พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร จากสถาปัตย์จุฬาฯ สู่ UX Designer กับงานที่ต้องทำให้แอปสวยและใช้งานง่าย

. . . . . . . . . . . 

คำว่า UX/UI Designer จริง ๆ แล้วน้อง ๆ ก็อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าคือคนที่ออกแบบแอปให้สวยงาม ใช้งานง่าย แต่ที่จะให้ลงลึกไปมากกว่านี้ การทำงานของ UX/UI เค้าทำอะไรกัน? มีขั้นตอนอะไรกว่าจะออกแบบแอป ๆ นึง ให้ออกมาสู่แอปที่ทุกคนใช้งานกันได้ แล้วงานแบบนี้เหมาะกับคนแบบไหนกันนะ

วันนี้ พี่ปอ SparkD จะพาทุกคนมารู้จัก พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร จากสถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯ (INDA) ที่เรียนจบตั้งแต่อายุ 20 ปี! สู่การเป็น UX/UI Designer ในช่วงวัยที่เริ่มงานเร็วกว่าคนอื่น มาทุกคน อย่ารอช้า ไปเจอะเจอกับพี่เอิร์นกันเลยยยย..

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

. . . . . . . . . . . 

UX Designer คืออะไร?

พี่ปอ: คำว่า UX กับ UI เรามักจะได้ยินสองคำนี้อยู่ด้วยกันตลอดเลย แล้วจริง ๆ สองคำนี้แปลว่าอะไร ต่างกันยังไง

พี่เอิร์น: หลาย ๆ ครั้งเรามักจะคิดว่า UX กับ UI มันคือเรื่องเดียวกัน เพราะหลาย ๆ ครั้งก็เรียกรวมกันว่า UX/UI Designer แต่จริง ๆ แล้ว สองอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกันเลย มีหน้าที่ที่ต้องทำต่างกัน แต่ก็มีจุดที่เชื่อมเช่นกัน

UX คือ User Experience ออกแบบประสบการณ์การใช้งานแอป/เว็บ ให้สามารถใช้งานได้สะดวก ง่ายที่สุด ผู้ใช้งานที่เข้ามาใช้งานแอป/เว็บเรา ต้องไปยังหน้าปลายทางที่ผู้ใช้งานอยากไปได้โดยง่าย ไม่หลงทางกดเข้า ๆ ออก ๆ คล้ายกับสถาปนิกที่ออกแบบตึก ให้คนที่มา หาห้องน้ำได้โดยง่าย

UI คือ User Interface ทำสิ่งที่ UX ออกแบบประสบการณ์การใช้งานแอป/เว็บ ให้สวยงาม น่าดึงดูดให้ใช้งาน และเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้งานรู้ว่าจุดไหนต้องไปมองเพื่อทำสิ่งนี้ก่อน สิ่งนี้ทีหลัง

ซึ่งสองสิ่งนี้ จะแยกขาดออกจากกันไม่ได้ มีทั้งการใช้งานที่ดี ก็ต้องหน้าตาสวยควบคู่กันไปด้วย

พี่ปอ: แล้วหน้าที่หลัก ๆ ของทั้ง UX และ UI Designer ทำอะไรบ้าง

พี่เอิร์น: ฝั่ง UX ต้องเริ่มจากการ Research ว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร สังเกตคู่แข่ง ว่ามีใครทำเหมือนกับเรามั้ย มีอะไรที่ดีกว่าเรา หลังจากนั้นถึงนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาโฟลวการใช้งานแอปของเรา ต้องมีลำดับขั้นตอนอะไร ต้องเจออะไรก่อน อะไรหลัง เพื่อให้การใช้งานของผู้ใช้สะดวก ลื่นไหล และเข้าใจง่าย ส่วนฝั่ง UI ก็จะมาออกแบบให้สวยงามน่าใช้ต่อไป

พี่ปอ: UX UI Designer มักจะเป็นคนเดียวกัน หรือเป็นคนละคน

พี่เอิร์น: ส่วนใหญ่ในไทย ตามบริษัทต่าง ๆ จะให้ UX UI เป็นคน ๆ เดียวกัน แต่โดยส่วนตัวอยากให้สองสิ่งนี้แยกเป็นคน ๆ ไป เพราะ UX กับ UI ใช้สมองคนละซีกเลย เวลาที่คน ๆ นึงต้องทำทั้งสองอย่าง อาจจะทำให้เราไม่ได้โฟกัสในงานด้านใดด้านนึง ความไม่ลื่นไหลก็อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

พี่ปอ: อยากให้ช่วยเล่าตัวอย่างงานที่พี่เอิร์นทำให้น้อง ๆ ได้เห็นภาพกันหน่อย

พี่เอิร์น: ขอยกตัวอย่างเป็นการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานเพื่อเก็บความคิดเห็นของผู้ใช้งานมาพัฒนาฟีเจอร์ต่อ โดยส่วนตัวชอบงานพาร์ตนี้ของ UX อยู่แล้ว เพราะว่าเป็นคนชอบคุยกับคน เวลาสัมภาษณ์ก็มักจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจกลับมา เหมือนเราได้รู้จักกับคน ๆ นึงมากขึ้น และความท้าทายก็คือ ก่อนเราจะไปเริ่มสัมภาษณ์เราต้องเตรียมคำถามมาก่อน แต่พอหน้างาน ถ้าคำถามที่เราถามไปนั้น คำตอบที่เราได้กลับมาอาจจะยังไม่ครอบคลุมสิ่งที่เราอยากรู้ก็ได้ มันก็ต้องคิดคำถามเพิ่มเติมหน้างาน เพื่อมาพูดคุยกับผู้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม คำถามนั้นต้องขุกลงไปให้ลึกถึงความต้องการและความคิดของผู้ใช้จริง ๆ แต่ต้องระวังว่า คำถามที่เราเพิ่มมากลางคันก็ต้องไม่ทำให้ออกทะเลไปจากจุดประสงค์หลักของการสัมภาษณ์ด้วย

พี่ปอ: อุปสรรคอะไรบ้างที่มักจะเจอบ่อย ๆ ในการทำงานนี้

พี่เอิร์น: การเป็น UX Designer สิ่งที่เราให้ความสำคัญก็คือประสบการณ์การใช้งานที่ดีของลูกค้า ในบางครั้ง UX Designer อยากจะออกแบบฟีเจอร์นึงขึ้นมาให้เป็นไปตามเสียงของลูกค้า แต่สิ่งที่ลูกค้าอยากได้ ก็อาจจะไปขัดกับความต้องการฝั่ง Business หรือ Marketing ที่ต้องการผลักดันสินค้าให้กับลูกค้า แล้วอาจจะมีแนวทางที่อยากให้ฟีเจอร์เป็นไปอีกแบบหนึ่ง

ความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝั่งเราและฝั่ง Business หรือ Marketing อาจจะฟังดูแล้วเป็นการทำงานที่ไม่ค่อยราบรื่น แต่ในทางกลับกัน มันทำให้เกิดการหาทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราต้องมาหาจุดตรงกลางที่สมดุลให้ได้ ระหว่างการสร้างรายได้ให้บริษัทตามโจทย์ของ Business และความพึงพอใจของลูกค้าในการใช้งานฟีเจอร์ในแอปของเรา

พี่ปอ: ถ้าต้องเปรียบเทียบ UX/UI กับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา คิดว่าคล้ายกับอะไร

พี่เอิร์น: จากที่เราได้เรียนสถาปัตย์มา คิดว่างาน UX/UI กับสถาปัตย์ค่อยข้างคล้ายกันเลย เราต้องเป็นตัวกลางระหว่างความต้องการที่อาจจะฟุ้งของลูกค้า กับความเป็นจริงที่เราสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้าต้องการน้ำพุที่ลอยได้ มันก็อาจจะทำไม่ได้จริง เราก็ต้องเสนอทางเลือกอื่นให้กับลูกค้า ที่พอจะทดแทนกันได้แล้วสามารถทำได้จริงด้วย

พี่ปอ: ลองยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นจริงในแอป ที่คนใช้งานอาจจะยังไม่ค่อยสะดวกในการใช้งาน แล้ว UX Designer ของแอปนั้นต้องเข้าไปจัดการปรับปรุง

พี่เอิร์น: ถ้าที่เจอมากับตัวเอง รู้สึกมีปัญหากับฟีเจอร์ตะกร้าของแอปซื้อของออนไลน์แอปนึง ที่ถ้าเรามีคูปองหรือมีโค้ดส่วนลดอยู่ โดยที่เราก็ไม่ได้รู้ละเอียดหรอกว่าเรามีโค้ดอะไรบ้าง แล้วพอมาเจอหน้าลิสต์สินค้า แล้วสินค้านั้น ๆ ก็บอกราคาให้เราเห็น แต่ราคานั้นกลับเป็นราคาที่ลดจากคูปองแล้ว ทำให้เราสงสัยว่า แล้วราคาที่ลดมานี้ ลดมาจากราคาเต็มเท่าไหร่ แล้วลดจากโค้ดไหนที่เรามี ซึ่งบางทีเราอาจจะยังไม่อยากใช้โค้ดนั้นก็ได้ ละถ้าเราอยากรู้ ก็ต้องกดเข้าไปอ่านรายละเอียดเล็ก ๆ อีก ซึ่งสำหรับเรา คิดว่าเป็นปัญหาในการใช้งานแอปนี้ของเราเลย

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

. . . . . . . . . . . 

แรงบันดาลใจในผลักดันให้ตัวเองอยากเรียนจบมหาลัยก่อนคนอื่น

พี่ปอ: รู้มาว่าพี่เอิร์นเรียนจบมหาลัยก่อนคนอื่นประมาณ 2 ปี อยากให้เล่าให้น้อง ๆ ฟังหน่อยว่าอะไรที่ทำให้พี่เอิร์นอยากจะเรียนจบไวกว่าคนอื่น ในขณะที่คนอื่นจะเรียนจบ 4 ปีปริญญาตรีกันประมาณอายุ 22 - 23 ปี

พี่เอิร์น: เราเรียนมาในโรงเรียนนานาชาติหลักสูตร British ต่อมาเราก็รู้ว่ามีการจัดสอบอันนึงที่ชื่อว่า IGCSE (International General Certificate of Secondary Education) เป็นการสอบที่ทำให้เราสามารถไปเทียบวุฒิจบ ม.6 ได้

ในตอนที่เราอยู่ ม.2 เราเป็นเด็กเรียนมาก ๆ และรู้สึกอยากท้าทายตัวเองมากกว่าสิ่งที่ได้เรียนอยู่ ในตอนนั้นก็เลยตั้งเป้าหมายว่าจะสอบ IGCSE ให้ได้ แล้วเราก็ทำได้สำเร็จจริง ๆ จาก IGCSE ทำให้เราได้วุฒิเทียบ ม.6 แล้วเข้าจุฬาฯ ได้ตอนอายุ 16 ปี เรียนครบ 4 ปี ก็มาจบปริญญาตรีตอนอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เราทำสิ่งนี้ได้ ก็มาจากความที่อยากท้าทายตัวเองในการผ่านด่านต่าง ๆ มาได้นี่ล่ะ

พี่ปอ: จาก IGCSE ที่ทำให้เราจบ ม.6 เร็วกว่าคนอื่น แล้วทำไมถึงเลือกเรียนสถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯ

พี่เอิร์น: ความฝันในวัยเด็กของเราคือการอยากเป็นสถาปนิก ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อเราจะเป็นคนออกแบบบ้านทั้งหมด แต่สิ่งที่คุณพ่อออกแบบมานั้น ไม่ค่อยตรงกับเทสต์ของเราเท่าไหร่ ก็เลยทำให้เรามีความฝันว่าตัวเราเองนี่ล่ะ ที่จะเป็นคนออกแบบบ้านด้วยตัวเอง และด้วยความที่เราเรียนโรงเรียนนานาชาติมา ตัวเลือกในการเข้าสถาปัตย์ในมหาลัยไทยก็ไม่ได้มีมากขนาดนั้น บวกกับการที่พี่ชายเราก็เรียนจุฬาฯ เลยตัดสินใจว่าอยากตามรอยพี่ชาย ก็เลยตัดสินใจเข้าเรียนที่สถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯ (INDA)

พี่ปอ: แล้วจากสถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯ อะไรที่ทำให้พี่เอิร์นมาเป็น UX/UI Designer ได้

พี่เอิร์น: สำหรับสายงาน UX/UI Designer ถือว่าเป็นความโชคดีของเรามาก ๆ เพราะความตั้งใจหลังจากเรียนจบมา คืออยากเป็น Graphic Designer และตอนนี้ ปตท.สผ. เปิดรับสมัครงานนี้พอดี แต่หลังจากสัมภาษณ์ผ่านเสร็จ พี่ที่ ปตท.สผ. ได้มอบหมายงานเป็นตำแหน่ง UX/UI Designer แทน ในบริษัท AI and Robotics Ventures ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ.

ณ ตอนนั้นคือความรู้ในเรื่อง UX/UI ของเราเท่ากับศูนย์จริง ๆ ไม่เคยเรียนรู้งานในด้านนี้มาก่อนเลย แต่มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่พี่ ๆ ให้โอกาสมาทำงานในสายนี้ และที่โชคดีที่สุดก็คือการที่เรารู้สึกเอนจอยกับงาน ๆ นี้ เหมือนเป็นอีกด่าน ๆ นึงที่เราได้ท้าทายไปกับมัน

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

พี่ปอ: สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียน INDA พี่เอิร์นอยากแนะนำอะไรน้องบ้าง

พี่เอิร์น: จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง ขอแนะนำ PaperPlane Studio เป็นที่เราเราติวเพื่อเตรียมสอบเข้า INDA ซึ่งพี่ ๆ ใน PaperPlane Studio ก็เป็นพี่ ๆ ที่จบมาจาก INDA นี่เอง ทำให้พี่ ๆ ที่มาสอนเรา รู้จักกับ INDA เป็นอย่างดี แล้วถ่ายทอดมาเป็นการเรียนการสอนที่ปูพื้นฐานให้กับเราได้

จริง ๆ แล้ว INDA ก็เป็นหนึ่งในภาควิชาต่าง ๆ ของสถาปัตย์จุฬาฯ และ INDA ก็เปรียบเสมือนเป็นหลักสูตรที่นำศาสตร์ของภาควิชาต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วยกัน การมาเรียนที่ INDA เราจะได้ทำโปรเจกต์ที่มีความ Conceptual (แนวความคิด) มาก ๆ การที่เราต้องมี Creative Thinking จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รับหรือได้เรียนรู้ตลอดการเรียนที่ INDA

INDA ใช้เวลาในการเรียน 4 ปี ต่างจากสถาปัตย์ภาคอื่น ๆ ที่ใช้เวลาเรียน 5 ปี ซึ่งการที่เราเรียนจบจาก INDA มา จะยังไม่สามารถไปสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้ ต้องทำงานหรือเรียนต่อในด้านสถาปัตย์เพิ่มอีก 2 ปีก่อน ถึงจะมีสิทธิ์สอบได้

พี่ปอ: ตอนเรียน INDA พี่เอิร์นเป็นยังไงบ้าง ช่วยแชร์ประสบการณ์สุดหินให้น้อง ๆ ฟังกันหน่อย

พี่เอิร์น: เรามักจะได้ยินคำร่ำลือว่า “เรียนสถาปัตย์ ทำงานจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน” บ่อย ๆ พอเราได้เข้ามาเรียนจริง ๆ ก็ไม่คิดว่าจะไม่ได้นอนมากขนาดนี้ TT มันคือไม่ได้นอนจริง ๆ แต่จากสิ่งนี้ มันก็ทำให้เราได้ความแน่นแฟ้น คอนเนกชัน ความสนิทสนมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในคณะ

ความดาร์กอย่างนึงที่อยากจะแชร์มาก ๆ คือการทที่เราเอางานมาก่อนสุขภาพของตัวเอง เคยมีครั้งนึงที่เราตัดโมเดลแล้วดันตัดไปโดนนิ้วตัวเอง สิ่งที่เป็นห่วงอย่างแรกคือกลัวเลือดหยดลงไปใส่งานโมเดล จังหวะนั้นเราไม่ได้สนนิ้วตัวเองแล้วถึงแม้ว่าหนังจะมาแหว่งไปนิดนึงก็ตาม เราต้องหาอะไรมาซับเลือดที่เปื้อนโมเดลก่อน

ตอนทำงานเราเคยไม่ได้นอนมากกว่า 24 ชั่วโมงโดยที่ต้องกิน M150 เพื่อให้ตื่นจนสิ่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตช่วงนั้น เลยเป็นส่วนนึงที่ทำให้เราไม่ต่อสายงานนี้ แล้วมาทำในสายงานดีไซน์ในวงการดิจิทัลแทน

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

. . . . . . . . . . . 

มาเช็กกัน.. เราเหมาะที่จะทำงาน UX/UI มั้ย?

พี่ปอ: ในมุมมองของพี่เอิร์น คิดว่าคนแบบไหนที่จะเหมาะทำงาน UX/UI

พี่เอิร์น: สำหรับ UX คิดว่าต้องเป็นคนช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม และอยากรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง เพราะในการทำงาน UX การที่เราเป็นคนขี้สงสัยจะเป็นผลดีต่อการทำงานในขั้นตอน Research เวลาไปสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน เราจะเข้าใจคำตอบที่ได้รับกลับมาเป็นอย่างดี

ส่วนฝั่ง UI นอกจากจะต้องเป็นคนที่ชอบออกแบบแล้ว ต้องเป็นคนที่เนี้ยบอีกด้วย เพราะ UI ต้องไม่ใช่แค่สวย แต่มันต้องเป๊ะ เป๊ะทุกเม็ดพิกเซล ต้องทำให้เป็นระเบียบและเรียบร้อย เพราะทั้งหมดจะส่งผลโดยตรงกับประสบการณ์การใช้งานแอป/เว็บของลูกค้า

พี่ปอ: การเป็น UX/UI Designer ทักษะอะไรที่เราต้องมีในการทำงาน

พี่เอิร์น: ที่เราควรเข้าใจเลยคือการเข้าใจหลักการของโปรแกรมมิง ไม่ต้องเข้าใจไปถึงขั้นเขียนโค้ดยังไง แต่ต้องเข้าใจภาพรวมของมัน เช่นการจะสร้างปุ่ม ๆ นึงขึ้นมา Developer เค้าต้องวางกลไกยังไงให้มันทำงานได้ เหมือนสถาปนิกที่ก็ต้องพอรู้วิธีคิดของวิศวกรโยธาบ้าง เพื่อให้การออกแบบงานของเรา ไม่ไปถูกวิศวกรบอกทีหลังว่าแบบนี้ทำไม่ได้นะ หรือทำได้ แต่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้

อีกสิ่งที่สำคัญคือเราต้องมี Empathy คือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ถ้าเราจะเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน หรือสิ่งที่ผู้ใช้งานรู้สึกไม่โอเคได้ เราก็ต้องเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งานจริง ๆ ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจได้จริง ๆ ว่างาน UX/UI ที่ผู้ใช้งานต้องการจริง ๆ หน้าตาเป็นอย่างไร

พี่ปอ: ถ้าตอนนี้ไม่ได้เรียนด้าน UX/UI หรือด้านดีไซน์มา แล้วอยากทำงานสาย UX/UI ต้องเริ่มต้นยังไงดี

พี่เอิร์น: เซนส์ด้านดีไซน์ไม่ใช่อะไรที่จะสอนกันได้ ถ้าเรามี เราก็จะสามารถย้ายสายงานมาตรงนี้ได้แน่นอน และหากเราย้ายสายงาน อุปสรรคอย่างนึงเลยคือเราไม่มีประสบการณ์สายนี้ ถ้าเรายังเรียนอยู่ เราอาจจะหากิจกรรมในมหาลัยเพื่อเก็บผลงาน หรือเราอาจจะเริ่มจากเป็น Freelance ก่อนก็ได้ หรือถ้ามีโอกาสอาจจะหา Start-up เจ้าเล็ก ๆ สมัครเข้าไปทำหรือไปฝึกงานก็ได้ อีกวิธีนึงคือการหา Bootcamp เก็บใบ Certificate ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ และอย่างสุดท้ายที่อยากแนะนำ เราลองคิดโปรเจกต์ขึ้นมาเองแล้วลงมือทำเลยก็ได้ ก็สามารถมาเก็บใส่พอร์ตของเราได้เช่นกัน

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

พี่ปอ: Career Path ของสายงาน UX/UI เป็นยังไงบ้าง

พี่เอิร์น: มีสองแบบ ไม่เป็น Specialist ทางด้าน UX/UI Designer ไปเลย ก็จะไปทางด้าน Management แทน ถ้าเรามีความรู้เรื่อง UX/UI Designer แล้ว และชอบบริหารจัดการ ก็อาจจะเติบโตไปเป็น PO (Product Owner) PM (Product Manager) หรือเป็นหัวหน้าทีม UX/UI Designer ก็ได้

พี่ปอ: เชื่อว่าสายงานนี้น่าจะต้องปรับตัวเร็วยิ่งเป็นยุคสมัยนี้ มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไงบ้าง

พี่เอิร์น: เรามักจะอ่านบทความหรือหาไอเดียใหม่ ๆ อยู่บ่อย ๆ เพื่อตามเทรนด์ให้ทัน เช่น Medium, Dribble และ Case Study ใน Behance ถ้าเราเป็น UX/UI Designer แล้วเราได้ภาษาอังกฤษจะดีเลย เพราะส่วนใหญ่บทความสายงานนี้มักถูกเผยแพร่โดยต่างชาติ ถ้าเราไปอ่านก็ตามเทรนด์ได้ไวกว่า อีกอย่างนึงก็คือการลองเข้าไปเล่นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของแอปต่าง ๆ อยู่เสมอ เรามักจะกดอัปเดตตลอดเพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ออกมา ทำไมเขาถึงทำฟีเจอร์นี้ และเรามักจะไปไล่ดูฟีดแบกในโซเชียล ว่าฟีเจอร์นี้มันเป็นไปในทางบวกหรือลบ มีข้อดียังไง ก็เก็บมาเป็นเพื่อข้อมูลเพื่อมาต่อยอดในการทำงานของเราเอง

พี่ปอ: มีช่วงเวลาที่คิดงานไม่ออกบ้างมั้ย แล้วพี่เอิร์นจะแก้ยังไง

พี่เอิร์น: มี มีเยอะเลย เวลาที่เราคิดงานไม่ออกคือตอนสมองเราล้า มันคือตอนที่เรานั่งทำงานหน้าคอม และจ้องมาตลอดติดต่อกันหลายชั่วโมง วิธีแรกที่เราใช้คือการไปดู Behance หรือ Dribble เพื่อหลุดออกจากงานตรงหน้าก่อน อีกวิธีคือเราจะลุกออกไปเดินเล่น ลุกไปซื้อของกิน มองนก มองฟ้า มองคน เพื่อให้เราได้หลุดออกจากงานนั้นอย่างแท้จริง แล้วเวลาเรากลับมาดูงาน มันจะเป็นมุมมองของงานที่รู้สึกสบาย เปิดรับมากขึ้น

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

. . . . . . . . . . . 

มารู้จักกับพี่เอิร์นให้มากขึ้น

พี่ปอ: ถ้าตอนนี้พี่เอิร์นไม่ได้ทำ UX/UI คิดว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่

พี่เอิร์น: ก็คงจะเป็น Influencer แบบเต็มตัว ปั้นให้ยอดพุ่งกว่านี้ และลงแรงจริง ๆ จัง ๆ กับการทำคอนเทนต์ลงในโซเชียลต่าง ๆ เพราะสิ่งนี้เราก็เอนจอยมันเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้เราก็ทำสิ่งนี้ในเวลาว่าง ในเวลาหลังเลิกงาน

พี่ปอ: กว่าพี่เอิร์นจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก ๆ ถ้าพี่เอิร์นบอกอะไรกับตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ และบอกอะไรกับตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ อยากจะบอกอะไรกับเอิร์นทั้งสองคนนี้?

พี่เอิร์น: สำหรับบอกตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็อยากบอกว่า “เรามาถูกทางแล้วนะ อย่ายอมแพ้” ส่วนตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็อยากบอกว่า “เราในวันนี้ ภูมิใจกับเราที่อยู่ในอนาคตนะ ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นยังไงก็ตาม การให้กำลังใจจากตัวเราในวันนี้ อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นตอนนั้น แต่เราเชื่อว่ามันจะส่งผลดีให้กับเธอแน่นอน”

พี่ปอ: ก่อนจะจากกัน สำหรับน้อง ๆ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ พี่เอิร์นช่วยแนะนำน้อง ๆ หน่อย

พี่เอิร์น: จริง ๆ มันไม่ได้มีกฎตายตัวในการค้นหาตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องรีบ มันต้องใช้เวลา ตอนนี้เราก็บอกไม่ได้ว่าเราคนหาตัวเองเจออย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นการค้นหาตัวเองเนี่ย เราลองไปเลย คว้าโอกาสการได้ลองสิ่งใหม่ ๆ ไว้ ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นตัวเอง แล้วถ้าไม่ชอบก็แค่เปลี่ยน เราอาจจะค้นหาตัวเองเจอในช่วงเวลาชีวิตไหนก็ได้ มันไม่มีผิดถูก สู้ ๆ นะทุกคน เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่าาา

พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer
พี่เอิร์น ลลิต์ภัทร UX/UI Designer

. . . . . . . . . . . 

เป็นยังไงกันบ้าง.. หวังว่าทุกคนจะได้ข้อมูล เกี่ยวกับสายงาน พร้อมแรงบันดาลใจ แง่คิดในมุมต่าง ๆ ให้เราได้ไปปรับใช้ เพื่อที่จะได้ค้นหาตัวเองกันต่อ และอย่าลืมซื่อสัตย์และจริงใจกับตัวเอง จุดที่เราอยู่ถ้ามันไม่มีความสุข หน้าที่ของเราเพื่อตัวเราก็คือการดิ้นรนออกมา ตัวเราในอนาคตจะต้องขอบคุณเราอย่างแน่นอน

วันนี้พี่ปอก็ต้องขอตัวก่อน ต่อไปจะมีเรื่องอะไรมาแชร์กับทุกคนบ้าง รอติดตามกัน ไว้พบกันใหม่ สวัสดีค้าบบบ

. . . . . . . . . . . 

เขียน/สัมภาษณ์ พี่ปอ SparkD
ถ่ายภาพ พี่บอนไซ SparkD
กราฟิกดีไซน์ พี่แอลจี้ SparkD
บรรณาธิการ พี่ฟิวส์ พี่แอลลี่ SparkD

 

SparkD
SparkD - Columnist พื้นที่แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้ Young Gen ค้นหาตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น