กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวช่วยได้ หากเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวช่วยได้ หากเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือหากถูกกระทำต้องได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการคุ้มครองสวัสดิภาพจำเป็นต้องครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงทรัพย์สินต้องไม่เสี่ยงภัย มีการป้องกันภัยล่วงหน้าที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีความเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยข้อแม้ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ อาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม สุขภาพ ประเทศไทยจึงมีกฏหมายหลายฉบับในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยมีรายละเอียด ดังนี้  

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีเจตนารมณ์สำคัญ คือ 1.ต้องการเห็นความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว 2.คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 3.สงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส หากไม่สามารถรักษาไว้ได้ให้การหย่าเป็นไปโดยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด 4.คุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว 5.ช่วยเหลือสามีภรรยาและบุคคลในครอบครัวให้ปองดองและปรับปรุงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยเปิดช่องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุ เมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และเปิดโอกาสให้มีการแก้ไข ฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวด้วย  

มาตราการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มี 3 มาตราการ คือ  

  1. มาตราการคุ้มครองเบื้องต้น มีการดำเนินการตั้งแต่ 1.การแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.การคุ้มครองผู้ถูกกระทำ และ3.การไม่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำ
  2. มาตราการการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี มีการดำเนินการ คือ 1.การป้องกันความเสี่ยงจากการถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ 2.พนักงานสอบสวนเสนอมาตราการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ศาลภายใน48ชั่วโมง 3.ศาลมีอำนาจออกคำสั่งในการกำหนดมาตราการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว 4.การกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ และ5.การยื่นอุทรณ์เพื่อขอทบทวนคำสั่งศาล  
  3. การกำหนดมาตราการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ดำเนินการโดย  1.กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือศาล จัดให้มีการบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความ การถอนการร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้อง 2.ให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัด ควบคุมความประพฤติผู้กระทำความผิดหรือให้ผู้กระทำผิดชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์หรือทำงานด้านบริการด้านสาธารณะ ละเว้นการกระทำที่เป็นเหตุการเกิดความรุนแรงในครอบครัวหรือทำทัณฑ์บนไว้  

บุคคลใดบ้างที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเมื่อถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เช่น  

  • คู่สมรส คู่สมรสเดิม  
  • ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส
  • บุตร บุตรบุญธรรม/สมาชิกในครอบครัวรวมถึงบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและพักอาศัยในครัวเรือนเดียวกัน  

การกระทำใดบ้าง คือ ความรุนแรงในครอบครัว  

  • การกระทำโดยมุ่งร้ายให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
  • การกระทำโดยเจตนาที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว  
  • การบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม(มาตรา3)  

สำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีสิทธิแจ้งความประสงค์จะดำเนินคดีโดยแจ้งความหรือร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงอยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้  

กรณีของเด็กถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีกฏหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีสาระสำคัญ คือ  

  1. เป็นกฏหมายอาญาที่มีลักษณะพิเศษ ที่มาตราการทางอาญาลงโทษผู้กระทำผิดต่อเด็ก มาตราการทางสังคม และมาตราทางการแพทย์ในการคุ้มครองเด็ก  
  2. คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ  คือ เด็กต้องการได้รับการคุ้มครอง  
  3. มุ่งให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน พัฒนาและคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย  
  4. ให้รัฐเข้าแทรกแซง กรณีเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือมีแต่ไม่ทำหน้าที่ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือทำหน้าที่ได้ไม่เหมาะสม  
  5. รัฐดำเนินการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กให้เหมาะสมช่วงระยะเวลาหนึ่งตามความจำเป็น และตามสมควร
  6. ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับเป็นอันดับแรก ใช้กระบวนการทางสังคมและการแพทย์ในการช่วยเหลือเด็ก และใช้กฏหมายเป็นฐาน และเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ
  7. กำหนดให้โรงเรียน สถานศึกษาจัดกิจกรรมแนะแนว ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสมรับผิดชอบต่อสังคมและความปลอดภัยแก่นักเรียน นักศึกษา  

สำหรับ พระราชบัญบัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นกฏหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยมีหลักการสำคัญ คือ 1.ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน ผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว กระบวนการพิจารณาคดีในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 2.ให้การคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะในการปฏิบัติต่อเด็กอายุไม่เกิน15ปี และเยาวชนอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปีรวมถึงครอบครัว 3.กำหนดมาตราการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา โดยกำหนดให้คดีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา 4.กำหนดให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกคำสั่งกำหนดมาตราการ วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาเสพสุราหรือส่งมึนเมาเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง  

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : Social Marketing Thaihealth

 

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น