Teen Coach EP.2 : ทริคเรียนออนไลน์ให้ปัง ตามฉบับมหาวิทยาลัยดังระดับโลก!

Spoil

  • การเรียนออนไลน์ ทริคสำคัญคือ "การจด" เพราะจะทำให้เราโฟกัสกับการเรียนได้โดยไม่ถูกสิ่งรอบข้างดึงดูดความสนใจ
  • มีงานวิจัยบอกว่า ห้องที่มีแสงธรรมชาติ และห้องโทนสีเหลือง ทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น!
  • อยู่คนเดียวนานๆ ก็เครียดได้ หันไปตอบ Chat เพื่อนบ้างจะช่วยกระตุ้นสมองได้นะ

“เฮ้อออ เหนื่อยก็เหนื่อย เรียนที่โรงเรียนก็แทบไม่รู้เรื่อง แล้วยังต้องมานั่งเรียนออนไลน์อีก!”  พี่นักเก็ตเชื่อว่าน้องๆ วัยเรียนหลายคนต้องกำลังคิดแบบนี้ เพราะเพิ่งได้กลับมาเข้าเรียนปกติได้ไม่กี่เดือน สถานการณ์ Covid-19 ก็แย่ลง ทำให้ต้องกลับไปเรียนออนไลน์กันอีกแล้ว! ประหนึ่งเป็น แคทนิส เอเวอร์ดีน เขต 12 ที่เพิ่งรอดตายจาก The Hunger Games มา แต่โดนเรียกกลับไปแข่ง Quarter Quell ยังไงยังงั้นเลย

         ถ้าจะให้ List ว่า อะไรบ้างที่เป็นฝันร้ายในการเรียนออนไลน์ของวัยรุ่นไทย คงต้องยกนิ้วทั้ง 10 มาช่วยนับ เพราะมีตั้งแต่ปัญหาเรื่องอุปกรณ์, สัญญาณอินเทอร์เน็ต, สมาธิ รวมไปถึงบรรยากาศที่ไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะเหมาะสำหรับการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เราไม่ Productive หรือรู้สึกไม่มีประสิทธิภาพในการเรียน พี่นักเก็ตเลยขออาสา นำทริคเล็กๆ ในการเรียนออนไลน์ให้ Productive (และ Happy!) มาฝากน้องๆ ทุกคนค่ะ กระซิบว่าวิธีเหล่านี้มีทั้งใช้หลักทางจิตวิทยา ผสมกับคำแนะนำที่มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง University of Washington ใช้แนะนำนักศึกษาของเขาด้วย!

ประหยัดพื้นที่สมอง ด้วยการเขียน Planner

          รู้สึกไหม เรียนออนไลน์เหมือนจะสบาย แต่ดันยุ่งกว่าปกติ ด้วยการเรียนที่บางครั้งก็ไม่เป็นเวลา แถมการบ้านก็เยอะมากกก ไหนจะต้องช่วยแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงน้อง แมวก็มากวนอีก พี่นักเก็ตบอกเลยว่าใครไม่แข็งแกร่งจริง รอดยาก! แต่เราก็จะรอดได้ถ้ารู้จัก การจัดตารางชีวิต (Organization) ที่จะช่วยให้เรามีระเบียบแบบแผน เริ่มง่ายๆ ด้วยการเขียน Planner, แปะ Post-It หรือจดโน้ตในโทรศัพท์ ว่าแต่ละวันต้องทำอะไร เรียนวิชาไหน มีการบ้านอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ล่องลอย สามารถลำดับความสำคัญก่อน-หลังได้ และยังเป็นแรงจูงใจในการเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่แพลนไว้ด้วยนะ

          ที่สำคัญ นอกจากจัดตารางชีวิตแล้ว การเขียน Planner ยังกระตุ้นการทำงานสมอง ช่วยให้เราจำได้ว่าต้องทำอะไรบ้างโดยที่ไม่ต้องนึกบ่อยๆ ให้เปลืองพื้นที่สมองในการจดจำ กระซิบว่าสมุด Planner เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงและน่ารักมาก หรือจะใช้แอปพลิเคชันฟรีในมือถือก็ได้นะ พี่นักเก็ตลองแล้วหลายๆ แอปฯ มีฟังก์ชันตกแต่งฟรุ้งฟริ้งไปหมด ใช้แล้วจะหลงรักไม่รู้ตัว

โทรศัพท์มือถือตัวร้าย โยนไปไกลๆ

          การเรียนออนไลน์ ทริคสำคัญคือ การจด เพราะจะทำให้เราโฟกัสกับการเรียนได้โดยไม่ถูกสิ่งรอบข้างดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ที่ถ้าปล่อยให้อยู่ใกล้มือทีไรเป็นอดใจไม่ไหว ต้องเอามาปัดมาไถ ยิ่งในห้องเรียนออนไลน์ที่จะไม่มีใครมาคอยดุเราเหมือนในห้องเรียนแล้ว ดังนั้นพี่นักเก็ตขอให้ฮึบไว้ค่ะ แล้วปิดแจ้งเตือนหรือวางโทรศัพท์ไว้ไกลๆ เพื่อให้เราตั้งใจจดโน้ตได้มากขึ้น

          นอกจากเล่นโทรศัพท์ กิจกรรมอะไรที่ดึงความสนใจเราได้ วางไว้ให้ห่างๆ เพราะการทำหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) จะรบกวนสมาธิจนเราโฟกัสการเรียนได้น้อยลง ดังนั้นอย่าลืมจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังให้เหมาะสม แล้วค่อยทำให้สำเร็จเป็นอย่างๆ ไปดีกว่าค่ะ

แสงธรรมชาติ-ห้องโทนเหลือง is Key!

          อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการเรียนก็คือ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงเรียนออนไลน์แบบนี้ ห้องๆ เดียวต้องเป็นทั้งที่พักผ่อนและที่เรียน จนทำให้เราแยกไม่ออกว่าจะเรียนหรือพักผ่อนดี (หลายคนลงท้ายด้วยการนอนเรียนมันซะเลย) ข้อเสียคือ ในบางครั้งเมื่อเราเครียดจากการเรียน เราจะยังอยู่ในบรรยากาศหรือห้องเดิมๆ ไม่รู้สึกผ่อนคลาย หรืออาจจะสบายเกินไป จนเผลอไม่ตั้งใจเรียนได้ การแบ่งโซนห้อง จึงเป็นวิธีที่พี่นักเก็ตแนะนำค่ะ

          แบ่งโซนห้องทำได้ง่ายๆ ด้วยการจัดแยกให้ชัดว่าบริเวณไหนใช้เรียน บริเวณไหนใช้พักผ่อน ทริกเล็กๆ ที่พี่นักเก็ตแนะนำสำหรับโซนเรียนรู้ก็คือ นอกจากเลือกโซนที่เงียบ อุณหภูมิกำลังพอดี เรื่อง แสงไฟ ก็สำคัญ เพราะมีงานวิจัยพบว่า การเรียนในห้องที่มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในวิชาที่ต้องคิดคำนวณ!

          นอกจากแสงธรรมชาติ โทนสีในห้องก็ช่วยได้ เพราะในทางจิตวิทยา สีมีผลต่ออารมณ์ของเราเป็นอย่างมาก สีที่แตกต่างกันก็จะส่งผลต่ออารมณ์แตกต่างกัน และมีงานวิจัยพบด้วยว่า สีเหลืองจะช่วยให้เราเกิดความรู้สึกในทางบวก และเสริมสมาธิในการเรียนได้ ส่วนใครที่ห้องโทนแดงแรงฤทธิ์ก็ต้องระวังหน่อยนะ เพราะสีแดงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ก็จริง แต่อาจไปเพิ่มความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เครียดได้ ห้องโทนแดงจึงไม่ค่อยเหมาะกับการเรียนหนังสือเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการนำเสนอจากงานวิจัยเท่านั้นนะคะ น้องๆ สามารถนำไปเลือกปรับใช้ตามความเหมาะสมกับอารมณ์ของเราได้เลย

พักผ่อนบ้าง ไม่เป็นไร

นั่งหน้าจอนานๆ จะรู้สึกตาล้าไปบ้างก็เรื่องปกติ ยิ่งเรียนออนไลน์ยิ่งเอาแต่นั่งอุดอู้อยู่หน้าจอคอมยิ่งล้าเข้าไปใหญ่ ดังนั้นต้องแพลนตารางลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายออกสเต็ป exercise บ้าง เช่น ตั้งนาฬิกาไว้เลยว่า ทุก 45 นาทีเราจะลุกมายืดเส้น บิดขี้เกียจ เดินไปเติมน้ำ แล้วแวะชมวิวนอกหน้าต่างสักหนึ่งครั้ง แล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ เพื่อให้ได้พักทั้งสมองและพักจากท่านั่งที่อาจจะทำให้เราปวดหลังได้ด้วยค่ะ

ที่สำคัญอีกอย่างคือ ดูแลตัวเองให้กินอิ่ม นอนหลับ เพราะสิ่งนี้ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจเราได้โดยตรง สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหา ตื่นมาเรียนแล้วรู้สึกหงุดหงิด ไม่สดใส ลองปรับการนอนให้มีคุณภาพมากขึ้น เอาง่ายๆ เลยก็คือนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงนั่นแหละ พี่นักเก็ตรับรองว่าวิธีง่ายๆ แบบนี้จะช่วยให้น้องๆ มีสมาธิ สมองปลอดโปร่ง และโฟกัสการเรียนออนไลน์ได้สบายๆ

อย่าดอง Chat เพื่อน!

          ทริคสุดท้ายที่ดูเหมือนไม่ค่อยเกี่ยวกับการเรียนเท่าไหร่ แต่ในช่วงเวลาเรียนออนไลน์ที่เราต้องตื่นคนเดียว นั่งเรียนคนเดียว กินข้าวคนเดียว ทำการบ้านคนเดียว อาจสร้างความเครียดจนไปรบกวนสมาธิได้ ดังนั้นอย่าลืมว่าเรายังมีเพื่อนๆ คอยอยู่ใน Chat เสมอนะ เข้าไปทักทาย ตอบ Chat คุยสัพเพเหระกันบ้าง โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้สึกว่าการเรียนเริ่มไม่มีประสิทธิภาพ  การหันไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นก็สามารถช่วยให้เกิดสมาธิได้ เพราะช่วยให้สมองเราผ่อนคลาย หรือจะหันไปคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ หรือพี่น้องในบ้านก็ได้ค่ะ

          เป็นยังไงบ้างกับทริคมากมายที่พี่นักเก็ตขนมาโค้ช #เด็กเรียนออนไลน์ ให้เรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บอกเลยนะว่าวิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่มหาวิทยาลัยอันดับที่ 14 ของโลกอย่าง University of Washington ก็แนะนำนักศึกษาของเขาเช่นกัน! เอาเป็นว่าใครกำลังประสบปัญหากับการเรียนออนไลน์ลองนำทริคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมเลยนะคะ หรือใครมีวิธีอื่นๆ ที่ได้ผลไม่ต่างกัน ก็นำมาแชร์มาเล่าสู่กันฟังได้เลยค่ะ

 

ที่มาhttps://www.washington.edu/https://www.ucas.com/https://creatingpositivefutures.com/https://www.edutopia.org/
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น