“ชีวิตชาวบ้านไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ทำไมเราเหมือนอยู่ที่เดิม?”
การเปรียบเทียบเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากในหมู่วัยรุ่นเพราะเราเติบโตมาในสังคมที่บีบให้เราต้องแข่งขันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรียน สอบ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต แม้จะมีวลี ‘แข่งกับตัวเอง ไม่ต้องแข่งกับใคร’ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจและปล่อยวางได้
ยิ่งปัจจุบันโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลกับชีวิตวัยรุ่นมาก เราเห็นความสำเร็จคนอื่นผ่านโลกโซเชียล มีไลฟ์โค้ชมากมายที่คอยบอกว่าอายุเท่าไหร่ควรมีอะไร ควรทำอะไร แล้วถ้าเกิดเราทำไม่สำเร็จ แปลว่าเราล้มเหลวอย่างนั้นหรือ ? วันนี้พี่จะพาสำรวจปัญหา Social Comparison ในหมู่วัยรุ่นและวิธีจัดการเมื่อเราเริ่มไม่ชอบตัวเองเมื่อเห็นความสำเร็จของคนอื่น
ทฤษฎี Social Comparison
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Leon Festinger ได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) ในปี ค.ศ.1954 โดยตั้งสมมติฐานว่า การเปรียบเทียบเป็นวิธีที่บุคคลใช้วัดคุณค่าทางสังคมของตนเอง มนุษย์ไม่ได้ชอบที่จะเปรียบเทียบ แต่มันเป็นกระบวนการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกถึงการมีตัวตนอยู่ของตนเอง การประเมินหรือเปรียบเทียบความสามารถตัวเองกับบรรทัดฐานทางสังคมจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิต
โดยธรรมชาติเราจะเลือกเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือในวงสังคมเดียวกัน น้อง ๆ เคยสังเกตมั้ยว่าเรามักจะไม่เปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลที่ไม่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสนใจ แต่ถ้าคนที่ใกล้ชิดหรือคนที่มีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน เรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนเหล่านั้นเพื่อให้ได้คำตอบทั้งที่เราพอใจและไม่พอใจ
ตามทฤษฎีการเปรียบเทียบถูกใช้แตกต่างออกไปตามวัตถุประสงค์ของปัจเจก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ
การเปรียบเทียบแบบแรก คือ Upward Comparison (การมองขึ้นบน) หรือการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่มีความสามารถเหนือกว่าเรา การเปรียบเทียบนี้นำไปสู่แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เราลุกขึ้นมาพัฒนาตนเองเพื่อให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมหรือเหนือกว่าบุคคลนั้น ๆ แต่ถ้าคนที่เราเปรียบเทียบอยู่ในจุดที่เหนือกว่าเรามากก็อาจทำให้เรารู้สึกไม่ชอบตัวเองหรือนำไปสู่ปัญหา low self-esteem
การเปรียบเทียบแบบที่สอง คือ Downward Comparison (การมองลงล่าง) หรือการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลที่มีความสามารถต่ำกว่าเรา การเปรียบเทียบนี้จะทำให้เรารู้สึกดีและภาคภูมิใจกับตนเอง แต่ความรู้สึกนี้จะเป็นเพียงความรู้สึกดีชั่วคราวที่เข้ามาช่วยเยียวยาจิตใจในระยะสั้น ๆ เท่านั้น และในบางครั้งที่เราเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเรามาก ๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดทั้งต่อตัวตนของตนเองและบุคคลที่เราเปรียบเทียบด้วย
วัยรุ่นกับปัญหา Social Comparison
โลกโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่การแข่งขันสำหรับบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของแต่ละคน ชีวิตใครเก๋ ชีวิตใครน่าสนใจ ก็มาแชร์ให้คนอื่นได้ชมได้เสพ ตัวเราในฐานะผู้ชมก็อาจจะหลงลืมไปว่าแต่ละอย่างที่เราเห็นในจอมือถือล้วนผ่านการเรียบเรียง ปรับแต่ง คิดมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชีวิตแต่ละคนในวงการโซเชียลมีเดียจะมีแต่คนชีวิตดี ๆ ใครจะอยากลงด้านแปลก ๆ ให้คนอื่นเห็นกันล่ะ จริงมั้ย ?
Checklist อาการที่บ่งบอกว่าเราอาจตกอยู่ในกับดับของ Social Comparison
- แคร์ยอดไลก์ นั่งรอ comment
- ซื้อของตามคนรอบข้าง ทั้งที่ไม่ได้อยากได้จริง ๆ
- แอบ ‘ส่อง’ แอคเคาท์คนอื่นเพื่อเปรียบเทียบกับตัวเอง
- มักเป็นกังวลว่าคนรอบข้างจะมองตัวเองยังไง
- ให้คุณค่ากับคำพูดคนรอบข้าง มากกว่าที่จะรับฟังความต้องการของตัวเอง
- ยอมทิ้งความเป็นตัวเองเพื่อให้คนอื่นพอใจ
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พฤติกรรมพวกนี้กำลังทำให้วัยรุ่นค่อย ๆ สูญเสียตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไป และค่อย ๆ กลายเป็นใครสักคนในแบบที่สังคมคาดหวังให้เป็น ไม่ใช่คนที่เราอยากจะเป็น ซ้ำร้ายชีวิตดี ๆ ของผู้คนในโลกออนไลน์ยังทำให้ความภาคภูมิใจในตัวตนของเราลดลง
ให้คุณค่าความรู้สึกตัวเองก่อนตัวตนจะหล่นหาย
กฎเหล็กข้อหลัก ๆ ที่จะช่วยให้น้อง ๆ ผ่านวิกฤต Social Comparison นี้ไปได้ ท่องให้ขึ้นใจ
‘ไม่ต้องกดดันมากไป ทุกคนมีจังหวะของตัวเอง’
โลกวิ่งเร็ว คนอื่นวิ่งแซง เราไม่จำเป็นต้องเร่งสปีดตัวเองเพื่อให้ทันใคร การวิ่งช้าไม่ใช่เรื่องแย่ การฟังเสียงตัวเองต่างหากที่สำคัญ ค่อยเป็น ค่อยไปทีละก้าว อย่ายอมให้เสียงคนรอบข้างดังกว่าเสียงในใจของตัวเองนะ
ถ้าวันไหนที่น้อง ๆ รู้สึกว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไม่ได้จุดประกายหรือสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง แต่กลับทำให้รู้สึกแย่ต่อตัวเอง ก็ให้รีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่มันบั่นทอนจิตใจและหันมาพูดคุย ปลอบโยนและทำความเข้าใจกับตัวเองให้มากขึ้น
น้อง ๆ ลองจินตนาการให้ตัวเองเป็นต้นไม้สักต้น กว่าต้นไม้ต้นนั้นจะโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงออกดอก ออกผล ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอากาศ แสงแดด ดิน น้ำ และการดูแลเอาใจใส่
ซึ่งถ้าให้จินตนาการ น้อง ๆ ก็คงจะเลือกจะเป็นต้นไม้ที่ต่างกัน บางคนอาจจะอยากเป็นต้นมะม่วง บางคนอาจจะอยากเป็นต้นทานตะวัน เห็นมั้ย แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว แล้วต้นไม้พวกนี้มันจะโตหรือออกดอกพร้อมกันได้ยังไงล่ะ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าน้อง ๆ จะเป็นต้นไม้ต้นอะไร ก็อย่าลืมใจดีกับตัวเอง เข้าใจตัวเองให้มาก ๆ ประสบความสำเร็จเร็วไม่ใช่เรื่องผิด ประสบความสำเร็จช้าก็ไม่ใช่เรื่องผิดเหมือนกัน การยอมรับว่ายังไม่ใช่จังหวะของเราและลดการเปรียบเทียบที่ toxic กับชีวิตลงก็อาจจะทำให้น้อง ๆ มองเห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ดีก็ได้
ใครมีวิธีรับมือวิกฤต social comparison ในชีวิตหรือให้กำลังใจตัวเองและคนรอบข้างในวันที่รู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นดั่งใจยังไงกันบ้าง มาแบ่งปันเรื่องราวให้เพื่อน ๆ อ่านได้นะ ;-)
ที่มา https://www.psychologytoday.comhttps://www.verywellmind.com/what-is-the-social-comparison-process-2795872
0 ความคิดเห็น