แฉเบื้องหลัง! โมบี้ ดิ๊ก
เผยรักลับๆ ของนักเขียน
และความหลงใหลในเพศเดียวกันของตัวละคร
สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนค่ะ ตอนเด็กๆ น้องๆ เคยอ่านหนังสือสักเรื่องหนึ่งแล้วไม่เข้าใจไหมคะ แต่พอเราโตขึ้นและกลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้ง เรากลับเข้าใจเรื่องราวในหนังสือได้มากขึ้นกว่าเดิม.. พี่แนนนี่เพนเกิดปัญหานี้บ่อยๆ เหมือนกัน และพี่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านวัยค่ะ มีวรรณกรรมหลายเรื่องเลยที่ต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนานกว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ ซึ่งวันนี้พี่มีวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังให้น้องๆ ได้รู้จักกัน
วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของอเมริกาเมื่อนักเขียนได้จากโลกนี้ไปแล้ว นั่นก็คือวรรณกรรมเรื่อง โมบี้ ดิ๊ก (Moby Dick) ผลงานของเฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) นักเขียนในศตวรรษที่ 18 ที่ถูกแบนหนังสือและไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไหร่ จนกระทั่งเมลวิลล์เสียชีวิตลง โมบี้ ดิ๊ก ก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีในภายหลัง จนกลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะโมบี้ ดิ๊ก ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวของชายที่ต้องการล้างแค้นวาฬเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สอดแทรกความเป็นอเมริกา และเปิดเผยเรื่องราวโบรแมนซ์ของนักเขียนในยุคที่การรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่สุด..
ว่าด้วยเรื่องของโมบี้ ดิ๊ก ชีวิต ความแค้น และการผจญภัยในท้องทะเล
น้องๆ หลายๆ คน หากยังไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ก็น่าจะรู้จักเรื่องราวของโมบี้ ดิ๊ก จากหนังเรื่อง "Moby Dick วาฬยักษ์เพชฌฆาต (2010)" และ "In the Heart of the Sea หัวใจเพชฌฆาตวาฬมหาสมุทร (2015)" ซึ่งเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวสอดคล้องกันแต่เล่าในมุมมองและประเด็นที่ต่างกัน โดยโมบี้ ดิ๊ก ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ เป็นนิยายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง In the Heart of the Sea ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนมาจากเรื่องจริงของลูกเรือที่รอดชีวิตในเหตุการณ์เรืออับปาง และโมบี้ ดิ๊ก ก็เป็นเรื่องราวที่เมลวิลล์นำมาแต่งเป็นนิยายที่สอดแทรกสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้มากมาย ซึ่งพี่จะขอเล่าเรื่องราวของโมบี้ ดิ๊ก ให้น้องๆ ได้รู้จักกับนิยายเรื่องนี้กันก่อน..
โมบี้ ดิ๊ก เป็นนิยายที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1851 มีชื่อเดิมในฉบับภาษาอังกฤษว่า “The Whale” โดยเมลวิลล์เปิดเรื่องโมบี้ ดิ๊ก ด้วยประโยคที่ว่า "Call me Ishmael" ซึ่งกลายมาเป็นบทเปิดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่น่าจดจำมากที่สุดบทหนึ่งในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นการเปิดเรื่องที่ทำให้คนอ่านได้ดำดิ่งไปกับเรื่องราวการผจญภัยในท้องทะเลของกะลาสีหนุ่มที่ชื่ออิชเมล ในเรือล่าวาฬลำหนึ่งที่มีกัปตันเรือคือ อาฮับ ชายที่ผูกชีวิตเพื่ออาฆาตแค้นวาฬยักษ์สีขาวที่ชื่อโมบี้ ดิ๊ก โดยสาเหตุของความแค้นเกิดจากเจ้าโมบี้ ดิ๊ก เคยทำลายเรือของอาฮับจนอับปางและกัดขาเขาขาดไปข้างหนึ่ง ทำให้อาฮับผูกใจพยาบาทและออกล่าวาฬโมบี้ ดิ๊ก จนเกิดเป็นเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา
นิยายเรื่องนี้อิชเมลเป็นผู้เล่าเรื่องแทบทั้งหมด เขาได้บรรยายถึงลักษณะและสภาพชีวิตของลูกเรือแต่ละคนผ่านมุมมองของเขา ลูกเรือนับสิบคนต่างเป็นคนพเนจรที่เข้ามาหางานทำบนเรือล่าวาฬเพื่อหวังประทังชีวิตให้อยู่รอดต่อไป แต่พวกเขาทั้งหมดก็ถูกวังวนความแค้นส่วนตัวของกัปตันเรือเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิต ให้ต้องออกล่าวาฬโมบี้ ดิ๊ก ทั้งที่ไม่เต็มใจ ลูกเรือเหล่านี้จำเป็นต้องทำตามคำสั่งของอาฮับ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และสูญเสียเพื่อนไประหว่างทางจำนวนมาก แต่พวกเขาก็เลือกไม่ได้ จนกระทั่งอิไลจาห์ ชาวพื้นเมืองจากเกาะทะเลใต้ ได้ทำนายชะตากรรมชีวิตของอาฮับไว้ว่าเขาจะไม่ตายเพราะวาฬแน่นอน แต่จะตายเพราะเชือก ซึ่งอิชเมลคือผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายที่เห็นความตายของอาฮับตามคำทำนาย
นิยายเรื่องนี้อิชเมลเป็นผู้เล่าเรื่องแทบทั้งหมด เขาได้บรรยายถึงลักษณะและสภาพชีวิตของลูกเรือแต่ละคนผ่านมุมมองของเขา ลูกเรือนับสิบคนต่างเป็นคนพเนจรที่เข้ามาหางานทำบนเรือล่าวาฬเพื่อหวังประทังชีวิตให้อยู่รอดต่อไป แต่พวกเขาทั้งหมดก็ถูกวังวนความแค้นส่วนตัวของกัปตันเรือเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิต ให้ต้องออกล่าวาฬโมบี้ ดิ๊ก ทั้งที่ไม่เต็มใจ ลูกเรือเหล่านี้จำเป็นต้องทำตามคำสั่งของอาฮับ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และสูญเสียเพื่อนไประหว่างทางจำนวนมาก แต่พวกเขาก็เลือกไม่ได้ จนกระทั่งอิไลจาห์ ชาวพื้นเมืองจากเกาะทะเลใต้ ได้ทำนายชะตากรรมชีวิตของอาฮับไว้ว่าเขาจะไม่ตายเพราะวาฬแน่นอน แต่จะตายเพราะเชือก ซึ่งอิชเมลคือผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายที่เห็นความตายของอาฮับตามคำทำนาย
Homoeroticism - ความหลงใหลในเพศเดียวกันของอิชเมลกับควีเควก
ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เห็นวรรณกรรมที่แฝงเรื่องราวของการรักเพศเดียวกันเอาไว้อย่างแนบเนียนขนาดนี้มาก่อน โมบี้ ดิ๊ก ควรจะเป็นเรื่องราวของการผจญภัยล่าวาฬที่น่าตื่นเต้นและน่าสลดใจ แต่กลับมีเรื่องราวของ โฮโมอีโรติก (Homoeroticism) แฝงอยู่อย่างน่าประหลาดใจ โดยเจ้าโฮโมอีโรติกเนี่ย เป็นแนวคิดว่าด้วยการหลงใหลเพศเดียวกันในเชิงศิลปะ เป็นการหลงใหลในความงามของร่างกายและเกิดเป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันขึ้น ทำให้คนที่ตกอยู่ในห้วงโฮโมอีโรติกมีความต้องการอยากรู้อยากเห็น ต้องการความเชื่อใจ และเรียนรู้เพศเดียวกันในมุมมองต่างๆ มากขึ้น ซึ่งพี่จะขอยกข้อความในหนังสือโมบี้ ดิ๊ก ที่แปลโดยคุณขวัญดวง แซ่เตีย ผ่านตัวละครอิชเมลกับควีเควก ที่มีความสัมพันธ์ในเชิงโฮโมอีโรติก ให้น้องๆ ได้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
ตัวอย่างที่ 1 เมื่ออิชเมลเจอควีเควก ชนเผ่ากินคนครั้งแรก เขาได้บรรยายถึงลักษณะของควีเควกด้วยความชื่นชม
"ผมยืนมองเขาครู่หนึ่ง นอกจากลายสักแล้วทั้งตัวเขาขาวสะอาดหมดจด เป็นชนเผ่ากินคนที่ดูดีทีเดียว" (หน้า 35)
ตัวอย่างที่ 2 อิชเมลตื่นขึ้นมาในยามเช้าและพบว่าควีเควกได้นอนกอดก่ายตนเองอยู่ เขาเปรียบเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นดังคู่สามีภรรยา
"..เห็นแขนข้างหนึ่งของควีเควกก่ายเกยอยู่บนตัวผมอย่างแสนเสน่หา จนคุณอาจนึกไปว่าผมเป็นภรรยาเขา" (หน้า 37)
ตัวอย่างที่ 3 อิชเมลรู้สึกแปลกใจกับชนเผ่ากินคนที่ควรมีแต่ความป่าเถื่อน เขารู้สึกว่าควีเควกนั้นแตกต่างไปจากความคิดดั้งเดิม
"..พูดได้ว่าคนป่าเหล่านี้ต่างมีสัญชาตญาณอันละเอียดอ่อน และสุภาพอ่อนโยนอย่างน่าทึ่ง ผมขอชื่นชมจุดนี้ของควีเควก เพราะเขาปฏิบัติต่อผมเยี่ยงผู้ดีมีการศึกษา จนผมต้องรู้สึกละอายในความหยาบคายของตนเอง" (หน้า 37)
ตัวอย่างที่ 4 อิชเมลเปิดใจยอมรับควีเควก ชนเผ่ากินคนที่เขาเคยนึกหวาดกลัว เมื่อพวกเขาตกลงเป็นคู่หูกัน ทำให้อิชเมลอยากรู้จักตัวตนของควีเควกมากขึ้นกว่านี้ อิชเมลเปรียบเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นดังคู่สามีภรรยา เพราะอิชเมลกล่าวว่านำกฏเก่ามาใช้ไม่ได้กับควีเควก จึงสื่อความหมายได้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาอาจจะไม่ใช่คู่หูกันดังกฏเก่า แต่เป็นคู่กันดังที่ควีเควกได้กล่าวไว้
"ทั้งเขาและผมต่างเป็นกันเองมากขึ้น.. เขายกมือโอบรอบเอวผมและก้มหน้าผากมาแนบกับหน้าผากของผม พร้อมกับพูดว่านับแต่นี้ไปเราเป็นคู่กัน คำพูดนี้ในบ้านเกิดของเขาหมายถึงเราเป็นคู่หูกันแล้ว เขายอมตายแทนผมเมื่อถึงยามคับขัน สำหรับคนชนบท มิตรภาพเร่าร้อนที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันนี้ อาจดูเร็วเกินควรและน่าเคลือบแคลง แต่สำหรับคนป่าซื่อบริสุทธิ์ผู้นี้ กฎเก่านั้นก็นำมาใช้ไม่ได้หรอก" (หน้า 72)
"ผมบอกไม่ถูกว่าทำไม รู้แต่ว่าไม่มีที่ใดเหมาะแก่การเปิดเผยความในใจระหว่างมิตรได้เท่าบนเตียง กล่าวกันว่า ชายและหญิงต่างเปิดเผยเบื้องลึกตัวตนของกันและกันก็บนเตียงนี่เอง และสามีภรรยาบางคู่ที่อยู่กินกันมานานก็มักพูดคุยถึงเรื่องราวเก่าๆ จนเกือบรุ่งเช้า สำหรับผมกับควีเควกที่นอนอยู่ด้วยกันตรงนี้ หัวใจเราก็อบอุ่นชื่นมื่น ด้วยเราสองคนเป็นคู่หูคู่ซี้กัน" (หน้า 73)
จากตัวอย่างทั้ง 4 ตัวอย่าง พี่แนนนี่เพนคิดว่าน้องๆ น่าจะเข้าใจเจ้าโฮโมอีโรติกกันมากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์แบบโฮโมอีโรติกไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักกันก็ได้ แต่เกิดจากการยอมรับความรู้สึกหลงใหลในเพศเดียวกัน และไม่ปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
วรรณกรรมโบรแมนซ์ว่าด้วยเรื่องรักลับๆ ของเมลวิลล์กับฮอร์ธอร์น
จากความสัมพันธ์ของอิชเมลกับควีเควก สะท้อนให้เห็นนัยยะของผู้เขียนอย่างเมลวิลล์ที่ต้องการสอดแทรกความสนิทสนมในเพศเดียวกันให้เป็นเรื่องปกติ และธรรมชาติ ดังเช่นคู่สามีภรรยาทั่วไป โดยนิยายโมบี้ ดิ๊ก ถือเป็นหนึ่งในนิยายที่สร้างความสัมพันธ์ให้เมลวิลล์ กับ นาธาเนียล ฮอร์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) ได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนบ้านกันในที่สุด
โมบี้ ดิ๊ก เป็นนิยายที่เมลวิลล์ได้รับอิทธิพลมาจากฮอร์ธอร์น เจ้าของผลงานนิยายชื่อดังอย่าง The Scarlet Letter และ The House of the Seven Gables ซึ่งมีผลงานส่วนใหญ่เป็นแนว Dark Romanticism นิยายโมบี้ ดิ๊ก ได้รับอิทธิพลจากฮอร์ธอร์นในเรื่องของการสื่อความหมายทางจริยธรรม ความผิดบาปของมนุษย์ และความชั่วร้ายจากการกระทำของมนุษย์ โดยอาศัยจิตวิทยาสอดแทรกลงไปในเรื่องเล่าและตัวละครมากขึ้น ซึ่งระหว่างที่เขียนผลงานเรื่องนี้ เมลวิลล์ได้เขียนจดหมายพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับฮอร์ธอร์นเป็นประจำ รวมถึงการสนทนาในเรื่องของศาสนา การเมือง และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
นักวิชาการจำนวนมากได้วิเคราะห์เรื่องโมบี้ ดิ๊ก และพบว่าเมลวิลล์ได้สร้างสัญลักษณ์ "วาฬสีขาว" เป็นตัวแทนของความปรารถนา ดังที่กัปตันอาฮับยอมทิ้งชีวิตเพื่อตามฆ่า และพวกเขาเชื่อว่าเมลวิลล์ต้องการสื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของเขากับฮอร์ธอร์น เพราะเมลวิลล์มักจะชื่นชมฮอร์ธอร์นอย่างเปิดเผย ในฐานะอัฉริยะทางด้านงานเขียนและความคิด โดยวาฬโมบี้ ดิ๊ก เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่เป็นไปไม่ได้ของเมลวิลล์กับฮอร์ธอร์น เขาเลยสร้างตัวละครอิชเมลกับควีเควกขึ้นมา และจัดฉากเสมือนพวกเขาแต่งงานกันในฐานะเพื่อน ซึ่งน้องๆ สามารถย้อนกลับไปอ่านในหัวข้อก่อนหน้าได้ว่าอิชเมลกับควิเควกมีความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่คนรักกัน
และสุดท้าย สิ่งที่มัดตัวเมลวิลล์กับฮอร์ธอร์นก็คือจดหมายระหว่างพวกเขานั่นเอง เมลวิลล์มักเขียนจดหมายในทำนองว่าเขาคิดถึง และปรารถนาจะเขียนจดหมายหรือได้สนทนากับฮอร์ธอร์นเสมอ เขาคิดว่าระหว่างพวกเขาสองคนคือขั้วแม่เหล็กที่ดึงดูดเข้าหากัน ซึ่งนี่เป็นเพียงการวิคราะห์จากนักวิชาการเท่านั้น แต่หลักฐานต่างๆ ล้วนยังคลุมเครือ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายจากฝั่งเมลวิลล์ ขณะที่จดหมายจากฝั่งฮอร์ธอร์นแทบไม่มีปรากฏเลย..
เข้าใจอเมริกาในศตวรรษที่ 21 ผ่านโมบี้ ดิ๊ก
Stephen Kinzer อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนิวยอร์กไทม์ ได้กล่าวว่า โมบี้ ดิ๊ก เป็นวรรณกรรมพยากรณ์เรื่องราวในอเมริกาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ โมบี้ ดิ๊ก เขียนในปลายศตวรรษที่ 18 และเป็นผลงานเลื่องชื่อที่มีความใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์อเมริกา รวมถึงอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกา ในโมบี้ ดิ๊ก กัปตันเรืออาฮับเป็นฆาตกรที่ตามฆ่าวาฬโมบี้ ดิ๊ก โดยไม่สนใจลูกเรือผู้บริสุทธิ์ เขาเพียงต้องการขุมทรัพย์จากน้ำมันวาฬและแก้แค้นโมบี้ ดิ๊กให้ผู้คนได้เห็นถึงความสามารถของเขาที่สามารถทำตามเจตนารมณ์ได้ แม้ว่าจะมีคนใกล้ชิดเอ่ยเตือนอาฮับว่าการแก้แค้นวาฬของเขามันดูโง่และบ้าเอามากๆ แต่อาฮับกลับนิ่งเฉยและมุ่งมั่นที่จะทำตามความคิดของตัวเองอย่างไม่มีข้อแม้ เขาอธิบายถึงความมุ่งมั่นว่าโมบี้ ดิ๊ก เป็นวาฬที่ดุร้ายและเป็นอันตรายต่อทุกคน ทั้งๆ ที่เรือล่าวาฬอีกจำนวนมากแทบไม่เคยเจอและไม่รู้จักเจ้าวาฬโมบี้ ดิ๊ก นี้มาก่อน
อาฮับจึงถูกเปรียบเสมือนภาพแทนของประธานาธิบดีบุช ที่อธิบายถึงการตามจองล้างจองผลาญซัดดัมฮุสเซน จากกรณีเหตุการณ์จับกุมซัดดัมฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรักที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการเลือกตั้งของประธานาธิบดีบุช ด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและข้อหาอื่นๆ ที่ถูกพิพากษาอย่างลับๆ ซึ่งในระหว่างการพิพากษาซัดดัมฮุสเซนได้กล่าวว่า "ศาลแห่งนี้คือโรงละครและอาชญากรตัวจริงคือบุช" โดยผู้คนจำนวนมากเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในแผนการหาเสียงของบุช
นอกจากนี้ ลูกเรือแต่ละคนที่ปรากฏในโมบี้ ดิ๊ก ต่างเป็นภาพเสมือนของประชาชนชาวอเมริกาที่เกิดจากการรวมกันของหลายเชื้อชาติและหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ลูกเรือในเรือล่าวาฬของกัปตันอาฮับ มีทั้งชนเผ่ามนุษย์กินคน อินเดียนแดง นิโกร ชาวเกาะ และคนพื้นเมืองเร่รอน ลูกเรือหล่านี้ถูกกดขี่ให้ใช้ชีวิตในชนชั้นที่แตกต่างจากสังคมเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของประชาชนชาวอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 18 ที่มีการแบ่งแยก เชื้อชาติ ศาสนา และถิ่นกำเนิดตั้งแต่สมัยนั้น ตัวอย่างในโมบี้ ดิ๊ก เช่น เด็กผิวดำที่ชื่อ พิพป์ เป็นคนใช้ประจำเรือ เขาตายในวาระสุดท้ายขณะที่เรือกำลังจมลงสู่ผืนน้ำ แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของคนผิวดำที่ถูกกดขี่และมักตายไปอย่างไร้ความหมาย ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิวอยู่เหมือนเดิม
วรรณกรรมที่มีคุณค่าคือวรรณกรรมที่นำสังคมและสะท้อนสังคมไปด้วย หลังจากพี่แนนนี่เพนได้รู้เรื่องราวของโมบี้ ดิ๊กมากขึ้น ทำให้มุมมองของพี่ที่มีต่อวรรณกรรมเรื่องนี้เปลี่ยนไปมากพอสมควร ซึ่งพี่อยากจะใช้โมบี้ ดิ๊กเพื่อบอกน้องๆ ว่าเราไม่ควรตัดสินเรื่องราวเพียงแค่มุมมองจากเราเพียงคนเดียว เราควรมองหามุมมองหรือทัศนะจากคนอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะบางครั้งเราก็อาจจะยัง(มีความคิดที่)โตไม่พอ ที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวของเราเอง..
พี่แนนนี่เพน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพจาก..
1 ความคิดเห็น
ขอบคุณ