6 ที่สุดของปีศาจร้ายในวรรณกรรม
ที่เราต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี
สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนจ้ะ มีน้องๆ คนไหนเคยอ่านหนังสือแล้วเจอเข้ากับปีศาจร้ายหรืออสูรกายที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหากันบ้างหรือเปล่า แล้วปีศาจร้ายตัวไหนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันมากที่สุด สำหรับพี่ก็น่าจะเป็น แวมไพร์ ซอมบี้ และมนุษย์หมาป่า เพราะถือว่าเป็นปีศาจที่หยิบเอามาเล่นได้เรื่อยๆ อย่างไม่น่าเบื่อ เพราะนักเขียนเขาก็มีวิธีในการสร้างสรรค์เนื้อหาออกมาได้อย่างแตกต่าง รวมถึงน่าติดตาม และสำหรับบทความในวันนี้พี่นัทตี้ก็ได้มีการหยิบเอาที่สุดของปีศาจร้ายที่มักจะปรากฏในวรรณกรรมมาฝากกัน ไหนใครคิดว่าจะมีปีศาจตัวไหนกันบ้าง มาลองทายกัน
ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะผ่านไปนานสักแค่ไหน แต่คนเราก็ยังให้ความสนใจกับ ปีศาจร้าย สัตว์ประหลาด และสิ่งมีชีวิตอันน่าสยดสยองอยู่เรื่อยๆ และเหตุผลที่พวกมันได้สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับพวกเราทุกครั้งน่าจะเป็นเพราะ ปีศาจร้ายเหล่านั้นสามารถเล่นกับจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี รวมถึงคำว่ามอนสเตอร์ในภาษาละตินนั้นมีความหมายว่า “ระวัง” ดังนั้นคำว่ามอนสเตอร์หรือปีศาจร้ายก็ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เรากลัวรวมถึงสร้างความวิตกกังวลไปกันเอง
แฟรงเกนสไตน์
แฟรงเกนสไตน์หรือโพรมีเทียสสมัยใหม่เป็นปีศาจร้ายที่ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการของแมรี่ เชลลีย์ ในปีค.ศ.1816 ขณะกำลังพักผ่อนอยู่ที่วิลล่ากับสามีรวมถึงกลุ่มเพื่อนของเธอ โดยคืนหนึ่งในขณะที่ทุกคนเตรียมตัวเข้านอน ได้มีการล้อมวงเล่าเรื่องสยองขวัญกันขึ้น ซึ่งเรื่องสยองขวัญที่เล่ากันนั้นเป็นเรื่องราวของภูติผีปีศาจรวมถึงการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้ไฟฟ้า จึงทำให้แมรี่ได้เก็บเอาเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นไปฝัน จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา
แฟรงเกนสไตน์เป็นเรื่องราวของ วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ผู้ใช้เวลาหลายต่อหลายวันในการทำการวิจัย และได้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาจากการพยายามสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนประกอบมาจากซากศพของคนตาย โดยหลังจากเขาได้ทำการวิจัยสำเร็จแล้ว วิกเตอร์ต้องการเก็บเรื่องราวทั้งหมดนี้ไว้เป็นความลับ เพื่อต้องการจะสอนให้สัตว์ประหลาดตนนั้นได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของมนุษย์ก่อน แต่ก็ไม่เป็นอันสำเร็จเพราะมันได้ฆ่าน้องชายอันเป็นที่รักของเขาไป จากสัตว์ประหลาดที่เป็นความหวังกลับกลายเป็นสัตว์ประหลาดอันน่ากลัวภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน โดยนวนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์นี้ต้องการจะสอนคนอ่านให้ได้เข้าใจถึงความดีและความชั่ว รวมถึงความพยายามในการต่อสู้กับอุปสรรค อีกทั้งในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
เคาท์แดร๊กคูล่า
ถ้ากล่าวถึงปีศาจร้ายอันน่ากลัวที่เราพอจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น แดร๊กคูล่า หรือ ผีดิบดูดเลือด โดยจุดเริ่มต้นของแดร๊กคูล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากเรื่องจริงของเจ้าชายแห่งวาลาเคีย หรือที่คนคุ้นเคยกันในชื่อ วลาดนักเสียบ ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นเรื่องราวสยองขวัญเกี่ยวกับผีดิบดูดเลือดขึ้นมา ซึ่งเป็นผลงานการแต่งของ บราม สโตกเกอร์ ในปีค.ศ. 1897 แวมไพร์ในวรรณกรรมของบราม สโตกเกอร์นั้นไม่เหมือนกับแวมไพร์ในเรื่องเล่าของชาวยุโรปทั่วๆ ไป เพราะเขามีความเป็นสุภาพบุรุษ และมักจะใช้เสน่ห์ในการทำให้เหยื่อลุ่มหลง
โดยวรรณกรรมเรื่องแดร๊กคูล่าเล่มนี้ใช้วิธีการเขียนในลักษณะโต้ตอบไป-มาระหว่างตัวละคร ถือเป็นเอกลักษณ์ที่แทบจะไม่พบในวรรณกรรมเรื่องไหนๆ ซึ่งหลังจากออกวางจำหน่ายก็ได้รับความนิยมมาก ได้มีการถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์, ทีวีซีรีส์, ละครโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งละครเวทีเองก็ตาม แถมยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของตัวละครสุดสยองนับแต่นั้นเป็นต้นมา
มนุษย์หมาป่า
มีแวมไพร์แล้วก็ต้องมีหมาป่าสิจ๊ะถึงจะได้เข้ากัน โดยครั้งแรกที่มีการค้นพบเรื่องราวของมนุษย์หมาป่านั้นเริ่มตั้งแต่สมัยกรีกโรมันเลยจ้า โดยมนุษย์หมาป่าถูกจัดให้เป็นประเภทเดียวกับแวมไพร์หรือผีดิบดูดเลือด ซึ่งหมาป่าเป็นผีที่สามารถแปลงร่างเป็นทั้งคนและหมาป่าได้ อาหารสำหรับมนุษย์หมาป่าก็คือ เลือดสดๆ รวมถึงเนื้อของมนุษย์ ความเชื่อเรื่องมนุษย์หมาป่านั้นมีอยู่ทั่วโลก มีอาการป่วยทางประสาทประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Lycanthropy ซึ่งเป็นอาการที่เป็นที่รู้จักกันมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นอาการที่ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองสามารถกลายร่างเป็นหมาป่าได้ ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ แต่ก็มีกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาป่า คือการชอบฆ่าผู้อื่นก่อนจะกินเลือดสดๆ รวมถึงเนื้อของเหยื่อที่ถูกฆ่า
โดยวรรณกรรมที่เกี่ยวกับหมาป่านั้นปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แถมยังได้มีการทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องซึ่งเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้นได้แก่ An American Werewolf in Paris ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1997 และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัฒนธรรมของสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้แพร่หลายมาในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แถมคนส่วนใหญ่ก็ชอบกันมากๆ อีกด้วย
มิสเตอร์ไฮด์
เป็นหนึ่งในตัวละครจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ดร.เจคเคิล กับมิสเตอร์ไฮด์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของคุณหมอหนุ่มที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยเขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีสองบุคลิกคือด้านดีและด้านเลวที่สามารถแยกออกจากกันได้ จนวันหนึ่งบุคลิกในร่างมิสเตอร์ไฮด์ได้ปรากฏตัวขึ้นมา แถมยังพาความชั่วร้ายให้เกิดขึ้นกับตัวของเขารวมถึงคนรอบข้างอีกด้วย
บอกเลยว่าเรื่องราวเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เลย เป็นอะไรที่ดูใกล้ตัว แถมยังมีเนื้อหาที่น่าจะถูกใจนักอ่านหลายๆ คน ซึ่งเรื่องของคนสองบุคลิก ถูกเรียกตามภาษาทางการแพทย์ว่า โรคหลายบุคลิก หรือ Dissociative Identity Disorder เป็นโรคจิตประเภทหนึ่งที่ตัวผู้ป่วยมีบุคลิกที่ปรากฏในตัวมากกว่า 2 บุคลิกขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกันออกมาใช้ชีวิต และแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากบุคลิกเดิมออกมา ถ้าน้องๆ คนไหนเคยดูหนังเรื่อง Split จิตหลุดโลก กันมาแล้วก็คงจะพอเข้าใจ และแอบกลัวกันอยู่เหมือนกัน แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือโรคนี้ไม่มีทางรักษา สามารถเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของคนๆ นั้น
ซอมบี้
คำนี้มาจากศัพท์ในนิทานพื้นบ้านของเฮติ ที่ต้องการสื่อถึงศพของคนตายที่กลับมามีชีวิตด้วยวิธีต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่นั้นมาจากเวทมนตร์ ผิดกับซอมบี้ในสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ แต่มักใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แทน เช่น การแผ่รังสี, ไวรัส หรืออุบัติเหตุทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น สำหรับสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้ปรากฏในนิทานพื้นบ้านเรื่อง อาหรับราตรี ด้วย โดยในนิทานได้ใช้ชื่อว่า กูล ในการเรียกสัตว์ประหลาดตัวนี้แทน แถมยังได้ก้าวขึ้นอีกระดับจากวรรณกรรมชื่อดังของ แมรี่ เชลลีย์ เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ ที่ได้สร้างผีดิบที่เกิดจากวิธีทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา
ปัจจุบันได้มีการหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับซอมบี้มาปรุงแต่งให้น่าสนใจมากขึ้น จากที่เราได้เห็นกันจากหนังรวมถึงซีรีส์ต่างประเทศหลายต่อหลายเรื่องเช่น The Walking Dead, Resident evil หรือจะเป็นการหยิบเอาซอมบี้มาเป็นพระเอกซะเลยกับ Warm Bodies หรือในชื่อภาษาไทยว่า ซอมบี้ที่รัก
ผี
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จัก และบางคนก็หมายรวมเอาปีศาจร้ายหลากหลายประเภทมารวมเข้าไว้ในอยู่ในหมวดผีกันหมด ซึ่งผี ก็คือ วิญญาณที่มองไม่เห็น ที่ปรากฏอยู่ในตำนานของทุกๆ ประเทศแถมยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณกันเลย อีกทั้งวรรณกรรมคลาสสิกหลายเรื่องก็ได้มีการหยิบเอาผีมาใส่ในเนื้อหาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น แฮมเลต,แม็คเบธ ของเชกสเปียร์, ทอม ซอว์เยอร์ผจญภัย ของ มาร์ก ทเวน และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเรื่องราวของผีที่ทำให้น่าสนใจนั้นน่าจะเป็นที่เรื่องราวตั้งแต่สมัยครั้งที่ผีตนนั้นยังเป็นมนุษย์ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาได้กลายมาเป็นผีนั่นเอง
--------------------------
เป็นยังไงกันบ้างจ๊ะ สำหรับปีศาจร้ายในวรรณกรรมที่พี่นัทตี้คิดว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยสำหรับตัวพี่เองตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวของมิสเตอร์ไฮด์เท่าไหร่ แต่อ่านไปอ่านมาถึงกับอ๋อ เพราะเคยดูหนังเรื่อง Split มาก่อนเลยเข้าใจ และทำให้แอบๆ กลัวนิดนึง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เราได้พบเห็น ได้คุยกัน ได้ทำความรู้จักกัน ไม่เพียงแต่ครอบครัว แต่ยังรวมถึงเพื่อนๆ และคนรู้จักต่างๆ เขามีเบื้องหลังยังไง บางคนต่อหน้าดี เวลาลับหลังอาจจะกลายเป็นคนอีกประเภทที่น่ากลัวไปเลยก็ได้ เอาเป็นว่าพี่ก็หวังว่าน้องๆ ทุกคนคงจะชอบบทความที่พี่นำมาแบ่งปันในวันนี้ เอาไว้เจอกันใหม่บทความหน้า บ๊ายบายจ้า
พี่นัทตี้ :)
ขอบคุณที่มาดีๆ จาก
http://villains.wikia.com/wiki/Frankenstein%27s_Monster
https://en.wikipedia.org/wiki/Frankenstein%27s_monster
https://www.britannica.com/topic/Count-Dracula
http://www.gods-and-monsters.com/werewolves.html
https://www.psychologytoday.com/us/conditions/dissociative-identity-disorder-multiple-personality-disorder
http://villains.wikia.com/wiki/Edward_Hyde
http://www.weirdworm.com/greatest-literary-monsters/
1 ความคิดเห็น
สมัยก่อน ภูตผีปีศาจอาจจะน่ากลัว
แต่สมัยนี้ คนต่างหากที่น่ากลัวกว่า
ถูกต้องที่สุดเลยค่ะ