Teen Coach EP.74 : เปิด 5 เหตุผล! ทำไมพ่อแม่ไทยให้ความสำคัญเรื่อง "การเรียน" มากกว่าเรื่องอื่น

ทำไม? พ่อแม่ไทยจริงจังเรื่องเรียนเกินไป จนเด็กเครียด!

น้องๆ ชาว Dek-D.com เคยเครียดเรื่องเรียนกันบ้างไหมคะ? จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ทั้งเด็กและวัยรุ่นที่มาปรึกษา “พี่หมอแมวน้ำ” ด้วยเรื่องวิตกกังวล ซึมเศร้า รู้ไหมว่า “หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สบายนั้น มาจากความคาดหวังเรื่องการเรียนของพ่อแม่” ที่ไปกดดันเด็กทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น

“ฟ้าอายุ 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 พ่อแม่พามาปรึกษาด้วยเรื่องกรีดแขนตัวเอง ฟ้าติววิชาการและสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด ตอนชั้นมัธยมต้นฟ้าสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังได้ ผลการสอบเทอมแรกลดลงจาก 4.00 เหลือ 3.5 พ่อแม่คิดว่าเป็นเพราะฟ้าเริ่มสนใจเรื่องเพื่อนมากกว่าการเรียนเลยต่อว่าและคาดโทษไว้ เทอมสองฟ้าพยายามแล้วแต่ได้แค่ 3.4 พ่อแม่แสดงท่าทีผิดหวัง เมินเฉยไม่คุยกับฟ้าเหมือนเคย”  

 

พ่อแม่ให้ฟ้าเริ่มติวตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลจนติวเข้าโรงเรียนมัธยม พ่อแม่มีความคาดหวังและวางแผนการเรียนให้ฟ้าทำตาม ซึ่งฟ้าทำได้มาตลอด ไม่ได้ตัดสินใจลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ฟ้าไม่ได้เล่นเหมือนเพื่อน ไม่ได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมและทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เมื่อผลสอบแย่ฟ้าโทษตัวเองว่าเป็นลูกที่ไม่ดี เศร้า หมดหวัง ไม่มีทางออก ทำให้ฟ้ากรีดแขนเพื่อลดความทุกข์ทางใจ

ทำไมพ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนมากกว่าเรื่องอื่น? 

พี่หมอขอสรุปสาเหตุ 5 ข้อที่เจอกันได้บ่อยๆ ดังนี้ค่ะ

1. ผลการเรียนเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดได้

พ่อแม่อยากให้ลูกเป็น “เด็กดี” แต่การเป็นเด็กดีไม่ได้มีเครื่องมือวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ ผลการเรียนเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นค่าวัดได้ง่าย ดังนั้นถ้าผลการเรียนดีพ่อแม่จะแปลรหัสความประพฤติว่าเด็กเป็นคนขยัน ตั้งใจ มีความรับผิดชอบ เชื่อฟังพ่อแม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเด็กดี แต่ในความเป็นจริงยังมีคุณลักษณะที่ดีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลการเรียนโดยตรง ที่ทำให้เด็กเป็นคนดีของสังคมไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น เช่น ความเห็นอกเห็นใจ, การมีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น เด็กบางคนเรียนเก่งแต่เห็นแก่ตัว ไม่มีเพื่อน แม้ผลการเรียนจะดีแต่เด็กอาจไม่มีความสุข อยู่ในสังคมได้ลำบาก

2. ความสำเร็จของเด็ก เป็นความสำเร็จของพ่อแม่

พ่อแม่ให้คะแนนตัวเองว่า เป็นพ่อแม่ที่ดีและประสบความสำเร็จจากผลการเรียนของลูก ดังนั้นพ่อแม่ที่คิดแบบนี้จะเข้ามาควบคุมทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ เช่น บังคับให้เด็กเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด, เข้าคณะที่ดีที่สุด, ทำงานที่ดีที่สุด โดยที่ไม่นึกถึงสภาพจิตใจของเด็ก แต่ใช้มาตรวัดของพ่อแม่ว่า “ถ้าเด็กได้แบบนี้...ถึงจะมีความสุข”  

ทั้งที่จริง “ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ” ของแต่ละคนรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน สิ่งที่พ่อแม่ทำให้อาจไม่ใช่สิ่งที่เด็กอยากได้ เช่น พ่อแม่คิดว่าลูกจะภาคภูมิใจที่สอบได้ที่หนึ่งเลยจัดเต็มเรื่องติววิชาการ แต่ความภาคภูมิใจของเด็กต้องการ คือ การได้เป็นสมาชิกทีมฟุตบอลของโรงเรียน เด็กไม่มีโอกาสได้ทำเพราะต้องเรียนพิเศษ แม้จะสอบได้ที่หนึ่งแต่เด็กกลับไม่มีความสุข 

ดังนั้นพ่อแม่ต้องกลับมาทบทวนว่า สิ่งที่พ่อแม่มอบให้เด็กเป็นสิ่งเดียวกับที่เด็กต้องการหรือไม่? ต่อให้ผลการเรียนดีแค่ไหน แต่หากเด็กต้องป่วยทางใจ เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, ทำร้ายตัวเอง เป็นการแลกที่ไม่คุ้มกันเลย

3. ต้องการให้เด็กสานฝันสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่สำเร็จ

พ่อแม่บางคนมีเรื่องที่ค้างคาใจ เช่น อยากเรียนโรงเรียน/คณะนี้แต่สอบเข้าไม่ได้ เมื่อมีลูกก็ต้องการให้ลูกสานฝันที่ตัวเองทำไม่ได้ เป็นการเติมเต็มให้กับพ่อแม่ แต่ไม่ได้เป็นความต้องการของเด็ก

4. ลูกเรียนดีเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถไปคุยกับคนอื่นได้

บางสังคมผลการเรียนของลูกไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่กลับเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่นำมาใช้เกทับกัน ถ้าเด็กเรียนได้ไม่ดีเท่าลูกบ้านนั้นพ่อแม่จะเสียหน้า จึงต้องผลักดันให้เด็กเข้าสู่สนามแข่งของผู้ใหญ่ โดยมีเด็กเป็นตัวแทน

5. ผลการเรียนที่ดีในวันนี้ ชีวิตจะประสบความสำเร็จในวันหน้า

การมีผลการเรียนที่ดีเป็นการเปิดโอกาสสิ่งดี ๆ หลายอย่างในชีวิต เช่น ได้ทุนไปเรียนโรงเรียนชื่อดัง, เงินรางวัลต่าง ๆ ทำให้พ่อแม่ต้องผลักดันให้เด็กเรียนดี

ความคาดหวังเรื่องการเรียนของพ่อแม่ ส่งผลถึงสุขภาพจิตลูกโดยตรง

มีงานวิจัยที่น่าสนใจตีพิมพ์ในวารสาร the Journal of Youth and Adolescence ปี 2016 ทีมผู้วิจัย คือ นักจิตวิทยาของ Arizona State University ศึกษาเรื่อง “ทัศนคติและการให้คุณค่ากับเรื่องต่าง ๆ ของผู้ปกครอง (parents’ values) ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและผลการเรียนอย่างไรบ้าง” โดยให้เด็กนักเรียนเกรด 6 จำนวน 506 คน เรียงลำดับคุณค่าที่คาดว่า “พ่อแม่ของตนอยากให้เป็น” มากที่สุด 3 อันดับแรก ทีมวิจัยเลือกศึกษาเด็กระดับชั้นนี้เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างมาก มีการค้นหาตัวตน เป็นวัยที่สำคัญเพราะความคิดความเชื่อทัศนคติที่เด็กได้รับมาจะส่งผลจนถึงวัยผู้ใหญ่ 

คำถามในงานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลัก ๆ คือ การให้คุณค่าด้านความสำเร็จของคนที่สะท้อนจากผลการเรียน กับการให้คุณค่าจากคุณลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลการเรียนโดยตรง เช่น การมีน้ำใจ,  ความนอบน้อมให้เกียรติผู้อื่น 

ผลจากงานวิจัยพบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่ให้คุณค่ากับผลการเรียนมากกว่าการมีคุณลักษณะที่ดีต่อผู้อื่น หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กเอาคุณค่าของตัวเอง (self esteem) ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น (external validations) เด็กจะรู้สึกไม่มั่นคง วิตก เครียดง่าย มีอาการซึมเศร้า มีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ไม่ดี (low self esteem) และมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าวได้ บางรายผลการเรียนแย่ลงเรื่อย ๆ ส่วนผู้ปกครองที่ให้คุณค่ากับการมีน้ำใจแบ่งปันมากกว่าผลการเรียน เด็กจะปรับตัวได้ดี ใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างมีความสุขและมีผลการเรียนที่ดี ต่อให้ผลการเรียนไม่ดีก็ไม่ได้ต่อว่าด้อยค่าตัวเอง ยอมรับตัวเองได้อย่างที่เป็น

การเรียนไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าชีวิตต้องล้มเหลว

ความจริงแล้ว “การที่พ่อแม่คาดหวังให้เด็กมีผลการเรียนที่ดี” ไม่ใช่สิ่งผิดนะคะ พ่อแม่ย่อมมีความหวังดีให้กับเด็ก เพราะการมีผลการเรียนดีเป็นประตูแห่งโอกาส แต่การเรียนไม่ดีไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะต้องล้มเหลว เพราะชีวิตยังมีอีกหลายเรื่องและอีกหลายทักษะที่เด็กต้องมีเพื่อให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ ซึ่งต้องได้รับการฝึกจากผู้ใหญ่รอบข้าง 

ความคาดหวังของพ่อแม่จะเป็นความกดดันกับเด็กหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการของพ่อแม่มากกว่า เช่น เด็กจะรู้สึกแย่เมื่อถูกคาดหวังด้วยวิธีการด่าต่อว่า เปรียบเทียบ แต่ถ้ามีการตั้งเป้าหมายเรื่องการเรียนร่วมกันโดยเด็กมีส่วนร่วม ตั้งเป้าตามศักยภาพที่เด็กมี เน้นเรื่องความพยายาม ความรับผิดชอบในการเรียน พ่อแม่รับฟังสิ่งที่เด็กคิดและรู้สึก เข้าไปช่วยในจุดที่มีปัญหา สนับสนุนให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบหรือถนัด เด็กจะเรียนด้วยความสบายใจและเรียนได้ดีขึ้น 

สุดท้ายนี้ หากน้องๆ ชาว Dek-D.com คนไหนที่รู้สึกว่าพ่อแม่กดดันและคาดหวังเรื่องการเรียนจนเริ่มส่งผลต่อสุขภาพจิต หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ที่อยากปรับเปลี่ยนวิธีการในการช่วยให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร หรือมีข้อสงสัยว่าวิธีการที่ทำอยู่มันโอเคมั้ย สามารถคอมเม้นต์ถามหรือแชร์เรื่องราวเพื่อนำมาพูดคุยกับ “พี่หมอแมวน้ำ” ได้เลยค่ะ 

 

1.         https://www.verywellfamily.com/cons-of-pressuring-kids-to-get-good-grades-4117600
2.         https://sociallifetips.com/parents-care-about-kids-grades/
3.         https://adelphipsych.sg/the-damage-parents-could-be-doing-by-pressuring-kids-to-get-high-grades/
4.         https://www.goodhousekeeping.com/life/parenting/a38443111/stop-caring-kids-school-grades/
5.      https://news.asu.edu/20161128-discoveries-parents-should-avoid-pressuring-young-children-over-grades-asu-study-says

 

 หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”

หมอแมวน้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

WrChertin Member 29 ก.ค. 66 02:57 น. 1

ผมก็เคยเจอเหมือนกัน ที่พ่อแม่ผมไม่สนับสนุนให้ผมลงเล่นการเมือง แต่ผมต้องการลงเล่นการเมืองมาก ๆ นะครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด