บันทึกเด็กทุนรัฐบาลเกาหลี: บินลัดฟ้าข้ามสายจาก ป.ตรี เอกไทย → ป.โท การสอนภาษาเกาหลี 'ม.แห่งชาติโซล' (SNU)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D  การเรียนก็เหมือนการเดินทาง สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางอาจพาเราจับพลัดจับผลูไปเจอสิ่งที่ใช่กว่าในอนาคตก็ได้นะคะ อย่างในวันนี้ เรามีเรื่องราวของ #ทีมเกาหลี "พี่ปุ้ย – พัชริฎา ขุนชุ่ม" รุ่นพี่คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ที่ตกหลุมรักภาษาเกาหลีหลังจากลงเรียนวิชาโท (Minor) ของมหาวิทยาลัย แล้วต่อมาก็ติดทุนรัฐบาลเกาหลี ป.โท (GKS-G Scholarships) โดยเธอยื่นสมัครผ่านสถานทูต (Embassy Track) และเรียนสาขาการสอนภาษาเกาหลีในฐานะชาวต่างประเทศ ในรั้ว ม.แห่งชาติโซล หนึ่งในกลุ่ม SKY ที่เป็นเป้าหมายของใครหลายคน

แน่นอนว่าเจอการเรียนที่ท้าทายมากก ทั้งเจอภาษาเกาหลี 100% เนื้อหาไปอีกขั้นที่ไม่ใช่การปูพื้นฐานเหมือน ป.ตรี และยังเป็นมหาวิทยาลัยที่แนวทางชัดเจนมากคือเน้นวิจัยเข้มๆ ใครกำลังตัดสินใจหาที่เรียนที่เหมาะกับตัวเอง ในนี้มีคำแนะนำมาฝากน้องๆ ด้วยนะคะ พร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยค่าา

[สำคัญมาก] บทสัมภาษณ์นี้อ้างอิงประสบการณ์เจ้าของเรื่องเท่านั้น กรุณาศึกษาระเบียบการปีที่ต้องการสมัครอย่างละเอียด เนื่องจากข้อมูลทุนและหลักสูตรอาจเปลี่ยนแปลงจากเดิมค่ะ

1. 

ก่อนจะมาสายเกาหลี 
พี่อยู่เอกไทยมาก่อน

สวัสดีค่า ชื่อ "พี่ปุ้ย-พัชริฎา" ค่ะ เรียนจบ ป.ตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกวิชาภาษาไทย ม.เชียงใหม่ (จบปี 58) นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี GKS ศึกษาต่อ ป.โท Korean Language Education as a Foreign Language  จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University)

จริงๆ เรียกว่าเป็นความโชคดีเหมือนกัน ตอนนั้นหลักสูตร ป.ตรี เอกภาษาไทย กำหนดว่าเราต้องลงวิชาโท (Minor) เป็นภาษาที่สาม เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสตอนหางาน ซึ่งพี่เลือกเกาหลี เพราะส่วนตัวชอบฟังเพลงและดูซีรีส์เกาหลีอยู่แล้ว สำเนียงและตัวอักษรของภาษาเกาหลีก็น่ารักดี  และมองว่าน่าจะเรียนแล้วเข้าใจง่ายที่สุด 

พอไปเจอคลาสแรกปรากฏว่าก็ง่ายจริง ได้ชีตคัดตัวอักษร เรียนแนะนำตัว ศัพท์พื้นฐาน  ฯลฯ แต่พอ Level 2 ก็จะซับซ้อนขึ้น มีระดับทางการ ผันรูปประโยคต่างๆ เข้ามาด้วย พี่ว่าจุดที่ทำให้หลายคนยอมแพ้กับการเรียนภาษานี้ ก็คือ "ไวยากรณ์" และ  "เนื้อหาแวดวงที่ไกลตัวเรา" แต่ข้อดีคือภาษาเป็นสิ่งที่เราหาความรู้เพิ่มนอกห้องได้ อาจจะจากอินเทอร์เน็ต หรือถามคนที่เก่งเรื่องนั้นๆ ค่ะ

พอปี 3 เรารู้ตัวแล้วว่าอยากเรียนการสอน  หลังจบ ป.ตรี ก็ไปสมัครเป็นครูภาษาไทยเพื่อเช็กให้แน่ใจว่าเราชอบจริงๆ แล้วเรายังรู้เป้าหมายชัดลงไปอีกคือ อยากเป็นครูสอนภาษาเกาหลี พี่ตัดสินใจหาทุนที่ทำให้เราได้ไปเรียนการสอนที่ประเทศเจ้าของภาษาเลย~

(ฮันบกครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ได้ใส่อีกเลยเพราะร้อนมากกก)
(ฮันบกครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ได้ใส่อีกเลยเพราะร้อนมากกก)

2. 

ยื่นสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี
เดินตามเป้าหมายไปอีกสเต็ป

พี่สมัครทุนรัฐบาลเกาหลี GKS-G ผ่านสถานทูต​ (Embassy Track) สามารถเลือกมหาวิทยาลัยได้ 3 อันดับ อันดับ 1-2 พี่เลือกเอกการสอนภาษาเกาหลีที่ Seoul National University และ Hankuk University of Foreign Studies ส่วนอันดับ 3 ตอนนั้นทุนมีกฎให้เราเลือก Type B ที่คณะต่างจาก 2 อันดับแรก ก็เลยไปลงการท่องเที่ยวไว้ค่ะ *แต่ปัจจุบันนี้ทุนเปลี่ยนเงื่อนไขแล้วว่าสามารถเลือกคณะเดียวกันได้

ขั้นตอนการสมัครทุนคร่าวๆ 

  1. ยื่นเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เค้าจะสกรีนเบื้องต้น
  2. พอผ่านรอบเอกสาร ก็เข้ารอบสัมภาษณ์  ตอนนั้นพี่เลือกพูดเป็นภาษาเกาหลี และจะเป็นรูปแบบออนไลน์เพราะตรงกับช่วงโควิด-19 พอดี
  3. เมื่อผ่านรอบสัมภาษณ์แล้ว เค้าจะส่งเอกสารที่สถานทูตฯ สกรีนไว้ในขั้นตอน 1. ไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณาและคัดเลือกเราอีกที
  4. การคัดเลือกของแต่ละที่จะแตกต่างกันค่ะ เช่น บางมหา'ลัยนัดสัมภาษณ์เรา แต่กรณีพี่ติด 2 มหาวิทยาลัยคือ ม.แห่งชาติโซล กับ ม.ฮันกุก ไม่มีให้สัมภาษณ์ แต่เค้าจะให้อาจารย์ที่ปรึกษาสกรีนเอกสารของเรา ถ้าอาจารย์ตอบรับ ก็จะส่งเมลมาแจ้งว่าเราผ่านการคัดเลือก
  5. เราต้องคอนเฟิร์มว่าจะตอบรับเข้าเรียนที่ไหน

โพรไฟล์ตอนที่ยื่นสมัคร

  • เกรดเฉลี่ยสะสม ป.ตรี 3.18
  • คะแนนภาษาเกาหลี TOPIK 1 ได้กึบ 2
  • คะแนนภาษาอังกฤษที่สอบกับมหาวิทยาลัย
  • แนบเกียรติบัตรที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเกาหลี (ตั้งแต่รู้ตัวว่าอยากเรียนต่อด้านนี้ ก็พยายามเข้าร่วมกิจกรรมที่โทภาษาเกาหลีจัด เช่น แข่งสุนทรพจน์ หรือกิจกรรมบัดดี้เกาหลี เราก็อาสาไปดูแลเทคแคร์ เพราะเราจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องภาษาและวัฒนธรรมไปด้วย
  • มีประสบการณ์เป็นติวเตอร์ สอนภาษาไทยให้คนเกาหลี/คนต่างชาติ

พี่รีเสิร์ชมาเยอะมากกๆ ว่าปีที่ผ่านมาเค้าเขียน Study Plan กันประมาณไหน อ่านมาเยอะจนสามารถตกตะกอนมาเป็นเวอร์ชันของเราเอง เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเป็นแรงจูงใจให้เราอยากเรียนต่อ ป.โท ด้านนี้ยังไงบ้าง, พูดถึงเรื่องวิจัย และสิ่งที่ตั้งใจจะทำตอนเรียนไปด้วย

ส่วน Statement of Purpose (SoP) คือการเขียนโน้มน้าวให้กรรมการเห็นตัวตนของเรา ที่ผ่านมาเจอประสบการณ์แบบไหน เราได้เรียนรู้ และเกิดแรงจูงใจที่จะทำอะไรต่อบ้าง

3. 

เช็กให้แน่ใจทั้งสไตล์มหาวิทยาลัย
หลักสูตร  และเงื่อนไขการจบ

ส่วนตัวพี่อยากแนะนำให้ตั้งมหาวิทยาลัยที่ชอบก่อน เพื่อให้มีกำลังใจสู้เวลาเจอเรื่องท้าทาย จากนั้นพพิจารณาหลักสูตรและเงื่อนไขการจบ ศึกษาอย่างละเอียดว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ ตรงกับสไตล์เราหรือเปล่านะคะ อย่างเช่น สาขาการสอนภาษาเกาหลีมีในหลายมหาวิทยาลัย เช่น Hongik University หรือ Sookmyung Women's University สามารถจบด้วยการทำวิจัยเหมือนกับ Seoul National University   แต่ก็จะมีีอีกกลุ่มที่เลือกวิธีจบได้ว่าจะทำวิจัยหรือออกไปฝึกสอน เช่น Yonsei University และ Ewha Womans University 

จากประสบการณ์พี่คือ ลืมสำรวจเรื่องสไตล์ของมหาวิทยาลัยค่ะ เพราะเราไม่ใช่คนชอบสายวิจัย แต่เลือก SNU ซึ่ง ม.นี้เน้นวิจัยมากกก แถมอันดับของ SNU อยู่สูงเพราะการทำวิจัย นั่นทำให้ ป.โท สำหรับพี่ต้องสู้ชีวิตพอสมควร  ㅠ_ㅠ  

Note: เงื่อนไขการจบที่ SNU มี 2 กรณีคือ ถ้าเรียน Coursework ครบและทำวิจัยจะได้วุฒิ ป.โท (Master Degree) แต่ถ้าจบเฉพาะ Coursework เราจะได้เป็นวุฒิ Certificate  ทั้งนี้ เราสามารถ hold ไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำวิจัยต่อให้สมบูรณ์ทีหลัง อย่างพี่ก็อยู่ขั้นตอนนี้ ฟีลๆ พี่หนีมาพักเติมไฟแล้วจะกลับไปทำธีสิสต่อเพื่อให้ได้วุฒิ ป.โท 

4. 

ก้าวแรกหลังบินตรงสู่เกาหลี
ปรับภาษา 1 ปีก่อนเริ่ม ป.โท

ทุนรัฐบาลเกาหลี GKS จะให้เราเรียนภาษา 1 ปีก่อนเริ่ม ป.โท แต่เขาจะไม่ได้จัดให้เราไปเรียนสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าตอน ป.โท นะคะ อย่างเช่นพี่ได้ไปเรียนสถาบันภาษาของ  Konyang University เมืองนนซาน (Nonsan) แต่ช่วงนั้นเจอโควิด-19 พอดี ก็เลยเป็นการเรียนทางออนไลน์ค่ะ

แต่ระหว่างเรียน ป.โท ถ้าใครอยากฝึกภาษาเกาหลีให้มั่นใจขึ้น ก็สามารถไปลงเรียนคอร์สของสถาบันภาษาของ ม.ที่เราเรียนได้นะ เขาจะมีวัดระดับก่อนเพื่อจัดห้อง และสอนตามหนังสือเลย

เจอช่วงโควิด-19  ตอนปีที่เรียนภาษาค่ะ
เจอช่วงโควิด-19  ตอนปีที่เรียนภาษาค่ะ
(ซ้าย) การดูแลตอนโควิดของมหา'ลัยที่ไปเรียนภาษา
บรรยากาศตอนเรียนภาษา
บรรยากาศตอนเรียนภาษา
วิวมหา'ลัยตอนเรียนภาษา
วิวมหา'ลัยตอนเรียนภาษา
เรียนภาษาออนไลน์ตอนเรียนภาษา (กิจกรรมวาดรูปวันฮันกึล)
เรียนภาษาออนไลน์ตอนเรียนภาษา (กิจกรรมวาดรูปวันฮันกึล)

5. 

ป.โท เรียนแบบคุยและตั้งคำถาม
เพื่อหาวิธีการสอนที่ได้ผล

สรุปภาพรวม

  • หลักสูตรนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่อยากมาตั้งต้นเรียนภาษาเกาหลี แนะนำให้พื้นภาษาเกาหลีมาก่อนทั้งศัพท์และไวยากรณ์ เพราะสิ่งที่จะเจอตอน ป.โท คือการต่อยอดความรู้เดิม เรียนเทคนิคการสอนสมัยใหม่ สื่อการสอน และพ่วงด้วยวัฒนธรรม  ยิ่งถ้ามีประสบการณ์สอนมาก่อนก็จะยิ่งเรียนได้สนุก 
     
  • ในทุกคลาสนักศึกษาจะได้อ่านวิจัยก่อนเพื่อเตรียมมาคุยและตั้งคำถามกันไปสู่ข้อสรุป  คำตอบจะไม่มีถูกผิด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราอิงจากงานวิจัยไหน เช่น  เคยมีการศึกษาวิจัยไวยากรณ์ภาษาเกาหลีเรื่องนี้ไว้ว่ายังไงบ้าง สอนแบบไหนถึงทำให้นักเรียนรับได้ดี, ถ้านักเรียนมีเป้าหมายแบบนี้ จะเหมาะกับวิธีสอนแบบไหน หรือช่วงอายุมีผลต่อการเรียนภาษาจริงมั้ย เป็นต้น
     
  • เราจะได้ทดลองสอนเพื่อนในคลาส 1-2 ครั้งต่อเทอม ตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย แล้วเพื่อนกับอาจารย์ก็จะให้ feedback เรากลับมาแก้แผนการสอนของตัวเองเพื่อส่งตอนปลายภาค ซึ่งที่นี่ทุกคนจะชอบการได้คำแนะนำ เพราะบ่งบอกได้ว่างานของเราน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปได้อีกค่ะ
     
  • แทบทุกวิชาจะมี adapt กับแผนการสอน มีวิชาแผนการสอนให้ลงเรียน  และมีกิจกรรมที่ให้เราไป Observe การสอนของสถาบันภาษา ม.แห่งชาติโซล (The SNU Korean Language Education Center)

ตัวอย่างวิชาที่ประทับใจ

1. วิชา " Studies in Teaching Modern Korean Literature and Modern Culture"

แปลเป็นไทยคือการศึกษาการสอนภาษาเกาหลีสมัยใหม่ วรรณคดีและวัฒนธรรมสมัยใหม่ค่ะ วิชานี้สนุกกกก~ เราได้ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเพลงที่ตัวเองชอบ เป็นการนำคำในเพลงมาเปรียบเทียบกับภาษาไทย เช่น 탕탕 ทังทัง เสียงยิงปืนในเกาหลี คือ “ปังปัง” ในภาษาไทย และความแตกต่างด้านการใช้คำแสดงเสียงเหล่านี้ อาจส่งผลให้ผู้เรียนภาษาเกาหลีชาวไทย รู้สึกแปลกใหม่ได้

ความเจ๋งอีกอย่างคือตอนนำเสนอรายงานวิชานี้ในคลาส เราจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องคำเรียกเสียงต่างๆ กับคนที่เป็นเจ้าของภาษาและเพื่อนร่วมคลาสชาติอื่นๆ  ด้วยค่ะ

2.  วิชา “Practicum Teaching Korean as Foreign Language”

เป็นอีกวิชานึงที่น่าสนใจค่ะ พี่ได้ไปสังเกตการสอนในสถาบันภาษาของ SNU เห็นความแตกต่างของการสอนแต่ละระดับชั้น 

อย่าง Beginner จะเริ่มตั้งแต่การจัดโต๊ะให้เข้ากับกิจกรรมในชั้นเรียน ครูผู้สอนยืนสอนตลอด เพื่อความคล่องตัวเวลาจะเดินเข้าหานักเรียน และมักจะย่อตัวลงมาสบตาผู้เรียนเพื่อให้รู้สึกว่าครูกำลังตั้งใจฟัง ส่วนในการเรียนระดับที่สูงขึ้น การจัดห้องเรียนค่อนข้างเรียบง่าย เน้นการทำงานเป็นกลุ่มย่อยเพื่อเกิดแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจด้วยตัวเองแล้วมารับ feedback จากครูผู้สอนค่ะ

6. 

อาจารย์มืออาชีพสมมง SNU 
แนะนำตรงจุด และไม่ทำให้ใจบาง

นักเรียนที่นี่มุ่งมั่นและขยันตลอดเวลา มุมนึงอาจทำให้รู้สึกกดดันขึ้น แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้อยากพัฒนาตัวเองไปไกลกว่านี้ และอย่างที่เล่าว่าแม้การวิจัยจะไม่ใช่ทางของเราเลย แต่พอเข้าไปปรึกษาอาจารย์ก็ได้คำแนะนำดีๆ กลับมาว่า ในเมื่อเราเลือกแล้ว ก็พยายามอยู่กับสิ่งนั้นเยอะๆ วันนี้เราอาจเข้าใจสัก 30%  แต่เดี๋ยวจะค่อยๆ เพิ่มเป็น 50%, 70%, 80% ไปเรื่อยๆ ไม่มีทางย่ำกับที่

เวลาเราจะเข้าไปคุยกับอาจารย์เรื่องธีสิสทุกครั้งจะต้องเตรียมข้อมูลส่วนตัวเองให้พร้อมที่สุด (อย่าเข้าไปแบบว่างเปล่า) อาจารย์เคยบอกว่า  "ถ้าเกิดมีแค่ความอยาก จะไปต่อยาก ให้ลองศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาก่อน (Literature Review)" เขาจะตั้งคำถามว่า ถ้าทำหัวข้อนี้ เราไปศึกษาเรื่องนี้มาหรือยัง  บางครั้งถ้าเค้าประเมินแล้วว่าเป็นไปได้ยาก ก็จะเบรกเราอ้อมๆ แต่ไม่ทำให้ใจบาง เช่น เค้าจะบอกว่าข้อจำกัดมีอะไรบ้าง คนทำเรื่องนี้มีน้อย สิ่งที่ต้องทำมีเยอะแค่ไหน แล้วถ้าเหลือเวลาเท่านี้ เราจะทำทันหรือเปล่า เป็นต้น 

เที่ยวกับเพื่อนร่วมคลาส ป.โท (ภาพขวามีร่วมทริปกับอาจารย์ด้วย)
เที่ยวกับเพื่อนร่วมคลาส ป.โท (ภาพขวามีร่วมทริปกับอาจารย์ด้วย)
กิจกรรมมหาวิทยาลัยตอน ป.โท
กิจกรรมมหาวิทยาลัยตอน ป.โท
กิจกรรมมหา'ลัยค่ะ~รำเพลงไทยผสมเพลง T-POP
กิจกรรมมหา'ลัยค่ะ~รำเพลงไทยผสมเพลง T-POP
ส่วนชุดคือกระโปรงไทยของเด็ก 5555

7. 

ในหลักสูตรไม่มีฝึกสอน 
แต่ได้ออกไปสอนบ่อยมาก

SNU จะมีความร่วมมือกับเขตคังนัม (Gangnam) ส่งนักศึกษาคณะการสอนภาษาต่างๆ เช่น ไทย จีน ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ฯลฯ เวียนกันไปสอนในคาบวัฒนธรรมแต่ละสัปดาห์ของน้องๆ

ทางมหาวิทยาลัยจะมีสร้างห้อง Chat รวมนักศึกษาจากประเทศต่างๆ + ประกาศว่ากำลังจะมีคลาสจัดสอนที่ไหน ถ้าสนใจก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนเข้าร่วม ประโยชน์คือได้เรียนรู้ ฝึกประสบการณ์  มีค่าตอบแทน คล้ายการฝึกสอนแต่เราจะไม่มีทางเจอเด็กซ้ำกันเลย 

มีเทอมนึงที่เราเรียนจบ Coursework ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะอยู่เกาหลีต่อเพื่อทำวิจัย แต่พอกดดันตัวเองแล้วไปไม่ถึงสักที ก็ตั้งสติว่า โอเค! เราหาโอกาสไปสอนเด็กดีกว่า ในที่สุดเราก็ผ่านช่วงที่ท้อแท้นั้นด้วยการไปสอนแทบทุกวัน วันละโรงเรียน ถ้าเกิดซ้ำโรงเรียนเราก็ขอเปลี่ยนห้อง รวมทั้งหมดเกิน 10 ครั้งในเทอมเดียว ข้อดีคือทาง SNU ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องไม่สอนเกินกี่คาบ ถ้าเราบริหารจัดการเวลาได้ก็ลุยได้เต็มที่ ~

สอนภาษาเด็กๆ ที่คังนัม
สอนภาษาเด็กๆ ที่คังนัม
สอนภาษาเด็กๆ ที่คังนัม
สอนภาษาเด็กๆ ที่คังนัม

ใครสนใจเกี่ยวกับหลัสูตร ป.โท ที่พี่ปุ้ยเรียน สามารถเข้าไปที่ลิงก์  https://en.snu.ac.kr/academics/programs/graduate -> ดาวน์โหลด Curriculum ของ Korean Language Education  -> กดรูปกระดาษดาวน์โหลดไฟล์ > เลื่อนไปดูที่หัวข้อ Korean as a Foreign Language Education Major ได้เลยค่ะ

เว็บหลักสูตร Graduate Program

8. 

รีวิวสอนน้องๆ เกาหลีประถม & มัธยม 
(ต่างจากไทยมั้ยนะ?)

น้องๆ ประถมเค้าซีเรียสกับการเรียนมากกว่าที่คิด พอไปเจอปุ๊บเด็กนั่งหลังตรง  เราก็เตรียมสื่อน่ารักๆ กิจกรรมต่างๆ ไปเตรียมเอนเตอร์เทน เด็กก็สนใจสไลด์ที่เราเตรียมมามากๆ จดทุกคำ แล้วน้องๆ ก็ยืนยันว่า เราเลยตัดสินใจปิดสไลด์แล้วเปลี่ยนไปให้เล่นเกมแทน ซึ่งน้องๆ เล่นจริงจังและเป็นระเบียบทุกอย่าง ไม่มีโวยวาย ไม่แย่งชิง ทำให้เราคุมเวลาสอนได้ตามที่วางแผนไว้

ส่วนน้องๆ มัธยมจะว้าวเป็นพิเศษตอนดูคลิป ส่วนข้อมูลเค้าก็จะฟัง แต่เด็กๆ อาจมีสมาธิหลุด เราก็ต้องเดินเข้าถึงนักเรียนค่ะ และอีกอย่างคือเค้าจะกระตือรือร้นกับการถามในห้องมาก  มีคำถามแทรกบ่อยจนเราต้องหยุดสอนเป็นระยะ ทีนี้ก็ต้องตั้งกฎเลยว่าเราจะเปิดโอกาสให้ถามทีเดียวตอนท้ายคาบ เพราะถ้าไม่ตั้งกฎ เด้็กก็ไม่ผิดที่จะถามเรา

แต่ถ้าถามว่าต่างจากประสบการณ์สอนของเราตอนอยู่ไทยมั้ย เราว่าน้องๆ ช่วงประถมไม่ต่างมาก แต่มัธยมต่างชัด เพราะนักเรียนที่เกาหลีจะเอ๊ะบ่อยและถามให้หายสงสัย เป็นบรรยากาศการเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยคำถาม ในขณะที่นักเรียนที่ไทยจะรับข้อมูลทุกอย่างที่เราให้ เพราะเชื่อใจว่าสิ่งที่เราสอนถูกต้องแน่นอน *ย้ำว่าขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนนะ ใครเจอแบบไหนบ้างมาแชร์กันได้ค่า

 

9. 

ออกจากเรื่องเรียน 
เปลี่ยนมาเล่าเรื่องราว Culture Shock

1. อาหาร

ถ้าน้องๆ ชอบอาหารไทย พี่ขอเตือนว่าอาหารไทยที่เกาหลีไม่น่าไว้ใจเสมอไป 5555 เรามีโอกาสเจอก๋วยเตี๋ยวใส่มะเขือเทศ ใส่หอมหัวใหญ่หรือส้มตำใส่ถั่วงอกก็ได้ เพราะบางทีก็จะเป็นร้านที่ทำอาหารโดยคนเกาหลี แถมราคาก็จะค่อนข้างสูงด้วยค่ะ สแกนดีๆ และแนะนำให้ถามคนไทยที่อยู่มาก่อนก็ได้ค่ะ

2. ชมรมวาดรูปสุดลึดลับ (?)

มีประสบการณ์พีคเรื่องนึงที่นึกออก ตอนนั้นพี่อยากเข้าชมรมวาดรูปมากๆ พอเปิดแอปฯ เช็กตารางเรียนกับกระดานข่าวมหาวิทยาลัย ก็ไปเจอโพสต์ที่รับสมัครคนเข้าชมรมวาดรูป เราก็เลยสมัครไปค่ะ เริ่มมาวันแรกชมรมนัดเจอกันในคาเฟ่ที่มีห้องเล่นบอร์ดเกม ได้ทำความรู้จักกันคร่าวๆ แปลกใจนิดหน่อยที่บางคนทำงานแล้ว บางคนเรียน ม.อื่นๆ ไม่มีจาก SNU เหมือนเราเลย แต่วันนั้นยังไม่คิดมากอะไรเพราะทุกคนชอบวาดรูปเหมือนกัน และได้พี่ๆ ช่วยสอนเทคนิคการร่างภาพคร่าวๆ ด้วย

ชมรมวาดรูป
ชมรมวาดรูป

แต่พอนัดครั้งต่อไปในร้านไก่ คราวนี้แปลกใจแบบไม่นิดแล้วว่า ทำไมทุกคนเอาแต่อัปเดตชีวิตและชวนคุยเรื่อวจุดมุ่งหมาย ความฝัน ความต้องการในชีวิตต่างๆ แต่ไม่เริ่มวาดรูปกันสักที? สุดท้ายวันนั้นจบด้วยการที่มีพี่คนนึงเรียนสายดีไซน์ กำลังทำโพรเจกต์กับคณะจิตวิทยา แล้วมาให้ช่วยทำแบบสอบเกี่ยวกับตัวเรา (คล้ายๆ MBTI) หลังจากนั้นก็มีนัดอ่านผล และมี Matching กับโค้ชเพื่อเข้ารับหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพตัวเอง 

ทุกคนเริ่มรู้สึกแปลกไหมคะ? จากวาดรูปกลายมาเป็น Training เรื่องจิตใจกับคนเกาหลีได้ยังไง?

แล้วเราก็คิดว่า เอาน่าา ลองไปต่อก่อน กลายเป็นว่าพี่เจอโค้ชชวนไปฟังเกี่ยวกับพระเจ้า พอพี่ปฏิเสธไม่ไปต่อกับโค้ช  พี่ๆ ในชมรมที่ห่างหายกันไปนานเขาก็ทักมานัดเจอ  เราก็เล่าสิ่งที่เจอให้ฟังด้วย แล้วถามคนที่ทำแบบทดสอบนั้นด้วยว่ามีเจอโค้ชเหมือนกันไหม เขาก็ตอบว่าเขาไม่ว่างไปฟังผล เลยไม่รู้อะไรมากค่ะ

และระหว่างนั้น พี่คนนึงก็เจอเพื่อนที่เป็น "หมอดูไพ่ยิปซี" แล้วเขาก็อยากให้พี่อ่ะลองดูไพ่กับเขา เปิดไพ่ปุ๊บเขาบอกว่า "ชีวิตจะดีขึ้นถ้าได้พบกับผู้หญิงที่เป็นเหมือนครูนำทางชีวิต......." พูดจนจบเขาก็ถามว่าพี่ได้พบคนๆ นั้นแล้วหรือยัง? พี่บอกว่า "พบแล้วค่ะ ต้องเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ป.โท แน่ๆ เลย"

จากนั้นเหมือนทุกคนจะนิ่ง หมอดูไพ่ยิปซีก็เสริมต่อว่า "ต้องเป็นคนที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้นะ" เราเอ๊ะแล้วว่าเขาหมายถึงโค้ชสินะ? (นี่มันเรื่องอะไรกันคะเนี่ยยย)

ฉากต่อมาคือเขาเปิดไพ่แล้วเตือนเราว่า "อย่าเดินทางไกลช่วงนี้ และเลี่ยงการนั่งเครื่องบินไว้" ตรงนี้ทำให้พี่นึกถึงตอนที่ปฏิเสธโค้ชโดยให้เหตุผลว่ามีนัดเที่ยวกับเพื่อน  พี่ก็ตอบไปว่า "เดี๋ยวจะไปปูซานค่ะ คงไม่เป็นไรเพราะนั่งรถไป" เขาก็ไม่ได้อะไรต่อ 

จนกระทั่งใบสุดท้าย เขาบอกว่า "คนที่นั่งอยู่ที่นี่คือมิตรแท้ มิตรที่ดี ให้มาเจอพวกเขาบ่อยๆ นะ" ทุกคนตรงนั้นฟังจบก็บอกว่า "โอ้ แม่นมาก ดีมาก เธอฟังไว้นะๆ" เท่านั้นแหละ พี่นึกได้แล้วว่าสิ่งนี้คือ "ลัทธิ" กลุ่มคนที่ชวนคนนอกเข้าศาสนา ที่ปกติเราจะเจอแค่ตามทางเดิน แต่ครั้งนี้เป็นละครฉากใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นมา 

และเพื่อเช็กให้มั่นใจว่าคนกลุ่มนี้คือพวกเดียวกันจริง รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้เพิ่งมาเจอกันเพราะชมรมวาดรูปอย่างที่บอก พี่ตัดสินใจไปดูละครเวทีที่พี่คนนึงชวนให้ไปดู และพบว่าทุกคนเป็นสมาชิกในโบสถ์แห่งนึงที่หากนำชื่อไปค้น จะมีข่าวเรื่องตีความไบเบิ้ลแบบแปลกไปจากลัทธิอื่นขึ้นมา

สรุปพี่ก็ช็อกค่ะ เวลาไปเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่รู้จะเริ่มจากฉากไหนก่อนดี!

10. ปิดท้ายด้วย 3  เรื่องประทับใจสุดในเกาหลี

1. ประทับใจคนไทยในเกาหลี

ทุกคนที่นั่นใจดีกับพี่มากๆ วันไหนว่างตรงกันก็มักจะพากันไปต่างจังหวัดด้วยรถสาธารณะ หลงบ้าง ไม่สติกันบ้าง ก็พาพยุงกันไปจนถึงจุดหมายเลย โดยเฉพาะตอนพากันไปแคมป์ปิ้งที่ต่างจังหวัด ไม่มีรถส่วนตัว ก็เลยพากันนั่งบัส นั่งแท็กซี่จนถึงลานตั้งแคมป์ พอถึงจุดหมายก็มาทำอาหารด้วยกัน เป็นช่วงเวลาในเกาหลีที่อบอุ่นและผ่อนคลายมากๆ ค่ะ

ไปแม่น้ำฮันกับพี่คนไทย
ไปแม่น้ำฮันกับพี่คนไทย
เที่ยวปีนเขา
เที่ยวปีนเขา
ปีนเขาสูงมากก // ปีนเขาเสร็จตั้งวงกินอาหารฝีมือพี่คนไทย
ปีนเขาสูงมากก // ปีนเขาเสร็จตั้งวงกินอาหารฝีมือพี่คนไทย

2. สวรรค์ของคนชอบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์

พี่ชอบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ของที่นี่มากๆ ทุกอย่างมีคอนเซปต์ ที่มา แม้กระทั่งสถานีรถไฟใต้ดินบางที่ยังให้รู้สึกเหมือนกำลังเดินในงานนิทรรศการ เพราะมีรูปภาพจัดแสดง ประตูขบวนรถก็มีบทประพันธ์ให้อ่าน ถึงหลายคำจะอ่านไม่ออกหรือดูบางรูปแล้วไม่เข้าใจ แต่พี่ก็ยังรู้สึกชอบการเห็นศิลปะอยู่ในที่ที่เราเข้าถึงง่าย 

ถ้าใครชอบแนวนี้ขอบอกว่าปกติที่โซลมีนิทรรศการให้ดูเยอะมาก อยากไปก็จองล่วงหน้าไว้ เดินทางไปถึงได้ด้วยรถไฟใต้ดินหรือรถบัส สะดวกมากๆ // ถ้าประทับใจสุดสำหรับพี่คือนิทรรศการของคุณ Ohnim โดยเฉพาะรูปที่ดวงตาคนแหงนมองดอกทานตะวัน พี่รู้สึกว่าการใช้สีโทนร้อนให้คนตัวสีแดง กับดอกไม้สีเหลืองเข้มเข้ากันได้อย่างน่าประหลาดใจเลยค่ะ

3. โซนพักใจในมหาวิทยาลัยที่เรียน

พี่รู้สึกใน SNU มีหลายมุมให้เราได้พัก relax เช่น ห้องสมุดมีทั้งโซนอ่านหนังสือแบบกลุ่ม-เดี่ยว มีโซนให้นอนพัก มีสวนหย่อม ข้างๆ SNU ก็มีเขาชื่อ "Gwanaksan" ซึ่งเคยขึ้นไปกับพี่ๆ แล้วรู้สึกว่าบรรยากาศดี วิวสวยคุ้มค่ากับที่ขึ้นมา ที่สำคัญได้ลองนั่งบนหินสูงๆ ท้าทายความกลัวของตัวเองด้วย

บรรยากาศหอพักในมหาวิทยาลัย
บรรยากาศหอพักในมหาวิทยาลัย

ในบางวันพี่ก็จะชอบเดินไปห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือคณะตัวเอง เพื่อเดินเล่นบ้าง หรือมีช่วงนึงที่พี่เลิกเรียนแล้วเครียดจัดๆ พี่จะแวะร้องคาราโอเกะในหอพักค่ะ ร้องไป 10+ กว่าเพลงจนรู้สึกได้ปลดปล่อยจนพอใจแล้วค่อยกลับเข้าห้องไปพัก 

นี่เป็นแค่ตัวอย่างช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองประทับใจมหาวิทยาลัยที่เรียนมากขึ้น หลังจากกลับมาไทย ก็ยังคิดถึงภาพตัวเองไปร้องเพลงในคาราโอเกะของหออยู่เลยค่ะ :)

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น