรปสูง ตรงไปตรงมาและรวดเร็ว บางทฤษฎีอย่าง 'Sandwich Technique' ในแง่การจัดการและบริบทสังคมที่นี่ ไม่จัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แถมยังเปลืองเวลาสื่อสารด้วย เพราะต้องอารัมภบทกว่าจะพูดเข้าประเด็นหรือใจความสำคัญได้

วิชาภาษาจีน Mandarin for Foreign People กรองคนที่เริ่มจากศูนย์มาเรียนด้วยกัน ตัดเกรดโดยใช้การอิงเกณฑ์ อาจารย์ที่ผมเจอเค้าสอนดีมากๆ แนะนำหลักการเลยว่าต้องเรียนยังไง น่าจะเพราะภาษาจีนเป็นภาษาภาพ และคนจีนเค้ามีเทคนิคเยอะครับ แต่ละคาบนึงผมว่าน่าจะได้เพิ่มประมาณ​ 20 คำ ส่วนผลลัพธ์หลังเรียนจบ จากตอนแรกพูดได้แค่คำว่าสวัสดี (หนีห่าว) เรียนจบผมไปเที่ยวที่จีนได้แบบสบายๆ

T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

สนุกสุดและหนักสุดคือตอนไหน?

สนุกทุกครั้งที่ได้เรียนสิ่งที่ชอบ โดยเฉพาะวิชาแนวสถิติ (Statistics) หรือ จริยธรรม (Ethics) ฯลฯ ช่วยให้เรารู้ว่ามันสามารถมองในมุมนี้ได้ด้วย  ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาที่หนักสุดก็คือตอนได้เรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่เราทำเกรดให้ออกมาดีไม่ได้  เราจะตั้งคำถามกับตัวเองครับว่านี่เราชอบจริงมั้ย? ทำไมถึงทำไม่ได้? รู้สึกใจแป้วๆ Self-Doubt กระตุก แต่ก็มาคิดต่อว่า แล้วทำไมเราถึงต้องทำเกรดให้ออกมาดีขนาดนั้น? ปัจจัยอะไรทำให้เราคิดว่าต้องได้เกรดดี? เกรดสะท้อนความสามารถเราได้จริงหรือเปล่า? เราคุยกับตัวเองจนได้ข้อสรุปว่า ถ้าเกรดแย่แต่โลกยังไม่แตก ผมว่าช่างมันเถอะ อย่างน้อยเราได้เรียนสิ่งที่ชอบแล้วนะ

ตอนเรียนรู้สึกไม่ได้เคร่งเครียดขนาดนั้น แล้วเพื่อนก็ช่วยกันเรียนและแชร์ Sources ทำให้เกรดเราดีขึ้น  แต่มีช่วงที่รู้สึกกดดันเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนที่เกรดตกเหลือ 3.4 (ระบบที่ฮ่องกงเกรดเต็ม 4.3) แล้วเราจะต้องรักษาเกรดเพื่อไม่ให้หลุดทุน ซึ่งความใจดีอย่างนึงของ CityU คือถ้าตกเทอมนี้ มีเทอมหน้าให้แก้ตัวได้ครับ **อัปเดตข้อมูลปีการศึกษาที่จะถึง มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ที่ไม่หลุดทุนคือ 3.2 ครับ

ความประทับใจที่อยากแชร์

ส่วนใหญ่การเรียน 4  ปีนี้จะเป็น "งานกลุ่ม" เทอมนึงน่าจะมีเฉลี่ยประมาณ 5 วิชาได้ครับ ในทีนี้คือทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมเท่าๆ กัน  ถ้าเกิดมี Free Riders หรือประมาณว่าคนที่กินแรงเพื่อน ไม่ค่อยได้มาช่วย หรือช่วยน้อยมากๆ มีสัญญาณไม่ดีออกมาแค่นิดหน่อยก็สามารถแจ้งอาจารย์วิชานั้นได้เลย เค้าจะลงโทษจริงจัง ตักเตือนจริง หักคะแนนจริง

และด้วยความที่ผมเป็นนักเรียนรุ่นโควิด-19 ทำให้เจอการเรียนแบบ Online/Hybrid รู้สึกเลยว่ามหาวิทยาลัยจัดการดีมากๆ ทุกอย่างที่เป็นออนไลน์เค้าจะคอยอัปเดตตลอด มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ไม่รู้สึกว่าขาดอะไรจากประสบการณ์เรียนเลย (ยกเว้นเพื่อนที่ห่างหายกัน T-T)

หน้าเว็บไซต์ BSc Data Science โครงสร้างหลักสูตร

. . . . . . . . .

3
ทำงานและกิจกรรมนอกคลาส
เพิ่มโอกาสอีกหลายต่อ

  • ทำงานพิเศษ นักเรียนต่างชาติจะทำได้ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ผมรู้สึกตอนนั้นว่างเกิน อยู่ปี 1 แต่ยังกลับไทยไม่ได้ ก็เลยไปทำงานที่ร้านอาหาร ค่าจ้าง 70 HKD ต่อชั่วโมง  (ประมาณ 330 บาทไทย) ถ้าเทียบกับค่าครองชีพก็สมเหตุสมผล เพราะอาหารมื้อนึงก็ตกประมาณ 60 HKD 
     
  • ฝึกงาน 2 ที่คือ SCG ประเทศไทย (บริษัทใหญ่สวัสดิการดึ) และอีกที่คือ AI Mnemonics ของฮ่องกง เป็นฟีลสตาร์ตอัปมากกว่า ได้ทำอะไรเยอะมาก ผมว่าหัวหน้าผมใจดีและเปิดกว้าง แต่ก็จะเป็นสไตล์ฮ่องกงอย่างที่เล่าไปครับ คือเค้าจะคอมเมนต์งานแบบตรงไปตรงมา อยากให้ปรับปรุงตรงไหน Objective 1, 2, 3, 4... แล้วเราก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น
     
  • ฟอร์มทีมกับเพื่อนคนไทยไปแข่งสตาร์ตอัป CUPP หรือ Cyberport University Partnership Programme ผลคือชนะเงินรางวัล 100,000 HKD  ได้เงินทุนมาทำต่อ แล้วได้ไปเรียนคล้ายๆ  Business School ที่ Cambridge สหราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ เป็นเหมือนกับ Bootcamp ครับ

    ตอนนั้นไปแล้วชอบมากกเพราะมีพื้นฐาน Business แบบฮ่องกง แล้วเราไปเรียนผู้ประกอบการที่ UK อีกแบบนึง ดีมากกก เปิดอีกโลกของฝั่งยุโรป ซึ่งผมว่าฮ่องกงผสมผสานความเอเชียและยุโรป
     
  • ทำงานในชมรม TedXCityU  ช่วยประสานงานระหว่าง Speaker กับ Student Ambassador ตอนที่มีจัดทอล์กโชว์และเชิญวิทยากรมาพูดบนเวที นอกจากนี้ก็จะมีชมรม ThaiSoc City University of Hong Kong  และ เป็นประธานสมาคมนักเรียนไทยในฮ่องกง (Association of Thai Students in Hong Kong SAR and Macau SAR; ATSHM) ตอนนี้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว และมีการเลือกตั้งประธานเรื่อยๆ ครับ
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

. . . . . . . . .

4
บทบาทประธาน ATSHM 
สมาคมนักเรียนไทยในฮ่องกง

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อนผมเข้ามาเป็นหนึ่งใน Founding Cabinet ของสมาคม ATSHM  เมื่อปี 2012  มีนักเรียนไทยที่ฮ่องกงรวมตัวกันสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กประมาณ 15 คน และเพิ่มจำนวนรื่อยๆ เจนกระทั่งปี 2018 เกิดการประท้วงที่ฮ่องกง เด็กไทยถูกส่งกลับไทยและยกเลิกคลาสทั้งหมด แถมปีต่อมาก็มีโควิด-19 จากจีน ทำให้ทุกคนต้องปรับมาเรียนออนไลน์ครับ

จากก่อนหน้านี้นักเรียนไทยในฮ่องกงอยู่กันแบบหลวมๆ ก็มีการก่อตั้งสมาคม ATSHM ขึ้นเพื่อรวมกลุ่มให้แน่นหนา  โดยมีตำแหน่งการบริหารชัดเจน ปัจจุบันในกลุ่มมีประมาณ 130 คนแล้ว สำหรับหน้าที่ของประธานสมาคม จะคล้ายๆ ฝ่าย HR ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของทีม  หลักๆ คือแบ่งงาน External, ดูแลความเรียบร้อยของ Event คอยจัดประชุมให้คนในสมาคมเข้ามาอัปเดตงาน  ฯลฯ ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มคนไทยในฮ่องกงคือ  O-Camp, Virtual Info Sessions, งานในโอกาสต่างๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ, IG Thai Platform 

นอกจากนี้คือเป็นผู้ร่วมจัดงานกลุ่มคนไทยในหลายประเทศ คือ  Oversea Thai students: Virtual Career fair 2023, Networking in BKK 2024 และใน 28 มิถุนายน 2024 มีจัดงาน Thai Ties: Overseas Thai Student Networking แม่งานคือ Association of Thai Students In Singapore (ATSIS)  ครับ 


น้องๆ ทีมฮ่องกง หรืออยากเรียนต่อฮ่องกง สามารถติดตามกลุ่ม ATSHM Association of Thai Students in Hong Kong and Macau ได้ช่องทางไหนบ้าง?

Main Channel

Regularly

. . . . . . . . .

5
ว่าด้วยการทำงานหลังจบ
และแนวทางซัปพอร์ตของ CityU

หลังจบมีเวลาหางานกี่เดือน?

สรุปสั้นๆ คือถ้าตามกฎหมาย เด็กจบใหม่สามารถสมัครวีซ่า IANG (Immigration Arrangements for Non-local Graduates) ได้หลังจากเรียนจบ และสามารถอยู่ฮ่องกงหางานต่อได้อีก 2 ปีครับ 

มหาวิทยาลัยช่วยซัปพอร์ตการหางานยังไงบ้าง

  1. CityU Career and Leadership Centre (CLC): มีเซสชันจัดอบรมตลอดปี เช่น สัมภาษณ์งานทั้งเดี่ยวและกลุ่ม, เทรนการทำ CV และอื่นๆ
  2. ICT Internship Subsidy เค้าพยายามผลักดันและส่งเสริมให้นักเรียนออกไปทำ intern (=ฝึกงาน) ให้มากที่สุด กำหนดเงินเดือนที่ต้องได้ขั้นต่ำ 11,900 HKD แต่กรณีได้ไม่ถึง ไม่ว่าจะไปฝึกที่ไหน นักเรียนก็สามารถส่ง Report กลับมาที่มหา'ลัยได้ แล้วมหา'ลัยก็จะช่วยเติมส่วนต่างให้เลย
  3. Job Search after Graduations มีบริษัทติดต่อมา PR สรุปให้เลยว่าที่ไหน มีการคัดตามกระบวนการปกติ ไม่มีทางลัดหรือ Fast-Track ใดๆ
  4. มีประชาสัมพันธ์ Placement  Scheme ตั้งแต่ปี 1-2 เพื่อให้เตรียมตัว แล้วช่วงปี 3-4 บางธนาคารจะมีโครงการเปิดคล้ายๆ Intern แต่เป็นระยะยาว เหมือนให้ทดลองงานว่าโอเคมั้ย ได้รับ Offer หลังเรียนจบ

อัปเดตชีิวิตปัจจุบัน

เพิ่งรับปริญญาไปเมื่อ 21 Jun แล้วก็สมัครงานมาเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน 

แต่ล่าสุดได้งานที่ฮ่องกงแล้วครับ!

T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

. . . . . . . . .

6
รีวิวฮ่องกง
ข้อดีและเรื่องที่อยากให้เตรียมรับมือ

  1. ระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพติดอยู่ใน Top3 ของโลก  แม้ว่าข้าวของจะแพง แต่ค่าเดินทางทั้งประหยัด สะดวกสบาย ไปถึงได้ทุกที่ในฮ่องกง และยังมีเรตราคาสำหรับนักศึกษาด้วย เช่น ข้ามเกาะไปอีกฝั่งด้วยราคาประมาณ 20 บาทเท่านั้น
     
  2. East meet West, from far West to far East สังคมที่วัฒนธรรมตะวันออกและตกผสมผสานกันอย่างกลมกลืน บรรยากาศบ้านเมืองมีกลิ่นอายแบบหนังของ "หว่องกาไว" (Wong Kar-wai; 王家衛)  หรือหลุดเข้าไปในภาพยนตร์แนว "ไซเบอร์พังก์" (Cyberpunk) 
     
  3. วัฒนธรรมไทยกับฮ่องกงใกล้เคียงกัน และอยู่กันแบบครอบครัวสไตล์คนจีน  นึกภาพเยาวราชแบบมีความยุโรปก็ได้ครับ
     
  4. ด้วยความที่ฮ่องกงเป็นเมืองการค้าและมีการไหลเวียนทางการเงินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก สิ่งนี้ส่งผลมากต่อสังคม การดำเนินชีวิต และกรอบความคิดของผู้คน การสื่อสารต้องดัง-ไว-กระชับ  ไม่มีเวลาคำนึงถึงมารยาทและเรื่องพิธีรีตอง  
     
  5. ร้านอาหารไทยเยอะเพราะคนฮ่องกงชอบอาหารและวัฒนธรรมไทยประมาณนึง แต่ถ้าอาหารฮ่องกงเองจริงๆ จะค่อนข้างมัน และอาจมีเมนูอาหารฟิวชัน เช่น เอามักกะโรนีมาต้มแล้วใส่เบคอน หรือ ถ้าเป็นขนมของฮ่องกงที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ก็คือวาฟเฟิลกับทาร์ตไข่ฮ่องกง
     
  6. ของเด็ดที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือหมูกรอบที่ฮ่องกงอร่อยมาก!!!!! ยิ่งภัตตาคารจีนของ CityU หมูกรอบอร่อยสุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต (ใครอยากรู้พิกัด ทักมาส่วนตัวได้ เดี๋ยวพาเข้า)
     
  7. คนที่นี่แสดงความรักกันในที่สาธารณะแบบเปิดเผยมาก
     
  8. ไม่ค่อยใส่รองเท้าแตะ ไม่ใช่เพราะมันไม่สุภาพ แต่เค้ามองว่ามันไม่เก๋ไม่ trendy 
     
  9. ห้องน้ำไม่มีสายฉีดชำระ

แชร์วิธีประหยัด

  • หอนอกแพงมาก ดังนั้นถ้าอยู่หอในแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น และรายล้อมด้วยคนที่ใช้เงินแบบนักเรียนหรือคนที่ยังไม่มีรายได้เหมือนกัน
  • ทำอาหารเอง คนจะหมดเงินไปกับค่าอาหารมากกว่าค่าเรียนหรือของใช้ซะอีก
  • ถ้าเกิดลดรายจ่ายไม่ได้จริงๆ อาจมองหาช่องทางหารายได้ เช่น หางานพิเศษทำช่วงปิดเทอมฤดูร้อน หรือหางานทำในมหาวิทยาลัย
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn
T-touch (Tone) Pattaravarodom / LinkedIn

. . . . . . . . . . 

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับรุ่นพี่ดีกรีนักเรียนนอก
พบกันที่ไบเทคบางนา 12-13 ต.ค. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูทใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในฮ่องกง แคนาดา  ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ก็มาด้วยนะ

"พี่โตน" จะสแตนด์บายที่บูทปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2024 ในงานยังมีไฮไลต์สุดปังอีกเพียบ ห้ามพลาดนะคะ ~

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น