รวมให้แล้ว! สำนวนไทยความหมายคล้ายกัน พร้อมคู่สำนวนชวนสับสน ออกสอบบ่อย

‘สำนวนไทย’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย นำมาออกสอบทุกปี ส่วนใหญ่มักถามว่าประโยคที่ให้มาตรงกับสำนวนไทยสำนวนใด ซึ่งตัวเลือกที่นำมาให้น้อง ๆ เลือก ก็มักจะเป็นสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จึงได้รวบรวมสำนวนที่ออกสอบบ่อย และจัดหมวดหมู่สำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกัน พร้อมจับคู่คู่หูสำนวนที่ชวนสับสนมาให้น้องๆ ทุกคนจด และจำ เพื่อนำไปใช้ทั้งในการสอบ และในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องตามความหมายกันค่ะ

รวมให้แล้ว! สำนวนไทยความหมายคล้ายกัน พร้อมคู่สำนวนชวนสับสน ออกสอบบ่อย
รวมให้แล้ว! สำนวนไทยความหมายคล้ายกัน พร้อมคู่สำนวนชวนสับสน ออกสอบบ่อย

ตัวอย่างโจทย์เรื่องสำนวนที่พบบ่อย

  • ข้อใดใช้สำนวนไม่ถูกต้อง
  • จากข้อความต่อไปนี้ตรงกับสํานวนข้อใด
  • สำนวนในข้อใดต่างจากพวก
  • สำนวนใดเหมาะสมที่จะเติมในช่องว่างของข้อความต่อไปนี้

สำนวนคืออะไร?

สำนวน คือ ถ้อยคำเชิงเปรียบเทียบที่ถูกเรียบเรียงให้สั้น กระชับ สละสลวย คมคายกินใจผู้ฟัง มีความหมายไม่ตรงตามตัว ต้องอาศัยการตีความ เพื่อให้เข้าใจถึงนัยยะที่แฝงอยู่ โดยที่จำนวนคำในสำนวนมีตั้งแต่ 2-12 คำ นอกจากนี้ สำนวนยังสามารถแยกย่อยออกเป็น “สุภาษิต” และ “คำพังเพย”

สุภาษิต คือ คติสอนใจ ที่มีลักษณะคล้ายสำนวนแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอน หรือให้ข้อคิด เพื่อให้ทำความดี เน้นการแสดงหลักความจริงของคน และสังคมอย่างเป็นเหตุเป็นผล ส่วนใหญ่เรามักจะเข้าใจความหมายไปในทางสัจธรรม หรือความจริงที่อ้างอิงเรื่องศาสนาด้วย

คำพังเพย คือ สำนวน หรือถ้อยคําที่มีการเปรียบเทียบเรื่องราว หรือเหตุการณ์ โดยอ้างอิงจากวิถีชีวิต การใช้ชีวิตของคนสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะให้ความหมายไปในทางเสียดสีสังคม ให้ความรู้สึกประชดประชัน เพื่อสะท้อนความคิด เป็นข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้

ตัวอย่างสำนวน สุภาษิต คำพังเพย  

สำนวน : ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึง ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตนเอง

สุภาษิต : น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง เมื่อมีโอกาสให้รีบฉวยโอกาสไว้

คำพังเพย : ทำนาบนหลังคน หมายถึง การเอารัดเอาเปรียบเบียดบังกำไรจากผู้อื่น

ที่มาของสำนวน

สำนวนไทยมีมากกว่า 100 สำนวน โดยแต่ละสำนวนต่างก็มีที่มาหลากหลายประเภท คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ ได้รวบรวมประเภทที่มาและตัวอย่างมาให้น้องๆ ทุกคนแล้วค่ะ

1. สำนวนที่มาจากธรรมชาติ - เป็นสำนวนที่เทียบเคียงมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  

  • คลื่นกระทบฝั่ง หมายถึง ข่าวหรือเรื่องราวที่ครึกโครมขึ้นแล้วกลับเงียบหายไป  
    • เปรียบเปรยกับคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่งแล้วก็หายไป

2. สำนวนที่มาการกระทำและวิถีชีวิต  -  เป็นสำนวนที่เทียบเคียงมาจากการดำรงชีวิต เช่น  ปัจจัยสี่  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  พาหนะ  

  • ก้นหม้อไม่ทันดำ หมายถึง คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันได้ไม่นานก็หย่าร้าง  
    • มีที่มาจากการหุงข้าวในสมัยก่อนต้องใช้หม้อดินและเตาฟืน เมื่อตั้งหม้อข้าวบนเตาที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟนานๆ เข้า เขม่าที่เกิดจากควันไฟจะขึ้นมาติดที่ก้นหม้อทำให้ก้นหม้อดำ

3. สำนวนจากประเพณีและวัฒนธรรม - เป็นสำนวนที่เทียบเคียงมาจากประเพณี  วัฒนธรรม  

  • ฝังรก ฝังราก หมายถึง ตั้งถิ่นฐานประจำ
    • มีที่มาจากประเพณีสมัยก่อนที่พ่อแม่มักจะฝังรกของเด็กไว้กับรากของต้นมะพร้าว โดยไว้ตรงที่ดินที่ตั้งใจจะยกให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกคนนี้ตอนโต

4. สำนวนจากศาสนา - เป็นสำนวนที่เทียบเคียงมาจากศาสนาและความเชื่อ

  • กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง ตัดขาดไม่คบหาสมาคมกันต่อไป
    • มีที่มาจากการกรวดน้ำ แต่เป็นการกรวดน้ำโดย คว่ำภาชนะที่ใช้

5. สำนวนจากวรรณคดี - เป็นสำนวนที่เทียบเคียงมาจากวรรณคดี ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์  

  • ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง พูดจาหว่านล้อมหรืออ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
    • มีที่มาจากวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ตอนที่ชูชกจะขอสองกุมารจากพระเวสสันดร ชูชกได้พูดจาหว่านล้อมยกยอพระเวสสันดรว่าใจกว้างเหมือนแม่น้ำทั้งห้า

6. สำนวนจากการละเล่น หรือการแข่งขัน  

  • สู้ยิบตา (สู้จนเย็บตา) หมายถึง สู้จนถึงที่สุด สู้อย่างไม่ย่อท้อ สู้ไม่มีถอย
    • สู้ยิบตา กร่อนมาจากสำนวน “สู้จนเย็บตา” มีที่มาจากการพนันชนไก่ ที่ถูกคู่ชนจิกแทงจนหน้าตาแตกจนมองไม่เห็น และต้องมีการรักษาไก่โดยการเย็บที่ตา เพื่อให้ไก่กลับไปสู้อีกครั้ง

รวมสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ออกสอบบ่อย!

ถ้าน้องๆ สังเกตกันจะเห็นว่า สำนวนไทยหลายๆ สำนวนจะมีความหมายใกล้เคียงกัน ในบทความนี้พี่แป้งได้รวบรวมสำนวนที่ออกสอบบ่อย และจัดหมวดหมู่สำนวนที่ความหมายใกล้เคียงกัน มาให้น้องๆ แล้วค่ะ

หมวดที่ 1 สำนวนที่เกี่ยวกับการได้ของที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง

สำนวนในหมวดนี้ใช้เปรียบเทียบกับคนที่ได้สิ่งที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง หรือได้บางสิ่งไปแต่ตัวเองไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้

  • ตาบอดได้แว่น หมายถึง ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
  • นิ้วด้วนได้แหวน หมายถึง ได้ของที่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง
  • หัวล้านได้หวี หมายถึง ได้ของที่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง

หมวดที่ 2 สำนวนที่เกี่ยวกับการได้ของมีค่ามา แต่ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น

สำนวนในหมวดนี้ใช้เปรียบเทียบถึงคนที่มีสิ่งที่ดีใกล้ตัว เช่น คนรักที่ดี หน้าที่การงานดี แต่กลับไม่เห็นคุณค่า ปล่อยปะละเลย จนในที่สุดสิ่งที่ดีเหล่านั้นก็หลุดมือไป

  • ไก่ได้พลอย หมายถึง คนที่ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีค่า
  • วานรได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งมีค่าที่ได้มาหรือที่มีอยู่

Note : สำหรับหมวดที่ 1 และหมวดที่2 มักจะเป็นกลุ่มสำนวนที่ทำให้หลายคนสับสนบ่อยๆ เนื่องจากมีคำว่า ‘ได้’ อยู่ในทุกสำนวน ดังนั้น เวลาเจอโจทย์ที่มีตัวเลือกเกี่ยวกับสำนวนเหล่านี้ น้องๆ อาจจะต้องวิเคราะห์ประโยคให้ดี เพื่อที่จะได้เลือกใช้สำนวนให้ถูกต้อง

หมวดที่ 3 สำนวนที่เกี่ยวกับการโต้ตอบหรือลดตัวไปยุ่งกับคนพาล

สำนวนหมวดนี้ใช้เป็นคติสอนใจว่าเราไม่ควรเสียเวลาไปทะเลาะ ต่อล้อต่อเถียงกับคนไม่ดี เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีแต่ตัวเราที่เสียศักดิ์ศรี เสียเวลา เหมือนกับการนำทองที่มีราคาสองกว่าไปถูกับกระเบื้องที่มีค่าน้อยกว่า

  • เอาทองไปรู่กระเบื้อง หมายถึง โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาลหรือคนที่มีฐานะตํ่ากว่า เป็นการไม่สมควร
  • เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ หมายถึง อย่าลดตัวไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ต่ำกว่า หรือการโต้ตอบ ทะเลาะกับคนพาล หรือคนที่มีฐานะต่ำกว่า
  • เอาเนื้อไปแลกหนัง หมายถึง การโต้ตอบหรือเอาเรื่องกับคนอันธพาลจะทำให้ตนเองเดือดร้อน ได้ไม่คุ้มเสีย

หมวดที่ 4 สำนวนที่เกี่ยวกับการคัดค้านผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่า

สำนวนในหมวดนี้ใช้เปรียบเทียบถึงการคิดเอาชนะผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะสูงกว่า หรือผู้มีอำนาจมากกว่า ซึ่งมักจะไม่สำเร็จ เจอกับความล้มเหลว และอาจส่งผลร้ายต่อตัวเองด้วย  

  • เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง หมายถึง  คัดค้านผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะสูงกว่า หรือผู้มีอำนาจมากกว่าย่อมไม่สำเร็จ
  • เอาเนื้อสู้เสือ หมายถึง ผู้ไม่มีอำนาจต่อสู้กับผู้มีอำนาจ

หมวดที่ 5 สำนวนที่เกี่ยวกับการร้อนตัว

  • กินปูนร้อนท้อง หมายถึง คนที่แสดงอาการมีพิรุธ มีท่าทีร้อนตัวกลัวความผิด จึงรีบแก้ตัวไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่มีใครรู้หรือสนใจด้วยซ้ำ
  • วัวสันหลังหวะ หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัว เคยทำความผิดไว้ ทําให้คอยหวาดระแวงอยู่เสมอ

ทั้งสองสำนวนนี้คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันตรงที่กินปูนร้อนท้องมีการเน้นเรื่องเวลาที่เพิ่งเกิดขึ้นชัดเจน ส่วนวัวสันหลังหวะ จะเห็นว่าคนทำผิดอาจจะทำมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครรู้จึงหวาดระแวงกลัวคนจะรู้

หมวดที่ 6 สำนวนที่เกี่ยวกับการหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว  

สำนวนหมวดนี้นิยมใช้เปรียบเทียบคนที่ชอบหาเรื่องไม่เป็นเรื่องใส่ตัว แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่ใช่เรื่องของตัวเองเลยก็ตาม จนทำให้ตัวเองได้รับผลกระทบ

  • เอามือซุกหีบ  หมายถึง หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่เหตุ
  • แกว่งเท้าหาเสี้ยน หมายถึง คนที่ชอบหาเรื่องใส่ตัว ไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นโดยไม่จำเป็น จนตัวเองได้รับความเดือดร้อน
  • หาเหาใส่หัว หมายถึง  รนหาเรื่องเดือดร้อน เรื่องน่ารำคาญใส่ตัวเอง

หมวดที่ 7 สำนวนที่เกี่ยวกับการหวังผลประโยชน์

  • หมาสองราง หมายถึง คนที่มีนิสัยเข้ากับคนได้ทั้งสองฝ่าย ที่เป็นศัตรูกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • นกสองหัว  หมายถึง คนที่ทำตัวเข้ากับทั้งสองฝ่าย ที่ไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • สองฝักสองฝ่าย หมายถึง ทำตัวเข้าด้วยทั้งสองข้าง ซึ่งมักไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • เหยียบเรือสองแคม หมายถึง ทำทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย
  • นกมีหู หนูมีปีก  หมายถึง  คนที่ทำอะไรกลับกลอก เข้าพวกกับทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังประโยชน์ของตนเอง

หมวดที่ 8 สำนวนที่กล่าวถึงเรื่องง่ายๆ แต่คนไม่ได้คิดถึง  

  • หญ้าปากคอก หมายถึง เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ ควรจะตอบได้ทันที แต่ก็คิดไม่ถึง ตอบไม่ได้
  • เส้นผมบังภูเขา หมายถึง เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่

หมวดที่ 9 สำนวนเกี่ยวกับการตอบโต้ไม่ให้ตนเสียเปรียบ

  • เกลือจิ้มเกลือ  หมายถึง  แก้แค้นให้สาสมกับที่ทำไว้, ไม่ยอมเสียเปรียบกัน
  • หนามยอกเอาหนามบ่ง หมายถึง ตอบโต้หรือแก้แค้นด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน

หมวดที่ 10 สำนวนที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายร้ายพอ ๆ กัน

  • ขนมพอสมน้ำยา หมายถึง พอๆ กัน ไม่มีใครดีไปกว่ากัน
  • ขิงก็ราข่าก็แรง หมายถึง จัดจ้านพอกัน, ต่างมีอารมณ์ร้อนพอกัน, ต่างไม่ยอมลดละให้กัน
  • ขมิ้นกับปูน หมายถึง ชอบทะเลาะกันเมื่ออยู่ใกล้กัน, ไม่ถูกกัน
  • ไม้เบื่อไม้เมา หมายถึง ไม่ลงรอยกัน, ขัดแย้งกันเป็นประจำ

สำนวน ‘ขมิ้นกับปูน’ และ ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ คล้ายกันตรงที่ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะไม่ชอบกัน แต่ต่างกันตรงที่ขมิ้นกับปูน จะเน้นเรื่องการทะเลาะเวลาอยู่ใกล้กัน ส่วนไม้เบื่อไม้เมา เป็นการไม่ลงรอยกัน เพราะโกรธกันมาก่อน  

รวมสำนวนไทยออกสอบบ่อย!
รวมสำนวนไทยออกสอบบ่อย!

รวมคู่สำนวนที่มักสับสนบ่อย!

สำนวนไทยหลายๆ สำนวนมักจะมีคำบางคำที่อยู่ในแต่ละสำนวนเหมือนกัน เช่น คำว่า ‘ได้’ ‘เอา’ ซึ่งมักจะทำให้หลายคนเกิดความสับสน และเลือกใช้ไม่ถูกต้อง พี่แป้งเลยรวบรวมคู่สำนวนที่ทำให้หลายคนสับสนบ่อยๆ มาให้น้อง ๆ ทำความเข้าใจ เพราะในภาษาไทยมีสำนวนที่มีคล้ายกันอยู่หลายสำนวน ซึ่งเป็นสำนวนที่ข้อสอบชอบมาหลอกเพื่อวัดว่าเรารู้จริงหรือเปล่า จะมีสำนวนอะไรบ้าง มาดูกัน!

คู่ที่ 1 ตาบอดได้แว่น/นิ้วด้วนได้แหวน/หัวล้านได้หวี vs ไก่ได้พลอย/วานรได้แก้ว

  • ตาบอดได้แว่น/นิ้วด้วนได้แหวน/หัวล้านได้หวี หมายถึง ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
  • ไก่ได้พลอย/วานรได้แก้ว หมายถึง การที่ได้ของมีค่ามาแต่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งนั้น

ขยายความ : สองสำนวนนี้ความหมายไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ธรรมชาติของคนหัวล้านเขาย่อมรู้ว่าหวีเอาไว้หวีผม แต่ตัวเองไม่มีผมก็ไม่รู้จะเอาหวีไปทำอะไร ในขณะที่ไก่เองก็ไม่มีทางรู้ว่าพลอยเป็นของที่มีค่า ดังนั้น ทั้งสองสำนวนนี้ความหมายจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง

คู่ที่ 2 จับปลาสองมือ vs เหยียบเรือสองแคม

  • จับปลาสองมือ หมายถึง หมายจะเอาให้ได้ทั้ง 2 อย่าง, เสี่ยงทำการสองอย่างพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจไม่สำเร็จทั้ง 2 อย่าง
  • เหยียบเรือสองแคม หมายถึง ทำทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย

ขยายความ : สองสำนวนนี้มีความหมายต่างกันตรงที่ จับปลาสองมือ มักใช้เตือนว่าอย่าทำอะไรสองอย่างพร้อมกัน ระวังจะเสียโฟกัสทั้งสองอย่าง แล้วจะพังหมดทั้งสองอย่าง ส่วนเหยียบเรือสองแคม มักใช้ตำหนิคนที่เข้ากับทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่แข่งกัน

คู่ที่ 3 สอนจระเข้ว่ายน้ำ vs สอนหนังสือสังฆราช

  • สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ แปลว่า สอนสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้วหรือถนัดอยู่แล้ว
  • สอนหนังสือสังฆราช แปลว่า สอนสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว

ขยายความ : ต้องบอกว่าคู่นี้ก็เป็น 2 สำนวนที่ฉุดคะแนนเราได้เหมือนกันค่ะ ถึงแม้ความหมายโดยรวมของสองสำนวนจะหมายถึง ‘การสอนในสิ่งที่คนรู้ดีอยู่แล้ว’ เหมือนกัน แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เพราะต่างกันตรงที่  สอนจระเข้ว่ายน้ำ เป็นการสอนในเรื่องที่ไม่ดี ส่วนสอนหนังสือสังฆราช เป็นการสอนในเรื่องที่ดี

คู่ที่ 4 เข็นครกขึ้นภูเขา vs งมเข็มในมหาสมุทร

  • เข็นครกขึ้นภูเขา หมายถึง ทำงานที่ยากลำบากอย่างยิ่งโดยต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนอย่างมาก หรือบางทีก็เกินกำลังความสามารถหรือสติปัญญาของตน
  • งมเข็มในมหาสมุทร หมายถึง ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้, ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก

ขยายความ : ความหมายโดยรวมของสองสำนวนคล้ายกันตรงที่พูดถึงการ “ทำเรื่องยาก” ทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่ เข็นครกขึ้นภูเขา เน้นความยากที่กระบวนการ ส่วนงมเข็มในมหาสมุทร เน้นความยากที่โอกาสในการสำเร็จ บางครั้งกระบวนการของการทำสิ่งนั้นมันไม่ยาก แต่โอกาสที่จะสำเร็จนั้นยากมาก  

คู่ที่ 5 น้ำซึมบ่อทราย vs เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

  • น้ำซึมบ่อทราย แปลว่า มีรายได้มาเรื่อย ๆ
  • เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน แปลว่า เก็บเล็กผสมน้อย, ทำอะไรที่ประกอบด้วยส่วนเล็กส่วนน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ขยายความ : ถึงแม้ว่าทั้งสองสำนวนเป็นการพูดถึงเรื่องของเงิน หรือรายได้ แต่น้ำซึมบ่อทรายจะเน้นความหมายที่การมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ ส่วนเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน เน้นความหมายที่การรวบรวมรายได้ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา  

คู่ที่ 6 เอาเนื้อสู้เสื้อ vs เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง  

  • เอาเนื้อสู้เสื้อ หมายถึง  คัดค้านผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะสูงกว่า หรือผู้มีอำนาจมากกว่าย่อมไม่สำเร็จ
  • เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง หมายถึง เอาทรัพย์หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้ผู้ที่มีมากกว่า

ขยายความ : ถึงแม้ทั้งสองสำนวนจะมีคำว่า ‘เอา’ ที่เหมือนกัน แต่ความหมายนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ เพราะเอาเนื้อสู้เสื้อ เน้นเปรียบเทียบถึงผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าคิดจะเอาชนะผู้มีอำนาจมากกว่า แต่เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง พูดถึงการเอาทรัพย์หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้ผู้ที่มีมากกว่า  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง  

สำนวนที่มักออกเสียงผิด  

เชื่อว่ายังมีหลายคนที่บางครั้งเผลอใช้สำนวนผิดแบบไม่รู้ตัว พี่แป้งจึงหยิบตัวอย่างสำนวนที่มักออกเสียงผิด หรือสะกดคำผิดจนเคยชินมาให้ลองเช็กกัน น้องๆ จะได้จำและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง หรือถ้าเจอสำนวนไทยเหล่านี้ในข้อสอบ จะได้ตอบถูกโกยคะแนนสบาย ๆ ไปเลย

  1. กงกรรมกงเกวียน (X) ที่ถูกคือ กงเกวียนกำเกวียน ()
    • หมายถึง ทำความผิด ความเลว ความชั่ว ไว้แก่ผู้อื่น ความผิด ความเลว ความชั่วนั้นก็กลับมาสนองผู้ทำเอง
  2. ผลัดวันประกันพรุ่ง (X) ที่ถูกคือ ผัดวันประกันพรุ่ง ()
    • หมายถึง ขอเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
  3. บ่าวช่างยุ (X) ที่ถูกคือ บ่างช่างยุ ()
    • หมายถึง คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
  4. ขนมผสมน้ำยา (X) ที่ถูกคือ ขนมพอสมน้ำยา ()
    • หมายถึง พอๆ กัน ไม่มีใครดีไปกว่ากัน
  5. หยิบเบี้ยใกล้มือ (X) ที่ถูกคือ สิบเบี้ยใกล้มือ ()
    • หมายถึง ของเล็กน้อยที่จะได้แน่ ๆ ควรเอาไว้ก่อน.
  6. ถอดเขี้ยวถอดงา (X) ที่ถูกคือ ถอดเขี้ยวถอดเล็บ ()
    • หมายถึง ละหรือเลิกทำสิ่งไม่ดีที่ผ่านมาในอดีต

มาทดสอบความรู้กัน!  

รู้จักสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกันไปแล้ว ถึงเวลามาทดสอบความรู้ความเข้าใจกันแล้วค่ะ สำหรับข้อสอบเรื่องสำนวนที่นำมาให้น้องๆ ฝึกทำกันในวันนี้มีทั้ง 2 ข้อด้วย เริ่มกันที่ข้อแรกเป็นข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย ปี 2561  

 

ข้อใดมีความหมายสอดคล้องกับข้อความต่อไปนี้

“เอาทรัพย์หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้แก่ผู้ที่มีมากกว่า”

  1. เอาเลือดกับปู
  2. เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง
  3. เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง
  4. เอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง
  5. เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

 

ข้อที่ 2 เป็นข้อสอบ A-Level วิชาภาษาไทย ปี 2565

สำนวนใดควรเติมลงในช่องว่างต่อไปนี้

ประนอมไปสนใจเรื่องของคนอื่น จนทำให้ตัวเองได้รับความเดือดร้อน เธอไม่น่าไปยุ่งเรื่องของเขาเลย_____________แท้ๆ  

  1. มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
  2. มือถือสากปากถือศีล
  3. ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด
  4. แกว่งเท้าหาเสี้ยน
  5. หมูจะหามเอาคานเข้ามาสอด

น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าข้อไหนถูกต้อง ถ้ารู้แล้วว่าก็คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!  

 

สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาภาษไทย บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น