สวัสดีค่ะ ช่วงนี้ถ้าน้องๆ ม.6 ได้เจอเพื่อนๆ หนึ่งใน Topic สำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทำ Portfolio เพื่อเตรียมยื่นเข้าคณะต่างๆ ในรอบ Portfolio นั่นเอง

ซึ่งการทำพอร์ตจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะมันคือสิ่งที่ไว้โชว์ตัวตนและความสามารถของเราให้กรรมการดู ซึ่งเดาไม่ได้เลยว่าจะมีอีกกี่ร้อยคนที่ส่งมาแข่งกับเรา หลายคนจึงเลือกที่จะไปจ้างทำพอร์ต แต่หารู้ไม่ว่า ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยงามแล้ว แต่เน้นที่เนื้อหาและการนำเสนอเป็นหลัก ดังนั้น มาดูกันดีกว่าว่าอะไรที่เป็น Do&Don't สำหรับการทำ Portfolio เพื่อไม่ให้น้องๆ หลงทางค่ะ

3 ข้อ Do&Don't ใครกำลังทำ Portfolio ต้องอ่าน
3 ข้อ Do&Don't ใครกำลังทำ Portfolio ต้องอ่าน

Do & Don't ทำ Portfolio ใช้ยื่น TCAS67

Do สิ่งที่ควรทำ

เพียง 3 ข้อนี้ ถ้าทำได้ ก็ถือว่าได้คะแนนจากกรรมการแล้ว

เลือกผลงานที่ตรงกับความต้องการของคณะ

เพราะรอบ Portfolio สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผลงานเพื่อแสดงว่าเรามีความสามารถหรือทักษะที่ตรงกับคณะ/โครงการต้องการ เช่น ถ้าน้องๆ ยื่นสมัครโครงการความสามารถทางภาษาอังกฤษ แต่เกรดเฉลี่ยภาษาอังกฤษ อยู่ที่ 2.50 และไม่เคยเข้าประกวดใดๆ ที่เกี่ยวกับภาษาเลย แบบนี้ก็คงไม่เข้าตากรรมการแน่นอน

และเมื่อเลือกผลงานตรงตามที่คณะต้องการแล้ว อย่าลืมใส่หลักฐานว่าเรามีความสามารถนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย เกียรติบัตร หรือ หากเคยไปสอบแข่งขันต่างๆ ก็สามารถนำผลการสอบมาเป็นหนึ่งในเอกสารได้ค่ะ และอย่าลืมเขียนเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำและสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยนะคะ

ตัวอย่างการระบุประเภทของผลงาน
ตัวอย่างการระบุประเภทของผลงาน

ทำถูกโจทย์

พื้นฐานเบสิคที่สุดที่ ทปอ. กำหนดไว้คือ มีเนื้อหา 10 หน้า ไม่รวมปก หากมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดอะไรเพิ่มเติม ก็ยึดกฎนี้ไว้ได้เลย โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ ประวัติส่วนตัว ประวัติด้านวิชาการ ผลงาน เป็นต้น  

แต่ส่วนใหญ่แล้ว หลายแห่งจะกำหนดลักษณะเพิ่มเติมของ Portfolio เช่น ต้องใช้แบบฟอร์มที่มหาวิทยาลัยกำหนดเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีหน้าตาของพอร์ตแบบเดียวกัน หรือ จะต้องเขียนเรียงความตามหัวข้อที่กำหนด ขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมตามที่กำหนด หรือ ให้สร้างผลงานขึ้นมาใหม่ เช่น วาดรูป เขียนบทความ คลิปแนะนำตนเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้น้องๆ จะต้องทำตามให้ครบและถูกต้องตามโจทย์ด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นถูกตัดสิทธิ์ได้โดยไม่รู้ตัว เพราะถือว่ามีคำสั่ง แต่ไม่ยอมอ่านนั่นเองค่ะ

เรียงเนื้อหาให้อ่านง่าย

น้องๆ อาจจะคิดว่าเนื้อหาแค่ 10 หน้า คงไม่น่าจะอ่านยากอะไร แต่ลองนึกว่าถ้าเราเป็นกรรมการ ต้องดูพอร์ตมากกว่า 100 เล่มขึ้นไป หากทุกคนเรียงลำดับเนื้อหาสะเปะสะปะตามใจ กรรมการก็คงเหนื่อยน่าดู ดังนั้นแนะนำให้น้องๆ เรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ สัดส่วน เราจะจัดกลุ่มลำดับยังไงก็ได้ แต่ควรเรียงเป็นหมวดๆ ให้กรรมการรู้ว่า อ่านจบส่วนนี้แล้ว ต่อไปจะเป็นส่วนอื่นๆ เป็นต้น

ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ เรียงตามลำดับความสำคัญของผลงานค่ะ อะไรที่เด่นที่สุด ประทับใจ อยากนำเสนอที่สุด ให้นำมาไว้เป็นชิ้นแรกของส่วนผลงานค่ะ แต่ทั้งนี้ บางคนอาจจะแยกตามรายวิชา หรือ ระดับชั้น ก็ได้เช่นกัน

 

Don't สิ่งที่ไม่ควรทำ

มาดูกันต่อกับ 3 ข้อที่ไม่ควรทำ เพราะทำแล้วอาจโป๊ะ! 

ทำเล่มเดียวยื่นทุกที่

อย่างที่บอกไปแล้วว่ารอบ Portfolio คือการคัดเลือกคนด้วยผลงาน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่คนละคณะจะต้องการคนแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ น้องจะเข้าแพทย์ กับ วิศวะฯ เนื้อหาที่ใส่เข้ามาในพอร์ตของ 2 คณะนี้ก็จะต้องแตกต่างกัน เช่น ยื่นแพทย์ ก็ต้องเป็นเนื้อหาที่บ่งบอกว่าเรามีความสนใจเกี่ยวกับการแพทย์ เคยไปเข้าค่ายหรืออบรมเกี่ยวกับการเป็นแพทย์ แข่งขันทางวิชาการ เป็นต้น แต่สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงเทคโนโลยีหรือความสนใจในวิศวกรรมสาขานั้นๆ

ดังนั้นไม่แนะนำให้ทำ 1 เล่มแล้ววนไปทุกมหาวิทยาลัย แต่ควรทำให้เหมาะและถูกต้องสิ่งที่คณะหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องการ

Copy งาน/ใส่ข้อมูลเท็จ

เข้าใจได้ว่า รอบพอร์ตฟอลิโออาจเป็นความหวังของใครหลายๆ คน แต่ก็ควรทำให้ถูกกติกา ไม่ใช่ว่าตัวเองไม่มีผลงาน แต่อยากเข้า ก็ไปขโมยไฟล์เกียรติบัตรของคนอื่นมาเปลี่ยนเป็นชื่อตัวเอง หรือ สวมรอยขอดูพอร์ตเพื่อน แล้วแอบถ่ายรูป เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นผู้เข้าแข่งขัน แบบนี้ก็ไม่ควรอย่างยิ่งค่ะ มองดูกี่ด้านก็ไม่มีข้อดีเลย อย่างแรกเลย น้องอาจจะโป๊ะแตกได้ถ้ากรรมการถามรายละเอียดของกิจกรรม แต่เราดันไม่มีข้อมูล และอย่างที่สอง การปลอมแปลงเอกสารเพียงเล็กน้อย อาจเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตได้เลยนะ

สีสันจัดจ้านจนอ่านไม่ได้

แน่นอนว่า Portfolio ที่โดดเด่น ทำให้เป็นจุดสนใจได้ แต่ความโดดเด่นทำได้หลายวิธีค่ะ และความโดดเด่นที่สำคัญที่สุดของกรรมการ คือ "ผลงาน" ไม่ใช่ตัวรูปเล่มเพียงอย่างเดียว

บางคนมาแนวคัลเลอร์ฟูล ทำตัวหนังสือเป็นสีทุกหน้า มีแบล็คกาวน์สี รูปการ์ตูน แถมปัญหาหนักยิ่งขึ้น ถ้าใช้ตัวหนังสือขนาดเล็ก เรียกว่าคนอ่านได้น่าจะมีแค่คนทำคนเดียว ซึ่งนอกจากจะทำให้กรรมการเหนื่อยแล้ว หากอ่านยากมากๆ กรรมการอาจจะเก็บสาระสำคัญไปไม่ได้ก็ได้นะ

เป็น 3 ข้อ Do & Don't ง่ายๆ ที่น้องๆ สามารถนำไปปรับและตรวจสอบ Portfolio ของตัวเอง  สุดท้ายนี้อยากฝากน้องๆ ว่า Portfolio ไม่ใช้แค่ที่เก็บสะสมผลงาน แต่มันเป็นสื่อที่ต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านด้วยนะคะ :)

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด