ชวนชำแหละเจ้าชายกบเวอร์ชั่นต้นฉบับ :
เกิดอะไรขึ้นหลังเจ้าหญิงจูบกบตัวนั้น...?
ก่อนอื่นขอเริ่มต้นบทความด้วยคำถามค่ะ “เมื่อพูดถึงเจ้าชายกบแล้ว นึกถึงอะไร” สำหรับแอดมิน นึกถึงเรื่องนี้เลยค่ะ แก้วหน้าม้า ฉากที่พระปิ่นทองขอว่าวคืนจากนางแก้ว แล้วบอกว่าถ้าได้คืนก็จะยอมแต่งงานด้วย เจ้าชายกบนี่ก็จะคล้ายๆ กันอยู่ สลับจากพระปิ่นทองเป็นเจ้าหญิง และเปลี่ยนจากว่าวเป็นลูกบอลทอง แต่เงื่อนไขคือ ต้องแต่งงานกับสิ่งมีชีวิตอื่นเหมือนกัน (คนหนึ่งหน้าเหมือนม้า อีกคนคือกบ) ซึ่งเรื่องย่อสั้นๆ ของเจ้าชายกบก็ไม่มีอะไรมาก เจ้าหญิงทำลูกบอลทองตกลงในบ่อน้ำ และขอให้กบเก็บมาให้ แลกเปลี่ยนกับข้อตกลงที่ว่า เจ้าหญิงต้องแต่งงานและจูบกบ (ตัวนั้นซะ) และเมื่อเจ้าหญิงจูบกบ กบก็กลายเป็นเจ้าชาย แล้วทั้งคู่ก็ได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป
แต่ช้าก่อน... และเวอร์ชั่นที่เราพูดถึงนี้ เป็นเวอร์ชั่นที่เราได้ฟังตามๆ กันมา แต่แท้จริงแล้ว ในเวอร์ชั่นต้นฉบับนั้น เรื่องราวไม่เชิงเป็นแบบนี้เสียทีเดียว
ล้อมวงเข้ามา แอดมินจะเล่าให้ฟัง
เจ้าชายกบเวอร์ชั่นต้นฉบับ : พล็อตแปลกจนอยากร้องว่า ‘ยังงี้ก็ได้เหรอ’
ต้นฉบับของเจ้าชายกบ เป็นของพี่น้องกริมม์ และในเรื่องนั้น เจ้าหญิงไม่ได้จูบกบอย่างที่เราคิด เรื่องเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 13 และเป็นตำนานของเจ้าชายกบ หรือที่ใครๆ เรียกว่าราชากบ (น่าจะ) มีตัวตนอยู่จริง ตำนานของพระองค์กระจายไปทั่วยุโรป และพี่น้องกริมม์รวบรวมตำนานนี้ไว้ได้สามเวอร์ชั่น และนำมาเขียนใหม่ โดยตั้งใจว่าจะใช้เป็นบทเรียนสอนพ่อแม่ให้รู้จักรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับลูกๆ
เจ้าชายกบของพี่น้องกริมม์นั้น เริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี ค.ศ. 1812 เนื้อหามีอยู่ว่า เมื่อสัญญากับเจ้าชายกบว่าจะมอบจุมพิตให้แล้ว เจ้าหญิงก็พาเจ้าชายกบไปที่ห้องนอน บทบรรยายตอนนี้เขียนไว้ว่า “เจ้าหญิงใช้สองนิ้วคีบกบไปที่ห้อง ปีนขึ้นไปบนเตียง ทว่าแทนที่จะวางกบไว้ข้างๆ ตัว พระองค์กลับปากบเต็มแรงจนกระแทกกำแพง และตะโกนว่า “ให้ข้าได้อยู่สงบๆ สักทีเถอะนะ เจ้ากบอัปลักษณ์” แต่กบไม่ตาย และกลายร่างเป็นเจ้าชายรูปงาม เจ้าหญิงจึงทรงอ่อนหวานกับเจ้าชาย และทำตามสัญญานั่นคือบรรทมร่วมกันอย่างมีความสุข”
ถ้าคิดว่าแอดมินโกหกหรือแต่งเรื่อง บอกเลยไม่ใช่ค่ะ เจ้าชายกบเวอร์ชั่นนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ หลังจากบรรทมร่วมกันอย่างมีความสุขแล้ว เช้าวันต่อมา เจ้าหญิงจึงได้ถามเจ้าชายว่าพระองค์เป็นใคร และเจ้าชายก็ตอบว่าพระองค์คือ เจ้าชายที่แท้จริง ซึ่งเหตุผลที่พระองค์ไม่อาจบอกความจริงว่าตัวเองเป็นเจ้าชายที่ถูกสาปก็เพื่อปกป้องชีวิตของทาสรับใช้คนสนิทนั่นเอง

เจ้าชายกบฉบับปัจจุบัน : แท้จริงแล้วมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเรื่อยมา
เอดการ์ เทย์เลอร์ คือคนแรกที่แปลเรื่องราวของเจ้าชายกบเป็นภาษาอังกฤษ และเขาคิดว่าเด็กๆ ไม่ควรจะได้อ่านเรื่องกบถูกปาใส่กำแพง เขาก็เลยแก้พล็อตเป็นว่า... เจ้ากบได้ร้องขอการนอนหลับบนหมอนของเจ้าหญิงถึงสามคืน และนั่นแหละ คือจุดที่คำสาปเริ่มคลายลง ต่อมาเจ้าชายก็กลับคืนสู่ร่างเดิม และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงในที่สุด หลายคนร้องอ้าว ใช่แล้วค่ะ เวอร์ชั่นแรกนี้ ก็ยังไม่มีฉากจุมพิตอยู่ดี เพราะความจริงแล้ว แกนหลักของเรื่อง เจ้าชายกบ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่จุมพิต แต่เป็นเรื่องของ “คำสัญญา” เมื่อเจ้าหญิงรับปากว่าจะแต่งงานกับกบ ก็เพราะต้องการบางสิ่งบางอย่างแลกเปลี่ยน และนั่นก็คือ ลูกบอลทองของพระองค์ ในตำนานหนึ่งเล่าว่า เจ้าหญิงได้ดื่มน้ำแห่งสัจจะเข้าไป ทำให้พระบิดาและพระมารดาบังคับให้พระองค์เป็นคนรักษาคำพูด ดังนั้น เมื่อหลุดปากออกไปแล้ว ก็ต้องทำตามที่พูด ซึ่งก็นั่นแหละ ในเรื่องนี้ เจ้าหญิงไม่ได้หลงรักเจ้าชายกบ เหมือนที่เบลล์หลงรักอสูรก่อน พระองค์ตั้งมั่นและชัดเจนว่า... จะแค่ทำตามสัญญาให้จบๆ ไป แต่ไม่ได้ต้องการการแต่งงาน (แต่พอเห็นเจ้าชายหล่อ พระองค์ก็ทรงเปลี่ยนใจทันที)
และยังมีเจ้าชายกบอีกตำนานที่เนื้อหาคล้ายคลึงกัน เรื่องของเด็กสาวคนหนึ่ง ที่พ่อแม่ล้มป่วยหนักและต้องการน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ แต่เมื่อเด็กสาวมาที่บ่อ ก็ได้พบกับเจ้ากบ ซึ่งร้องขอการนอนร่วมเตียงกับเธอเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ท้ายที่สุด เด็กสาวก็ต้องยอมเพื่อให้พ่อแม่รอดชีวิต และเมื่อครบ 3 วัน เจ้ากบก็กลายเป็นเจ้าชาย และทั้งคู่ก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ยังไม่หมดค่ะ ยังมีอีกหนึ่งตำนานคล้ายคลึงกัน เรื่องนี้มาจากอิตาลี เล่าถึงเจ้าชายสามพี่น้องที่ออกตามหาเจ้าสาวของพระองค์ เจ้าชายสองพระองค์แรกพบรักกับเจ้าหญิงงดงาม แต่เจ้าชายคนสุดท้อง ได้พบกับเจ้าหญิงกบ ซึ่งมีความสามารถด้านเย็บผ้า ทอผ้า และปรุงโพเลนต้า (อาหารอิตาเลียนชนิดหนึ่ง) เรียกว่าเก่งกว่าเจ้าหญิงที่เป็นเจ้าสาวของพี่ชายทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าชายคนสุดท้องไม่กล้าแนะนำภรรยากบให้กับพระบิดาพระมารดาเพราะอับอาย จนกระทั่งเจ้าหญิงกบยอมกลับคืนสู่ร่างของสาวงามนั่นแหละ พระองค์ถึงยอมรับภรรยาได้ สำหรับเรื่องนี้ แสดงให้เห็นค่านิยมว่า การจะเป็นลูกสะใภ้ในยุคกลางนั้น ต้องเสียสละ อดทน ฉลาด เก่งเรื่องการบ้านการเรือน และยังต้องมีหน้าตาที่งดงามอีกด้วย

สรุปว่าเจ้าชายกบกำลังจะพูดถึงอะไร : เทพนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง
เทพนิยายเรื่องนี้ เล่าขานกันในช่วงยุคกลาง ซึ่งมีเทพนิยายเรื่องอื่นๆ ที่พูดถึงการที่เด็กสาวหน้าตาดีต้องสมรสกับสัตว์ป่าหรือคนที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์แต่มีสิ่งดีๆ แลกเปลี่ยนหรือมีฐานะร่ำรวยเป็นปึกแผ่น ซึ่งจากการวิเคราะห์แล้ว นักวิจัยพบว่า... เทพนิยายเรื่องนี้เปรียบเสมือนเงาสะท้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นั่นคือผู้หญิงหน้าตางดงามจำนวนมาก ยินดีที่จะแต่งงานกับผู้ชายหน้าตาน่ากลัว แต่มียศศักดิ์และฐานะที่ดี พ่อแม่หลายคนยอมสละลูกสาวให้กับเจ้านายที่นิสัยไม่แตกต่างจากกับปีศาจ หรือมีหน้าตาอัปลักษณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ และทางเลือกที่เด็กสาวเหล่านี้ได้ก็คือ หนึ่งออกไปจากบ้าน หรือสองนอนร่วมเตียงกับเจ้าชายกบที่พ่อแม่เลือกมาให้เพื่อทดแทนบุญคุณ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่เด็กสาวจะต้องเลือกการนอนร่วมตียงกับกบ ทั้งๆ ไม่ได้รักกบตัวนั้นด้วยซ้ำ และนี่แหละคือเงาสะท้อนที่ทำให้เรามองเห็นสังคมในช่วงนั้น การแต่งงานไม่พึงปรารถนา การถูกบังคับให้ทำตามความต้องการของพ่อแม่ โดยไม่ได้ตัดสินใจเอง
แต่ก็นั่นแหละ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น มีเด็กสาวจำนวนมากที่ต่อต้าน ไม่ใช่ต่อต้านคำสั่งของพ่อแม่ แต่ไปต่อต้านกบที่พ่อแม่เลือกมา หลายคนก็ทำตามสัญญาไปก่อนแล้วค่อยหนีไปทีหลัง หรือไม่ก็ทำแบบในเทพนิยายกริมม์นั่นคือ เลือกที่จะทำร้ายกบแทน (ปาอัดกำแพงเลยไงล่ะ) เพราะฉะนั้น อีกหนึ่งข้อใหญ่ใจความของเทพนิยายเรื่องนี้คือ สอนให้รู้จักอดทน ในกรณีที่เจ้าชายกบเป็นคนดี ก็ควรจะอดทนร่วมเรียงเคียงหมอนกันไปเรื่อยๆ สักพัก แล้วจึงมองเห็นหัวใจที่เป็นทองของเขาได้ ในที่นี้ ตำนานเรื่องนี้สอนให้เราได้เห็นค่านิยมของเพศหญิง ที่นิยมมองผู้ชายจากหน้าตา โดยไม่ได้ดูที่หัวใจสักเท่าไหร่ และผู้หญิงหน้าตาดีส่วนมาก มักเชื่อว่าตัวเองควรได้สิ่งดีที่สุดในชีวิต แต่หลายครั้งการเลือกของพวกเธอมักจะผิดพลาด และทำให้พวกเธอต้องลงเอยแบบทุลักทุเลเต็มทน
อย่างไรก็ตาม เราก็เล่ามาจนจบแล้ว และค้นหาตำนานเกี่ยวกับเจ้าชายกบมามากมาย แต่ก็ยังไม่พบเรื่อง “จุมพิต” เลยสักตำนาน คาดว่าความเชื่อเรื่องจุมพิตนี้ น่าจะถูกเพิ่มมาภายหลัง เมื่อคนเกิดความเข้าใจผิดจากการอ่านเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร ระหว่างบันทึกก็เลยเกิดความเชื่อมโยงทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน และสุดท้าย เจ้าชายกบก็เลยมีฉากจูบด้วยในที่สุด
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Frog_Prince
https://www.tor.com/2016/05/26/wait-what-happened-to-the-kissing-part-the-frog-king-or-iron-henry/
http://www.eastoftheweb.com/short-stories/UBooks/FrogPrin.shtml
http://childhoodreading.com/the-frog-prince/
http://etc.usf.edu/lit2go/175/grimms-fairy-tales/3066/the-frog-prince/
3 ความคิดเห็น
มาไทยกบคงโดนกินแทน.. เจ้าชายเอ้ยยย
ไทยคงเป็นเจ้าชายกะปอม >///<
ชอบความปาอัดกำแพง 555555