ข้อความนี้คือโวหารประเภทใด? สรุป 6 โวหารการเขียน ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D เคยเจอข้อสอบที่ให้ข้อความมายาวๆ แล้วให้วิเคราะห์ว่าคือ “โวหารประเภทใด” “วิธีการเขียนประเภทใด” กันมั้ยคะ? ซึ่งโจทย์ประเภทนี้เป็นเรื่อง ‘โวหารการเขียน’ ค่ะ ที่ต้องรู้จักโวหารการเขียน เพราะในหลักสูตรมีมาตรฐานการเรียนรู้ว่า  ผู้เรียนต้องเขียนสื่อสารในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ภาษาได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ และสามารถแสดงแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ผ่านการใช้โวหารต่างๆ ได้ ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ได้สรุป 6 โวหารการเขียน ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์ มาให้ทุกคน ได้นำความรู้ไปทดลองทำข้อสอบที่แปะเอาไว้ด้านล่างกันค่ะ

ข้อความนี้คือโวหารประเภทใด? สรุป 6 โวหารการเขียน ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์
ข้อความนี้คือโวหารประเภทใด? สรุป 6 โวหารการเขียน ออกสอบบ่อย พร้อมทริคสังเกตโจทย์

ความหมายของโวหาร

โวหาร หมายถึง สำนวน หรือถ้อยคำ ที่นำมาใช้ประกอบการเขียน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ หรือเกิดความรู้สึกตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ โดยสามารถจำแนกสำนวน และวิธีการเขียนต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลักๆ ได้แก่ อธิบายโวหาร บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร และสาธกโวหาร เป็นต้น  ในแต่ละแบบก็จะมีลักษณะเฉพาะตัว รวมไปถึงความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป  

อธิบายโวหาร  

เป็นการเขียนขยายความ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน มีการให้คำนิยาม การอธิบายขั้นตอน อธิบายเหตุและผล และการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง ลักษณะภาษาที่ใช้จะกระชับ ตรงไปตรงมา มักพบได้ในงานเขียนวิชาการ หนังสือเรียน และตำราต่างๆ  

หลักการสังเกตอธิบายโวหาร  

การเขียนอธิบายโวหารสามารถทำได้ 5 วิธี เวลาเจอโจทย์ลองสังเกตให้ดีว่ามีการเขียนแบบ 5 วิธีนี้มั้ย ถ้ามีก็แปลว่าข้อนั้นคือ อธิบายโวหาร แน่นอน เรามาดูไปพร้อมๆ กันว่า แต่ละวิธีสามารถเขียนได้อย่างไรบ้าง  

1.ให้คำนิยาม เป็นการเขียนอธิบายความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่า หมายถึง, คือ, เป็น  

ตัวอย่าง : ซาแซง คือ กลุ่มแฟนคลับที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของศิลปิน บางคนมักจะสะกดรอยตาม ซื้อ-ขายข้อมูลส่วนตัวศิลปิน หรือถึงขั้นยืนเฝ้าหน้าหอพักศิลปินทั้งวันทั้งคืน และพวกเขามักจะคาดหวังให้ศิลปินจดจำตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลไม่ใช่ในแค่แฟนคลับเหมือนคนทั่วไป  

2.อธิบายตามขั้นตอน เป็นการเขียนอธิบายที่แสดงขั้นตอนไปตามลำดับ มักใช้กับการอธิบายกระบวนการ กิจกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีขั้นตอน  

ตัวอย่าง : เทคนิคทำไข่ต้มยางมะตูม เริ่มจากล้างเปลือกไข่ให้สะอาด เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกปะปนตอนต้มไข่ ตั้งน้ำให้เดือด ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงไป จากนั้นใส่ไข่ลงไปตอนน้ำเดือด จับเวลาประมาณ 4-5 นาที  แล้วรีบตักขึ้นแช่น้ำเย็นทันที

3.ให้ตัวอย่าง เป็นการเขียนอธิบายที่มีการยกตัวอย่างประกอบเรื่อง มักมีคำว่า เช่น, ตัวอย่างเช่น, ได้แก่, อาทิ

ตัวอย่าง : ผักสดที่จะนำมาทำสลัด หาได้ไม่ยากเลย ทั้งจากตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีผักมากมายให้ได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นผักไทย อย่างแตงกวา มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี และผักกาดหอม หรือผักของฝรั่ง อย่างแครอท ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลีสีม่วง และบีทรูท เป็นต้น

4.อธิบายเหตุและผล เป็นการเขียนอธิบายที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า สาเหตุนั้น ๆ จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา หรือผลลัพธ์นั้น ๆ เกิดจากสาเหตุอะไร

ตัวอย่าง : การรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ อาการเบื้องต้น คือ ปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร บางคนก็คลื่นไส้และอาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้ปวดท้องขั้นรุนแรงจนถึงกระเพาะอาหารทะลุได้  

5.เปรียบเทียบ เป็นการเขียนอธิบายที่ชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกัน

ตัวอย่าง : การดูแลต้นส้มให้ผลิดอกออกผลได้ดั่งใจ ไม่ต่างอะไรกับการดูแลเด็กอ่อน เพราะส้มใช้เวลา 9 เดือน นับแต่วันที่ผลิดอกจนถึงวันเก็บผล เหมือนกับคนที่อุ้มท้อง และส้มยังมีความละเอียดอ่อนกับน้ำ ดิน อากาศ รวมไปถึงแมลง จึงต้องทะนุถนอมเหมือนกับเด็กทารก

บรรยายโวหาร

เป็นการเขียนเล่าเรื่องราว หรือเหตุการณ์ ให้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม อย่างไร โดยที่จะมีลักษณะการเขียนที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา เน้นสาระสำคัญ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างง่ายดาย สามารถพบได้ในงานเขียนทั่วไป เช่น บทความ ตำรา ข่าว นิยาย วิทยานิพนธ์ บันทึก จดหมายเหตุ เป็นต้น  

หลักการสังเกตบรรยายโวหาร  

  • เขียนโดยใช้หลัก 5W 1H (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมถึงทำ และทำอย่างไร)
  • เน้นเขียนสาระสำคัญ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่เขียนหลุดจากสาระสำคัญที่ตั้งประเด็นไว้
  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่มีการใช้โวหารอื่นๆ ประกอบ เขียนอย่างตรงไปตรงมา
  • เรียบเรียงเนื้อหาให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน มีการลำดับเวลาก่อนและหลัง

ตัวอย่างบรรยายโวหาร : นักร้องประสานเสียง  (ใคร)  เปล่งเสียงพร้อมเพรียงกัน (ทำอะไร)  เป็นระดับตามทำนองที่ฝึกฝนมาอย่างดี (อย่างไร)

พรรณนาโวหาร

เป็นการเขียนที่เน้นให้รายละเอียดภาพและอารมณ์ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ และรู้สึกคล้อยตาม หรือที่เรียกว่าเกิด “จินตภาพ” ลักษณะภาษาที่ใช้จะไม่กระชับ แต่จะใช้ถ้อยคำที่สวยงาม ไพเราะ มีการเล่นคำ เล่นเสียง รวมถึงใช้คำวิเศษณ์หรือคำขยายคำนามเยอะ ในการให้รายละเอียดหรือขยายภาพ  

หลักการสังเกตพรรณนาโวหาร

  • อ่านแล้วต้องเห็นภาพตาม รับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึก
  • มีการให้รายละเอียดที่เกี่ยวกับ รูป รส กลิ่น เสียง
  • มีการใช้ภาพพจน์ หรืออุปมาโวหารประกอบ
  • เน้นสำบัด สำนวน ใช้คำเยิ่นเย้อ

ตัวอย่างพรรณนาโวหาร : ฝนตกกระหน่ำจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เสื้อผ้าเปียกปอนเข้าแนบลำตัว

เทียบความแตกต่างของการเขียนบรรยาย และพรรณนา  

บรรยายโวหาร : มานีเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรีในวันหยุดยาวด้วยรถทัวร์ที่จองล่วงหน้าหลายสัปดาห์ เพราะเธอรู้ว่าช่วงวันหยุกยาวจะทำให้ตั๋วหายากกว่าปกติ

 

พรรณนาโวหาร : ช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ สถานีขนส่งแน่นขนัดไปด้วยผู้คน บ้างก็เดินทางไปเที่ยวหาประสบการณ์ๆ ให้กับชีวิต บ้างก็เดินทางกลับไปหาพ่อแม่ที่กำลังรออยู่ที่บ้าน สำหรับมานีแล้วเธอจัดอยู่ในกลุ่มที่สอง หลักจากที่ไม่ได้กลับไปบ้านเกิดมานาน วันนี้เธอจะได้กลับไปพบหน้าครอบครัวที่เธอคิดถึงสุดใจ โชคดีที่เธอรู้ว่าวันหยุดยาวเช่นนี้ คนจะเยอะเป็นพิเศษจึงจองตั๋วล่วงหน้าไว้ ไม่ต้องมาหาซื้อตั๋วที่สถานีเหมือนหลายๆ คน มิเช่นนั้นเธอคงไม่ได้รถสักเที่ยวให้กลับไปกดพ่อแม่ในวันนี้

 

หมายเหตุ : การเขียนพรรณนา บางครั้งก็ไม่ได้มีข้อความที่ยืดยาวเหมือนตัวอย่างข้างต้นนะคะ บางโจทย์อาจจะให้มาแค่ข้อความมาสั้นๆ ก็ได้ ดังนั้น น้องๆ ต้องสังเกตให้ดีว่าประโยคที่โจทย์ให้มีการเขียนที่ตรงตามหลักการเขียนพรรณนาควบคู่กันไปด้วย

นอกจากอธิบายโวหาร บรรยายโวหาร และพรรณนาโวหาร ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมี โวหารอื่นๆ ที่มักจะใช้เป็นส่วนเสริมของทั้ง 3 โวหารข้างต้นอีกด้วยค่ะ มาดูไปพร้อมๆ กันว่ามีโวหารอะไรบ้าง

อุปมาโวหาร  

เป็นการเขียนเพื่อเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนและเกิดอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น มักใช้เสริมกับโวหารอื่นๆ อย่าง บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านําไปเสริมโวหารประเภทใด  

หลักการสังเกตอุปมาโวหาร

มักมีคำที่ใช้เปรียบเทียบ ดังนี้ เหมือน เสมือน ดุจ ดั่ง คล้าย เท่า ประหนึ่ง ปาน ราวกับ เฉกเช่น เพียง และคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ อยู่ในข้อความ

ตัวอย่างอุปมาโวหาร : เขามีปัญญาประดุจดั่งอาวุธ, เสียงหวานปานนกโกกิลา, ท่าทางเธอราวกับนางพญา  

 

ตัวอย่างพรรณนา+อุปมา : ดวงอาทิตย์สีส้มกลมโตกำลังโผล่ขึ้นเหนือพื้นน้ำ เหมือนลูกส้มเขียวหวานลอยโผล่พ้นขอบทะเล ท้องฟ้าเริ่มมีสีชมพูเรื่อตัดกับน้ำทะเลสีครามใส

เทศนาโวหาร  

เป็นการเขียนที่เน้นการโน้มน้าว หรือชักจูงใจผู้อ่าน เกิดความรู้สึกคล้อยตาม และอยากปฏิบัติตาม มีเนื้อหาสั่งสอน ให้ข้อคิด คติเตือนใจ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการให้โอวาท อบรมสั่งสอน และมักจะแทรกอยู่ในโวหารชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน  

หลักการสังเกตเทศนาโวหาร

มีการยกหลักเหตุผล ตัวอย่าง หลักฐาน ข้อเท็จจริง สุภาษิต คติธรรม และสัจธรรมต่างๆ มาประกอบ

ตัวอย่างเทศนาโวหาร :  

  • การอบรมสั่งสอนลูกเคร่งครัดมากมายเกินไปก็อาจเป็นผลร้ายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีเลี้ยงลูกที่ดีก็คือ เดินทางตามทางสายกลาง อย่าให้ตึงหรือหย่อนเกินไป
  • เราควรเห็นใจคนที่ทำอะไรผิดพลาด ถึงแม้จะช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้ ก็ไม่ควรซ้ำเติมให้เขารู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

สาธกโวหาร

เป็นการเขียนที่มีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ หรือเรื่องราวประกอบ เพื่อสนับสนุนให้ข้อความมีความหนักแน่น และน่าเชื่อถือมากขึ้น บางครั้งอาจมีการใช้คำที่แสดงการยกตัวอย่าง คือคำว่า เช่น,ได้แก่  มักจะใช้เสริมอยู่ในเทศนาโวหาร หรืออธิบายโวหาร

หลักการสังเกตสาธกโวหาร

มีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ประกอบ เช่น นิทาน ตำนาน ประสบการณ์

ตัวอย่างสาธกโวหาร : พลานุภาพของการแตกความสามัคคี ส่งผลเสียหลายประการ ดังเห็นได้จากเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ ที่กล่าวถึงโทษของการแตกความสามัคคีของกษัตริย์ในแคว้นวัชชี จนทำให้เสียเมือง

สรุปทริคจำโวหารการเขียน

  • อธิบายโวหาร = ขยายความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • บรรยายโวหาร = กระชับ ตรงไปตรงมา
  • พรรณนาโวหาร = เน้นให้เห็นภาพ
  • อุปมาโวหาร = เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่ง
  • เทศนาโวหาร = มีใจความสั่งสอน
  • สาธกโวหาร = ยกตัวอย่าง/เรื่องราวประกอบ

อย่างที่พี่แป้งบอกไปว่าการทำโจทย์เรื่องโวหารการเขียน น้องๆ ต้องวิเคราะห์ และสังเกตให้ดีว่าโจทย์ให้อะไรมาบ้าง เพราะฉะนั้นเรามาลองฝึกทำโจทย์เรื่องนี้ ด้วยข้อสอบ 9 วิชาสามัญ วิชาภาษาไทย จากโครงการ Dek-D Pre-Admission รอบธันวาคม ปี 2564 กันค่ะ

 

ข้อความต่อไปนี้เขียนด้วยโวหารประเภทใดเป็นสำคัญ

กล่าวนัยหนึ่งว่า ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย คือ ดารมอบสถานภาพเจ้าของประเทศให้แก่ประชาชนทุกคนโดยเสมอภาคกัน ดังนี้แล้วปัจเจกชนพึงตระหนักเสมอว่า แม้แต่ละคนจะมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ทว่าคนอื่นก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพนั้นเสมอด้วยตนเช่นกัน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พลเมืองของประเทศประชาธิปไตยต้องเป็นผู้มีมารยาท เคารพผู้อื่นเสมือนเคารพตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนต้องมีความสำนึกในหน้าที่ของตนในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคมในฐานะที่ต่างก็เป็นเจ้าของประเทศให้จังหนักด้วย

  1. บรรยายโวหาร
  2. พรรณนาโวหาร
  3. เทศนาโวหาร
  4. สาธกโวหาร
  5. อธิบายโวหาร

น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่า ข้อนี้เป็นโวหารแบบไหนคะ? ลองคอมเมนต์คำตอบที่คิดว่าใช่ด้านได้เลยค่ะ ก่อนตอบลองพิจารณากันดี ๆ อย่าโดนโจทย์หลอกเอานะ!  

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไร ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น