สวัสดีค่ะน้องๆ อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ทปอ.ได้เลื่อนกำหนดการรับสมัครสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญออกไป จากเดิมที่จะสมัครได้ช่วงเดือนธันวาคมนี้ กลายเป็นจะเริ่มสมัครได้ช่วงวันที่ 21 มกราคม จนถึง 9 กุมภาพันธ์ 2565 กันเลย ระหว่างนี้พี่แนนนี่ก็อยากให้น้องๆ ได้เตรียมความพร้อมก่อนการสมัคร ทั้งในเรื่องของรายวิชาที่จะเข้าสอบ และขั้นตอนการสมัครต่างๆ  โดยเฉพาะเรื่องของ "การเลือกสนามสอบรูปแบบใหม่" ซึ่งใครที่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องนี้อยู่ ตามไปดูกันว่าจะเลือกสนามสอบแบบไหนได้บ้าง

สุ่มผู้สมัครลงสนามสอบ GAT/PAT วิชาสามัญ  คือแบบไหน #dek65 ต้องเตรียมตัวอย่างไร
สุ่มผู้สมัครลงสนามสอบ GAT/PAT วิชาสามัญ  คือแบบไหน #dek65 ต้องเตรียมตัวอย่างไร

How to เลือกสนามสอบ GATPAT-วิชาสามัญ65 พร้อมวิธีเปลี่ยนสนามสอบ

หลังจากที่ทปอ.แถลงข่าวเรื่องการรับสมัครสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ ในช่วงเดือนสิงหาคม 64 ที่ผ่านมา "การเลือกสนามสอบ" กลายเป็นหนึ่งประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ และยังกังวลถึงขั้นตอนและกระบวนการในการเลือกต่างๆ โดยทางทปอ.ก็ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาเป็นระยะๆ อย่างก่อนหน้านี้ก็เป็น รายชื่อสนามสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ และล่าสุดก็เป็นคู่มือสมัครสอบ พี่แนนนี่เลยจะมาสรุปเป็นข้อๆ ให้น้องได้เห็นภาพกันชัดๆ ว่าจะมีการเลือกสนามสอบอย่างไรบ้าง

คีย์เวิร์ดสำคัญ

  • แต่ละสนามสอบ ไม่ได้จัดสอบครบทุกรายวิชา
  • เลือกสนามสอบได้สูงสุด 5 สนามต่อรายวิชา
  • สนามสอบในแต่ละวัน จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
  • ระบบจะสุ่มผู้สมัครลงสนาม = ลำดับการสมัคร/ชำระเงินไม่มีผลต่อการเลือกสนามสอบ
  • แก้ไขสนามสอบได้ 3 ครั้ง ต่อ 1 การสมัคร

เตรียมรายชื่อสนามสอบที่สนใจ

ทปอ.ได้เปิดเผยรายชื่อสนามสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญออกมาทั้งหมด 212 สนามสอบ โดยแต่ละสนามสอบจัดสอบในรายวิชาที่แตกต่างกันออกไป  โดยมี 133 สนามสอบที่จัดสอบครบทุกรายวิชา ทั้ง GAT/PAT  14 รายวิชา และวิชาสามัญ 9 รายวิชา  แต่ก็มีบางสนามจัดสอบแค่ GAT/PAT วันเสาร์ที่ 12 มีนาคมวันเดียว หรือบางสนามสอบจัดสอบ GAT/PAT แค่วันเสาร์ที่ 12 และวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม แต่ไม่จัดสอบในวันจันทร์ที่ 14 และวันอังคารที่ 15 มีนาคม หรือบางสนามสอบจัดสอบแค่วิชาสามัญเท่านั้น ไม่จัดสอบ GAT/PAT เลย 

ดังนั้นการวางแผนการเลือกสนามสอบจึงสำคัญ ลองเช็กดูก่อนว่าแต่ละสนามที่สนใจจัดสอบในรายวิชาไหนบ้าง และอย่าลืมศึกษาวิธีการเดินทางไปสนามสอบ จะต้องไปอย่างไร หรือมีรถประจำทางไหม ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง ที่สำคัญ! สนามนั้นๆ สะดวกต่อตัวเราหรือไม่ จากนั้นก็เตรียมรายชื่อสนามสอบเอาไว้เลย อาจจะ list เผื่อไว้มากกว่า 5 สนามก็ได้

วิธีการเลือกสนามสอบ

ในระบบสมัครสอบ (ขั้นตอนที่ 2) ทางทปอ.จะเปิดให้น้องๆ เลือกสนามสอบได้สูงสุด 5 อันดับต่อรายวิชา โดยน้องจะเลือกสนามสอบ 5 อันดับเผื่อไว้ หรือจะเลือกเพียงแค่ 1 - 2  อันดับตามที่สนใจก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเลือกให้ครบทุกอันดับ

โดยการเลือกสนามสอบในแต่ละวัน ทปอ.จะอนุญาตให้เลือกได้แค่ 1 ภูมิภาคเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าน้องๆ ลงสมัครสอบ GAT และ PAT 1 ซึ่งจัดสอบในวันเดียวกัน น้องจะสามารถเลือกสนามสอบที่สนใจได้สูงสุด 5 สนามต่อวิชา แต่สนามสอบของ GAT - PAT 1 จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เท่านั้น (อันที่จริงถ้าสอบวันเดียวกัน ก็เลือกสนามเดียวกันนั่นแหละดีที่สุดแล้ว) แต่ถ้าเป็นการเลือกสนามที่จัดสอบคนละวัน อย่าง GAT/PAT และวิชาสามัญ  น้องๆ สามารถจะเลือกต่างภูมิภาคกันได้  เช่น GAT/PAT จะสอบที่กรุงเทพฯ แต่วิชาสามัญจะไปสอบที่จ.เชียงใหม่  แบบนี้จะสามารถเลือกได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นให้น้องวางแผนสนามสอบให้ดี ว่าสะดวกไปจริงๆ ทั้ง 5 อันดับ

การสุ่มลงสนามสอบ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาแล้วว่า "ในปีนี้ทางทปอ.จะสุ่มสนามสอบ ไม่ว่าจะสมัครก่อน หรือสมัครหลัง ก็จะไม่ส่งผลต่อการจัดสนามสอบ"  สำหรับการสุ่มสนามสอบในที่นี่ ไม่ใช่ว่าจะสุ่มผู้สมัครไปสอบในสนามไหนก็ได้ แต่จะเป็นการสุ่มผู้สมัครลงสอบในแต่ละสนามตามอันดับที่ได้เลือกไว้

ตัวอย่างเช่น 

นาย ก. เลือกสนามสอบไว้ 5 อันดับ คือ A, B, C, D, E  หลังจากที่ระบบปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว ทางทปอ.จะสุ่มผู้สมัครขึ้นมาทีละคน เมื่อสุ่มเจอนาย ก. ระบบจะไปดูว่าสนามสอบ A ยังมีที่นั่งว่างไหม ถ้ามีที่นั่งว่าง นาย ก. ก็จะได้สอบในสนามสอบ A แต่ถ้าสนามสอบ A ไม่ว่าง ระบบจะไปดูสนามสอบ B ต่อ ว่ามีที่ว่างไหม ถ้ายังไม่มีอีก ก็จะไปดูสนามสอบ C, D, E ตามลำดับ จนกว่าจะเจอที่นั่งว่าง แต่ถ้าสนามสอบที่เลือกไว้ทั้ง 5 อันดับ ไม่มีที่นั่งว่างเลยสักอันดับเดียว ระบบก็จะเลือกสนามสอบที่ยังมีที่นั่งว่าง และใกล้กับสนามสอบ A มากที่สุดให้แทน

การแก้ไขสนามสอบ

หลังจากที่สมัครสอบเรียบร้อยแล้ว น้องๆ จะสามารถแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนสนามสอบ รวมถึงรายวิชาที่สอบได้อีก 2 ครั้ง (รวมเป็น 3 ครั้ง ต่อการสมัคร)  โดยถ้าใครต้องการเปลี่ยนภูมิภาค หรือจังหวัดสนามสอบ จะต้องทำการลบข้อมูลเก่าของแต่ละวันก่อน จึงจะสามารถสมัครเลือกสนามสอบใหม่ได้ แต่ถ้าใครแก้ไขข้อมูลครบ 3 ครั้งแล้ว และยังต้องการแก้ไขเพิ่มเติมอีก  สามารถเลือก Set Zero เพื่อยกเลิกใบสมัครเดิม และจะสามารถเริ่มสมัครใหม่ทั้งหมดได้ 

หมายเหตุ :  ระบบสมัครจะยึดข้อมูลจากใบสมัคร ใบสุดท้ายที่สมบูรณ์ (ทำการชำระเงินและยืนยันการสมัคร ผ่าน OTP เรียบร้อย)

สำหรับใครที่เตรียมจะสมัครสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญประจำปีนี้ นอกจากการเตรียมตัวเรื่องการเลือกสนามสอบแล้ว แนะนำให้น้องๆ ทำการศึกษาขั้นตอนการสมัครทั้งหมด จากคู่มือการสมัครสอบที่ทปอ.ได้เผยแพร่ออกมาแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และป้องกันการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนะคะ

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด