5 เรื่องรักหลากรสจากวรรณคดีไทยที่อยากบอกต่อในวันแห่งความรัก



5 เรื่อง รักหลากรสจากวรรณคดีไทย
ที่อยากบอกต่อในวันแห่งความรัก 

 



สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวนักเขียนทุกคน > < เนื่องจากใกล้ช่วงวาเลนไทน์แล้วววว ขอเอาใจคนมีความรักและคนกำลังตามหาความรัก (แบบพี่หวาน5555) ด้วยการนำเสนอมุมมองความรักแบบต่างๆ ในวรรณคดีไทย เรื่องความรักมักจะถูกใช้เป็นโครงเรื่องหลักของวรรณคดีหรือนิยายหลายๆ เรื่อง พี่หวานก็อ่านวรรณคดีมาเยอะในระดับหนึ่งจึงพบว่าในวรรณคดีไทยนั้นมีการนำเสนอความรักไว้หลายแบบเลยทีเดียวค่ะ แต่ละเรื่องราวความรักก็มีเสน่ห์เเตกต่างกันออกไป พี่หวานคิดว่าความรักที่ปรากฏในวรรณคดีไทยเหล่านี้ล้วนเเต่สามารถพบได้ในชีวิตจริงทั้งนั้นค่ะ 


 

1. โศกนาฏกรรมแห่งรัก : เงาะป่า


ขอเปิดบทความด้วยความรักแบบแรกจากเรื่อง ‘เงาะป่า’ หลายคนคงจะเคยได้ยินวรรณคดีเรื่องเงาะป่ามานานแล้วใช่มั้ยคะ เรื่องเงาะป่าเป็นผลงานพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่5) ทรงพระราชนิพนธ์โดยนำความรักมาเป็นแก่นหลักสำคัญของเรื่อง เพื่อที่อยากจะแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของชนชาติเผ่าพันธุ์ แม้ว่าพวกเงาะจะเป็นชนเผ่าเล็กๆ ที่เติบโตและอาศัยอยู่ในป่า ก็สามารถมีความรักเหมือนปุถุชนคนเราทั่วไปเช่นกัน โดยในบทสุดท้ายของงานประพันธ์เป็นใจความที่ว่า
 

         "  จบ        บทประดิษฐแกล้ง            กล่าวกลอน
            เรื่อง      หลากเล่นลคร                 ก็ได้
            เงาะ      ก็อยเกิดในดอน               แดนพัท  ลุงแฮ
            ป่า        เปนเรือนยากไร้               ย่อมรู้รักเป็น ”
 

แม้ว่าเงาะป่าทั้งหลายจะอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากความเจริญ และขาดการพัฒนาเหมือนเราในสังคมเมือง แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิ์มีความรัก พระองค์ทรงมองข้ามความต่างของเผ่าพันธุ์และแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่มองว่าเราทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับความรักและมอบความรักให้แก่ผู้อื่น ในส่วนของเนื้อเรื่องแม้ว่าจะเป็นตอนจบแบบโศกนาฏกรรม แต่พี่หวานก็คิดว่าโศกนาฏกรรมนั้นทำให้พี่หวานได้เข้าใจถึงรักแท้ได้ค่ะ
 

เรื่องราวเริ่มต้นจากตัวละครซมพลาที่เกิดชอบพอในตัวนางลำหับ โดยมีไม้ไผ่น้องชายของนางลำหับช่วยเป็นพ่อสื่อให้ วันหนึ่งนางเข้าไปในป่าและถูกงูกัดก็ได้ซมพลาช่วยเอาไว้ ทั้งสองจึงเกิดความรู้สึกดีๆ ให้กัน แต่ก่อนที่ทั้งสองจะได้รักกันอย่างมีความสุข นางลำหับก็ต้องแต่งงานกับฮเนาเพราะพ่อแม่ของฮเนามาสู่ขอนางไปเสียแล้ว ในการแต่งงานของลำหับกับฮเนาต้องเข้าไปในป่า ซมพลาจึงวางแผนไปลักพาตัวนางลำหับมาอยู่ด้วยกันค่ะ โดยฮเนาเข้าใจผิดว่านางลำหับไม่ได้มีใจให้ซมพลาจึงออกไปเพื่อชิงตัวนางกลับคืน ในวันหนึ่งระหว่างที่นางลำหับรอซมพลาอยู่บ้านจนตะวันตกดินไม่เห็นกลับมาก็เลยตามเข้าไปในป่า พบฮเนากับซมพลาต่อสู้กันไปมาจนซมพลาโดนลูกดอกปักเข้าไปใกล้ตายเต็มที จังหวะนั้นนางลำหับเองก็โศกเศร้าและไม่คิดว่าจะสามารถอยู่ได้ถ้าซมพลาตาย นางจึงฉวยเอามีดจากมือซมพลามาแทงตัวเองเพื่อตายตามไป ส่วนฮเนาที่เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างได้ฟังคำบอกลาของทั้งสองคนก็รับรู้ได้ว่าพวกเขารักกัน และตนเองต่างหากที่มาพรากความรักของทั้งคู่ ก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยความรู้สึกผิดและตายตามซมพลากับลำหับในที่สุด

พี่หวานอ่านกี่รอบก็รู้สึกเศร้าไปด้วยทุกครั้ง เพราะจริงๆ แล้วฮเนาก็ไม่ใช่คนไม่ดีนะคะ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าทั้งสองคนรักกันมาก่อนแล้วต่างหาก พี่หวานคิดว่าถ้าไม่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างนี้ ถ้าหากฮเนารู้มาก่อนก็คงไม่แต่งงานกับนางลำหับแน่นอน ส่วนนางลำหับก็ยอมแต่งงานกับคนที่พ่อแม่เลือกให้ด้วยความเคารพ แม้ว่าซมพลาจะทำผิดที่ไปชิงตัวนางมา แต่ก็ทำไปเพราะความรักนั่นเอง จากเรื่องนี้เราก็ได้เห็นความรักจากหลากหลายความสัมพันธ์เลยล่ะค่ะ ทั้งรักระหว่างหนุ่มสาว รักระหว่างพ่อแม่ลูก รักระหว่างพี่สาวกับน้องชาย รักสามเส้า ไปจนถึงการรักตนเอง

 

2. รักแท้แพ้โชคชะตา : กามนิต


พี่หวานชอบคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “โชคชะตามีอีกชื่อว่าจังหวะ” บ่อยครั้งที่เรามักจะได้เจอเหตุการณ์แบบนี้ เช่น เฮ้ย…ตอนป.6 เราเคยชอบเธอนะ แต่คิดว่าเธอคงไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่เปล่าเลยตอนนั้นเราก็ชอบเธอเหมือนกัน เรื่องราวความไม่ตรงกันของนาฬิกาหัวใจก็ทำให้คนเราพลาดอะไรไปมากเลยนะคะ

ในวรรณคดีไทยก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เวลาของพระนางไม่ตรงกันเลยค่ะ นั่นก็คือเรื่อง ‘กามนิต’ วรรณคดีเรื่องนี้แปลมาจากฉบับภาษาเยอรมันโดยเสถียรโกเศศและนาคะประทีป ด้วยการใช้ภาษาที่สละสลวยจนมีคำกล่าวว่าฉบับแปลไพเราะกว่าต้นฉบับเลยล่ะค่ะ กามนิตถือเป็นวรรณคดีศาสนาที่เป็นที่รู้จักและได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง พี่หวานเองก็ชอบเรื่องกามนิตนะคะ ตอนนั้นอ่านฉบับการ์ตูนแล้วแอบเศร้าตามความรักที่ไม่สมวังของกามนิตและวาสิฏฐี พอโตขึ้นมาก็มีคนแนะนำให้ลองฟังเพลงที่เล่าเรื่องราวของทั้งสองคน ที่มีเนื้อร้องว่า “กามนิตยอดชายจะไปค้าขายที่โกสัมพี โชคและบุญหนุนนำได้เจอสาวงามชื่อวาสิฏฐี…”  พี่หวานได้ลองฟังเพลงแล้วก็ชื่นชมคนที่นำวรรณคดีมาแต่งเป็นเนื้อเพลงจริงๆ ค่ะ เพราะถ้าใครที่ขี้เกียจอ่านตัวเรื่องก็สามารถฟังเพลงนี้เพื่อรับรู้เรื่องราวฉบับย่อได้เลยค่ะ
 

ส่วนที่พี่หวานนิยามให้ความรักของกามนิตกับวาสิฏฐีต้องพ่ายแพ้ต่อโชคชะตาก็เพราะว่า เมื่อแรกที่กามนิตได้พบวาสิฏฐีในงานเดาะคลีและเกิดรักกันตั้งแต่วินาทีเเรกที่สบตา ทั้งสองส่งกลอนกลบทบอกความในใจต่อกันไปมา นัดเจอกันและมีความรักที่หวานชื่น แต่กามนิตก็ต้องกลับเมืองไป ก่อนกามนิตจะกลับเมืองทั้งสองคนก็สัญญาว่าจะต้องกลับมาพบกันและรักกันอีกถ้าไม่ใช่ชาตินี้ก็ขอเป็นชาติหน้า(ฟีลลิ่งไว้ไปพบกัน ณ ทางช้างเผือกอะไรแบบนั้นเลยค่ะT^T) ระหว่างทางกลับกามนิตได้เจอกลุ่มโจรองคุลีมาล และได้ร่วมอยู่ในกลุ่มนั้นพักหนึ่งเพื่อรอคนรับใช้นำของมาไถ่ตัวตามคำทำนายที่บอกว่ากามนิตนั้นเกิดฤกษ์ดาวโจร แต่สาตาเคียรที่เคยหมายปองวาสิฏฐีมานานกลับใช้กลอุบายลวงว่ากามนิตตายแล้วบังคับให้วาสิฏฐีแต่งงานกับตนเอง วาสิฏฐีเสียใจมากเพราะสาตาเคียรนำสร้อยของกามนิตมายืนยันว่ากามนิตตายแล้วเธอจึงยอมแต่งงานด้วย หลายปีต่อมากามนิตได้กลับมากรุงโกสัมพีอีกครั้งและได้เห็นงานแต่งงานของวาสิฏฐีกับสาตาเคียร ความผิดหวังนั้นทำให้เขาถึงกับล้มป่วยแต่ก็ยอมจากไปโดยดีเพราะคิดว่านั่นคือการตัดสินใจของวาสิฏฐี ฝ่ายกามนิตก็ออกเดินทางค้าขายเพื่อให้เลิกคิดถึงวาสิฏฐีจนเขาเองก็แต่งงานกับภรรยาถึงสองคนในที่สุด แต่เขานั้นก็ไม่เคยมีความสุขเลยจนได้เจอกับองคุลิมาลที่ออกบวชทำให้หวนนึกถึงความรักของตนกับวาสิฏฐีและตัดสินใจออกเดินทางเพื่อแสวงธรรม องคุลิมาลนั้นได้กลับไปหาวาสิฏฐีเพื่อบอกความจริงว่ากามนิตยังมีชีวิตอยู่ วาสิฏฐียิ่งได้ฟังอย่างนั้นก็นึกคิดถึงแต่กามนิต จนกระทั่งนางได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ว่า “ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์”  ด้วยทรงรู้ว่าความรักที่วาสิฏฐีมีต่อกามนิตนั้นหยั่งรากลงไปในใจนางแล้ว เรื่องราวของคนทั้งสองที่ไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลยจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ด้วยจิตที่ยึดมั่นในสัญญาทำให้ทั้งสองได้ไปพบกันอีกครั้งที่ดินแดนสุขาวดีอย่างที่ตั้งใจ

สำหรับเรื่องนี้พี่หวานรู้สึกเห็นใจทั้งกามนิตและวาสิฏฐีมากเลยค่ะ ทั้งสองคนยังรักมั่นต่อกัน เพียงแต่เกิดความเข้าใจผิดและเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นใจ ทำให้รักแท้พ่ายแพ้ต่อโชคชะตาในที่สุด พอกามนิตจะกลับมาหาก็ได้เห็นวาสิฏฐีคนรักเข้าพิธีแต่งงานไปแล้ว พอวาสิฏฐีรู้ว่ากามนิตยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ทันได้พบกันอีกล้มป่วยลงไปก่อน พี่หวานคิดว่าชีวิตจริงของคนเราก็มักจะมีเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน สิ่งที่เราฝืนไม่ได้ก็คือโชคชะตานี่แหละค่ะ โดยเฉพาะโชคชะตาที่ชอบวิ่งสวนกันไปมาอย่างนี้

 

3. รักยิ่งใหญ่คือการให้ : พระเวสสันดร


สำหรับวรรณคดีเรื่องที่สาม พี่หวานจะขอนำเสนอมหาชาติชาดกเรื่อง 'พระเวสสันดร' เรื่องนี้ไม่ใช่วรรณคดีที่นำเสนอในความรักชายหญิงนะคะ แต่พี่หวานอยากหยิบมาแสดงให้เห็นว่าความรักอีกประเภทหนึ่งที่ปรากฏในวรรณคดีไทยก็คือการให้นั่นเองค่ะ 
 

อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าพระเวสสันดรนั้นมีจิตเมตตาและชอบทำทานต่อผู้อื่น ตั้งแต่เยาว์วัยก็ปรารถนาให้ตั้งโรงทานเพื่อบริจาคให้แก่ประชาชนอยู่เสมอเพราะทรงห่วงใยถึงปากท้องของประชาชน ไม่ว่าใครจะขออะไรพระองค์ก็ยินดียกให้ทั้งนั้น เพราะการให้ทำให้ผู้รับและผู้ให้ต่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านจากแคว้นกลิงคราษฎร์ทูลต่อเจ้าเมืองของตนว่าบ้านเมืองเราแห้งแล้งทำการสิ่งใดก็ไม่ได้ผล อยากให้ทูลขอช้างคู่บารมีชื่อปัจจัยนาคมาจากพระเวสสันดร เพราะช้างเชือกนั้นมีความสามารถทำให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมาขอพระเวสสันดรย่อมยินดียกให้ แต่การทานช้างปัจจัยนาคไปก็ทำให้ชาวเมืองไม่พอใจ พระเจ้าสญชัยผู้เป็นบิดาจึงจำต้องขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมือง โดยมีนางมัทรีติดตามเข้าป่าไปด้วย หลายคนอาจจะมองต่างจากพี่หวานว่าความรักของพระเวสสันดรนี้เรียกว่าความรักจริงหรือ หรือเพียงต้องการบริจาคทานเพื่อตัวเองเท่านั้น? เคยมีคนบอกพี่หวานว่าความรักนั้นไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียวคือความรักระหว่างชายหญิง แต่ความรักเกิดขึ้นได้เสมอ รักพ่อ รักแม่ รักครอบครัว รักพี่น้อง รักเพื่อนพ้อง ซึ่งพี่หวานมีความคิดว่าความรักและความห่วงใยที่พระเวสสันดรมีต่อประชาชนของพระองค์ไปจนถึงประชาชนที่ลำบากของแคว้นอื่นๆ ทำให้เกิดการให้ทานช้างปัจจัยนาคนั่นก็เป็นความรักรูปแบบหนึ่งเช่นกันค่ะ การให้ทานของพระเวสสันดรยังไม่หมดเท่านี้เพราะหลังจากนั้นก็ยังมีเหตุการณ์ที่ต้องทานสิ่งของมากมาย ไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญคือต้องทานลูกให้แก่ชูชก จนสุดท้ายคือการทานนางมัทรีไป แต่โชคดีที่คนมาขอนางมัทรีคือพระอินทร์แปลงกายมาขอไว้ก่อนด้วยกลัวว่าถ้ามีผู้อื่นมาขอพระเวสสันดรยกนางมัทรีให้ไปแล้วจะไม่มีคนอยู่ปรนนิบัติดูแล

เรื่องราวของพระเวสสันดรที่พี่หวานเลือกมาพูดในแง่ของความรักที่ยิ่งใหญ่คือการให้นั้น แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่กว้างขวางดุจมหาสมุทร ไม่นึกเสียดายในทรัพย์สมบัติของตน แต่เลือกที่จะห่วงใยผู้อื่นก่อนเสมอ การกระทำเหล่านั้นคือการบำเพ็ญทานขั้นสูงสุดจริงๆ ค่ะ ถ้าไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งและแน่วแน่คงจะไม่มีใครทำได้อย่างแน่นอนเลยล่ะ

แต่อีกหนึ่งความรักที่ชัดเจนจากเรื่องนี้ที่พี่หวานรู้สึกก็คือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกค่ะ เราจะเห็นได้ชัดเลยจากกัณฑ์มัทรีที่นางมัทรีเป็นห่วงและออกตามหาชาลีกับกัณหาจนตัวเองเป็นลมสลบไป ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่เสียใจเมื่อต้องปล่อยลูกไปให้คนอื่นหรอกค่ะ ถ้ามองจากมุมของพี่หวานพี่หวานก็คิดว่าตัวพระเวสสันดรไม่ได้นิ่งนอนใจกับการยกลูกๆ ให้ชูชกเลยนะคะ ดังจะมีตอนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นชูชกฉุดกระชากลากถูและเฆี่ยนตี แต่ด้วยความตั้งมั่นอันแรงกล้าที่อยากจะทำทานบารมี ทำให้พระเวสสันดรและนางมัทรีปล่อยชาลีและกัณหาไปในที่สุด

 

4. เพราะรักคือการอดทนฝ่าฝัน : พระสุธน - มโนราห์


วรรณคดีเรื่องที่สี่ที่พี่หวานหยิบมาพูดในวันนี้เป็นเรื่องราวความรักสุดทรหดของ ‘พระสุธน – นางมโนราห์’ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้พี่หวานคิดว่าเกือบทุกคนคงจะรู้จักกันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องราวของนางกินรีที่ถูกจับตัวไป ซึ่งไม่ปรากฏผู้แต่งแน่ชัดแต่มีเรื่องราวอยู่ในปัญญาสชาดกหรือสุธนชาดก 
 

(รูปภาพจาก : https://sites.google.com/site/nganwrrnkhdi/reuxng-phra-suthn-mnorah/taw-lakhr-phra-suthn-mnorah)

เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับนางมโนราห์ น้องคนสุดท้องในบรรดานางกินรีทั้ง7 ธิดาของท้าวประทุมกับนางจันทกินรี ผู้ครองนครกินนรบนเขาไกรลาส พี่น้องทั้งเจ็ดมีสิริโฉมที่งดงามไม่ต่างกันนัก เว้นเเต่นางมโนราห์คนสุดท้ายที่สวยกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ซึ่งทุกคนชอบแอบหนีออกไปเล่นน้ำที่สระน้ำแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์ จนกระทั่งมีพรานคนหนึ่งชื่อพรานบุญมาขอพักอยู่อาศรมกับฤาษีได้เห็นนางกินรีทั้งเจ็ดมาเล่นน้ำ ก็นึกอยากจะจับไปถวายแก่พระสุธน จึงอ้อนวอนถามวิธีจากฤาษีทราบความว่าต้องใช้บ่วงนาคบาศ พรานบุญจึงรีบกลับไปหาพระยานาคราชเพื่อขอยืมบ่วงนาคบาศและกลับมาที่สระน้ำอีกครั้ง ขณะเดียวกันที่เมืองกินนร มีคำทำนายว่าพระธิดาทั้งเจ็ดจะเจอเคราะห์ใหญ่นางจันทกินรีจึงห้ามไม่ให้ออกไปเล่นน้ำ แต่ก็ไม่เป็นผล และคราวเคราะห์ใหญ่ก็มาถึงตามคำทำนายเมื่อพรานบุญเล็งไปที่นางมโนราห์ด้วยความงามที่โดดเด่นกว่าใครทำให้นางโดนจับได้ ส่วนพี่ๆ เมื่อเห็นท่าไม่ดีและไม่รู้จะช่วยน้องได้อย่างไรก็รีบสวมปีกและหางบินกลับเมืองทันที

เมื่อพรานบุญจับนางมโนราห์ได้ก็ดีใจรีบนำกลับไปเพื่อถวายแก่พระสุธน แต่กลับได้พบพระสุธนระหว่างทาง และก็เกิดความหลงใหลตั้งแต่แรกเห็น เมื่อพากลับเมืองแล้วจึงมีการจัดงานอภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องอยู่ตรงนี้เองค่ะเมื่อปุโรหิตคนเก่าแก่ล่วงรู้มาว่าพระสุธนรับปากจะมอบตำแหน่งปุโรหิตในภายภาคหน้าให้คนอื่นแทนที่จะเป็นลูกชายตนเอง จึงโกรธเคืองแกล้งทำนายฝันของท้าวอาทิตยวงศ์บิดาของพระสุธนว่าเป็นฝันไม่ดี ต้องทำพิธีเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายโดยนำตัวนางมโนราห์มาบูชายัน ระหว่างนั้นพระสุธนออกไปรบทำให้ไม่มีใครช่วยนางมโนราห์ได้ นางจึงอ้อนวอนต่อพระนางจันทร์เทวีว่าอยากจะแต่งตัวให้สมศักดิ์ศรีอย่างงดงามก่อนตาย นางมโนราห์จึงได้รับปีกกับหางคืนมาและบินหนีไปได้ในที่สุด แต่ด้วยความเป็นห่วงกลัวพระสุธนจะมาตามและต้องพบอันตรายระหว่างทาง นางก็ได้ไปฝากความไว้ที่ฤาษีว่าอย่าได้ให้พระสุธนมาตามหานางเลย แต่เมื่อพระสุธนกลับมาจากสงครามก็แทบขาดใจเมื่อรู้ว่านางมโนราห์บินหนีไปด้วยความรักมั่นอย่างแท้จริง พระสุธนจึงออกเดินทางฝ่าภัยอันตรายทั้งหลายไปจนถึงเมืองกินนรที่เขาไกรลาส ซึ่งพระสุธนเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาแต่สามารถอดทนผ่านเข้าไปได้ถึงขนาดนั้น สร้างความปลาบปลื้มแก่บิดาของนางมโนราห์อย่างมาก และสุดท้ายก็ได้ครองรักกับนางมโนราห์ในที่สุด

เป็นยังไงคะกับความรักของพระสุธนกับนางมโนราห์ ที่จริงพี่หวานอ่านแล้วก็นึกออกได้อีกหลายเรื่องเลยค่ะที่ความรักระหว่างพระนางจะต้องมีการพลัดพรากและต้องออกตามหากัน แต่สำหรับพระสุธนกับนางมโนราห์ ว่ากันว่าเป็นอีกชาติภพหนึ่งของพระรถและนางเมรีค่ะ เมื่อตอนเป็นพระรถเสนกับนางเมรี นางเมรีเป็นฝ่ายออกตามหาพระรถเสนจนขาดใจตาย ก่อนตายได้ตั้งจิตเอาไว้ว่าขอชาติหน้าให้พี่ออกมาตามหาน้องบ้าง จึงเป็นเหตุให้ชาตินี้พระสุธนต้องออกมาตามหานางมโนราห์นี่แหละค่ะ พี่หวานคิดว่าข้อคิดสำคัญของเรื่องนี้ก็คือรักแล้วต้องอดทนค่ะ! ต่อให้ต้องเจออุปสรรคอย่างไร ถ้าเรายังหนักแน่นก็จะสามารถผ่านพ้นทุกอย่างไปพบกับความสุขได้อย่างพระสุธนกับนางมโนราห์แน่นอน

 

5. ทุกข์ก็เพราะรัก สุขก็เพราะรัก : มัทนะพาธา


สำหรับวรรณคดีเรื่องสุดท้ายพี่หวานขอนำเสนอตำนานรักดอกกุหลาบที่ทุกคนรู้จักดี ‘มัทนะพาธา’ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่กึ่งๆ จะจบเศร้าเพราะสุดท้ายคนสองคนที่รักกันก็ไม่อาจครองคู่กันได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องก็ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้เห็นภาพความรักของคนสองคนที่ยามมีรักก็สุขมาก แต่เมื่อทุกข์ก็เจ็บมากเช่นกัน
 

เรื่องมัทนะพาธาเป็นผลงานในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งเรื่องนี้ได้รับยกย่องเป็นยอดของละครพูดคำฉันท์จากวรรณคดีสโมสร เล่าเรื่องราวความรักและความเจ็บปวดระหว่างนางมัทนา ท้าวชัยเสน และสุเทษณ์ โดยแบ่งเป็นเหตุการณ์บนสวรรค์และเหตุการณ์บนโลก แรกเริ่มนั้นสุเทษณ์หมายปองในตัวนางมัทนา สั่งให้มายาวินไปพาตัวนางมัทนามาหาตน ซึ่งมายาวินพาตัวนางมาด้วยการร่ายมนตร์สะกด ทำให้นางมัทนามาหาสุเทษณ์แต่กลับเหมือนเป็นร่างไร้วิญญาณ สุเทษณ์สั่งให้คลายมนตร์ก่อนจะเริ่มพูดจาขอความรักจากนางแต่นางมัทนาก็ปฏิเสธทำให้สุเทษณ์โกรธและสาปให้นางลงไปยังโลกเพื่อเกิดเป็นดอกกุพชกะหรือดอกกุหลาบ โดยจะกลับมาเป็นคนเพียงหนึ่งคืนนั่นก็คือในคืนวันเพ็ญเท่านั้น และเมื่อใดที่นางพบรักกับบุรุษจึงจะคงรูปมนุษย์ไว้ได้แต่ถ้านางต้องทุกข์เพราะรักก็จงมาอ้อนวอนต่อตน

เมื่อนางมัทนาไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ ฤาษีกาละทรรศินก็มาพบเข้าจึงได้ขุดดอกกุหลาบนั้นไปปลูกไว้ใกล้อาศรม เมื่อถึงคืนวันเพ็ญนางก็กลับมาเป็นคนเพื่อปรนนิบัติดูแลฤาษี ซึ่งตัวฤาษีกาละทรรศินก็รักและดูแลนางมัทนาเหมือนเป็นลูกสาวของตน วันหนึ่งท้าวชัยเสนเดินทางมาท่องเที่ยวในป่าได้เจอกับนางมัทนาก็ตกหลุมรัก ทั้งสองใช้เวลาอยู่ด้วยกันและรักกันอย่างมีความสุข ดังที่เรามักจะได้ยินวรรคทองขึ้นชื่อจากเรื่องมัทนะพาธาที่ว่า
 

                “           จริงนา, เห็นว่าไร้      ประโยชน์เปล่ามิชอบกล
                    ความรักเหมือนโรคา        บันดาลตาให้มืดมน
                    ไม่ยินและไม่ยล                อุปะสัคคะใดใด
                    ความรักเหมือนโคถึก        กำลังคึกผิขังไว้
                    ก็โลดจากคอกไป              บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง

                    ถึงหากจะผูกไว้                ก็ดึงไปด้วยกำลัง
                    ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง               บ หวนคิดถึงเจ็บกาย
                    ดังนี้พยายาม                   จะห้ามปรามนางโฉมฉาย
                    คงมีแต่ผลร้าย                 และปราศจากซึ่งผลดี”
 
จากข้างต้นเป็นตอนที่พระฤาษีกาละทรรศินเปรียบเทียบความรักระหว่างนางมัทนากับท้าวชัยเสนให้ศุภางค์ได้ฟังว่าคนทั้งสองกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งรัก เมื่อได้รักก็มีความสุข ต่อให้เอาอะไรมาฉุดมาห้ามก็ไม่เป็นผล

พี่หวานเคยได้ชมการแสดงละครเวทีเรื่องมัทนะพาธาอยู่ครั้งหนึ่งค่ะ พอได้เห็นการแสดงจากตัวบุคคลจริงๆ เหมือนหลุดออกมาจากหน้าหนังสือ พี่หวานคิดว่าการส่งสายตา การพูดจาท่าทางของมัทนาและท้าวชัยเสนเป็นการแสดงออกของคนที่มีความสุขในรักจริงๆ แต่เรื่องราวไม่ได้มีแต่ความสุขนะคะ เรื่องนี้ยังมีความทุกข์มาเจือปนในตอนท้ายด้วย เมื่อท้าวชัยเสนพานางมัทนากลับเมืองไปด้วยก็เจอกับพระชายาเอกคือนางจัณฑี ซึ่งนางไม่พอใจที่ท้าวชัยเสนพามัทนากลับมาด้วยจึงร่วมคบคิดกับพราหมณ์ใส่ความนางมัทนาว่าคบชู้กับศุภางค์ทหารเอก ด้วยความโมโหไม่ทันคิดท้าวชัยเสนเสียใจและสั่งนันธิวรรธนะให้ประหารชีวิตคนทั้งคู่ในทันที แต่นันทิวรรธนะไม่ได้ทำตามคำสั่งด้วยมั่นใจว่าทั้งสองถูกใส่ความจึงแอบปล่อยตัวไป นางมัทนาจึงอ้อนวอนต่อสุเทษณ์ให้ช่วยเปลี่ยนใจท้าวชัยเสนและกลับมารับตน แต่สุเทษณ์ได้ฟังก็ยิ่งโกรธเพราะตนยังปรารถนาในตัวนางมัทนาอยู่ เมื่อได้ยินนางขออย่างนั้นจึงสาปให้นางกลายเป็นดอกกุหลาบตลอดไป ท้าวชัยเสนที่มารู้ความจริงเอาทีหลังติดตามจะพาตัวนางมัทนากลับเมืองด้วยแต่ช้าไปเสียแล้วเมื่อนางกลายเป็นดอกกุหลาบตลอดกาล ท้าวชัยเสนจึงขุดเอาดอกกุหลาบมัทนานี้กลับไปด้วย เรื่องราวความรักเคล้าความทุกข์ของนางมัทนากับท้าวชัยเสนถือเป็นตำนานเรื่องยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งที่ทุกคนต้องเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะพี่หวานเองก็จำเรื่องราวได้จากบรรดาวรรคทองที่ปรากฏในเรื่องนี่แหละค่ะ

 


เป็นยังไงคะ กับความรักหลากหลายแบบที่ปรากฏในวรรณคดีไทย แม้ว่าหลายเรื่องที่พี่หวานยกมาจะไม่ใช่เรื่องที่จบลงด้วยความสุขในปลายทาง แต่ระหว่างทางก็เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เราจะเห็นได้เลยนะคะว่าในวรรณคดีนั้นความรักนั้นมีได้หลายรูปแบบค่ะ ชีวิตจริงเองก็เช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะมีโอกาสได้พบกับความรักแบบไหนบ้าง ในวันวาเลนไทน์อย่างนี้ถึงใครที่ยังไม่พบเจอความรักในฐานะคนรัก แต่พี่หวานมั่นใจได้เลยว่าทุกคนนั้นได้รับความรักอยู่เสมอ จากคุณพ่อคุณแม่ จากเพื่อนๆ และที่สำคัญคือจากตัวเองค่ะ พี่หวานเชื่ออยู่เสมอว่าความรักที่ดีจะทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะรักใครได้ควรจะรักตัวเองกันให้มากๆ ด้วยนะคะ ขอให้น้องๆ สนุกกับการอ่านบทความนี้ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ ^__^
 

พี่หวาน


ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลบางส่วนจาก
pixabay.com
file:///C:/Users/ACER_USER/Downloads/Content%20(1).pdf
https://i.ytimg.com/vi/P3OlOknNN-A/maxresdefault.jpg
http://www.reurnthai.com/wiki/มัทนะพาธา
https://www.youtube.com/watch?v=g2-NxcQ0VBQ
หนังสือนางในวรรณคดี : มาลัย, 2536


 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
fate_lu Member 1 มี.ค. 60 16:37 น. 3

ตอนเห็นพระเวสสันดรตกใจหมด แต่พอนึกขึ้นได้ว่าเกี่ยวกับการให้ ก็เข้าใจเพราะการให้ก็เหมือนการมีความรัก ที่บางครั้งก็ไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาหรือสิ่งที่ได้กลับมาคือความสุข

1
PASS21 Member 1 มี.ค. 60 17:21 น. 3-1
ตอนแรกก็แอบคิดอยู่เหมือนกันค่ะว่ากรณีอย่างนี้เป็นความรักได้มั้ย เเต่พอนึกแล้วว่าความรักไม่จำเป็นต้องเป็นรักเเบบชายหรือหญิงเท่านั้น ก็เลยอยากนำเสนอเรื่องนี้ โดยเฉพาะความรักจากพ่อแม่ ความรักห่วงใยเพื่อนมนุษย์คนอื่นนี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ค่ะเยี่ยม
0
กำลังโหลด
ตัวโกง` Member 15 เม.ย. 60 16:30 น. 4

ในบรรดา 5 เรื่องที่ยกมา เราชอบพระสุธนกับนางมโนราห์ที่สุดเลยค่ะ

เป็นรักที่ลึกซึ้งมากจริงๆ เป็นอีกเรื่องที่ชอบอ่านมาก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
แทรกรูปจากแกลเลอรี่ - Dek-D.com
L o a d i n g . . .
x
เรียงตาม:
ใหม่ล่าสุด
ใหม่ล่าสุด
เก่าที่สุด
ที่กำหนดไว้
*การลบรูปจาก Gallery จะส่งผลให้ภาพที่เคยถูกนำไปใช้ถูกลบไปด้วย

< Back
แทรกรูปโดย URL
กรุณาใส่ URL ที่ขึ้นต้นด้วย
http:// หรือ https://
กำลังโหลด...
ไม่สามารถโหลดรูปภาพนี้ได้
*เมื่อแทรกรูปเป็นการยืนยันว่ารูปที่ใช้เป็นของตัวเอง หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และลงเครดิตเจ้าของรูปแล้วเท่านั้น
< Back
สร้างโฟลเดอร์ใหม่
< Back
ครอปรูปภาพ
Picture
px
px
ครอปรูปภาพ
Picture