เคล็ดลับความสำเร็จ "พี่ฟ้า" ติดจิตวิทยา จุฬาฯ ตั้งแต่รอบ 2 เพราะโอกาสมาต้องคว้าไว้

             สวัสดีน้องๆ Dek63 ทุกคนค่ะ หลังปีใหม่ประมาณ 2 เดือนก็เริ่มเข้าสู่รอบโควตาแล้ว รอบนี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักมากนัก เพราะเงื่อนไขการสมัครค่อนข้างจำกัด แต่อยากจะบอกว่า รอบโควตานี่แหละมีโอกาสค่อนข้างเยอะเลย โควตาก็มีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโควตาภาค โควตาความสามารถพิเศษ โควตาโรงเรียน รวมไปถึงโควตากีฬาที่ "พี่ฟ้า" คนนี้ใช้เป็นช่องทางในการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะว่ารอบนี้น่าสนใจยังไงบ้าง
 

 
"ผู้ให้คำปรึกษา" บุคลิกที่เพื่อนมักบอก
             พี่ฟ้า สุพิชญา สุภาเพียร จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนภาษา-คณิต ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปี 1 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
             แต่เดิม พี่ฟ้าชอบอ่านหนังสือและบทความที่เกี่ยวกับจิตวิทยาอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ แต่ไม่ได้คิดอยากจะเรียนคณะนี้ตั้งแต่แรก เพียงแต่นำนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้กับการแข่งขันครอสเวิร์ด ซึ่งเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ฟ้าชอบ (และได้ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย)
             จนมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือมีช่วงหนึ่งที่มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนๆ เข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ หลายคนบอกว่าบุคลิกและลักษณะนิสัยของฟ้าเหมาะกับคณะนี้ ประกอบกับความชอบเป็นทุนเดิมและจิตวิทยาเริ่มเป็นที่สนใจและต้องการมากขึ้นในประเทศไทย จึงตัดสินใจที่จะเรียนคณะจิตวิทยา

จับรอบให้ถูก ก็จะเตรียมตัวได้ง่าย
             สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเข้าอะไร มักจะชอบสอบเผื่อๆ ไว้ก่อน แต่สำหรับพี่ฟ้าไม่ใช่เลย! ด้วยความที่ตั้งใจแต่แรกว่าจะเรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ การเตรียมตัวจึงไม่ยากเลย เพราะไม่จำเป็นต้องสอบวิชาที่ไม่ได้ใช้ยื่นคณะนี้
             อันดับแรกหาข้อมูลก่อนว่าคณะจิตวิทยาเปิดรับสมัครรอบไหนบ้าง แต่ละรอบมีเกณฑ์แบบไหน คะแนนสอบของปีที่ผ่านๆ มาเป็นยังไง ซึ่งคะแนนบางรูปแบบก็สูงใช้ได้เลย ในตอนแรกตั้งใจจะยื่นเข้ารอบที่ 3 โดยยื่น 2 รูปแบบ คือ GAT อย่างเดียว และ GAT + PAT 1 จึงเตรียมตัวเฉพาะ 2 วิชานี้ หลักๆ แล้วจะอ่านหนังสือและฝึกฝนทำโจทย์ด้วยตัวเอง เพราะพื้นฐานเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ค่อนข้างมีวินัย และเดี๋ยวนี้ หนังสือ โจทย์ ข้อสอบเก่า และเฉลยต่างๆ ก็หาง่ายมาก ส่วนการเรียนพิเศษนั้น ได้เรียนเพิ่มเติมเพียง 1 วิชาคือ PAT 1 คณิตศาสตร์
             แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนใจมายื่นรอบที่ 2 โควตา ต้องใช้คะแนน PAT 2 ด้วย พี่ฟ้าก็เตรียมตัวเฉพาะเอกสารที่ใช้สมัคร สารภาพว่าไม่ได้เตรียมตัวมาสอบ PAT 2 เลย เพราะดันเกิดเปลี่ยนใจในเวลาที่กระชั้นชิดมาก แต่สุดท้ายแล้วก็มุ่งมั่นกับ GAT + PAT1 ต่อ เพราะหวังเอาไว้ว่าน่าจะต้องไปถึงรอบที่ 3 จึงอยากเน้นให้รอบ 3 ได้คะแนนดีๆ เลย


โอกาสมา ก็คว้าไว้ก่อน
             อย่างที่บอกแต่แรกว่า ตั้งใจจะเข้ารอบ 3 โดยใช้คะแนนสอบที่เตรียมตัวมา เพราะส่วนตัวคิดว่าน่าจะทำคะแนนได้ดีกว่าการทำผลงานการแข่งขันกีฬา แต่พอรอบ 2 โควตากีฬา ประกาศรับ ครอบครัวและรุ่นพี่หลายๆ คนก็ได้ให้คำแนะนำให้ลองสมัครไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียโอกาส และถือเป็นการลองสนาม ตอนนั้นคิดแค่ว่าไม่ติดรอบนี้ไม่เป็นไร แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 2 ได้ จากชนิดกีฬาครอสเวิร์ด

รอบโควตาไม่ได้เข้าง่ายกว่ารอบอื่นๆ
             ฟ้าคิดว่าแต่ละรอบมีความยากง่ายแตกต่างกัน รอบโควตาอาจจะดูง่ายในขั้นตอนการคัดเลือก เพราะจำนวนผู้สมัครมีน้อยกว่า แต่ระหว่างทางจะมีผลงานที่ใช้ในการยื่นสมัครนั้นไม่ง่ายเลย เงื่อนไขของโควตากีฬาอาจจะมีการกำหนดชนิดรางวัล ซึ่งต้องผ่านคุณสมบัติตรงนี้
             ส่วนโควตาอื่นๆ ก็อาจจะมีการทดสอบทักษะเฉพาะทาง ก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าการสอบข้อสอบอย่างอื่น อีกทั้งในบางโครงการยังก็ยังต้องใช้คะแนนสอบ GAT PAT 9 วิชาสามัญ เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำและเกณฑ์คัดเลือกร่วมกับคะแนนผลงานอีกด้วย อย่างโครงการพัฒนากีฬาชาติที่ฟ้าสมัคร สำหรับคณะจิตวิทยาต้องใช้คะแนน GAT PAT1 และ PAT2 ขั้นต่ำวิชาละ 25% ประกอบกับคะแนนผลงานที่เคยแข่งขันมา และคะแนนทดสอบความสามารถทางกีฬา แล้วนำไปคัดเลือกร่วมกับนักกีฬาชนิดอื่นๆ ค่ะ ส่วนตัวจึงคิดว่ารอบโควตาก็ไม่ได้ง่าย ถึงแม้คนน้อยกว่าแต่ต้องแข่งด้านคุณสมบัติที่โหดกว่า    

ข้อดีของการสอบเข้ารอบโควตา
             การสอบติดเร็ว ก็ยิ่งสบายใจได้เร็วขึ้น อย่างน้อยไม่ต้องกดดันว่าเราจะติดในรอบนั้นมั้ย ในความรู้สึกของเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย มีความกดดันทุกวัน ดังนั้นข้อดีอย่างแรกคือ ความสบายใจ และเราก็สามารถพักผ่อนได้ก่อนเพื่อน อย่างฟ้าเอง หลังสอบติดก็ไปเที่ยวได้แล้ว ขณะที่เพื่อนๆ ต้องเร่งอ่านหนังสือกัน
             นอกจากนี้สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวคือ เมื่อเข้ามาด้วยโควตากีฬา ก็ได้เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสิทธิประโยชน์สำหรับนิสิตที่เป็นนักกีฬาด้วย เช่น สิทธิ์ในการเข้าหอพัก (หอใน) ถ้าเป็นนิสิตที่เข้ามารอบปกติ จะต้องผ่านการคัดเลือก

คณะจิตวิทยา ปี 1 ได้เรียนอะไรบ้าง
             การได้เรียนในคณะในฝันนับว่าเป็นอะไรดีที่สุดแล้ว การที่พี่ฟ้าสอบเข้าคณะนี้ได้ ก็มีความสุขมากๆ เทอมที่ผ่านมาก็ชอบเรียนทุกวิชาเลย ยกตัวอย่างวิชาที่ได้เรียน ก็จะมี General Psychology วิชาที่แนะนำสาขาต่างๆ ของจิตวิทยาให้ได้รู้จัก และ Introduction to Developmental Psychology เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเสียชีวิต ในวิชานี้นอกจากจะได้เรียนเนื้อหาแล้ว ยังได้ไปเก็บข้อมูลภาคสนามอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เรียนวิชา Philosophy and Logic, Introduction to Statistics in Psychology และ Computer Application in Psychology ซึ่งแต่ละวิชาก็มีความสนุกแตกต่างกันไป เป็นวิชาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเรียนมาสมัยมัธยม ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและอยากหาคำตอบด้านจิตวิทยาต่อไปเรื่อยๆ


เคล็ดลับการทำ PAT1 ได้ 150+ คะแนน
             สำหรับฟ้า PAT 1 เป็นวิชาที่ยากที่สุด จึงพยายามหาเวลาและทุ่มเทกับมันเต็มที่ จากประสบการณ์การเตรียมตัวสอบ ก็จะมีเทคนิคดังนี้
             อันดับแรก ต้องเปิดใจก่อน เพราะวิชานี้ยาก ทำให้หลายๆ คนท้อและยอมแพ้ไปก่อน
             ต่อมา จะเรียนเนื้อหาที่โรงเรียนก่อน เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานให้ได้ก่อน ถ้าเข้าใจแล้ว ความยากก็จะลดลง จากนั้นจะเจาะไปเรียนเนื้อหาที่จะใช้สอบอีกครั้งเพื่อเป็นการทบทวน
             อันดับสุดท้าย เน้นตะลุยโจทย์ไปเลย แล้ว 3 เดือนสุดท้ายตะลุยทำข้อสอบเก่า โดยจับเวลาและฝนคำตอบจริง เพื่อฝึกบริหารเวลาในการทำข้อสอบ วันสอบจริง 3 ชั่วโมงที่เราใช้ในห้องจะได้มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ตื่นตระหนก ไม่เครียดหรือชิลเกินไป

มอง GAT เชื่อมโยงให้เป็นเกม ช่วยฝึกให้เก่งขึ้น
             GAT เชื่อมโยงหลายคนจะมองว่าง่าย แต่คนที่ทำไม่ได้ก็จะทำไม่ได้เลย เพราะไม่เข้าใจ เทคนิคการฝึกวิชานี้ ฟ้าแนะนำว่าให้มองการทำ GAT เชื่อมโยง ให้เป็นเหมือนการเล่น puzzle ค่อยๆ ไขปัญหาไปทีละขั้นตอน หากมองให้เป็นเกมสนุกๆ ก็สามารถนำมาทำเพื่อคลายเครียดเวลาเหนื่อยล้าจากการอ่านวิชาอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งการจะทำให้ได้คะแนนเยอะ ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ ฝึกสม่ำเสมอก็จะช่วยเรื่องนี้ได้มาก
             ส่วนตัวจะฝึกทำข้อสอบเก่าพร้อมกับฝึกฝนคำตอบในกระดาษคำตอบ เพราะเคยได้ยินมาว่า มีคนฝนผิดเยอะมาก อาจจะไม่เคยเห็นกระดาษคำตอบมาก่อนหรือตื่นเต้นเกินไป จึงมองว่าโอกาสฝนผิดตอนสอบจริง


"ข้อคิด" ถึง #dek63
             "ไม่ว่าการสอบจะอย่างราบรื่นหรือเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่จะทำออกมาได้ดีที่สุดก็คือคนที่พร้อมมากที่สุด แต่คนที่พร้อมที่สุดอาจไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือหนักที่สุด แต่อาจเป็นคนที่รู้จักตัวเอง มีการวางแผน รู้จักการแบ่งเวลา อย่างฟ้าเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือตลอดเวลา ทำกิจกรรมมากมายทั้งในและนอกโรงเรียน บางวันที่แค่รู้สึกเหนื่อย ก็ไปเที่ยวเล่น ดูหนัง พักผ่อน แต่ในขณะเดียวกันก็วางแผนการอ่านหนังสืออย่างเคร่งครัด ตั้งเป้าหมายในแต่ละวันและในระยะยาว เวลาที่อ่านหนังสือก็ตั้งใจ มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เพื่อให้ทุกวินาทีที่เราใช้อ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบนั้นมีค่ามากที่สุด
             ก็อยากฝากถึงน้องๆ ทุกคนนะคะ ว่าอยากให้ตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบให้มากที่สุด เพราะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นจุดสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในชีวิตของน้อง แต่ก็อย่าลืมใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจย้อนกลับมาทำได้ เพราะชีวิตมัธยมปลายมีแค่ครั้งเดียวนะคะ :) เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนค่า"
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น