8 เรื่องลับ กว่าจะมาเป็น
ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต
สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน ย้อนไปเมื่อสมัยพี่น้ำผึ้งยังเป็นเด็กๆ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่แม่พี่ชอบอ่านให้ฟังตอนเด็กๆ มันเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เปิดโลกพี่มากๆ เพราะเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและแง่คิด บอกเลยว่าดีงาม ซึ่งหนังสือเล่มที่ว่านี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจาก “ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต (Charlie and the Chocolate Factory)” เรื่องราวสุดมหัศจรรย์ของเด็ก 5 คนกับเจ้าของโรงงานอย่าง “วิลลี่ วองก้า”
สำหรับ “ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต” นั้นเขียนโดยโรอัล ดาร์ล เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ขึ้นแท่น The World's Storyteller อันดับ 1 และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 50 วรรณกรรมที่ต้องอ่านก่อนโต ไม่เพียงแค่นั้นยังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยจอห์นนี่ เด็ปป์ด้วยจ้า
อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ น้องๆ ก็คงจะพอกันเดาได้แล้วใช่ไหมคะว่าพี่กำลังจะพาน้องๆ ไปรู้จักกับอะไร ใช่แล้วค่ะ พี่น้ำผึ้งกำลังจะพาทุกคนมาส่องโลกของชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตจ้า ซึ่งเรื่องที่พี่นำมาฝากในวันนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเขียนหนังสือเด็กคลาสสิกอย่าง “ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต” ของโรอัล ดาร์ลค่ะ ว่าแล้วก็ตามมาดูกันเลยดีกว่าจ้าว่าเป็นยังไงบ้าง
ตอนเป็นเด็ก ดาร์ลเคยเป็นนักชิมของโรงงานทำขนม
ดาร์ลใช้ประสบการณ์ของตัวเองตอนสมัยทำงานเป็นนักชิมอยู่ที่โรงงานทำช็อกโกแลต Cadbury มาเขียนหนังสือชาร์ลีกับโรงงานช็อโกแล็ต ดาร์ลบอกว่า ตอนที่เขาอายุ 13 ปี ทางโรงงานมักจะส่งกล่องที่บรรจุช็อกโกแลตบาร์จำนวน 12 ชิ้นมาให้เขาชิมเสมอ ภายในนั้นมีช็อกโกแลตรสดั้งเดิมและรสใหม่ๆ ซึ่งดาร์ลก็ชื่นชอบมากๆ เขามักมโนเอาว่าตัวเองทำงานอยู่ในโรงงานช็อกโกแลตและเชิญชวนเด็กๆ ให้มาชิมช็อกโกแลตรสใหม่ แล้วไอเดียนี้แหละก็แวบเข้ามาในหัวตอนที่เขากำลังเริ่มต้นเขียนหนังสือเด็กเล่มที่ 2 จ้า
หน่วยสอดแนมช็อกโกแลตมีอยู่จริง
น้องๆ รู้มั้ยคะว่าสปายที่ถูกส่งมาเพื่อสอดแนมและขโมยความลับในการผลิตลูกกวาดและช็อกโกแลตของวิลลี่ วองก้านั้นไม่ได้มีอยู่แค่ในจินตนาการของโรอัล ดาร์ล แต่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงค่า
ในปี 1920 โรงงานผลิตช็อกโกแลตกำลังบูมมากจึงทำให้เกิดการแข่งขันขึ้น ด้วยความที่แต่ละบริษัทก็อยากขายสินค้าตัวเองให้ได้ แต่ละที่เลยส่งสปายไปตามสืบและล้วงความลับในการผลิตช็อกโกแลตของบริษัทคู่แข่งซะเลย เพราะงั้นทางโรงงานจึงจับตามองพนักงานอย่างระมัดระวัง ใครทำตัวมีพิรุธน่าสงสัยยิ่งถูกจับตามอง
ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงวัยเด็กของดาร์ลก็เคยเกิดเหตุการณ์ประมาณนี้ด้วยแหละค่ะ โรงงานผลิตลูกอมและช็อกโกแลตในอังกฤษอย่าง Cadbury และ Rowntree เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ดาร์ลจึงได้แรงบันดาลใจและนำมาใส่ในหนังสือนี่แหละค่า
บรรดาเด็กๆ ทั้ง 5 และครอบครัว
(via : Emaze)
ต้นฉบับแรกต่างจากเวอร์ชั่นตีพิมพ์มาก
เวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์เป็นเล่มนั้นมีคาแร็กเตอร์เด็กๆ เพียงแค่ 5 ตัวเท่านั้นที่ได้เข้าชมโรงงานช็อกโกแลตของวองก้า ได้แก่ ชาร์ลี บัคเก็ต, ออกัสตัส กลู๊ป, ไวโอเล็ต โบรีการ์ด, ไมค์ ทีวี และเวรูก้า ซอลท์ แต่เวอร์ชั่นแรกที่ดาร์ลเขียนนั้นไม่ใช่ค่ะ ตอนแรกเขาต้องการให้มีเด็กอย่างน้อย 12 คนขึ้นไป ในหัวเล็งไว้แล้วแหละว่าต้องมีเด็ก 15 คน ต่อมาจึงแก้เป็นเด็ก 10 คนด้วยสาเหตุบางประการ แต่ท้ายที่สุดดาร์ลก็ตัดออกจนเหลือแค่ 5 คนเท่านั้นเพราะเขาคิดว่ามันจะมีตัวละครมากเกินไป
นอกจากนี้ในหนังสือที่ตีพิมพ์ยังได้ตัดออกไปหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากที่วิลลี่ วองก้าพาเด็กๆ ไปใน “Vanilla Fudge Room” ที่มีภูเขาสูงเท่ากับตึก 5 ชั้นและทุกสิ่งทุกอย่างสร้างมาจากครีมและวานิลลาฟัดจ์ อลังการได้อีก หรือจะเป็นฉากที่วองก้าพาเด็กๆ ไปทัวร์ที่ “Warming-Candy Room” ซึ่งเป็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องทำลูกกวาด และถ้าเราแอบกินลูกกวาดเมื่อไหร่มันจะทำให้ร่างกายของเราอบอุ่นทันที
มีตัวละครชื่อ "มิรันดา พีคเกอร์" แต่เธอถูกเปลี่ยนให้เป็นขนมถั่วตัด
ดาร์ลเล่าให้ฟังว่าในตอนแรกที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เขาได้สร้างเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “มิรันดา แมรี่ พีคเกอร์” ที่เป็นคนสกปรก หยาบคาย ไม่มีมารยาทและไม่ชอบทำตามกฎตามระเบียบ ในตอนแรกที่เขาร่างต้นฉบับ มิรันดาตกลงไปในน้ำตกช็อกโกแลตและหลุดไปอยู่ที่ห้องทำขนมถั่วตัด มันเลยทำให้เธอกลายเป็นขนมถั่วตัด
แม้ว่าบทบาทของสาวน้อยมิรันดาจะถูกตัดออกไปจากหนังสือ แต่ในปี 1973 ดาร์ลได้ตีพิมพ์เรื่องราวของมิรันดาออกมาให้แฟนๆ ได้อ่านกันในนิตยสาร Puffin Post โดยเป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า "Spotty Powder" เรื่องราวของเธอกับพ่อแม่ของเธอที่พยายามทำลายเครื่องผลิตลูกกวาด Spotty Powder เพื่อขโมยลูกกวาดจ้า สงสัยการกลายเป็นขนมถั่วตัดของเธอคงเป็นบทลงโทษของเด็กขี้ขโมยเนอะ
ดาร์ลเปลี่ยนชื่อตัวละคร (เกือบ) ยกแผง
น้องๆ รู้มั้ยคะ ดาร์ลเปลี่ยนชื่อตัวละครในชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตเกือบทั้งหมดยกเว้นชื่อของชาร์ลี! ซึ่งพี่ได้รวมมาให้เป็นตารางไว้แล้วว่าก่อนที่จะเป็นตัวละครแบบที่เห็นอยู่ พวกเขาชื่อว่าอะไรกันบ้าง มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
ชื่อตัวละคร |
ชื่อเดิม |
Oompa-Loompas Violet Beauregarde Veruca Salt Mike Teavee Augustus Gloop Willy Wonka |
Whipple-Scrumpet Violet Glockenberry Elvira Entwhistle Herpes Trout Augustus Pottle Mr. Ritchie |
ส่วนชื่อของวิลลี่ วองก้านั้น ตอนแรกดาร์ลตั้งใจให้ชื่อว่า Mr.Ritchie นี่แหละค่ะ จนกระทั่งเขานึกถึงบูมเมอแรงที่เคยสร้างกับหลุยส์ น้องชายของเมื่อสมัยยังเด็กได้ ตอนนั้นเขาเรียกบูมเมอแรงว่า “Skilly Wonka” เจ้าตัวเลยขอยืมมาเป็นชื่อของเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตซะเลย
อูมปา-ลูมปาส์เป็นชนเผ่าปิ๊กมี่
ตอนที่ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1964 นั้น ในหนังสือได้บอกว่าอูมปา-ลูมปาส์เป็นชนเผ่าปิ๊กมี่ที่วิลลี่ วองก้าค้นพบตอนไปเยือนแอฟริกา ก่อนที่เขาจะพาขึ้นเรือกลับมายังประเทศอังกฤษด้วย แต่ทุกอย่างก็ต้องพลิกผันเมื่อสมาคมแห่งชาติสำหรับความก้าวหน้าของคนผิวสี (The National Association for the Advancement of Colored People – NAACP) และองค์กรอื่นๆ ได้พากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำแบบนี้เปรียบเสมือนการเหยียดสีผิว ดังนั้นในปี 1970 ดาร์ลจึงรีไรท์และเปลี่ยนลักษณะอูมปา-ลูมปาส์ซะใหม่ จากคนตัวเล็ก ผิวสีเข้ม มาจากแอฟริกากลายเป็นคนตัวเล็ก ผิวสีขาว ผมยาวสีน้ำตาลทองและมาจากลูมปาแลนด์ค่ะ (แต่เวอร์ชั่นภาพยนตร์ในปี 1971 นั้นให้เป็นผิวสีส้มและผมสีเขียวนะ)
อูมปา-ลูมปาส์ เวอร์ชั่นภาพยนตร์ในปี 1971
(via pinterest.com)
รายได้ภาพยนตร์ตกต่ำมาก
แม้จะไม่เกี่ยวกับหนังสือ แต่ขอหยิบยกมาพูดสักหน่อย ลืมไปซะกับภาพยนตร์ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต เวอร์ชั่นของ Warner Bros. เพราะเวอร์ชั่นดั้งเดิมคือภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “Willy Wonka & The Chocolate Factory” ออกฉายในปี 1971 นำแสดงโดย Gene Wilder ทำรายได้ได้ตกต่ำมาก แค่ประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แล้วดาร์ลเกลียดภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้มากด้วย มันทำให้นิยายของเขาดูงี่เง่าไปเลยล่ะ
แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เมื่อทาง Warner Bros. นำชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตมารีเมคโดยมีจอห์นนี่ เด็ปป์นำแสดง รายได้กลับพุ่งพรวดเป็น 475 ล้านเหรียญสหรัฐเลยจ้า งานนี้ขอชาบูทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับและเหล่านักแสดงรัวๆ เลยค่ะที่ช่วยกู้ชื่อเสียงของโรอัล ดาร์ลมาได้ ปรบมือ!
ดาร์ลเผชิญโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงถึง 2 ครั้ง
ช่วงที่ดาร์ลกำลังเขียนชาร์ลี เขาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจของเขาถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในปี 1960 แท็กซี่คันหนึ่งขับรถชนธีโอ ลูกชายของเขาที่นั่งอยู่ในรถเข็มเด็ก ส่งผลให้เด็กน้อยเกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ไข้ขึ้นสูงและตาบอดชั่วคราว งานนี้ต้องผ่าตัดอย่างเดียวถึงจะหาย หลังลูกชายได้รับการรักษา ดาร์ลไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไรเลย จะให้นั่งดูลูกทนทุกข์ทรมานอยู่เฉยๆ ก็กะไรอยู่ ดังนั้นในปี 1962 ดาร์ลร่วมมือกับสแตนเลย์ เวด ผู้ผลิตของเล่นและหมอเคนเน็ต ทิล ศัลยแพทย์ระบบประสาท เพื่อพัฒนาท่อสำหรับระบายน้ำแบบโพรงสมองที่เรียกว่า Wade-Dahl-Till Valve ค่ะ
หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงที่ธีโอเข้ารับการบำบัดรักษา โอลิเวีย ลูกสาวของดาร์ลเสียชีวิตเพราะโรคหัด (ที่ดันทำให้เธอกลายเป็นโรคสมองอักเสบ) แน่นอนว่าดาร์ลเสียใจมากจนแพทริเซีย โอนีล นักแสดงสาวผู้เป็นภรรยาของเขาได้ออกมากล่าวภายหลังว่า “ดาร์ลเสียสติไปหมดแล้ว” น่าสงสารมากๆ เลยค่ะ
ดาร์ลในวันที่ลูกสาวเสียชีวิต
(via The Telegraph)
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องที่พี่นำมาฝากน้องๆ ในวันนี้ แต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนใช่มั้ยเอ่ย? โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่ดาร์ลต้องเสียลูกสาว ส่วนลูกชายดันกลายเป็นเด็กพิการ พี่ว่าชีวิตของดาร์ลน่าสงสารมากๆ เลยค่ะ แต่เขาก็เก่งมากเลยนะที่มีแรงฮึดในการเขียนหนังสือดีๆ เพื่อเยาวชน แล้วน้องๆ ล่ะคะ คิดเห็นว่ายังไงบ้าง อย่าลืมเล่าให้พี่น้ำผึ้งฟังด้วยนะคะ ส่วนครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น รอติดตามเลยจ้า
พี่น้ำผึ้ง :)
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.slate.com/articles/news_and_politics/life_and_art/2005/07/chocolate_wars.html
http://www.roalddahl.com/roald-dahl/archive/archive-highlights/the-inventing-room
https://books.google.co.th/books?id=gn4xAwAAQBAJ&lpg=PT210&vq=charlie+and+the+chocolate+boy&pg=PT17&redir_esc=y#v=snippet&q=charlie's%20chocolate%20boy&f=false
http://www.roalddahl.com/roald-dahl/archive/archive-highlights/miranda-mary-piker
http://www.roalddahl.com/roald-dahl/archive/archive-highlights/the-warming-candy-room
http://fictioncircus.com/news.php?id=283
http://www.roalddahl.com/roald-dahl/archive/archive-highlights/miranda-mary-piker
https://www.theguardian.com/childrens-books-site/2014/sep/13/top-10-charlie-and-the-chocolate-factory-roald-dahl-quentin-blake
https://books.google.co.th/books?id=pS8dBQAAQBAJ&pg=PA152&lpg=PA152&dq=%22in+large+packing+cases+with+holes+in+them%22&source=bl&ots=cm--VhvOnw&sig=kisq5E-N1efCntgKhiQ29O_DW40&hl=en&sa=X&redir_esc=y#v=onepage&q=%22in%20large%20packing%20cases%20with%20holes%20in%20them%22&f=false
http://haamor.com/th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3/#article105
3 ความคิดเห็น
ส่วนตัวเป็นแฟนหนังสือของดาลด์อยู่แล้ว จากที่อ่านหลายๆ เล่มคิดว่า หนังสือของดาลด์ ทุกเรื่องแอบโหดนะคะ แล้วมักจะสะท้อนปัญหาสังคม หรือด้านมืดของจิตใจมนุษย์ไว้ด้วย แต่รวมๆ คือชอบค่ะ ทั้งโครงเรื่องแล้วก็สำนวนการเขียน จะเห็นว่าผู้เขียนมีอารมณ์ขันแบบตลกร้าย
อันนี้คุ้นๆเหมือนครูต่างชาติให้ดู เออ ใช่จริงๆ จำชื่อตัวละครไม่ได้ รู้แค่ว่ามีเด็กกับโรงงานช็อกโกแลตกับคนอีกคน//ไปดูต่อ
อย่าปล่อยให้เป็นเพียงความฝัน ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง