มหาภารตะ : มหากาพย์สู้รบของพี่น้องสองตระกูล

รูปภาพจำลองสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรฉบับภาษาสันสกฤต
(รูปภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/File:Kurukshetra.jpg)
มหาภารตะ เป็นหนึ่งในสองมหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ของอินเดีย ความยาวกว่าแสนโศลกซึ่งคนอินเดียต่างรู้จักเรื่องมหาภารตะดีไม่ต่างจากการรับรู้เรื่องรามายณะ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าเพราะแต่งขึ้นด้วยภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาวรรณคดีโบราณที่ถือว่าตายไปแล้วในปัจจุบัน การอ่านจากฉบับภาษาสันสกฤตโดยตรงทำให้เข้าใจได้ยากส่งผลให้การอ่านเรื่องมหาภารตะไม่เป็นที่นิยมเพราะต้องทำความเข้าใจอีกหลายชั้น ต่อมาทำให้มีนักปราชญ์ชาวอินเดียถอดความออกมาเป็นข้อความโดยใช้ภาษาสำนวนที่เข้าใจง่ายจึงทำให้มหาภารตะเป็นที่สนใจขึ้นมา
มหาภารตะเป็นเรื่องการทำสงครามระหว่างกษัตริย์สองตระกูลคือ ฝ่ายปาณฑพและเการพ อีกทั้งยังเป็นเรื่องราวการอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ด้วย มหากาพย์มหาภารตะมีลักษณะการเข้ามาในสังคมไทยคล้ายกับมหากาพย์รามายณะคือเป็นลักษณะของการบอกเล่าต่อกันมา เพียงแต่หลักฐานเกี่ยวกับมหาภารตะที่พบในไทยมีน้อยมาก เพราะไม่มีต้นฉบับที่แน่นอน ต่างจากรามายณะที่มีการพบต้นฉบับเป็นสำนวนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงเก่า
รู้จักมหาภารตะ
เรื่องราวเบื้องต้นเกี่ยวกับมหาภารตะนั้นมีที่มาจากต้นตระกูลของพระราชาแห่งแคว้นกุรุ เป็นเรื่องราวการต่อสู้กันระหว่างพี่น้องสองตระกูล ได้แก่ตระกูลปาณฑพและเการพ
ต้นเรื่องของมหาภารตะนั้นพี่หวานจะเริ่มเล่าจากตัวละครสำคัญที่ปรากฏตั้งแต่ต้นเรื่องจนวันสุดท้ายของการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร นั่นก็คือ ภีษมะ ผู้เป็นลูกชายของท้าวศานตนุกับพระแม่คงคา ต่อมาภายหลังท้าวศานตนุได้อภิเษกสมรสอีกครั้งกับนางสัตยวดีมีลูกชายด้วยกันสองคนคือ จิตรางคทะและวิจิตรวีรยะ ภีษมะจึงมีศักดิ์เป็นพี่ชายต่างมารดากับสองคนนั้น เนื่องจากครั้งหนึ่งภีษมะเคยปฏิญาณตนไว้ว่าจะไม่ขึ้นครองราชย์ต่อจากท้าวศานตนุ และไม่แต่งงานกับสตรีใดเพื่อที่จะไม่ให้กำเนิดบุตรมาสืบทอดบัลลังก์ ระหว่างที่รอให้น้องชายคนใดคนหนึ่งเติบโตพอที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงหัสตินาปุระ ภีษมะจึงทำหน้าที่ดูแลบริหารบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างสงบสุขและร่มเย็น ผู้คนในนครหัสตินาปุระต่างรู้ดีว่ากษัตริย์ในดวงใจก็คือภีษมะผู้ตั้งมั่นในธรรมและมีจิตใจกว้างขวางดั่งมหาสมุทรผู้นี้นั่นเอง ในเวลาต่อมาช่างเป็นโชคร้ายของนางสัตยวดีที่จิตรางคทะมาด่วนจากไปเสียก่อน บัลลังก์แห่งกรุงหัสตินาปุระจึงเป็นของวิจิตรวีรยะ แต่โชคร้ายยังไม่หมดแค่นั้นเมื่อวิจิตรวีรยะได้จากไปอีกคนภายหลังแต่งงานกับธิดาทั้งสองของท้าวทรุบทได้ไม่นาน เป็นเหตุให้ฤๅษีวยาสผู้ศักดิ์สิทธิ์ต้องร่วมหลับนอนกับเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์เพื่อให้กำเนิดบุตรซึ่งก็คือบรรดาบิดาผู้ให้กำเนิดพี่น้องสองตระกูลในเวลาต่อมานั่นเอง
รูปเหล่าพี่น้องปาณฑพและนางเทราปตี
(รูปภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Mahabharata)
จากที่กล่าวมาคือท้าวธฤตราษฎร์ บิดาของเหล่าเการพ และท้าวปาณฑุ บิดาของเหล่าปาณฑพ ถ้าหากนับลำดับญาติแล้วภีษมะก็เป็นเหมือนปู่ของพี่น้องปาณฑพและเการพ และยังเป็นบุคคลผู้อยู่ในเหตุการณ์มหากาพย์สงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตรตั้งแต่ต้นจนจบอีกด้วย ท้าวธฤตราษฎร์นั้นมีนัยน์ตามืดบอดสนิททั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ได้อภิเษกสมรสกับนางคานธารีมีโอรสด้วยกัน 100คน และพระธิดาองค์สุดท้องอีก 1 คน ผู้มีบทบาทต่อมหากาพย์มหาภารตะนี้ที่สุดในบรรดาพี่น้องเการพก็คือพระโอรสองค์แรกผู้มีนามว่า ทุรโยธน์
ส่วนฝ่ายตระกูลปาณฑพนั้น ท้าวปาณฑุได้อภิเษกสมรสกับนางกุนตีและนางมัทรี แต่ตัวท้าวปาณฑุต้องคำสาปห้ามร่วมหลับนอนกับสตรีใดมิเช่นนั้นจะต้องมีอันเป็นไป ด้วยเหตุนี้นางกุนตีผู้เคยได้รับประทานพรวิเศษให้มีบุตรได้จึงต้องใช้พรวิเศษนั้นอัญเชิญเทพมาประทานบุตรให้แก่ตน ทำให้ท้าวปาณฑุมีโอรสที่กำเนิดจากนางกุนตีสามคนได้แก่ ยุฐิษฐิระ(พระยม) ภีม(พระมารุต) และอรชุน(พระอินทร์) นอกจากนั้นนางกุนตียังสอนมนต์ให้แก่นางมัทรีเพื่ออันเชิญเทพมาให้กำเนิดโอรสฝาแฝดอีกสองคนคือ นกุลและสหเทพ(เทพอัศวินแฝด) ซึ่งในเรื่องพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนถือว่ามีบทบาทมากน้อยไม่ต่างกันเพราะแต่ละคนก็เป็นส่วนสำคัญในมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรด้วยกันทั้งนั้น
แม้ว่ามหากาพย์มหาภารตะจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งกันของพี่น้องและแตกต่างจากรามายณะ แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันคือเป็นมหากาพย์ที่เล่าถึงการรบกันของคนในวรรณะกษัตริย์ แสดงออกถึงความเป็นชาตินักรบ และยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องมหาภารตะนี้พระนารายณ์ก็ได้มีร่างอวตารลงมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเช่นกัน โดยมีชื่อว่า พระกฤษณะ เป็นสหายของอรชุน เพื่อช่วยในการรบครั้งนี้ด้วย
รูปพระกฤษณะเป็นสารถีขับม้าศึกให้อรชุน
(รูปภาพจาก : http://inspireindeed.com/2016/5-success-mantras-from-the-characters-of-mahabharata/)
นอกจากจะเป็นเรื่องราวบาดหมางกันของพี่น้องปาณฑพและเการพแล้ว ยังมีนางเทราปตี ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมายอีกด้วย ถ้าใครพอจะเคยอ่านมาบ้างคงรู้ดีว่าเมื่อตอนที่นางเทราปตีต้องทำพิธีสยุมพร โดยท้าวทรุบทผู้เป็นบิดาได้จัดให้มีพิธีเลือกคู่โดยการยิ่งธนู ซึ่งครั้งนั้นทุรโยธน์ก็เข้าร่วมด้วยเพราะหมายปองในตัวนางเทราปตี แต่ผู้ชนะกลับเป็นอรชุนโอรสฝ่ายปาณฑพ จึงทำให้นางเทราปตีถือเป็นอีกหนึ่งชนวนความบาดหมางที่สำคัญ
ภาพจากเหตุการณ์ตอนนางเทราปตีถูกยกเป็นของพนันในการเล่นสการะหว่างยุธิษฐิระกับทุรโยธน์
(รูปภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Mahabharata)
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของ มหาภารตะ ที่พี่หวานนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ พี่หวานคิดว่าคงจะมีหลายคนที่เคยได้ยินชื่อเเต่ไม่ได้รู้จักรายละเอียดของเรื่องมากนักใช่มั้ยคะ พี่หวานเองก็รู้จักเรื่องมหาภารตะจากการอ่านหนังสือการ์ตูนสาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ (มีใครทันบ้างเอ่ย5555) ตอนนั้นรู้สึกว่ามันสนุกมากเลย มีภาพให้อ่านง่ายจัง พอมีโอกาสได้ค้นคว้าก็เลยรู้สึกสนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ จนอยากจะนำสาระดีๆ มาแบ่งปันให้น้องๆ ไรท์เตอร์ได้อ่านด้วย
ถือได้ว่าเรื่องมหาภารตะนี้ก็เป็นวรรณคดีที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นเลยนะคะ ดังมีคำกล่าวว่า 'สิ่งใดที่ปรากฏในเรื่องมหาภารตะ ยังสามารถหาได้จากที่อื่นอีก แต่ถ้าสิ่งใดไม่ปรากฏในมหาภารตะ ย่อมหาจากที่อื่นไม่ได้แล้ว' น้องๆ คงจะเห็นจากตัวอย่างเรื่องเล่าอุปาขยานที่พี่หวานยกตัวอย่างข้างบน นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฏในมหาภารตะเท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่น่ารู้อีกมากซ่อนอยู่ ถ้ามีโอกาสพี่หวานจะค่อยๆ หยิบมาเล่าให้ฟังทีละเรื่องนะคะ หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลายคนได้รู้จักมหากาพย์เรื่องสำคัญเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ ^^
พี่หวาน
6 ความคิดเห็น
และในนี้เคยมีใครสุ่มกาชา Fate/Grand Order แล้วได้อรชุนหรือกรรณะแล้วบ้างครับ ป่านนี้ผมยังวนเวียนอยู่ที่ 1-3 ดาวอยู่เลย
555 ไม่ได้อรชุน แต่ได้-ตู้ทองตอนเด็กเฉยเลย
เคยอ่านแต่ฉบับบการ์ตูนในสาวดอกไม้ สนุกสุโก้ย
รู้จักเพราะรายการแฟนพันธุ์แท้มหาภารตะ เลยไปศึกษาและดูที่เป็นละครช่อง jkn ฉบับปี 2013 อ่ะ ฟังเป็นเรื่องเล่าของอาจารย์วีระด้วย เลยชอบมากๆ
อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องมีอะไรบ้าง