เปรียบเทียบจะๆ! มังกรจีน VS มังกรยุโรป ต่างกันบ้างเหมือนกันบ้าง ตรงไหนมาดู



มังกรจีน VS มังกรยุโรป
...ต่างกันบ้างเหมือนกันบ้าง ตรงไหนมาดู...


สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีไรเตอร์ทุกคน ช่วงนี้น้องๆ หลายคนคงกำลังเคร่งเครียดกับการเรียนอยู่ใช่ไหมเอ่ย ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้พี่หญิงจะพาทุกคนมาคลายเครียดกันด้วยเรื่องราวของสัตว์วิเศษในตำนานอย่าง “มังกร” กันค่ะ 


ถ้าพูดถึง “มังกร” แล้ว น้องๆ คิดถึงภาพแบบไหนกันคะ...? มังกรที่ตัวยาวมาก สีเขียวสดใสเหมือนในการ์ตูนดราก้อนบอล หรือ สัตว์ประหลาดขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายกิ้งก่า พ่นไฟได้อย่างเจ้าเขี้ยวกุด จากเรื่อง How to Train Your Dragon เชื่อว่าแต่ละคนก็คงเห็นภาพมังกรในแบบที่แตกต่างกันแน่ๆ เพราะเทพนิยายจากทั่วโลกต่างบรรยายมังกรในแบบของตัวเอง ไม่เหมือนใครเลย ฝั่งเอเชียก็แบบหนึ่ง และฝั่งยุโรปก็อีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมบรรดาตำนานต่างๆ ที่แบ่งมังกรออกเป็นแต่ละสายพันธุ์ แต่ละประเภทอีกนะ เยอะมากๆ เลยจริงๆ ค่ะ แค่แฮร์รี่ พอตเตอร์เรื่องเดียว ก็จำแทบไม่หมดแล้วว่าไหมคะ (โอ้วว) 


และในสายตาพี่หญิงผู้อ่านหนังสือเกี่ยวกับมังกรมามากมาย ส่วนตัวคิดว่าเราสามารถแบ่งมังกรออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ นะคะ คือ มังกรฝั่งจีน และมังกรฝั่งยุโรป (หรือมังกรฝรั่ง) ซึ่งมีความแตกต่างกันสุดขั้วอย่างเห็นได้ชัด (ในสองฝั่งนี้ ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “มังกร หรือ Dragon” เหมือนกัน แต่ความหมายกลับไปคนละทางซะนี่) และนี่แหละ ประเด็นสำคัญที่พี่หญิงอยากชวนทุกคนมาคุยกันวันนี้ เมื่อมังกรจีน ปะทะ มังกรยุโรป จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มาอ่านไปพร้อมๆ กันค่ะ 



มังกร (Dragon)


ภาพรวมแล้ว มังกรถือเป็นสัตว์ในตำนานที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ปรากฏตัวอยู่ในสื่อต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน นวนิยายหรือแม้แต่นิทานสำหรับเด็กก็ตาม ซึ่งรูปร่างลักษณะของมังกรที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตามความเชื่อเฉพาะของคนในภูมิภาคนั้นๆ
 
สำหรับในวันนี้พี่หญิงจะขอแตกประเด็นเรื่องความแตกต่างของมังกรทั้งสองฝั่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ ก็แล้วกันค่ะ 


ข้อแตกต่างที่ 1 รูปร่างลักษณะ
 

ความแตกต่างแรกที่พี่หญิงจะนำเสนอ ก็นี่เลยค่ะ “รูปร่างลักษณะ” ที่แค่มองจากภายนอกเราก็สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ เลยว่ามังกรตัวไหนเป็นมังกรสัญชาติอะไร เพราะมังกรทั้งสองชาติ ไม่เหมือนกันเลย เดี๋ยวเราไปอ่านลักษณะของมังกรแต่ละประเภทพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ 


มังกรจีน

ตามตำราปัจจุบันระบุไว้ว่า มังกรจีนมีลักษณะของสัตว์หลายๆ ชนิดมาผสมกัน คือหัวคล้ายหัวอูฐ เขาคล้ายกวาง ตัวยาวเหมือนงู มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่บริเวณขากรรไกรด้านบน หนวดยาวเหมือนไม้เลื้อย แผงคอคล้ายสิงโตอยู่บนคอ คาง และข้อศอก มีเกล็ดคล้ายๆ เกล็ดปลาปกคลุมตลอดทั้งตัวรวม 117 เกล็ด แบ่งออกเป็นหยินและหยาง โดย 81 แผ่น เป็นหยาง มีคุณสมบัติของความดี และอีก 36 แผ่นเป็นหยิน มีคุณสมบัติของความชั่ว  ลักษณะเขาของมังกรจะทอดยาวไปตามหลังของมัน และมีหางเป็นหนามยาว-สั้นสลับกันไป มีขา 4 ขา มีกรงเล็บที่แข็งแรง ไม่มีปีก แต่สามารถบินในอากาศได้ และที่สำคัญสามารถบันดาลลม ฝน ฟ้า อากาศได้ 
 


 มังกรจีน  
เอกลักษณ์สำคัญ : ไม่มีปีก แต่บินได้ 


เกร็ดเล็กๆ : แต่น้องๆ รู้ไหมคะ ว่ากว่าจะมาเป็นมังกรจีนมีรูปลักษณ์ที่น่าเกรงขามและเพรียวลมขนาดนี้ มังกรจีนของเราก็เคยอ้วนท้วนมาก่อนเหมือนกัน โดยช่วงยุคแรกๆ นั้น (ปรากฏตัวตั้งแต่ยุคหยางเชา ยุคก่อนประวัติศาสตร์จีนเลย) รูปลักษณ์ของมังกรจีนยังไม่มีรายละเอียดมากมายเท่ากับปัจจุบัน มีลักษณะเหมือนกับตัว C หัวมังกรจะคล้ายๆ หัวหมู ต่อมาก็ค่อยๆ เพิ่มเติมส่วนประกอบเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงยุคที่จีนรับเอาอิทธิพลศิลปะจากเปอร์เซียเข้ามา (เปอร์เซียจะนิยมศิลปะแบบยืดๆ ยาวๆ) มังกรจีนก็ได้กลายร่างยืดยาวออกมาเพรียวลมอย่างที่เราเห็นได้ในปัจจุบันนี่ล่ะคะ


                             

ภาพตัวอย่างมังกรที่มีรูปลักษณ์คล้ายตัว C       มังกรดั้งเดิมก่อนได้รับอิทธิพลศิลปะเปอร์เซีย    


มังกรยุโรป 

สำหรับมังกรยุโรปจะแบ่งตามลักษณะที่อยู่อาศัยได้เป็นสองจำพวกคือ

- มังกรยุโรปเหนือ ที่พบได้ในแถบเหนือของเยอรมนี ในสแกนดิเนเวีย หมู่เกาะทางแอตแลนติกเหนือ พวกนี้จะมีรูปร่า่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่มีเกล็ดและมีเขา มีปีกเป็นพังผืดหนังเหมือนปีกค้างคาว มีขา 4 ขา และมีหางยาว ส่วนใหญ่จะพ่นไฟได้
- มังกรยุโรปตะวันตกหรือมังกรอ๊อกซิเดนทัล (Occidental) พวกนี้จะพบได้ในฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสเปน มีหลากหลายสายพันธุ์เป็นอย่างมาก (ยิ่งถ้าได้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมสมัยใหม่อย่าง ผลงานของ เจ. เค. โรลลิ่งแล้ว ยิ่งพบว่ามังกรมีสายพันธุ์แตกหน่อออกไปเยอะสุดๆ) แต่โดยรวมๆ มังกรตะวันตกจะมีรูปร่างเป็นมังกรขนาดใหญ่ มีขาใหญ่หนา 4 ขา มีตีนที่ทรงพลังและมีกรงเล็บแหลมคมพร้อมขยุ้มฉีกเนื้อเหมือนกรงเล็บอินทรี มีทั้งแบบมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด หางเหมือนงู อาจมีปีกหรือไม่มี  แต่ถ้ามีปีก ปีกของมันจะมีลักษณะเป็นพังผืดหนังเหมือนค้างคาว ลำตัวอ้วนสั้น หัวมีรูปร่างเหมือนลิ่มเช่นเดียวกับจระเข้หรือสัตว์จำพวกกิ้งก่าทั้งหลาย บางพันธ์ุมีหงอน หรือไม่ก็เป็นกิ่งเขาแบบกวาง ในปากมีเขี้ยวแถมมีพิษที่ร้ายกาจมากๆ และสามารถพ่นไฟได้

 


Friedrich Johann Justin Bertuch, the mythical creature dragon, 1806


มังกรยุโรป
เอกลักษณ์สำคัญ : มีปีก บินได้ พ่นไฟได้



จากข้อมูลข้างต้นน้องๆ คงจะเห็นกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าถึงแม่ว่ามังกรยุโรปจะถูกแบ่งออกเป็นสองจำพวก แต่เมื่อเอามาเปลี่ยบเทียบกับมังกรจีนแล้วเรายังเห็นเอกลักษณ์ความแตกต่างมากๆ อยู่ดี นั่นก็คือ มังกรจีนจะไม่มีปีก แต่มังกรยุโรปส่วนใหญ่มี (ถ้ามังกรยุโรปไม่มีปีก จะไม่สามารถบินได้ ซึ่งแตกต่างจากจีนที่บินได้) และมังกรจีนจะมีส่วนผสมของสัตว์หลากชนิดมากกว่าทางมังกรยุโรป ที่โดดเด่นก็คือจำพวกเลื้อยคลาน (งู ซาลาแมนเดอร์) เพียงอย่างเดียว 


เห็นไหมคะว่า มังกรทั้งสองนี้มีลักษณะที่แตกต่างกันมากๆ เรียกได้ว่าถ้าเราไปพูดถึงมังกรในประเทศจีนโดยไม่ระบุให้ชัดเจน ว่าเป็นมังกรอะไร การสนทนานั้นอาจกลายเป็นคุยกันคนละเรื่องเดียวกันได้นะคะ (ฮา) ต้องระวังไว้มากๆ เลย

ข้อแตกต่างที่ 2 ความหมายเชิงสัญญะ

นอกจากลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนแล้ว ความหมายของมังกรในแต่ละพื้นที่ก็ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย สำหรับคนจีนแล้ว มังกรไม่ใช่เพียงสัตว์วิเศษในตำนานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของเทพเจ้า ความดีงาม โชคดี ความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง และคุณธรรมอันสูงส่งดุจดั่งเทพเจ้า ซึ่งไปคนละทางจากมังกรฝั่งตะวันตกที่ถูกมองเป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้ายหรือปีศาจ และเป็นศัตรูของมนุษย์ 

และด้วยความเชื่อที่แตกต่างนี้ พี่หญิงขอชวนน้องๆ ทุกคนย้อนไปดูถึงตำนาน เรื่องเล่าต่างๆ ไปจนถึงตอนกำเนิดของมังกรกันเลยดีกว่าค่ะ จะได้ทำความเข้าใจว่าทำไมทั้งที่เป็นมังกรเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่ถึงมองสัตว์ชนิดนี้แตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้ 

ขอเริ่มที่ฝั่งจีนก่อนก็แล้วกันนะคะ 


เรื่องเล่าตำนาน "มังกรจีน"
มีตำนานในสมัยโบราณของจีนเล่าขานถึงการกำเนิดของมังกรว่า หลังจากเจ้าแม่หนี่วา ผู้มีหัวเป็นคนตัวเป็นงู (บางตำนานเล่าว่า หัวเป็นงู ตัวเป็นคน) สิ้นอายุขัยได้ 3 ปี ร่างกายก็ยังไม่สูญสลายหายไป จนมีคนตัดสินใจเอามีดไปลองกรีดท้องของนางดู ก็ปรากฏว่ามีมังกรสีทองพุ่งออกมาแล้วโบยบินหายไปบนท้องฟ้า และนี่คือจุดเริ่มต้นความเชื่อของชาวจีน ที่เชื่อว่ามังกรเป็นสัตว์เทพ ถือกำเนิดจากเทพเจ้านั่นเอง 




นอกจากตำนานสมัยโบราณแล้ว ในตำราดึกดำบรรพ์ยังมีการเล่าถึงเทพมังกรที่ปกครองน่านน้ำทั้งปวงเป็นเวลาหลายพันปี ลงมาจุติเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์จีน ซึ่งกษัตริย์ผู้นั้นก็คือ พระเจ้าฟูซี กล่าวกันว่าพระเจ้าฟูซีเป็นจักรพรรดิที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก เป็นพระเจ้าผู้สร้างหลักธรรมแห่ง หยิน-หยาง ทรงคิดประดิษฐ์ของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ยันต์แปดทิศ และทรงเป็นผู้กำหนดให้ชายหญิงต้องมีการหมั่นหมายเป็นคู่ครองกันอีกด้วย นอกจากนี้ มังกรยังเป็นสัตว์เทพพิทักษ์ทิศตะวันออก ตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูแห่งการเริ่มต้นและความสุขของจีนอีกด้วย 


เรื่องเล่าตำนาน "มังกรยุโรป" 

มาถึงฝั่งตะวันตกกันบ้าง ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า มังกรยุโรปถือกำเนิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ มังกรมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องเล่าตำนานต่างๆ โดยเฉพาะบทสัตว์ประหลาดแสนชั่วร้ายที่ต้องให้ผู้กล้าไปกำจัด เช่น ในมหากาพย์นีเบลุงเกนไลด์ของเยอรมันในยุคกลาง ได้เล่าถึง วีรบุรุษนาม ซีกฟรีด ผู้เป็นเจ้าชายแห่งซันแทน เดินทางไปสังหาร มังกรฟาฟเนียร์ ที่มีนิสัยชั่วร้ายชอบจับคนและสัตว์เลี้ยงไปกิน ทั้งยังเผาไร่นาหลายแห่ง และมังกรฟาฟเนียร์ยังครอบครองทองคำมหาศาล เสื้อคลุมวิเศษที่สามารถทำให้คนล่องหนได้และมีพลังกำลังเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่าอีกด้วย แต่ทว่าจุดอ่อนของมังกรนั้น อยู่ที่ใต้ท้องของมัน ซิกฟรีดจึงลอบเข้าไปยังถิ่นของมันและขุดหลุมดักรอตรงปากถ้ำ ก่อนลงไปซ่อนในนั้น จนกระทั่งเจ้ามังกรคลานออกมา ซีกฟรีดก็ใช้ดาบแทงเข้าไปยังจุดอ่อนสามารถสังหารมังกรได้สำเร็จ ทั้งยังได้อาบเลือดมังกรจนเป็นอมตะฟันแทงไม่เข้าอีกด้วย 



Sigurd slaying Fafnir, illustration in Old Norse stories, 1900
 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าถึงมังกรอีกหนึ่งสายพันธุ์ของมังกรยุโรปตะวันตกที่เป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยมการล่ามังกรของเหล่าอัศวิน เล่ากันว่าเมื่อประมาณศตวรรษที่ 7 มีมังกรตัวหนึ่งเรียกว่า ลา กากุยล์ La Gargouille หรือการ์กอย มังกรสี่ขาและมีปีก อาศัยอยู่ในถ้ำใกล้แม่น้ำเซน ณ หมู่บ้านรูออง (Rouen) ทางทิศเหนือของประเทศฝรั่งเศส วันดีคืนดีมันก็จะเดินออกมาจากถ้ำ เที่ยวพ่นไฟเผาหมู่บ้าน ยิ่งกว่านั้นยังล่าเหยื่อด้วยการอมน้ำ แล้วโจมตีใส่เรือเพื่อกินกะลาสีเรือเป็นอาหาร สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ละปีชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นต้องหาเหยื่อมาบูชายัญให้มังกร จนกระทั่งวันหนึ่งมีวีรบุรุษนาม เซนต์ โรมานัส (ค.ศ. 631-641) ปรากฏตัวขึ้น เขาสัญญากับชาวบ้านว่าจะหาทางจัดการกับมังกรให้ ถ้าชาวบ้านทุกคนเข้าพิธีแบ๊บไทส์ (ล้างบาป) และยอมสร้างโบสถ์ และชาวบ้านก็ยอมตกลง เมื่อชาวบ้านตกลงโรมานัสแบกกางเขนออกไปเจอกับมังกร เขาเพียงยกกางเขนให้มังกรดูมันก็สยบ จากนั้นเขาเชือกผูกเสื้อคลุมพระผูกมันลากเข้ามาในหมู่บ้าน และที่นั้นชาวบ้านก็ช่วยกันเผาและฆ่ามันในที่สุด แต่เพราะมังกรการ์กอยเป็นมังกรที่พ่นไฟได้ ส่วนหัวและลำคอของมันจำไม่มอดไหม้ เซนต์ โรมานัสจึงเอาหัวของมันไปประดับไว้ในโบสถ์ที่ชาวบ้านสัญญาว่าจะสร้างให้
 


Saint Romain "maîtrisant" la Gargouille

อ่านเรื่องการ์กอยแล้ว พี่หญิงว่าน้องๆ น่าจะสัมผัสได้เลยว่า มุมมองที่มนุษย์มีต่อมังกรตะวันตกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่คริสต์ศาสนาถือกำเนิดขึ้น ผู้นำทางศาสนาสมัยนั้นชี้นำให้ทุกคนเชื่อว่ามังกรเป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้าย เครื่องหมายของปีศาจ เป็นอสูรที่ต้องกำจัด บาทหลวงทั้งหลายจึงช่วยกันออกล่ามังกร ซึ่งความน่ากลัวนี่เอง ทำให้มังกรกลายเป็นเป้าหมายที่อัศวินและนักรบอิสระ อยากใช้พิสูจน์ความศรัทธาและความกล้าหาญในที่สุด


จากเรื่องที่พี่หญิงยกมาเล่าสู่กันฟัง น้องๆ จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยใช่ไหมคะว่าทัศนคติต่อมังกรทั้งสองฝั่งนั้นแต่ต่างกันสุดๆ เลย ฝั่งหนึ่งก็มองเปรียบเสมือนพระเจ้า มีตัวแทนแห่งความดีงามทั้งปวง อีกฝั่งก็เป็นตัวแทนแห่งสิ่งชั่วร้าย เครื่องหมายของปีศาจที่ควรต้องถูกกำจัดซะงั้น เรียกว่าไม่ใช่แค่รูปร่างที่แตกต่าง อิทธิพลต่อมนุษย์ของมังกรทั้งสองฝากฝั่งก็ไปไกลกันคนละทางเลยทีเดียว


มังกรจีน VS  มังกรยุโรป
 

  จีน
   

เคารพ กราบไว้ เปรียบเสมือนเทพ นำพาโชคลาภ ความดีงาม ตัวตนอันสูงส่ง


ยุโรป


(Saint George Killing the Dragon, 1434/35, by Martorell)

สัตว์ร้ายที่ควรถูกกำจัด ตัวแทนความเลวร้าย เปรียบเสมือนปีศาจและซาตาน



ข้อแตกต่างที่ 3 สัญลักษณ์แห่งกษัตริย์


จะว่าไปแล้ว ถึงแม้ว่าความหมายของมังกรจากทางสองฝั่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งสองก็มีจุดร่วมที่คล้ายๆ กันอยู่นะคะ เพราะมังกรได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง มีอำนาจ เป็นเครื่องหมายของกษัตริย์ เช่นกัน โดยในตำนานยุโรปมังกรที่เป็นสัตว์อันตราย น่ากลัวสำหรับมนุษย์ มันจึงเป็นศัตรูตัวฉกาจของเหล่าวีรบุรุษทั้งหลาย มีการฆ่ามังกรและขึ้นเถลิงราชย์เป็นกษัตริย์ และนั่นเองมังกรได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ในที่สุด ทั้งที่มีตัวตนจริงๆ และในตำนานต่างๆ เลย ตัวอย่างเช่น กษัตริย์อาเทอร์ ซึ่งมีนามสกุลว่า Pendragon มีความหมายว่า "ศีรษะของมังกร" หรือ "หัวหน้ามังกร" และมงกุฎของกษัตริย์อาเทอร์ ก็ยังเป็นรูปมังกร เรียกได้ว่าใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเลยค่ะ (บางครั้งก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลแสดงอำนาจของอัศวิน และขุนนางด้วยเช่นกัน)


(มังกร สัญลักษณ์แห่งกษัตริย์อาเทอร์ ที่ถูกนำแสดงผ่านสื่อภาพยนตร์ เรื่อง King Arthur)


ส่วนด้านของประเทศจีน ในหนังสือประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนได้กล่าวกันไว้ว่า มังกรได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิในยุคของพระเจ้าอึ่งตี่, อึ้งตี่ หรือหวงตี้ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนไว้เป้นผืนเดียวกัน โดยพระองค์ได้สร้างจินตนาการรูปมังกรขึ้นมาจากการรวมสัญลักษณ์ของเผ่าต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มังกรได้เป็นสัญลักษณ์ว่าเผ่าต่างๆ ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว และตามตำนานยังเล่าขานกันต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอึ่งตี่สิ้นอายุไข ก็มีมังกรจากฟ้ามารับพระองค์และพระมเหสีขึ้นไปเป็นเซียนบนสวรรค์ หรือเง็กเซียนฮองเต้ในเวลาต่อมา 



(ตามความเชื่อชาวจีนการได้ขี่มังกร ถือเป็นสิริมงคลสูงสุด)
 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเรื่องเล่าขานถึงการกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของจักรพรรดิเช่นกันว่า ในยุคสมัยของกษัตริย์ฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่บัลลังก์ของตน พระองค์ได้แต่งเรื่องว่า พระมารดาของพระองค์ทรงสุบินถึงมังกร หลังจากนั้นไม่นานก็ตั้งครรภ์ ให้กำเนิดพระองค์ขึ้น ต่อมาชาวบ้านได้ล่ำลือกันว่า ทุกครั้งที่หลิวปังดื่มสุราจนเมาเคียรของพระองค์ของเขาจะกลายเป็นมังกร...นั้นทำให้ ฮั่นเกาจู มีภาพลักษณ์เป็นบุตรของมังกร และได้ส่งต่อภาพลักษณ์นี้สู่ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาเช่นกัน จนกระทั่งภาพลักษณ์โอรสมังกรฝังลึกลงในจิตใจลูกหลานชาวจีนนับแต่นั้นมา 


ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน หมิงและชิง ก็ได้กำหนดให้ชุดทรงมังกรของจักรพรรดิเป็นมังกร 5 เล็บไม่อนุญาตให้คนทั่วไปใช้ได้อีกด้วย 


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าทั้งสองฝั่งจีนและยุโรป จะมีการกำหนดให้ใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ เป็นตัวแทนแห่งอำนาจเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปเหมือนกัน แต่ความหมายที่แฝงออกมากลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง จีนต้องการให้จักรพรรดิเป็นเหมือนสมมติเทพ ร่างทรงของเทพมังกร แต่ในประเทศทางฝั่ง ยุโรปนั้นกลับสื่อความหมายในเชิงมีอำนาจเหนือกว่ากว่ามังกร ไม่ได้ต้องการเป็นเสมือนร่างทรงมังกร หรือ ลูกหลานมังกรอย่างของประเทศจีน 



การเป็นสัญลักษณ์กษัตริย์
จีน VS ยุโรป




(มังกร 5 เล็บ สัญลักษณ์ของจักรพรรดิประดับบนฉลองพระองค์
ของ
จักรพรรดิเสียนเฟิง พระสวามีของ พระนางซูสีไทเฮา)


ประเทศจีน

ต้องการสร้างตัวตนของกษัตริย์ให้เปรียบเสมือนสมมติเทพ กษัตริย์คือสืบเชื้อสายจากเทพมังกร หรือเป็นเทพมังกรลงมาจุติ แตกต่างจากคนทั่วไป นำเสนอในด้านความดีงาม ความเป็นสิริมงคล และพลังอำนาจของเทพมังกร




 
(Coat of arms of the Hungarian House of Lacković)
 

ยุโรป 

ต้องการสื่อถึง ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ พลังอำนาจที่เหนือกว่าสัตว์ร้ายอย่างเจ้ามังกร




จบกันไปแล้วนะคะ สำหรับเรื่องราวของมังกรที่พี่หญิงนำมากฝากทุกคนในวันนี้ เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย เชื่อว่าน้องๆ หลายคนจะต้องแอบคุ้นเคยกับมังกรในเทพนิยายต่างๆ กันอยู่แล้วไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นอัศวินปราบมังกรช่วยเจ้าหญิง หรือตำนานสัตว์เทพผู้พิทักษ์ เรียกได้ว่าสัตว์วิเศษในตำนานเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ถูกนำเสนอออกมาด้วยภาพลักษณ์ที่หลากหลายเป็นที่สุด แต่ทั้งหมดแล้ว สาเหตุของความแตกต่างนั้นไม่ได้มาจากอะไรเลย นอกจากทัศนคติความเชื่อที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่...ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ประวัติศาสตร์ที่เดินคนละเส้นทาง ความห่างไกลคนละทวีป ด้วยสิ่งเหล่านี้พี่หญิงก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “มังกร” ของทั้งสองถึงได้สื่อความหมายไม่ไปคนละอย่างได้แบบนี้


สุดท้ายนี้พี่หญิง ขอลาไปก่อน เจอกันใหม่ครั้งหน้า วันนี้ สวัสดีค่ะ





พี่หญิง
 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

http://www.coco01.net/post/458827
http://cryptidz.wikia.com/wiki/Dragon?file=Islam-dragon.png
http://theory.people.com.cn/GB/49157/49165/5510762.html
http://www.blackdrago.com/easterndragons.htm#oriental
http://www.wlshidai.com/rxzwoludox2.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Dragon
https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_dragon
https://th.wikipedia.org/wiki

https://www.livescience.com/25559-dragons.html
http://www.dragonology.com/main_menu.html
http://idraemir.blogspot.com/2011/05/lorigine-de-la-gargouille.html
http://baike.baidu.com/item/%E9%BE%99/13027234
http://www.komkid.com
http://www.chinahighlights.com/travelguide/article-chinese-dragons.htm

สัตว์พิสดาร จากเทพนิยาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊สค์ (2006). 2556. หน้า 13-79

พี่หญิง
พี่หญิง - Columnist มนุษย์บ้านิยายที่สิงอยู่แถวๆ คลังนิยายเด็กดีเป็นประจำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
Thecardfighter Member 9 ก.ค. 60 11:44 น. 2

Seigfried ใช่สุมาไนคุงจาก Fate/Grand Order และ Fate/Apocrypha หรือเปล่า อีกคนก็นักบุญมาร์ธาผู้ปราบทาราสด้วยการสวดภาวนา(ความจริง),หมัดเหล็ก(Fate)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
NATA-P Member 13 ก.ค. 60 08:50 น. 3

ชอบทั้งสองฝั่งเลยค่ะ มีเสน่ห์ทั้งคู่เลยยยยยย

ขอบคุณมากค่ะ ที่มาแบ่งปัน


แวะมาหาเราได้นะจิ้มมม

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Thecardfighter Member 9 ก.ค. 60 11:44 น. 2

Seigfried ใช่สุมาไนคุงจาก Fate/Grand Order และ Fate/Apocrypha หรือเปล่า อีกคนก็นักบุญมาร์ธาผู้ปราบทาราสด้วยการสวดภาวนา(ความจริง),หมัดเหล็ก(Fate)

0
กำลังโหลด
NATA-P Member 13 ก.ค. 60 08:50 น. 3

ชอบทั้งสองฝั่งเลยค่ะ มีเสน่ห์ทั้งคู่เลยยยยยย

ขอบคุณมากค่ะ ที่มาแบ่งปัน


แวะมาหาเราได้นะจิ้มมม

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
แทรกรูปจากแกลเลอรี่ - Dek-D.com
L o a d i n g . . .
x
เรียงตาม:
ใหม่ล่าสุด
ใหม่ล่าสุด
เก่าที่สุด
ที่กำหนดไว้
*การลบรูปจาก Gallery จะส่งผลให้ภาพที่เคยถูกนำไปใช้ถูกลบไปด้วย

< Back
แทรกรูปโดย URL
กรุณาใส่ URL ที่ขึ้นต้นด้วย
http:// หรือ https://
กำลังโหลด...
ไม่สามารถโหลดรูปภาพนี้ได้
*เมื่อแทรกรูปเป็นการยืนยันว่ารูปที่ใช้เป็นของตัวเอง หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และลงเครดิตเจ้าของรูปแล้วเท่านั้น
< Back
สร้างโฟลเดอร์ใหม่
< Back
ครอปรูปภาพ
Picture
px
px
ครอปรูปภาพ
Picture