เจาะลึกละเอียดยิบ! 12 คำถามกับเจ้าของเพจ "Memee รีวิวเยอรมัน" เริ่มต้นด้วยวีซ่าออแพร์ & เรียนภาษา

Hallo! สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงการเปิดประสบการณ์เรียนหรือทำงานในยุโรป  "ประเทศเยอรมนี" นับเป็นอีกตัวเลือกยอดนิยมที่มีน้องๆ และวัยทำงานสอบถามเข้ามาตลอดเลยค่ะ และวันก่อนเรามีโอกาสได้ชวน "พี่มีมี่" เจ้าของเพจ Memee รีวิวเยอรมัน  มาแชร์ประสบการณ์ตั้งแต่เตรียมสมัครวีซ่าออแพร์และวีซ่าเรียนภาษา คำแนะนำเพิ่มเติม  ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเรียนภาษาและวัฒนธรรม รีวิวการใช้ชีวิตที่เมือง Esslingen และ Stuttgart ฯลฯ ซึ่งเราเชื่อว่าประสบการณ์ตรงจากพี่มีมี่จะช่วยให้คนที่อยากไปอยู่เยอรมนีอย่างถูกกฎหมาย สามารถเตรียมตัวได้ถูกทางและมั่นใจขึ้น~ ถ้าพร้อมแล้ว ไปเริ่มข้อแรกกันเลยค่ะ!

. . . . . . . .

1

ที่มาที่ไป 
ทำไมลงตัวที่เยอรมนี?

จุดเริ่มต้นจริงๆ คือเริ่มอิ่มตัวกับชีวิตที่ไทย แล้วอยากลองมาอยู่ต่างประเทศบ้างค่ะ  ตอนแรกคิดจะไปประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อย่างออสเตรเลีย อเมริกา หรืออังกฤษ แต่จุดเปลี่ยนคือได้มาคบกับแฟนที่เป็นคนเยอรมัน (คุยภาษาอังกฤษกันตลอด) ทำให้ตัดสินใจว่าจะลองมาอยู่ที่เยอรมนีสัก 1 ปี

และแน่นอนว่าเรื่องแรกๆ ที่ต้องวางแผนคือ "การเรียนภาษาเยอรมัน"  เพราะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ/ประจำชาติ อีกทั้งวีซ่าระยะยาวที่เยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าออแพร์, วีซ่าเรียนต่อสาขาที่เปิดสอนเป็นภาษาเยอรมัน หรือแม้แต่วีซ่าแต่งงาน ก็ต้องมีพื้นความรู้ภาษาเยอรมันก่อนถึงจะมาได้ ยกเว้นวีซ่าเรียนภาษาที่สามารถมาเริ่มจากศูนย์ และเริ่มเรียนระดับพื้นฐาน A1  ได้เลย

ส่วนกรณีของเรามาเริ่มที่วีซ่าออแพร์ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นวีซ่าเรียนภาษาตอนหลัง ข้อดีของวีซ่าออแพร์คือใช้งบน้อยสุด มาได้เร็วที่สุด และยุ่งยากน้อยที่สุด แต่ข้อจำกัดคือค่าตอบแทนไม่สูง แนะนำให้มีเงินติดตัวมาเองด้วย *อธิบายบริบทของเราคือ มาเองโดยใช้เงินเก็บจากการทำงาน  หาวิธีที่ประหยัดสุด ศึกษาข้อมูลวีซ่ามาเยอะมากๆ โดยเฉพาะประเภทที่เน้นมาด้วยตัวเอง และยังไม่มีแผนแต่งงานหรือเรียนต่อเลยค่ะ 

อ่านรีวิววีซ่าออแพร์เยอรมัน

2

อยากขอวีซ่าเรียนภาษาที่เยอรมัน
ขั้นตอนจะประมาณไหน?

  1. หาข้อมูล สำหรับคนที่ตอนนี้อยู่ไทยอันดับแรกดูข้อกำหนดเงื่อนไขและลิสต์เอกสารใน “เว็บสถานทูตเยอรมนี” ก่อนเลย  ส่วนคนที่อยู่เยอรมันอยู่แล้วด้วยวีซ่าอื่นๆ เช่น วีซ่าออแพร์และอยากเปลี่ยนมาเป็นวีซ่าเรียนภาษาอย่างกรณีเรา อันดับแรกให้ติดต่อ “สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” หรือ “Ausländerbehörde/Ausländeramt” ของเมืองที่จะไปอยู่ เพื่อขอลิสต์เอกสาร เพราะแต่ละเมืองอาจจะขอเอกสารเพิ่มเติมต่างกันนิดหน่อยค่ะ
     
  2. พิจารณาคุณสมบัติตัวเอง เมื่อดูลิสต์เอกสารและเงื่อนไขแล้วก็พิจารณาดูว่าเราเหมาะกับวีซ่านี้มั้ย บอกตรงๆ ว่าต้องใช้เงินเยอะพอสมควรทั้งค่าคอร์สเรียนและค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาที่อยู่เยอรมัน ต้องมีหลักฐานว่ามีเงินเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายได้ โดยการเปิดบัญชีประเภท Blocked Account เพื่อการเรียนภาษาโดยเฉพาะ อย่างน้อยเดือนละ 1028,- ยูโร ตลอดระยะเวลาการศึกษา หรือ หนังสือรับรองค่าใช้จ่ายจากสปอนเซอร์ในกรณีที่มีญาติ แฟน หรือเพื่อนที่เยอรมันเป็นคนซัปพอร์ต  ถ้าใครพร้อมก็ลุยเลย
     
  3. หาโรงเรียน ต้องเป็นหลักสูตรเร่งรัด หรือ Intevsive เท่านั้น ใบลงทะเบียนเรียนของโรงเรียนภาษา โดยทั้งหมดต้องมี 24 คาบเรียน คาบละ 45 นาทีขึ้นไป และเรียนไม่ต่ำกว่า  18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อหาได้แล้วก็ลงทะเบียน จ่ายค่ามัดจำหรือจ่ายเงินเต็มจำนวนให้เรียบร้อยเพื่อขอจดหมายเชิญและใบลงทะเบียนเรียนมาประกอบการยื่นวีซ่าค่ะ
     
  4. รวบรวมเอกสาร เตรียมเอกสารอื่นๆ ให้ครบตามที่กำหนด แนะนำว่าเอกสารบางอย่างถ้ามีเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษให้แปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย
     
  5. ยื่นวีซ่า คนที่อยู่ไทยก็จองนัดที่ “สถานทูตเยอรมนี” เพื่อเอาเอกสารทั้งหมดไปยื่นขอวีซ่า ส่วนคนที่อยู่เยอรมันแล้วก็จองนัดที่ “สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” หรือ “Ausländerbehörde/Ausländeramt” บางเมืองอาจจะให้ยื่นออนไลน์ อีเมล หรือส่งทางไปรษณีย์ได้
     
  6. รอผลวีซ่า  พอยื่นเอกสารเรียบร้อยและก็รอพิจารณาผลวีซ่า คำถามยอดฮิต “ใช้เวลานานแค่ไหน?” ตอบแน่นอนไม่ได้ แต่ละเคสแต่ละเมืองระยะเวลาพิจารณาวีซ่าไม่เท่ากัน ของเรารอประมาณ 1 เดือนถึงทราบผลว่าผ่านค่ะ~~~

2.1 คำแนะนำเพิ่มเติม  & ข้อควรระวัง

  • อยากให้เริ่มจากศึกษาข้อมูลและทำวีซ่าด้วยตัวเองก่อนจะดีที่สุด เพราะทำได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเอเจนซีเลย  ยกเว้นบางอย่างที่ทำไม่ได้แล้วจำเป็นต้องจ้าง เช่น แปลเอกสารราชการภาษาไทยหรืออังกฤษเป็น “ภาษาเยอรมัน” ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลอะไรแบบนี้(ถ้ามี) ต้องใช้ล่ามที่ได้การรับรอง ในเว็บสถานทูตจะมีลิสต์ล่ามที่ได้รับการรับรองให้ด้วย

    (จริงๆ สถานทูตบอกว่าเอกสารภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องแปลนะ แต่เราแปลเป็นภาษาเยอรมันหมดอุ่นใจกว่า เพราะยังไงก็เป็นภาษาราชการของประเทศเยอรมนี อาจช่วยให้อ่านและพิจารณาได้ง่ายขึ้น)
     
  • ถ้ามีข้อสงสัยที่ลองค้นหรือถามเพื่อนตามกลุ่มแล้วแต่ยังไม่ชัวร์ แนะนำให้ถามสถานทูตเยอรมนี  เพราะจากประสบการณ์ตรง เจ้าหน้าที่ตอบข้อความหรืออีเมลตลอด และตอบชัดเจนทุกคำถาม หรือถ้าเรามีคำถามที่ส่วนตัวมากๆ อาจมีเรื่อง Data Protection สามารถโทรเข้าเบอร์สถานทูตได้ค่ะ

ช่องทางการติดต่อสถานทูตเยอรมนี

2.2 หลายเสียงรีวิวสถานทูตจะพิจารณาอย่างเข้มงวดและรัดกุม ถ้าตั้งใจจะไปจริงๆ เตรียมพร้อมยังไงดีถึงจะไม่พลาด?

ย้ำว่าเตรียมเอกสารให้ครบตามที่กำหนด ถ้าเอกสารครบยังไงโอกาสผ่านมีเยอะมากแน่นอน ฟังดูไม่ยาก แต่หลายๆ คนแอบพลาดตรงนี้ ลืมอันนั้น ไม่มีอันนี้ สรุปไม่ผ่านตั้งแต่ด่านแรก มีบางคนเชื่อเอเยนซีมากเกินไป เอเยนซีบอกว่าอันนั้นไม่ต้องใช้ อันนี้ไม่ต้องใช้ ไม่จำเป็น ดึงเอกสารเราออก สรุปเอกสารไม่ครบ ไม่ผ่าน ถึงบอกว่าอยากให้ลองศึกษาเองและทำเองก่อนดีที่สุดค่ะ

อีกอย่างคือ “การเขียนจดหมายแนะนำตัวและแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาเยอรมัน” ก็สำคัญมาก ควรเขียนแบบตรงไปตรงมา กระชับ ได้ใจความ และทุกอย่างควรเมกเซนส์ สมเหตุสมผล ไม่งง เช่น เริ่มด้วยแนะนำตัวเล่าประวัติสั้นๆ เรียนจบอะไรมาหรือกำลังเรียนอะไรอยู่ ปัจจุบันทำอาชีพอะไรหรือทำอะไรอยู่ ในอนาคตคิดว่าจะทำอะไร ทำไมถึงอยากเรียนภาษาเยอรมัน ทำไมต้องไปเรียนที่เยอรมนี การเรียนภาษาเยอรมันเกี่ยวกับชีวิตเราตอนนี้และในอนาคตยังไง เหตุและผลทุกอย่างควรสอดคล้องกัน เราเขียนเป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นเยอรมันด้วย Google Translate อีกที 

จริงๆ วีซ่านี้ไม่ได้มีกำหนดอายุหรือวุฒิการศึกษาว่าต้องจบอะไรมา มีหลายๆ คนลือกันว่า เรียนจบไม่สูงหรืออายุมากแล้ว วีซ่าอาจจะผ่านยากหรือเปล่า จริงๆ ไม่เกี่ยว ประเทศเยอรมันค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องอายุ คนอายุเกิน 30-35 ปีคือยังไม่แก่นะ เพียงแค่เหตุผลที่จะมาเรียนมันสมเหตุสมผลไหมมากกว่า สถานทูตและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาเองจากเอกสารและจดหมายที่เราเขียน ถ้าไปยื่นด้วยตัวเองอาจจะมีการสัมภาษณ์นิดหน่อยก็ตอบข้อมูลให้มันชัดเจน ตรงกับเอกสารและจดหมายที่เขียนไป

3

ค้นหาคอร์สและสถาบันยังไง?
อะไรที่ควรเช็กอย่างละเอียด?

  • สามารถ Google แล้วพิมพ์ชื่อเมืองที่เราจะไปอยู่ เช่น Stuttgart, Berlin, Frankfurt, Munich ตามด้วยคีย์เวิร์ด เช่น German courses, German intensive courses, German intensive courses for language visa
  • เปรียบเทียบราคาประกอบกับรีวิวจาก Google หรือเว็บไซต์ อาจลองโพสต์ถามคนในกลุ่ม Facebook  นอกจากนี้เราส่งอีเมลไปถามเพื่อความชัวร์อีกทีว่า คอร์สของที่นี่ตรงเงื่อนไขวีซ่าเรียนภาษาไหม สามารถออกจดหมายเชิญหรือใบเสร็จให้เราไปยื่นวีซ่าได้หรือเปล่า
  • อย่าลืมเช็กเงื่อนไขการจ่ายเงิน เช่น จ่ายแค่มัดจำก่อนกี่ % หรือต้องจ่ายเต็มจำนวนทั้งหมด 100% คืนเงินได้ไหมถ้าวีซ่าไม่ผ่านหรือคืนเงินไม่ได้ อันนี้ก็สำคัญ แต่ละโรงเรียนเงื่อนไขไม่เหมือนกัน
ส่วนตัวเราเคยเรียน 2 ที่ คือ สถาบัน VHS (Volkshochschule) เมือง Esslingen และ สถาบัน German Institute เมือง Stuttgart 

เหตุผลที่เลือก Esslingen เพราะตอนแรกเป็นออแพร์ที่เมืองนี้ เลยเน้นเลือกเรียนใกล้ที่พักอาศัย และ VHS เป็นโรงเรียนที่ซัปพอร์ตโดยรัฐบาล ราคาก็เลยประหยัด (จริงๆ สถาบันนี้มีเกือบทุกเมืองค่ะ) แต่ตอนที่เราจะเปลี่ยนมาเป็นวีซ่าเรียนภาษา พบว่าคอร์ส  intensive ของ VHS จำนวนชั่วโมงไม่ถึงตามที่กำหนด (อ่านในข้อ 2.) เราก็เลยต้องเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนภาษาเอกชนต่อที่ German Institute เมือง Stuttgart เป็นเมืองใหญ่กว่า ดูมีสีสัน มีอะไรให้ทำมากกว่า Esslingen แต่ที่จริง 2 เมืองนี้อยู่ใกล้ๆ กัน

4

ไปเรียนภาษาที่ระดับไหน?

ขอเริ่มจากอธิบายระดับภาษาคร่าวๆ ก่อนค่ะ

ระดับขอบเขตเนื้อหาคร่าวๆ
A1 (A1.1 + A1.2) ระดับเบื้องต้น จะเริ่มจากศูนย์เลยก็คือเรียนเรื่องที่สำคัญพื้นฐานก่อน เช่น การแนะนำตัว ชื่ออะไร มาจากไหน อายุเท่าไหร่ ตัวเลข อาหาร เวลา ถามและบอกทาง
A2 (A2.1 + A2.2)ระดับเบื้องต้น มีเรียนเรื่องพื้นฐานพวกนี้อยู่ แต่จะมีไวยากรณ์ที่ยากขึ้น อธิบายอะไรได้ลงลึกและละเอียดมากขึ้น มีทางเลือกคำศัพท์ใหม่ๆ ที่แอดวานซ์กว่า A1
B1 (B1.1 + B1.2)ระดับกลาง อันนี้เริ่มยากมากสำหรับเรา จริงๆ ไวยากรณ์ A2 ต้องแม่นก่อนเพราะมันต่อยอดใช้ตลอดชีวิต B1 จะได้เขียนจดหมายที่ยาวขึ้น ไวยากรณ์ยากขึ้น เรียนภาษาเขียนและภาษาทางการมากขึ้น ภาษาที่ใช้ในบทความ จดหมาย หนังสืออะไรพวกนี้
B2 B2 (ฺB2.1 + B2.2)ระดับกลาง อันนี้ยากมากกกกสำหรับเรา เรียนไปร้องไห้ไปคือไม่เกินจริง 55555 เป็นภาษาเขียนที่แบบแอดวานซ์มากขึ้น ไวยากรณ์บางอย่างเราไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินคนเยอรมันพูดในชีวิตจริง แต่ก็ต้องรู้ไว้เพื่อใช้กับเอกสารทางการ ภาษาทางการ ภาษาเฉพาะทางอะไรแบบนี้ B2 

บางโรงเรียนจะมีให้เลือกด้วยว่าเรียน B2 ธรรมดาหรือ B2-Beruf (เรียนเพื่ออาชีพ) ก็จะเป็นภาษาที่เกี่ยวกับอาชีพการงานเฉพาะทางไปอีก อันนี้จะเป็นระดับภาษาที่ใช้สมัครงานหรือสมัครเรียนต่อในสาขาที่ต้องใช้ภาษาเยอรมันหรือเรียนวิชาชีพ Ausbildung ได้แล้ว
C1 (C1.1 + C1.2) 
และ C2 (C1.1 + C1.2)
ระดับสูงแล้วค่ะ ถ้าเรียนจบแล้วจำได้นำไปใช้ได้จริงๆ คือแทบจะเทียบเท่า Native เยอรมันแล้ว อันนี้เราไม่ได้เรียนต่อ

ส่วนตัวไปเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับ A1.2 จนถึง B2 รวมเวลาทั้งหมดน่าจะ 6-7 เดือน ที่จริงเราเรียนจบ A1 และสอบผ่าน A1 มาจากไทยแล้วเพราะต้องใช้ยื่นวีซ่าออแพร์ แต่มาเรียนต่อ A1.2 เพื่อทบทวนพาร์ต 2 อีกทีและก็เรียนต่อมาเรื่อยๆ

สำหรับคอร์ส intensive ส่วนใหญ่ 1 ระดับใหญ่ จะแบ่งระดับย่อยอีกเป็น 2 คอร์ส เช่น A1 ก็จะมีระดับย่อยเป็น A1.1 + A1.2 คอร์ส intensive ใช้เวลาเรียน 1 ระดับย่อยประมาณ 1 เดือน - 1 เดือนครึ่ง คือ เรียนจันทร์ - ศุกร์ 5 วันต่ออาทิตย์ เรียนแบบจริงจังมาก การบ้านเยอะมากค่ะ!

5

ในคลาสเรียนประเทศเจ้าของภาษา
เขาสอนภาษายังไงกันนะ?

การเรียนภาษาที่เยอรมันคือเรียนแบบ Immersion เรียนโดยใช้ภาษาเยอรมันล้วนๆ ไม่มีการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นเลย แรกๆ ก็ตกใจว่าจะเรียนรู้เรื่องไหม แต่สำหรับเราโอเค เรียนไปเรียนมามันรู้เรื่องไปเองแบบช้าๆ การเรียนในห้องคือจะฝึกจากการฟังครูพูดบ่อยๆ พร้อมดูท่าทางและบริบทประกอบไปด้วย หนังสือที่ใช้ก็อธิบายเป็นเยอรมันหมด แต่เดาและเข้าใจได้จากบริบท อ่านบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ พอเจอคำเดิมๆ แพตเทิร์นเดิมๆ ก็จำได้เอง

ทั้งนี้ วิธี Immersion อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน ต้องใจเย็นๆ มีเพื่อนหลายคนมาเรียนแค่ 2-3 ครั้งแรกและทิ้งคอร์สเลยก็มี ไม่มาเรียนแล้ว เพราะเรียนไม่รู้เรื่องหรืออาจจะใจร้อน ถ้าอยากได้คำอธิบายเพิ่มอาจจะต้อง Google, YouTube หรือหาครูคนไทยติวเพิ่มเอาก็ได้ และก็ต้องทำการบ้านเยอะมาก บางครั้งการบ้านมีผลต่อการเรียนบทต่อไป ถ้าเราไม่ทำการบ้าน ไม่ทบทวนเอง พอมาถึงในห้องเรียนก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง ตามครูตามเพื่อนไม่ทันค่ะ

6

ภาษาเยอรมันยากตรงไหน?

เอาจริงๆ นะ ยากทุกตรงค่ะ 5555 มีคนบอกว่า “ภาษาเยอรมันง่ายนิดเดียว เพราะที่เหลือยากหมด!” ถ้าให้ลิสต์หลักๆ สิ่งที่เราว่าน่าจะยากสำหรับคนไทย คือ 

  • คำนามที่มี 3 เพศ (ชาย-หญิง-กลาง)
  • โครงสร้างประโยคและไวยากรณ์ เราต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะอย่างเรื่องการผันกริยาตามประธาน กาลเวลา เพศ ภาษาไทยไม่มีแบบนี้ และยังต่างกับในภาษาอังกฤษด้วย
  • การออกเสียง ต้องเรียนรู้การออกเสียงใหม่ๆ ที่ไม่มีทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ

7

เรียนมาสักพักใหญ่ๆ
คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของภาษานี้?

ส่วนตัวชอบวลีหรือพวกสำนวนสุภาษิตของภาษาเยอรมัน มีประโยคสนุกๆ บางทีก็สำนวนตลกๆ  และยังมีคำศัพท์เฉพาะเยอะมากกก  ถ้าเกิดใครเป็นคนชอบพูดสำบัดสำนวน ชอบฟังเพลง อ่านกลอน อ่านนิยาย อ่านหนังสือ ถือเป็นภาษาที่สวยและมีอะไรให้เล่นเยอะเลยค่ะ  เช่น คำ 1 คำของภาษาเยอรมันอาจจะต้องอธิบายเป็นไทยหรืออังกฤษ 2-3 ประโยค แต่เยอรมันมีคำเฉพาะแค่ 1 คำจบ อธิบายอารมณ์ความรู้สึกได้ลึกซึ้งมากกว่าการใช้ภาษาอังกฤษหรือไทย

8

แนะนำแหล่งเรียน & วิธีฝึกฝน
สำหรับน้องๆ ที่อยากเตรียมตัวตั้งแต่อยู่ไทย

ถ้าเรียนแบบเป็นคอร์สจริงจังมีใบประกาศนียบัตร แนะนำสถาบัน Goethe-Institut อยู่ที่สาทร กรุงเทพฯ ส่วนตัวเคยเรียนที่นี่แค่ 1 คอร์สย่อย เรียนแบบเยอรมันเลย immersion ครูพูดเยอรมันล้วนตั้งแต่ชั่วโมงแรก แต่ถ้าใครไม่ชอบแบบ immersion ก็ไม่เป็นไร ลองเริ่มเรียนกับครูที่อธิบายเป็นภาษาไทยเพื่อความเข้าใจลึกซึ้งก็ได้ ส่วนตัวเคยเรียนแบบหลังมาแล้วสอบผ่าน A1 ด้วยค่ะ

นอกเหนือจากนี้ก็ฝึกด้วยตัวเอง ต้องฝึกบ่อยๆ นะ นอกห้องเรียนหา YouTube ฟังบ้าง ฝึกเขียนจดหมายบ้าง พูดกับตัวเองและอัดเสียง ใครมีแฟนมีเพื่อนพูดกับเพื่อนหรือแฟนได้ยิ่งดี การเรียนภาษาถ้ามีครูดีแต่ถ้าไม่ฝึกไม่ใช้จริงเดี๋ยวก็ลืม ความขยันและความสม่ำเสมอสำคัญที่สุด

9

มาเรียนภาษาที่เยอรมนี
แล้วทำงานไปด้วยได้ไหม?

เมื่อก่อนชาวต่างชาติที่วีซ่าเรียนภาษาทำงานไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ดีมากเลย เพราะตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 คือกฎใหม่ให้ทำงานได้แล้ว แต่เป็นงาน Part-time ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องแสดงหลักฐานอย่างถูกต้องชัดเจน เช่น ถ้าทำงานร้านอาหาร ต้องเป็นร้านที่ลงทะเบียน มีเอกสารแสดงว่าเราเป็นพนักงานจริงๆ มีสลิปยืนยันว่าเราทำงานแล้วได้เงินจากงานนี้จริง

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.make-it-in-germany.com/en/visa-residence/types/other/language-acquisition 

[แถมๆ] รีวิวสังคมและวัฒนธรรมการทำงานที่เจอ

  • ส่วนใหญ่คนเยอรมันจริงจังกับเรื่องงานมาก มาตรงเวลา แต่ก็เลิกงานตรงเวลาเป๊ะด้วย เช่น 2 ทุ่มห้างปิดคือประตูรูดปิดมาครึ่งนึงตั้งแต่ 1 ทุ่มครึ่งแล้ว พอ 2 ทุ่มเป๊ะพนักงานไล่ ปิดร้านเลิกงานเลย
  • เสาร์-อาทิตย์ วันหยุด วันลาจะ “ให้เกียรติกันเรื่องเวลางานและเวลาส่วนตัว” ไม่มีการ LINE ตาม ส่งอีเมลจิกอะไรแบบนี้นอกเวลางาน ไม่ค่อยเจอเพราะถือว่าไม่สุภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่คนเยอรมันจะดีและขยันทุกคนอย่างเขาร่ำลือกันเสมอไปค่ะ
  • คนเยอรมันส่วนใหญ่พูดตรงมาก อย่าเป็นคนขี้น้อยใจ ขี้เกรงใจ มีอะไรเรื่องงานคือบอกตรงๆ วิจารณ์กันตรงๆ ต่อหน้า ไม่อ้อมค้อม ถ้าเราเป็นคนขี้น้อยใจ ใครติก็โกรธเคือง ร้องไห้ น้ำตาไหล เงียบ ไม่พูด ไม่เถียง แต่เก็บไปนอนคิดเล็กคิดน้อยแบบนี้จะอยู่ยาก ต้องสตรอง คุยให้จบตรงนั้นเลยและไม่ค้างคา เลิกงานมาก็ไม่โกรธกันแล้ว จบๆ
  • ที่เยอรมนีมีผู้คนหลากหลายและผู้อพยพที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก การอยู่ที่นี่ “ไม่ใช่ว่าเราจะทำงานแค่กับคนเยอรมันเท่านั้น” อย่าลืมว่าเราจะเจอคนหลายเชื้อชาติ หลายรูปแบบ มีนิสัยและคาแรกเตอร์ต่างกัน ควรเตรียมรับมือและปรับตัว อย่าไปเอาเปรียบคนอื่น แต่ก็อย่ายอมให้คนอื่นมาเอาเปรียบเราด้วยเช่นกัน คนมีหลายประเภทมากกก ขอให้ทุกคนเจอแต่คนดีๆ นะ!

10

แชร์สัก 3 แง่มุมที่ประทับใจสุด
ตั้งแต่เริ่มมาอยู่ที่เยอรมนี

  1. ข้อที่เราเองและสายเที่ยวน่าจะชอบสุด คือเราสามารถเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นในยุโรปง่ายมาก วีซ่าเรียนภาษาจ เข้า-ออกประเทศและไปเที่ยวประเทศในยุโรปที่อยู่ในเชงเก้นตอนนี้ได้ถึง 29 ประเทศ

    จริงๆ แค่ประเทศเยอรมันก็ใหญ่มากและมีที่เที่ยวเยอะ ถึงจะอยู่ในตัวเมือง แต่ทุกที่ค่อนข้างใกล้ธรรมชาติ ถ้าชอบเดินป่า เดินเขา ไปทะเลสาบต่างๆ ได้ง่าย น่าจะถูกใจคนที่ชอบธรรมชาติ การเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก ถ้าอยู่ในเมืองรถขนส่งสาธารณะทั่วถึง แต่รถไฟก็ดีเลย์บ่อย ถ้าอยู่นอกเมืองอาจจะต้องขับรถส่วนตัว ขี่จักรยาน หรือเดินเอา คนที่นี่ชอบเดินมาก 1-3 กิโลคือปกติ ไม่ไกล อยู่กรุงเทพฯ ระยะทางเท่านี้คือนั่งวินมอไซค์แล้วค่ะ
     
  2. บ้านเมืองสวย เพราะเราอยู่เมืองเล็กชื่อว่า Esslingen บ้านเรือนเป็นบ้านไม้สีๆ แบบในนิยาย และคล้ายกับในการ์ตูนญี่ปุ่น ตึกก็เป็นตึกเก่าจริงๆ เพราะในสมัยสงครามโลกเมืองนี้ถือว่าไม่ได้ถูกทำลายเยอะ ตัวเราเองชอบนะแต่ถ้าใมครเป็นสายปาร์ตี้อาจรู้สึกว่าเป็นเมืองเงียบๆ หน่อยก็ได้ ต่างจาก Stuttgart ที่เป็นเมืองใหญ่ มีอะไรให้ทำมากกว่า เช่น กิจกรรม มิวเซียม บาร์ ร้านอาหาร ห้าง ตึกสูงๆ ใหญ่ๆ ฟีลนี้ค่ะ
     
  3. อากาศดี มีหลายฤดู อันนี้เหมือนเป็น love-hate relationships คือทั้งชอบและไม่ชอบ 5555 ถ้าพูดถึงคุณภาพอากาศคือไม่มีฝุ่น PM2.5 มลพิษน้อยมาก หายใจได้เต็มปอด สดชื่น ส่วนเรื่องฤดูที่เปลี่ยนแปลงทำให้เราได้แต่งตัวหลากหลายสไตล์มากขึ้น เสื้อโค้ช เสื้อผ้าสวยๆ เลเยอร์หลายๆ ชั้น บูทยาวอยู่ที่ไทยไม่เคยได้ใส่ 

    แต่ใจเราจริงๆ ก็อยากให้อากาศอุ่นนานกว่านี้หน่อย เพราะที่นี่หน้าหนาวยาวนาน บางทีฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วงก็ยังหนาว ฟ้ามืดตลอด ไม่มีฤดูฝน แต่ฝนตกบ่อย ฝนตกได้ทุกฤดู บางคนอาจจะเป็นซึมเศร้าเพราะอากาศหนาว แต่ถ้าเข้าหน้าร้อนคือชอบมาก ฟ้าสว่างยัน 3 ทุ่ม เหมือนมีเวลาให้ทำอะไรเยอะขึ้น คนก็แฮปปี้มีความสุขค่ะ

11

ตัดภาพมาที่ Culture Shock
เรื่องไหนที่อยากให้เตรียมรับมือ?

จริงๆ มีเยอะมาก 55555 เคยเขียนสรุปไว้บนเพจ Memee รีวิวเยอรมัน แต่เดี๋ยวหยิบ Top 10 มาเล่าให้ฟังก่อนนะคะ

  1. ข้ามทางม้าลายแล้วรถหยุด!!!!! เฮ้ยย บางทียังเดินไม่ถึงเลย แค่ตั้งท่าก็หยุดรอแล้วเหรอ
  2. รถไฟดีเลย์บ่อยมากกก ดีเลย์เก่ง แคนเซิลเป็นเรื่องปกติ เผื่อเวลาดีๆ จ้า
  3. ติดต่อราชการเอกสารต้องปริ้นท์เป็นกระดาษ ยังไม่ค่อยเป็นระบบดิจิทัล
  4. ระบบราชการช้า เช้าชามเย็นชามและล้าหลัง ถ้าคิดว่าที่ไทยช้าแล้ว หนีเสือปะจระเข้ไปเลยค่าา
  5. ห้องน้ำฟรีหายากมาก ห้องน้ำสาธารณะส่วนใหญ่เสียเงินและไม่ค่อยสะอาด
  6. อินเตอร์เน็ตช้ามากกกก เต่ามากกก ขนาดเทียบกับประเทศโลกที่ 3 ก็ยังช้ากว่า
  7. คนชอบสั่งน้ำมูกเสียงดัง กลางโต๊ะอาหาร กลางออฟฟิศ เป็นเรื่องปกติ ไม่นับว่าเสียมารยาท
  8. วันอาทิตย์ห้าง ร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ตปิดหมด!!!
  9. คนเยอรมันยังนิยมใช้เงินสด ร้านค้าเล็กๆ ไม่ค่อยรับบัตร โอนเงินปกติต้องรอ 2-3 วัน ไม่ปุ๊บปั๊บเหมือนพร้อมเพย์ที่ไทย
  10. ทุกอย่างต้องนัด ต้องจองล่วงหน้านานนนนๆ ไม่ค่อย walk-in

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ค่อยๆ ปรับตัวไป บางอย่างก็ดีนะชอบ เช่น เรื่องข้ามถนนแล้วรถหยุดนี่แต่บางอย่างไม่ชอบก็ทำใจปล่อยวางบ้างถ้าเกิดมันไม่ร้ายแรงมาก // สามารถอ่านต่อได้ที่โพสต์ด้านล่างนี้ค่า

12

ชวนแชร์เรื่องค่าครองชีพเมืองที่อยู่ 
และทริกช่วยประหยัดเงิน

 วิธีประหยัดของเราคือตนเป็นที่พึ่งแห่งตนค่ะ ทำอะไรด้วยตัวเองให้มากที่สุด! ตั้งแต่มาอยู่เยอรมันทำเองแทบทุกอย่าง 5555 ซื้อของมาทำอาหารกินเอง อ่างล้างหน้าตัน ไฟที่ห้องเสีย อะไรเสียก็พยายามซ่อมเอง ถ้าเทียบราคาทุกอย่างกับไทยค่าครองชีพที่นี่แพงกว่าอยู่แล้วยิ่งช่วงนี้ของแพงขึ้นมากกก

  • ค่าคอร์สเรียนภาษาแบบ intensive 450-600 ยูโรต่อเดือน ราคาแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน
  • ค่าเช่าห้องที่ Stuttgart ตกอยู่ที่ 1,000-1,200 ยูโรต่อเดือน เป็นห้องแบบมีเฟอร์นิเจอร์ 1 bedroom สำหรับ 1 คน ถ้าอยู่อพาร์ตเมนต์แบบแชร์กันหรือที่นี่เรียกว่า WG (Wohngemeinschaft) ห้องเล็กๆ และไม่ได้อยู่ใจกลางตัวเมืองมาก ออกนอกเมืองไปหน่อยอาจจะหาได้ราคาถูกกว่านี้พอมีอยู่บ้าง
  • ค่ากินต่อเดือนประมาณ 500-700 ยูโรต่อเดือน ถ้าซื้อของจากซุปเปอร์มาทำเองเป็นหลัก มีซื้ออาหารกินนอกบ้านบ้างนิดหน่อยแบบไม่หรูหรา แต่ไม่อดอยาก
  • ค่าเดินทางตอนนี้จะมีตั๋วรายเดือน Deutschland Ticket 49 ยูโรต่อเดือนใช้กับระบบขนส่งสาธารณะได้ทั่วประเทศเยอรมันรวมทั้งรถไฟ รถแทรม รถบัส (ยกเว้นพวก ICE รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง ข้ามประเทศ)

หลักๆ ที่จำเป็นน่าจะมีประมาณนี้ ยังไม่รวมการเข้าร้านอาหารดีๆ ไปผับบาร์ แฮงก์เอาต์ ชอปปิง เครื่องสำอาง หรือของฟุ่มเฟือยเพื่อความสุขใดๆ บวกเพิ่มไปอีกตามไลฟ์สไตล์แต่ละคนได้เลย

. . . . . . . .

จุดเริ่มต้นเพจ Memee รีวิวเยอรมัน
คืออยากแชร์เรื่องวีซ่าออแพร์
และการมาอยู่แบบถูกกฎหมายไม่เป็นผีน้อย

ตอนแรกคืออยากลงเกี่ยวกับเรื่องวีซ่าออแพร์ เพราะมีคนถามและสนใจเยอะ และเป็นช่วงที่มีเทรนด์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเพจเพื่อให้ข้อมูลสำหรับคนที่อยากย้ายประเทศมาอยู่เยอรมันแบบถูกต้อง ถูกกฎหมาย ไม่เป็นผีน้อยค่ะ

แต่คอนเทนต์ตอนนี้จะรวมๆ ทุกอย่าง ใช้ชื่อว่า “รีวิวเยอรมัน” คือ รีวิวจริงๆ ไม่ชม ไม่อวย 5555 อะไรดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีทุกคนจะได้รู้ไว้และเตรียมปรับตัวถ้าจะมาอยู่ที่นี่ แชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่เจอมาและพูดคุยทุกเรื่องเกี่ยวกับประเทศเยอรมนี เช่น Culture Shock เรื่องแปลกๆ ค่าครองชีพ ค่าทำผม ค่าเสริมสวย อัปเดตกฎอะไรใหม่ๆ เรื่องวีซ่าต่างๆ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์กิน ดื่ม เที่ยวอะไรแบบนี้ด้วย เหมาะกับน้องๆ ทุกกลุ่ม (พยายามไม่ให้มีคำหยาบนะ 555) และคนทั่วไปที่สนใจการใช้ชีวิตที่เยอรมันด้วย 

ปล. ในที่สุดเราก็ได้เขียนเรื่องวีซ่าเรียนภาษาสักที แอบดองมานาน มีคนถามเยอะ 555 เดี๋ยวอีกหน่อยจะเขียนเรื่องวีซ่าแต่งงาน และเรื่องการทำงานที่นี่ทั้งแบบเป็นลูกจ้างและเริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ใครสนใจรอติดตามกันได้ที่เพจได้เลยค่ะ

ติดตามเพจ Memee รีวิวเยอรมัน ที่นี่
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น