Teen Coach EP.56 : News Addiction การเสพติดข่าวสาร ผลของการบริโภคข่าวยุค 5G

Spoil

  • การเสพติดข่าวสาร (News Addiction)  ทำให้ร่างกายปล่อยสารแห่งความเครียด
  • อ่านข่าวผ่านโซเชียล ดูแค่พาดหัวสั้นๆ ทำให้เข้าใจผิดได้ และกลายเป็นคนสมาธิสั้น
  • ถ้ารู้สึกว่าหนักจนทนไม่ไหว ให้ถอยออกมาทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือเลิกเล่นโซเชียลสักพัก

จากเหตุการณ์อันน่าหดหู่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งข่าวสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือข่าวการเสียชีวิตของนักแสดงหญิงชื่อดัง อาจทำให้เราหลายๆ คนรู้สึกว่ามันหนักเกินไป เครียด หดหู่ ติดตามข่าวสารจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เก็บไปคิดจนกลายเป็นความวิตกกังวล หรือความกลัว

พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของพวกเราในยุคปัจจุบัน มักจะเสพข่าวผ่านสื่ออนไลน์มากกว่าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ด้วยแพลตฟอร์มและเวลาในการอ่านข่าวที่จำกัด ข่าวสารบนโซเชียลมีเดียมักจะเป็นอะไรที่สั้นๆ ตัวอักษรไม่เยอะ หรือเป็นรูปภาพ เพื่อดึงความสนใจของผู้อ่านได้ง่ายขึ้น และทำให้พฤติกรรมในการเสพเป็นการอ่านแบบไถโซเชียล ดูแค่พาดหัว เราเรียกว่า Doomscrolling อีกทั้งพาดหัวข่าวส่วนใหญ่มักจะถูกทำให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค เห็นแล้วต้องกดเข้ามาอ่าน นอกจากนี้การพาดหัวข่าว ยังสามารถนำไปสู่การเข้าใจผิดๆ (News Misleading) ต่อการรับรู้ข่าวสารอีกด้วย  

การเสพติดข่าวสาร (News Addiction) 

นอกจากการเสพข่าวในโลกออนไลน์นี้ ทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปจากการทำงานของสมองที่เปลี่ยนไป จนเกิดเป็นการเสพติดข่าวสาร (News Addiction) ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการติดยา อีกทั้งยังมีการกระตุ้นให้สมองส่วน Limbic System มีการทำงาน และปล่อยสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Cortisol ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด 

อีกทั้งนักวิจัยพบว่าการเสพข่าวสารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของสมอง เวลาเราเล่นโซเชียล อ่านข่าวไปด้วย เรามักจะโฟกัสกับความรวดเร็ว และทำหลายๆอย่างไปพร้อมกัน จากการไถอ่านข่าวทางโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน อีกมือก็ทำอย่างอื่นไปพร้อมๆกัน นักวิจัยพบว่าการอ่านแบบผ่านๆ (Skimming) กับการทำหลายๆอย่างไปพร้อมกัน (Multitasking) ทำให้เราเพิกเฉยกับการอ่านจับประเด็นหรือใจความสำคัญจากทั้งบทความไปโดยปริยาย ด้วยความสนใจที่จำกัด (Attention Span) รวมไปถึงความจำระยะสั้นของเรา (Working Memory) มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงเลือกรับแต่ส่วนที่เราคิดว่าสำคัญ หรืออะไรที่น่าสนใจ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถูกต้องจากข่าวนั่นเอง

 ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารในรูปแบบนี้ ยังทำให้เรามีสมาธิที่สั้นลง ไม่สามารถอ่านอะไรยาวๆ ได้ เห็นได้ชัดจากการอ่านหนังสือ หรือบทความที่มีตัวหนังสือเยอะๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท ไม่ใช่เพราะอายุที่เพิ่มขึ้น หรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน นักวิจัยแนะนำว่าควรอ่านทั้งบทความ เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมด ไม่เกิดการรับนรู้ที่ผิดๆ และรู้ถึงข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารยังก่อให้เกิดความลำเอียงในการรับสารอีกด้วย โดยปกติของมนุษย์เรา เรามักจะเลือกเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และหาข้อมูลมายืนยันในสิ่งที่เราเชื่อเหล่านั้น โดยที่ไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ สิ่งนี้เรียกว่า (Confirmation Bias) ส่งผลต่อการรับสารที่ผิดพลาด เช่น ข่าวอุบัติเหตุการเสียชีวิตของนักแสดงสาว นำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เราก็จะตามเชื่อหรืออ่านแต่ข่าวที่สนับสนุนความเชื่อนั้น ยิ่งทำให้เรามีความเชื่อมากขึ้นไปอีกว่าการพบศพไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

การเสพข่าวที่มากเกินไปส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมโดยรวมของเรา และยังรวมไปถึงสภาพจิตใจของเราอีกด้วย หลายๆ คนมีอาการหดหู่ เครียด นอนไม่หลับ หรือวิตกกังวล จากการติดตามข่าวสารเป็นระยะเวลานานมากเกินไป ทำให้เราเกิดความเหนื่อยล้า หรืออยู่ในภาวะ Mentally Exhausted ได้ และเคยมีงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการเสพข่าวที่นานเกินไปของชาวอเมริกา เมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อการร้าย หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ พบว่าผู้ที่เสพข่าวเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน เกิดอาการนอนไม่หลับ เกิดภาวะเครียดในรูปแบบ Acute Stress และบางคนเกิดภาวะเครียดหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรารู้จักกันว่า Post Traumatic Stress Disorders (PTSD)  

วิธีแก้ความเครียดจากการเสพข่าว

วิธีการแก้อาจไม่ได้ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และวิจารญาณในการเสพข่าว หากเรารู้สึกว่ามันหนักเกินไป ไม่ไหว เราก็ควรจะถอยออกมา ปรับสภาพจิตใจให้สมดุลก่อน หาอะไรอย่างอื่นทำ หรือข่าวอื่นๆ ที่ส่งผลบวกต่อสภาพจิตใจเราอ่านแทน เป็นต้น อีกวิธีที่อาจจะได้ผล แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล คือการเลิกเล่นโซเชียลมีเดียสักพัก (Social Detox) เนื่องจากช่วงนี้ข่าวกำลังเป็นกระแส ทุกแพลตฟอร์มจึงเต็มไปด้วยข่าวนี้ อาจยิ่งทำให้เรารู้สึกหนักเกินไป หรือเลือกเสพจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อลดการเสียเวลาในการตาม ทำให้เราได้รับข้อเท็จจริงมากกว่าจะอ่านอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์และทำให้เราหดหู่ รวมถึงมีวิจารณญาณในการเสพข่าว เชื่อในหลักฐานหรือข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น  

 

น้องๆ คนไหนที่รู้สึกเหนื่อยกับการอ่านข่าวในช่วงนี้ ก็อย่าลืมพักผ่อนและหากิจกรรมอื่นๆ ทำ หลีกเลี่ยงการรับเรื่องหนักๆ หาอะไรผ่อนคลาย อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองด้วยนะคะ

 

รายการอ้างอิงhttps://abcnews.go.com/Technology/science-doomscrolling/story?id=74402415https://www.theguardian.com/media/2013/apr/12/news-is-bad-rolf-dobellihttps://www.mcleanhospital.org/essential/how-much-news-too-much-news-good-mental-health
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น