เมื่อเพศชายเป็นเจ้าชีวิต กำหนดชีวิตผู้หญิงได้แม้แต่ความตาย :
จ้าวเคราน้ำเงินและภรรยาที่หายไป
ขอทักทายแฟนคลับคนรักการอ่านเทพนิยายค่ะ ช่วงหลังๆ แอดมินได้หยิบยกเทพนิยายมาพูดถึงกันเป็นเรื่องๆ ไป และวันนี้ ก็มาถึงคิวของเทพนิยายที่อยู่ในความทรงจำของแอดมินมาตลอด “จ้าวเคราน้ำเงิน” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Bluebeard” (ตรงตัวดีมาก) เป็นผลงานของหนึ่งในนักเล่าเทพนิยายที่คลาสสิกสุดๆ อย่าง ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ นั่นเอง มีนักวิจารณ์และนักวิเคราะห์หลายๆ คนเชื่อกันว่า “จ้าวเคราน้ำเงิน” น่าจะมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง และเป็นผลงานที่สะท้อนให้เราเห็นถึงสังคมของประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลาที่นักเขียนยังมีชีวิต (ช่วงปี ค.ศ. 1600)
จ้าวเคราน้ำเงินและภรรยาคนที่ 7
ต้นแบบของ “จ้าวเคราน้ำเงิน” มาจากไหน
ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน เราก็จะเล่าย่อๆ ว่า เทพนิยายเรื่องนี้พูดถึงจ้าวเคราน้ำเงิน ชายผู้ร่ำรวยและมีภรรยามาหลายต่อหลายคน แต่ผู้หญิงเหล่านั้นก็หายไปตัวเสียเฉยๆ จนกระทั่งมาถึงภรรยาคนที่ 7 เธอแต่งงานกับเขา และอดสงสัยไม่ได้ว่าภรรยา 6 คนก่อนหายไปไหน เมื่อถามสามี เขาก็โกรธเกรี้ยวใส่ และกำชับไม่ให้เธอถามประเด็นนี้อีก จ้าวเคราน้ำเงินได้ฝากกุญแจคฤหาสน์ให้กับเธอ และบอกว่าให้เปิดห้องได้ทุกห้องยกเว้นห้องสุดท้าย แต่สุดท้าย ภรรยาทนความอยากรู้อยากเห็นไม่ไหว เมื่อสามีไม่อยู่บ้าน เธอก็เลยเปิดประตูและพบศพของภรรยาเก่าทั้ง 6 อยู่ในห้องนั้น...
นักวิจารณ์เชื่อกันว่า... ต้นแบบจ้าวเคราน้ำเงินที่เราอ่านกันทุกวันนี้ มาจากผลงานของ Anatole France โดยอานาตอลน่าจะรวบรวมเนื้อหาและเก็บแรงบันดาลใจมาจากงานของแปร์โรลต์ ชายคนนี้เกิดในปี ค.ศ. 1844 เป็นหนอนหนังสือตัวยง พ่อของเขาเป็นเจ้าของร้านหนังสือ และเน้นขายหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส สมัยยังเป็นเด็ก อานาตอลอ่านหนังสือเยอะมาก และถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนศาสนา ซึ่งส่งผลต่องานเขียนของเขา ต่อมาอานาตอลเริ่มเขียนกวีก่อน และได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1869 ต่อมาอานาตอลแต่งงานกับ Valerie Guerin ผู้ร่ำรวย ด้วยสถานะการเงินของเธอ ทำให้ทั้งคู่เปิดห้องสมุดสวยงามราวกับเทพนิยาย และอานาตอลก็ตีพิมพ์นิยายเรื่องแรกออกมาในที่สุด ผลงานเรื่องนั้นชื่อว่า Le Crime de Sylvestre Bonnard ตัวอานาตอลมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตา และนอกใจภรรยาอยู่เสมอ จนนำไปสู่การหย่าร้างในปี ค.ศ. 1893 คราวนี้เขาไปมีสัมพันธ์กับมาดามคนงาม Madame Arman de Caillavat และทำให้เขาได้เขียนนิยายต่อมาอีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ จ้าวเคราน้ำเงิน ที่เรากำลังพูดถึงนี่เอง
อานาตอลเคยอ่านจ้าวเคราน้ำเงิน ฉบับของแปร์โรลต์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเมื่อเขาอายุได้ 60 ปี ก็ได้เวลาที่เขาจะเขียนผลงานเกี่ยวกับเทพนิยายเรื่องนี้ โดยเขาใช้ชื่อเรื่องว่า ภรรยาทั้ง 7 ของจ้าวเคราน้ำเงิน (The Seven Wives of Bluebeard) อานาตอลเชื่อว่าเทพนิยายเรื่องนี้แผ่ประวัติศาสตร์และสะท้อนสังคมชนชั้นสูงของฝรั่งเศสในยุค ค.ศ. 1600 โดยตอนที่เขียนสรุปเนื้อเรื่อง อานาตอลบอกว่า เขาได้นำไปผสมผสานเข้ากับแม็คเบธของเชคสเปียร์ด้วย
เมื่อภรรยาคนที่ 7 เจอศพของภรรยาทั้ง 6
ศพของภรรยาทั้ง 6 ซ่อนอยู่ในห้องสุดท้าย
ความแตกต่างจากทางชนชั้น : เบื้องหลังเหตุผลของการฆ่าภรรยาทั้ง 7
ฉากในเรื่องภรรยาทั้ง 7 ของจ้าวเคราน้ำเงิน อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1650 (ช่วงที่แปร์โรลต์เริ่มต้นเขียนเทพนิยาย) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ร่ำรวยทรงสร้างพระราชวังแวร์ซายน์อันยิ่งใหญ่ขึ้น เท่ากับว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาอันหรูหราของฝรั่งเศส จ้าวเคราน้ำเงินในเรื่อง เป็นชายชาวชั้นสูงผู้ร่ำรวย แต่ว่าขี้อายมาก และด้วยความร่ำรวยนี้ ทำให้จ้าวเคราน้ำเงินมีภรรยาถึง 6 คน อุปนิสัยภรรยาแต่ละคนก็แตกต่างกันไป คนหนึ่งติดเหล้า อีกคนอยากเป็นเมียน้อยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และหาทางเข้าหาพระองค์ตลอดเวลา อีกคนไม่ซื่อสัตย์ ชอบนอกใจ (ภรรยาคนนี้ถูกฆ่าโดยชู้รักของเธอ ไม่ได้ตายด้วยฝีมือของจ้าวเคราน้ำเงิน) อีกคนชอบหลอกลวง ปัญหาการแต่งงานมีสารพัดสารพัน และภรรยาทั้ง 6 ก็หายตัวไปเรื่อยๆ จนมาถึงภรรยาคนสุดท้าย ภรรยาคนที่ 7 หญิงผู้จะมาไขปริศนาทั้งหมด
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ภรรยาทั้ง 6 ของจ้าวเคราน้ำเงิน ล้วนมาจากชนชั้นที่ต่ำกว่า ไม่ใช่ชนชั้นสูงผู้ร่ำรวย เป็นความแปลกอย่างหนึ่ง เพราะถึงแม้ชายชนชั้นสูงของฝรั่งเศสในยุคนั้น จะสามารถหลับนอนกับผู้หญิงแปลกหน้าไปทั่ว แต่เมื่อมาถึงเรื่องของการแต่งงาน พวกเขายังคงเลือกชนชั้นเดียวกันอยู่นั่นเอง มีชนชั้นสูงจำนวนน้อยมากที่เลือกแต่งงานกับผู้หญิงชนชั้นต่ำกว่า แม้เรื่องของซินเดอเรลล่าจะแพร่หลายและดูขายดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวฝรั่งเศสมองว่า ผู้หญิงแบบซินเดอเรลล่าคือพวกขุดทอง และเป็นพวกที่ต้องการเลื่อนสถานะทางชนชั้น แทนที่จะเป็นตัวแทนของนางเอกผู้มั่นคงในความรัก ดังนั้น เราจึงขอพุ่งประเด็นไปที่ลักษณะเด่นของจ้าวเคราน้ำเงิน เขาเป็นคนขี้อายและเชื่อกันว่า รูปร่างหน้าตาจัดว่าขี้เหร่ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง และเพราะสาเหตุนี้เอง เขาจึงเลือกแต่ภรรยาที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่า เพื่อที่ตัวเองจะได้ควบคุมผู้หญิงเหล่านั้นได้ กดขี่พวกเธอได้ ไปจนถึงฆาตกรรมเมื่อพวกเธอทำอะไรให้เขาไม่พอใจ!
เป็นที่น่าสนใจและกลายเป็นคำถามสำคัญว่า... จ้าวเคราน้ำเงินสามารถทำกับภรรยาทั้ง 7 ได้อย่างไร ทำไมไม่มีใครทักท้วงหรือไม่มีใครจับตัวมาลงโทษ ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนในบทความด้านบนแล้วว่า... ความเป็นชนชั้นสูง ทำให้จ้าวเคราน้ำเงินสามารถปิดบังการกระทำของตนได้เรื่อยมา ที่สำคัญ ภรรยาทั้งหมดของเขา เป็นชนชั้นล่างซึ่งไม่มีปากเสียงใดๆ ไม่ใช่ชนชั้นสูงที่มีสถานะเสมอกัน ถ้าหากภรรยาของเขาเป็นชนชั้นสูง อาจมีการรื้อคดี มีการฟ้องร้อง จ้าวเคราน้ำเงินคงไม่สามารถทำร้ายพวกเธอได้เต็มที่ บางที สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเทพนิยายเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่ปรากฎในฝรั่งเศสช่วงยุคกลางก็เป็นได้... ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ ทำได้ทุกอย่าง ส่วนชนชั้นล่าง แม้แต่ชีวิตก็ยังไม่มีค่า... และเพศชายนั้นคือผู้กำหนดชีวิต สามารถทำได้แม้แต่การคร่าชีวิตของผู้เป็นภรรยา...
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.skoletorget.no/abb/eng/blueb/pdf/blueb.pdf
https://theclawonline.org/2016/01/20/read-the-terrifying-story-of-bluebeard-and-his-seven-missing-wives/
https://www.tor.com/2017/03/23/questioning-history-through-fairy-tale-anatole-frances-the-seven-wives-of-bluebeard/
http://etc.usf.edu/lit2go/68/fairy-tales-and-other-traditional-stories/4858/blue-beard/
https://en.wikipedia.org/wiki/Bluebeard
0 ความคิดเห็น