ไขข้อสงสัย บทนำจำเป็นสำหรับนิยายมั้ย?
พร้อม How To เขียนบทนำให้เป๊ะปัง
สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน มีใครในที่นี้คิดว่านิยายจำเป็นต้องมีบทนำบ้าง? สำหรับนักเขียนบางคนคงตอบว่ามี บางคนคงตอบว่าไม่มี ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วนิยายของเราจะมีบทนำหรือไม่มีก็ได้ค่ะ ไม่มีข้อบังคับเลยว่านิยายจะต้องมีบทนำเป็นองค์ประกอบ
อย่างไรก็ตาม หากนักเขียนตัดสินใจแล้วว่าเราจะให้นิยายของเรามีบทนำด้วย เราก็ต้องให้ความสำคัญกับมันไม่แพ้กับองค์ประกอบอื่นๆ ในนิยายค่ะ เพราะงั้นเราควรต้องเขียนบทนำให้น่าสนใจและดึงดูดคนอ่านมากที่สุด เนื่องจากว่าบทแรกมันสำคัญมากๆ นี่แหละ พี่น้ำผึ้งก็เลยรวบรวมเคล็ดลับการเขียนบทนำให้ปังมาฝากน้องๆ นักเขียนเด็กดีทุกคนค่ะ
บทนำคืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับบทนำ จริงๆ แล้วบทนำคือบทที่มาก่อนบทที่ 1 (แหงล่ะ) อาจจะเป็นอินโทรของเรื่อง, บทกลอน, จดหมาย, เพลง, ข่าว หรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับนิยายของเรา
ในฐานะผู้อ่าน เมื่อเราเริ่มอ่านบทนำ เรามักใจร้อน รีบอยากพลิกข้ามไปอ่านบทที่หนึ่งแล้ว แต่ถ้าบทนำมันน่าดึงดูด มีการทิ้งปมหรือจบดี เราก็จะเริ่มสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นและตื่นเต้นที่จะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ตรงกันข้าม หากบทนำของเรามันแย่และน่าเบื่อ เราก็อาจจะอ่านข้ามๆ ไป เผลอๆ อาจจะเลิกอ่านเรื่องนี้เลยก็ได้
ด้วยเหตุนี้เอง นักเขียนหลายๆ คนถึงไม่ชอบเขียนบทนำไงล่ะ เพราะบทนำก็เหมือนตราบาปของพวกเขา หากว่าเขียนไม่ดี โอกาสที่นักอ่านจะพลิกไปยังหน้าถัดไปก็ยาก แต่ไม่ต้องห่วง พี่น้ำผึ้งรวบรวมเทคนิคเขียนบทนำมาจากบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ต่างชาติมาให้แล้วค่ะ รับรองว่าจะช่วยให้น้องๆ เขียนบทนำได้เป๊ะปังขึ้นแน่นอนจ้า
จงเขียนบทนำที่....
หยิบจุดหนึ่งของเหตุการณ์ในอดีตหรืออนาคตมาใช้
เมื่อนักอ่านเปิดอ่านบทแรกของหนังสือ พวกเขาก็คาดหวังว่ามันจะเป็นเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาอยู่กับมันไปตลอดอีกเกือบ 200 หน้า! เพราะงั้นบทแรกของเรา ซึ่งในที่นี้ก็คือบทนำ ควรจะเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในเรื่อง จะเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรืออนาคนก็ได้ไม่ว่ากัน แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าเหตุการณ์นั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น ลุ้นระทึก หรือเป็นปริศนาที่ทำให้นักอ่านอยากอ่านต่อ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่นักอ่านเริ่มรู้สึกว่า “เอ๊ะ นี่ฉันกำลังอ่านอะไรอยู่?” นั่นเป็นสัญญาณเตือนของบทนำที่ไม่โอเคแล้วค่ะ รีบเปลี่ยนด่วนๆ เลยจ้า
สำหรับคนที่อยากอ่านบทนำลักษณะนี้ พี่น้ำผึ้งขอแนะนำนิยายเรื่อง “The Bridges of Madison County” ค่ะ
เหตุการณ์เดียวกัน แต่ใช้มุมมองบุคคล (POV) ที่ต่างกัน
นักเขียนหลายรู้ดีว่าการใช้ POV ที่เป็นจำนวนมากๆ ในนิยายของเราจะทำให้ผู้อ่านเกิดอาการงง อย่างไรก็ตาม สำหรับบทนำแล้ว นักเขียนสามารถหยิบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในเรื่อง (ที่คิดว่าสำคัญ) มาเขียนเป็นบทนำและสามารถเปลี่ยนมุมมองของการเล่าเรื่องเป็นตัวละครอื่นได้ การเขียนบทนำแบบนี้เหมาะกับนักเขียนที่ต้องการสร้างความตึงเครียดให้แก่นักอ่าน หรือต้องการปั่นหัวนักอ่านให้ติดกับ บอกเลยว่าการนำเสนอแบบนี้เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้แก่นักอ่านมากขึ้นค่ะ
สำหรับคนที่อยากอ่านบทนำลักษณะนี้ พี่น้ำผึ้งขอแนะนำนิยายเรื่อง “The Cuckoo’s Calling” จ้า
กระชับฉับไวไม่เยิ่นเย้อ
หากเรื่องราวของนิยายเราเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ปัจจุบัน หรือเกิดขึ้นในโลกที่แตกต่างจากโลกของเราอย่างสิ้นเชิง มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องปูพื้นฐานให้นักอ่านรู้ก่อน แน่นอนว่ามันมักปรากฏในบทนำ ซึ่งลิซ่า โฮเวิร์ด บรรณาธิการอิสระชาวอเมริกันได้ให้คำแนะนำแก่นักเขียนมือใหม่ว่า “จงเขียนบทนำให้กระชับ อย่าใส่อะไรไปเยอะแยะ” การทำแบบนี้จะทำให้บทนำของเราไม่เยิ่นเย้อและไม่ทำให้นักอ่านรู้สึกเบื่อ เพราะยิ่งเราอัดตัวละคร อัดชื่อสถานที่แปลกๆ ลงไป ยิ่งทำให้นักอ่านรู้สึกว่าพวกเขากำลังรับข้อมูลที่มากเกินไป จึงเป็นเหตุให้เลิกอ่านนิยายไปในที่สุด
สำหรับคนที่อยากอ่านบทนำลักษณะนี้ ให้หานิยายที่เป็นแนวสร้างโลกใหม่ มีระบบเวทมนตร์มาอ่านค่ะ ซึ่งพี่น้ำผึ้งขอแนะนำนิยายเรื่อง “The Way of Kings” เลยจ้า
หลีกเลี่ยงบทนำที่...
บอกข้อมูลทุกอย่าง
น้องๆ รู้มั้ยคะว่าในบางครั้ง นักเขียนอย่างเราๆ ก็เผลอใช้บทนำเป็นฐานข้อมูลสำหรับนักอ่าน กล่าวคือ นักเขียนหลายคนพยายามยัดทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่านักอ่านจำเป็นต้องรู้ลงไปในหน้าแรกของหนังสือ แต่ความจริงแล้วนี่เป็นวิธีที่ไม่เข้าท่าเอามากๆ แถมยังเสี่ยงต่อการโดนนักอ่านเขวี้ยงนิยายเราทิ้งด้วย
ซึ่งบรรณาธิการอิสระ แอนเดรีย เฮิรส์ ก็ได้ออกมายืนยันว่า “บทนำไม่ควรบอกผู้อ่านทุกอย่าง แค่เพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องรู้ และแน่นอน บทนำไม่ควรออกมาในรูปแบบเรียงความด้วย ให้มองว่าบทนำเป็นส่วนหนึ่งของนิยาย ฉะนั้นข้อมูลต่างๆ ก็ควรถูกแบ่งใส่ไปยังส่วนอื่นๆ ของเนื้อเรื่อง”
เขียนเพื่อสร้างบรรยากาศเท่านั้น
ซูซานนาห์ โนเอล บรรณาธิการอิสระอีกคนได้แนะนำให้นักเขียนมองว่า “บทนำเป็นเหมือนเพลงโหมโรงในละครเวทีหรือโอเปร่าที่ประกอบด้วย เสียงหรือดนตรีประกอบการแสดง และสามารถแยกมันออกมาจากการแสดงได้” ฟังแล้วงงมั้ยคะน้องๆ มาๆ พี่น้ำผึ้งจะอธิบายให้ฟัง
สำหรับข้อความนี้กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บทนำไม่ควรมีอยู่เพื่อสร้างบรรยากาศเท่านั้น แต่ควรเป็นอะไรที่มันสำคัญต่อเนื้อเรื่อง อะไรที่ทำให้นักอ่านสงสัย ตื่นเต้นหรือลุ้นระทึก ถ้าหากน้องๆ ต้องการจะสร้างแค่บรรยากาศ โนเอลพูดดักเลยว่าในบทที่ 1 ก็มีแล้ว ดังนั้นหากเราไม่มีสิ่งสำคัญที่จะต้องพูดก่อนเรื่องราวทั้งหมดจะเริ่มต้นขึ้น ก็ให้เราทิ้งบทนำออกไปแล้วเขียนบทที่ 1 เลย ไม่เช่นนั้นมันจะเยิ่นเย้อน่ารำคาญ
ไม่จำเป็นต้องมีแต่ดันมี
นิยายบางประเภทไม่ควรเสียเวลาเกริ่นให้มากนัก เช่น นิยายแนวสยองขวัญหรือบู๊แอ็คชั่น เพราะนักอ่านที่อ่านนิยายประเภทนี้มักชอบความรวดเร็วของเรื่องเพื่อสร้างความตื่นเต้น ลิซ่า โฮเวิร์ดขอให้เราคิดถึงหนังสือเรื่องเจมส์ บอนด์ เข้าไว้ เพราะเจมส์ บอนด์เป็นงานเขียนแนวแอ็คชั่นที่มีการดำเนินเรื่องว่องไวไม่เชื่องช้า ส่งผลให้นักอ่านอยู่กับเราไปจนจบเรื่อง
โฮเวิร์ดยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า “ถ้าแนวนิยายที่เรากำลังเขียนอยู่มีพล็อตเรื่องที่ต้องดำเนินอย่างรวดเร็ว การลงมือเขียนบทนำอาจทำให้เรื่องดำเนินช้าลง จึงเป็นเหตุให้นักอ่านรู้สึกเบื่อและวางหนังสือเราลงบนหิ้งหนังสือโดยไม่อ่านต่อค่ะ”
แล้วเราควรมีบทนำมั้ย?
ความจริงแล้วเป็นสิทธิ์ของนักเขียนเลยว่าจะมีบทนำหรือไม่มี แต่ถ้าใครยังไม่แน่ใจ ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดู จะได้ชัดเจนมากขึ้นว่าควรใส่บทนำไปในนิยายหรือไม่ จากนั้นพยายามไล่เรียงคำตอบ คิดอย่างระมัดระวังค่ะ
- ฉันจะให้ข้อมูลอะไรในบทนำ?
- ทำไมต้องให้ข้อมูลนั้นด้วย?
- เอาข้อมูลนั้นแทรกไว้ตามบทต่างๆ ได้มั้ย?
- เอา POV ไปแทรกในบทอื่นได้หรือเปล่า?
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเทคนิคที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากให้น้องๆ ในวันนี้ อย่าลืมว่าบทแรกของหนังสือเป็นอะไรที่ “สำคัญมาก” นักอ่านจะไปต่อกับเราหรือหยุดไว้แค่นี้ก็ขึ้นอยู่กับบทแรกนี่แหละค่ะ พราะงั้นน้องๆ ต้องพิจารณาดีๆ เลยนะว่าจะเขียนยังไง วางโครงแบบไหน จะมีบทนำดีมั้ย น้องต้องค่อยๆ คิดค่ะ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากใครอยากเขียนบทนำ พี่น้ำผึ้งก็ไม่ห้ามเลยนะ ขอแค่น้องๆ พึงระลึกไว้เสมอว่าต้องทำให้สั้น กระชับ สตรอง และสำคัญต่อเนื้อเรื่อง! แค่นี้แหละบทแรกของเราก็จะไม่น่าเบื่อแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก
blog.reedsy.com
www.writersdigest.com
www.foremostpress.com
5 ความคิดเห็น
ขอบคุณคำแนะนำดีๆนะค่ะพี่
โดยส่วนตัวคิดว่าการเขียนหรือพิมพ์บทนำมีความจำเป็นมากๆต่อการดึงดูดสนใจผู้อ่านหรือผู้แวะมาดู
กำลังคิดอยู่เลยว่าจะเขียนบทนำอย่างไรดี ได้คำแนะนำมาถือว่าช่วยได้เยอะเลยค่ะ
Thank you^^
ขอบคุณค่ะ อยากบอกว่าพออ่านจบปุ๊บ กลับไปอ่านบทนำของตัวเองเลย แล้วพบว่าหน้าตามันไม่น่าเป็นบทนำเลย ตั้งใจว่าเดี๋ยวเขียนต่อไปอีกนิดก็จะเปลี่ยนบทนำใหม่ค่ะ บทความนี้มีประโยชน์ ทำให้ฉุกคิดอะไรได้
การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดจริงๆ
หันไปอ่านบทนำของตัวเอ งแล้วอยากปาดทิ้งด้วยความโมโห นี่บทนำหรือเรื่องสั้น สิบสามหน้าเอสี่ omg
ขอบคุณค่ะ เป็นประโยชน์มากๆค่ะ
บทนำ นี่แหละค่ะตัวดูดคนอ่านเลย อาจจะแบบเปิดมาแล้วมีเงาเดินตามมีคนตายอะไรงี้ให้คนดูสงสัยว่าเฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้น ต้องลุ้นเอาค่ะ