สวัสดีค่ะชาว Dek-D “เกาหลีใต้” นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศในเอเชียที่ลงทุนและให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยอย่างมาก เพื่อวางรากฐานสร้างทรัพยากรบุคคลเก่งๆ ออกมาร่วมทำงานหนักเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นเกาหลีใต้ยังมีทุนจากรัฐบาล มหาวิทยาลัย องค์กรต่างๆ ที่ดึงดูดให้นักเรียนที่เก่งและมีความตั้งใจสูง ได้เข้ามาเรียนรู้และทำตามแพสชันโดยมีทรัพยากรที่ช่วยส่งเสริมการเรียนอย่างเต็มที่ด้วย
และวันก่อนเรามีโอกาสชวน “พี่พลอย” นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี GKS-U Scholarships มารีวิวเกี่ยวกับชีวิตนักเรียน ป.ตรี สาขาวิชาเอก Biological Sciences (Minor in Food Sciences) ในรั้ว Seoul National University ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยกลุ่ม SKY ที่เด็กเกาหลีใฝ่ฝันอยากเข้าศึกษาต่อมากที่สุด เล่าตั้งแต่การสมัครทุน, การเรียนปรับภาษา 1 ปี, รีวิววิชาเรียน ป.ตรี สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences)
ความโหดอยู่ตรงไหน? สนุกไหมนะ? ไปตั้งต้นกับสกิลภาษาเกาหลีเป็นศูนย์ แต่ผ่านมาได้ยังไง? พร้อมแล้วมาเก็บข้อมูลกันเลยค่า
อันยองฮาเซโย~ ชวนทักทายน้องๆ กันก่อนค่ะ
สวัสดีค่า ชื่อพี่พลอยนะคะ เรียนจบ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนี้จะเน้นวิทย์และวิศวฯ เป็นหลักค่ะ ส่วนเกาหลีใต้พลอยเริ่มสนใจตอนที่ KAIST มาที่โรงเรียนเพื่อแนะนำมหา'ลัย ทำให้เราได้รู้จักในฐานะประเทศที่เก่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มากๆ
แล้วก็จุดประกายให้เราหาข้อมูลทุนเรื่อยๆ จนมารู้จัก ทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ (GKS-U Scholarships) ที่สนับสนุนแบบเล่นใหญ่ ในที่สุดก็ติดทุนเมื่อปี 2016 ค่ะ
อ้างอิงระเบียบการปีล่าสุดปี 2024 [ปิดรับสมัครแล้ว] ว่าล่าสุดเขาซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
- ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ (ชั้นประหยัด) *ให้เฉพาะตอนบินไปครั้งแรก และ บินกลับหลังเรียนจบ
- ค่าตั้งรกราก (Settlement Allowance) 200,000 วอน (ประมาณ 5,400 บาท)
- เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 900,000 วอน (ประมาณ 24,300 บาท)
- หากสอบ TOPIK ได้ระดับ 5 หรือ 6 จะได้รับเบี้ยเลี้ยงรายเดือนเพิ่มอีก 100,000 วอน (ปรมาณ 2,700 บาท)
- เงินสนับสนุนหลังเรียนจบ 100,000 วอน (ประมาณ 2,700 บาท)
- ค่าประกันสุขภาพ
- ค่าเรียนคอร์สปรับพื้นฐานภาษาเกาหลี
- ค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนตลอดหลักสูตร
**บทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงรีวิวประสบการณ์ประกอบการเตรียมตัว แต่เรื่องข้อมูลทุนแต่ละรอบอาจไม่เหมือนกัน กรุณาศึกษาระเบียบการของปีที่สนใจสมัครอย่างละเอียด
ล็อกเป้าหมาย & ปั้นพอร์ตให้เด่น
เดินหน้าสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีใต้
การสมัครจะมี 2 แบบคือ Embassy Track (สมัครผ่านสถานทูตเกาหลีใต้) เลือกได้สูงสุด 3 อันดับหลักสูตรที่อยากเข้า และ University Track (สมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง วันปิดรับต่างกัน) เลือกได้ 1 สาขา และ 1 มหาวิทยาลัยเท่านั้นค่ะ
พลอยสมัครแบบแรกคือ Embassy Track เลือกเป็นคณะ Biological Science หรือ Bio Technology ทั้ง 3 อันดับเลย แต่เรื่องมหาวิทยาลัยเราเน้นจากชื่อเสียง เพราะมองว่าการันตีคุณภาพได้ระดับนึง **ปัจจุบันสาขา Biological Sciences ของ SNU เป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ (อ้างอิง: QS World University Rankings by Subject 2024)
Tips:
- แนะนำว่าให้เข้าเว็บคณะไปดูข้อมูลหลักสูตร ดูแล็บว่ามีสายไหนบ้าง ยิ่งถ้าใครเป้าหมายชัดเจนว่าอยากทำวิจัยด้านนี้ สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลอาจารย์ในคณะและเปเปอร์ของเขาได้ค่ะ
- อาจลองพูดคุยหรือรีวิวจากศิษย์เก่าหลายๆ ที่ เพื่อดูสไตล์และจุดแข็งของมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละที่ต่างกันค่ะ เช่น SNU เก่งวิจัย, Korea University หรือ Yonsei University บรรยากาศจะมีความเป็นอินเตอร์ เรียนและทำกิจกรรมไปด้วย
เตรียมตัวยังไงบ้าง?
ส่วนตัวพลอยว่าการเขียน Personal Statement และ Study Plan ให้ออกมาดี เป็นเรื่องที่ทั้งท้าทายและสนุกที่สุดเช่นกันค่ะ 555 การสมัครทุนนี้เราสามารถนำเสนอตัวเราได้อย่างเต็มที่จากเอกสาร 2 ส่วนนี้เท่านั้น แถมยังจำกัดความยาวแค่อย่างละ 2 หน้ากระดาษ เลยต้องกลั่นกรองและเขียนออกมาเพื่อให้ดึงความสนใจคณะกรรมการได้
จริงๆ การเตรียมเอกสารไม่ยาก แต่รายละเอียดเยอะ บางอย่างก็ต้องทำเรื่องขอจากโรงเรียน รวมถึงเอกสารราชการที่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นไปได้ให้รีบเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วยิ่งดีค่ะ
Personal Statement
เริ่มจากแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร, มีความสนใจด้านไหน, ประสบการณ์ที่ผ่านมาเราได้ทำอะไร (เช่น การเข้าค่าย การทำโพรเจ็กต์, การแข่งขันต่างๆ) เราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนั้นๆ แล้วการมาเรียนที่เกาหลีมีความสำคัญกับเรายังไงบ้าง
Study Plan
พาร์ตการเรียนช่วง ป.ตรี พลอยเล่าคร่าวๆ ว่าเราสนใจเรียนด้านนี้เพราะอะไร, ระหว่างเรียนที่เกาหลีอยากทำอะไรบ้าง และหลังจากจบการศึกษามีแผนว่าจะทำอะไร อย่างของพลอยก็เล่าไปว่าอยากทำโพรเจ็กต์ชีวะแนวไหนประมาณนี้ค่ะ เพราะเลือกไปแนวเดียวกันหมดเลย แต่ถ้าใครสมัครคณะต่างกัน แนะนำให้เขียนอธิบายแต่ละคณะที่เลือก
พาร์ตเรียนภาษาเกาหลี ก็บอกประมาณว่าจะเริ่มเรียนด้วยตัวเอง ระหว่างเรียนก็จะตั้งใจเรียนให้เต็มที่และจะเผยแพร่ภาษาเกาหลีให้กับเพื่อนๆ ที่ไทย เพื่อเป็นช่องทางในการฝึกภาษาด้วยค่ะ
รีแคปบรรยากาศและความท้าทาย
ช่วงปรับภาษา 1 ปีจนถึง ป.ตรี
เรียนปรับภาษา 1 ปี ไปแบบพื้นภาษาเป็นศูนย์!
ตอนสมัครพลอยยื่นคะแนนภาษาอังกฤษ และไม่มีพื้นภาษาเกาหลีมาก่อน เลยได้เริ่มเรียนปรับภาษาตั้งแต่ระดับแรกที่ Sunmoon University ในเมืองอาซานค่ะ เรียนครบทุกทักษะ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน และเรียนแค่วันละ 4 ชั่วโมง เพื่อนทั้งห้องเป็นชาวต่างชาติ (เด็กญี่ปุ่นเยอะจนเหมือนได้เรียนวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปในตัว) ช่วงนี้ก็เลยเครียดน้อยกว่า ป.ตรี เพราะเน้นภาษาเกาหลี วันนึงเรียนไม่กี่ชั่วโมง และเพื่อนๆ ทุกคนก็ต่างอยู่ในสถานการณ์การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ฟีลมองตาก็รู้ใจ ค่อยๆ ก้าวไปด้วยกันนะ 5555
พอเรียนปรับภาษาจนจบ พลอยไปสอบอีกครั้งได้ TOPIK 5 สิ่งนึงที่คิดว่าสำคัญมากคือ "การท่องศัพท์" เพราะต่อให้ไม่รู้ไวยากรณ์ คลังศัพท์จะช่วยให้เราเดาจากบริบทได้มากขึ้น และแนะนำให้ฝึกทำข้อสอบเก่าเยอะๆ ค่ะ
พอขึ้น ป.ตรี ยกระดับความยาก เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลก
โดยรวมเป็นการเรียนที่เคร่งเครียดและเข้มข้นกว่า อาจรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างเพราะมีชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนในคลาส แต่ข้อดีคือมหา'ลัยให้อิสระเราในการดีไซน์ตารางเรียนตลอด 4 ปี โดยมีไกด์ไลน์แนะนำว่านักศึกษาควรลงอะไรก่อนหลังดี วิชานี้ควรลงเทอมไหน บางวิชากำหนดว่าต้องผ่านตัวไหนมาก่อนถึงจะเรียนตัวนี้ได้ เป็นต้น
อย่างพลอยก็เริ่มต้นด้วยวิชาพื้นฐาน เช่น General Chemistry, Biology, Calculus, Laboratory แต่รู้สึกยากเป็น 2 เท่า เพราะต้องเข้าใจภาษาก่อนแล้วตามด้วยเนื้อหา โดยเฉพาะเรื่อง “คำศัพท์เฉพาะ” (Technical Terms) ที่เป็นแบบฉบับภาษาเกาหลี เช่น ชื่อเซลล์ (Cell) ออร์แกเนลล์ (Organelle) ในเซลล์ต่างๆ ค่ะ
ยกตัวอย่างคำศัพท์เฉพาะที่เห็นบ่อยๆ เช่น
세포 = cells
산화 = oxidization
화원 = reduction
포도상구균 = Staphylococcus
분류학 = taxonomy
계 = kingdom
문 = phylum
강 = class
과 = family
속 = genus
종 = species
ผ่านช่วงยากๆ มาได้ด้วยวิธีไหน?
ต้องใช้ความพยายามสูงเหมือนกัน มีทั้งนั่งแปลทีละคำๆ เขียนสรุปเองใหม่ ถ้าคลาสไหนอาจารย์อนุญาตก็จะอัดเสียงมาเปิดฟังทวนซ้ำ กว่าจะลงตัวก็ประมาณปี 3-4 จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นก็คือเรื่องภาษาอีกเช่นกัน (เรื่องใหญ่จริงๆ) แล้วบอกเลยว่าการร่วมกิจกรรมช่วยเราได้มาก เพราะเป็นสถานการณ์บังคับให้เราได้ใช้จนคุ้นชินขึ้น เกร็งน้อยลง แล้วพอเข้าใจภาษาก็จะช่วยปลดล็อกให้เราเข้าใจเนื้อหาที่เรียนค่ะ
ส่วนใหญ่เรียนยังไงบ้าง?
วิธีการสอนขึ้นอยู่กับสไตล์อาจารย์ มีทั้งเรียน Lecture บางวิชาให้เรา Discuss หรือถาม-ตอบกันในห้อง บางวิชามีเข้าแล็บแล้วเขียนสรุปเป็นรายงานออกมา เล่าถึงตรงนี้พลอยก็มองว่าในบรรดาทักษะการสื่อสารทั้งหมด "การพูด" ทั้งยากและสำคัญที่สุด เพราะถ้าวิธีเรียนแบบนี้แล้วเราพูดในห้องไม่ได้ อาจจะรู้สึกอึดอัดใจเพราะสื่อความคิดออกไปได้ไม่ตรงหรือไม่ครอบคลุมทั้งหมด
แต่ที่แน่ๆ ทุกวิชาที่พลอยเรียน ส่วนใหญ่มีสอบ 3 ครั้งต่อเทอม ทำให้เหมือนทุกซีซันคือการสอบค่ะ เป็นการทดลองขีดจำกัดว่าตัวเองจะสามารถนอนน้อยได้แค่ไหน ㅜ_ㅜ แต่ถ้าเรื่องธีสิสเรามีเวลาเตรียมตัวเยอะ ทำเรื่อยๆ ไม่กดดันมาก
รีวิวตัวอย่างวิชาเรียน
หนึ่งในวิชาที่ชอบมากๆ คือ “Cell Biology” ค่ะ เรียนเกี่ยวกับเซลล์และฟังก์ชันต่างๆ ของ Organelle รวมถึงที่มาที่ไปของการทดลองที่พิสูจน์ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งแนวการสอนของอาจารย์ทำให้เราได้ Discuss ไปพร้อมกับการเรียนด้วย แต่วิชานี้ไม่ได้เน้นแค่ท่องจำ การสอบจะมีคำถาม 3 ข้อ และให้เวลา 3 ชั่วโมง ออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์หน้าที่บางอย่างของเซลล์
แล้ววิชานี้คือต้องวิเคราะห์เอง เขียนเอง ย้อนไปนึกถึงก็ยากก แต่เราต้องหาทางจับจุดให้ได้ เพราะในความเป็นจริงเราไม่ต้องอ่านทุกหน้าถึงจะสอบผ่าน อาศัยความถึก ค่อยๆ สังเกตและเดาว่าอาจารย์เขาชอบเน้นพาร์ตไหน ใจความสำคัญแต่ละบทคืออะไร
“Molecular Biology” เรียนเทคโนโลยีของชีววิทยา การทดลอง การตัดต่อพันธุกรรม ฯลฯ เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เราอ่านเปเปอร์แล้วเห็นภาพมากขึ้น
อีกวิชานอกคณะที่ชอบคือ “Pop Culture” ให้เราอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์ แล้วมาวิเคราะห์กันในห้องเรียนค่ะ วิชานี้ได้เปิดโลกการตีความมากๆ
เพิ่มสีสันการเรียนมหาวิทยาลัย
ด้วยการลงวิชาโท (Minor)
ถ้าในโปรแกรมมีรายวิชาที่เราไม่ได้รู้สึกสนใจขนาดอยากเรียนเจาะลึก เช่น เด็กชีวะที่ไม่อินกับเรื่องพืช แต่จำเป็นต้องลงหน่วยกิตให้ครบตามเกณฑ์การจบ ป.ตรี มีทางเลือกน่าสนใจคือการข้ามไปลงวิชาโท (Minor)
เบื้องต้นคือเราจะเริ่มเทกไมเนอร์ได้หลังจากเรียนผ่านไป 2 เทอม มีขั้นต่ำ 33 หน่วยกิต จากนั้นก็ต้องลงทะเบียนเรียนวิชาไมเนอร์ที่เราสนใจให้ครบ 21 หน่วยกิต และรักษา GPA ให้ไม่ต่ำกว่า 2.0 สุดท้ายแล้วจะมีไมเนอร์ต่อท้ายในใบปริญญาของเรา
ตอนนั้นพลอยไปลงไมเนอร์ Food Science ค่ะ รู้สึกชีวิตสนุกขึ้นมากก เหมือนเปิดโลกอีกใบ เพราะเรียนแบบเน้นประยุกต์เยอะ มีออกนอกสถานที่บ้าง เช่น โรงงานพริกป่น เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการทำผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze Dry เป็นต้น
*อ่านเงื่อนไขและรูปแบบปริญญา Double Major, Minor และอื่นๆ ได้ทาง https://en.snu.ac.kr/academics/resources/double_major_minor
นอกจากเรียนและทำวิจัย
มีหลายกิจกรรมให้เปิดโลก
ส่วนใหญ่ในกรุ๊ปต่างชาติจะมีแชร์กันค่ะว่า ตอนนี้มีโครงการนอกมหาวิทยาลัยอะไรกำลังเปิดรับสมัครบ้าง แล้วก็บอกต่อกันมา อย่างพี่เคยไปเป็น Ambassador โปรโมตการท่องเที่ยวเกาหลี เคยร่วมทำโพรเจ็กต์คล้ายๆ ฝึกงานของบริษัท ฯลฯ เป็นโอกาสให้เราได้ลองงาน รู้จักเพื่อนเพิ่ม และอาจให้ทุนเราเพิ่มอีก
เกาหลีเป็นประเทศที่ไม่หยุดพัฒนา เห็นได้ชัดจากที่เขามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ทรัพยากรบุคคลเก่งๆ ประเทศเขาเยอะจริง และอย่าง SNU ก็ให้โอกาสนักศึกษาทำวิจัยด้านอื่นนอกเหนือจากที่เรียนในห้อง
#รีวิวเกาหลี
- ปัลรีๆ! เกาหลีขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรม 빨리빨리 (เร็วๆ) ค่ะ คือผู้คนจะทำอะไรเร็วไปหมด ซึ่งจะรวมไปถึงการติดต่องาน หรือการทำธุรการใดๆ ทำให้ตอนอยู่เกาหลีเราได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากๆ
- ความทันสมัย เกาหลีนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันเกือบทุกด้าน แทบทุกอย่างทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้หมด
- ระบบสาธารณูปโภคดีและเข้าถึงง่าย(มากกกก) ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ภูเขาเล็กๆ ในเมืองก็ยังมีทำทางเดินดีๆ ให้คนเดินขึ้นไปพักผ่อนหย่อนใจได้~
- ภาษาเกาหลีมีไว้ดีกว่า ยิ่งฝึกได้ไวก็จะใช้ชีวิตในเกาหลีได้สนุกและเต็มที่มากขึ้น
1 ความคิดเห็น