คู่ LGBT ต้นแบบจากวรรณกรรมกรีก! อคิลลีสและเปโตรคัส :
พี่น้องต่างมารดา ครูกับศิษย์ หรือชู้รักระหว่างรบ
สวัสดีค่ะ คนอ่านทุกคน หากใครยังพอจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อน ภาพยนตร์เรื่องทรอยโด่งดังมาก ด้วยเหตุผลคือสร้างจากตำนานกรีกโรมันที่ใครๆ ก็ชอบอ่าน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ดาราแม่เหล็กหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแบรด พิตต์ (อคิลลีส), เอริค บาน่า (เฮคเตอร์) หรือออร์ลันโด บลูม (ปารีส) แอดมินเองก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แน่นอนสิ่งที่จดจำได้ก็คือ เนื้อหาหลักๆ ของภาพยนตร์ เรื่องราวก็ไม่มีอะไรมาก ปารีสไปหลงรักเฮเลนแห่งทรอย เจ้าของสมญานาม “A woman launched a thousand ships.” (ใบหน้าของหญิงสาวที่ปล่อยเรือกว่าพันลำ) เฮเลนเป็นผู้หญิงที่มีรูปเป็นทรัพย์ นางสมรสกับพระเจ้าอกาเมมน่อน และเมื่อได้พบกับปารีส เขาก็หลงรักนาง และโดยไม่คิดอะไรทั้งนั้น เขาลักพาตัวนางหนีมาจากอกาเมมน่อน และนั่นคือต้นเหตุของสงครามแห่งทรอยอันลือลั่น ที่ถูกบันทึกโดยกวีโฮเมอร์
ความตายของเปโตรคัส ทำให้อคิลลีสทนไม่ไหว ต้องออกรบเพื่อแก้แค้น
คราวนี้เรามาถึงคิวของอคิลลีส โผล่มาได้อย่างไร ตามตำนานที่บันทึกไว้ อคิลลีสนั้นเป็นนักรบที่เก่งกาจมาก ประวัติของเขาคือเป็นบุตรของท้าวพีลูส กษัตริย์ชาวเมอร์มิดอน กับนางพรายทะเลเธทิส เมื่ออคิลลีสเกิด เธทิสได้จุ่มร่างของบุตรลงในแม่น้ำสติกส์เพื่อให้หนังเหนียวคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า ร่างกายของอคิลลีสจึงแข็งแกร่ง ไม่มีอาวุธใดทำอันตรายได้ แต่ในขณะที่จุ่มร่าง เธทิสใช้มือกุมข้อเท้าบุตรไว้ ดังนั้นทั่วร่างอคิลลีสจึงมีเพียงข้อเท้าที่ไม่ได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นจุดอ่อน ซึ่งในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า "Achilles' heel" หมายถึงจุดอ่อนของคนทั่วไปนั่นเอง ประมาณว่าทุกคนแม้จะเข้มแข็งแค่ไหนก็ย่อมมีจุดอ่อนอยู่วันยังค่ำ
อกาเมมน่อนรู้ว่าอคิลลีสเป็นนักรบที่เก่ง ประกอบกับได้คำพยากรณ์ว่า ถ้าอยากเอาชนะสงครามครั้งนี้ ต้องให้อคิลลีสร่วมทางไปด้วย จึงไปงอนง้อขอร้อง สุดท้ายอคิลลีสก็ใจอ่อนและเข้าร่วมสงครามด้วย โดยนำเปโตรคัส ญาติสนิทไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม อคิลลีสเองก็ได้รับคำทำนายว่า ถ้าหากพลั้งมือฆ่าเฮคเตอร์เมื่อไหร่ เขาเองก็จะต้องชะตาขาด ตกตายไปตามกัน
อคิลลีสและเปโตรคัสในภาพยนตร์ เป็นหนุ่มผมทองยาว หน้าตาสะสวย รูปร่างบึกบึนทั้งคู่
หากใบหน้าของเฮเลน ทำให้เรือหลายหมื่นลำต้องออกรบ ใบหน้าของเปโตรคัส ก็ทำให้นักรบล้มตายหลายพันคน เช่นกัน
สำหรับเรื่องของเฮเลนและปารีสนั้น เราจะไม่พูดถึง เพราะคิดว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว ปารีสหลงรักเฮเลน ก็เลยพาหนี เมื่อพาเมียของกษัตริย์ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นหนี แน่นอนมันต้องกลายเป็นสงครามอยู่แล้ว แต่เรื่องรักเล็กๆ ที่แทรกอยู่อย่างเรื่องของอคิลลีสกับเปโตรคัสนี่สิ ที่น่าสนใจ ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ จนบัดนี้ นักวิจารณ์ทั้งหลายก็ยังเถียงกันไม่ตกว่า สองคนนี้เป็นแค่เพื่อนหรือว่าเป็นคนรัก หรือเป็นทั้งเพื่อนและคนรักและยังเป็นพี่น้องด้วย (วุ่นวายมากๆ) ในบทกวี โฮเมอร์เองก็เขียนเอาไว้แบบกำกวม คือไม่ได้สรุปอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญ การถ่ายทอดต่อๆ กันมา อาจส่งผลให้ต้นฉบับมีการเปลี่ยนแปลงไป ตัวโฮเมอร์เองก็เป็นกวีที่เก่าแก่มากๆ และเราไม่อาจรู้ด้วยว่าเขามีตัวตนจริงหรือไม่ เมื่อมีการเล่าต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ทุกอย่างก็อาจจะไม่เหมือนเดิม เรียกว่าต้นฉบับจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ ก็ได้แต่สันนิษฐานกันไป
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เปโตรคัสเป็นญาติของอคิลลีสแน่ๆ แต่ว่าเป็นญาติห่างๆ และยังเป็นเพื่อนที่เล่นกันตั้งแต่เด็ก ตามวัยเปโตรคัสอายุน้อยกว่า และมีนิสัยเป็นหนุ่มน้อยช่างฝัน อยากไปรบ อยากต่อสู้ แต่ด้วยฝีมือแล้ว เขายังอ่อนด้อยมากนัก อคิลลีสก็รู้เรื่องนี้ดี จึงเป็นห่วงเปโตรคัสมาก เมื่อเปโตรคัสตัดสินใจมาร่วมสงครามที่ทรอย อคิลลีสก็เป็นห่วงจนทนไม่ไหว ต้องเดินทางมาด้วย ทั้งที่ใจจริงก็ไม่ได้สนใจเรื่องการรบสักเท่าไหร่ และแน่นอนว่า อคิลลีสเป็นนักรบที่สามารถมาก มีแค่เขาคนเดียว สนามรบก็ลุกเป็นไฟได้แล้ว แต่ด้วยนิสัยไม่สนใจใคร ไม่แยแสใคร ทำให้อคิลลีสไม่ยอมรบในนามของอกาเมมน่อน เขาประกาศว่า จะรบในนามของตัวเองเท่านั้น
ถ้าใครดูหนัง จะพบว่าการรบนั้นเสร็จสิ้นเร็วมาก แต่ในบทกวี สงครามนี้ยืดเยื้อไปถึงสิบปี ก็รบกันไปรบกันมา ปลูกข้าวกันไป ดูแลกันไป จนอคิลลีสและเปโตรคัสต่างก็เติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ ในช่วงนี้เอง อคิลลีสไปรบและได้พบกับนางไบรเซอีส สาวงาม อคิลลีสเรียกร้องของไบรเซอีสเป็นบรรณาการ แต่อกาเมน่อนปฏิเสธ ทำให้อคิลลีสโกรธมาก และปฏิเสธไม่ยอมร่วมรบ เมื่อขาดนักรบผู้นำ ทัพของอกาเมมน่อนก็เสียขบวน เปโตรคัสเห็นท่าไม่ดี เลยขโมยเกราะของอคิลลีสไปสวมและร่วมรบในนามของอคิลลีสเสียเอง แต่ด้วยความที่ฝีมือไม่ถึง ทำให้เปโตรคัสพลาดท่าถูกเฮคเตอร์ฆ่าตายในสนามรบ และนี่เองเป็นจุดจบของสงครามกรุงทรอยอันยืดเยื้อ เมื่ออคิลลีสทนไม่ไหว ที่เพื่อนและน้องที่รักต้องมาตาย เขาจึงตัดสินใจว่าต้องแก้แค้นให้ได้ ซึ่งในเมื่อเฮคเตอร์เป็นคนฆ่าเปโตรคัส อคิลลีสเลยท้าดวลกับเฮคเตอร์ และเมื่อเฮคเตอร์ตาย ทรอยก็ขาดแม่ทัพเอก และทุกอย่างก็เริ่มล้มเหลวไม่เป็นท่า สุดท้าย ทรอยก็ต้องพ่ายแพ้แก่อุบายม้าไม้ แต่ตัวอคิลลีสเอง ก็ต้องตายเพราะถูกลูกธนูของปารีสเข้าที่ข้อเท้าเช่นกัน (ตามที่บอกว่าอคิลลีสนั้นมีจุดอ่อนที่ข้อเท้านี่เอง)
และด้วยเหตุนี้แหละ เขาถึงมีคำเปรียบว่า... ใบหน้าของเปโตรคัส ทำให้นักรบหลายหมื่นคนต้องล้มตาย นั่นเอง
อคิลลีสทนไม่ได้ที่เปโตรคัสต้องมาตาย
ความสัมพันธ์อันคลุมเครือของอคิลลีสและเปโตรคัสในฐานะอาจารย์และลูกศิษย์
อย่างที่ได้บอกไปในหัวข้อก่อนหน้าว่า ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจน ทว่ากรีกในยุคนั้น เรื่องของโฮโมเซ็กช่วล หรือความรักในเพศเดียวกันก็มีปรากฏให้เห็นได้ชัด ทั้งในบทกวีและในชีวิตจริง โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นความรักประเภท ชายที่แก่กว่ากับชายที่เด็กกว่าหรือหนุ่มน้อยวัยรุ่น อย่างที่โสเครตีสหรือเพลโตมีความสัมพันธ์กับลูกศิษย์ของตน นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ความสัมพันธ์ของอคิลลีสและเปโตรคัสก็เป็นเช่นนี้แหละ โดยชายที่แก่กว่า ถูกเรียกว่า “erastes” จะเป็นคนคอยดูแลสั่งสอนชายที่เด็กกว่า ที่เรียกว่า “eromenos” ทั้งเรื่องการศึกษา การรบ สงคราม การเมือง รวมไปถึงเรื่องทางเพศด้วย แม้ตามหลักการมันคือ การ “สอน” และ “ให้ความรู้” แต่เมื่อดูภาคปฏิบัติแล้ว ก็มีเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศเข้ามาร่วมค่อนข้างมาก เรียกว่าชายที่อายุน้อยกว่าต้องทำให้ชายที่อายุมากกว่าพอใจ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกัน ถือว่าเป็นการสร้าง “ชายที่สมบูรณ์แบบ” ด้วย
นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของอคิลลีสและเปโตรคัส จัดอยู่ในกลุ่มนี้นี่แหละ เพราะตัวอคิลลีสอยู่ในฐานะอาจารย์ของเปโตรคัส และคอยสั่งสอนวิธีการรบมาตลอด จึงไม่แปลกที่ทั้งสองคนจะเป็นทั้งเครือญาติ เพื่อนสนิท และคนรักในเวลาเดียวกัน จากการบรรยาย เราพบว่าภาษาที่โฮเมอร์ใช้ ค่อนข้างคลุมเครือและบอกเป็นนัยๆ ว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้ เกินกว่าการคบกันแค่เพื่อนมาก อคิลลีสนั้น เก่งกาจทั้งด้านการรบ การเมือง และยังมีพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรงด้วย ส่วนเปโตรคัสในเรื่อง และในบทบรรยาย เป็นหนุ่มน้อยหน้าหวานที่นอกจากวัยอ่อนกว่า ยังใจอ่อน เชื่อฟัง และคอยเป็นคนเอาใจอคิลลีส ปลอบโยนในหลายๆ เวลา และถึงแม้อคิลลีสจะพอใจบรรณาการสาวงามอย่างไบรเซอีส แต่เปโตรคัสก็ยังสำคัญต่อเขามาก เมื่อเปโตรคัสตาย เขาก็ออกโรงแก้แค้น โดยไม่นึกถึงความตายของตัวเอง การกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่า นักรบกรีกในอดีต สามารถมีความสัมพันธ์ได้กับทั้งเพศชายและหญิง โดยไม่ได้เสื่อมเสียเกียรติยศแต่อย่างใด เผลอๆ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสียด้วย ที่นักรบจะสามารถมีความสัมพันธ์กับใครก็ได้ เพศไหนก็ได้
อ่านมาถึงตรงนี้เราถึงได้รู้ว่า กรีกเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามาก และเรื่อง LGBT ของเขาก็ก้าวล้ำไปไกลตั้งแต่ยุคอดีตกาลเลยทีเดียว ว่าไหม
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.theguardian.com/books/2012/jun/03/madeline-miller-achilles-orange
https://www.ancient-origins.net/myths-legends-europe/achilles-and-patroclus-brothers-other-mothers-or-passionate-paramours-008265
https://en.wikipedia.org/wiki/Achilles_and_Patroclus
http://www.angelfire.com/weird2/randomstuff/achilles2.html
https://arcade.stanford.edu/blogs/brokeback-mount-olympus-being-gay-iliad
4 ความคิดเห็น
การที่สมัยนั้นยอมรับไม่ได้แปลว่า "ก้าวล้ำ" นะคะ มันก็แค่ค่านิยมตามยุคสมัยอ่ะค่ะ
LGBT อยู่มาหลายยุคหลายสมัยมานานแล้วแต่เมื่อคริสตจักรเป็นที่นิยม LGBTจึงเป็นสิ่งที่ผิดจารีตประเพณี
ฟ้าเหลืองที่เมืองทรอย
เกลียดพวกเหยียดเพศวะ ไม่ทำเ-้ยไรก็ดีเเต่เห่าคนอื่น
ขอบคุณ