กฎหมายใกล้ตัวต้องรู้! สรุปกฎหมายครอบครัว และมรดก พร้อมตัวอย่างการแบ่งมรดก

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D จากบทความที่แล้วพี่แป้งได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ 4 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ออกสอบบ่อยไป ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งกฎหมายสำคัญที่อยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เหมือนกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้ตัวของเรามากๆ นั่นก็คือ กฎหมายครอบครัว และมรดก นั่นเอง  

นอกจากทฤษฎีความรู้พื้นฐานเรื่องกฎหมายแล้ว บทความนี้ยังมีกรณีตัวอย่างเรื่องการแบ่งมรดกมาให้น้องๆ ได้ทำความเข้าใจ พร้อมกับแนวข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่นำมาให้ทุกคนได้ลองทำด้านล่างด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันได้เลย!  

กฎหมายใกล้ตัวต้องรู้! สรุปกฎหมายครอบครัว และมรดก พร้อมตัวอย่างการแบ่งมรดก
กฎหมายใกล้ตัวต้องรู้! สรุปกฎหมายครอบครัว และมรดก พร้อมตัวอย่างการแบ่งมรดก

กฎหมายครอบครัว

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ครอบครัวเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานและเป็นสถาบันหลักของสังคม ที่ประกอบไปด้วย สามี ภรรยา บุตร และญาติ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ดังนั้น หลักกฎหมายที่ใช้โดยทั่วไปจึงไม่สามารถนำมาใช้กับกฎหมายครอบครัวได้  

กฎหมายครอบครัวจึงเป็นกฎหมายที่อ้างอิงหลักศีลธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุด เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดกอีกด้วยค่ะ

การหมั้น  

เป็นการทำสัญญาระหว่างชายและหญิงว่าต่อไปจะสมรสกัน โดยฝ่ายชายจะมอบของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและหลักประกันว่าในอนาคตจะสมรสกัน ตามกฎหมายแล้วสัญญาหมั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นเท่านั้น โดยกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขการหมั้น ไว้ดังนี้

  • การหมั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายยังเป็นผู้เยาว์ต้องขออนุญาต และได้รับการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) ก่อน ไม่อย่างนั้นจะมีผลเป็นโมฆียะ
  • กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำการหมั้นก่อนอายุ 17 ปี ซึ่งถ้าเกิดมีการหมั้นก่อนจะมีผลเป็นโมฆะทันที
  • ไม่สามารถหมั้นกับ บุคคลที่เป็นบุพการี, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ หรือคนที่มีคู่สมรสอยู่แล้วได้
  • คนที่เป็นพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน หรือร่วมแค่แม่ หรือพ่อเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถหมั้นกันได้
  • เมื่อสมรสแล้วของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง แต่ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นให้ฝ่ายชาย หรือถ้าฝ่ายชายเป็นคนผิดสัญญาก็ไม่สามารถเรียกร้องของหมั้นคืนจากฝ่ายหญิงได้เช่นกัน
  • การผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่เสียหายสามารถเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะให้ศาลบังคับให้มีการสมรสไม่ได้
  • การหมั้นจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต หรือมีการยินยอมถอนหมั้น  
  • ของหมั้นจะมีผลตามกฎหมายได้นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องมีเจตนาไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หากอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียน สิ่งของที่มอบให้กันจะถือว่าไม่ใช่ของหมั้น

โมฆะ vs โมฆียะ คืออะไร?  

  • โมฆะกรรม คือ นิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย มี 4 สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมโมฆะ
  • โมฆียกรรม คือ นิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายตั้งแต่ทำนิติกรรมจนกว่าจะถูกบอกล้าง ซึ่งหากถูกบอกล้างก็จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

การสมรส

เป็นการทำสัญญาที่ตกลงเป็นสามีภรรยากันระหว่างชายกับหญิง การสมรสจะต้องเกิดจากความสมัครใจจากทั้งสองฝ่าย และการสมรสจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อต้องทำการจดทะเบียน โดยกฎหมายกำหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้ ดังนี้

  • การสมรสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายยังอายุยังไม่ครบ 20 ปี ต้องขออนุญาต และได้รับการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) ก่อน ไม่อย่างนั้นจะมีผลเป็นโมฆียะ
  • ไม่สามารถสมรสกับ บุคคลที่เป็นบุพการี, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ และพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน หรือร่วมแค่แม่ หรือพ่อเพียงอย่างเดียว
  • ผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรม ไม่สามารถสมรสกันได้ แต่ถ้าต้องการสมรสต้องจดทะเบียนยกเลิกการเป็นบุตรบุญธรรมก่อน  
  • กรณีผู้หญิงที่สามีเสียชีวิต หรือเพิ่งหย่า ต้องรอ 310 วัน* ถึงจะทำการสมรสใหม่ได้ เว้นแต่ (1) คลอดลูกไปแล้วในระหว่างนั้น/ (2) สมรสกับสามีคนเดิม หรือ (3) มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • การสมรสจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ (1) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต (2) จดทะเบียนหย่า ต้องมีการทำหนังสือและจดทะเบียน ถึงจะถือว่าการหย่านั้นสมบูรณ์ และ (3) ฟ้องหย่า เช่น จงใจทิ้งเกิน 1 ปี, ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชู้, ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ฯลฯ

Note : ทั้งนี้เด็กที่อายุน้อยกว่า 17 ปี จะไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะกฎหมายไม่อนุญาต เว้นแต่มีเหตุอันสมควรก็ขอให้ศาลสั่งให้สามารถสมรสกันได้ เช่น นายเอและนางสาวบี ทั้งคู่อายุ 15 ปี คบหาดูใจกัน วันหนึ่งเกิดได้เสียกันและนางสาวบีตั้งท้อง พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ต้องไปร้องขออนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกันได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  

 

*** อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะไม่ได้อนุญาตให้จดทะเบียนได้ทุกเคส ต้องมีการพิจารณาเป็นรายเคสไปว่า สามารถแต่งงาน และเลี้ยงดูบุตรไปกันรอดหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะไม่มีการสมรสเกิดขึ้นนั่นเอง ***

ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา  

สำหรับการสมรสนอกเหนือจากเรื่องการจดทะเบียนแล้ว ยังมีเรื่องทรัพย์สินที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา มี 2 ลักษณะ คือ

  • สินส่วนตัว - ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส เช่น เงินฝาก บ้าน ที่ดิน เครื่องประดับ ของหมั้น ฯลฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ์จัดการเพียงฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่มีสิทธิ์เข้ามายุ่งเกี่ยว
  • สินสมรส - ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าเช่า หรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากสินส่วนตัว รวมทั้งสินส่วนตัวและมรดกที่ระบุว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียนสมรส ซึ่งทรัพย์สินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ต้องบริหารจัดการร่วมกัน

Note : ของใช้สอย และเครื่องประดับส่วนตัว รวมถึงของใช้สำหรับประกอบอาชีพถือเป็นสินส่วนตัว แม้ว่าจะซื้อหลังจดทะเบียนสมรสก็ตาม และเมื่อใดที่การสมรสสิ้นสุดลง สินสมรสจะต้องถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย  

อำนาจการปกครองบุตร

หลังจากแต่งงานกันแล้ว แน่นอนว่าบางคู่ก็ต้องอยากมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจกันใช่มั้ยคะ ซึ่งก็ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองบุตรด้วยเช่นกัน สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับบุตร ทางกฎหมายระบุไว้ว่า บุตรไม่สามารถฟ้องร้องบุพการี ทั้งทางแพ่งและอาญาได้ ต้องให้พนักงานอัยการสั่งฟ้อง ซึ่งจะเรียกคดีนี้ว่า ‘คดีอุทลุม’ นั่นเองค่ะ โดยบุตรในทางกฎหมาย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.บุตรชอบด้วยกฎหมาย

คือ เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ส่วนเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของแม่ฝ่ายเดียว หากต้องการให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อด้วยนั้น ต้องทำ 3 สิ่ง ดังนี้

  • พ่อแม่ต้องจดทะเบียนสมรสกัน
  • พ่อต้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร และ
  • ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษา

โดยบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะมีฐานะและมีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียน และสิทธิการรับมรดกในฐานะทายาท เป็นต้น

2.บุตรนอกกฎหมาย

คือ เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะมีการจัดงานแต่งเป็นที่รู้กันไปทั่ว หรืออยู่กินกันมานานหลายสิบปีก็ตาม ทางกฎหมายจะถือว่าเด็กที่เกิดมานั้น เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของแม่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น สิทธิที่บุตรนอกกฎหมายมีเหมือนกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ มีสิทธิรับมรดกของแม่เท่านั้น ไม่สามารถรับมรดกของพ่อได้ เว้นแต่พ่อจะจดทะเบียนรับรองบุตรก่อน

3.บุตรบุญธรรม

คือ การจดทะเบียนรับลูกผู้อื่นมาเลี้ยงดูเป็นลูกของตนเอง โดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบุตรบุญธรรมที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง จะมีฐานะและสิทธิเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมายทุกอย่าง โดยการรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายมีเงื่อนไข ดังนี้  

  • ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุมากกว่า 25 ปี และต้องแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  • หากผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องขออนุญาตและได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  • หากเด็กมีพ่อแม่อยู่แล้วต้องขออนุญาตพ่อแม่ของเด็กที่จะรับด้วย หรือหากเด็กไม่มีพ่อแม่ก็ขออนุญาตกับสถานรับเลี้ยงเด็กแทน
  • กรณีที่รับบุตรบุญธรรมเด็กที่มี อายุ 15 ปี ขึ้นไป ต้องขออนุญาต และได้รับความยินยอมจากเด็กด้วย  
  • หลังจากที่รับบุญธรรมเด็กไปแล้ว ทางกฎหมายจะถือว่า พ่อแม่คนเดิมจะหมดสิทธิในการปกครองเด็กคนนี้ และสิทธิจะถูกโอนไปยังผู้รับบุตรบุญธรรมทันที
  • กรณีที่พ่อแม่คนเดิมของเด็กเสียชีวิต เด็กก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกจากพ่อแม่คนเดิม ในทางกลับกันหากผู้รับบุตรบุญธรรมเสียชีวิต เด็กก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นกัน
  • กรณีที่เด็กเสียชีวิต ผู้รับบุตรบุญธรรมจะไม่มีสิทธิรับมรดกจากบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมได้ มรดกจะถูกตกทอดไปยังญาติของเด็กแทน เว้นแต่เด็กเขียนพินัยกรรมว่าจะมอบมรดกให้ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงจะสามารถรับมรดกนั้นได้
  • การรับบุตรบุญธรรม หรือการเลิกบุตรบุญธรรม จะต้องทำหนังสือและจดทะเบียน จึงจะถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

กฎหมายมรดก

มรดก หรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของเจ้าของมรดก เมื่อถึงแก่ความตายมรดกเหล่านี้ก็จะตกทอดมาไปยังทายาททันที ยกเว้นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดเป็นมรดก ทั้งนี้ ทางกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากหนี้สินที่ส่งต่อมาให้ทายาท เกินกว่าทรัพย์สินที่ผู้ตายส่งมา ทายาทไม่ต้องชดใช้หนี้สินในส่วนที่เกินมรดกที่ได้รับ  

เช่น พ่อแม่มีเงินอยู่ 10 ล้าน แต่มีหนี้ 12 ล้าน เมื่อทายาทรับมรดกมากลายเป็นว่ายังเหลือหนี้อยู่ 2 ล้าน แต่ทายาทไม่จำเป็นต้องชดใช้แทนในส่วนที่เกินมานั่นเอง  

ทายาท

นอกเหนือจากทรัพย์สิน และหนี้สิน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมรดกแล้ว สิ่งที่น้องๆ จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายมรดกก็คือ ทายาท นั่นเองค่ะ เพราะทายาทเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับมรดกเหล่านั้นโดยตรง แต่ก็จะมีเงื่อนไข และลำดับการรับมรดกที่ต่างกันออกไป โดยทายาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้  

  • ทายาทโดยธรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย ได้แก่ คู่สมรส ที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น และญาติ 6 ลำดับ ประกอบไปด้วย
    • ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน หมายถึง บุตร (บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมาย และบุตรบุญธรรม) หลาน และเหลน
    • ลำดับที่ 2 บิดามารดา
    • ลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
    • ลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา
    • ลำดับที่ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย
    • ลำดับที่ 6 ลุง ป้า น้า อา

​แม้ว่าทายาทโดยธรรมจะมีถึง 6 ลำดับด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกลำดับจะมีสิทธิได้รับมรดกพร้อมกัน การรับมรดกจะใช้หลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” คือ การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ญาติที่อยู่ในลำดับก่อน (ลำดับ 1-2) จะมีสิทธิได้รับมรดกก่อนเสมอ ตามหลักแล้ว คู่สมรส บุตร และบิดามารดา จะได้รับมรดกของผู้ตายเท่าเทียมกันเสมอ* ส่วนญาติที่อยู่ลำดับถัดมาจะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อไม่มีญาติลำดับก่อนหน้าทีละขั้น เช่น

กรณีที่ 1 : ญาติลำดับที่ 3 จะได้รับมรดกเมื่อผู้ตายไม่มีญาติลำดับที่ 1 และ 2  

กรณีที่ 2 : ญาติลำดับที่ 4 จะได้รับมรดกเมื่อผู้ตายไม่มีญาติลำดับที่ 1  2 และ 3  

กรณีที่ 3 : หากผู้ตายไม่มีญาติลำดับที่ 1 แต่ยังมีญาติลำดับที่ 2 อยู่ มรดกก็จะตกเป็นของญาติลำดับที่ 2 ทั้งหมด ลำดับที่เหลือจะไม่ได้อะไรเลย

กรณีที่ 4 : หากผู้ตายไม่มีคู่สมรส และญาติทั้ง 6 ลำดับ มรดกจะตกเป็นของแผ่นดินทั้งหมด

Trick จำ การรับมรดก : 1 2 มีชีวิต 3-6 อดหมด / 1 2 ไม่มีชีวิต 3-6 ได้ทีละขั้น 

  • ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกตามที่พินัยกรรมระบุไว้ แล้วแต่ผู้ตายจะตั้งใจยกมรดกให้ใครบ้าง ซึ่งทายาทโดยพินัยกรรมเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติก็ได้ และหากผู้ตายยกมรดกให้กับทายาทตามพินัยกรรมทั้งหมด ทายาทโดยธรรมก็จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย

การคำนวณมรดก

ก่อนจะแบ่งมรดกอย่างเป็นการ สิ่งที่ต้องทำมี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.เช็ก - เช็กดูว่าผู้ตายมีพินัยกรรมหรือไม่ ถ้ามีให้ยึดการรับมรดกตามทายาทโดยพินัยกรรม ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมก็จะยึดตามทายาทโดยธรรม

2.คำนวณกองมรดก - ให้ดูว่าผู้ตายทิ้งทรัพย์สินไว้จำนวนเท่าไหร่ โดยมีวิธีการคิดกองมรดก คือ [สินส่วนตัว + (สินสมรส/2) = กองมรดก] เหตุผลที่ต้องนำสินสมรสมาหาร 2 เพราะว่ามันคือทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ดังนั้น เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ทรัพย์สินครึ่งหนึ่งจะต้องคืนให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อน ส่วนอีกครึ่งจะถูกนำมารวมในกองมรดก

3.หารกองมรดก - หลังจากที่ได้กองมรดกเรียบร้อยก็ทำการหารมรดกตามจำนวนเท่าๆ กัน โดยแบ่งตามญาติ 6 ลำดับ

กรณีตัวอย่าง เรื่องการแบ่งมรดก

การทำโจทย์เรื่องการแบ่งมรดก น้องๆ ต้องสังเกตให้ดีว่าในโจทย์ให้ข้อมูลอะไรมาบ้าง บางโจทย์อาจจะให้กองมรดกที่สามารถนำมาหารตามจำนวนคนได้เลย แต่ถ้าไม่มีกองมรดกก็ต้องดูว่า โจทย์กำหนดสินส่วนตัว และสินสมรส มาเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้นำมาคิดตามสูตรการคำนวณมรดก แล้วค่อยนำมาหารจำนวนคนที่จะได้รับ ซึ่งวันนี้พี่แป้งมีกรณีตัวอย่างมาให้น้องๆ ได้ทำความเข้าใจไปทั้งหมด 3 กรณี มาดูไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ตัวอย่างที่  1

ตัวอย่างที่ 1 การแบ่งมรดก
ตัวอย่างที่ 1 การแบ่งมรดก 

โจทย์ : นาย ก และนาง ข เป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยพ่อแม่ของทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่ และทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน ก่อนแต่งงาน นาย ก มีเงิน 10,000 บาท นาง ข มีเงิน 20,000 บาท หลังจดทะเบียนทั้งคู่มีสินสมรสร่วมกัน 20,000 บาท จากโจทย์หาก นาง ข เสียชีวิต ใครจะได้รับมรดกบ้าง และแต่ละคนจะได้รับมรดกเท่าไหร่

 

วิธีคำนวณ : ให้น้องๆ นำสินสมรส 20,000 บาท มาหาร 2 จะได้ 10,000 บาท โดยที่ 10,000 บาทแรก จะถูกคืนให้กับ นาย ก ไปก่อน หลังจากนั้นอีก 10,000 บาทที่เหลือจะถูกนำมาคิดรวมกับสินส่วนตัวของ นาง ข ตามสูตร

 

สินส่วนตัว + (สินสมรส/2) = กองมรดก

20,000 + (20,000/2) = 30,000  

 

จากโจทย์จะเห็นว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้น มรดกจะถูกแบ่งให้ทายาทโดยธรรม นั่นคือ คู่สมรส และญาติ 6 ลำดับ ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับจากโจทย์ ลำดับแรกที่จะได้มรดกคือ ลูกทั้ง 3 คน ลำดับที่ 2 ก็คือ พ่อแม่ของผู้ตาย นั่นหมายความว่า จะมีผู้ได้รับมรดกจำนวน 6 คน ได้แก่ นาย ก, ลูก 3 คน และพ่อแม่ของ นาง ข  หลังจากรู้จำนวนคนแล้วก็ให้นำ กองมรดก/จำนวนคน ก็จะได้รับมรดกคนละ 30,000/6 = 5,000 บาท  

ตัวอย่างที่ 2

ตัวอย่างที่ 2 การแบ่งมรดก
ตัวอย่างที่ 2 การแบ่งมรดก 

โจทย์ : นาย ก และนาง ข เป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยพ่อแม่ของทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่ และทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 2 คน คือ นาย ค และนาย ง โดย นาย ค และ นาย ง ก็ได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และยังมีลูกอีก คนละ 1 คน ด้วยกัน วันหนึ่ง นาย ค เสียชีวิต โดยที่เขาทิ้งเงินไว้ทั้งหมด 4,000,000 บาท จากโจทย์ใครจะได้รับมรดกบ้าง และแต่ละคนจะได้รับมรดกเท่าไหร่

 

วิธีคำนวณ : จำนวนเงิน 4,000,000 บาท ในข้อนี้ถูกจัดว่าเป็นกองมรดก จากโจทย์จะเห็นว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้น มรดกจะถูกแบ่งให้ทายาทโดยธรรม นั่นคือ คู่สมรส และญาติ 6 ลำดับ ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับจากโจทย์ ลำดับแรกที่จะได้มรดกคือ ลูก ลำดับที่ 2 ก็คือ พ่อแม่ นั่นหมายความว่า จะมีผู้ได้รับมรดกจำนวน 4 คน ได้แก่ คู่สมรส นาย ค, ลูก และพ่อแม่ (นาย ก และนาง ข)  ส่วน นาย ง ที่เป็นน้องชายจะไม่ได้มรดกเพราะถือเป็นญาติลำดับที่ 3  นั่นเองค่ะ หลังจากรู้จำนวนคนแล้วก็ให้นำ กองมรดก/จำนวนคน ก็จะได้รับมรดกคนละ 4,000,000/4 = 1,000,000 บาท  

ตัวอย่างที่  3

ตัวอย่างที่ 3 การแบ่งมรดก
ตัวอย่างที่ 3 การแบ่งมรดก 

โจทย์ : นาย ก และนาง ข เป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย  โดยพ่อแม่ของนาย ก ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน แต่นาย ก มีภรรยาน้อยอีกคน คือ นาง ค ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และทั้งคู่ยังมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน  วันหนึ่ง นาย ก เสียชีวิต โดยที่เขาทิ้งเงินไว้ทั้งหมด 10,000,000 บาท จากโจทย์ใครจะได้รับมรดกบ้าง และแต่ละคนจะได้รับมรดกเท่าไหร่

 

วิธีคำนวณ : จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ในข้อนี้ถูกจัดว่าเป็นกองมรดก จากโจทย์จะเห็นว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้น มรดกจะถูกแบ่งให้ทายาทโดยธรรม นั่นคือ คู่สมรส และญาติ 6 ลำดับ ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับจากโจทย์ ลำดับแรกที่จะได้มรดกคือ ลูกชาย และลูกสาว เหตุผลที่ลูกสาวได้เพราะถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย ส่วนลำดับที่ 2 ก็คือ พ่อแม่ นั่นหมายความว่า จะมีผู้ได้รับมรดกจำนวน 5 คน ได้แก่ นาง ข, ลูกชาย (ตามกฎหมาย), ลูกสาว (นอกกฎหมาย) และพ่อแม่ ส่วนคนที่จะไม่ได้รับมรดกมีเพียง 1 คน ก็คือ  นาง ค เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั่นเองค่ะ หลังจากรู้จำนวนคนแล้วก็ให้นำ กองมรดก/จำนวนคน ก็จะได้รับมรดกคนละ 10,000,000/5 = 2,000,000 บาท  

ในวันวันนี้เรามาลองทำข้อสอบเรื่องกฎหมายครอบครัว จากข้อสอบ A-level วิชาสังคมศึกษา จากโครงการ Dek-D Pre-Admission รอบ ธันวาคม 2564

 

พิจารณาข้อความเกี่ยวกับกฎหมายการหมั้นและการสมรสดังต่อไปนี้ ข้อความใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

1.การหมั้นคือการที่ชายและหญิงทำสัญญาว่าจะสมรสกัน แต่ไม่สามารถถือเอาเหตุหมั้นมาเป็นเหตุบังคับให้สมรสได้

2.ผู้เยาว์ที่จะสมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเสียก่อน แต่หากไม่ได้เป็นผู้เยาว์แล้วนั้นก็สามารถสมรสกันเองได้

3.การสมรสจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อชายและหญิงได้จัดงานฉลองมงคลสมรสเป็นที่ประจะกษ์แก่สาธารณชน

4.ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายไม่สามารถเรียกร้องเอาของหมั้นคืนจากฝ่ายหญิงได้  

5.ทรัพย์สินที่ได้มาโดยพินัยกรรมที่ระบุว่าเป็นสินสมรสจะถือว่าเป็นสินสมรสทันที

 

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า คำตอบข้อไหนไม่ถูกต้องคะ ลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ !  

 

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

ข้อมูลจากhttp://old-book.ru.ac.th/e-book/l/LW104(49)/LW104(49)-2-3.pdf

  

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น