君の名は? Your name : หลับตาฝันถึงเธอ
อนิเมะที่ให้อะไรมากกว่าความซึ้ง
สวัสดีชาวเด็กดีไรเตอร์ทุกคนค่ะ ช่วงที่ผ่านมามีอนิเมะที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งที่ใครๆ พูดถึงกันให้แซ่ด อย่างเรื่อง your name หรือ Kimi no na wa (ชื่อไทยคือ หลับตาฝันถึงเธอ) คาดว่าหลายๆ คนก็ไปดูมาแล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าใครยังไม่ดู ให้รีบไปดูกันนะคะ พี่หญิงชอบเรื่องนี้มากเลย รู้สึกได้เลยว่าเป็นการ์ตูนที่เต็มไปด้วยความหมายและเรื่องราวที่น่าสนใจ ในฐานะผู้ดูมาแล้วและชื่นชอบ พี่หญิงเลยอยากชวนทุกคนมาจับประเด็นต่างๆ ที่เราได้จากการดูอนิเมะเรื่องนี้กันค่ะ
Your name หรือ kimi no na wa เป็นผลงานของ มาโกโตะ ชินไก ผู้กำกับอนิเมะแห่งยุคที่เคยสร้างผลงานสุดสะเทือนอารมณ์และคุณภาพงามอย่าง 5 centimeters per second และ garden of words มาแล้ว ผลงานเรื่องนี้ เปิดเรื่องด้วยภาพดาวหางที่กำลังพุ่งตรงมายังโลกและภาพเหตุการณ์ตอนที่มิตซึฮะ นางเอกของเรื่องปฏิเสธ ไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ของตน และต้องการจะย้ายไปโตเกียว ต่อจากนั้น มิตซึฮะพบว่าตัวเองตื่นมาอยู่ในร่างของผู้ชายวัยเดียวกัน ที่อาศัยในโตเกียว ส่วน ทาคิ ก็พบว่าตัวเองตื่นมาในร่างของผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทของญี่ปุ่น เรียกว่าทั้งสองคนสลับร่างกันนั่นเอง และแม้จะรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจ ทั้งคู่ก็ยังพยายามดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ โดยสื่อสารกันผ่านการเขียนบันทึกและทิ้งข้อความไว้
คนดูอย่างเราได้อะไร
ความเชื่อเรื่องด้ายแดง มุซุบิ musubi (結び)
อย่างแรกเลยที่พี่หญิงจับได้จากเรื่อง (ตามประสาคนยังไม่มีคู่) ก็คือเรื่อง มุซุบิ หรือเชือกถัก เป็นจุดเชื่อมโยงที่ ชินไก ใช้เป็นตัวหลักในการเล่าถึงความสัมพันธ์ของตัวละครหลักของเรื่อง มุซุบิ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยนาระ โดย เชือก ที่ได้ปรากฏให้เห็นตลอดทั้งเรื่องนั้น ได้ถูกใช้ในการแสดงความหมายเชิงสัญญะ ให้ความหมายถึงการผูกสัมพันธ์กันระหว่างทาคิและมิตซึฮะ พระเอก-นางเอกของเรื่อง จะสังเกตได้ว่ามิตซึฮะจะใช้เชือกในการผูกผมไว้ตลอดเวลา และเชือกเส้นนี้เอง เป็นเชือกเส้นเดียวกับที่ทาคิผูกไว้ที่ข้อมือ เมื่อมิตซึฮะตัดผมสั้นและไม่จำเป็นต้องใช้เชือกผูกผมอีกต่อไป สิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างทั้งคู่ก็หายไป ทำให้ไม่สามารถที่จะสลับร่างกันได้อีก (การตัดผมสั้นของมิตซึฮะ ก็เป็นการใช้ความหมายในเชิงสัญญะ สื่อถึงการตัดขาดความสัมพันธ์ที่มิตซึฮะมีต่อทาคิ)
การรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมในสภาวะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงค่านิยมไป
การ์ตูนเรื่องนี้เปิดเรื่องมาด้วยภาพของเด็กสาวอย่างมิตซึฮะ ที่อยากออกไปจากเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ เพื่อไปสู่เมืองใหญ่อย่างโตเกียว ฉากนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับไปมองว่าสาเหตุที่เธอรู้สึกอย่างนั้น มีต้นกำเนิดจากอะไรและเป็นเพราะอะไร หลังจากพิจารณาแล้ว พบว่า... ในเรื่องตระกูลของ มิตซึฮะ คือผู้สืบต่อศาลเจ้าฮิดะ ซันโนะกุ ฮิเอะ มิตซึฮะจึงมีตำแหน่งเป็น มิโกะ ประจำศาลเจ้า เมื่อมีงานเทศกาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเธอได้รับสายตาแปลกๆ จากเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่เห็นเธอทำหน้าที่มิโกะ และสถานการณ์เหล่านั้น ทำให้มิตซึฮะเกิดความรู้สึกอับอาย พี่หญิงดูแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า... ในสายตาของวัยรุ่นญี่ปุ่น ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมทั้งหลาย นอกจากจะเป็นเรื่องเคร่งเครียดและจริงจังแล้ว ยังเป็นเรื่องน่าเบื่อ และคร่ำครึ รวมถึงเป็นการบีบบังคับด้วย
Time line การสลับร่างกันในช่วงเวลาที่แตกต่าง
ไทม์ไลน์ ของเรื่องเป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เรื่องการสลับร่างกันระหว่างคนในอดีตและอนาคตเป็นพล็อตเรื่องที่พี่หญิงไม่ค่อยได้เห็นเลย (ส่วนใหญ่สลับร่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ก็ไปต่างโลกเลย) ซึ่งพี่หญิงเห็นแล้วจู่ๆ ก็นึกถึงแนวคิดเกี่ยวกับพาราเรลเวิลด์มาทันทีเลย เอ๊ะ...บางคนอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า “แล้วพาราเรลเวิลด์นี่มันคืออะไรกันล่ะ” พาราเรลเวิลด์ หรือ Quantum parallel universe เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยความเชื่อที่ว่า โลกของเราไม่ได้มีเพียงโลกเดียว แต่ยังมีเอกภพคู่ขนานที่เหมือนกับเราอีกหลายโลกด้วยกัน โดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ Hung Everett เป็นผู้เสนอขึ้นครั้งแรก และได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักฟิสิกส์หลายๆ ท่าน
ชื่อเต็มๆ ของหลักสูตรนี้ คือ Many-worlds interpretation of Quantum Mechanics เนื้อหากล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะมีเอกภพอื่นๆ ซึ่งมีกฏทางฟิสิกส์ และค่าคงที่ต่างๆ เหมือนกับเอกภพที่เราอยู่ทุกประการ แต่อาจจะอยู่ในสถานะที่ต่างกัน และเอกภพคู่ขนานเหล่านี้ไม่สามารถติดต่อกันได้ ในโลกของควอนตัม ซึ่งเป็นโลกของความน่าจะเป็น สถานะที่แตกต่างออกไป ในแต่ละเอกภพจะสัมพันธ์กันโดยกระบวนการของควอนตัมที่เรียกว่า Quantum superposition และความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลง เมื่อมีการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งของความน่าจะเป็นนั้น ซึ่งหลังจากที่มีการเลือกเกิดขึ้นแล้ว เอกภพคู่ขนานทั้งสองจะไม่สัมพันธ์กันอีก (โอ้ว สาระมาเต็ม) (ถ้าใครนึกไม่ออกก็ให้คิดถึงความสามารถของเบียร์คุรัน จากการ์ตูนเรื่องรีบอร์นที่นางมีความสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ที่เกิดในพาราเรลต่างๆ (อารมณ์เหมือนรู้อนาคตได้เลย) และสามารถย้ายเข้าไปอยู่ในพาราเรลต่างๆ ได้)
แผนภาพการแสดงความน่าจะเป็น
ตามกระบวนการของ Quantum superposition
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://medium.com/@sikarinyookong/
โดยในเรื่อง ทาคิ และมิตซึฮะ สลับร่างกันโดยที่มีช่องว่างของกาลเวลาอยู่ 3 ปี สำหรับทาคิ มันคือการย้อนไปอยู่ในอดีต แต่สำหรับมิตซึฮะ มันคือการข้ามไปอนาคต ซึ่งอนาคตที่ว่าก็ไม่มีตัวตนของเธอจริงๆ อยู่ (ตายไปในช่วงดาวหางพุ่งชน) มันเหมือนโลกคู่ขนานสองโลกที่มีตัวตนของทั้งสองเป็นตัวเชื่อมกันไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การเชื่อมต่อทั้งคู่ขาดหายไป (เมื่อการเชื่อมต่อสิ้นสุดลง) ความทรงจำของทั้งคู่เกี่ยวกับตัวตนของอีกฝ่ายก็ค่อยๆ จางหายไป เมื่อทาคิออกค้นหาความจริงจึงทำให้รู้ว่ามิตซึฮะและเมืองในชนบทนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว และการที่ทาคิพยายามจะเปลี่ยนอนาคตที่มิตซึฮะต้องตาย เป็นการเลือกทางเลือกใหม่ที่จะทำให้เกิดอนาคตที่แตกต่างจากเดิมที่เป็นอยู่ในโลกของทาคิ เมื่อแผนการในการหลีกหนีภัยจากดาวหางประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เกิดเส้นทางความเป็นไปได้ที่แตกต่างจากเส้นทางเดิมที่เป็น (เส้นทางเดิมที่มิตซึฮะต้องตายก็หายไป)
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้พี่หญิงอดคิดตามไม่ได้ เพราะใจก็แอบเสียใจเบาๆ ที่ความทรงจำของทั้งคู่ต้องหายไป แต่ถ้าคิดตามแนวคิดที่กล่าวมา อาจเป็นเพราะเมื่อเอกภพคู่ขนานหนึ่งใด (โลกอดีต) เกิดความเปลี่ยนแปลง ย่อมทำให้เส้นทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปด้วย (โลกแบบเก่าหายไป) ทำให้โลกทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์กันอีก จึงเป็นสาเหตุให้ความทรงจำของทั้งคู่ค่อยๆ เลือนหายไป
หรือถ้ามองในอีกแง่หนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับแนวคิดพาราเรลเวิร์ด (เป็นแนวคิดที่เมื่อพี่หญิงดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วคิดถึงทันที) อีกเหตุผลหนึ่งผู้เขียนอาจจะต้องการสื่อถึง การลืมตาตื่นจากความฝันก็เป็นได้ เพราะช่วงเวลาทั้งสองสลับร่างกันนั้นคือเวลาที่ทั้งคู่เข้านอน (เคยได้ยินไหมที่ว่าเวลาที่เรานอนหลับเป็นเวลาที่วิญญาณเราออกจากร่างไปที่อื่น) เมื่อเราลืมตาตื่นจากความฝันเมื่อไหร่ ต่อให้ตอนแรกความฝันนั้นจะชัดเจนเพียงใดแต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเลือนรางหายไปจากความทรงจำของเราเสมอ (ให้อารมณ์เหมือนตอนเข้าห้องน้ำแล้วพล็อตนิยายเกิดโผล่ขึ้นมาอยู่ในหัว พอจะออกมาจดก็เลือนหายไปซะแล้ว ฮา ไม่เข้าใจตัวเองทำไมมีสมาธิ ชอบนึกออกตอนเข้าห้องน้ำ ฮา) ซึ่งจุดนี้ มาโกโตะ ชินไก จับมานำเสนอการพยายามจำกลับยิ่งลืมได้ดีมาก โดยเฉพาะฉากที่ทั้งคู่มาเจอกันแล้วจำกันและกันไม่ได้ในฉากสุดท้าย ตอนนั้นทั้งทำให้ลุ้นแบบสุดๆ และยังเป็นฉากที่นำความประทับใจมาให้อย่างที่สุดอีกด้วย
หลังจากดูอนิเมะเรื่องนี้จบแล้วหลายคนอาจจะได้แค่ความสนุก หรือ หลายคนก็สามารถสัมผัสได้ถึงอะไรที่มากกว่านั้น ความฝันบ้างครั้งมันก็มีความสุขซะจนทำให้เราไม่อยากตื่นมาพบกับความเป็นจริงเอาซะเลย แต่อย่างไรความฝันยังไงก็ยังเป็นแค่ฝันตื่นหนึ่ง เมื่อเราตื่นขึ้นมามันย่อมเลือนหายไป แล้วเหลือเพียงความเป็นจริงให้เราได้เผชิญเท่านั้น (อืม...แต่ความฝันที่เราฝันถึงก็สามารถเอามาเขียนเป็นพล็อตนิยายได้นะเออ...ถ้าจำได้อะนะ ฮา)
สุดท้ายนี้ใครที่ดูอนิเมะเรื่องนี้กันแล้ว อย่าลืมมาแชร์ความประทับใจที่มีต่ออนิเมะนี้กันนะคะ วันนี้พี่หญิงขอลากันไปก่อน สวัสดีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.majorcineplex.com/
http://www.dummies.com/education/science/physics/the-theory-of-parallel-universes/
http://www.space.com/32728-parallel-universes.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Many-worlds_interpretation
6 ความคิดเห็น
เป็นอนิเมะที่น่ารักดีครับ น่ารักจนอยากดูเวอร์ชขั่นที่เป็นคน
ถ้าแสดงถึงนี้ อารมณ์สุข เศร้า มาเต็มๆเลยครับ
น่ารักมากเลยค่ะ มีมุขตลกแทรก ภาพสวย เพลงเพราะ คือดี ชอบมากๆ นานๆ จะเจออนิเมะโรงที่พล็อตอลังการแปลกประหลาดอย่างนี้ รักเลยย
ลุ้นว่าตอนจบสองคนเขาจะรู้ชื่อกันหรือเปล่า ฮาๆ
ถือว่าเป็นการ์ตูนที่น่ารักอีกเรื่องหนึ่งเลย
ทฤษฏีพาราเรลเวิลนี่ทำให้นึกถึงอนิเมะเรื่องยาวแนวๆเดียวกัน พวกมาโดกะ มิราอินิกกิ
*ข้างล่างมีสปอยเนื้อหาอนิเมะ*
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
มาโดกะนี่ก็ โฮมุย้อนเวลากลับมาช่วย หาวิธีต่างๆไม่ให้มาโดกะตาย ก็แบ่งเป็นหลายไทม์ไลน์
มิราอินิกกิ ก็ยูโนะอยากอยู่กับยูกิเทรุ เลยย้อนเวลากลับมาแต่เพราะพลาดที่ทำให้ยูกิเทรุรู้ความลับเหตุการณ์เลยต่างจากเดิม ชอบทฤษฏีนี้มากๆเลยค่ะ *หัวเราะ*