Archplot มาวางพล็อตนิยายด้วยแผนภาพสามเหลี่ยมกันเถอะ!

        นิยายทุกเรื่องบนโลกนี้ต้องมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ เริ่มเรื่อง กลางเรื่อง และจบเรื่อง มีหลายวิธีที่เราใช้เพื่อวางพล็อตสามส่วนนี้ วิธีที่นิยมที่สุดคือการใช้แผนภาพสามเหลี่ยมเพื่อร่างโครงคร่าวๆ ให้กับนิยายของเรา แม้แต่นักเขียนบทของฮอลลีวู้ดก็ใช้วิธีนี้ในการสร้างภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่
        วันนี้พี่น้องจะมาอธิบายวิธีการวางพล็อตด้วยเจ้าสามเหลี่ยมตัวนี้ เผื่อใครเอาไปลองใช้วางพล็อตหรือแม้แต่เอามาแก้พล็อตที่มีอยู่
 

แผนภาพสามเหลี่ยม Archplot

        Archplot แบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงเริ่มเรื่อง (Beginning) ช่วงกลางเรื่อง (Middle) และช่วงจบเรื่อง (End) แต่ละช่วงมีสัดส่วนไม่เท่ากัน ช่วงกลางเรื่องจะครอบคลุมเนื้อหาเกือบ 80% ของทั้งเรื่อง ในขณะที่ช่วงเริ่มเรื่องกับจบเรื่องจะสั้นพอๆ กัน

Act 1 Beginning

        ช่วงเริ่มเรื่องจะเป็นช่วงสั้นๆ ทำหน้าที่เป็นฐาน ให้ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่จำเป็นต่อคนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังของเรื่อง ตัวละครหลักของเรื่อง หรือข้อมูลที่กำลังจะกลายเป็นปมขัดแย้งในเรื่อง
        ช่วงเริ่มเรื่องยังซอยเป็นเหตุการณ์ย่อยๆ อีกได้แก่
  • ให้ข้อมูล: เกี่ยวกับสถานที่, ตัวละคร
  • ความสงบสุขสิ้นสุดลง: มีเหตุบางอย่างที่ทำให้ชีวิตตัวเอกพลิกผัน
  • ตัวเอกออกไปผจญภัย: ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกไปปราบมังกรเสมอไป ตัวเอกอาจปฏิเสธที่จะออกไปหรือไม่ก็ได้ ในระหว่างนี้ตัวเอกอาจได้พบกับคนที่จะมาเป็นผู้ร่วมผจญภัย
ตัวอย่าง
นิยายแฟนตาซี
  • ให้ข้อมูล: ตัวเอกเป็นเด็กกำพร้า อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่สงบสุขกับครอบครัวบุญธรรม
  • ความสงบสุขสิ้นสุดลง: เมื่อมีพ่อมดคนหนึ่งมาที่หมู่บ้านเพื่อตามหาเขาและบอกว่าเขามีพลังพิเศษที่จะช่วยโลกนี้ได้ตามคำทำนาย
  • ตัวเอกออกไปผจญภัย: แม้จะลังเลใจ แต่เพื่อความสงบสุขของโลกนี้และความปลอดภัยของครอบครัวตนเอง ตัวเอกจึงตัดสินใจออกผจญภัย
นิยายรัก
  • ให้ข้อมูล: นางเอกเป็นเด็กเรียนที่ไม่เคยมีแฟนมาตลอดทั้งชีวิต เรียนอยู่ในโรงเรียนสหฯ
  • ความสงบสุขสิ้นสุดลง: เมื่อจู่ๆ พระเอกของเรื่องก็โดนเพื่อนท้าให้มาจีบเด็กเรียนแบบเธอ
  • ตัวเอกออกไปผจญภัย: นางเอกเริ่มถูกพระเอกตามจีบ
นิยายสยองขวัญ
  • ให้ข้อมูล: ตัวเอกเป็นนักศึกษามหา'ลัยที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข
  • ความสงบสุขสิ้นสุดลง: เมื่อเธอต้องย้ายไปอยู่หอพักอีกแห่งที่มีข่าวลือว่าเคยมีนักศึกษาฆ่าตัวตายในห้องที่ย้ายไปพอดี
  • ตัวเอกออกไปผจญภัย: นางเอกเริ่มเจอผีตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ห้อง
     

Act 2 Middle

        ช่วงกลางเรื่องคือช่วงของรายละเอียด ปมเล็กปมใหญ่ ปมรองปมหลักเอามาแทรกไว้ตรงนี้ได้หมดเลย เราจะค่อยๆ ปล่อยของโดยเลือกอุปสรรคเล็กๆ ที่จะขัดขวางไม่ให้ตัวเอกไปถึงเป้าหมายมานำเสนอ ซ้อนทับไปเรื่อยๆ จากเล็กไปใหญ่ อุปสรรคเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอกคนเดิมที่เจอในตอนต้นเป็นคนใหม่ อาจจะในทางที่ดีหรือแย่ลงก็ได้
        นอกจากนี้ก็อย่าลืมมิตรสหายหรือเรื่องราวดีๆ ที่ตัวเอกพบเจอระหว่างทางด้วย
ตัวอย่าง
นิยายแฟนตาซี
  • ตัวเอกได้ช่วยเพื่อนใหม่ระหว่างทาง เขาจึงตอบแทนด้วยการร่วมเดินทางมาด้วยกัน
  • ตัวเอกพบว่าพ่อที่แท้จริงของตนคือจอมมารที่วางแผนก่อหายนะต่อโลก
  • พ่อของตัวเอกไม่รู้ว่าตัวเองมีลูก จึงคิดวางแผนกำจัดตัวเอกโดยการส่งสมุนออกมา
  • สมุนของจอมมารทำร้ายพ่อมดที่นำทางตัวเอกจนพลัดหลงกัน
  • เพื่อนใหม่ของตัวเอกเผยตัวทีหลังว่าเป็นหนึ่งในสมุนของจอมมาร แต่เขาสนิทกับตัวเอกเกินไปจนตัดสินใจหักหลังจอมมารแม้จะรู้ว่าตัวเองต้องถูกฆ่า
นิยายรัก
  • พระเอกพยายามจีบนางเอกตามตำราทุกอย่าง เอาของมาให้ ไปรับไปส่ง เลี้ยงข้าว พาไปดูหนังวันหยุด
  • กลุ่มตัวร้ายหมั่นไส้นางเอกจึงแกล้งเธอสารพัดวิธี
  • เพื่อนนางเอกที่แอบชอบนางเอกมานานก็เข้าไปช่วยเสียทุกครั้ง
  • เพื่อนนางเอกรู้ความจริงว่าพระเอกมาจีบเพราะเป็นเกม ไม่ได้ชอบจริง
นิยายสยองขวัญ
  • นางเอกเจอผีมาเรื่อยๆ จึงเริ่มสืบหาความจริง
  • จากที่แค่โผล่มาหลอก ผีก็เริ่มทำให้นางเอกได้รับบาดเจ็บหนักขึ้นเรื่อยๆ
  • นางเอกเริ่มได้เบาะแสว่าผีผู้หญิงนี้ฆ่าตัวตายเพราะอะไร
     

Act 3 End

        ช่วงสุดท้ายของเรื่องคือช่วงที่พีคที่สุด หรือช่วง Climax โดยต้องมีเหตุการณ์ที่จะมาจุดความพีคของเรื่อง หลังจากนั้นจึงเป็นการคลายปมสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในเรื่อง (คนอ่านอ่านมาทั้งหมดก็เพื่อจะเห็นปมนี้คลี่คลาย) ก่อนที่เหตุการณ์จะดำเนินสู่ตอนจบที่ทุกอย่างกลับคืนสูสภาพเดิม ตัวเอกมีการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่าง
นิยายแฟนตาซี
  • จุดชนวน: ตัวเอกโดนสมุนของจอมมารจับไป ทำให้พ่อลูกได้เผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก
  • ไคลแมกซ์: พ่อลูกต่อสู้กันจนตัวเอกได้มีโอกาสบอกความจริงว่าตนเป็นลูก จอมมารฆ่าลูกตัวเองไม่ได้ จึงแกล้งทำเป็นไม่เชื่อเพื่อล่อให้ลูกฆ่าตัวเองตามคำทำนาย
  • กลับสู่ความสงบ: แม้ตัวเอกจะเสียใจที่ต้องฆ่าพ่อตัวเอง แต่ก่อนตายก็ได้ปรับความเข้าใจกัน ตัวเอกเดินทางกลับไปหาครอบครัวบุญธรรมพร้อมเพื่อนใหม่ และใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
นิยายรัก
  • จุดชนวน: เพื่อนนางเอกวางแผนให้ทั้งสามมาเผชิญหน้ากัน แล้วแฉพระเอกว่ามาจีบนางเอกแค่เพราะเพื่อนยุ ไม่ได้ชอบจริง
  • ไคลแมกซ์: นางเอกเสียใจมาก จึงวิ่งหนีไปและเกือบถูกรถชน แต่พระเอกที่วิ่งตามมารีบเข้าไปช่วยก่อนจนตัวเองได้รับบาดเจ็บแทน พระเอกสารภาพว่าตอนแรกเป็นแค่เกมแต่กลับกลายเป็นชอบนางเอกจริงๆ ทั้งคู่จึงปรับความเข้าใจกัน
  • กลับสู่ความสงบ: พระเอกประกาศคบกับนางเอกอย่างเป็นทางการ
นิยายสยองขวัญ
  • จุดชนวน: นางเอกเริ่มเคลือบแคลงเมื่อเบาะแสที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของผีในห้องพักย้อนกลับมาที่เธอ
  • ไคลแมกซ์: ผีผู้หญิงหมายจะฆ่าเธอให้ตาย เธอหนีเข้าไปในลานจอดรถพร้อมกับที่ฝนตก ทำให้เธอนึกขึ้นได้ว่าเธอเคยขับรถชนอะไรสักอย่างที่นี่ในวันฝนตก แต่เพราะความรีบทำให้เธอไม่ทันดู ไม่คิดว่าสิ่งที่เธอชนคือคน
  • กลับสู่ความสงบ: นางเอกขอขมาผี และขอให้ผีไว้ชีวิต หลังจากนั้นเธอจึงไปมอบตัวกับตำรวจ
     
        จำไว้ว่าทุกครั้งที่เขียนนิยาย เราต้องวางพล็อตเรื่องให้เป็นภาพสามเหลี่ยมแบบนี้ คือเกริ่นเรียกน้ำย่อย ค่อยๆ ให้ข้อมูลเชื้อเชิญให้คนอ่านต่อเรื่อยๆ จนถึงจุดไคลแมกซ์ที่คนอ่านจะได้ลุ้นว่าสิ่งที่ตามมาตั้งแต่ต้นเรื่องจะลงเอยยังไง แล้วก็เป็นตอนจบ
        นิยายที่ซอยเรื่องออกเป็นจบในตอนแบบซีรี่ส์ ก็ต้องใช้แผนภาพแบบนี้สำหรับพล็อตเรื่องแต่ละตอนเหมือนกัน
        สิ่งที่ต้องระวังเวลาวางพล็อตด้วยแผนภาพสามเหลี่ยมนี้คือ
  • ช่วงกลางเรื่องต้องมีเนื้อหามากกว่า 60% ของเรื่องทั้งหมด ถ้าน้อยกว่านี้แปลว่าช่วงต้นเรื่องหรือจบเรื่องของเรายาวเกินไป
            ช่วงต้นเรื่องที่ยาวไปทำให้คนอ่านรู้สึกเบื่อ ยืดเยื้อ
            ส่วนช่วงจบเรื่องที่ยาวเกินไปก็ทำให้คนอ่านรู้สึกเหนื่อย เพราะพอถึงจุดนั้น ปริศนาต่างๆ ที่เคยดึงคนอ่านให้อยู่กับเรื่องของเรามันหายไปหมดแล้ว ต้องรีบจบให้เร็วที่สุด
  • ไคลแมกซ์ หรือจุดพีคสุดของเรื่อง ต้องอยู่ในช่วงท้ายเรื่อง หรือต้องดำเนินเรื่องไปได้อย่างน้อย 70% แล้ว เพราะอย่างที่บอกไป เมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ ปมปริศนาที่เคยดึงให้คนอ่านติดตามเรื่องของเรามันคลายหมดแล้ว ถ้าไคลแมกซ์ไปอยู่กลางเรื่อง หรือเกิดขึ้นเร็วเกินไป ส่วนที่อีกเกือบครึ่งเรื่องก็กลายเป็นอะไรยืดเยื้อ ไม่น่าสนใจ
  • ปมขัดแย้งยิบย่อยในเรื่องต้องค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ชีวิตตัวเอกลำบากมากขึ้น และค่อยๆ คลายปมที่เล็กที่สุดก่อน
     
ลองเอานิยายที่เราเขียนอยู่มาทำเป็นแผนภาพสามเหลี่ยมนี้
แล้วดูซิว่าทรงมันคล้ายกับตัวอย่างไหม
มีอะไรผิดเพี้ยนไปหรือเปล่า
บางทีอาจจะทำให้เจอปัญหาว่าทำไมนิยายของเราถึงไม่น่าติดตาม
หรือดูยืดเยื้อผิดปกติก็ได้

 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Littleboombim Member 28 มี.ค. 58 10:23 น. 8

ขอบคุณสำหรับแนวทางในการเขียนพล็อตอีกแบบค่ะ

น่าสนใจมากกก อ่านแล้วนึกย้อนไปถึงนิยายตัวเองแล้วแบบ...

อยากจะรื้อใหม่ทั้งเรื่องเลยเหอะ เอ่อ..

0
กำลังโหลด
Silvy (ทางสีเงิน) Member 27 มี.ค. 58 22:03 น. 7

ทำไมตอนผมเขียนนิยายใหม่ๆ ไม่เจอสูตรแบบนี้บ้างนะ 

เป็นความรู้ที่ดีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ หยิบวิธีนี้ไปใช้ได้เลย นิยายออกมาดีแน่ๆรับรอง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

58 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Silvy (ทางสีเงิน) Member 27 มี.ค. 58 22:03 น. 7

ทำไมตอนผมเขียนนิยายใหม่ๆ ไม่เจอสูตรแบบนี้บ้างนะ 

เป็นความรู้ที่ดีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ หยิบวิธีนี้ไปใช้ได้เลย นิยายออกมาดีแน่ๆรับรอง

0
กำลังโหลด
Littleboombim Member 28 มี.ค. 58 10:23 น. 8

ขอบคุณสำหรับแนวทางในการเขียนพล็อตอีกแบบค่ะ

น่าสนใจมากกก อ่านแล้วนึกย้อนไปถึงนิยายตัวเองแล้วแบบ...

อยากจะรื้อใหม่ทั้งเรื่องเลยเหอะ เอ่อ..

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
lb'skLyrmN Member 28 มี.ค. 58 13:08 น. 10

ทำไมหลังจากผมไปทวนพล็อตของตัวเองแล้ว ผมถึงเห็นเป็นรูปเทือกเขาอัลไตกันนะ...

ขึ้นๆลงๆแทบจะไม่สม่ำเสมอ แถมไคลแมกซ์ดันกระจายอยู่ทั้งเรื่องซะอีก มิน่าถึงได้เขียนลำบากนัก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
เด็กน้อยในวันฤดูใบไม้ผลิ Member 10 เม.ย. 58 10:14 น. 20

อ่านจบปุ๊ป สามเหลี่ยมหลายรูปถูกววาดลงกระดาษเลยนะครัช 555555555555

มันมองภาพง่ายจริง ๆ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด