สวัสดีค่ะ ก่อนหน้านี้พี่แป้งได้พาน้องๆ ไปรู้จักกับคณะทางสายวิทย์ อย่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ กันไปแล้ว ในเดือนนี้พี่แป้งขอพาน้องๆ ไปเจาะลึกคณะทางฝั่งสายศิลป์บ้างดีกว่า คือ "คณะนิเทศศาสตร์" ซึ่งเหมารวมหมดเลยทั้ง นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน ขอมัดรวมเป็นก้อนเดียวกันไปเลยเป็นคณะสายนิเทศฯ
นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน เรียนอะไร?
น้องๆ อาจจะสงสัยว่าทำไมพี่ถึงมัดรวมคณะนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน ไว้เป็นก้อนเดียวกัน ทั้งๆ ที่มันคนละชื่อเลย งั้นเดี๋ยวพาไปรู้จักความหมายของทั้ง 3 ชื่อกันก่อนละกันนะ
นิเทศศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับการสื่อสารจากองค์ประกอบของการสื่อสารต่างๆ ได้แก่ ผู้ส่งสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ใช้ชื่อนิเทศศาสตร์เป็นทั้งชื่อคณะและสาขา อาทิเช่น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นต้น
วารสารศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมในรูปของข่าว และความคิดในรูปของบทความ บทรายงาน บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ ไปยังสาธารณชน โดยผ่านสื่อมวลชนประเภทต่างๆ มหาวิทยาลัยที่ใช้ชื่อคณะวารสารศาสตร์ มีเพียงที่เดียวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
สื่อสารมวลชน คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านสื่อชนิดต่างๆ ไปยังผู้รับสารจำนวนมาก มหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่าสื่อสารมวลชน อาทิเช่น คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่, คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน ม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน เป็นศาสตร์ที่มีใจความสำคัญใกล้เคียงกันมาก โดยรวมจะเป็นคณะ/สาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยกันทั้งสิ้น มุ่งเน้นในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อสาร โดยผ่านกระบวนการสื่อสารและเครื่องมือในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีสาขาแยกย่อยลงไปอีกค่ะ
สาขาของนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน
คณะสายนิเทศฯ จะแบ่งออกเป็นหลายสาขาเพื่อการสื่อสารในแต่ละด้าน โดยสาขาที่เปิดในประเทศไทยมีดังต่อไปนี้
สาขาวิชาการโฆษณา
สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์
สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ / วิทยุกระจายเสียง / วิทยุโทรทัศน์
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน
สาขาวิชาวารสารศาสตร์และหนังสือพิมพ์
สาขาวิชาภาพยนตร์ / ภาพยนตร์และภาพนิ่ง / ภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล
สาขาวิชาการแสดงและศิลปะการแสดง
สาขาวิชาสื่อสารตราสินค้า
สาขาวิชาสื่อสารการตลาด
สาขาวิชาสื่อสารองค์กร
สาขาวิชาวาทวิทยา / สื่อสารการแสดง
สาขาวิชาสื่อใหม่
สาขาวิชาลูกค้าสัมพันธ์
สาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร
สาขาวิชาอื่นๆ
5 สาขายอดฮิตของนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน
1. สาขาวิชาการโฆษณา
แน่นอนว่าการโฆษณาก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ในการอำนวยการดำเนินงานของธุกิจ การขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาด เรียนในสาขานี้ต้องรู้ในส่วนของการประสานงานลูกค้า การคิดและผลิตชิ้นงาน วางแผลกลยุทธ์ในการสื่อสาร และการนำเสนอชิ้นงานนั้นๆ ที่สำคัญต้องมีความเป็นทีมเวิร์กที่สูงมากๆ ด้วย เพราะสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องทำงานกับทีมอื่นและลูกค้า ต้องรู้รอบด้านจริงๆ ค่ะ
2. สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์คือการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งระหว่างองค์กร ระหว่างหน่วยงาน หรือระหว่างกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อสาร เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งงานส่วนประชาสัมพันธ์จะเป็นอะไรที่กว้างมากๆ ขึ้นอยู่กับสารที่เราต้องการที่จะสื่อออกไปของแต่ละองค์กร ในสาขานี้สิ่งที่เป็นหัวใจเลยก็คือการวางแผนการประชาสัมพันธ์ที่ต้องมีการคิด วิเคราะห์ มาเป็นอย่างดี เพื่อทำการสื่อสารให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
3. สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์
เป็นสาขาที่เป็นวิชาชีพเลยค่ะ จะต้องเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ตั้งแต่อุปกรณ์ การวางแผน การจัดการภาพและเสียง การวางบท กลุ่มเป้าหมาย จนไปถึงทักษะการสื่อสารด้วย เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เรียนโหดมาก ความรู้ก็ต้องแน่น ปฏิบัติก็ต้องได้ ที่สำคัญต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตรายการด้วย
4. สาขาวิชาวารสารศาสตร์และหนังสือพิมพ์
คนที่อยากเป็นนักข่าวส่วนใหญ่ก็จะเรียนในสาขานี้เลยค่ะ เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เป็นสาขาที่บอกเลยว่าข่าวต้องแน่นสุด จริงสุด และต้องสามารถนำเสนออกมาเป็นการเขียนที่คนอ่านต้องเข้าใจ ไม่เยอะ ไม่ใช่ว่ามีแต่น้ำ ต้องมีกระบวนการคิดและคัดกรอกข่าวสารที่จะนำเสนอ เรียบเรียงข้อมูลออกมาเป็นประเด็น และสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ กว่าจะออกไปได้แต่ละข่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ
5. สาขาวิชาภาพยนตร์
เชื่อว่าคนที่เรียนต่อสาขานี้ ไม่อยากเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ก็อยากเป็นผู้กำกับมือเยี่ยมที่สร้างหนังดีๆ ออกมา พื้นฐานของเด็กสาขานี้จะชอบดูหนังมากๆ เลยค่ะ ซึ่งสาขาวิชาภาพยนตร์จะเรียนเกี่ยวกับการทำภาพยนตร์(ชื่อสาขาบอกชัดมาก) ตั้องแต่การหาข้อมูล เขียนบท หาโลเคชั่น จัดไฟ มุมกล้อง จนไปถึงการตัดต่อจนได้เป็นภาพยนตร์ออกมา ถ้าคิดว่าเรียนเพื่อเป็นผู้กำกับละก็ คิดผิดค่ะ ในกองถ่ายหนึ่งกองไม่ได้มีแค่ผู้กำกับ น้องๆ ต้องเรียนรู้หน้าที่ของทุกตำแหน่ง บอกเลยว่าสาขานี้ไม่ได้มาเล่นๆ นะ
สถาบันที่เปิดสอน
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะมนุยศาสตรและสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม
คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณะวิทยาการสารสนเทศ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.ศิลปากร
คณะวิทยาการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หลักสูตรนิเทศศาสตร์เกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ
มหาวิทยาลัยเอกชน
คิดว่าน้องๆ คงรู้จักกลุ่มคณะนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชนกันมากขึ้นแล้ว ในสัปดาห์หน้าพี่แป้งจะพาน้องๆ ไปล้วงลึกคณะนี้ กับ 20 เรื่องจริงของคณะนิเทศศาสตร์ ว่ามีเรื่องไหนที่น้องๆ ควรรู้บ้าง และพบกันสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ :)
5 ความคิดเห็น
คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
การสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุและทีวี ม.ศรีปทุมบางเขน
ถ้าทำอาชีพนักแสดงต้องเรียนสาขาเชิงกลยุทธ์หรือสาขาสื่อสารมวลชนคะ