ราพันเซล : เรื่องเล่าจากหอคอย หญิงสาวผู้ถูกกักขัง
การข่มขืน และแรงปรารถนาของเจ้าชาย
สวัสดีค่ะ ชาวนักเขียนนักอ่านเด็กดี หลังจากหยิบเอาเทพนิยายมากมายมาพูดคุยกัน คราวนี้มาถึงคิวของเรื่องราพันเซลกันบ้าง ราพันเซลในความทรงจำของแอดมินคือ สาวสวยผมสีทองยาวสลวยและมีน้ำหนัก (คิดดูผมนางยาวจนโยนลงจากหอคอยแล้วเจ้าชายปีนเข้าหาได้!) ผู้ต้องใช้ชีวิตอย่างเดียวดายบนหอคอย แต่ว่าสุดท้าย ความงามของนางก็ไปต้องตาต้องใจเจ้าชาย จนพระองค์พยายามทำทุกทางเพื่อปลดปล่อยนางให้เป็นอิสระ
ที่มาของ ‘ราพันเซล’
เรื่องราวของราพันเซลอาจจะดูเหมือนเทพนิยาย สาวสวยถูกขังและได้รับการปลดปล่อยจากเจ้าชายผู้แสนดี ทว่าเมื่อได้อ่านอย่างละเอียด ก็ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า... หรือจริงๆ แล้ว การขังผู้หญิงไว้ในหอคอยจะเป็นวัฒนธรรมของคนในช่วงเวลานั้นกันแน่ และชวนให้คิดต่อได้อีกว่า ผู้หญิงเหล่านั้นอาจไม่เต็มใจใดๆ แต่ไม่มีทางเลือก โดยสถานที่ที่ไม่ต่างจากหอคอยก็คือ คอนแวนต์ ที่ไว้เก็บตัวบรรดาลูกคุณหนูทั้งหลายแหล่ แต่ก็นั่นแหละ แม้จะอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเช่นนั้น การห้ามไม่ให้ผู้หญิงพบปะกับผู้ชายก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเรื่องราพันเซลเลย นางแม่มดพยายามจับราพันเซลขังไว้ในหอคอย ไม่ให้เจอใครเลย แต่สุดท้าย เจ้าชายก็ยังผ่านมาเห็นความงามของนางจนได้
ราพันเซลเป็นนิทานจากการรวบรวมของพี่น้องกริมม์ เผยแพร่เป็นเล่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1812 โดยพี่น้องกริมม์ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง "ราพันเซล" โดย ฟรีดริช ชุลซ์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1790 และราพันเซลฉบับของชุลซ์ก็อิงตาม แปร์ซีแน็ต (Persinette) โดย ชาร์แล็ต-โรซ เดอ กอม็อง เดอ ลา ฟอส (Charlotte-Rose de Caumont de La Force) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1698 โดยเรื่องนี้ ก็ได้รับอิทธิพลจากนิทานก่อนหน้านั้นอีก คือ เปโตรซีเนลลา (Petrosinella) ของเจ้าพ่อแห่งเทพนิยายอย่าง จีอามบัตติสตา บาซีเล (Giambattista Basile) (ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1634) แต่ในที่นี้ เราขอพูดถึง แปร์ซีแน็ต เป็นหลัก เพราะมันเป็นนิทานที่เขียนโดยหญิงสาวชนชั้นสูงของฝรั่งเศส ผู้มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความรักมากมาย โดยแปร์ซีแน็ต เป็นหนึ่งในนิทานที่เธอเขียน เรื่องราวของเด็กสาวสวยที่ถูกขังอยู่ในคอนแวนต์นั่นเอง
หอคอยเป็นตัวแทนของอะไร...?
ถ้าจะว่ากันแล้ว แปร์ซีแน็ต เป็นเรื่องราวของความปรารถนาต้องห้าม การบังคับใจตัวเอง เรื่องเริ่มต้นที่ผู้หญิงคนหนึ่งกระหายอยากชิมช่อพาร์สลี่ย์ที่ปลูกในสวนของแฟรี่ สามีของนางทนการรบเร้าไม่ไหว ก็เลยต้องแอบเข้าไปในสวนเพื่อขโมยมาให้ภรรยา แต่แน่นอนว่าสามีถูกจับได้ และข้อแลกเปลี่ยนที่เขาได้ก็คือ ต้องแลกทารกที่เกิดมากับพาร์สลี่ย์เหล่านั้น แฟรี่ได้พาเด็กหญิงไปเลี้ยงบนหอคอย ซึ่งจุดนี้ก็สะท้อนถึงสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศสในยุคนั้น คือเด็กสาวสวยก็จะถูกส่งตัวไปไว้ที่คอนแวนต์ เพื่อไม่ให้พบเจอกับผู้ชาย (หรือถ้าเป็นเมืองไทยก็คือส่งตัวไปไว้ในวัง...?) เด็กหญิงถูกตั้งชื่อว่า แปร์ซีแน็ต และเติบโตมาเป็นสาวงามที่มีความสุขกับชีวิตอันหรูหรา จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้าชายผ่านมาและได้ยินเสียงร้องเพลงของนาง จึงปีนเข้าหา...
แปร์ซีแน็ตหรือราพันเซลไม่ใช่ผู้หญิงใจง่ายอย่างที่หลายคนอาจเคยเชื่อ ความจริงแล้วนางหวาดกลัวเจ้าชายมาก และไม่ได้สยายผมให้เจ้าชายปีนเข้าหา (ในนิทานบอกไว้ว่า เจ้าชายแอบดูจนเห็นนางแม่มดพูดให้ราพันเซลสยายผมลงมา และปลอมเสียงของแม่มดเพื่อหลอกล่อให้ราพันเซลเชื่อถือ) ตรงกันข้าม นางหาทางขัดขวางไม่ให้เจ้าชายเข้ามาได้เสียด้วยซ้ำ น่าเสียดาย แปร์ซีแน็ตไม่อาจต่อต้านแรงปรารถนาของเจ้าชายได้ และนางก็ตกเป็นของเจ้าชาย วันแล้ววันเล่า เจ้าชายแวะเวียนมาหานาง จนในที่สุด นางก็ตั้งท้อง ซึ่งมันทำให้นางทั้งหวาดกลัวและเสียใจเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และถึงแม้เจ้าชายจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง พระองค์ก็เลือกที่จะไม่บอก เพราะกลัวว่ามันจะทำให้นางหวาดกลัวยิ่งกว่าเดิม (การตั้งท้องของแปร์ซีเน็ต สามารถเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงของเด็กสาวชนชั้นสูงในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี มีเด็กสาวจำนวนมากจากครอบครัวผู้ดีมีเงินที่ตั้งท้องและต้องมาอาศัยคอนแวนต์เป็นบ้านพักใจ)
หลังแปร์ซีแน็ตตั้งท้อง แฟรี่ก็รู้ความจริง และผลักเจ้าชายตกหอคอย หนามกุหลาบแทงตาทำให้พระองค์ตาบอด ส่วนแปร์ซีแน็ตถูกขับออกจากหอคอย และคลอดลูกแฝด อย่างไรก็ตาม นิทานได้จบลงอย่างสวยงาม เพราะหลังจากร่อนเร่พเนจรได้สักพัก เจ้าชายกับแปร์ซีแน็ตก็ได้พบกันอีกครั้ง และเมื่อน้ำตาของแปร์ซีแน็ตต้องใบหน้าเจ้าชาย พระองค์ก็กลับมามองเห็นอีกครั้ง และทั้งสี่คนพ่อแม่ลูกก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
อย่างที่เราได้บอกไว้ข้างต้นว่าพี่น้องกริมม์ได้นำเรื่องแปร์ซีแน็ตมาเรียบเรียงใหม่ในแบบของตัวเอง ราพันเซล ก็คือแปร์ซีแน็ตฉบับเรียบเรียงใหม่ในอีก 100 ปีต่อมา เค้าโครงของเรื่องนั้นเหมือนเดิม แต่รายละเอียดแตกต่างออกไป เพราะแปร์ซีแน็ตเป็นเรื่องที่เขียนในสังคมฝรั่งเศส แต่ราพันเซลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมเยอรมัน เรื่องราวที่เปลี่ยนไปมีแค่จุดเล็กๆ น้อยๆ เช่น แทนที่ผู้เป็นแม่จะอยากกินพาร์สลี่ย์ ก็กลายเป็นราพันเซล (หัวผักกาด) แทน แต่เนื้อหานอกจากนั้นยังคงเดิม หญิงสาวสวยถูกขังในหอคอย และเจ้าชายที่ผ่านมา หญิงสาวตั้งท้อง แฟรี่ผลักเจ้าชายตกหอคอยจนหนามแทงตาบอด ทั้งคู่และลูกแฝดกลับมาพบกันอีกครั้ง และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ใช่แล้ว... การตั้งท้อง และการข่มขืนของเจ้าชาย...
ราพันเซลกับเจ้าชาย รักกันจริงหรือไม่...?
พี่น้องกริมม์ได้สรุปเรื่องของราพันเซลไว้ในหนังสือชื่อว่า Household Tales (นิทานของเด็กและครัวเรือน) และพวกเขาคงเนื้อหาไว้ครบถ้วน ทั้งการตั้งท้องและการข่มขืนของเจ้าชายด้วย และนั่นคือสิ่งที่เราควรต้องตั้งข้อสงสัย...ไม่ว่าแปร์ซีแน็ตหรือราพันเซล ต่างก็มีความสุขกับชีวิตในหอคอย ทว่าเจ้าชายผู้บังเอิญผ่านมาเห็น เกิดความต้องตาต้องใจในความงามของนาง และพรากทุกสิ่งทุกอย่างจากนางไป แน่นอนว่าพระองค์ไม่ได้สนใจความรัก ไม่ได้สนใจความรู้สึก สิ่งที่พระองค์ต้องการคือ ‘ตัวของนาง’ จากที่อ่านนิทานดู เราจะได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าแปร์ซีแน็ตหรือราพันเซล ต่างก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเจ้าชายด้วยความเต็มใจ พวกนางไม่รู้จักความรักความสัมพันธ์นี้ ไม่เคยเห็นผู้ชายมาก่อนด้วยซ้ำ... ดังนั้น สิ่งที่เจ้าชายทำ อาจไม่แตกต่างจากการหลอกลวง ข่มขืน และบังคับใจ... และเราไม่ควรลืมความจริงที่ว่า เจ้าชายเป็นผู้ชายคนแรกที่แปร์ซีแน็ตหรือราพันเซลพบเจอ ดังนั้น เราคงไม่อาจตอบได้เต็มปากว่านางรักพระองค์จากใจ...
บางทีนี่คือคำถามที่น่าสนใจของเทพนิยายเรื่องนี้ เจ้าชายรักราพันเซลจริงหรือไม่ หรือพระองค์เพียงแต่ปรารถนาในตัวนางกันแน่...?
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Rapunzel
http://fairytalesoftheworld.com/quick-reads/rapunzel/
https://germanstories.vcu.edu/grimm/rapunzel_e.html
http://www.surlalunefairytales.com/rapunzel/
https://www.tor.com/2016/06/09/forbidden-desire-and-locked-doors-rapunzel/
http://www.authorama.com/grimms-fairy-tales-16.html
1 ความคิดเห็น
ว้าววววว ไม่รุจะพุดอย่างไงดี แต่รุสึกว่ามันสุดยอดดีแท้
เอาเรื่องแบบนี้มาอัพเดทอีกนะคร้าาาา