Salve! สวัสดีค่ะชาว Dek-D มีใครเป็นทีมเตรียมเรียนต่อ "อิตาลี" บ้างมั้ยคะ ประเทศนี้น่าสนใจมากโดยเฉพาะกับคนที่มีแพสชันกับศิลปะแขนงต่างๆ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ยุโรป เพราะหากย้อนไปราวๆ ศตวรรษที่ 14-17 ที่นี่คือศูนย์กลางของศิลปะยุคเรเนอซองส์ ก่อนที่ความรุ่งเรืองจะเผยแพร่ไปทั่วยุโรปนั่นเอง สิ่งที่ฮีลใจนักศึกษาสายอาร์ตสุดๆ ก็คือบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมวลความรักในงานศิลปะ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่จัดแสดง โรงละคร ฯลฯ ได้ในราคาพิเศษ (หรือฟรีเลยก็มี) หรือแค่เดินเล่นๆ สถาปัตยกรรมในเมืองก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและการคุมโทนสุดเนี้ยบ เหมือนหัวใจได้ชาร์จแบตตลอดเวลาเลยค่ะ
จะดีแค่ไหนถ้าในคลาสได้เรียนสิ่งที่รัก แล้วพักรีแลกซ์กับงานศิลปะทุกตารางนิ้ว มิวเซียมเพียบรอให้ไปเยือน? ในวันนี้จะขอพาไปรู้จักหนึ่งในคนไทยที่ไปเยือนอิตาลีในฐานะนักศึกษาต่างชาติ นั่นก็คือ "พี่ธันว์-กฤตนู มะโนคำ" รุ่นพี่ทุนรัฐบาลอิตาลี กำลังศึกษา ป.โท สาขา Innovation and Organization of Culture and the Arts ที่ University of Bologna (ชื่อภาษาอิตาลี: Università di Bologna) มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ที่เมืองโบโลญญาที่เหมือนฉาบด้วยฟิลเตอร์สีส้มอิฐทั้งเมือง~
องก์ 1 |
Ciao! ทักทายผู้ชมทางบ้าน
สวัสดีครับ ชื่อ "พี่ธันว์-กฤตนู มะโนคำ" นะครับ ตอนนี้เรากำลังเรียน ป.โท ชั้นปี 2 สาขา Innovation and Organization of Culture and the Arts ที่ University of Bologna หรือ UniBo ประเทศอิตาลีครับ อัปเดตตอนให้สัมภาษณ์กับ Dek-D เรากลับไทยมาทำธีสิส ป.โท ครับ
เล่าเส้นทางเรียนและทำงานอาร์ต
ก่อนเริ่มชีวิต Chapter ใหม่ที่อิตาลี
ย้อนไปตอน ม.5 เราอยากเป็นวิศวะ ชอบคณิตแต่แพ้ทางฟิสิกส์ แต่อีกมุมคือเราชอบดูทีวีมาก เวลาดูละครจะสังเกตแอคติ้งนักแสดงแล้วก็ทำตาม (ก็อปปี้โชว์ "กบ-สุวนันท์" ตลอด พอลองแล้วก็ อุ๊ย บทนี้ชั้นก็เล่นได้!) เริ่มมีความฝันอยากเป็นนักแสดงและเลือกเข้าคณะนิเทศฯ ICT ที่ ม.ศิลปากร
หลังจบเราจบ ป.ตรี ตอนปี 2019 เราลองทำงานมาหลายอย่างมาก ทั้งสัญญาระยะสั้นและ Project-based ที่เกี่ยวกับแวดวงการแสดงในไทย พยายามวิ่งหาโอกาสตลอดตั้งแต่ไม่มีประสบการณ์ แต่เราว่าเรื่องคอนเน็กชันสำคัญมากนะครับ งานแรกได้เพราะสมัยเรียน ม.ศิลปากร เคยลงเรียนวิชาการแสดง (Acting) บังเอิญว่าอาจารย์ประจำวิชาเขาทำคณะละครเวที ก็เลยมีโอกาสเข้าไปทำงานฝ่าย Production และ Stage จับงานหลายอย่าง และได้ค้นพบตอนนั้นว่าถ้ามีใจและตั้งใจจริงๆ ทุกอย่างเราสามารถเรียนรู้ได้หมด
ส่วนงานแสดง มีครั้งนึงที่ไปลองแคสต์บทและได้ร่วมแสดง Episode นึงใน Netflix Original Series เรื่อง "Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง” (ตัวละครโต มีบทพูดด้วย) ตอนนั้นเราเริ่มคิดว่าการมีวุฒิ ป.โท Acting อาจไม่ได้มีผลกับโอกาสการเป็นนักแสดงขนาดนั้น เลยเริ่มหันมาทาง Art Management แทน เพื่อเพิ่มขอบเขตงานที่ทำได้ในอนาคต
ปิดท้ายก่อนไปเรียนอิตาลี เราทำงานเป็นเลขาส่วนตัวให้กับ Artistic Director ที่ BIPAM ทำให้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วมีองค์กรที่สนับสนุนวงการนี้ในไทยอย่างยั่งยืนด้วยนะ อย่าง BIPAM เป็นเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาจัดแสดงงานของศิลปินในภูมิภาค South East Asia เป็นเหมือน Spring board ให้ผลงานไปสู่สายตาคนทั่วโลกได้ และเป็นพื้ีนที่ให้คนประเทศต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน // งานของ BIPAM จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ครั้งต่อไปคือมีนาคม 2025 (พ.ศ.2568) ช่วงใกล้ๆ น่าจะมีรับเด็กฝึกงาน ใครมาสายนี้ลองกดติดตาม FB Fanpage: BIPAMbkk ไว้ได้เลย
และล่าสุดเราเพิ่งร่วมกับเพื่อนอีกหนึ่งคน (บิว-พิชญ์ฌาชาญ) สร้างกลุ่มละครที่สร้างผลงานเพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์เพศทางเลือก การย้ายถิ่น ชนชั้น และความยุติธรรมทางสังคม เน้นนำเสนอเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ร่วม เพื่อผลักดันขอบเขตในการสร้างสรรค์ การทดลองที่เป็นละครหรือมากไปกว่าละคร รวมไปถึงสร้างการพูดคุยถึงประเด็นที่สำคัญ ฝากติดตามกันได้ที่เพจ Sketching Theatre นะครับ!
งานอื่นๆ ที่เคยทำ เช่น Project Associate ที่ Thai Theatre Foundation, Liaison and Docent @ BkkArt Biennale, Wardrobe Crew ละครเวที The Lion King Bangkok และอื่นๆ ตลอดเวลาที่ทำงานวงการละครเวทีไทย เรารู้สึกได้ว่าคนทำละครต้องสู้มากจริงๆ โอกาสมีน้อย บางทีก็ควักเงินตัวเองอีก เลยมีความฝันว่าสักวันเราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างเพื่อให้วงการนี้เติบโตขึ้น
เมื่อความสนใจมาผนวกเข้ากับความฝันที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ เราเลยหาข้อมูลและตัดสินใจเรียนต่อ ป.โท ด้าน Art Management ที่ประเทศอิตาลีครับ
เหตุผลที่อิตาลีคือคำตอบสุดท้าย
- เรื่องเงินสำคัญที่สุด เราจะไปเรียนโดยไม่ให้ตัวเองและครอบครัวมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายบานปลาย ซึ่งทุนรัฐบาลอิตาลีตอบโจทย์ตรงนี้เพราะมีทุนเยอะ
- ภาษาอังกฤษเราได้ระดับ Fluent ดังนั้นจะต้องเลือกประเทศที่มีใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีตั้งแต่ฝรั่งเศส อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ฯลฯ น่าสนใจทั้งนั้น เราต้องมาตัดกันว่าที่ไหนมีโปรแกรมกับมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์สุด
- ประเทศอิตาลีโดดเด่นศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงด้านการแสดงที่เราสนใจ
ส่วนเรื่องมหาวิทยาลัย เรารู้จัก University of Bologna จากรุ่นพี่ที่เคยทำงานร่วมโพรเจ็กต์กัน และเคยได้ทุนไปเรียนจนจบสาขานี้เลย พอตามไปดูข้อมูลก็พบว่าเป็นการรับสมัครที่ตรงจริตเรา เราชอบการแข่งขัน แล้วที่นี่จะพิจารณาจาก CV 60% และสัมภาษณ์ 40% ไม่กำหนดเกรดขั้นต่ำ และเรามั่นใจว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา fit in กับสาขาที่เราสมัคร
เว็บไซต์คณะที่เรียนอัปเดตข้อมูลการรับสมัครแต่กว่าจะได้ทุนก็ลุ้นเกิ๊น!
เราจะต้องสมัครมหาวิทยาลัยและทุนแยกกันนะ ถ้าสนใจก็จะมีทั้งทุนรัฐบาลอิตาลี, ทุนมหาวิทยาลัย, ทุนแคว้น (ขึ้นอยู่กับรายรับของครอบครัว), ทุน Regional Aid (ER.GO Scholarships) สำหรับในภูมิภาค Emilia-Romagna ที่ตั้งของ University of Bologna ฯลฯ มีหลายช่องทางที่ซัปพอร์ตเรื่องเงินได้
เราเริ่มจากสมัครทุนรัฐบาลอิตาลีไปก่อน มีเปิดรับสมัครเป็นประจำทุกปี สนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation; MAECI) ครอบคลุมค่าเรียน, ค่าครองชีพประกันสุขภาพ และเบี้ยเลี้ยง 900 ยูโรต่อเดือน ระยะเวลาทุนทั้งหมด 9 เดือน
ส่องโพรไฟล์ช่วงสมัครทุนและมหาวิทยาลัย
|
หนึ่งในเอกสารที่ใช้สมัครทุนคือ [จดหมายตอบรับเข้าเรียน] ก่อนหน้านี้เราสมัครอีกมหา'ลัยที่ Venice ไว้ด้วย ซึ่งเขาตอบรับเราเข้าเรียนก่อน ส่วน Bologna จะประกาศผลช่วงเดียวกับวันหมดเขตสมัครทุน เราไม่กล้าเสี่ยงรอเพราะกลัวสมัครทุนไม่ทัน ก็เลยยื่นไปว่าได้ตอบรับจากที่แรกแล้ว แชร์ไว้เผื่อใครเจอเหตุการณ์ประมาณนี้ครับ
พอถึงเวลาสมัครเราทำเต็มที่ทุกขั้นตอน มั่นใจว่าจะต้องได้ชัวร์ เพราะเป้าหมายเราชัดเจนว่าอยากกลับมาช่วยอุตสาหกรรมละครเวทีประเทศไทย แถมยังมีประสบการณ์ทำงานอีกมากมายที่ช่วยซัปพอร์ต
แต่ผลออกมาว่าเราติดสำรองอันดับ 1 ไม่ติดตัวจริงครับ...
ช็อกกก! แต่คิดแผนสำรองว่าจะสมัครทุนอื่นต่อ แล้วถึงจะไม่ติดทุนก็จะไปเรียนอยู่ดี แต่ทีนี้หลังจากประกาศผล จะมีช่วง 7 วันที่เขาให้คนได้ทุนเข้าไปคอนเฟิร์ม หากไม่ตอบรับเท่ากับคนนั้นสละสิทธิ์ เราก็ภาวนาาา เข้าเว็บไปเช็กทุกวัน ไปบนที่ศาลพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวางด้วย พอมาอีกวันเราเข้าสู่ระบบไปเช็กอีก
เฮ้ย ระบบขึ้นว่าเราได้ทุน!! จังหวะนั้นกด accept แบบไม่คิดเลยอ่ะ โทรหาพ่อ โทรหาทุกคน ครั้งนั้นเรามารู้เหตุผลว่าทางสถานทูตติดต่อกับรัฐบาลอิตาลีว่าอยากขอทุนเพิ่มให้คนไทยครับ TT ในที่สุดเราก็ได้ไปเรียนปี 2022 โควิดซาพอดีครับ
เว็บทุนรัฐบาลอิตาลี. . . . . . . .
องก์ 2 |
ปรับตัวกับชีวิตก้าวแรกในอิตาลี
ก่อนบินเรามีไปลงเรียนภาษาอิตาเลียนของศูนย์ภาษาจุฬาฯ แต่ Timeline กระชั้นมาก เรียนไม่ถึงไหนก็ถึงเวลาต้องบิน พอมาถึงก็พบว่าภาษาอิตาเลียนจำเป็นมากเพื่อให้การใช้ชีวิตแต่ละวันไม่เหนื่อยเกินไป เพราะคนในโบโลญญาไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษ อีกอย่างคือกิจกรรมในเมืองหรือสัมมนาที่จัดในมหา’ลัย มักจะเป็นภาษาอิตาเลียนด้วย
แต่การเรียนปริญญาเป็นภาษาอังกฤษล้วน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเหมือนกัน เพราะตอนเราฟังข้อมูลภาษาไทยโดยตรง สมองจะมีกระบวนการคิดแตกต่างจากตอนรับสารเป็นภาษาอังกฤษ เราจะต้องประมวลและทำความเข้าใจมากขึ้น ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักถึงจะเข้าที่ครับ
ความหลากหลายคือของหวาน
ความเก๋ของโปรแกรมนี้คือเขารับนักเรียนจาก EU และ Non-EU กลุ่มละ 50% ในฐานะที่เราอยากเป็น Art Manager สิ่งนี้คือความดีงาม เพราะได้ทั้งเรื่องคอนเน็กชันและสกิลการปรับตัวเข้ากับความหลากหลาย นอกจากนี้จากความท้าทายเรื่องภาษาในข้างต้น การได้แชร์เรื่องการปรับตัวกับเพื่อนต่างชาติทำให้เราไม่เคว้งครับ (ในรุ่นมี 22 คน จาก 12 ประเทศ) มีความนานาชาติสูง น่าจะเพราะโบโลญญาเป็นเมืองนักศึกษาด้วย
เช็กลิสต์เงื่อนไขการจบ ป.โท |
วิชาเรียนและความยากประมาณไหน?
เนื่องจากโปรแกรมนี้ไม่ได้ Required ว่าต้องมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน เพื่อนๆ เลยมีทั้งคนที่เริ่มนับหนึ่ง ไปจนถึงอยู่ในวงการมาเกิน 10 ปี ส่วนตัวรู้สึกเนื้อหาไม่ได้ Advance ลงลึกหรือยากแบบถึงพริกถึงขิงอย่างที่คิด แต่ก็เป็น Foundation ที่ดีสำหรับคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ Career Path นี้ เราได้เห็นภาพรวมทุกแง่มุมที่ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างการทำงาน สะท้อนให้เราเข้าใจวัฒนธรรมและวิธีทำงานในสังคมที่หลากหลายได้ (บางคนตั้งใจมาเรียนอิตาลีเพื่อเป็นใบเบิกทางในการเข้ายุโรป เลยอาจไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเรียนลึกครับ)
วิชาเรียนจะครอบคลุมเรื่องเศรษฐศาสตร์ บัญชี สถิติ การจัดการ การระดมเงินทุน โมเดลธุรกิจ การสื่อสาร กฎหมายที่เกี่ยวกับศิลปะและสื่อดิจิทัลฯ, การทำนโยบายที่เกี่ยวกับศิลปะ (การทำให้โบโลญญาเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์) ได้มารู้จักเครื่องมือเพื่อไปใช้ต่อ และอื่นๆ อาจารย์มีทั้งที่เป็นสายวิชาการ ทำ Research / Consult มาอย่างเข้มข้น และอาจารย์ที่เป็นคนจากอุตสาหกรรมนั้นๆ
1.) กลุ่มแรกคือวิชาหลัก (Mandatory Courses) เช่น
- Accounting in the Art and Cultural Sector
- Arts Law in the Digital Age
- Business Models in Creative Industries
- Cultural Economics: Value in Cultural Policy and Management
- Principles of Public Economics
- Ethnography Of Arts Administration
- Services Marketing
- Fundamental of Project Management for Arts Organizations
- Fund Raising
- Sociology of Territory and Culture
- Reporting Budget and Business Plan (สอนโดย CFO ของ Universal Music ของอิตาลี // เล่นใหญ่ป่ะ!)
2.) กลุ่มต่อมาคือวิชาบังคับเลือก ต้องเลือกลงให้ครบหน่วยกิต
- Basic Analytics
- Art Appreciation
- Analytical Customer Relationship Management
- Regional Cultural Policies
- Urban Planning and Development
3.) วิชาแล็บ
วิชาแล็บ Laboratories of _______ เช่น Performing Arts Management, Visual Arts Management, Management of the Film Industry, Performing Arts Management ฯลฯ ความพิเศษคือสอนโดยคนจากอุตสาหกรรมนั้นจริงๆ เช่น Lab Film สอนโดยโพรดิวเซอร์จากอเมริกาและมีผลงานเคยเข้าชิง Emmy Awards
4.) วิชาเลือก (Electives)
Course Structure ปี 2022-23Course Structure ปี 2024-25มาถึงเมืองแห่งศิลปะทั้งที
ต้องเก็บประสบการณ์ให้คุ้ม!
ระหว่างเรียนเราสมัครเป็น Student Ambassador ทำกิจกรรม ซึ่ง!! ความเก๋คือกิจกรรมอาจเป็นงาน Opening หรือ Exhibition ที่จัดใน Gallery มีเสิร์ฟไวน์ อาหารฟรี ได้คอนเน็กชัน ฯลฯ และบางงานเขาจะ Prioritize นักเรียนสาขาศิลปะแบบเราได้สิทธิ์เข้าได้บุคคลทั่วไปด้วย!
ขอเสริมอีกนิดว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องภาษา ก็จะเข้าร่วมกิจกรรมในเมืองได้มากกว่า หรือแม้กระทั่งสัมมนาที่มหา’ลัยจัด จะเป็นภาษาอิตาเลียนเกือบทั้งหมด ตัวช่วยคือมหาวิทยาลัยมีคอร์สให้เรียนภาษาอิตาเลียนฟรี 1 คอร์ส แต่ที่เราไปเจอคือระดับ B2 ไม่ใช่ Beginner แบบนับหนึ่ง ทั้งคลาสพูดภาษาอิตาเลียนและไปแบบเร็วๆ ส่วนเราที่เพิ่งมาถึงปีแรกยังจัดการตารางชีวิตไม่ทัน ต้องเรียน + ทำโพรเจ็กต์ไปด้วยจนไม่มีเวลาทบทวนบทเรียน
แล้วในช่วงปีแรกเราคิดถึงละครเวทีมากกกก เลยไป Google ว่าที่โบโลญญามี Workshop ละครเวทีอะไรที่เราพอจะเข้าร่วมได้บ้าง ใช้คำค้นประมาณว่า Bologna / Theatre / English / Workshop แล้วไปเจอคณะละครเวที “Cantieri Meticci: The Refugee Theatre Company” เลยเข้าร่วมไปครับ (เสียค่าเข้าร่วมนิดหน่อย) คนที่เข้าร่วมก็จะเป็น Immigrant ที่พูดภาษาอิตาเลียนได้หมดเลย เราไปถึงก็ "ห้ะ อะไรนะ ห้ะะ" 5555 จะรอดไหมให้ทาย?
ตอนแรกคิดว่า นี่คือการพยายามบังคับตัวเองให้ออกจาก Comfort Zone มาเก็บประสบการณ์แบบนี้ คงสูบพลังน่าดู แต่ปรากฏว่า พอเรามีประสบการณ์ทำละครเวที มีพื้นฐานและเข้าใจกระบวนการมาก่อน ก็สามารถต่อติด ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และกลายเป็นช่วงสัปดาห์ที่มีความสุขที่สุด และได้ฝึกภาษาอิตาเลียนแบบจอยๆ เพราะ Workshop ที่เล่าถึงนี้คือพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถ “นักแสดง” (Actor) โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน ไปทุกสัปดาห์ต่อเนื่องหลายเดือน ได้คอนเน็กชันใหม่ๆ เรารู้สึกภูมิใจและเป็นที่ยอมรับในคอมมูนิตี้
แชร์ประสบการณ์ฝึกงาน
บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไม่มีออฟฟิศ
โปรแกรมนี้กำหนดว่านักศึกษาทุกคนต้องฝึกงาน โดยมีภาคบังคับ 350 ชั่วโมง และมีที่เป็นวิชาเลือก 200 ชั่วโมง เราเลือกฝึกงานเพราะมองว่าจะได้ Practical Experience ที่สุด เห็นภาพกระบวนการ การดำเนินธุรกิจ และฝึกรับมือกับความท้าทายที่องค์กรต้องเจอ (ช่วงเวลาที่ไปฝึกคือตอนปี 1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2023)
สิ่งที่อยากรู้ตั้งแต่ก่อนมาเรียนคือ "เราจะสามารถหาเงินจากการทำ Art ได้ยังไงบ้าง และวิธีไหนที่เราสามารถช่วยให้วงการนี้ให้ดำรงและเติบโต หรือแม้แต่หารายได้ให้ตัวเองมีหน้าที่การงานมั่นคง พร้อมและมีกำลังใจทำสิ่งที่ชอบต่อไปเรื่อยๆ" ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ต้องแก้ที่โครงสร้าง
พอมาอิตาลีเราได้เรียนผ่านกรณีศึกษา (Case Studies) เยอะมาก ได้เข้าใจว่าหลาย Museum ของอิตาลีได้เงินจัดสรรจากเมืองหรือจังหวัด ในขณะเดียวกัน ผู้จัดก็พยายามหาสปอนเซอร์เพื่อระดมทุนให้สามารถแสดงศิลปะให้ผู้คนเข้าชมได้อย่างต่อเนื่อง
ที่อิตาลีจะมีตำแหน่งงานที่ดูแลเรื่องการระดมทุน (Fundraiser) โดยเฉพาะ เรารู้ครั้งแรกตอนได้ไปฝึกงานที่ “Benvenuti Arts” บริษัทสัญชาติอเมริกัน แต่จ้างพนักงานมาจากทั่วโลกรวมถึงคนอเมริกันที่มาจากต่างรัฐ ไม่มีออฟฟิศ ทำงานแบบ Remote Wokring ทุกคนรวมถึงเด็กฝึกงานจะได้ค่าตอบแทนเท่ากันหมด (ชั่วโมงละ 16 ยูโร)
จุดประสงค์ขององค์กร มีความ Unique มากๆ นั่นคือการมุ่งเน้นการระดมทุน (Fundraising) ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านศิลปะ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Pittsburgh ของรัฐ Pennsylvania ของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ซึ่งฝ่ายที่เข้าหาคือองค์กรศิลปะที่มาสมัคร Membership รายปีกับ Benvenuti Arts แบ่งออกเป็นสมาชิกหลายระดับ จากนั้นเขาจะนำค่าสมาชิกรายเดือนตรงนี้ไปเมเนจเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุน และกรณีได้เงินจากการระดมทุน จะไม่หัก % จากเงินที่ได้ครับ
มันคือการบริหารจัดการที่ยากขึ้นมาอีกระดับนึง เรียนรู้เครื่องมือที่ใช้ติดต่อและช่วยให้ทำงานราบรื่นเป็นระบบ เช่น หลักๆ เราจะคุยงานกันผ่าน [Slack] และใช้โปรแกรม Project Management ที่ชื่อ [Asana] เป็น Tools ที่เจ๋งมากๆ เราได้เห็นภาพรวมงานทั้งหมด สามารถแตกเป็นขั้นตอนย่อยออกมา และติดตามการทำงานได้ โดยผู้ที่จะแจกจ่ายงานคือ Operation Manager เราเข้าไปดูได้เลยว่า อ๋อโอเควันนี้มีสิบงานนะ ถ้า workload เยอะเกินไปก็สามารถบอกได้ว่าไม่ไหวเด้อออ
พอทำงานเป็นระบบแล้วจะสนุกขึ้นจริงๆ วางแผนชีวิตง่าย และทำให้รู้ว่าในชีวิตจริงแทบไม่มีอะไรที่ด่วน เพราะมีเตรียมวางแผนรับมือทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น เช่น เพื่อนทำขั้นตอนก่อนหน้า เรากำลังรอรับงานจากเพื่อน แต่เรารู้มาว่าเพื่อนจะส่งให้มาแบบกระชั้นเดดไลน์มาก ดังนั้นเราจะรู้ว่าวันนี้มีงานด่วน ก็เตรียมการไว้ให้พร้อมที่สุดเพื่อให้ส่งงานทันเดดไลน์ (ยกเว้นส่วนน้อยที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจริงๆ)
ด้วยความที่เป็น Intern เราจะไม่ได้ลงใช้ความเชี่ยวชาญเจาะลึกขนาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร (Documents) มากกว่า มีบ้างที่ต้องติดตามประสานงาน ต้องดีลหลายๆ ทาง ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะเราตื่นเต้นกับการได้มาทำตรงนี้ ก็เลย active ตลอด // Ps. เราไปเจอหน้าตัวเองบนเว็บ https://benvenutiarts.com/about-benvenuti-arts/ ด้วยอ่ะ ด้านล่างนี้เลยครับ
เราได้มาเจอกับวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น
- องค์กรที่เราไปทำงาน มีจัดอบรมหัวข้อกลยุทธ์สื่อสาร “J.E.D.I Collaborative” ย่อมาจาก Justice – Equity – Diversity – Inclusion ต้องการสื่อว่าเราต้องสื่อสารกันแบบใส่ใจ ยิ่งทำงานแบบ Remote ยิ่งต้องระมัดระวังขึ้น
- อเมริกาจะมีวัฒนธรรม Water Cooling หรือการคุยกันหน้าตู้กดน้ำ ทำให้พนักงานรู้จักกันมากขึ้น หรือ ใน Slack จะมีตัวเสริม (Extension) ชื่อ “Coffee & Donut Chat” จับคู่คนในห้องแบบสุ่ม แล้วมา meeting คุยกันแบบจิปาถะสักครึ่งชั่วโมง
- กฎหมายอเมริกันมีให้พนักงานแสดงเงินเดือน เพื่อความโปร่งใส และทำให้คนในองค์กรรู้ว่าตำแหน่งนี้จะสามารถเติบโตได้อีก
สิ่งที่ตกผลึกจากชีวิตช่วง ป.โท
- การมาเจอคนที่แตกต่างทั้งเรื่องพื้นเพ วัฒนธรรม และความคาดหวัง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมองโลกเปลี่ยนไป เปิดกว้างและถ่อมตัวขึ้น พยายามทำความเข้าใจมากกว่าจะตัดสินคุณค่าของแต่ละคน
- การโตมาในกรุงเทพฯ เราวิ่งตลอดเวลา ต้องทันทุกโอกาส ต้องดีขึ้น ตอนแรกคิดว่าช่วงที่ได้ทุนมาเรียนคงเป็นการพักผ่อนไปในตัว แต่ไม่! พอมาอิตาลีเราต้องวิ่งต่อ ยิ่งไม่ได้ภาษายิ่งต้องสู้ชีวิต พร้อมกับสำรวจตัวเองว่าอยากอยู่ต่อไหม ชอบไหม หรือแค่ใหม่สำหรับเราเฉยๆ สู้กับความความหวังตัวเองว่าจะพึงพอใจที่จุดไหน
ความประทับใจ และสิ่งที่อยากให้เตรียมรับมือ
(เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัว)
- ถ้าให้เราอธิบายคาแรกเตอร์ของคนอิตาลี เขาน่าจะเป็นคนชิลล์ๆ ชีวิตมี Work-life Balance หาความสุขจากสิ่งรอบตัวได้ง่ายๆ ถือคติว่า “ชีวิตเหมือนของหวานที่ต้องกินช้าๆ ค่อยๆ enjoy กับมัน” เหมือนกับสวัสดิการคนทำงานประจำ 1 ปี มีวันหยุดให้ 4 สัปดาห์ สามารถรีเควสต์วันได้เลยไม่ต้องรอคริสต์มาสหรือเทศกาลไหนๆ
- เอเชียนมักเป็นกลุ่มที่เจอเรื่องกรเหยียดโดยคนกลุ่มอื่นๆ แนะนำให้พูดภาษาอิตาเลียนได้สักหน่อยเพื่อป้องกันตัวและรักษาสิทธิ์ตัวเอง
- อาจเพราะเราเป็นชายร่างใหญ่ไหมนะ ก็เลยไม่เจอปัญหาการพุ่งเข้ามาทำร้ายร่างกาย แต่เคยเกือบโดนล้วงกระเป๋าครั้งนึง มิจฉาชีพมาในรูปแบบ Homeless Lady อุ้มลูกในมือ พูดภาษาอิตาเลียนว่าวันนี้วันเกิดเด็กคนนี้ ขอเงินหน่อย ซึ่งที่นางอุ้มคือผ้าเว้ย!!! มืออีกข้างก็กำลังจะมาล้วงกระเป๋าเรา ครั้งนั้นเดินหนีทันครับ
- อิตาลีมีที่เที่ยวให้ไปเยอะมาก จะแนวธรรมชาติ ทะเล สถานที่หรือเทศกาลจัดแสดงศิลปะ เช่น Biennale Arte ที่จัดโดยรัฐบาลอิตาลี (อยู่ 2 ปี ได้ไปมา 3 ครั้ง) หรืออย่าง UNESCO World Heritage Sites ของประเทศอิตาลีปัจจุบันมี 60 แห่ง เยอะที่สุดในโลก (อ้างอิงข้อมูล Jul 31, 2024) มีที่ไหนบ้างสามารถอัปเดตได้ทาง https://whc.unesco.org/en/list/
**นักศึกษาสาขาศิลปะ สามารถเข้า Museums ได้ฟรี หรือเป็นราคาพิเศษ
- ทุกเมืองของอิตาลีมีของดีเป็นจุดขาย เช่น เมืองนั้นดังเรื่องหนัง เมืองนี้เด่นเพลงคลาสสิก ฯลฯ อย่างโบโลญญา ช่วงนี้รัฐบาลโปรโมตเรื่องอาหารอร่อย คนก็จะมาเที่ยวเพื่อชิมอาหารกันเยอะมาก แถมที่ตั้งโบโลญญายังเป็นจุดที่ถูกต้อง อยู่เมืองไหนก็เดินทางมาสะดวกและใช้เวลาไม่นาน และเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงได้
- เกร็ดวัฒนธรรมเบาๆ คนโซนต่างๆ ของอิตาลีอาจมีวัฒนธรรมการกินอาหารแตกต่างกัน เช่น คนทางใต้นิยมกินปลาทะเลแบบดิบๆ มีอาหารรสเผ็ด ส่วนคนเหนือจะไม่นิยมกินอาหารรสจัดหรือใส่กระเทียมเยอะๆ ครับ สำหรับ "โบโลญญา" เป็นเมืองต้นกำเนิดของแฮมโบโลนา และ Bolognese sauce (โบโลเนสซอส) ใครอยากชิมต้นตำรับลองได้ที่นี่
Note: ส่วนตัวไม่ได้อินกับอาหารอิตาเลียนขนาดนั้น แต่ชี้เป้าร้านอาหารที่เราชอบคือ "Trattoria Da Vito" ตั้งอยู่นอกเมือง กินบ่อยได้เพราะราคาโอเค
- โบโลญญาเป็นเมือง Studio Appointment ราคาแรงสุดๆ ค่าห้องประมาณ 500 ยูโร/เดือน ซึ่งทุนรัฐบาลอิตาลีช่วยให้ประหยัดไป 9 เดือน (ถ้าเรียนนานกว่านี้ต้องจ่ายเพิ่มเอง) ส่วนใหญ่เงินจากทุนก็พอให้เราสามารถไปเที่ยว Museum, Festival และมีรายได้จากฝึกงานด้วย
สุดท้ายนี้!
ตอนที่ให้สัมภาษณ์กับ Dek-D เราอยู่ ป.โท ช่วงโค้งสุดท้าย กำลังทำ Thesis กับบริษัท Benvenuti Arts หัวข้อเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีในการบริจาคให้กับศิลปะในไทยครับ
และด้วยความที่ตอนไปอิตาลีไม่ได้สัมผัสชีวิตการทำละครเวทีเลย (นอกจากตอน Workshop) โพรเจ็กต์แรกที่เราไปเข้าร่วมหลังจากกลับมาไทยคือเทศกาล Wonderfruit Music Festival ถ้าใครอยากโอกาสพักผ่อนพร้อมดื่มด่ำไปกับเทศกาลดนตรีที่เป็นมากกว่าดนตรี งานนี้แหละที่เนรมิตงานศิลปะ วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ อาหารนานาชาติ และแนวคิดรักษ์โลกอย่างยั่งยืน มาไว้ที่ The Fields at Siam Country Club เมืองพัทยา จ.ชลบุรี 4 วันเต็ม ติดตามรายละเอียดและลองเข้าไปชมเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลต่างๆ ของ Wonderfruit ก่อนได้เลยครับ
- เปิดขายบัตร 1–4 ตุลาคม 2024
- เทศกาลดนตรีจัด 4 วันเต็ม 12–16 ธันวาคม 2024
0 ความคิดเห็น