การเลือกคณะให้เหมาะสมกับตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในแต่ละปีจึงมีน้องๆ หลายคนที่ซุ่มเก็บตัวและพยายามกลับมาสอบใหม่เพื่อให้ได้เรียนในคณะที่ต้องการ เมื่อน้องๆ กลุ่มเด็กซิ่วกลุ่มนี้ต้องแอดมิชชั่น ก็มีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ เพราะรายละเอียดอาจแตกต่างจากน้องๆ ม.6

วันนี้พี่มิ้นท์เลยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจสำหรับน้องๆ เด็กซิ่ว เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะสมัครในรอบ รอบ 3 Admission ไปดูกันเลย

เมื่อเด็กซิ่วต้องแอดมิชชั่น ต้องลาออกตอนไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง
เมื่อเด็กซิ่วต้องแอดมิชชั่น ต้องลาออกตอนไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง

รวมทุกเรื่องของ "เด็กซิ่ว" ก่อนลุย TCAS67 รอบแอดมิชชั่น

เด็กซิ่วสมัครรอบ 3 ได้ แต่ต้องเช็กคุณสมบัติเหมือนเดิม

จริงๆ แล้วเด็กซิ่ว สมัครได้ทุกรอบ แต่จำเป็นต้องดูคุณสมบัติเพิ่มเติม เพราะอาจมีบางสาขารับเฉพาะ ม.6  สำหรับรอบ Admission เป็นรอบที่เปิดกว้างที่สุด ทุกมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เด็กซิ่วสมัครได้ มีเพียงบางสาขาเท่านั้น (น้อยมากๆ) ที่ไม่รับเด็กซิ่ว

คีย์เวิร์ดง่ายๆ ที่ทำให้รู้ว่าเด็กซิ่วสมัครได้ คือ "ผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.6" มีคำนี้เมื่อไหร่ เตรียมตัวเลือกมาใส่ใน 10 อันดับได้เลย

เอกสารเด็กซิ่วรอบ 3 ใช้ไม่แตกต่างจาก ม.6  

เมื่อสอบติดแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ไปในวันสอบสัมภาษณ์ด้วย ได้แก่ ใบสมัครแอดมิชชั่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน  

ส่วนหลักฐานด้านการศึกษา จะใช้ ใบ ปพ.1 ที่เป็นใบรายงานผลการเรียน และ ใบ ปพ.2 คือประกาศนียบัตรจบการศึกษา เพื่อยืนยันว่าจบหลักสูตรมัธยมปลายแล้วจริงๆ

ใช้เกรด 6 เทอม

เรื่อง GPAX หรือ เกรดนั้น ไม่ว่าเด็กซิ่วจะสมัครรอบไหน ก็ต้องใช้เกรด 6 เทอมซึ่งเป็นเกรดจบการศึกษา  ดังนั้นในรอบแอดมิชชั่นก็เหมือนเดิม ใช้เกรด 6 เทอมเท่านั้น

สอบให้ติดและค่อยลาออกได้

ในประเด็นนี้ น้องๆ เด็กซิ่วที่อยู่ปี 2 ขึ้นไปที่จะสมัคร กสพท หรือ ปี 1 ที่อยู่ใน 4 คณะ กสพท แล้วต้องการสมัครหลักสูตรเดิม คงได้ดำเนินการลาออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนน้องจากคณะอื่นๆ สามารถสมัครสอบรอบแอดมิชชั่นได้ตามปกติ แล้วค่อยลาออกหลังจากรู้ผลว่าสอบติดก็ได้ค่ะ โดยช่วงเวลาที่ต้องลาออกคือ ก่อนขึ้นทะเบียนนักศึกษาที่ใหม่ แต่จริงๆ แนะนำให้ลาออกทันทีหลังยืนยันสิทธิ์รอบ 3 ใน myTCAS เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดำเนินการลาออกด้วย ตรงนี้น้องๆ จำเป็นต้องเช็กกับมหาวิทยาลัยด้วยว่ามีระยะเวลาดำเนินการนานเท่าไหร่ และต้องคำนวณเวลาดีๆ ด้วยนะ  

ยังไม่ลาออก สอบไม่ติด เรียนที่เดิมได้

ต่อจากข้อด้านบน ทำไมถึงต้องลาออกหลังสอบติด? เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีที่เรียนใหม่แล้วจริงๆ ถึงค่อยลาออกจากที่เก่า ซึ่งถ้าเกิดโชคร้ายไม่ผ่านการคัดเลือกในปีนี้อีก ก็ยังกลับไปเรียนที่เดิมได้

ตรงกันข้าม ถ้าไปลาออกตั้งแต่ตอนนี้ แล้วสอบไม่ติด จะกลับไปเรียนที่เดิมไม่ได้ เพราะลาออกมาแล้ว สิ่งที่ทำได้คือ ต้องไปรอบ 4 เท่านั้น

ม.เอกชน สมัครแล้วค่อยลาออกได้เหมือนกัน

สำหรับน้องๆ ที่มาจาก ม.เอกชน ก็สมัครในรอบแอดมิชชั่น สอบติดและค่อยไปดำเนินการลาออกได้เหมือนกันค่ะ

แต่ถ้ายังไม่เคยลงทะเบียนใช้งาน myTCAS จะต้องลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อน จึงจะมีสิทธิ์สมัครคัดเลือกในรอบแอดมิชชั่นนะคะ

ใส่ชุดนักศึกษาไปทำขั้นตอนต่างๆ ได้ ไม่มีปัญหา

น้องๆ บางส่วนกังวลว่า วันไปสัมภาษณ์ รายงานตัว หรือทำธุรกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ใส่ชุดนักศึกษาไปได้มั้ย ขอตอบชัดๆ เลยว่า "ได้" ค่ะ และควรที่จะใส่ชุดนักศึกษาด้วย เพราะข้อมูลของเรานั้นได้ระบุไว้แล้วว่าเป็นเด็กซิ่ว เราสามารถภูมิใจกับสถานะและสถาบันของเรานะ แต่ถ้ายังรู้สึกไม่มั่นใจหรืออยากเนียนๆ ไปกับคนอื่น จะใส่ชุดนักเรียนก็ได้ แต่ก็อาจจะมีคำถามจากอาจารย์ได้เช่นกัน

เด็กซิ่วสอบเข้าคณะเดิม มหาวิทยาลัยเดิมได้

น้องๆ บางคนอยากเรียนคณะ/มหาวิทยาลัยเดิม แต่อยากเปลี่ยนสาขา ซึ่งตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ไม่สามารถย้ายสาขาได้ ต้องสอบเข้าใหม่เหมือนคนอื่น แบบนี้น้องๆ ก็จะต้องดำเนินการเลือกคณะในรอบแอดมิชชั่นใหม่อีกครั้ง โดยสาขายื่นเข้าคณะเดิมได้ ไม่มีปัญหาค่ะ  

แต่เพื่อความมั่นใจ แนะนำให้สอบถามที่คณะก่อนว่า หากจะย้ายสาขามีวิธีหรือสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้มั้ย ถ้าได้ จะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องสอบเข้าใหม่หรือเรียนใหม่

เด็กซิ่วสอบข้ามปีได้

น้องๆ ที่ต้องการซิ่ว แต่ยังไม่พร้อมสำหรับซิ่วปีถัดไป สามารถซิ่วข้ามปีได้ เช่น เป็น dek65 จะซิ่วปี TCAS67 ทำได้ แต่จะสอบปีไหน จะต้องสมัครสอบวิชาต่างๆ ให้ครบ เพราะปัจจุบัน คะแนนมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้น้องๆ เด็กซิ่วที่ตั้งใจสอบใหม่ทุกคน สามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี และสมหวังในคณะที่เหมาะกับตนเอง มีความสุขกับการเรียนนะคะ

อ่านเรื่องก่อนหน้า



อ่านเรื่องถัดไป

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด