สวัสดีค่ะ ครั้งที่แล้วเราได้รู้จักกับคณะทางสายศิลป์อย่างกลุ่มคณะอักษรศาสตร์ - มนุษยศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ กันไปแล้ว ว่าเรียนอะไรบ้าง 3 คณะนี้ต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งพาไปคุยกับรุ่นพี่จากรั้วอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปิดท้ายด้วยรุ่นพี่คณะอักษรฯที่ได้ทำงานเป็นล่ามให้ทีมคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีด้วย
ครั้งนี้ขอกลับมาที่ฝั่งสายวิทย์กันบ้าง อีกหนึ่งคณะที่น่าสนใจและเหมาะกับน้องๆ ที่ชอบวิชาเคมีมากเลยก็คือ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคณะที่สำคัญมากในวงการแพทย์ ว่าแต่คณะนี้เรียนอะไรบ้าง เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
คณะเภสัชศาสตร์เรียนอะไรบ้าง
น้องๆ ส่วนใหญ่คงรู้แล้วว่า คณะเภสัชศาสตร์ หรือ Faculty of Pharmacy เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับ "ยา" คำว่า “เภสัชศาสตร์” มาจากคำว่า “เภสัช” ซึ่งแปลว่า “ยา” และ “ศาสตร์” ซึ่งหมายถึง “ความรู้” รวมกันแล้ว เภสัชศาสตร์ จึงหมายถึง ความรู้ในเรื่องยาหรือการศึกษาเกี่ยวกับยา ตั้งแต่การปรุงผสม ผลิตและจ่ายยา รวมทั้งการเลือกสรรพคุณภาพของยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ค่ะ
ขอบเขตของเภสัชศาสตร์ครอบคลุมในเรื่องยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารพิษ สารเสพติดและสารออกฤทธิ์ต่างๆ ศึกษาตั้งแต่ แหล่งของยา โครงสร้างทางเคมีของยา การผลิตเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ การวิจัยและการพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยาเลยล่ะค่ะ
คณะเภสัชศาสตร์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ (สายผลิต) และ สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม (สายคลินิก) มีความแตกต่างกันดังนี้
สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ (สายผลิต) จะเน้นศึกษาในด้านการผลิตยา การค้นคว้าตัวยา และควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยา รวมถึงการวิจัยยาและคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ เภสัชกรทางด้านสาขานี้เหมาะกับสายงานในด้านการผลิต ซึ่งส่วนมากจะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา
สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม (สายคลินิก) จะเน้นในการศึกษาด้านการบริบาลเภสัชกรรม ด้านการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย การแนะนำปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย และการสร้างเสริมสุขภาพ เภสัชกรทางด้านสาขานี้เหมาะกับสายงานในด้านการบริบาล ซึ่งอาจจะทำงานในโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา สถานบริการสุขภาพ
6 ปีเรียนอะไรบ้าง?
ในชั้นปีที่ 1-2 จะเป็นการศึกษาด้านเตรียมเภสัชศาสตร์ จะศึกษาในหมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป ประกอบด้วยวิชาในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพเบื้องต้น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ในชั้นปีที่ 3-4 จะเป็นการศึกษาวิชาเฉพาะทางเภสัชศาสตร์ จะศึกษาในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ชีวเภสัชศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา สาธารณสุข หลักในการเกิดโรค และจุลชีววิทยา และศึกษาวิชาทางด้านวิชาชีพ ทฤษฎี ปฏิบัติการ และการฝึกงาน ประกอบไปด้วย เภสัชวิเคราะห์ เภสัชศาสตร์สัมพีนธ์ อาหารและเคมี โภชนาการศาสตร์ บทนำเภสัชภัณฑ์ เภสัชพฤกษศาสตร์ ชีวเภสัชกรรมและเภสัชจลนศาสตร์ เภสัชเวท เภสัชกรรมและการบริหารเภสัชกิจ เภสัชวิทยาและเภสัชวิทยาคลินิก นิติเภสัชและจริยธรรม พิษวิทยา เภสัชอุตสาหกรรม เภสัชเคมี และ การปฏิบัติฝึกงาน
ในชั้นปีที่ 5-6 จะเป็นการศึกษาในหมวดวิชาสาขาที่เลือกลงลึกไปที่ความชำนาญทางวิชาชีพของสาขานั้นๆ เลยค่ะ
สถาบันที่เปิดสอน
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เห็นว่าเรียนเกี่ยวกับยาแบบนี้ ไม่ง่ายเลยนะคะ นอกจากจะต้องจำชื่อยาแล้ว ต้องรู้ด้วยว่ายาแต่ละตัวทำมาจากอะไร ใช้อย่างไร ขนาดเท่าไหร่ คือความจำนี่ต้องแม่นเป๊ะมากเลยอะ ใครสัปดาห์หน้าเราจะไปเจาะลึก 20 เรื่องจริงของคณะเภสัชศาสตร์กันว่าที่เข้าใจกันว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้มันถูกหรือเปล่า รอติดตามกันได้เลยค่ะ
9 ความคิดเห็น
มีของมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียด้วยค่ะ
ใครสนใจเรียน สอบถามได้ค่ะ
Id. line : jeeranun-eau1
(คะแนนแอดต้อง 16000 ขึ้นไปนะคะ)
โหหห ความรู้ล้วนๆเลย คราวหน้าขอเกี่ยวกับศัลยแพทย์บ้างนะคะ อยากรู้มากค่าาาาาา
กด favourite บทความยังไงอ่า