Teen Coach EP.64 : Gender Stereotype ทำไมผู้หญิงเล่นหุ่นยนต์ไม่ได้ ผู้ชายห้ามชอบสีชมพู

Spoil

  • บทบาททางเพศ​ (Gender Roles) หมายถึงการที่ผู้ชายต้องเข็มแข็ง  ผู้หญิงต้องเรียบร้อย
  • กรอบจากสังคมที่กำหนดขึ้นมา ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถแสดงความชอบส่วนตัวได้
  • คนควรยอมรับและเข้าใจว่าทุกคนมีความชอบ มีรสนิยมที่แตกต่างกัน

ผู้ชายห้ามชอบสีชมพู ผู้หญิงห้ามเล่นหุ่นยนต์ 

เราเป็นผู้หญิง เราเชียร์ทีมฟุตบอล เราก็โดนมองว่าเชียร์ตามกระแส

เราเป็นผู้ชาย เราชอบเล่นตุ๊กตา ก็มักจะโดนล้อว่าไม่แมน

พี่เชื่อว่าน้องๆหลายคนอาจเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถแสดงสิ่งที่ต้องการออกไปได้

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงกรอบที่สังคมกำหนดขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน หรือ Norm นั่นเอง กรอบทางสังคมมีไว้เพื่อแสดงเป็นเพศหญิงและเพศชายอย่างเป็นไปตามความต้องการของคนในสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็สามารถชอบสีชมพูได้ ใครๆ ก็สามารถเตะฟุตบอล แต่งหน้า เล่นตุ๊กตาได้ เพราะเป็นเพียงความชอบส่วนบุคคล รวมไปถึงการที่เด็กผู้ชายจะวิ่งเล่นซนได้ แต่ในทางกลับกัน เด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อย ห้ามเอะอะโวยวาย ไม่สมเป็นเด็กผู้หญิง  

สังคมของเรามักจะมีค่านิยมที่ยึดติดตามเพศสภาพที่สอดคล้องกับบทบาททางสังคม ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า บทบาททางเพศ​ (Gender Roles) หมายถึงการที่ผู้ชายต้องเข็มแข็ง เล่นฟุตบอล ผู้หญิงต้องเรียบร้อย ทำกับข้าว ทำงานบ้าน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรอบทางสังคมที่หล่อหลอมให้ทุกคนต่างมองว่า ผู้หญิงต้องทำแบบนี้ ผู้ชายต้องทำแบบนั้น 

รวมไปถึงระบอบปิตาธิปไตย ที่ส่งผลให้เราต้องทำตามบทบาทที่สังคมวางไว้ นอกจากนี้ยังมีอคติจากการเหมารวมทางเพศ (Gender Stereotype) ซึ่งเป็นการเหมารวมลักษณะบางอย่าง เช่น ทัศนคติ บุคลิคภาพ หรือบทบาทที่แสดงออก ซึ่งอคติจากการเหมารวมทางเพศ ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการตัดสินใจ หรือการใช้ชีวิต เช่น การเลือกคณะที่จะเรียน อาชีพในอนาคต รวมไปถึงการแต่งตัว ผู้ชายห้ามใส่กระโปรง ห้ามแต่งหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกรอบจากสังคมที่กำหนดขึ้นมา ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถแสดงความชอบส่วนตัวแบบสาธารณะได้

การที่จะอยู่ร่วมกับสังคมที่มีการเหมารวมทางเพศเป็นเรื่องยาก หากคนในสังคมยังไม่ได้ตระหนักและมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา เราก็อาจจะถูกมองว่าแปลกแยกหรือแตกต่างจากคนอื่น วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้คือการที่ต้องทำให้คนยอมรับและเข้าใจว่า มันเป็นภาพจำที่ผิดๆ ทุกคนมีความชอบ มีรสนิยม แตกต่างกัน และการมีอคติเหมารวมทางเพศ ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร สื่อ หรือโฆษณาต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอคติการเหมารวมทางเพศ ไม่ว่าเป็นละคร ภาพยนตร์ หรือบนโซเชียลมีเดีย ก็อาจก่อให้เกิดการเหมารวมได้ วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการชี้ให้เห็นถึงปัญหา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนในสังคม นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การแสดงออก เป็นตัวอย่าง ออกมารณรงค์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เข้าใจผิดอยู่เสมอ หากเราปล่อยไว้และเคยชินกับมัน ก็เหมือนกับเป็นการทำให้อคติเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป

(ภาพจาก freepik.com)
(ภาพจาก freepik.com)

ทั้งสี รสนิยม การแต่งตัว กิจกรรม ความชอบ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราวที่เป็นปัจเจก แตกต่างกันไปในแต่ละคน เราควรเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม เคารพและไม่ตัดสินรสนิยม หรือความชอบของผู้อื่น ให้อิสระ ให้ทุกคนได้เติบโตอย่างกล้าแสดงออกและ ไม่ปล่อยให้ค่านิยมเก่าๆ อยู่ในสังคม 

น้องๆ ชาว Dek-D คนไหนเคยเจอเรื่องราวการถูกตัดสินอย่างนี้บ้าง มาแชร์กันได้นะคะ 

 

ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.plannedparenthood.org/learn/gender-identity
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด