สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงม.ปลาย หลายคนจะเริ่มรู้สึกกังวลเรื่องการสอบเข้าในมหาวิทยาลัย ระบบจะเป็นยังไง ต้องเตรียมตัวแบบไหน อย่างระบบล่าสุดที่เริ่มใช้เมื่อปีการศึกษา 2561 คือ ระบบ TCAS ก็มีการอัปเดตอยู่ตลอด ว่าแต่ ... ระบบ TCAS คืออะไร ไปทำความรู้จักกันเลย!
TCAS คืออะไร?
ระบบ TCAS (ทีแคส) มีชื่อเต็มว่า Thai University Admission System เป็นระบบกลางในการรับสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเป็นระบบ TCAS จะเป็นระบบ Admission ที่จะมีการรับกลางแบบเลือก 4 อันดับ และมีรับตรงกว่าพันโครงการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับเอง แบบกระจายทั่วทั้งปีพอเปลี่ยนมาเป็นระบบ TCAS ทั้งส่วนของรับตรง และส่วนของ Admission ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ถูกปรับเปลี่ยนและจัดหมวดหมู่ใหม่ แบ่งเป็น 5 รอบ แต่ละรอบก็จะมีคอนเซปต์ที่แตกต่างกันค่ะ ดังนี้
รอบที่ 1 รับโดยใช้ Portfolio
รอบนี้จะเริ่มประมาณเดือน ธ.ค. ยื่นสมัครตรงกับมหาวิทยาลัย เป็นรอบที่ไม่มีการสอบข้อเขียน แต่ใช้ "Portfolio" หรือ แฟ้มสะสมผลงาน แทน ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากการประกวด การแข่งขัน การทำกิจกรรม การบำเพ็ญประโยชน์ สามารถมาใช้ในรอบนี้ได้เลย คัด Portfolio กันแบบเข้มข้น ถ้าจะมีการใช้ข้อสอบจะต้องเป็นการสอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อสอบกลาง เช่น BMAT, TOEFL, SAT II, CU-TEP เป็นต้น
เมื่อปีที่ผ่านมา ทปอ. ได้ประกาศออกมาว่า Portfolio ที่ใช้ในการยื่นรอบนี้ ขอจำกัดเพียง 10 หน้าเท่านั้น (ไม่รวมปก สารบัญ คำนำ) ถ้าน้องๆ มีผลงานเยอะมาก ก็ต้องคัดเด็ดๆ ได้เพียง 10 หน้า เนื่องจากยิ่งใส่มาเยอะ ทางกรรมการจะคัดยากและใช้เวลานานมาก ยังมีทริคในการทำ Portfolio อีกเพียบ!
- แจกธีมครีเอต Portfolio ให้โปรไฟล์เด่น สำหรับคนไม่มีไอเดีย ไม่ถนัดงานดีไซน์ คลิก!
- [How To] ใช้ Microsoft Word ทำ Portfolio แบบง่ายๆ ไม่ง้อ Photoshop คลิก!
- ห้ามพลาด! “คำนิยม” หนึ่งในตัวช่วยเสริม Portfolio 10 หน้า ให้โดดเด่นได้ คลิก!
- How to การทำ Portfolio ดูแพงแต่ใช้งบน้อย แบงค์ 100 ใบเดียวพอ คลิก!
ตัวอย่างโครงการ TCAS รอบใช้ Portfolio
รอบที่ 2 โควตา
สำหรับรอบโควตาเป็นรอบที่เปิดรับน้องๆ ที่มี "คุณสมบัติพิเศษ" เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ในรอบนี้ก็ยังยื่นสมัครตรงกับมหาวิทยาลัยอยู่ค่ะ โควตาที่เปิดรับในรอบนี้ก็มีหลากหลายประเภท เช่น โควตานักเรียนภูมิภาค, โควตานักเรียนห้องเรียนวิทย์(วมว.), โควตานักกีฬา, โควตาโอลิมปิกวิชาการ, โควตาจังหวัดพิเศษ, โควตาโรงเรียนในเครือข่าย, โควตาค่ายต่างๆ เป็นต้น
ตั้งแต่รอบ 2 หรือรอบโควตา เป็นต้นไป จะใช้คะแนนสอบกลางอย่าง GAT PAT, 9 วิชาสามัญ, O-NET มาใช้ในการคัดเลือกแล้ว หรือบางโครงการก็ใช้การสอบข้อเขียนที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง อีกทริคที่อยากบอกเลยก็คือ จะมีบางโครงการใน TCAS รอบ 2 ที่ชื่อคล้ายๆ โครงการใน TCAS รอบ 1 แต่สามารถแยกความแตกต่างได้ คลิกอ่านเพิ่มเติม
ตัวอย่างโครงการ TCAS รอบโควตา
- โควตานักเรียน 17 จังหวัดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- โครงการรับตรงสอบข้อเขียน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- โควตา 17 โครงการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
ในรอบนี้จะไม่ได้สมัครตรงกับมหาวิทยาลัยแล้ว แต่จะเป็นการสมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ. คือ ระบบ MyTCAS สามารถเลือกได้สูงสุด 6 ตัวเลือก แบบเรียงลำดับ ติดได้เพียงตัวเลือกเดียว ถ้าติดในลำดับใดลำดับหนึ่งแล้ว ระบบจะหยุดพิจารณาต่อทันที ถึงแม้ว่าจะสมัครผ่านระบบกลาง ทปอ. แต่อำนาจในการคัดเลือกทั้งหมดในรอบนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยค่ะ
กสพท คือ ระบบการรับตรงใน กลุ่มคณะแพทยฯ-ทันตแพทยฯ-สัตวแพทยฯ-เภสัชฯ เป็นอีกหนึ่งการรับที่จะอยู่ใน TCAS รอบ 3 นี้ด้วย เดิมทีก่อนเป็นระบบ TCAS การรับของ กสพท จะเปิดรับแยก สามารถสมัครได้ 4 อันดับ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบ TCAS แล้ว 1 คณะ/สาขา ใน กสพท ก็จะกลายเป็น 1 ตัวเลือกทันที ถ้าน้องๆ จะเทกระจาดเลือกแต่คณะใน กสพท อย่างเดียว ก็เลือกได้ทั้ง 6 อันดับเลยค่ะ แต่ก็คือจะเลือกสาขาอื่นนอก กสพท ไม่ได้เลย
- อ่าน 4 รูปแบบการจัดอันดับ TCAS รอบ 3 ตามกฎใหม่ที่เลือกได้สูงสุด 6 อันดับ คลิกที่นี่
รอบที่ 4 Admission (แอดมิชชั่น)
รอบนี้เป็นรอบที่ยังคงแบบเดิมเอาไว้ค่ะ แต่แปลงร่างจากการเป็นระบบใหญ่ มาเป็นรอบ 4 ในระบบ TCAS แทน สมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ. เลือกได้ทั้งหมด 4 อันดับแบบเรียงลำดับ สามารถติดได้เพียงอันดับเดียว การคัดเลือกทั้งหมดอยู่ที่ ทปอ. ยึดตามคะแนนที่ใช้เป็นฐาน 30,000 คะแนน ประกอบด้วย GPAX 20% O-NET 30% และ GAT PAT 50% โดยเกณฑ์คะแนน GAT PAT ของแต่ละคณะจะไม่เหมือนกัน
ลองคำนวณคะแนนผ่าน โปรแกรมคำนวณคะแนนแอดมิชชั่น คลิก!
ในรอบนี้จะจัดอันดับง่ายกว่ารอบ 3 เพราะสามารถดูฐานคะแนนต่ำสุด-สูงสุดจากปีก่อนได้ ที่สำคัญคือ ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ ยังใช้สัดส่วนคะแนนเดิม ตามข้อกำหนดในรอบ 4 ถ้าจะมีการเปลี่ยนสัดส่วนคะแนนจะมีการแจ้งอย่างน้อย 3 ปี แต่ก็จะมีบางคณะ/สาขา ที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนน GPAX และ O-NET
- Review! สมัคร TCAS รอบ 4 Admission ทีละขั้นตอน คลิก!
รอบที่ 5 รับตรงอิสระ
เป็นชื่อรอบที่ชัดเจนมาก รอบ 5 เป็นรอบที่อิสระมากจริงๆ อิสระในระดับที่ว่า จะเปิดรับกี่ที่นั่งก็ได้ ใช้เกณฑ์อะไรก็ได้ จะสัมภาษณ์หรือไม่มีสัมภาษณ์ก็ได้ โดยในรอบนี้สิทธิ์ในการรับทั้งหมดจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย มีเงื่อนไขเดียวก็คือ ขั้นตอนทั้งหมดต้องเสร็จก่อนวันยืนยันสิทธิ์ ภายในเดือน มิ.ย. นั่นเองค่ะ
ตัวอย่างโครงการ TCAS รอบรับตรงอิสระ
การ "ยืนยันสิทธิ์-สละสิทธิ์-คืนสิทธิ์" ในระบบ TCAS
นอกจากเรื่องการสมัครในแต่ละรอบแล้ว สิ่งที่เพิ่มมาใหม่ในระบบ TCAS คือการบริหารสิทธิ์ ทุกคนจะมีเพียง 1 สิทธิ์ในการเลือกเรียนเท่านั้น สามารถติดได้รอบเดียว สาขาเดียว ในแต่ละรอบจะมีการ ยืนยันสิทธิ์-สละสิทธิ์ อยู่ และมีการคืนสิทธิ์ให้ 1 ครั้งสำหรับการเลือกในรอบใหม่
การยืนยันสิทธิ์ TCAS
การยืนยันสิทธิ์ เป็นการคอนเฟิร์มว่า เราเลือกที่จะเรียนที่นี่จริงๆ ในรอบ 1 2 และ 5 สามารถสอบติดกี่ที่ก็ได้ แต่เลือกยืนยันได้ที่เดียวเท่านั้น ที่นั่งที่เหลือก็จะถูกทบไปในรอบต่อไป(ยกเว้นรอบ 5) ส่วนรอบ 3 และ 4 จะสามารถติดได้แค่ 1 ที่เท่านั้นตามระบบ ทปอ. เพราะฉะนั้นไม่ต้องกดยืนยันสิทธิ์ในระบบ เพราะรอบ 3 และ 4 จะเป็นแบบ Auto-Clearing House คือยืนยันให้แบบอัตโนมัติเมื่อเราไปสอบสัมภาษณ์ ง่ายๆ ก็คือ ไปสัมภาษณ์ = ยืนยันสิทธิ์ ถ้าไม่ไปสัมภาษณ์ก็คือสละสิทธิ์ ไปรอบต่อไปได้เลยค่ะ
การยืนยันสิทธิ์ สามารถเปลี่ยนแปลง ได้ทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เช่น ติดรอบที่ 1 แล้วกดยืนยันสิทธิ์ ภายหลังเกิดเปลี่ยนใจอยากไปสมัครรอบ 3 ก็สามารถกดสละสิทธิ์ได้ แล้วไปสมัครรอบ 3 ถ้าติดในรอบ 3 และไปสัมภาษณ์ก็จะยืนยันสิทธิ์ ให้อัตโนมัติ ถึงตอนนี้จะเกิดเปลี่ยนใจอยากไปรอบ 4 ไม่สามารถทำได้แล้วค่ะ หมดโควตาแล้ว T_T
การสละสิทธิ์
การยืนยันสิทธิ์ที่สามารถกดได้ 2 ครั้ง จะสอดคล้องกับกฎของ การสละสิทธิ์ ที่สามารถทำได้ครั้งเดียว (สละสิทธิ์เพื่อไปรอบต่อไป) การสละสิทธิ์ หมายถึง การที่เราเคยยืนยันสิทธิ์มาแล้ว และต้องการยกเลิกการยืนยันสิทธิ์นั้น เพื่อไปสมัครใหม่ในรอบอื่น แต่การสละสิทธิ์จะมีช่วงเวลาเฉพาะ ไม่ใช่ว่าจะทำตอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อตัดสินใจที่จะสละสิทธิ์ ก็อย่าลืมเช็กช่วงเวลาให้ดีนะคะ อ่านเรื่องของการสละสิทธิ์เพิ่มเติมที่ เจาะลึกกฎ TCAS 62 "สละสิทธิ์ได้ครั้งเดียว" ฉบับเข้าใจง่าย!
การไม่ยืนยันสิทธิ์
เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสอบติดแล้ว แต่เราเลือกที่จะไม่ยืนยันที่จะเข้าเรียน เมื่อถึงช่วงเวลายืนยันสิทธิ์ เราก็เข้าไปกด "ไม่ยืนยันสิทธิ์" หรือจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ ผลลัพธ์ก็คือเราไม่ได้เลือกยืนยันไป และก็ไม่เสียสิทธิ์อะไรเลย สามารถไปสมัครรอบต่อไปได้โดยไม่มีประวัติว่าเคยสอบติดมาก่อน
การคืนสิทธิ์
การคืนสิทธิ์ คือการที่เราสอบติดแล้ว และกดยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว แต่เกิดเปลี่ยนใจต้องการที่จะไปสมัครรอบอื่น ก็ต้องทำเรื่องคืนสิทธิ์ โดยการเข้าไปกดสละสิทธิ์ในระบบก่อน แล้วรอประมาณ 3 วัน เพื่อได้รับการคืนสิทธิ์ ถึงจะสามารถไปสมัครต่อในรอบต่อไปได้
เกมสละสิทธิ์ TCAS รอบ 1-5 คลิก! (ผ่าน App เด็กดี TCAS)
ข้อสอบกลางในระบบ TCAS
GAT PAT (ใช้ในรอบ 2 3 4 และ 5)
GAT PAT คือข้อสอบวัดความถนัดแต่ละด้าน โดย GAT เป็นความถนัดทั่วไป แต่ PAT เป็นความถนัดเฉพาะทาง เช่น คณิตศาสตร์, วิศวกรรม, ครู, ภาษา เป็นต้น ข้อสอบนี้เป็นข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. ไม่ได้บังคับว่าต้องสอบทุกคน ค่าสอบวิชาละ 140 บาท สามารถเลือกวิชาสอบเฉพาะคณะที่ตนเองอยากเข้าได้ แต่ก่อนเคยจัดสอบ 2 รอบต่อปี แต่พอมาเป็นระบบ TCAS เหลือจัดสอบเพียงแค่รอบเดียวเท่านั้น พลาดแล้วพลาดเลย GAT PAT เป็นข้อสอบที่ใช้ในทุกสาขารอบแอดมิชชั่น ถ้าไม่ได้สอบก็จะไม่สามารถสมัครรอบ 4 ได้
วิชาสามัญ (ใช้ในรอบ 2 3 และ 5)
วิชาสามัญ เป็นอีกหนึ่งข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. เหมือน GAT PAT วัดความถนัดในแต่ละวิชาไปเลย มีทั้งหมด 9 วิชา คือ คณิตศาสตร์ 1 (เลขสายวิทย์), คณิตศาสตร์ 2 (เลขสายศิลป์), ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, สังคมฯ และวิทย์ทั่วไป(สายศิลป์) แต่ละสาขาก็จะเลือกใช้วิชาไม่เหมือนกัน ไม่ได้บังคับสอบ ค่าสอบวิชาละ 100 บาท เลือกสอบเฉพาะวิชาที่ใช้ได้เลย วิชาสามัญจะถูกใช้ส่วนใหญ่ในรอบ 3 โดยเฉพาะเกณฑ์ของ กสพท (กลุ่มคณะแพทยฯ) ที่ใช้ 7 วิชาสามัญรวมแล้ววกว่า 70% เลยทีเดียว
O-NET (ใช้ในรอบ 3 4 และ 5)
O-NET เป็นการสอบพื้นฐานที่บังคับน้องๆ ที่จบ ม.6 ทุกคนต้องสอบ จะมีทั้งหมด 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาฯ ไม่ต้องสมัครสอบเพราะโรงเรียนจะจัดการให้เอง แค่เดินทางไปสอบก็พอ O-NET จะเป็นข้อสอบที่ใช้ในรอบ 4 แอดมิชชั่นด้วยถึง 30% สำหรับน้องๆ เทียบเท่า ม.6 ก็สามารถสมัครสอบ O-NET ได้ช่วงต้นเดือน พ.ย. ของทุกปี ไม่เสียค่าสอบจ้า!
วิชาเฉพาะแพทย์
อีกหนึ่งการสอบที่สำคัญมากก็คือ วิชาเฉพาะแพทย์ ที่จัดสอบโดย กสพท เป็นการสอบวัดความถนัดในวิชาชีพแพทย์ทั้งหมด 3 พาร์ทคือไอคิว จริยธรรม และเชื่อมโยง เป็นการสอบที่ใช้ในการสมัคร กสพท ด้วย คิดเป็นสัดส่วนคะแนน 30% (อีก 70% คือวิชาสามัญ) แต่ก็มีกลุ่มคณะแพทยฯที่ไม่ได้เข้าร่วม กสพท แต่ใช้วิชาเฉพาะแพทย์นี้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใรอยากสอบเข้ากลุ่มคณะแพทยฯ ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอก กสพท ก็สมัคเลยจ้า
ลองสอบเสมือนจริง Dek-D's Pre-Admission TCAS ได้ รายละเอียดคลิก!
เผยทริคจับไต๋ข้อสอบ! พร้อมแจกวิธีการอ่านรอบเดียว แต่เก็บครบทั้ง O-NET, GAT PAT, วิชาสามัญ คลิก!
นอกจากข้อมูลในการเตรียมตัวนี้แล้ว การไปเข้าค่ายหรืองานด้านการศึกษาต่างๆ ก็จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมได้มากขึ้น แนะนำงาน Dek-D's TCAS on Stage งานโชว์ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้น้องๆ และงาน Dek-D's TCAS Fair งานแฟร์งานฟรี ที่รวมบูธด้านการศึกษา, โปรแกรมต่างๆ, การปรึกษารุ่นพี่ อยู่ในงานเดียว มีของแจกเพียบ! ในหนึ่งปีจะมี 2 รอบคือช่วงเดือน พ.ค. และ เดือน ต.ค. บอกเลยว่าระบบ TCAS ไม่ใช่สนามของคนที่เก่งที่สุด แต่เป็นสนามของคนที่พร้อมที่สุด ลุยเลย!!
รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ เกี่ยวกับ Tcas 64
แสดงความคิดเห็น
ถูกเลือกโดยทีมงาน
ยอดถูกใจสูงสุด
รายชื่อผู้ถูกใจความเห็นนี้ คน
แจ้งลบความคิดเห็น
คุณต้องการที่จะลบความเห็นนี้ใช่หรือไม่ ?
2 ความคิดเห็น
ข้อดีของระบบ TCAS คือ
1.การเอาเกรดมาคิดคะแนนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งคิดเป็นคะแนนเต็ม 15,000 คะแนน ใครทำเกรดจากการเรียน ม.ปลาย 5-6 เทอมได้ดี ก็จะได้คะแนนช่วยตรงนี้ได้มาก มีโอกาสเลือกคณะดีๆ หรือมีโอกาสติดคณะที่ตัวเองอยากเรียนมากขึ้น ดังนั้นนักเรียนควรตั้งใจเรียนใน ม.ปลายเพื่อให้ได้เกรดดีที่สุด
ข้อดีมีแค่นี้จริงๆ
2.ระบบการสมัคร TCAS มีหลายรอบมากเกินไปพร่ำเรื่อ เสียเวลาต้องมาคอยเฝ้ารอสมัครแต่ละรอบ ควรจะสมัครรอบเดียวเลย ค่าสมัครสอบก็ชำระทีเดียว แล้วให้ นร.สอบครั้งเดียว เพื่อให้ทราบคะแนนก่อนเลือกคณะเรียน
3.วิชาที่สอบ ที่ควรจะมี
GAT - ข้อสอบควรจะเป็นวิชาพื้นฐานที่ นักเรียนเรียนอยู่ เข่น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาไทย อังกฤษ ให้สอบรวมอยุ่ในหัวข้อนี้ และแบ่งคะแนนให้เหมาะสมตามความสำคัณของแต่ละวิชา และกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ (อันนี้ความคิดผมนะ จะเอาไปคิดต่อก็ได้ หรือปรับให้เหมาะสมก็ได้)
PAT1,2,.. - วิชาความถนัดแต่ละสาขา เข่น ความถนัดทางแพทย์ ความถนัดทางวิศวกรรม ฯลฯ และกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ด้วย
9 วิชาสามัญ ให้ยกเลิกสอบ เพราะเท่าที่ดูเอามาใช้คิดคะแนนสอบน้อย ใช้ไม่กี่คณะ ทำให้เสียมากเวลาเกินไป ซึ้งเนื้อหาพวกนี้เอาไปรวมสอบใน GAT ได้อยู่แล้ว
4.การคิดคะแนนก็ใช้คะแนนจาก
เกรด(GPAX), GAT , PAT, มาใช้คัดเลือกเข้าคณะสาขา
5.การเลือกอันดับคณะควรให้เลือกหลังจากที่ทราบคะแนนสอบแล้ว โดยจัดให้เลือก 5 รอบเหมือนเดิม โดยใช้คะแนนสอบเดียวกันทุกรอบ ตั้งแต่ portfillo/โควต้าภาค/โควต้าตรง/admission/รอบ 5
โดยให้โอกาสเปลี่ยนแปลงคณะที่เลือกได้ทุกรอบ
ใน 5 รอบนี้ก็ให้ยืนยันสิทธิ์ได้เพียงครั้งเดียว แบะสละสิทธิ์ได้เพียงครั้งเดียวเช่นกัน
หากใครไม่ยืนยันสิทธิ์ ก็เลื่อนโอกาสไปรอบต่อไป สิ้นสุดรอบที่ 5
โห เด็กสมัยนี้โอกาสเยอะ แต่ต้องแลกมาด้วยความขยันจริงๆ เหนื่อยไม่ต่างจากยุคเราเลย
นี่เลยวัยมานานเเล้วเเต่ต้องเข้ามาอ่านประดับความรู้ กลัวตามเด็กๆไม่ทัน 555
ขอบคุณมากนะคะ อ่านเข้าใจง่ายมากๆ