“วัยแสบสาแหรกขาด”
จากละครสร้างสรรค์ทางช่อง 3 สู่นวนิยายตีแผ่ปัญหาวัยรุ่น!
นวนิยายเรื่อง “วัยแสบสาแหรก” เป็นนวนิยายที่ดัดแปลงมาจากบทโทรทัศน์ โดย
ณัฐิยา ศิรกรวิไล เรื่องราวของ
ทรายทิพย์ นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาต้องการเข้าไปหาข้อมูลเด็กในวัยเรียนที่พ่อแม่หย่าร้างเพื่อทำปริญญานิพนธ์ ประจวบเหมาะกับ
ชวนากร รองผู้อำนวยการ (และลูกชายเจ้าของ)
โรงเรียนเปี่ยมคุณ ต้องการนักจิตวิทยาเด็กมาร่วม
“โครงการผูกสาแหรก” เพื่อแก้ไขปัญหาให้เด็กที่มีครอบครัวแตกแยกและก่อปัญหาในโรงเรียน ไม่ให้ถูกไล่ออก ทั้งสองจึงได้ร่วมมือกันโดยการแนะนำของเพื่อนทรายทิพย์ซึ่งเป็นครูแนะแนวในโรงเรียน โดยต้องบำบัดเด็กตัวปัญหา 5 คน คือ
ถวายชัย (หวาย) นักเรียนมัธยมปลายผู้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และชอบใช้ความรุนแรง
มงกุฎแก้ว (มินนี่) เน็ตไอดอลสาวผู้ติดโซเชียลเน็ตเวิร์กและมีอาการหลงตัวเอง
เมษา (ตังเม) เด็กหญิงที่เครียดจากปัญหาทางบ้านจนเริ่มกรีดข้อมือทำร้ายตนเอง
ดังใจ (โชกุน)เด็กชายที่โกหกจนเป็นนิสัย และ
ญาทิป (ปิ๊กปิ๊ก) เด็กหญิงที่ชอบลักขโมยโดยไม่ได้อยากได้ของจริงๆ
ถึงแม้ณัฐิยาจะมีผลการเขียนบทโทรทัศน์มาแล้วมากมาย อาทิ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน "ธราธร", อย่าลืมฉัน เพลิงบุญ, หนึ่งในทรวง ฯลฯ แต่ “วัยแสบสาแหรกขาด” คือ ความท้าทายขั้นสูงสุดตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ท้าทาย เพราะเป็นการเขียนแนว “จิตวิทยาวัยรุ่น” บวกเข้ากับการแก้ปัญหาของตัวนำเรื่องในแนว “สร้างคำถามและสืบหาคำตอบ” ในแบบที่เธอเองไม่เคยเขียนมาก่อน
“ความท้าทายที่ตามมาด้วยการทำงานอันแสนหนักหน่วงแต่แทรกไว้ด้วยความสนุกสนาน บทละครเรื่องนี้เราเขียนกัน 5 คน และมีผู้ช่วยประจำทีมอีก 1 คน เราต้องเริ่มตั้งแต่หาข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักจิตวิทยาทั้งในประเทศไทยและเพื่อนที่เป็นนักจิตวิทยาอยู่ต่างประเทศ หลังจากได้ข้อมูลแล้วเราจึงเริ่มลงมือเขียนบท เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ต้องส่งไปให้นักจิตวิทยาตรวจสอบอีกรอบ” ณัฐิยากล่าว
ปกหนังสือ "วัยแสบสาแหรกขาด"
วัยแสบสาแหรกขาด นับเป็นเรื่องที่สองที่สถาพรบุ๊คส์นำบทภาพยนตร์หรือบทโทรทัศน์มาดัดแปลงเป็นนวนิยายซึ่งก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จไปแล้วกับนวนิยายเรื่อง “รุ่นพี่” ส่วนที่มาของการร่วมมือกับสถาพรบุ๊คส์ในครั้งนี้ณัฐิยาบอกว่า
“นัทเริ่มต้นบทโทรทัศน์ขึ้นมาก่อน พอบทใกล้ๆ จะเสร็จทางคุณเอิน ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดแห่งค่ายมาสเตอร์วัน ก็ได้มีการมาพูดคุยกับสถาพรบุ๊คส์ว่าจะรวมเล่มหรือไม่ สถาพรบุ๊คส์ก็สนใจ ก็เลยนำบทโทรทัศน์ที่เราเขียนแล้วมาดัดแปลงในรูปแบบของนวนิยายไปด้วย ก็เลยกลายเป็นโพรเจ็กต์นี้ขึ้นมาค่ะ”
ในเรื่องนี้มีการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็น 5 พฤติกรรมที่เราเจอได้ในสังคม จะมีพฤติกรรมใดบ้างมาฟังจากผู้เขียนกันเลย
“ปัญหาแรกเป็นปัญหาของ เด็กที่ชอบพูดโกหก เขาไม่ได้รู้ตัวว่าเขาพูดโกหก มันเป็นพฤติกรรมที่เขาสะสมมานาน เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นไปโดยธรรมชาติ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างปัญหาต่อๆ มา บางคนสร้างเรื่องแล้วพูดเหมือนว่ามันเป็นเรื่องจริง มันดูเป็นธรรมชาติมากๆ คนเหล่านี้ เราต้องไปย้อนดูในวัยเด็กว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนเด็กๆ อาจจะโกหกตาใสไปเรื่อยๆ พูดเรื่องหนึ่งไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกว่ามันคือความผิดปกติ ปัญหามันคือเมื่อคุณบ่มเพาะพฤติกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความน่าเชื่อถือของคุณจะลดลง เมื่อคุณโตขึ้น การทำงาน การใช้ชีวิตครอบครัว ก็จะเป็นโดมิโนไปเรื่อยๆ”
“ประเด็นที่สองคือ ขโมย เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่จริงๆ คนในสังคมมีคนที่เป็นแบบนี้โดยไม่รู้ตัว คนบางคนมีทุกอย่างพร้อมแต่ชอบขโมย เหมือนมันเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่างให้กับชีวิตของเขา ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่า รากปัญหามันเกิดมาจากตรงไหน แล้วถ้าเราไม่ได้แก้ปัญหาของลูกหลานเรา หรือคนใกล้ตัวเรา มันจะติดตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งวันหนึ่งมันอาจจะพลาดเมื่อตอนที่เขาอายุมากขึ้น โดนจับขึ้นมาก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา”
“เรื่องที่สามคือ เด็กทำร้ายร่างกายตัวเอง ซึ่งคนที่เป็นอาการแบบนี้จริงๆ จะไม่โชว์ออฟ เขาจะทำในจุดที่ไม่ได้ต้องการให้ใครเห็น ซึ่งพ่อแม่ถ้าสงสัยต้องลองสังเกตลูกตัวเอง สิ่งเหล่านี้มันบ่งบอกถึงความเจ็บปวดบางอย่างข้างในของเขา ที่เขาไม่รู้จะระบายออกอย่างไรก็เลยต้องระบายใส่กับตัวเอง เป็นเคสที่ละเอียดอ่อนมาก และมีเยอะมากในสังคม”
“ประเด็นที่สี่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก คือ การโดนคุกคามทางสื่อออนไลน์ กรณีนี้อาจจะใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ว่าสังคมอย่างอเมริกา หรือ แคนาดา จะมีเด็กที่โดนคุกคามทางสื่อออนไลน์และไปจนที่สุดถึงขั้นฆ่าตัวตาย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราเป็นผู้ใหญ่ เราจะรู้สึกว่า แค่คอมเมนต์แค่นี้ไม่ต้องไปอ่านมันสิ ไม่อ่านก็ไม่เจ็บปวด แต่เด็กไม่ได้ เขาต้องรู้ เขาอยู่ในวัยที่อยากรู้ อยากเห็น แต่เมื่อเขารู้แล้ว เขารับมือกับมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะทำได้ดีที่สุดคือการเข้าใจในปัญหาและอยู่กับเขา”
“เรื่องสุดท้ายคือความรุนแรง เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่เราเห็นชัด เห็นเยอะ และก็มีเยอะแยะมากในละคร แต่เรื่องนี้เราจะมาดูว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงว่าทำไมเด็กจึงชอบความรุนแรงแก้ปัญหา ทำไมเขาทำออกมาโดยที่มันไม่รู้ตัว เมื่อเด็กอยู่ในภาวะนั้นแล้ว เขารู้สึกเจ็บปวดกับมันมากแค่ไหน จนกระทั่งเมื่อเราพบสาเหตุแล้ว เราก็จะบอกว่าจะมีวิธีการเยียวยาอย่างไร หรือเราจะปรับพฤติกรรมให้เด็กๆ อย่างไร ให้เขาเข้าใจและควบคุมความรุนแรงทางอารมณ์ของเขาให้ได้ เพราะฉะนั้นละครและหนังสือเรื่องนี้จะแตกต่างจากละครวัยรุ่นเรื่องอื่นๆ ตรงที่จะมีวิธีแก้ปัญหาให้ด้วย แต่มันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายนะคะ มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น”
ผู้เขียนบอกว่า เนื้อหาในละครและนวนิยายนั้นไม่ต่างกันเลย ซึ่งเมื่อดูละครจบแล้วแต่ต้องการข้อมูลหรือวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สามารถเปิดหนังสือดูได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ผู้ชมและผู้อ่านเสพทั้งสองสื่อ โดยละครจะออกอากาศทุกวันศุกร์ – อาทิตย์ หลังรายการสีสันบันเทิง ทางช่อง 3 สามารถสั่งหนังสือออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ของ
สำนักพิมพ์สถาพร หรือในงานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 44 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 29 มีนาคม - 10 เมษายน 2559 ที่บูท P34 โซน C1
หนังสือและปฏิทินสวยๆ เราแจกให้เลยค่ะ
พิเศษ เกมร่วมสนุกสำหรับชาวเด็กดี
เพียงตอบคำถามง่ายๆ โดยเลือกจากพฤติกรรมจาก 5 แบบในเรื่อง แล้วตอบมาว่า... "พฤติกรรมไหนที่เราไม่อยากเจอ พร้อมเหตุผล”
ผู้โชคดี 3 คน รับไปเลย นวนิยายวัยแสบสาแหรกขาด พร้อมปฏิทินตั้งโต๊ะ
เริ่มเล่นได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2559
และทางทีมงานจะประกาศผลผู้โชคดีใน วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2559 ค่ะ
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลค่ะ
1. titania
2. kurogi
3. Aom Aom Boravee
ขอให้ทั้งสามคนส่งชื่อที่อยู่มาที่ writer@dek-d.com
ภายในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2559 ค่ะ
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
71 ความคิดเห็น
ขอตอบการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ เพราะว่ามันตามล้างตามเช็ดได้ไม่หมด กู้คืนชื่อเสียงไม่ได้ แล้วมีคนเห็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครสนใจผู้เสียหาย แล้วคนก่อเรื่องก็ตามจับยากอีกต่างหาก
ไม่อยากเจอความรุนแรงที่สุดค่ะ เราคิดว่าเป็นสิ่งที่เกือบทุกคนไม่อยากเจอ เพราะมันเสียหายมาก เสียหายทั้งทางกายและทางใจ รวมถึงบางครั้งยังมีลูกหลงหรืออะไรอื่นๆไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนอีกด้วย ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน บางทีอาจมีเหตุทำให้ถึงแก่ชีวิตด้วย อันตรายและสร้างปัญหาเป็นวงกว้างค่ะ
.
.
จริงๆแล้วทุกข้อที่กล่าวมาไม่มีใครอยากเจอหรอกค่ะ เลยใส่คำว่าที่สุดลงไปด้วย
ที่ไม่อยากเจอที่สุดก็คงจะเป็น เด็กทำร้ายร่างกายตัวเอง
เราว่าวัยเด็กมันเป็นวัยที่จิตใจไม่ซับซ้อนเท่าวัยผู้ใหญ่ แต่เขาจะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อน พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะสะท้อนมาจากจิตใจของพวกเขาเอง เราว่าการที่เด็กถูกกระทำอย่างถูกทำร้ายร่างกาย มันยังไม่ร้ายแรงเท่ากับที่เด็กตัดสินใจทำร้ายตัวเองนะ เพราะนั่นหมายถึงจิตใจของเด็กต้องประสบกับสิ่งที่ร้ายแรงมาก จนต้องระบายมันออกมาแบบนั้น
พฤติกรรมที่ไม่อยากเจอคือ การขโมยของ
คือเราเคยโดนขโมยรองเท้าตอนป.3กับม.6 และช่วงประถมจะเจอขโมยของบ่อยมาก ซึ่งการขโมยนั้นถึงจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงไม่เลย ใกล้ตัวสำหรับเรามาก จุดนี้แม้ว่าเป็นจุดเล็กๆและไกลตัว แต่สักวันมันจะขยายใหญ่พฤติกรรเขา โดยเขาไม่รู้ตัว เพราะเด็กบางคนพอเห็นเพื่อนมีของดี มีของใหม่ หรือมีของที่สวยมากกว่าที่เขามี ตอนนั้นทำให้เกิดความอยากได้ขึ้นมา ถ้าขอดีๆแล้วไม่ให้ ก็เกิดความโลภก็จะเข้าสิงทำให้อยากขโมยขึ้นมา หรือไม่ขอก็จะขโมยเลย โดยขาดการยับยั้งสติบอกตัวเองว่าอย่าขโมยเลย ตอนนั้นคงคิดว่าถ้าตัวเองได้มันมาเป็นเจ้าของแล้วคงรู้สึกดี และไม่สนว่าเจ้าของจะทุกข์ใจแค่ไหน การที่เด็กขโมยของมี2ประเด็นหลักคือฐานะทางบ้านไม่ดี กับความอยากได้ คือขอพ่อแม่ซื้อแล้ว ท่านไม่ซื้อ เมื่อเห็นเพื่อนมีแล้ว อยากได้มากไม่รู้จะทำยังไง ขอก็ไม่ให้จึงตัดสินใจขโมยมา
ขอเล่าเรื่องตอนเราป.3นิดหนึ่งที่เจอมากับตัว ตอนเราป.3 เรามีรองเท้าพละใหม่ และมันหายไป พออีกสัปดาห์เราเจอรองเท้าแล้ว แต่คนที่ขโมยไปเขียนชื่อ และบอกว่าเป็นของเขา ทั้งที่ความจริงเป็นของเราแน่ เพราะจำรอยบนรองเท้าได้ดี สุดท้ายอาจารย์ก็ตัดสินผิดบอกว่าเป็นของเขา ทั้งที่เป็นของเรา ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย
ไม่อยากเจอสุด... คงเป็นการโกหก เพราะเรื่องโกหกเล็กๆในสำหรับเราตอนนี้ อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตก็ได้ ถึงจะบอกว่าโกหกเพื่อให้อีกคนสบายใจ แต่ถ้าถูกจับได้ ยังไงเรื่องโกหกก็คือเรื่องไม่จริงอยู่วันยังค่ำ แล้วคนนั้นของเราก็ต้องเสียใจอยู่ดีเพราะเราโกหกเขาเอง
การเหยียดเพศ-เหยียดผิวค่ะ
ทุกวันนี้อาจมีการเปิดใจยอมรับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะยอมรับได้ มันยังเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและแก้ไขได้ยาก
เพียงเพราะคนเหล่านี้เลือกเกิดไม่ได้ก็ไม่ได้ หรือเลือกที่จะเป็นในแบบที่พวกเขาอยากเป็น ก็ไม่ได้แปลว่าความเป็นมนุษย์ของเขาจะน้อยกว่าคนอื่นๆ ในสังคมที่คนอื่นๆ มองว่าเป็นปกติ
แค่ปัญหานี้ปัญหาเดียวสามารถทำให้คนที่โดนเหยีดมีปัญหาทั้ง 5 อย่างได้เลย เพียงเพราะพวกเขาต้องการเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากคนอื่นๆ
การคุกคามทางสื่อออนไลน์ค่ะ
การที่พิมพ์ข้อความกลั่นแกล้ง ทำร้ายจิต การล้อเลียน การถูกแอบอ้าง คนที่กระทำสะใจ รู้สึกสนุก แต่คนที่โดนกระทำจะถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เสียชื่อเสียง อับอายจนไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อได้และนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพื่อจบชีวิตตัวเอง เสียอนาคตในหน้าที่การงานและการเรียน
พฤติกรรมที่ไม่อยากเจอคือ พฤติกรรมรุนแรงที่ทำร้ายคนอื่น หรือ ทรมานคนอื่น
เหมือนโรคจิตชนิดหนึ่ง
ทำร้ายตัวเองค่ะ
เพราะรู้สึกว่าคนที่ทำร้ายตัวเองเพียงเพราะความสะบายใจชั่ววูบ เคยอ่านนิยายหลายๆเรื่องค่ะที่นำปัญหานี้มานำเสนอ และเห็นว่าการทำร้ายตัวเองเพียงเพราะอยากระบายความเจ็บปวดที่ไม่สามารถบอกใครได้ด้วยวิธีนี้มันไม่ใช่ทางออกที่ดี นอกจากจะเจ็บตัวแล้วมันยังไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย เพียงเวลาสั้นๆที่ความเจ็บปวดหายไปมันอาจจะรู้สึกดี แต่ไม่นานมันก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอาจมากกว่าเดิมด้วย โดยส่วนตัวแล้วหนูคิดว่าคนที่ทำร้ายตัวเองน่าสงสารมากค่ะ นอกจากจะเจ็บปวดที่ร่างกายแล้วยังมีแผลที่จิตใจด้วย เคยเห็นคนที่พยายามทำร้ายตัวเองอยู่บ้าง และก็คิดว่าถึงจะทำให้ตัวเองเจ็บ เลือดออก หรืออะไรก็แล้วแต่ถ้ายังไม่สามารถรักษาความรู้สึกได้ ปัญหาก็คงยังไม่จบและก็อาจมีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นอีกจนสุดท้ายปัญหาอาจจะบานปลายแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกค่ะ ผลเสียทั้งหมดก็จะเกิดกับตัวคนทำเองนอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว มันยังกลับมาทำร้ายให้เรื่องแย่ลงอีกด้วยค่ะ
ไม่อยากให้เจอ การโดนคุกคามทางสื่อออนไลน์ เพราะในปัจจุบันเด็กไทยแถบจะทุกคนใช้โชเชี่ยลในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทำให้ปัญหาพวกนี้อยู่ชิดติดตัวมากๆ มีกระแสในเฟสบุ๊ค ทั้งที่เต็นท่าไม่เหมาะสม สายย่อ หรืออะไรก็ตาม เด็กๆหลายคนเลือกที่จะคอมเม้นกลับไปแรงๆเมื่อโดนตักเตือนหรือคำตำหนิ ดูเหมือนพวเขาจะรับมือกับปัญหาได้แต่ไม่คงไม่ใช่ทางออกที่ดี การโต้ตอบกลับอย่างรุนแรงแสดงให้เห็นถึงความกังวลที่มี และเด็กบางคนเลือกที่จะไม่โต้ตอบกลับ แต่เลือกระบายอารมณ์กับสิ่งของต่างๆและวิตกกังวลวิตกจริตกับมันสนใจแต่คอมเม้นที่โดนวิพากวิจารณ์ เหมือนมินนี่ พออยู่แต่กับตัวเองคิดไปต่างๆนานาฟุ้งซ่านไปเรื่อยยิ่งทำให้มโอกาสสืบต่อไปในเรื่องการทำร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปขนาดนี้มีเด็กใช้โชเชี่ยลมากขึ้น ทำให้ปัญหาพวกนี้เคลื่อนตัวมาชิดติดจ่อคอหอย น่ากลัวสุดๆเลยไม่อยากจะเจอจริงๆ ไม่อยากเห็นเด็กไทยต้องทำร้ายตัวเองบันทอนตัวเองเพราะคำของคนอื่นเลยคะ
ปล.ชอบละครเรื่องนี้มากจนอยากจะเรียนเป็นแพทย์หรือนักจิตวิทยาเลยคะ
การโดนคุกคามทางสื่อออนไลน์ค่ะ
มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก มันไม่ใช่แค่ปัญหาของคนเฉพาะกลุ่ม เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของคนที่เล่นโซเชียลแทบทุกคนแม้แต่ตัวเราเองยังเจอแค่เห็นคนโพสต์อะไรไม่ดีเกี่ยวกับเราก็เก็บไปเครียดแล้ว มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ค่อยๆก่อตัวเป็นปัญหามากขึ้น เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุดนะ เพราะมันไม่ได้มีผลกระทบมาจากครอบครัวอย่างเดียว เราห้ามความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่นไม่ได้ เราห้ามให้คนอื่นหยุดพูดหยุดนินทาเราไม่ได้ แค่เราเปิดใจพูดคุยกับครอบครัวเหมือนกรณีอื่นมันไม่เพียงพอ
อยากเห็นความสำเร็จของการแก้ปัญหานี้จริงๆค่ะ
พฤติกรรมแบบในเรื่องที่ไม่อยากเจอคือคนที่ชอบโกหกค่ะ หลายคนอาจจะเห็นว่าการโกหกเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร บางครั้งก็ทำไปเพื่อความสบายใจของคนฟัง แต่ถ้าโกหกบ่อยๆ เข้าก็จะเคยชินและติดเป็นนิสัยจนทำให้กล้าโกหกในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่แหละค่ะน่ากลัว หลายครั้งความจริงอาจจะสร้างความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครอยากฟังเรื่องโกหก หรือโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าไหมคะ
ขโมยของค่ะ เราเพิ่งดูตอนล่าสุดไปเมื่อกี้ เผลอๆ เราว่าประเด็นนี้มันดูเบามากเลยด้วยซ้ำ แค่ขโมยของเอง แต่พอโตขึ้นเราก็คิดว่ามันเริ่มไม่ใช่แล้ว เราสนุก แต่เขาไม่สนุก เราดีใจที่เห็นเพื่อนเราร้องไห้และทำหน้าวิตกกังวลแบบสุดๆ เพราะยางลบสวยๆ ที่เอามาต่อเป็นรูปเค้ก รูปอาหารได้มันหายไป เราอยากได้จริงๆ ค่ะ แต่สุดท้ายก็รู้สึกผิดที่เห็นเพื่อนเสียใจจริงๆ วันนั้นเราเป็นเวรพอดีเลยแกล้งบอกไปว่าเจอหล่นอยู่ใต้โต๊ะ เค้าดูดีใจมากเลยค่ะ จากนั้นเราก็ไปขโมยตุ๊กตาของเพื่อนอีกคนอีก อีกสองสามวันก็เอาไปวางไว้ที่หน้าห้อง เพราะเราไปโรงเรียนเช้าค่ะแล้วเราก็เลิกขโมยของเลย
อ้อ แต่พอดูในแบบละครแล้ว เราชอบที่เขานำเสนอว่าเป็นเด็กที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่กลับชอบขโมยของ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แทบไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ มีแค่สาวใช้คนสนิทที่เผลอทำผิดต่อหน้าเด็กและสอนอะไรผิดๆ ให้แทน และเด็กในวัยนี้ก็ต้องการความสนใจ อยากได้คำชม อยากเป็นคนเก่งในสายตาของคนที่ตัวเองรักและเคารพ สาวใช้เองเวลาเห็นว่าน้องเค้าขโมยของมาเธอก็ออกปากชมตลอด เด็กก็อาจรู้ว่ามันผิดแต่การทำแบบนี้มันเป็นวิธีที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และอาจรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจก็ได้ค่ะ (;;__;;)
มันอาจดูเล็กน้อยและเด็กสมัยนี้ก็ไม่ค่อยกังวลกับเรื่องพวกนี้มากสักเท่าไหร่ เดี๋ยวพ่อแม่ก็จะปลอบว่าเดี๋ยวซื้อของใหม่ให้ คุณครูก็แค่มาพูดขู่แล้วก็บอกว่ามันไม่ดี แต่บอกตามตรงค่ะ ตอนเราขโมยของของเพื่อน เราไม่รู้สึกผิดกับคำพูดของครูเลยสักนิด... เพราะเราเคยเป็นเด็กแบบนั้นมาแล้ว เราไม่อยากเป็นอีกค่ะ ถึงเราจะขโมยของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ขโมยถึงขั้นของแพงอย่างโทรศัพท์หรืออะไรอย่างอื่น แต่พอขโมยได้แล้ว เราในตอนนั้นกลับภูมิใจค่ะ ภูมิใจว่าเราทำได้ ภูมิใจว่าไม่มีใครจับได้ ภูมิใจว่าเราเก่ง และตอนนั้นก็อยู่ในช่วงที่คุณแม่เราทะเลาะกับพ่อด้วยเรื่องในครอบครัวพอดี บังเอิญจัง...
เราเลือกขโมยของ เพราะเราเคยทำ เคยภูมิใจ เคยมีความคิดแย่ๆ แบบนั้น และรู้ว่ามันไม่ดีแล้ว ตอนนี้เองก็แอบเกลียดตัวเองในตอนนั้นค่ะ ยัยเด็ก...555+ และเราก็ไม่อยากจะเป็นแบบนั้นอีก ถ้าตอนนั้นเรายังทำต่อไปอีก มันอาจจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ เราอาจจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาอีกคนในสังคมนี้ค่ะ ความจริงคือเราไม่ได้รู้สึกผิด แต่โดนขโมยของกลับ เรารู้สึกแย่มากจริงๆ จนตอนนั้นก็เข้าใจว่าถึงมันจะเป็นของที่เล็กหรือราคาไม่แพง แต่ถ้าถูกขโมยไปแต่ยังไงมันก็คือของเรา เราก็ต้องรู้สึกแย่และไม่พอใจ เข้าใจแล้วก็ลาขาดเลยค่ะ...
อยากได้หนังสือมากค่ะ ปรารถนามาก เผลอเขียนซะยาวเลย แต่ก็ดีค่ะ ได้ระบายและด่าตัวเองในอดีตไปพร้อมๆ กัน ฮ่า!