คริสต์มาสนี้ชวนอ่านวรรณกรรมในตำนาน
"อาถรรพ์วันคริสต์มาส"
สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวไรเตอร์ทุกคน กลับมาพบกับพี่น้ำผึ้งคนเดิม เพิ่มเติมคือเรื่องราวที่นำมาฝากในวันนี้นะคะ ไหนๆ ก็ใกล้เทศกาลคริสต์มาสแล้ว เรื่องที่พี่นำมาฝากในวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นวรรณกรรมชื่อดังอย่าง “A Christmas Carol” หรือ “อาถรรพ์วันคริสต์มาส” ผลงานทรงคุณค่าจากปลายปากกาของนักเขียนแห่งเมืองผู้ดีอย่าง “ชาร์ลส์ ดิคเก้นส์”
น้องๆ รู้ไหมคะว่างานเขียนแต่ละเรื่องของนักเขียนคนนี้ล้วนแต่ เขียนออกมาเพื่อต่อต้ายความชั่วร้ายในสังคมสมัยนั้น ดังนั้นเมื่อน้องๆ อ่านวรรณกรรมของเขาก็จะพบว่ามันแฝงแง่คิดไว้อย่างแนบเนียน พูดง่ายๆ ก็คืออ่านจบปุ๊บ ตกตะกอนสิ่งดีๆ ปั๊บเลยค่ะ ซึ่ง A Christmas Carol ก็เป็นหนึ่งในนั้น
(ขอบคุณรูปภาพจาก : christmasgador.com)
วรรณกรรมเรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1843 เรื่องราวเริ่มต้นที่ว่าวิญญาณเพื่อนซี้ของ “เอเบเนเซอร์ สครูจ” มาหาแล้วบอกว่า “ถ้าแกไม่ยอมเปลี่ยนตัวเอง ระวังนะ ถ้าตายไปแล้วแกจะกลายเป็นวิญญาณที่ไม่ผุดไม่เกิด!” เท่านั้นแหละสครูจในวัยชราก็ตกใจมาก อ่า... ที่ตกใจก็เพราะว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นตาแก่ที่นิสัยไม่ดี ขี้งก ขี้เหนียว ขี้ตืด ชอบกดขี่ลูกน้องและไม่เคยทำบุญสุนทานเลยแม้แต่น้อยค่ะ
หลังจากนั้นภูติแห่งเทศกาลคริสต์มาส 3 ตนก็มาหาและพาเขากลับไปยังอดีตเมื่อสมัยที่เขายังเป็นคนนิสัยน่ารัก พาไปที่ปัจจุบันซึ่งกลายเป็นคนเลือดเย็น กดขี่ลูกน้องแม้ว่าลูกน้องจะป่วยเจียนตาย และปิดท้ายที่อนาคต... ซึ่งนอนตายอย่างเดียวดาย
เรื่องราวจบลงที่ว่าเขาตื่นขึ้นมาในเช้าวันคริสต์มาสพร้อมกับนิสัยที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เอ่อ... พี่หมายถึงตาสครูจเนี่ยรู้สำนึกว่าเขาทำสิ่งที่ไม่ดีแก่คนรอบข้าง ไม่เคยแบ่งปันความรักหรือมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นในวันคริสต์มาสนี้เขาก็เลยเปลี่ยนตัวเองซะใหม่
เอ๊ะ... อ่านไปอ่านมา พี่ชักเริ่มรู้สึกว่ามันคือปาฏิหาริย์วันคริสต์มาสมากกว่าอาถรรพ์ซะอีกนะคะ
คุณตาสครูจกับภูติแห่งเทศกาลคริสต์มาส
(ขอบคุณรูปภาพจาก : fansshare.com)
ภูติที่พาไปอดีตทำให้เขาได้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง ทำให้เขาเจอสาเหตุอันเป็นที่มาที่ทำให้เขากลายเป็นคนละโมบ ไร้น้ำใจและเห็นแก่ตัวอย่างในปัจจุบัน
ภูติที่พาไปดูเหตุการณ์ปัจจุบันได้พาเขาไปยังครอบครัวแคร็ทชิท ลูกจ้างของเขาที่ถูกกดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานหนัก ซึ่งขณะนั้นลูกชายของแคร็ทชิทก็ป่วยหนัก แต่เขาไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่เพราะมัวแต่ทำงานที่สครูจสั่ง เท่านั้นยังไม่พอ ภูติได้พาสครูจไปยังงานปาร์ตี้คริสต์มาสของหลานชาย เเละได้เห็นหลานชายนำเรื่องเขามาล้อเลียนราวกับว่าเป็นเรื่องตลกชวนหัวอีกด้วย สร้างความเสียใจให้แก่เขาเป็นอย่างมาก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสครูจช็อคมากขนาดไหน?
สำหรับภูติตัวสุดท้ายนั้นพาไปยังอนาคต สครูจได้เห็นตัวเองที่ตายไป แถมยังถูกขโมยรุมทึ้งแย่งสมบัติอีกต่างหาก เขาจึงประจักษ์กับตัวเองเลยว่าแท้จริงแล้วคนรอบข้างมองว่าเขาเป็นอย่างไร
(ขอบคุณรูปภาพจาก : theimaginativeconservative.org)
แน่นอนว่าเรื่องราวเมื่อคืนเปรียบเสมือนความฝันที่ยาวนานของสครูจ หลังจากที่ตื่นขึ้นมาเขาก็ประจักษ์ว่าตัวเองนี่มันเห็นแก่ตัวชัดๆ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่เคยนึกถึงคนรอบข้างเลยสักนิด แล้วแถมบั้นปลายชีวิตยังตายแบบน่าอนาถ ไม่มีใครเหลียวแล ด้วยการที่เขาไม่อยากจะจบชีวิตลงแบบนั้น สครูจจึงเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่… และเมื่อเขามีโอกาส ก็เลยคว้ามันไว้
น้องๆ รู้ไหมคะว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนคนนิสัยไม่ดีระดับสิบให้กลายเป็นคนดี๊ดีได้? คำตอบก็คงจะเป็น “โอกาส” ใช่มั้ยล่ะ? นั่นแหละค่ะ การมอบโอกาสให้คนนั้นได้ปรับปรุงตัวอีกครั้ง เชื่อมั่นว่าเขาจะต้องเปลี่ยนเป็นคนที่ดีได้ คือสิ่งที่เราควรจะทำเพื่อให้เขามีที่ยืนในสังคม
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจาก A Christmas Carol เลยก็คือ “ผู้ให้ – ผู้รับ” จะเห็นได้ว่าในเรื่องนี้สครูจเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ อาจด้วยประสบการณ์ในอดีตที่ทำให้เขากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่ภายหลังสครูจก็พบว่านิสัยนี้ของเขาไม่น่ารักเอาเสียเลย เพราะนอกจากคนรอบข้างจะรังเกียจแล้ว บั้นปลายชีวิตยังไม่สวยด้วยค่ะ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส เขาเลยเปลี่ยนจากการเป็น “ผู้รับ” ให้กลายเป็น “ผู้ให้” เชื่อเถอะค่ะว่าถ้าสครูจมีนิสัยเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับตั้งแต่แรก เขาก็จะกลายเป็นที่รักของคนรอบข้างและไม่มีจุดจบที่อนาถ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ ดังนั้นสิ่งที่น้องๆ ควรจะตระหนักไว้เลยก็คือ "อย่ารอให้สายเกินแก้" เพราะเราคงไม่มีโอกาสได้เจอภูติแห่งเทศกาลหิมะเหมือนอย่างที่สครูจเจอหรอกค่ะ ถูกไหม ?
(ขอบคุณรูปภาพจาก : theimaginativeconservative.org)
วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการแปลอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ยังมีการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครเวที แถมยังเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กด้วยนะคะ น่าทึ่งมากๆ เลยค่ะ
สำหรับพี่น้ำผึ้ง พี่คิดว่า A Christmas Carol คือวรรณกรรมที่เขียนขึ้นเพื่อสอนคนที่มองโลกในแง่ลบให้หันมามองโลกในแง่บวก ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีน้ำใจกับชาวโลก ถ้าหากน้องๆ ได้อ่านก็จะพบว่ามันแฝงไปด้วยแง่คิดบางอย่างที่พี่เชื่อว่าน้องๆ จะต้องอยากเปลี่ยนตัวเองหลังอ่านจบแน่นอนค่ะ
ก่อนจากกันในวันนี้ พี่น้ำผึ้งก็นำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ A Christmas Carol มาฝากน้องๆ รับรองได้ว่าพิเศษมากแน่ๆ เพราะไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเลยค่ะ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย ^^
ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์
(ขอบคุณรูปภาพจาก : ndle.com)
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
1. เมื่อปี ค.ศ. 1843 ดิกเก้นส์ได้มีโอกาสขึ้นเวทีพูดเพื่อการกุศล ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้แก่สถาบันการศึกษาแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และยังมีโอกาสได้พูดคุยกับเบนจามิน ดิสราเอลีในวัยหนุ่ม ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ทันทีที่จบบทสนทนา อยู่ๆ ไอเดียที่อยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับวันคริสต์มาสก็โผล่มา อย่างนี้ต้องขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรีมากๆ เลยนะคะเนี่ย
2. ดิกเก้นส์เริ่มเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1843 เขาใช้เวลาทุกคืนในการบรรจงร้อยเรียงคำและถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษร ก่อนที่จะปิดต้นฉบับในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1843 รวมๆ แล้วใช้เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์ก็เขียนจบแล้วค่ะ! ดังนั้น A Christmas Carol ก็เลยวางแผงตามร้านหนังสือได้ทันเวลาคริสต์มาสพอดีเลย ซึ่งก็คือวันที่ 17 ธันวาคม 1843 ที่พีคไปกว่านั้นก็คือขายหมดภายในเวลาแค่ 3 วัน!! โอ้โห ถ้านิยายไม่เจ๋งจริงทำไม่ได้นะคะเนี่ย
3. ทันทีที่โทมัส คาร์ลีลย์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวสก็อตแลนด์อ่านจบ เขาเดินออกไปจากบ้านและซื้อไก่งวงมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ข้ามฝากมาที่ฝั่งอเมริกา นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของบริษัทชื่อดังได้ให้วันหยุดช่วงคริสต์มาสยาวต่อไปอีก และยังมีอีกหลายๆ ปรากฏการณ์ดีๆ ที่ตามมา ซึ่งนักเขียนนวนิยายหนุ่ม วิลเลี่ยม แธคเกอร์เรย์ก็ได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า “ประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าคนที่อ่านนิยาย “A Christmas Carol” จบจะเปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ใจดีกับเพื่อมนุษย์มากขึ้นค่ะ ว้าว มหัศจจรย์มากๆ เลยนะคะ
4. 10 ปีต่อมา ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ได้จัดการแสดงครั้งยิ่งใหญ่ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ด้วยการเล่านิยายเรื่อง A Christmas Carol ให้ทุกคนฟัง มันเป็นการแสดงครั้งแรกของเขา และดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จซะด้วยสิเพราะมีผู้ชมมากถึง 2,000 คน! ซึ่งเขาได้เริ่มต้นการแสดงด้วยการขอบคุณนักอ่านที่ติดตามกันอย่างเหนียวแน่นค่ะ แถมยังได้รับฟีดแบ็คกลับมาดี๊ดีซะด้วยสิ เมื่อบรรดาแฟนๆ ทั้งหลายต่างก็เล่าลือเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดิกเก้นส์นี่แหละคือนักเขียนที่สุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน”
น้องๆ เชื่อไหมคะว่านอกจากนี้ว่าหลังจากนั้นการแสดงอ่านหนังสือของเขาก็จัดเป็นทัวร์นาเมนท์เลยค่ะ
5. ในที่สุดการแสดงครั้งที่ 2 และ 3 ของเขาก็ข้ามฟากไปจนถึงฝั่งอเมริกาจนได้ ซึ่งคราวนี้ดิกเก้นส์ก็ได้มอบหนังสือ “A Christmas Carol” ให้แก่ Berg Collection of English and American literature ที่ New York Public Library (NYPL) ค่ะ
หลังจากนั้นเขาก็จัดการแสดงที่อเมริกาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1867 ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในบรู๊คลิน น้องๆ เชื่อไหมคะว่าคนต่อแถวเพื่อซื้อบัตรการแสดงยาวมาก ราวๆ 1 ไมล์หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตรเลยแหละค่ะ ทำให้ดิกเก้นส์ได้รับรายได้จากการแสดงครั้งนี้ถึง 19,000 ปอนด์ ซึ่งมากกว่ารายได้ที่เขาเขียนหนังสือขายด้วยซ้ำ!
พี่น้ำผึ้ง :)
http://mentalfloss.com/
http://www.telegraph.co.uk
3 ความคิดเห็น
เราเคยอ่านเพราะอาจารย์เอามาออกข้อสอบ ต้องจำทุกรายละเอียดจริงๆอ่ะ แต่สอนใจดี
อันนี้เคยดูการ์ตูนของวอทดิสนี่เอามาทำ โรนัลดักเป็นชายแก่ มิกกี้เป็นลูกจ้างที่ถูกกระทำ ดูแล้วสนุกดีค่ะ // ซึ้งด้วย