‘ลางสังหรณ์’ เครื่องมือสำคัญที่นักเขียนไม่ควรมองข้าม
สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดี ข่าววงในฉบับนี้มาแปลกหน่อย เพราะพี่น้ำผึ้งขอหยิบยกเรื่องของ “ลางสังหรณ์” หรือ “สัญชาตญาณ” คนเรามาเล่าให้ฟังค่ะ อย่างที่รู้กันดีว่าสัญชาตญาณ (Instinct) เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด เคยสังเกตมั้ยว่าตอนเด็กๆ ลางสังหรณ์พวกเราแม่นยำมาก แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อเราไม่ได้รับการฝึกฝน เจ้าลางสังหรณ์อันแสนแม่นยำก็เลือนหาย
เกริ่นมาซะขนาดนี้ขอชี้เป้าเลยว่า เห็นแบบนี้แล้วลางสังหรณ์หรือสัญชาตญาณสำคัญต่อนักเขียนอย่างเรามากๆ! หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นไปได้ยังไง วันนี้พี่น้ำผึ้งก็เลยขออาสามาชี้แจงแถลงไขให้น้องๆ หายคาใจกัน เอาให้แบบเข้าใจกันเคลียร์ๆ เลย
นักเขียนอย่างเราเชื่อ "ลางสังหรณ์" ได้จริงๆ หรอ?
ครั้งหนึ่งแฮริสัน เดมชิ้ค นักเขียนและนักเขียนบทที่คว้ารางวัลได้กล่าวไว้ว่า “นักเขียนส่วนใหญ่มักมีลางสังหรณ์แม่นยำมากกว่าที่เราคิด พวกเราก็แค่ต้องเรียนรู้มัน”
อ่านแล้วคงสงสัยกันใช่มั้ยคะว่า “นักเขียนเนี่ยนะมีลางสังหรณ์ที่ดี!?” โอ้มายก็อด ยกมือทาบอกไม่อยากจะเชื่อ แต่อยากให้เชื่อเถอะว่ามันเป็นจริงๆ เพราะนักเขียนหลายคนเองก็เคยพูดถึงมัน ไม่ว่าจะเป็น
“เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดปกติ” เจนิซ ฮาร์ดี้ อาจารย์สอนวิชาการเขียนกล่าว “มันเป็นวิธีที่เราเรียนรู้และพัฒนาหนังสือของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ก็คือการเชื่อในเข็มทิศของนักเขียน ไว้วางใจในสัญชาตญาณของเรา เพราะพวกเขามักรู้ว่าพวกเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่”
หรือแม้กระทั่งนักเขียนนิยายแฟนตาซีชื่อดัง แอนนา อีเลียตเองก็เป็นเหมือนกัน เธอกล่าวว่า “คนมักถามฉันเสมอว่าฉันไปเรียนรู้การเขียนนิยายมาจากไหน ซึ่งฉันก็ยินดีที่จะบอกพวกเขานะ แต่เมื่อฉันเริ่มเขียนนิยาย ฉันพบว่าตัวเองไม่ค่อยรู้สึกตัวเท่าไหร่ มันเหมือนกับว่าฉันเขียนออกมาเองโดยอัตโนมัติ ฉันมักพึ่งพาอะไรบางอย่าง..สัญชาตญาณระดับพื้นๆ”
แฮริสัน เดมชิ้ค
(via: twitter)
น้องคะ การเขียนร่างแรกของนิยาย (First Draft) เปรียบเหมือนกับการย่ำอยู่ในป่า จมอยู่ในบึง หรือในบางครั้งมันให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังติดอยู่ในรถไฟขบวนแย่ๆ ที่หาทางออกไม่ได้ มันไม่มีแผนที่ ไม่มีป้ายถนนที่คอยบอกว่าเราต้องไปทางไหน สิ่งที่นักเขียนอย่างพวกเรามีก็แค่ตัวเรา จินตนาการความมโนของเรา และหน้าว่างเปล่าที่แสนน่ากลัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งมันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเชื่อว่าเราคิดเนื้อเรื่องทั้งหมดออก
เมื่อเราเดินไปเรื่อยๆ จนถึงกลางป่า เรามักคิดว่าเราน่าจะได้คำแนะนำดีๆ จากคนที่มีประสบการณ์นะ ซึ่งบางครั้งเราก็ทำตามคำแนะนำของบรรณาธิการ นักวิจารณ์ นักอ่าน หนังสือฮาวทูเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งบทความนี้! เพื่อตามหาเส้นทางที่สามารถนำเราไปสู่ที่ๆ เราต้องการจะไป นั่นคือเส้นชัยเมื่อเขียนนิยายจบ เรายอมทำตามทุกอย่าง ปรับนู่นนั่นนี่ ทำตามฮาวทูทั้งหลาย ทำทุกอย่างจริงๆ ยกเว้นเชื่อลางสังหรณ์ของตัวเอง!
ช้าก่อน ไม่ได้หมายความว่าคำแนะนำหรือบทความต่างๆ ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับเรา แต่ถ้าเราเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง มันก็จะทำให้งานเขียนของเราดียิ่งขึ้นค่ะ
ลางสังหรณ์ VS. ทักษะ อะไรกันแน่ที่นักเขียนต้องการ?
เจมี่ โกลด์ นักเขียนนิยายแนวโรแมนติกแฟนตาซีได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ฉันคิดว่าบางมุม การเขียนก็เหมือนกับการใช้สัญชาตญาณนะ แต่มันก็เหมือนกับทักษะอย่างนึงเหมือนกัน ลองคิดถึงนักดนตรีสิ พวกเขาต้องเรียนเกี่ยวกับบีตส์ จังหวะ แล้วก็องค์ประกอบของเพลง หลายทักษะเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์กับการเขียนได้”
นอกจากนี้เจ้าของเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ในนิวยอร์ก Dystel & Goderich Literary Management อย่างสเตซีย์ เคนเดิล กลิค เองก็เห็นด้วยว่าเมื่อเราใช้สัญชาตญาณรวมกับทักษะการเขียนที่เราฝึกฝน มันจะทำให้เราเขียนเก่งขึ้น โดยเธอกล่าวว่า “ฉันคิดว่าการเขียนที่ดือการผสมผสานของสัญชาตญาณและทักษะ ทั้งสองคือสิ่งที่ทำให้นักเขียนยอดเยี่ยม”
และยังมีนักเขียนคนอื่นๆ อีกที่เห็นด้วย พวกเขาลงความเห็นว่านอกจากการฝึกฝนจนกลายเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญแล้ว สัญชาตญาณก็เป็นสิ่งสำคัญในการเขียนนิยายให้ดีด้วย
“ฉันคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของนักเขียนควรมาจากข้างใน” เอลเลียตกล่าว “เราควรเข้าใจสัญชาตญาณของเราขณะที่เรากำลังเขียนอย่างลึกซึ้ง มันจะทำให้การดำเนินเรื่องเป็นธรรมชาติตามจังหวะและลมหายใจของเราเอง”
สเตซีย์ กลิค
(via: Writer's Digest)
คนที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่อยากให้รู้ว่าสัญชาตญาณนี่แหละคอยช่วยเหลือเราตลอด มักบอกเราว่าเราต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เช่น เราอาจรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าควรแก้ไขหรือแก้ไขอย่างไร ลางสังหรณ์ของเรานี่แหละสามารถผลักดันให้เราแสวงหาและศึกษาในสิ่งที่เราต้องการ
เราเติบโตขึ้นพร้อมกับสัญชาตญาณบางอย่างที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีทักษะที่ดี เช่น ถ้าเราเป็นนักดนตรี หูของเราจะสามารถแยกแยะทำนองได้ แต่ถ้าเราเป็นนักเขียน เราอาจจะกลายเป็นนักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องการวางพล็อต หรือไม่ก็เชี่ยวชาญเรื่องบทสนทนา
ถ้าเราทุ่มเทให้กับการพัฒนาฝีมือการเขียนให้ดีขึ้น สัญชาตญาณของเราก็จะแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนที่เขียนนิยายมาแล้ว 2 เล่ม 3 เล่ม หรือ 4 เล่ม คนเหล่านี้มีสัญชาตญาณที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น สัญชาตญาณของพวกเขารู้จักเรียนรุ้แนวทางการเขียนให้มัดใจนักอ่าน
นั่นหมายความว่าอะไร? มันหมายความว่าทักษะการเขียนที่เราฝึกฝนจนเชี่ยวชาญได้หล่อหลอมรวมกับสัญชาตญาณแล้วค่ะ จึงเป็นเหตุว่าทำไมนักเขียนส่วนใหญ่พูดว่า
ทักษะ + สัญชาตญาณ = นักเขียนที่ยิ่งใหญ่
ตราบใดที่เราไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดฝึกฝน เราก็สามารถเชื่อสัญชาตญาณของเราเกือบเต็มร้อยแล้ว!
สก็อต เบอร์กัน
(via: atalkaday.com)
บางครั้งอารมณ์ของเราก็ทำลายสัญชาตญาณ
สก็อต เบอร์กัน นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตัวเองกล่าวว่า การทำตามสัญชาตญาณของเราไม่ได้เป็นเรื่องฉลาดเสมอไป เพราะเมื่อเราได้รับอิทธิพลจากสิ่งอื่น เช่น ประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ผ่านมา ความท้าทายที่ยากลำบาก หรือแค่วันแย่ๆ ของเรา มันก็ทำให้สัญชาตญาณของเราอาจไม่น่าเชื่อถือแล้ว
“ขึ้นอยู่กับว่าอะไรเกิดขึ้นกับคุณเมื่อวานนี้” เขาเขียนลงในหนังสือ “วิธีที่สัญชาตญาณของคุณตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเปลี่ยนไป สัญชาตญาณไม่คงที่ เรามีความลำเอียงอย่างมากจากเหตุการณ์ล่าสุด... นอกจากนี้เรายังมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากผู้คนรอบตัวเรา และพฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สัญชาตญาณของพวกเราบอกเรา”
ลองนึกดูว่าเรารู้สึกอย่างไรหลังจากที่เราถูกปฏิเสธต้นฉบับ เรารู้สึกอย่างไรเมื่อนิยายของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในวันนั้นสัญชาตญาณอาจบอกให้เราเผาต้นฉบับทิ้งซะแล้วลืมมันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นล่ะก็ ดีที่สุดแล้วที่จะไม่ฟังสัญชาตญาณของเรา และรอจนกว่าเราจะรู้สึกอารมณ์มั่นคงอีกครั้งเพื่อรับมือกับจุดอ่อนของนิยายเรา
เชอรีล บริวส์เตอร์
(via: The Intuitive Life)
ความวิตกกังวลเองก็เช่นกัน มันสามารถเอาชนะสัญชาตญาณของเราได้ มันสามารถทำให้เราสับสนว่าเสียงในหัวที่เกิดขึ้นเป็นสัญชาตญาณที่บอกเราหรือเป็นเพียงแค่ความหวาดกลัวของเรา ในบางครั้งเมื่อเรารู้สึกกังวลมากๆ เราอาจเชื่อว่าความรู้สึกนี้เป็นสัญชาตญาณ ทั้งที่ความจริงมันเป็นแค่อารมณ์ที่บังเอิญมีอิทธิพลกับเราในตอนนั้น อย่าลืมว่าสัญชาตญาณมักจะมาแบบเงียบกริบ เหมือนเสียงกระซิบที่พูดคุยกับเราเมื่อเรามีอารมณ์ที่ “มั่นคง”
ซึ่งเรื่องนี้นักให้คำปรึกษา เชอรีล บริวส์เตอร์ กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ไขว้เขว อาการหวาดกลัว วิตกกังวลและความเครียดสามารถทำให้สัญชาตญาณของเราผิดเพี้ยนไป การที่สัญชาตญาณจะแม่นยำได้ต้องเกิดจากการมีสติและอารมณ์ที่มั่นคง”
การที่เรามีอารมณ์มากเกินไปทำให้เรายากที่จะหยั่งถึงลางสังหรณ์อันแม่นยำของเรา ซึ่งเชอรีลได้แนะนำให้เรารีบดึงสติและกลับมาอยู่ในสภาวะอารมณ์คงทีก่อนจะพยายามฟังสัญชาตญาณของเราอีกครั้ง จงระวังเมื่อ “สัญชาตญาณ” มาพร้อมๆ กับ “อารมณ์” ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เราควรออกกำลังกาย ทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลงเบาๆ หรือทำกิจกรรมลดความเครียดอื่นๆ เพื่อให้ตัวเราสงบก่อนที่เราจะเชื่อในสิ่งที่สัญชาตญาณกำลังบอกค่ะ
เชื่อสัญชาตญาณ แต่ก็ไม่หยุดเรียนรู้
ไม่ว่าแนวทางการเขียนนิยายของเราจะเป็นแบบไหน เราก็ควรฟังสัญชาตญาณของเราให้บ่อย ถึงแม้มันอาจเป็นเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกให้เรา “จบ” ซะ เช่น บทนี้ควรจบเท่านี้ หรือ ไม่ต้องเขียนอะไรต่อจากบทสนทนานี้แล้ว เราควรฟังมัน แม้ว่าเราจะไม่ต้องการฟังก็ตาม
“หลายครั้งที่เรารู้ว่าสิ่งที่เราเขียนไม่ได้ผล” เดมชิ้คกล่าว “เราอาจไม่รู้ว่าทำไม... เรารู้อยู่แก่ใจว่าต้นฉบับที่เราสละเวลามากมายนี้มันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเราจะเข้าถึงศักยภาพของเราในฐานะนักเขียนได้อย่างเต็มที่เมื่อเราเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในสัญชาตญาณและปรับปรุงผลงานของเรา”
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจที่จะไม่สนใจสัญชาตญาณมักเกิดขึ้นในขั้นตอนการรีไรต์นิยาย เพราะเรากลัวว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เรารู้ว่าผิดได้ เรากลัวว่ายิ่งแก้มันจะยิ่งแย่ เราเลยโยนความรู้สึกนั้นไปไกลๆ และไม่กล้าแก้อะไรมากนัก แต่แล้วในตอนท้ายเราถึงรู้ตัวว่าสัญชาตญาณของเราถูกต้อง
“ฉันรู้ว่าต้นฉบับ Blue Fire มีปัญหาบางอย่าง” ฮาร์ดี้กล่าว “เพราะเข็มทิศของฉันมันชี้ไปทางขวาและตะโกนว่า 'อันตราย! อันตราย!' แต่ฉันไม่สนใจมันเพราะฉันรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเขียนหนังสือเล่มที่สองของฉัน ก็เลยโยนมันทิ้งไปซะและปล่อยมันไป (ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมาก)”
แต่แล้วเมื่อมีกลุ่มนักอ่านเริ่มวิพากษ์วิจารณ์งานของเธอ เธอก็ยอมจำนนต่อสัญชาตญาณและกลับไปแก้ปัญหานั้นซะ เห็นได้ชัดว่าในบางครั้งเราก็ต้องได้รับการยืนยันจากคนรอบตัวเราเพื่อยืนยันว่า “มันใช่” ส่วนใหญ่ความรู้สึกขมขื่นจากการทุกวิจารณ์ก็เป็นประโยชน์สำหรับเรานะ (รู้งี้เชื่อเซนส์ตัวเองตั้งแต่แรกดีกว่า)
สัญชาตญาณไม่ได้มาหาเราเพียงแค่ตอนที่เราเขียนหรือรีไรต์นิยายเท่านั้นนะคะ แต่มันยังช่วยแนะนำและชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องด้วย หลายครั้งที่คำแนะนำมากมายทำให้เราสับสน แต่ในท้ายที่สุดสัญชาตญาณของเรานี่แหละจะเป็นตัวชี้นำให้เราเจอเเสงสว่าง
“เมื่อก่อนฉันก็เชื่อคนอื่นๆ นะ” เทอร์รี่ มอร์แกน นักข่าวอิสระที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนกล่าว “แต่เมื่อเร็วๆ นี้ฉันเริ่มสงสัยว่ามันจะดีกว่ามั้ยถ้าฉันจะหยุดฟังความเห็นคนอื่นและเชื่อในลางสังหรณ์ของตัวเองแทน”
เทอร์รี่อธิบายต่อว่า หลังจากที่เธอได้ยินศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่า งานเขียนประเภท non-fiction ให้เงินดีกว่างานเขียนแนวนิยาย เธอก็ไม่ได้สนใจการเขียนนิยายอีกเลยเป็นเวลาเกือบ 26 ปี ก่อนที่บางสิ่งบางอย่างจากภายในจะเกิดขึ้น มันเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตัดสินใจเขียนนวนิยาย
ไม่เพียงแค่นั้น เทอร์รี่ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ข้อแรก เชื่อในสัญชาตญาณของคุณ และข้อสอง อย่าเชื่อคำแนะนำของใคร แม้แต่ของฉันเอง”
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องที่นำมาฝากในวันนี้ เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่มีความน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนักเขียนเด็กดีทุกคนเนอะ พี่น้ำผึ้งขอกล่าวโดยสรุปเลยแล้วกันว่า การจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ต้องเริ่มจากเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้สัญชาตญาณกับการทักษะการเขียนของเราพาไป เพราะงั้นถ้าน้องๆ รู้จักฝึกฝน พัฒนาการเขียนและลางสังหรณ์ของตัวเอง พี่เชื่อว่ามันจะทำให้น้องๆ กลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเหมือนกับนักเขียนดังๆ หลายคนได้แน่นอนค่ะ
พี่น้ำผึ้ง :)
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://writerunboxed.com/2012/03/21/trust-your-instincts/
http://blog.janicehardy.com/2009/06/killer-instincts.html
https://www.standoutbooks.com/trust-intuition-better-writer/
https://www.helpingwritersbecomeauthors.com/gut-feelings-writers-secret-weapon/
http://www.theintuitivelife.com/2015/03/mindset-and-the-domino-affect/
http://scottberkun.com/2012/trust-your-gut/
http://www.writersdigest.com/editor-blogs/guide-to-literary-agents/inspiration/spark-story-listen-to-instincts-story-ideas
http://www.writersandauthors.info/2012/04/trust-your-writing-instincts.html
1 ความคิดเห็น
อ้าว...นี่แยกแยะทำนองได้...เป็นแต่ละอัน ขัดแย้งในตัวเองสุดๆ//มองแต่ละสิ่งที่อยากทำ