สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ บทความแนะแนวเส้นทางสอบเข้า TCAS65 เจาะลึกคณะสายวิทย์กันไปหลายคณะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วันนี้พี่มิ้นท์ขอเปลี่ยนสายมาฝั่งคณะด้านสายศิลป์กันหน่อย ซึ่งปกติแล้ว คณะด้านสายศิลป์ก็มีความฮอตอยู่หลายคณะและมีอัตราการแข่งขันสูง รวมทั้งคะแนนที่สูงมากๆ ด้วย แต่ข้อดีหนึ่งอย่างก็คือ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเปิดสอนคณะสายศิลป์กันเยอะมากๆๆๆ อาจเป็นเพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของวิชาชีพหรือการควบคุมจำนวนนักศึกษานั่นเอง ทำให้น้องๆ มีตัวเลือกในการสอบมากเลยทีเดียวค่ะ
สำหรับเตรียมความพร้อมวันนี้ พี่มิ้นท์จะพา #dek65 ไปดูข้อมูลของคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่ง 3 คณะนี้ชื่อต่างกัน แต่ให้น้องๆ มองเป็นคณะเดียวกันนะคะ เพราะสาขาที่เปิดรับสมัคร ไปจนถึงการเรียนนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันค่ะ
คณะนี้เรียนอะไร
หากนึกถึงคณะสายศิลป์ 3 คณะนี้คงเป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ แม้ชื่อต่างกัน แต่จะเรียนคล้ายๆ กันค่ะ หลายคนมองว่าคณะนี้คือคณะที่เรียนภาษา ล้วนๆ เช่น เอกภาษาอังกฤษ ก็จะเรียนภาษาอังกฤษล้วนๆ แล้วก็ตามมาด้วยคำถามที่ว่า แล้วเรียนตั้ง 4 ปีแน่ะ จะเรียนอะไรบ้าง
ในความเป็นจริง กลุ่มคณะนี้มีเนื้อหากว้างมากค่ะ ไม่จำกัดแค่เรื่องภาษา แต่รวมถึงวัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ด้วย โดยในชั้นปี 1 น้องๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของคณะและมหาวิทยาลัย เช่น วิชาศึกษาทั่วไป วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทักษะการคิด ประวัติศาสตร์ อารยธรรม ฯลฯ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยว่าจะมีวิชาอะไรบ้าง ซึ่งทุกสาขาจะได้เรียนเหมือนกันค่ะ
จากนั้นในปี 2 จะเรียนวิชาพื้นฐานของสาขาวิชา เช่น เอกภาษาไทย ก็จะมีวิชาการเขียนพื้นฐาน การฟังพื้นฐาน การอ่านพื้นฐาน เป็นต้น และในปี 3-4 จะได้เรียนวิชาเอกของสาขาแบบเข้มข้นถึงพริกถึงขิงกันเลยทีเดียว โดยจะเน้นไปที่การนำความรู้ไปใช้งานในทักษะต่างๆ รวมถึงการทำวิจัยหรือโครงงานด้วยค่ะ น้องๆ ที่ตัดสินใจอยากเข้ามาเรียนคณะนี้ ต้องเตรียมตัวว่าจะต้องอ่านหนัก เขียนหนัก และการสอบก็เน้นการเขียนเป็นหลักด้วยนะคะ
ไขข้อสงสัย
ทำไมเรียนเหมือนกัน แต่ชื่อต่างกัน? เพราะชื่อที่ต่างกันนั้นมีจุดเด่นกันไปคนละด้านค่ะ เช่น
- คณะอักษรฯ นอกจากภาษาแล้ว จะเน้นในด้านภาษาศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ด้วย
- คณะมนุษยศาสตร์ นอกจากภาษาแล้ว จะเป็นในสายเชิงมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะการละคร การสื่อสาร การท่องเที่ยว ฯลฯ
- คณะศิลปศาสตร์ ก็มีสาขาที่เน้นภาษาเช่นกัน แต่ก็จะเน้นในเรื่องการประยุกต์มาใช้งานค่ะ
คณะนี้เหมาะกับใคร
- คณะนี้ ไม่จำกัดแผนการเรียน (ยกเว้นด้านภาษาที่ 3 ที่อาจกำหนดหน่วยกิตภาษาต่างประเทศ หรือ คะแนนสอบภาษาต่างประเทศอื่นๆ) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ สายวิทย์ สายศิลป์ สายอาชีพ ก็สามารถเข้าศึกษาในคณะนี้ได้
- เหมาะกับคนที่ชอบคิดและอ่าน เพราะภาษานับว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าไม่ชอบอ่าน และ ไม่ชอบคิด เราจะไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาได้ ที่สำคัญ คณะนี้ต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ ค่ะ
- ต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะภาษาและวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และคณะนี้ไม่ได้เรียนแค่ภาษาอย่างเดียว ยังได้เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อารยธรรม สังคมศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา เรียกว่าต้องเรียนรู้หลากหลายมากๆ ถ้าใครไม่ชอบ จะเบื่อเอาได้ง่ายๆ เลย
คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง
- สาขาวิชาภาษาไทย
- สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
- สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
- สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
- สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน
- สาขาวิชาภาษาจีน
- สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
- สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
- สาขาวิชาเกาหลี
- สาขาวิชารัสเซีย
- สาขาวิชารัสเซียศึกษา
- สาขาวิชาเอเชียศึกษา
- สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- สาขาวิชาบาลีและสันสกฤต
- สาขาวิชาภาษาสเปน
- สาขาวิชาภาษาอาหรับ
- สาขาวิชาภาษามลายู
- สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
- สาขาวิชาภาษาตะวันออก
- สาขาวิชาภาษาศาสตร์
- สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
- สาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ
- สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน
- สาขาวิชาศิลปการละคร
- สาขาวิชาจิตวิทยา
- สาขาวิชาภูมิศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
- สาขาวิชาปรัชญา
- สาขาวิชาประวัติศาสตร์
- สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก
- สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
- สาขาวิชานิเทศศาสตร์
- สาขาวิชาภูมิศาสตร์
- สาขาวิชาการท่องเที่ยว
- สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว
- สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ม.กาฬสินธุ์
- ม.เกษตรศาสตร์
- ม.ขอนแก่น
- ม.เชียงใหม่
- ม.ธรรมศาสตร์
- ม.นเรศวร
- ม.นครพนม
- ม.ทักษิณ
- ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
- ม.มหิดล
- ม.แม่โจ้
- ม.ศิลปากร
- ม.มหาสารคาม
- ม.บูรพา
- ม.พะเยา
- ม.แม่ฟ้าหลวง
- ม.สงขลานครินทร์
- ม.วลัยลักษณ์
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ม.อุบลราชธานี
- ม.สวนดุสิต
- ม.นราธิวาสราชนครินทร์
- กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เช่น มรภ.สวนสุนันทา, มรภ.พระนคร, มรภ.นครปฐม, มรภ.ยะลา, มรภ.เพชรบุรี, มรภ.วไลยอลงกรณ์ เป็นต้น
- กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล คือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นต้น
- กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น ม.กรุงเทพ, ม.หอการค้าไทย, ม.รังสิต , ม.ธุรกิจบัณฑิต เป็นต้น
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษา
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17,000 บาท / ภาคการศึกษา
- ม.ขอนแก่น 10,000 บาท / ภาคการศึกษา
- ม.บูรพา 15,000 - 22,500 บาท / ภาคการศึกษา (แล้วแต่สาขา)
- ม.แม่ฟ้าหลวง 25,000 - 35,000 บาท / ภาคการศึกษา (แล้วแต่สาขา)
- ม.มหาสารคาม 2,000 - 8,000 บาท / ภาคการศึกษา + ค่าหน่วยกิตละ 200 - 800 บาท
- ม.ศิลปากร 7,500 บาท / ภาคการศึกษา
- ม.สงขลานครินทร์ 16,000 บาท / ภาคการศึกษา
ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิงข้อมูล TCAS64)
รอบ | มหาวิทยาลัย | เกณฑ์คัดเลือก | คะแนนต่ำสุดปี 64 |
รอบ 1 Portfolio | ม.ธรรมศาสตร์ โครงการความสามารถดีเด่นด้านกีฬา | ผลงานด้านกีฬา + สอบสัมภาษณ์ | - |
ม.แม่ฟ้าหลวง โครงการเด็กดีมีที่เรียน | GPAX + GPA + Portfolio | - | |
ม.เกษตรศาสตร์ โควตาช้างเผือก | Portfolio + สัมภาษณ์ (บางสาขาใช้ GPAX ด้วย) | - | |
ม.วลัยลักษณ์ รับตรงรอบ Portfolio | GPAX + Portfolio | - | |
รอบ 2 โควตา | ม.ขอนแก่น โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | วิชาเฉพาะ ม.ขอนแก่น (สมรรถนะหลัก+สมรรถนะเฉพาะด้าน) | - |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการความสามารถพิเศษ ภาษาสเปน (เข้าสาขาวิชาภาษาสเปน) | GAT 40% + วิชาเฉพาะ (ความสามารถทางภาษาสเปน) 60% | - | |
ม.ศิลปากร โควตา 28 จังหวัด (สาขาอักษรศาสตร์) | O-NET ไทย, สังคม, อังกฤษ (TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้) | - | |
ม.สงขลานครินทร์ โควตาภาคใต้ | วิชาสามัญ (ไทย, สังคม, อังกฤษ) บางสาขาใช้ คณิต 1 + O-NET (คณิต, วิทย์) | คลิก | |
รอบ 3 Admission | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | PAT1 หรือ PAT7 25% + วิชาสามัญ (ไทย 25%, สังคม 25%, อังกฤษ 25%) | 65.1875 (เลือกสอบ PAT1 ) |
ม.เชียงใหม่ | วิชาสามัญ (แบ่งเป็นชุดวิทย์-ศิลป์) + PAT (ใช้บางสาขา) | 251.18 (สาขาภาษาอังกฤษ) | |
ม.ศรีนครินทรวิโรฒ | GAT + วิชาสามัญ (แต่ละสาขาใช้วิชาไม่เท่ากัน) + PAT (ใช้บางสาขา) | 21,637.5 (สาขาภาษาอังกฤษ) | |
ม.นเรศวร | GPAX + O-NET + GAT + PAT (บางสาขา) (TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้) | 65.0428 (สาขาภาษาอังกฤษ) |
อาชีพหลังจบการศึกษา
น้องๆ ที่จบจากคณะอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ไปแล้ว สามารถนำความรู้ด้านภาษาและการสื่อสารไปใช้ทำงานได้หลากหลายอาชีพมากๆ ค่ะ เพราะหลายองค์กร หลายหน่วยงาน ต้องการผู้มีความสามารถด้านการสื่อสาร โดยอาชีพต่างๆ เช่น นักข่าว ล่าม นักเขียน คอลัมนิสต์ แอดมิน บรรณาธิการ พิธีกร นักประชาสัมพันธ์ แอร์โฮสเตส ผู้ดำเนินรายการวิทยุ-โทรทัศน์ ผู้ประกาศข่าว ครู อาจารย์ สามารถทำได้ทั้งภาครัฐและเอกชนค่ะ
ขอขอบคุณรูปภาพจากอ่านรายชื่อสาขาวิชากันตาลายเลยมั้ยคะ บอกเลยว่าคณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ น่าจะเป็นคณะที่มีสาขาเปิดสอนมากที่สุดแล้ว เพราะตามที่ได้บอกไปข้างต้นว่าครอบคลุมทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ยังมีแนวคิดที่จะเปิดสาขาใหม่ๆ ให้เหมาะกับยุคปัจจุบันอีกด้วยนะคะ ดังนั้น หากน้องๆ สนใจสาขาไหนก็อย่าลืมเข้าไปดูหลักสูตรแต่ละแห่งดูว่ามีสาขาที่ตนเองอยากเรียนหรือเปล่า และที่สำคัญ อย่าลืมอ่านหนังสือ เน้นที่วิชา GAT วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ด้วยนะคะ ^^
Designed by pch.vector / Freepik
0 ความคิดเห็น