สวัสดีชาว Dek-D ที่น่ารักทุกคนนะคะ ขอเสียงแอนิมอลเลิฟเวอร์หน่อยเร้ว ขอบอกว่าปัจจุบันเทรนด์เลี้ยงสัตว์กำลังมาแรงมากๆ หลายคนคลั่งรักประหนึ่งลูกน้อยที่คลอดมาเองกับมือเลยทีเดียว พี่เมก้าก็แอบเห็นว่าน้องๆ หลายคนเล็ง “คณะสัตวแพทยศาสตร์” ไว้อยู่เหมือนกัน รับรองว่าเรียนคณะนี้ ไม่มีผิดหวัง ตอบโจทย์คนรักสัตว์อย่างแน่นอน! และวันนี้พี่จะไม่ปล่อยให้น้องฝันเก้อ TCAS Coach รวบรวมข้อมูลเตรียมสอบไว้ให้แล้ว ตามไปดูกันได้เลย!
เตรียมความพร้อม TCAS65 สู่คณะสัตวแพทยศาสตร์
คณะนี้เรียนอะไร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต เปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตสัตวแพทย์ ผู้ทำหน้าที่วินิจฉัย รักษา ป้องกัน และควบคุมโรคสัตว์ รวมถึงโรคระบาดในสัตว์ต่างๆ การเรียนสัตวแพทย์มุ่งพัฒนาผู้เรียนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นได้ ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งหมด 6 ปีเต็ม! ดังนี้
ปีที่ 1-3 (ชั้น Pre-clinic)
ช่วงปี 1 น้องๆ จะได้เรียนวิชาทั่วไปที่เน้นเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ชีวเคมี มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับสัตวแพทยศาสตร์บ้าง เช่น สัตววิทยา พฤติกรรมสัตว์ หลักการสัตวบาล สำหรับปี 2-3 จะเป็นการเรียนหลักทางสัตวแพทย์เพื่อปูพื้นไปสู่วิชาชั้น Clinic อันเข้มข้น เช่น สรีรวิทยา ปรสิตวิทยา เภสัชวิทยา พยาธิวิทยา พิษวิทยา ภูมคุ้มกันวิทยา วิสัญญีวิทยา หลักกายวิภาคศาสตร์ หลักศัลยศาสตร์ หลักอายุรศาสตร์ หลักการจัดการสุขภาพสัตว์ ฯลฯ
ปีที่ 4-6 (ชั้น Clinic)
สำหรับชั้น Clinic ก็เตรียมลงภาคสนามกันได้เลย น้องๆ จะได้ฝึกคลินิกปฏิบัติทางสัตวแพทย์ขั้นสูง ปี 4 เพิ่งเริ่มต้น บางมหา’ลัยอาจจะให้ฝึกศัลยศาสต์ขั้นพื้นฐาน ฝึกผ่าซากสัตว์ ลองชันสูตรโรคสัตว์ซ้อมมือไปพลางๆ ก่อน ปี 5-6 นี่แหละค่ะของจริง! เริ่มปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคสัตว์ มาครบทั้งสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก สั้ตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ สัตว์ป่า สัตว์สวนสัตว์ สัตว์เคี้ยวเอื้อง สัตว์ปีก สัตว์น้ำ ได้ลงมือวางยาสลบ ผ่าตัด ให้ยากันจริงจังก็คราวนี้ บางมหา’ลัยอาจจะให้น้องๆ เลือกปฏิบัติงานตามสถานประกอบการที่สนใจ แต่บางมหา’ลัยจะส่งไปลุยงานตามชนบทและชุมชนต่างๆ ไม่เพียงแต่ฝึกงานเฉยๆ น้องจะต้องทำโครงการวิจัยทางสัตวแพทย์ แน่นอนว่าต้องมีนัดรายงานความคืบหน้ากับอาจารย์และเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยค่ะ
สำหรับ "คณะสัตวแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต" จะเป็นการเรียนโดยใช้ระยะเวลา 4 ปีเท่านั้นค่ะ ตอนนี้มีอยู่ 2 สาขาวิชา 1. วิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ (ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก) 2. การพยาบาลสัตว์ (ม.เทคโนโลยีมหานคร) หลักๆ เรียนคล้ายกันคือชั้นปีที่ 1-2 เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น ชีวเคมีทั่วไป สัตววิทยาทั่วไป กายวิภาคและสรีรวิทยาสัตว์ทั่วไป ส่วนชั้นปีที่ 3-4 เน้นเรียนวิชาเฉพาะสาขาและการฝึกปฏิบัติกับสัตว์โดยตรง เช่น สาขาการพยาบาลสัตว์ จะศึกษาโรคสำคัญในสัตว์ รวมถึงการจัดการและการพยาบาลสัตว์ป่วยทางด้านต่างๆ ทั้งเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยกรรม ฉุกเฉินและวิกฤติ เป็นต้น
คณะนี้เหมาะกับใคร
แน่นอนว่าต้องเหมาะกับคนที่รักสัตว์ อาจจะไม่ต้องรักมาก แต่ต้องไม่ถึงขั้นเห็นแล้วรังเกียจ คือจิตใจเมตตาต่อสัตว์ยังต้องมีอยู่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ไม่ได้กำหนดแผนการเรียนว่าต้องจบสายวิทยาศาสตร์ แต่น้องๆ ทิ้งเนื้อหาวิทย์ไม่ได้เด็ดขาด เพราะเจอเต็มๆ ทั้งแล็บและเลคเชอร์!! (รุ่นพี่สายศิลป์ที่เรียนสัตวแพทย์ปีสูงอยู่ก็กระซิบว่าอ่านหนักมาก! ต้องมีสกิลปรับตัวและไม่ย่อท้อ ถึงจะรอดมาได้!) นอกจากนี้เรื่องของสติและทักษะความจำก็ค่อนข้างสำคัญค่ะ เพราะน้องๆ จะเจอคำศัพท์ทางสัตวแพทย์เยอะมาก ไม่ว่าจะชื่อโรค ชื่อพยาธิ ชื่อสัตว์หลายสปีชีส์ ต้องจำโครงสร้างภายในร่างกายของสัตว์ ชื่อยาที่ใช้ในสัตว์ ไหนจะต้องสนใจเครื่องมือทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค วิธีรักษาต่างๆ อีก แค่ route ฉีดยา ถ้าจำผิดก็อาจทำให้สัตว์ตายได้เลย เป็นอีกวิชาชีพที่ต้องอาศัยความใส่ใจและอดทนอย่างมากเลยทีเดียว
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง
หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต (สพ.บ.)
- สาขาวิชาสัตวแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)
- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ (ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก)
- สาขาวิชาการพยาบาลสัตว์ (ม.เทคโนโลยีมหานคร)
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ม.เกษตรศาสตร์
- ม.ขอนแก่น
- ม.เชียงใหม่
- ม.มหิดล
- ม.มหิดล-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- ม.มหาสารคาม
- ม.สงขลานครินทร์
- ม.วลัยลักษณ์-วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี หลักสูตรนานาชาติ (อยู่ระหว่างการดำเนินการรับรองจากสัตวแพทยสภา)
- กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล ได้แก่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ ม.เทคโนโลยีมหานคร ม.เวสเทิร์น
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 34,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.เกษตรศาสตร์ 16,300 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.ขอนแก่น 35,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.เชียงใหม่ 20,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.มหิดล 25,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.มหิดล-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 0 บ. / 6 ปีการศึกษา
ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนค่าลงทะเบียนและหน่วยกิตตลอด 6 ปี (เฉพาะนักศึกษาในปีการศึกษา 2563 - 2567) - ม.มหาสารคาม 25,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.สงขลานครินทร์ 28,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.วลัยลักษณ์-วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี หลักสูตรนานาชาติ 100,400 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ 28,300 บ. / ปีการศึกษา
- ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ 54,700 บ. / ปีการศึกษา
- ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 26,000 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.เทคโนโลยีมหานคร 64,850 บ. / ภาคการศึกษา
- ม.เวสเทิร์น 100,000 บ. / ภาคการศึกษา
ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิงข้อมูลจาก TCAS64)
รอบ | มหาวิทยาลัย/โครงการ | เกณฑ์คัดเลือก | คะแนนต่ำสุดปี 64 |
รอบ 1 Portfolio | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถด้าน ภาษาอังกฤษและมีความสนใจในวิชาชีพสัตวแพทย์ | GPAX + คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL , IELTS , CU-TEP อย่างใดอย่างหนึ่ง + เอกสารรับรองจำนวนชั่วโมงฝึกงานในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 100 ชม. + Portfolio ทางวิชาการอื่นๆ | - |
ม.เกษตรศาสตร์ โครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | GPA ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ (ตามที่คณะ/สาขากำหนด) + สอบสัมภาษณ์ + ผ่านการ เข้าร่วมโครงการเรียนล่วงหน้าของ ม.เกษตรศาสตร์ | - | |
ม.มหิดล โครงการมหิดล-จุฬาภรณ์ | GPAX + GPA + Portfolio (คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL iBT , IELTS , TOEIC อย่างใดอย่างหนึ่ง + จดหมายรับรองจากสัตวแพทย์ + หนังสือรับรองการเข้าฝึกงานในสถานพยาบาลสัตว์ ไม่น้อยกว่า 60 ชม. + วิดีโอแรงบันดาลใจในการเป็นสัตวแพทย์) | - | |
ม.สงขลานครินทร์ โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี | GPAX + GPA + สอบสัมภาษณ์ | - | |
รอบ 2 Quota | ม.มหิดล โครงการรับ นศ.โควตาวิทยาเขตคณะสัตแพทยศาสตร์ | GPAX + วิชาสามัญ 7 วิชาหลัก | - |
ม.เชียงใหม่ โครงการขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิชาชีพสัตวแพทย์ | คุณสมบัติการเป็นทายาทเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ประกอบการ + วิชาสามัญ 7 วิชาหลัก + สอบสัมภาษณ์ (มีเอกสารที่ส่งเพิ่มพร้อมใบสมัคร) | - | |
ม.ขอนแก่น โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | คะแนนสอบสมรรถนะหลัก ม.ขอนแก่น (ไทย , อังกฤษ , คณิต , วิทย์ , ดิจิทัล) | - | |
ม.มหาสารคาม โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | GAT + PAT2 | - | |
รอบ 3 Admission | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กสพท | วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท | 52.9017 |
ม.เกษตรศาสตร์ กสพท | วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท | 50.2378 | |
ม.มหิดล กสพท | วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท | 48.4639 | |
ม.มหิดล-จุฬาภรณ์ กสพท | วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท | 48.2506 |
อาชีพหลังจบการศึกษา
ผู้เรียนที่ต้องการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์จะต้องเข้ารับการสอบใบประกอบฯ (ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์) สามารถอ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพและจำนวนข้อสอบได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานสัตวแพทยสภา แต่เมื่อได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ยังจะต้องสะสมคะแนนภายใต้เลขรหัสใบประกอบวิชาชีพฯ หรือ CE ให้ได้ 100 คะแนนขึ้นไป เพื่อต่ออายุใบประกอบฯ ในแต่ละรอบ (หนึ่งรอบมีอายุ 5 ปี) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในวงวิชาชีพนี้นั่นเอง ทั้งนี้น้องๆ สามารถเป็นสัตวแพทย์ได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดังนี้
หน่วยงานภาครัฐ
- อาจารย์มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ
- สัตวแพทย์ประจำกรม กระทรวง หน่วยงาน และองค์การต่างๆ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองระบาดวิทยา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย องค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรม องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
หน่วยงานเอกชน
- คลินิกและโรงพยาบาลสัตว์
- ตัวแทนจำหน่ายธุรกิจเวชภัณฑ์ (อุปกรณ์ เครื่องมือ และยาสัตว์) ชีวภัณฑ์ (วัคซีน) และเคมีภัณฑ์สำหรับสัตว์
- สัตวแพทย์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารและยาสัตว์ เช่น โรงอาหารสัตว์ โรงอาหารสำเร็จรูป
- สัตวแพทย์ในธุรกิจอาหารสัตว์และการบริโภค เช่น ฟาร์มปศุสัตว์ ฟาร์มสัตว์เศรษฐกิจ หมู ไก่ ปลา กุ้ง โคนม
สำหรับ "สาขาการพยาบาลสัตว์" สามารถประกอบอาชีพเป็นนักวิชาการและนักวิจัยด้านการพยาบาล การดูแลสุขภาพสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่วน "สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์" สามารถประกอบอาชีพเป็นนักวิชาการสัตวบาล นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพสัตว์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ในสถานประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ประกอบอาชีพอิสระเป็นเจ้าของฟาร์มหรือเจ้าของกิจการด้านอาหารและการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ ฯลฯ
ขอขอบคุณรูปภาพจาก Banner vector created by pch.vector www.freepik.comTCAS65 ทปอ. ยกเลิกการใช้คะแนน O-NET ในการคัดเลือกผ่านระบบ TCAS "รอบ Admission 2" ที่เดิมทีใช้คะแนน GPAX + O-NET + GAT/PAT จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยายนะคะ เหลือเพียงรอบ Admission 1 ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คัดเลือกกันเอง อย่างไรก็ตาม ทปอ. ได้แง้มๆ มาว่าจะพยายามทำให้เกณฑ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะเน้นไปที่ GAT/PAT และวิชาสามัญ แต่ไม่ว่ายังไงน้องๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นวิชาสามัญ 7 วิชาหลัก และ GAT PAT2 (อาจมีพ่วง PAT1 ต้องรอดูกันอีกที) รู้แบบนี้แล้วก็รีบเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยนะคะ เอาใจช่วยทุกคนค่ะ
2 ความคิดเห็น
dek66เกณฑ์จะมาในเร็วๆนี้ไหมคะ TT