เปิดบันทึกเด็กทุนจีนของ ‘อ.แป้ง-ปิยากร’ จากท่องตัวบทที่ไทย ลัดฟ้าไปท่องโลกกฎหมายข้ามพรมแดน 2 มหาวิทยาลัยดัง (ภาคอินเตอร์)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D มีใครเตรียมจะไปเรียนด้านกฎหมายที่ประเทศจีนไหมคะ? ด้วยความที่จีนเป็นมหาอำนาจของโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ที่นี่เด่นมากเรื่องการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์และกฎหมายเชิงเปรียบเทียบ เพื่อทำความเข้าใจจุดร่วมและความแตกต่างของกฎหมายแต่ละประเทศ แล้วสามารถนำมาบริหารความสัมพันธ์ในเชิงการค้า การลงทุน การจัดการข้อพิพาทต่างๆ รวมถึงนำมาปรับปรุงการใช้กฎหมายในประเทศจีนให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย 

จริงๆ แล้วยังอีกหลายเหตุผลที่เอื้อให้ชาวต่างชาติอยากมาเรียนกฎหมายที่จีน เช่น จีนใช้ระบบกฎหมาย Civil Law เหมือนในไทย มีเปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ มาพร้อมโอกาสพัฒนาภาษาที่สาม และได้ทุนเซฟงบให้เรียนจบได้แบบประหยัดขึ้นอีกด้วย

และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น วันนี้เรามีรีวิวน่าสนใจจาก “พี่แป้ง-ปิยากร เลี่ยนกัตวา” รุ่นพี่จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ให้เกียรติมาแชร์ประสบการณ์ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจด้านกฎหมาย เล่าให้ฟังหลายแง่มุมทั้งความประทับใจ ท้าทาย และต้องปรับตัว? มีหลายมุมที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากเรียนต่อด้านนี้ค่ะ

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเปิดโพรไฟล์และอ่านเรื่องราวของพี่แป้งกันเลยค่า

เปิดเส้นทางสายกฎหมายของ อ.แป้ง-ปิยากร
จบ ป.ตรี-โท-เอก เตรียมกลับมาสอนที่ไทยปี ‘69

 

  • จบ ป.ตรี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 
  • อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนรายวิชากฎหมายพาณิชย์และกฎหมายระหว่างประเทศ **คาดว่าจะจบ ป.เอก และกลับไปสอนประมาณปี 2569
  • จบ ป.โท สาขากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Law) ที่ East China University of Political Science and Law (ECUPL) ไปเรียนด้วยทุนเต็มจำนวนจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ (SGS)
  • ปัจจุบันกำลังศึกษา ป.เอก สาขากฎหมาย (Law) ที่ Shanghai Jiao Tong University (SJTU) ไปเรียนด้วยทุนเต็มจำนวนจากรัฐบาลจีน (CSC)

    Note: มหาวิทยาลัย SJTU ติดอันดับ 52 ของโลกจาก Times Higher Education World University Rankings 2025 และอันดับที่ 51 จาก QS World University Rankings 2024

ลงแข่งกฎหมายตั้งแต่มัธยม
พัวพันในวงการกฎหมายมาเกิน 10 ปี

สมัยเรียนมัธยม แป้งทำกิจกรรมไปด้วยค่ะ หลักๆ คือ “การแข่งตอบปัญหากฎหมาย” ที่จัดโดยสำนักงานยุติธรรม พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็เคยเป็นตัวแทนแข่ง ‘Moot Court’ มีแถลงการปิดคดีด้วยวาจา ส่วนใหญ่จัดโดย ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมนี้จะจำลองการพิจารณาคดีในศาล​ นักศึกษาจะรับบทเป็นทนาย/อัยการ (แป้งเคยเป็นตัวแทนมหา’ลัยไปแข่งและได้ที่ 1 ประเทศกลับมา)

ถ้าเกิดมีน้องๆ สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมแนวนี้ แนะนำคีย์สำคัญของกิจกรรม Moot Court คือ 1. ความรู้กฎหมาย ซึ่งสักปี 2-4 เราจะมีพื้นฐานที่แน่นเพื่อนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง 2. สกิลการพูด อาจจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษขึ้นอยู่กับรายการที่เราเข้าร่วม

ตัดภาพมาที่ชีวิตการเรียนคณะนิติฯ มธ.

 เราว่าเป็นการเรียนที่หนักสุดในชีวิตแล้ว จริงอยู่การเรียนกฎหมายต้องอาศัยความเข้าใจ แต่อีกส่วนสำคัญคือการจำตัวบทกฎหมายให้ได้ เพื่อให้มีวัตถุดิบไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่กำลังจะเจอในข้อสอบ บางเทอมแป้งลง 7-8 ตัวเต็มแม็กซ์ ท่องไปยาวๆ เลยหลักพันมาตรา (แตกต่างกันตามรายวิชา/สาขา/สถาบันที่เรียนด้วยนะคะ) 

Tips: เจอการเรียนที่หนักมาก็จริง แต่แป้งผ่านมาได้ด้วยเทคนิค  “ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน” การฟัง แป้งใช้โทรศัพท์กับคอมพ์ เปิดหน้ากฎหมายแล้วใช้ฟังก์ชันโทศัพท์ท่องมาตรานั้นออกมาให้เราได้ยินเข้าหูจนค่อยๆ จำได้ / การพูดกับการอ่าน ใช้การท่องปกติ ทำข้อสอบเก่า คุยกับเพื่อน ส่วนการเขียน แป้งคัดตามตัวอักษรเลย พอจำได้ก็เขียนจากความเข้าใจ ทำเป็นสิบๆ รอบก่อนจะไปสอบ

เรียนจนเจอหนึ่งในวิชา ป.ตรี ที่จุดประกาย
ให้เลือกเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ

วิชาที่ว่าคือ “กฎหมายระหว่างประเทศ” สอนโดย อ.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ และ อ.จารุประภา รักพงษ์ ถ้าใครสนใจลองลงได้เลย เราแนะนำมาก เราจะได้ศึกษากฎเกณฑ์ระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นวิชาที่ทำให้รู้ว่าการจะเรียนกฎหมายให้สำเร็จ ต้องศึกษาความรู้นอกคลาส อาจารย์จะยกตัวอย่างทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยที่เราสามารถเลือกศึกษาข่าวและกรณีศึกษาที่เกิดจากความสนใจของเราได้เช่นกัน 

Tips: รายวิชาที่เกี่ยวกับระหว่างประเทศ ตัวบทมาตราคือส่วนนึง แต่สิ่งสำคัญคือการเอามาวิเคราะห์ต่อ ดังนั้นแนะนำให้อ่านข่าวข้างนอกเพิ่มค่ะ เพราะอาจารย์อาจเอาเรื่องสถานการณ์ในตอนนั้นมาออกสอบ (อาทิสถานการณ์ไต้หวัน) หรือสมมติมีคำถามว่า ความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร ก็เอาสิ่งที่กำลังเกิดมาเขียนประกอบ อาจารย์จะรู้สึก ว้าว~ เด็กเรียนแล้วเอาไปใช้ได้จริงได้

 แป้งเลือกเรียนต่อ ป.โท กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ East China University of Political Science and Law (ECUPL)  เขามีประชาสัมพันธ์ทุน ก็เลยสมัครผ่าน ม.ธรรมศาสตร์ เป็นพาร์ตเนอร์กับ ECUPL พอผ่านรอบสัมภาษณ์ก็ไปสมัครทุนรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ใช้คะแนน IELTS ซึ่งเกือบได้ผลไม่ทันยื่น! เตือนน้องๆ ว่าถึงจะไม่ได้สมัครเรียนผ่านทุนก็ควรจะมีคะแนนภาษาเตรียมไว้ด้วย

คำแนะนำการสมัครทุนเซี่ยงไฮ้

การพิจารณาจะมีรอบเอกสารกับรอบสัมภาษณ์ค่ะ ส่วนหลักๆ ที่แป้งอยากหยิบมาแนะนำ คือการเขียน Study Plan

  • หาข้อมูล Ranking หลักสูตรและมหา’ลัยที่เราสมัครเรียนว่าอยู่อันดับเท่าไหร่ของประเทศและของโลก (เช่น QS หรือ THE) การรีเสิร์ชเยอะๆ จะเป็นประโยชน์ทั้งตอนเขียน Study Plan และตอนสัมภาษณ์ด้วย
  • ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และลองศึกษาเชิงเปรียบเทียบว่าถ้าเราไปเรียนกฎหมายที่จีนแล้วจะนำมาปรับใช้และพัฒนาที่ไทยอย่างไร, หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เราเตรียมทำคือเรื่องไหน, ได้อาจารย์ที่ปรึกษาหรือยัง (แนะนำว่าถ้ามี Acceptance Letter จากอาจารย์จะดีมากๆ คิดว่าจะเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านในการเข้าศึกษาและการได้รับทุน)
  • พยายามค้นหาสิ่งที่เราชื่นชอบในประเทศจีน เพื่อนำมาเขียนเชื่อมโยงกับความตั้งใจของเราในเรียงความ

ลุยต่ออีกสักใบหลังจบ ป.โท!

 แป้งรู้ตัวแล้วว่าสนใจกฎหมายจีน (Chinese Law) ไปนั่งหาข้อมูล Ranking มหาวิทยาลัย และหาหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ จนมาลงตัวที่ SJTU ตอนสมัคร ป.โทและเอก แป้งไม่เคยยื่นคะแนนภาษาจีนเลย เรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษทั้งคู่ เดี๋ยวจะขอรีวิวเรื่องภาษาร่วมกับแง่มุมอื่นๆ ในหัวข้อหลังจากนี้

ทำไมจีนถึงเหมาะกับการมาเรียนกฎหมาย?

  • แหล่งข้อมูลการแปลคำพิพากษาจากภาษาจีน <-> ภาษาอังกฤษ มีเยอะมาก! มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ ม.ปักกิ่งและ ม.สแตนฟอร์ด ที่ทั้งแปลรายละเอียดข่าว ให้ข้อเท็จจริง ให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ทำให้แม้จะไม่ได้ภาษาจีนก็ศึกษาได้มากพอสมควรแล้ว
     
  • จีนจะเด่นมากเรื่อง “การเชื่อมโยงข้ามศาสตร์” เช่น เวลาเราจะตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญจีน ต้องเข้าใจแนวคิดและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังผู้นำคนก่อนๆ เพราะทฤษฎีการเมืองและสังคมสัมพันธ์มากกับการออกกฎหมายและการพัฒนาประเทศจีน เป็นต้น
     
  • การเรียนกฎหมายจีนก็เอามาปรับใช้กับไทยได้ เพราะใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เหมือนกัน เน้นเรียนรู้จากคำพิพากษาของศาลมาเป็นแนวการวินิจฉัยครั้งต่อๆ ไป 
     
  • ประเทศจีนสนับสนุนให้นักศึกษาทำกิจกรรม บางครั้งมหา’ลัยสนับสนุนค่าใช้จ่าย แค่แข่งรอบภายในประเทศก็มีทีมเข้าร่วมเป็นร้อยมหา’ลัยแล้วค่ะ อย่างแป้งเองเคยเข้าร่วม Moot Court (ศาลจำลอง) 2 งาน คือการลงทุนระหว่างประเทศ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods: CISG)

ภาพรวมการเรียนที่เจอ
ระดับ ป.โท และ ป.เอก

  • จากเดิมตอน ป.ตรี แป้งเรียนกฎหมายไทยมาเป็นหลัก เราต้องเปลี่ยนวิธีใหม่จากการท่องจำ มาเป็นเน้นคิดวิเคราะห์และศึกษาเชิงเปรียบเทียบ อย่างที่ย้ำมาตลอด อาจารย์คนจีนจะค่อนข้างสนใจกฎหมายที่นักศึกษาจบมา ถ้าสามารถเทียบกับประเทศตัวเองได้จะดีมากๆ แล้วโอกาสได้คะแนนดีเป็นพิเศษถ้าวิเคราะห์ได้ว่าจะเอาส่วนไหนมาปรับใช้กับประเทศเราได้
     
  • รูปแบบการสอบที่ไม่คุ้นเคย จากที่เคยท่องจำมาตลอดโดยไม่มี open book พอมาที่นี่เราอาจได้ทำสไลด์มานำเสนอผลงาน งานกลุ่ม เขียนเปเปอร์และวิทยานิพนธ์ก็ได้ (แต่ก็ไม่เคยทำวิทยานิพนธ์มาก่อนนะ เรื่องนี้ก็ท้าทายเหมือนกัน) หรือ บางวิชาอาจารย์ให้ข้อสอบเรามาหาคำตอบภายใน 24 ชั่วโมง ทำยังไงก็ได้ให้คำตอบมาและส่งภายในเวลาที่กำหนด
     
  • อาจารย์เกือบทั้งหมดเป็นคนจีนที่จบจากต่างประเทศ ส่วนมากมาจากอเมริกาและโซนยุโรป ส่วนเพื่อนๆ ส่วนมากเป็นเอเชียนและแอฟริกัน แล้ว ป.โท ยังมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากโซนอเมริกา ยุโรป ฯลฯ ด้วยค่ะ
     
  • การจะเรียนกฎหมายระดับที่สูงขึ้น นักศึกษาไม่จำเป็นต้องจบกฎหมายมาก่อน เพียงแต่หลักสูตร ป.โท เขาจะไม่ได้มาปูพื้นฐานเท่ากับการเรียน ป.ตรี สิ่งที่เน้นคือการคิดวิเคราะห์ และหากจบจากสาขาอื่นอย่างน้อยต้องทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานสำหรับทำวิทยาพนธ์ออกมาให้สอดคล้องกับหลักการ
     
  • มีวิชาให้เลือกลงเยอะ ตอบโจทย์คนที่สนใจเฉพาะด้าน เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายนิติปรัชญา หรืออย่างแป้งสนใจเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะมีวิชา WTO (World Trade Organization) กฎหมายสหประชาชาติ เรื่องสัญญาและการซื้อขายระหว่างกระเทศ กฎหมายข้อพิพาททางทะเล ฯลฯ
     
  • ตลอดการเรียนกฎหมายต้องเป๊ะ ทุกคำบนข้อสอบมีความหมาย เช่น “โดยสังเขป” “โดยละเอียด” “ให้ยกตัวอย่างโดยระบุกรณีศึกษา” ถ้าอ่านโจทย์ไม่ละเอียดจะตอบไม่ถูกตั้งแต่แรก
     
  • Assignments แต่ละคลาจะเป็นเปเปอร์/บทความ และทั้ง ป.โทและเอกของเราต้องเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งหมดค่ะ ถ้าตอน ป.เอก มีเงื่อนไขการตีพิมพ์บทความ 2 ฉบับในฐานที่กำหนด โดยทั่วไปต้องตีพิมพ์ประมาณ 8,000 คำต่อฉบับ ซึ่งกว่าจะมาเป็นหนึ่งบทความ ต้องศึกษางานเดิมน่าจะราวๆ 50+ เปเปอร์ ฉบับนึงก็มีทั้งหลักสิบจนถึงหลักร้อยหน้า เท่านี้ก็ยังรู้สึกไม่พอ ต้องค้นคว้าเพิ่มอีก << ตอนให้สัมภาษณ์กับ Dek-D อ.แป้งกำลังลุยขั้นนี้

    ส่วนตอน ป.โท แป้งทำธีสิสเรื่อง “Elements of Valid Consent: A Study of Thailand’s Personal Data Protection Act 2019” เทียบกฎหมายไทย จีน ยุโรป อเมริกา ความภูมิใจคือได้ประเมินระดับ Excellent ด้วยค่ะ!

หนึ่งในวิชาที่อยากเล่า

แป้งชอบการเรียนข้ามศาสตร์มากๆ วิชานึงที่เลือกลงแล้วทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้มาเรียนแค่กฎหมาย แต่มีมุมแปลกและสนุก คือวิชา “กฎหมายและวัฒนธรรมจีน” เราได้เรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ทำให้ได้รู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น ประเทศในเอเชียอย่างไทย จีน และญี่ปุ่น จะมีวัฒนธรรมการรักษาหน้า (ภาษาจีน: 面子, miànzi) คำว่า “หน้า” ในทีนี้หมายถึง ภาพลักษณ์ เกียรติยศ ความภาคภูมิใจของคนๆ นั้น หรือเรื่องธรรมเนียมการยื่นนามบัตร ลำดับและตำแหน่งการนั่งในวงกินข้าว ฯลฯ ไม่แน่ว่าวันนึง เราอาจได้ใช้ความรู้นี้เพื่อเข้าสังคมค่ะ

ส่วนโปรเจ็กต์วิชานี้ แป้งทำเกี่ยวกับ QR Code and Economy เชื่อว่าเราคงคิดหัวข้อนี้ออกมาไม่ได้ถ้าไม่เคยเจอการเรียนในจีนที่ฝึกคิดฝึกเชื่อมโยงตลอด เราพยายามมองสิ่งใกล้ตัวและหามุมของกฎหมายมาจับ เช่น มีกฎหมายอะไรที่ควบคุมบ้าง ควรแก้ไขเพิ่มเติมยังไงบ้าง มีกฎระเบียบข้อบังคับข้อไหนที่นำปรับใช้กับไทยได้

รีวิวชีวิตชีวิตที่จีน ฉบับนักศึกษาต่างชาติ

 1. เจอภาษาอังกฤษหลายสำเนียง 

  • ทั้งจากอาจารย์สอนและเพื่อนๆ จากแอฟริกา ยุโรป อเมริกา ฯลฯ จำได้ว่าเทอมแรกต้องพกเครื่องอัดเสียงแล้วกลับมาทบทวนบ่อยมาก แต่ค่อยๆ อยู่ตัวขึ้นหลังจากผ่านไป 1 เทอม

 2. ถ้าไม่ได้ภาษาจีนจะเป็นปัญหาไหม? 

  • ส่วนตัวรู้สึกใช้ชีวิตได้ปกติ เพราะเป็นคนนึงที่มาด้วย HSK 1-3 ใช้แอปแผนที่ Baitu กับ Amap ก็จะค่อนข้างแม่น มีบอกกระทั่งว่าเราเดินข้ามทางม้าลายได้กี่วิถึงจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียว ส่วนขนส่งสาธารณะราคาประหยัดมาก รถไฟใต้ดินถูกและดี ไปได้เกือบทุกที่ เคยนั่งรถไฟใต้ดินประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ตีเงินไทยประมาณ 25 บาทเองค่ะ

    แต่ไหนๆ ก็มาเรียนที่จีน แป้งเลยไปลงคอร์สภาษาจีนกับสถาบันข้างนอกด้วย จนตอนนี้มี HSK 3-4 พอสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ ส่วนตัวคิดว่าสกิลฟังกับพูดโอเค แต่การอ่านและเขียนตัวอักษรภาษาจีนต้องการฝึกฝน ท่องจำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย

3. ประเทศจีนเป็น Cashless Society แบบเต็มตัว

  • ตั้งแต่ก่อนโลกของเราจะเผชิญวิกฤต COVID-19 อีก ทำให้เห็นเลยว่าเทคโนโลยีของจีนก้าวหน้า ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลจีนสามารถติดตามและบริหารธุรกรรมข้อมูลได้ และตัดภาพมาที่ทุกวันนี้ จีนไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีพักเบรก เดี๋ยวนี้เราใช้การสแกนหน้า (Face Recognition) เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยแทนการสแกนบัตรนักศึกษาแล้ว

4. โอกาสทำงานหลังจบ?

  • เริ่มจากดูว่าอาชีพไหนเปิดรับชาวต่างชาติบ้าง ตำแหน่งส่วนใหญ่ที่เปิดรับในจีน ก็มักจะกำหนดว่าต้องสื่อสารภาษาจีนได้ อันที่จริงก็กรองตั้งแต่ภาษาที่ใช้ในประกาศรับสมัครแล้วค่ะ แต่ถ้าได้ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ว่าจะหมดโอกาสเลย อย่างน้อยตอนเรียนแนะนำให้รักษาเกรด ทำกิจกรรม และเข้าร่วมงาน Networking เพราะมีโอกาสที่ประวัติของเราจะไปเข้าตาคนในงาน และได้รับการเชิญชวนไปร่วมงานก็ได้ค่ะ

    หรือถ้าเลือกจะกลับมาทำงานที่ไทย ตอนนี้แนวทางหลากหลายและแปลกใหม่กว่าเมื่อก่อนมากกก เช่น บางคนได้ภาษาไทย-จีน-อังกฤษ 3 ภาษา แล้วได้เข้าไปทำงานที่สำนักงานกฎหมายและการแปลก็มีค่ะ

คิดว่าควรเลือกมหาลัยจากเหตุผลอะไรบ้าง

  1. หลักสูตรและมหา’ลัย ดูจากหลักสูตรก่อนว่าสอนเป็นภาษาจีน/ภาษาอังกฤษ ตอนสมัครต้องยื่นคะแนนของภาษาที่จะไปเรียน
  2. เงื่อนไขการจบ ต้องตีพิมพ์วิจัย/ไม่ต้องตีพิมพ์ จำนวนกี่ฉบับ ใช้มาตรฐานไหน
  3. ระยะเวลาเรียน โดยทั่วไป ป.โท เป็นหลักสูตร 3 ปี กรณีเรียนเป็นภาษาจีน แต่ซึ่งหากต้องเรียนภาษาจีนเพิ่มเพื่อให้ถึงมาตรฐานก่อนเข้าเรียนป.โทอีกก็เป็น 4 ปี ในทางกลับกันหลักสูตรภาษาอังกฤษ สำหรับปริญญาโทโดยทั่วไปใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีเพียงเท่านั้น
  4. อันดับของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ในระดับประเทศ (จีนเอง) และระดับโลก
  5. ความเป็นนานาชาติของคณะและมหาวิทยาลัย เช่น สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติ และเพื่อนนักศึกษาต่างชาติ ความร่วมมือจัดตั้งหลักสูตรกับต่างประเทศ (อาจมีหลักสูตรที่จบมาแล้วได้ 2 ปริญญา เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ) หรือ มีจัดเสวนาที่ดำเนินเป็นภาษาอังกฤษไหม มีการค่อนข้างให้ความสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่มาเรียนมากน้อยแค่ไหน อาทิ มีกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม พาไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างไหม ระบบการจัดการผ่านเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลนักศึกษาต่างชาติมีความสะดวกสบายมากน้อยแค่ไหน

อัปเดตชีวิตปัจจุบันของอาจารย์แป้ง

  • ปัจจุบันแป้งยังคงเป็นอาจารย์ประจำรายวิชากฎหมายพาณิชย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยสอนกฎหมายทรัพย์ เช่าทรัพย์ ปัญหาในกฎหมายแพ่ง และปัญหาในกฎหมายระหว่างประเทศ // **คาดว่าจะจบ ป.เอก และกลับไปสอนประมาณปี 2569
  • พอขึ้น ป.ตรี ม.ธรรมศาสตร์ ทำให้รู้จักตั้งคำถาม ศึกษาความเป็นไปได้ในสังคม แป้งได้ร่วมกับเพื่อนๆ จัดตั้งกลุ่ม Nitihub เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอยุติธรรมในสังคม ในกลุ่มประกอบด้วยอาจารย์-นักศึกษาสายกฎหมายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทนายความและผู้ที่ความเกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมด 

    และหนึ่งในแคมเปญที่ทำสำเร็จเมื่อปี 2566 คือการขอแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายทนายความ และโดยข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อที่ 20 ที่ระบุให้ทนายความหญิงจะต้องใส่กระโปรงว่าความในศาลในปัจจุบัน (กล่าวคือทนายความหญิงไม่สามารถใส่กางเกงในการปฏิบัติหน้าที่ได้) 

    ทางเราได้มีส่วนร่วมในการทำแคมเปญผ่าน change.org มีการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้กว่า 16,981 คน ในที่สุดช่วงปี 2566 ได้มีการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว อนุญาตให้ “ทนายความหญิง” สามารถแต่งกายแบบสากลนิยม กระโปรงหรือกางเกงขายาวได้แล้วค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้เว็บไซต์ https://www.ilaw.or.th)

     ล่าสุดแป้งเขียนหนังสือ “ลายแทงนัก(ศึกษา)กฎหมาย: คู่มือการเรียนกฎหมายแบบครอบจักรวาลที่น่าจะรู้ตั้งแต่ปี 1” กับสำนักพิมพวิญญูชน รวมเรื่องที่ควรรู้และการเตรียมตัวก่อนเรียนกฎหมาย จัดเต็มเข้มๆ จากประสบการณ์ตรง ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ค่ะ สามารถติดตามที่เพจ “สวัสดีนี่อาจารย์แป้งเอง-It's me "Pang" รวมทั้งฝากติดตามสมาคมนักเรียนไทยในนครเซี่ยงไฮ้ ที่พวกเราพยายามดำเนินการ และสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาที่ประเทศจีนได้ที่เพจ East China University of Political Science and Law

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น