หนังสือห้ามเด็กอ่าน! การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ : เมื่อการหนีออกจากบ้านมีความหมายว่า "คุณจะได้อิสรภาพ"

หนังสือห้ามเด็กอ่าน!
การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ 
เมื่อการหนีออกจากบ้านมีความหมายว่า "คุณจะได้อิสรภาพ" 


สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีทุกคน เคยสังเกตกันบ้างไหมคะว่าเบื้องหลังการผจญภัยของเหล่าเด็กน้อยในวรรณกรรมที่เราเคยอ่าน แทบทุกเรื่องล้วนแฝงไปด้วยเรื่องราวของเติบโต และการเดินทางไปยังโลกกว้างโดยไร้ซึ่งผู้ปกครองมาคอยดูแล ท้ายที่สุดเด็กๆ เหล่านี้มักจะได้มิตรภาพกลับมาเป็นของขวัญเสมอ แต่ในวรรณกรรมชื่อดังของมาร์ก ทเวน เรื่อง “การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์” นั้น มีเรื่องราวของชนชาติและทาสผิวสีแฝงอยู่อย่างโจ่งแจ้งจนถูกแบนจากโรงเรียนในอเมริกา เพียงเพราะมีถ้อยคำที่ส่งเสริมการเหยียดผิวกว่า 200 คำ ซึ่งก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยนะว่าเด็กไม่ควรอ่าน และคนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็บอกว่าเด็กๆ ควรได้รู้ประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่ถูกปิดหูปิดตาแบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับคัดเลือกจากคณะบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ โมเดิร์น ไลบรารี ให้เป็น "หนังสือที่ดีที่สุดในรอบ 100 ปี!" แถมนักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกันอย่างเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า วรรณกรรมอเมริกันสมัยใหม่แทบทุกเล่มนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของทเวน.. และงานเขียนที่สร้างชื่อให้ทเวนก็คือวรรณกรรมเรื่อง การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ นี่แหละ พี่แนนนี่เพนจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า หนังสือที่ดีที่สุดในรอบ 100 ปีเนี่ย มันดียังไง? แล้วทำไมถึงเป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับเด็กๆ กันนะ? 

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ วรรณกรรมเด็กที่มีแต่เรื่องราวของผู้ใหญ่ 

หากใครชอบอ่านวรรณกรรมแปล น่าจะรู้จักมาร์ก ทเวน (Mark Twain) กันมาบ้างพอสมควร ผลงานที่มีชื่อเสียงเขาที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักก็คือเรื่อง “การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์” และ “การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์” ทั้งสองเรื่องนี้เล่าถึงการผจญภัยและการได้รับมิตรภาพเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่เรื่องของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เป็นวรรณกรรมเด็กที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ และแฝงความเป็นอเมริกันเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้สามารถอ่านแยกกันได้ เพราะเรื่องฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เกิดขึ้นหลังจากการผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ จบลงไปแล้ว 

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มผิวขาวคนหนึ่งที่ชื่อว่า ฮัก ฟินน์ เขามีพ่อแท้ๆ เป็นคนขี้เมาและชอบทำร้ายร่างกายเขาอยู่เสมอ เมื่อเด็กชายได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ม่ายดักลาส และมิสวัตสันที่มีฐานะร่ำรวย ทำให้เขาอดออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เขามีข้อปฏิบัติมากมายให้ต้องทำตาม จนกระทั่งเขาทนไม่ไหว หนีออกจากบ้านในขณะที่ทุกคนหลับแล้วเพื่อออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ฮัก ฟินน์ ไปยังสถานที่นัดหมายกับเพื่อนไว้ พวกเขาตั้งกลุ่มเป็นโจร วางแผนดักปล้นชาวบ้าน และนัดวันรวมตัวกันเพื่อลองปล้นและคิดว่าอาจจะได้ฆ่าใครสักคน ซึ่งเป็นความคิดเล่นๆ ในแบบเด็กๆ


พวกเด็กๆ คุยกันถึงเรื่องราวการก่อตั้งกลุ่มโจร

ต่อมา ฮัก ฟินน์เริ่มวางแผนหนีออกจากบ้านด้วยการแกล้งตาย เพื่อไม่ให้ใครออกไปตามหาเขา โดยการล่องแพไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ซึ่งเขาก็ได้เพื่อนร่วมทางเป็น "จิม" ทาสผิวดำในบ้านของมิสวัตสันที่บังเอิญไปรู้มาว่าเขากำลังจะถูกขายให้กับนายหน้าค้าทาส แม้ว่ามิสวัตสันจะเคยให้คำสัญญาว่าจะเลี้ยงดูเขา แต่จิมก็ไม่มั่นใจมากพอ เขาจึงหลบหนีออกมาในช่วงที่ทุกคนกำลังวุ่นวายตามหาศพของฮัก ฟินน์ จากนั้นพวกเขาทั้งสองคนก็ตัดสินใจหนีไปด้วยกัน และเกิดเป็นเรื่องราวการผจญภัยของเด็กชายผิวขาวและชายผิวดำขึ้นมา

เราจะเห็นได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ มีหลากหลายเรื่องราวและหลากหลายมุมมองที่ทำให้คนอ่านสงสัยกันว่า วรรณกรรมเรื่องนี้เหมาะสำหรับเด็กจริงๆ เหรอ แม้ว่าผู้เล่าเรื่องจะเป็นเด็ก แต่เหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ในเรื่องกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ใหญ่แทบทั้งสิ้น ทั้งการอบรมเลี้ยงดู การค้าทาส การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่มั่นคงของสถาบันครอบครัว แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากสังเกตให้ดี เราจะเห็นว่าเรื่องที่เล่าผ่านสายตาของเด็กนั้น มีเนื้อหาที่เด็กเข้าใจได้ และบางครั้งก็คิดเหมือนๆ กันอยู่ด้วย เช่น การไม่ชอบถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ชอบ และการไม่อยากอยู่ในระเบียบ 


ฮัก ฟินน์ ถูกสอนให้อยู่ในระเบียบอย่างเคร่งครัด

ค่านิยมของการมีอิสรภาพที่ต้องแลกมาด้วยการหนีออกจากบ้าน

ในหนังสือจะเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมตัวละครถึงจัดฉากให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองตายแล้ว และหนีออกจากบ้านไป สำหรับฮัก ฟินน์ เขาต้องการหนีออกจากบ้านเพราะพ่อขี้เมาที่ต้องการกักขังเขาไว้ในบ้าน และต้องการหนีออกจากระเบียบอันเข้มงวดของแม่ม่ายดักลาส และมิสวัตสัน ส่วนจิมเขาหนีออกมาเพราะไม่อยากถูกขายไปเป็นทาส และรู้สึกว่าที่นี่ไม่ปลอดภัยสำหรับเขาอีกแล้ว 

การหนีออกจากบ้าน เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้เกิดประเด็นต่างๆ มากมายขึ้นมา หากเทียบกับการผจญในเรื่องอื่นๆ ที่ตัวละครมักจะ "บังเอิญ" เข้าไปผจญภัย ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ กลับเป็นความ "ตั้งใจ" ของตัวละครที่แสดงเจตนาชัดเจนมากว่าเขาต้องการหนีออกจากที่นี่ เพราะทั้งสองตัวละครมีการวางแผนขึ้นมานั่นเอง 


พ่อของฮัก ฟินน์ เมาและคุ้มคลั่ง

เจตนาที่ลึกลงไปมากกว่าการหนีออกจากบ้าน ก็คือ พวกเขาต้องการอิสรภาพในการใช้ชีวิต ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้สนับสนุนให้เด็กอายุสิบกว่าขวบได้ใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ ไม่ควรต้องอยู่ในกรอบ และควรเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านการเดินตามกรอบ หรือขนบเดิมๆ ซึ่งวิธีการที่ทเวนเลือกใช้นั้น อาจจะเป็นวิธีการที่ตรงเกินไป หากมีเด็กคนไหนไม่พอใจความเป็นอยู่ที่บ้าน พวกเขาจำเป็นต้องหนีออกจากบ้านอย่างเดียวเลยรึเปล่า มีวิธีการอื่นอีกไหมที่จะทำให้เด็กๆ มีอิสระโดยไม่ต้องหนีออกจากบ้าน 

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ค้านสายตาคนอ่านในโลกของความเป็นจริง แต่ในโลกของจินตนาการนั้น คนอ่านกลับมองว่าหนังสือเล่มนี้กำลังสอนให้เด็กได้เห็นว่ายังมีโลกที่กว้างกว่าบ้านอยู่อีกมาก รอให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กันอยู่ ซึ่งปัจจุบัน ความคิดที่ว่าบ้านคือคุก นอกบ้านคืออิสระ ยังคงได้รับความนิยมอยู่ตลอดกาล หรือนี่จะเป็นการชี้ให้เห็นว่า ครอบครัว หรือสถาบันครอบครัวกำลังล้มเหลวในการเลี้ยงดูเด็กๆ กัน?   


เด็กชายผิวขาว และชายผิวดำในป่าระหว่างการหลบหนี

สอนเด็กให้รู้จักความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เชื้อชาติ และสีผิว 

พี่เห็นด้วยว่าฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ คือหนังสือที่ดีที่สุดในรอบ 100 ปี เรื่องราวของเด็กชายผิวขาวที่ช่วยเหลือชายผิวดำให้หลบหนีไปด้วยกัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนปัญหาของคนอเมริกาได้ดีมากๆ ในเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ และการเหยียดสีผิว มาร์ก ทเวนเขียนคำว่านิโกรลงไปในงานเขียนนับครั้งไม่ถ้วน เจตนาหนึ่งคือเพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าคนอเมริกามองคนต่างสีผิวเป็นยังไง และเจตนาที่สองเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนค้าทาสคนผิวดำอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นประวัติศาสตร์ในอเมริกาที่มีการแบ่งแยกชนชาติและสีผิวมาอย่างยาวนาน แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประทศแห่งเสรีภาพ แต่ก็ไม่อาจลบล้างความเป็นจริงที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันออกไปได้ 

ฮัก ฟินน์คือตัวแทนของคนอเมริกาที่โตมาด้วยความคิดและสภาพแวดล้อมที่เชื่อว่าคนผิวดำคือวรรณะที่ต่ำกว่า และพวกเขามีสถานะเป็นทาส ส่วนจิมคือตัวแทนของคนต่างเชื้อชาติที่หวาดกลัวการค้าทาส และได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทั้งสองคนได้ผจญภัยร่วมกัน ได้ร่วมแชร์ความสุข และความทุกข์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จนทำให้ฮัก ฟินน์ตัวแทนคนอเมริกาเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราสามารถเป็นเพื่อนกับคนต่างสีผิวได้หรือไม่ 

ฮัก ฟินน์ เลือกช่วยเหลือจิม แม้รู้ว่าการช่วยเหลือทาสผิวดำจะมีโทษมากมายรออยู่ก็ตาม การกระทำของตัวละครบรรลุเจตนาของนักเขียนที่ต้องการให้คนอเมริกาเกิดความคิดขึ้นมาว่า คนต่างเชื้อชาติ และคนผิวสี ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน มีความคิด มีชีวิตและจิตใจเฉกเช่นเดียวกับเราทุกคน เราไม่ควรมองใครสูงหรือต่ำกว่าเพียงเพราะเขาไม่เหมือนเรา หรือพวกของเรา ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ จึงถือเป็นวรรณกรรมที่ทำให้เด็กมองเห็นโลกความเป็นจริงผ่านมิตรภาพของเด็กทั้งสองคนได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบความคิดขนบเดิมๆ 

ความไร้เดียงสาของเด็กคืออะไร คือผ้าขาวที่ยังไม่ถูกแต่งแต้ม และมองโลกด้วยความเป็นจริงใช่หรือไม่ ดังนั้น เด็กควรอ่านหนังสือเล่มนี้ไหม เด็กควรถูกปิดกั้น หรือควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คำตอบของคำถามทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า เด็กเติบโตมาอย่างไร เขาคิดวิเคราะห์ได้มากแค่ไหน และเขาเข้าใจสิ่งที่หนังสือต้องการสื่อหรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ยากกว่าการห้ามให้เด็กอ่านเสียอีก ซึ่งในความคิดของพี่คิดว่า ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เป็นหนังสือที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตเราทุกคนควรได้อ่าน เพราะนอกจากประเด็นต่างๆ ที่ยกมาในบทความนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายรอให้เราได้สัมผัสอีกมาก พี่เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนมุมมองเราต่อเพื่อนมนุษย์ได้แน่นอนค่ะ

พี่แนนนี่เพน 
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.sparknotes.com/lit/huckfinn/ 
https://www.youtube.com/watch?v=8sBQg4fZ-ho 

Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด