สวัสดีค่ะ ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงรับสมัครของทุนรัฐบาลสหราชอาณาจักรหรือ Chevening Scholarships ประจำปี 2025 กันแล้วนะคะ และสำหรับชาว Dek-D คนไหนที่เล็งสมัครทุนนี้เพื่อคว้าโอกาสไปเรียนต่อ ป.โท ที่ประเทศอังกฤษอยู่ วันนี้เราจะมาสรุป Tips เด็ดๆ จาก Application guidance ที่ทางออฟฟิเชียลได้แชร์เอาไว้ เพื่อให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการเขียน Essay, แนวทางการเลือกมหาวิทยาลัย, วิธีสัมภาษณ์ทุนให้โดนใจกรรมการ ฯลฯ จะมีประเด็นไหนน่าสนใจอีกบ้าง ไปอ่านต่อกันเลย~
Note: ข้อมูลทุนชีฟนิ่งในบทควมนี้ เป็นของปี 2025/2026 ซึ่งอาจมีรายละเอียดการรับสมัครเปลี่ยนแปลงในปีต่อๆ ไป
มารู้จัก ‘ทุนชีฟนิ่ง’ กันก่อน!
- ทุนชีฟนิ่ง (Chevening Scholarships) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1983 เป็นโครงการทุนการศึกษาระดับนานาชาติของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (the Foreign, Commonwealth and Development Office; FCDO) รวมถึงองค์กรพันธมิตรอื่นๆ
- ผู้รับทุนมาจากหลายประเทศและดินแดนทั่วโลกกว่า 160 แห่ง ปัจจุบันมีนักเรียนทุนชีฟนิ่งกว่า 1,800 ทุน และมีศิษย์เก่าอีกกว่า 50,000 คน
- ทุนนี้เปิดโอกาสให้ผู้มีศักยภาพความเป็นผู้นำ ประวัติการศึกษา-การทำงานโดดเด่น และมุ่งสร้างการเปลี่ยนเชิงบวกให้กับโลก สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใน UK ได้
- เป็นทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวน เพื่อใช้เรียนต่อในระดับปริญญาโท เป็นระยะเวลา 1 ปี แบบไม่จำกัดสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยใน UK
สรุป 4 Tips พิชิตทุนชีฟนิ่ง!
ต้องบอกว่าในหน้าเว็บไซต์ของทุนชีฟนิ่งนั้นมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครทุนเยอะมากๆ ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนสมัคร ไปจนถึงการสัมภาษณ์ทุนเลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้พี่ได้สรุปไฮไลต์ 4 ประเด็นสำคัญมาให้ทุกคนแล้วค่ะ
1. การเตรียมตัวที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
เช็กคุณสมบัติ & เตรียมเอกสาร
อย่างแรกเลยผู้ที่สามารถสมัครทุนชีฟนิ่งได้ ก็ควรเตรียมคุณสมบัติเบื้องต้นให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพราะถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็จะไม่ได้พิจารณารับทุน โดยหลักๆ ยกตัวอย่างเช่น เรียนจบ ป.ตรี แล้ว และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปี เป็นต้น (สามารถศึกษาเพิ่มเติมในบทความนี้ได้เลยค่ะ https://www.dek-d.com/studyabroad/65101/)
นอกจากการเตรียมคุณสมบัติให้ครบถ้วนแล้ว การเตรียมตัวเรื่องของเอกสารก็ควรให้ความสำคัญมากๆ และควรเป็นการวางแผนในระยะยาว เพราะบางครั้งบางเอกสารอาจใช้เวลาเตรียมนานนั่นเองค่ะ เช่น การออกใบ Transcript, การขอจดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) รวมไปถึงคะแนนภาษาอังกฤษอย่าง IELTS ที่แม้ว่าทางทุนจะยกเลิกเกณฑ์พิจารณาข้อนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความสำคัญมากๆ เพราะเราต้องเอาไปใช้ยื่นสมัครมหาวิทยาลัยใน UK อยู่ดี ดังนั้นเราก็ควรมีผลสอบภาษาอังกฤษให้พร้อมใช้ค่ะ
อย่างที่บอกไปว่าบางเอกสารอาจใช้เวลานาน โดยเฉพาะ ‘Recommendation Letter’ ที่เราต้องให้คนอื่นเขียนรับรองให้ ซึ่งอีกคำถามสุดฮิตที่หลายคนถามมาบ่อยมากๆ คือ แล้วจดหมายนี้เราต้องให้ใครเขียนให้ดีนะ? โดยทางโครงการได้ให้คำแนะนำว่า ควรเป็นอาจารย์หรือหัวหน้างานที่รู้จักและมองเห็นความสามารถ รวมถึงทักษะการทำงานของเราเป็นอย่างดี โดยเราควรติดต่อไว้แต่เนิ่นๆ เพราะอาจารย์หรือหัวหน้างานของเราอาจติดภารกิจอื่นๆ ไม่ได้ว่างมาเขียนแบบกระชั้นชิดให้เราได้ ดังนั้นควร set เอาไว้เป็น priority แรกๆ ในการเตรียมเอกสาร เพื่อให้มีระยะเวลาในการเขียนค่ะ (ควรเผื่อเวลาติดต่อและหาสำรองท่านอื่นๆ ไว้ด้วยนะ) // อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
How to เขียนเรียงความให้เริ่ด
เรียงความ (Essay) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการใช้พิจารณาผู้สมัครทุนเลยก็ว่าได้ เพราะช่วยให้รู้จักผู้สมัครมากขึ้นว่าเป็นใคร มาจากไหน เรามีจุดเด่นด้านไหน มีเป้าหมายในการเรียนต่ออย่างไร และจะนำความรู้ที่ได้มาก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ฯลฯ สำหรับทุนชีฟนิ่ง ผู้สมัครจะต้องเขียนเรียงความทั้งหมด 4 หัวข้อ ซึ่งในเว็บไซต์ก็ได้แนะนำประเด็นที่เราควรเขียนไว้ดังนี้ค่ะ
- Leadership and influence: เพราะทุนนี้เค้าคัดตัวแทนประเทศและกำลังมองหาผู้ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคตในประเทศบ้านเกิดได้ ดังนั้น สิ่งที่เราเขียนควรเป็นการยกตัวอย่างประสบการณ์ทำงานที่แสดงให้เห็นถึงทักษะความเป็นผู้นำ รวมไปถึงผลลัพธ์ของการได้รับและรักษาอิทธิพลในบทบาทหน้าที่ของเรา อีกทั้งควรแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นผู้นำ-แผนการศึกษา-เป้าหมายหลังเรียนจบด้วยค่ะ
- Networking and relationship-building: การสร้างความสัมพันธ์หรือการสร้างเครือข่าย ถือเป็นทักษะสำคัญในโลกของการทำงานและการเป็นนักเรียนทุนชีฟนิ่ง โดยเราควรเน้นเขียนถึงความสำเร็จที่เกิดจากการสร้างคอนเน็กชั่น (อาจพูดถึงประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา) รวมทั้งอธิบายว่าการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชีฟนิ่ง จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกยังไง
- Studying in the UK: หัวข้อนี้สำคัญไม่แพ้สองข้อแรกเลยค่ะ เพราะเราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าหลักสูตรที่จะเรียนต่อนั้นมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับประสบการณ์ที่มีและเป้าหมายในอนาคตอย่างไร หรือพูดอีกอย่างคือ ต้องบอกเหตุผลให้ได้ว่า ทำไมต้องไปเรียนคอร์สนี้ มหาวิทยาลัยนี้ และเมื่อเรียนแล้วจะกลับมาทำอะไร โดยอาจเน้นไปที่รายวิชาหรือวิธีการเรียน (Assessment) ที่จะทำให้บรรลุโกลที่ตั้งไว้ แต่ขอโน้ตไว้ว่า ควรเขียนให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ควรคัดลอกเนื้อหาจากหน้าเว็บไซต์ของมหา’ลัยมาใส่ในเรียงความนะคะ
- Career plan: ใครที่อยากได้คะแนนสูงในส่วนนี้ ทางโครงการแนะนำว่า ต้องตั้งเป้าหมายอาชีพและแผนการหลังเรียนจบให้ชัดเจน มีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงและเป็นไปได้ รวมถึงควรอธิบายว่าหลักสูตรที่เรียน, การได้รับทุนชีฟนิ่ง และการเข้าร่วมเครือข่ายชีฟนิ่งช่วยให้บรรลุแผนที่วางไว้ได้ยังไง
อย่าลืมว่ากรรมการเค้าต้องอ่านเรียงความจากผู้สมัครทั่วโลกเยอะมากๆ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้ทุกคนเน้นย้ำในการเขียน essay คือ ควรเขียนสิ่งที่เป็นตัวเองมากที่สุด และดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้ได้ อีกเรื่องสำคัญคือ quality of passionate เราควรอธิบายได้ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไรในอนาคต และจะทำให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นได้อย่างไรบ้าง
2. เทคนิคการเลือกมหาวิทยาลัย
การสมัครทุนและการสมัครเรียนจะแยกขั้นตอนกัน โดยเราจะต้องสมัครเรียนกับทางมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง ซึ่งข้อดีของทุนชีฟนิ่งคือ เราสามารถเลือกสมัครได้สูงสุด 3 อันดับ ไม่จำกัดสาขาและมหาวิทยาลัย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นหลักสูตรประเภท Taught master’s course แบบเต็มเวลา (Full-time) และเริ่มเรียนในเทอม September/October เท่านั้น
สำหรับการเลือกคอร์สเรียนและมหาวิทยาลัยนั้น เบื้องต้นสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ UCAS Postgraduate เพื่อดูว่าสาขานี้มียูไหนเปิดสอนบ้าง จากนั้นเราค่อยเข้าไปดูรายละเอียดที่หน้าเว็บไซต์มหา’ลัยนั้นๆ ว่าเกณฑ์การสมัครเรียนเป็นอย่างไร ต้องยื่นคะแนนภาษาระดับไหน เปิด-ปิดรับสมัครเมื่อไหร่ รวมไปถึงดูเนื้อหาวิชา (Modules) ที่จะเรียนด้วย เพราะแม้มหา’ลัยหลายแห่งจะใช้ชื่อหลักสูตรเหมือนกัน แต่รายวิชาที่ได้เรียนก็อาจแตกต่างกันไปค่ะ (ควรศึกษาให้ละเอียด เพราะเราอาจถูกกรรมการถามถึงรายละเอียดหลักสูตรที่เราจะไปเรียนด้วย)
และเมื่อเราเลือกได้แล้วว่าจะเรียนที่ไหน แนะนำให้เช็กกับโปรแกรมค้นหาหลักสูตรของทุนชีฟนิ่งอีกครั้ง เพื่อให้ชัวร์ว่าคอร์สที่เราเลือกสามารถขอรับทุนชีฟนิ่งได้หรือไม่
Tip: ควรเลือกคอร์สที่ใกล้เคียงกันจาก 3 มหาวิทยาลัย หรือ คอร์สที่มีเนื้อหารายวิชาคล้ายกันจากมหาวิทยาลัยเดียวเลยก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) เพราะถ้าเราเลือกสาขาที่มีความแตกต่างกันมากๆ เช่น อันดับแรกเป็นหลักสูตรสายวิทย์ ส่วนอีกที่เลือกเป็นสายศิลปะ ถ้าเลือกแบบนี้ไปก็อาจทำให้เราดูมีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน
3. สัมภาษณ์ยังไงให้โดนใจกรรมการ
ก่อนอื่นพี่ขอสรุปภาพรวม process ในการสมัครคร่าวๆ ดังนี้
> สมัครทุนทางออนไลน์
> ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์
> อัปโหลดจดหมายแนะนำและเอกสารทางการศึกษา
> สอบสัมภาษณ์
> ประกาศผลผู้ผ่านรอบสัมภาษณ์
> ผู้ผ่านรอบสัมภาษณ์อัปโหลดหนังสือตอบรับแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Offer)
> เปิดเทอม
ถ้าหากใครที่ผ่านรอบเอกสารและมีรายชื่อให้เข้ารอบสอบสัมภาษณ์ ต้องบอกว่าเดินทางเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้นแล้วค่ะ! แต่ต้องบอกว่าการสอบสัมภาษณ์ทุนชีฟนิ่งก็เป็นอีกด่านปราบเซียนไม่น้อย และหลายคนก็อาจตื่นเต้นและมีความกังวลมากๆ ว่าแล้วเรามาอ่านเคล็ดลับทั้ง 5 ข้อที่ทางโครงการได้แชร์ไว้กันดีกว่าค่ะ บอกเลยว่าช่วยเพิ่มคะแนนให้เราเป็น outstanding candidate แน่นอน!
- Authenticity is key เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด: ในการสัมภาษณ์ทุน ‘ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด’ เพราะกรรมการอยากฟังคำตอบที่แสดงให้เห็นตัวตน รวมถึงความมั่นใจของผู้สมัครมากที่สุด เพราะถ้าสิ่งที่เราตอบไม่ใช่สิ่งที่เราคิดหรือตัวตนแท้จริงของเรา สุดท้ายแล้วกรรมการก็ดูออกอยู่ดี
- Make it clear how Chevening will help you achieve big things ตอบคำถามให้ชัดเจนว่าทุนชีฟนิ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร: หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของทุนชีฟนิ่งคือ การส่งเสริมเป้าหมายที่มีอยู่ และช่วยให้นักเรียนค้นพบความสำเร็จได้เร็วขึ้นหรือในระดับที่ใหญ่เกินกว่าจะทำได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ต้องอธิบายให้เคลียร์ว่าการได้รับทุนนี้จะช่วยความฝันของเราเป็นจริงได้ยังไง โดยอาจพูดถึงหลักสูตรที่จะเรียน เครือข่ายชีฟนิ่ง รวมถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาล ฯลฯ
- Set achievable goals ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้: หลายคนอาจตั้งโกลให้ดูท้าทาย พยายามเล่นใหญ่แต่อาจจับต้องไม่ได้ ก็อาจทำให้หลุดทุนไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเราควรวางแผนอนาคตและเส้นทางให้ชัดเจน และเราจะสามารถเล่าแต่ละขั้นตอนระหว่างทางเพื่อไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ได้อย่างมั่นใจ
- Don’t hold back อย่าลังเลที่จะตอบ: จงมั่นใจในการเล่าความสำเร็จที่ผ่านมาของเราให้คณะกรรมการฟัง อาจเล่าเฉพาะผลงาน/ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุด เพื่อให้ไม่น่าเบื่อ และทำให้เราอธิบายคำตอบได้ดีขึ้น ที่สำคัญควรใช้สรรพนาม ‘I’ แทน ‘We’ หรือ ‘the team’ เพราะจะทำให้กรรมการเห็นว่าเราเป็นคนทำเอง และอาจช่วยเพิ่มน้ำหนักของความเป็น Leadership ออกมาอีกด้วย
- Use the STAR approach ใช้เทคนิค STAR ในการตอบ: เทคนิคนี้ช่วยให้คำตอบไม่ออกทะเลไปไกล มีภาพรวมเป็นขั้นตอนที่ดี รวมทั้งยังมีความ flow และอยู่ในเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย และยังสามารถเอาไปปรับใช้ในการเขียน essay ได้ด้วย ซึ่งเราสามารถวางโครงสร้างคำตอบตามนี้ได้เลย
- Situation: สถานการณ์
- Task: ภารกิจที่ต้องทำ
- Action: สิ่งที่เราทำ
- Result: ผลลัพธ์ที่ได้
[Blogs อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการสัมภาษณ์]
4. วิธีอัปสกิลภาษาอังกฤษให้เป๊ะ
เพราะว่าเราจะไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ดังนั้นภาษาอังกฤษก็ต้องเป๊ะตั้งแต่เริ่มสมัครเลยค่ะ นอกจากหน้าเว็บจะแนะนำข้อมูลของทุนชีฟนิ่งแบบจัดเต็มแล้ว ยังมีบทความดีๆ สำหรับคนที่อยากอัปสกิลภาษาอังกฤษให้พร้อมกรอกใบสมัคร สัมภาษณ์ทุน รวมถึงการไปเรียนต่อที่ UK ด้วย บอกเลยแต่ละบทความมีประโยชน์มากๆ เราได้รวบรวมไว้ในลิงก์ด้านล่างให้แล้วค่ะ
[Tips อัปสกิลภาษาอังกฤษให้เป๊ะ]
ช่องทางติดตามข่าวสาร & ข้อมูลทุน
- เว็บไซต์ทุนชีฟนิ่ง : https://www.chevening.org/
- Facebook ทุนชีฟนิ่ง : Chevening Awards (FCDO)
- Facebook สถานทูต UK : UK in Thailand
[รีวิวจากรุ่นพี่นักเรียนทุน]
"ตั้งแต่ตั้งเป้าหมายจนผ่านมา 15 ปี กว่าพี่จะตัดสินใจสมัครทุนชีฟนิ่งจริงๆ เพราะคิดว่าถ้ารอช้ากว่านี้คงไม่ได้ลองทำตามความฝันแล้ว อย่างน้อยก็ได้ลองทำให้เต็มที่ ตลอดระยะเวลาที่ยื่นใบสมัครและรอผลทุน พี่คิดเสมอว่าเราอยากเป็นตัวอย่างของเด็กบ้านนอกธรรมดาๆ คนนึงที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอน ป.4 เพิ่งเข้าใจโครงสร้างแกรมมาร์และพูดกับฝรั่งครั้งแรกตอน ม.4 ก็สามารถได้ทุนมาเรียนต่างประเทศได้ ดังนั้นอยากให้น้องๆ ที่มีความฝันแบบเดียวกัน ลองพยายามให้เต็มที่ ถ้า Why ของเราชัดพอ จะรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร แล้วทำไมถึงควรลองทำแม้โอกาสจะดูเหมือนเป็นศูนย์ก็ตาม"
พี่ปุ๋ย - สิรินภา จ้องสุวรรณ นักเรียนทุนชีฟนิ่ง เริยนต่อปริญญาโทสาขา Msc Strategic Entrepreneurship and Innovation ที่ King’s College London (ภายใต้ King’s Business School)
0 ความคิดเห็น