เพราะเราทุกคนคืออลิซ!
เติบโตไปพร้อมกับ "อลิซ" เด็กหญิงในแดนมหัศจรรย์
สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนค่ะ เคยได้ยินประโยคนี้กันบ้างไหมที่บอกว่า "ตอนเด็กอยากรีบโตเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่อยากกลับไปเป็นเด็ก" เชื่อว่าน้องๆ แถวนี้หลายคนคงเคยแอบคิดอยู่บ้างล่ะว่า เมื่อไหร่จะโตเป็นผู้ใหญ่สักที อยากลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่บ้างจัง พี่แนนนี่เพนอยากบอกว่า... ความคิดของน้องๆ ก็ไม่แตกต่างจากเด็กหญิงอลิซ ที่ได้เจอกับเหตุการณ์ประหลาดจนต้องหลุดเข้าไปผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์เลย...
วรรณกรรมสำหรับเด็กชื่อดังเรื่อง อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ เป็นผลงานของ ลูอิส แคร์รอล นักคณิตศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวการผจญภัยในแดนใต้ดินให้เด็กหญิงอลิซที่มีตัวตนจริงๆ และพี่สาว น้องสาวของเธอฟัง หนังสือเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากว่า 150 ปี เริ่มแรกมันเป็นเพียงนิทาน และดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวแฟนตาซีทั่วไป แต่เมื่อได้อ่านอย่างละเอียด จะพบว่า... หนังสือเรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น
เนื้อหาคร่าวๆ ของอลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์
หากใครยังไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยอ่านเรื่องนี้ ขอเล่าย่อๆ ว่า เนื้อหาก็เหมือนชื่อเรื่องน่ะแหละ การผจญภัยของเด็กหญิงที่ชื่อว่า “อลิซ” เธอได้พบกับกระต่ายขาวพูดได้ และร่วงหล่นลงไปในโพรงกระต่าย จากนั้นก็ได้พบโลกมหัศจรรย์ที่ซุกซ่อนอยู่ในโลกใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำวิเศษที่ดื่มแล้วทำให้ตัวสูงหรือเตี้ยได้ คุกกี้วิเศษที่กินแล้วร่างกายจะใหญ่โตและหดเล็กลง นอกจากนี้ อลิซยังได้พบกับสัตว์พูดได้นานาชนิด ทั้งหนอนยักษ์สีน้ำเงินที่อาศัยอยู่บนดอกเห็ด และแมวเชไชร์ที่ชอบกลั่นแกล้งเธอด้วยการหายตัวไปดื้อๆ เรื่องราวราวผจญภัยของอลิซยังมีการได้ดื่มน้ำชาร่วมกับคนทำหมวก กระต่ายป่ามีนา เจ้าหนูดอร์เมาส์ รวมไปถึงการต้องเผชิญหน้ากับราชินีโพแดงที่มีทหารไพ่สำรับใหญ่ที่ต้องคอยหลีกหนีจากโทษตัดหัว
เรื่องราวของอลิซที่เล่ามาไม่ใช่แค่การผจญภัยเพื่อความสนุกสนานและเพลิดเพลินเท่านั้น นักจิตวิทยาหลายคน ได้ตีความเหตุการณ์ที่อลิซได้พบเจอในแดนมหัศจรรย์ว่า... เกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปเป็นวัยรุ่น มีคำกล่าวที่บอกไว้ว่า... “ในโลกของอลิซมีแต่สิ่งสวยงามและหมกมุ่นอยู่กับการหาตัวตนเพื่อที่ตนเองจะได้โตเป็นผู้ใหญ่” อลิซต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ก่อนจะค้นพบว่าการเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ สิ่งที่ปรากฏชัดในเรื่องนี้ก็คือ มันอธิบายให้เราได้รู้ว่า... ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น มักอยากรู้อยากลองในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและหาคำตอบว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไร เป็นแบบไหน แน่นอนว่า... ความอยากรู้อยากลองนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย
โตไปกับเด็กหญิง “อลิซ” ด้วยทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของแอริคสัน
การผจญภัยของอลิซเปรียบเสมือนการสั่งสมประสบการณ์ตามช่วงอายุวัย ซึ่งตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของแอริค ฮอมเบอร์เกอร์ แอริคสัน (Erik Homburger Erikson) นักจิตวิทยาคลินิกชาวเยอรมัน ที่ค้นพบว่า สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical) ทางสังคม (Social) ทางวัฒนธรรม (Cultural) และทางความคิด (Ideational) มีอิทธิพลกับพัฒนาการของเราตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ส่งผลต่อความคิดริเริ่ม ความสามารถในการปรับตัว บุคลิกภาพ และพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์
พัฒนาการทางจิตสังคมของแอริคสัน แบ่งช่วงชีวิตของคนเราออกเป็น 8 ช่วง ตามการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสมอง จากเด็กไปถึงวัยรุ่น และวัยรุ่นไปถึงวัยผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงตามขั้นตอนต่างๆ เป็นเสมือนขั้นบันไดที่คนเราก้าวผ่าน มีอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมายให้แก้ไข เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุวัย ทำให้มนุษย์เรียนรู้กาอยู่ร่วมกันในสังคมได้ การแก้ไขปัญหาของอลิซในแดนมหัศจรรย์อยู่ในช่วงของการสั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้การแก้ปัญหา จนนำไปสู่การปรับตัวเพื่อค้นหาตัวตน เหมือนดังที่เจ้าหนอนผีเสื้อถามอลิซว่า “เธอเป็นใคร” และคำตอบของอลิซนั้นเต็มไปด้วยความสับสน เช่น ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เมื่อเช้านี้ ฉันยังคิดว่าฉันเป็นอีกคน แต่ตอนนี้ฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เราสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ว่า... ช่วงก่อนและหลังผจญภัย อลิซมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ลองอ่านดูจากด้านล่างนี้เลยค่ะ
ช่วงก่อนการผจญภัยของเด็กหญิงอลิซ
ขั้นที่ 1 ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ กับ ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs. Mistrust)
(ช่วงแรกเกิด - 1 ปี)
ต้องย้อนกลับไปเล่านิดหนึ่งว่าเด็กหญิงอลิซมีตัวตนจริงๆ มาจากสังคมที่ดีและมีฐานะ ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ของประเทศอังกฤษ อลิซเป็นเด็กหญิงที่ถูกเลี้ยงดูตามแบบอนุรักษ์นิยม เติบโตตามกรอบของสังคมที่ได้รับการอบรมในเรื่องต่างๆ มาอย่างดี เธอไม่เคยได้ออกไปผจญโลกภายนอก แต่ว่าใช้ชีวิตอยู่กับสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก จึงทำให้เด็กหญิงอลิซก่อนไปผจญภัย มีความไว้วางใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่มีความวิตกกังวล หรืออารมณ์รุนแรง รวมถึง มีความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา และนี่เองคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้อลิซหลุดเข้าไปผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ในที่สุด
ขั้นที่ 2 ความเป็นตัวของตัวเอง กับความละอายและสงสัย (Autonomy vs. Shame and Doubt) (ช่วงอายุ 2-3 ปี)
เด็กที่อยู่ในวัยนี้จะ มีอิสระทางร่างกายและพัฒนาการทางความคิด อลิซเป็นเด็กที่กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเอง ทั้งยังมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเวลาทำสิ่งต่างๆ การผจญภัยของอลิซเริ่มจากความขี้สงสัยของเธอนี่แหละ เด็กหญิงวิ่งตามกระต่ายไปด้วยความสงสัยจนหลุดไปอยู่อีกดินแดนหนึ่ง นักจิตวิทยามองว่าเป็น เรื่องปกติที่เด็กในวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น เพราะช่วงวัยนี้ เด็กจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากที่สุด ความมุ่งมั่นของอลิซเป็นผลมาจากครอบครัวที่ให้อิสระในวัยเด็ก ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากอลิซถูกครอบครัวเลี้ยงดูเข้มงวดมากเกินไป เธอจะจะรู้สึกละอาย สงสัยในความสามารถของตัวเอง ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็น และไม่มั่นใจว่าจะควบคุมดูแลชีวิตตัวเองได้
ช่วงหลังการผจญภัยของเด็กหญิงอลิซ
ขั้นที่ 3 ความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative vs. Guilt) (ช่วงอายุ 3-5 ปี)
เป็นช่วงวัยที่ยังเกี่ยวข้องกับความสงสัย และเมื่อสงสัยจึงนำมาสู่การตั้งคำถาม เราจะเห็นได้ว่าอลิซเป็นเด็กช่างพูดและตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว เธอมีจินตนาการทางความคิดมากมาย เมื่อได้ผจญภัย ก็ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ อลิซเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอ จนในที่สุดก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
เมื่ออลิซหลุดเข้าไปอยู่ในแดนมหัศจรรย์ เธอได้พบกับทวีดเดิ้ลดีและทวีดเดิ้ลดัม สองฝาแฝดตัวอ้วน ทั้งคู่เล่าเรื่องหอยนางรมขี้สงสัยให้ฟัง นักจิตวิทยามองว่า มันเป็นการสื่อสารทางอ้อมว่าหลายครั้งความขี้สงสัยสามารถนำไปสู่เรื่องร้ายแรงได้ (สุดท้ายหอยนางรมโดนสิงโตทะเลจับกินหมด) การเล่าเรื่องในส่วนนี้แสดงให้เห็นโลกความจริงที่ว่าผู้ใหญ่มักใช้เรื่องราวของความน่ากลัวมาควบคุมเด็ก เพื่อทำลายความรู้สึกของเด็กๆ และเป็นการบอกเป็นนัยๆ ให้เด็กๆ หยุดตั้งคำถาม และโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว
ถือเป็นโชคดีของเด็กหญิงอลิซ เพราะเธอสามารถตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ ในขณะที่บนโลกนี้ มีเด็กที่ถูกห้ามตั้งคำถามและห้ามสงสัยอยู่มากมาย เด็กพวกนี้ไม่กล้าแม้แต่จะสงสัยด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าผู้ใหญ่จะหาว่าผิด และทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม
ขั้นที่ 4 ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry vs. Inferiority) (ช่วงอายุ 6-12 ปี)
เหตุการณ์หนึ่งในแดนมหัศจรรย์ที่หลายๆ คนน่าจะจำได้ คือเหตุการณ์ที่อลิซเข้าไปในบ้านเพื่อหาถุงมือให้เจ้ากระต่ายสีขาว ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เธอไปเปิดโถคุกกี้ที่มีข้อความบอกว่ากินฉันสิ อลิซกินเข้าไปทันทีโดยไม่ได้พิจารณาอะไรสักอย่าง ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เด็กจะมีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ๆ รอบตัวมากขึ้น และในความเป็นจริงแล้ว ก็ควรจะมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เด็กจะมีความสามารถในการเลียนแบบ พยายามดัดแปลงความสามารถของผู้ใหญ่มาเป็นฉบับของตัวเอง เป็นการทดลองและเรียนรู้ความสามารถของตัวเอง
การกินคุกกี้ของอลิซแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญสองประการ อย่างแรกคือ ความอยากรู้อยากเห็นก่อให้เกิดปัญหา มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ บางครั้ง เด็กจะฝ่าฝืนและทำอะไรบางอย่างแม้จะมีคนเคยบอกว่าสิ่งนี้มันผิดก็ตาม ความเชื่อนี้สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kolberg) นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม ซึ่งระบุไว้ว่า... เด็กมักจะตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง โดยไม่คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา และเพราะไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่อยู่รอบตัว จึงทำให้การตัดสินใจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่อลิซกินคุกกี้ทันที โดยไม่รั้งรอ
แนวคิดสำคัญอย่างที่สอง คือ ความกดดันในขณะที่กำลังเติบโต ภายในโถมีคุกกี้จำนวนมาก มีป้ายชื่อและคำแนะนำที่ต่างกัน แต่ละป้ายก็มีความหมายต่างๆ นานา เปรียบได้กับว่า... อลิซกำลังฟังคำแนะนำของผู้ใหญ่ ซึ่งกดดันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเธอก็ต้องโตขึ้นผ่านคำแนะนำเหล่านี้
ขั้นที่ 5 ความเป็นอัตลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity vs. Role Confusion) (ช่วงอายุ 13 – 20 ปี)
ขณะที่อลิซกำลังผจญภัยอยู่ในความฝัน เด็กหญิงสูญเสียความรู้สึกและตัวตนของเธอ เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่เป็นเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เมื่อเจ้าแมวเชไชร์และหนอนผีเสื้อถามอลิซว่าเธอเป็นใคร คำตอบของอลิซเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ เธอไม่มั่นใจว่าเธอคือใคร และสงสัยในความสามารถของตัวเอง
เมื่อเปรียบเทียบอลิซกับวัยรุ่น เราสามารถอธิบายได้ว่า... เด็กวัยนี้มักเต็มไปด้วยความสงสัยในตัวเอง เช่น การถามตนเองว่า “ฉันคือใคร” หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี” หรือ "ฉันจะเติบโตไปเป็นใคร" ระยะนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้สึกสับสน และขาดความมั่นใจ รอบข้างพวกเขามีแต่ความเปลี่ยนแปลง อลิซเองก็เช่นกัน เธอกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงวัย และปัญหาสำคัญเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ นั่นคือ เธอไม่รู้ว่าควรดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหนต่อ แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตในแดนมหัศจรรย์ อลิซได้ลองผิดลองถูก และได้เผชิญกับประสบการณ์ที่หลากหลาย และแน่นอน มันจะส่งผลต่อชีวิตของเธอ ทำให้เธอเติบโตขึ้น
อลิซ = วัยเด็กของทุกคน
พี่แนนนี่เพนเชื่อว่าน้องๆ หลายคนน่าจะเคยเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากคล้ายๆ กับอลิซ (อาจจะไม่ถึงขั้นเจอสัตว์แปลกประหลาดหรือน้ำยายืดหดเหนือจินตนาการแบบนั้น) ในวัยเด็ก หลายครั้งเราเกิดคำถามและสงสัยทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความสุขทุกครั้งที่ได้รู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้รู้ ชอบวิ่งเล่นหาความสนุกในแบบของเรา และจะมีความสุขมากที่ได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป หากพิจารณาให้ดีๆ จะเห็นว่า เราทุกคนก็คืออลิซน่ะแหละ เด็กหญิงอลิซ ตัวป่วนในแดนมหัศจรรย์ ในภาษาอังกฤษคำว่า wonder สามารถแปลได้อีกว่าฉงน, งงงวย หรือข้องใจ สอดคล้องกับนิสัยขี้สงสัยของเราเองในตอนเด็ก เชื่อว่าเด็กทุกคนต้องผ่านการเป็นตัวป่วน ให้พ่อแม่ต้องมาคอยตอบคำถามให้เราหายสงสัย อลิซในแดนมหัศจรรย์ก็เหมือนพวกเรา แม้จะสงสัย แต่ก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตให้อยู่รอด ทุกอย่างในแดนมหัศจรรย์เปรียบได้ดังเกมที่มีด่านต่างๆ เราต้องเล่นให้ผ่าน ทุกตัวละครทุกสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไปคือสภาพสังคมที่ “พวกเรา” ต้องพบเจอในอนาคต และต้องเรียนรู้ที่จะผ่านมันไปให้ได้
กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย พี่แนนนี่เพนเอง ก็เคยผ่านประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มาแล้วเช่นเดียวกันค่ะ และเชื่อว่าน้องๆ ทุกคนที่อ่านบทความนี้ก็น่าจะประสบกับปัญหาแบบเดียวกัน ลองคิดถึงช่วงที่เรายังเด็กและเราพยายามผ่านมันมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อน การบ้าน หรือแม้แต่ของที่ไม่ชอบกินแต่แม่บังคับให้กิน จนกระทั่งทุกวันนี้ เราเองก็ยังเจอปัญหาอื่นๆ มันถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ และเราก็ต้องเรียนรู้กันต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด คงไม่ผิดถ้าจะสรุปว่า... ทุกครั้งที่เจอเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ เราทุกคนไม่แตกต่างจากเด็กหญิงอลิซที่จะต้องผจญภัยในแดนมหัศจรรย์อีกครั้ง... อีกครั้ง และอีกครั้ง
พี่แนนนี่เพน
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
1 ความคิดเห็น
ขอบคุณ