แนะแนวเตรียมความพร้อม TCAS65 สู่ "คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์"

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ  บทความแนะแนวเส้นทางสอบเข้า TCAS65 เจาะลึกคณะสายวิทย์กันไปหลายคณะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์   วันนี้พี่มิ้นท์ขอเปลี่ยนสายมาฝั่งคณะด้านสายศิลป์กันหน่อย ซึ่งปกติแล้ว คณะด้านสายศิลป์ก็มีความฮอตอยู่หลายคณะและมีอัตราการแข่งขันสูง รวมทั้งคะแนนที่สูงมากๆ ด้วย แต่ข้อดีหนึ่งอย่างก็คือ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเปิดสอนคณะสายศิลป์กันเยอะมากๆๆๆ อาจเป็นเพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของวิชาชีพหรือการควบคุมจำนวนนักศึกษานั่นเอง ทำให้น้องๆ มีตัวเลือกในการสอบมากเลยทีเดียวค่ะ

สำหรับเตรียมความพร้อมวันนี้ พี่มิ้นท์จะพา #dek65 ไปดูข้อมูลของคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่ง 3 คณะนี้ชื่อต่างกัน แต่ให้น้องๆ มองเป็นคณะเดียวกันนะคะ เพราะสาขาที่เปิดรับสมัคร ไปจนถึงการเรียนนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันค่ะ  

เตรียมความพร้อม TCAS65 "คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์"
เตรียมความพร้อม TCAS65 "คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์"

คณะนี้เรียนอะไร

หากนึกถึงคณะสายศิลป์ 3 คณะนี้คงเป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ แม้ชื่อต่างกัน แต่จะเรียนคล้ายๆ กันค่ะ หลายคนมองว่าคณะนี้คือคณะที่เรียนภาษา ล้วนๆ เช่น เอกภาษาอังกฤษ ก็จะเรียนภาษาอังกฤษล้วนๆ แล้วก็ตามมาด้วยคำถามที่ว่า แล้วเรียนตั้ง 4 ปีแน่ะ จะเรียนอะไรบ้าง

ในความเป็นจริง กลุ่มคณะนี้มีเนื้อหากว้างมากค่ะ ไม่จำกัดแค่เรื่องภาษา แต่รวมถึงวัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ด้วย  โดยในชั้นปี 1 น้องๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของคณะและมหาวิทยาลัย เช่น วิชาศึกษาทั่วไป วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทักษะการคิด ประวัติศาสตร์ อารยธรรม ฯลฯ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยว่าจะมีวิชาอะไรบ้าง ซึ่งทุกสาขาจะได้เรียนเหมือนกันค่ะ 

จากนั้นในปี 2 จะเรียนวิชาพื้นฐานของสาขาวิชา เช่น เอกภาษาไทย ก็จะมีวิชาการเขียนพื้นฐาน การฟังพื้นฐาน การอ่านพื้นฐาน เป็นต้น และในปี 3-4 จะได้เรียนวิชาเอกของสาขาแบบเข้มข้นถึงพริกถึงขิงกันเลยทีเดียว โดยจะเน้นไปที่การนำความรู้ไปใช้งานในทักษะต่างๆ รวมถึงการทำวิจัยหรือโครงงานด้วยค่ะ  น้องๆ ที่ตัดสินใจอยากเข้ามาเรียนคณะนี้ ต้องเตรียมตัวว่าจะต้องอ่านหนัก เขียนหนัก และการสอบก็เน้นการเขียนเป็นหลักด้วยนะคะ

ไขข้อสงสัย

ทำไมเรียนเหมือนกัน แต่ชื่อต่างกัน? เพราะชื่อที่ต่างกันนั้นมีจุดเด่นกันไปคนละด้านค่ะ เช่น

  • คณะอักษรฯ นอกจากภาษาแล้ว จะเน้นในด้านภาษาศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ด้วย
  • คณะมนุษยศาสตร์ นอกจากภาษาแล้ว จะเป็นในสายเชิงมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะการละคร การสื่อสาร การท่องเที่ยว ฯลฯ
  • คณะศิลปศาสตร์ ก็มีสาขาที่เน้นภาษาเช่นกัน แต่ก็จะเน้นในเรื่องการประยุกต์มาใช้งานค่ะ

คณะนี้เหมาะกับใคร

  1. คณะนี้ ไม่จำกัดแผนการเรียน (ยกเว้นด้านภาษาที่ 3 ที่อาจกำหนดหน่วยกิตภาษาต่างประเทศ หรือ คะแนนสอบภาษาต่างประเทศอื่นๆ) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ สายวิทย์ สายศิลป์ สายอาชีพ ก็สามารถเข้าศึกษาในคณะนี้ได้
  2. เหมาะกับคนที่ชอบคิดและอ่าน เพราะภาษานับว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าไม่ชอบอ่าน และ ไม่ชอบคิด เราจะไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาได้ ที่สำคัญ คณะนี้ต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ ค่ะ
  3. ต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะภาษาและวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และคณะนี้ไม่ได้เรียนแค่ภาษาอย่างเดียว ยังได้เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อารยธรรม สังคมศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา เรียกว่าต้องเรียนรู้หลากหลายมากๆ ถ้าใครไม่ชอบ จะเบื่อเอาได้ง่ายๆ เลย

คณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง

  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  • สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน
  • สาขาวิชาภาษาจีน
  • สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาเกาหลี
  • สาขาวิชารัสเซีย
  • สาขาวิชารัสเซียศึกษา
  • สาขาวิชาเอเชียศึกษา
  • สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • สาขาวิชาบาลีและสันสกฤต
  • สาขาวิชาภาษาสเปน
  • สาขาวิชาภาษาอาหรับ
  • สาขาวิชาภาษามลายู
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ
  • สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน
  • สาขาวิชาศิลปการละคร
  • สาขาวิชาจิตวิทยา
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก
  • สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์
  • สาขาวิชาการท่องเที่ยว
  • สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว
  • สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ม.กาฬสินธุ์
  • ม.เกษตรศาสตร์
  • ม.ขอนแก่น
  • ม.เชียงใหม่
  • ม.ธรรมศาสตร์
  • ม.นเรศวร
  • ม.นครพนม
  • ม.ทักษิณ
  • ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • ม.มหิดล
  • ม.แม่โจ้
  • ม.ศิลปากร
  • ม.มหาสารคาม
  • ม.บูรพา
  • ม.พะเยา
  • ม.แม่ฟ้าหลวง
  • ม.สงขลานครินทร์
  • ม.วลัยลักษณ์
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • ม.อุบลราชธานี
  • ม.สวนดุสิต
  • ม.นราธิวาสราชนครินทร์
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เช่น มรภ.สวนสุนันทา, มรภ.พระนคร,  มรภ.นครปฐม, มรภ.ยะลา, มรภ.เพชรบุรี, มรภ.วไลยอลงกรณ์ เป็นต้น
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล คือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร,  ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,  ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก,  ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นต้น
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น ม.กรุงเทพ, ม.หอการค้าไทย, ม.รังสิต , ม.ธุรกิจบัณฑิต เป็นต้น

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษา

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.ขอนแก่น 10,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.บูรพา 15,000 - 22,500 บาท / ภาคการศึกษา (แล้วแต่สาขา)
  • ม.แม่ฟ้าหลวง 25,000 - 35,000 บาท / ภาคการศึกษา (แล้วแต่สาขา)
  • ม.มหาสารคาม 2,000 - 8,000 บาท / ภาคการศึกษา + ค่าหน่วยกิตละ  200 - 800 บาท
  • ม.ศิลปากร 7,500 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.สงขลานครินทร์ 16,000 บาท / ภาคการศึกษา

ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิงข้อมูล TCAS64)

รอบมหาวิทยาลัยเกณฑ์คัดเลือกคะแนนต่ำสุดปี 64
รอบ 1 Portfolioม.ธรรมศาสตร์
โครงการความสามารถดีเด่นด้านกีฬา
ผลงานด้านกีฬา + สอบสัมภาษณ์-
ม.แม่ฟ้าหลวง
โครงการเด็กดีมีที่เรียน
GPAX + GPA + Portfolio-
ม.เกษตรศาสตร์
โควตาช้างเผือก
Portfolio + สัมภาษณ์ (บางสาขาใช้ GPAX ด้วย)-
ม.วลัยลักษณ์
รับตรงรอบ Portfolio
GPAX + Portfolio-
    
รอบ 2 โควตาม.ขอนแก่น
โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วิชาเฉพาะ ม.ขอนแก่น (สมรรถนะหลัก+สมรรถนะเฉพาะด้าน)-
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการความสามารถพิเศษ ภาษาสเปน (เข้าสาขาวิชาภาษาสเปน)
GAT 40% + วิชาเฉพาะ (ความสามารถทางภาษาสเปน) 60%-
ม.ศิลปากร
โควตา 28 จังหวัด (สาขาอักษรศาสตร์)
O-NET ไทย, สังคม, อังกฤษ
(TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้)
-
ม.สงขลานครินทร์
โควตาภาคใต้
วิชาสามัญ (ไทย, สังคม, อังกฤษ) บางสาขาใช้ คณิต 1 + O-NET (คณิต, วิทย์)คลิก
    
รอบ 3 Admissionจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยPAT1 หรือ PAT7 25% + วิชาสามัญ (ไทย 25%, สังคม 25%, อังกฤษ 25%)65.1875
(เลือกสอบ PAT1 )
ม.เชียงใหม่วิชาสามัญ (แบ่งเป็นชุดวิทย์-ศิลป์) + PAT (ใช้บางสาขา)251.18 
(สาขาภาษาอังกฤษ)
ม.ศรีนครินทรวิโรฒGAT + วิชาสามัญ  (แต่ละสาขาใช้วิชาไม่เท่ากัน) + PAT (ใช้บางสาขา)21,637.5
(สาขาภาษาอังกฤษ)
ม.นเรศวรGPAX + O-NET + GAT + PAT (บางสาขา)
(TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้)
65.0428
(สาขาภาษาอังกฤษ)

อาชีพหลังจบการศึกษา

น้องๆ ที่จบจากคณะอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ไปแล้ว สามารถนำความรู้ด้านภาษาและการสื่อสารไปใช้ทำงานได้หลากหลายอาชีพมากๆ ค่ะ เพราะหลายองค์กร หลายหน่วยงาน ต้องการผู้มีความสามารถด้านการสื่อสาร โดยอาชีพต่างๆ เช่น นักข่าว ล่าม นักเขียน คอลัมนิสต์ แอดมิน บรรณาธิการ พิธีกร นักประชาสัมพันธ์ แอร์โฮสเตส ผู้ดำเนินรายการวิทยุ-โทรทัศน์  ผู้ประกาศข่าว ครู อาจารย์  สามารถทำได้ทั้งภาครัฐและเอกชนค่ะ

อ่านรายชื่อสาขาวิชากันตาลายเลยมั้ยคะ บอกเลยว่าคณะอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ น่าจะเป็นคณะที่มีสาขาเปิดสอนมากที่สุดแล้ว เพราะตามที่ได้บอกไปข้างต้นว่าครอบคลุมทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ยังมีแนวคิดที่จะเปิดสาขาใหม่ๆ ให้เหมาะกับยุคปัจจุบันอีกด้วยนะคะ ดังนั้น  หากน้องๆ สนใจสาขาไหนก็อย่าลืมเข้าไปดูหลักสูตรแต่ละแห่งดูว่ามีสาขาที่ตนเองอยากเรียนหรือเปล่า และที่สำคัญ อย่าลืมอ่านหนังสือ เน้นที่วิชา GAT วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ด้วยนะคะ ^^

ขอขอบคุณรูปภาพจาก
Designed by pch.vector / Freepik

 

 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น