"นักเขียนรางวัลเป็นเหมือนหัวโขนที่เราใส่อยู่" คำตอบของพี่ปราปต์ - ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เป็นคำตอบที่อยู่เหนือความคาดหมายของเรามากๆ ความตั้งใจแรกของเราคืออยากพาพี่ปราปต์มาพูดคุยกับน้องๆ ชาวเด็กดีในหัวข้อ 'นิยายวายเรื่องแรก' และ 'เคล็บลับการเขียนที่นำไปสู่ความสำเร็จ' แต่เมื่อคุยไปคุยมาหัวข้อรองอย่าง 'ความกดดันจากการเป็นนักเขียนรางวัล' กลับเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้เราขยับเข้าใกล้ตัวตนของพี่ปราปต์ได้แบบเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ
ใครที่เป็นนักอ่าน หรือเป็นแฟนนิยายของพี่ปราปต์ พี่แนนนี่เพนรับรองได้เลยว่าคุณจะรักนักเขียนคนนี้มากขึ้นแน่นอน ส่วนใครที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน และอยากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ให้ได้ ลองมาดู 'วิธีคิดที่เป็นมากกว่าเคล็ดลับ' จากเรื่องราวของพี่ปราปต์ในบทความนี้กันเลยค่ะ รับรองได้เลยว่ามันแปลกมาก! สมกับนิยามของปราปต์แน่นอน
นิยายชื่อแปลกกับชื่อเสียงที่มาพร้อมความอึดอัด
หากถามอากู๋ว่าปราปต์คือใคร เราจะเจอคีย์เวิร์ดคำว่า #กาหลมหรทึก #นักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน #ความหวังใหม่ของวงการวรรณกรรมไทย #ปริศนากลโคลง #นายอินทร์อะวอร์ด และ #ว่าที่นิยายซีไรต์ จากคีย์เวิร์ดคำเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า กาหลมหรทึกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักนามปากกา 'ปราปต์' มากขึ้น นี่จึงเป็นคำถามที่เกิดจากความสงสัยและความอยากรู้จริงๆ
"กาหลมหรทึกเป็นเรื่องที่พี่ปราปต์ภูมิใจที่สุดไหม?"
"..ไม่เชิงว่าภูมิใจกับนิยายเรื่องนี้มากที่สุด ในฐานะนักเขียนเราเขียนเรื่องไหนอยู่เราก็รักเรื่องนั้น สมมุติมีคนมาชมเราเรื่องนี้ เราก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้ดีจังเลย แล้วระหว่างที่เราไปเขียนเรื่องอื่น มันก็จะสลับไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีเรื่องไหนที่เป็นที่สุด"
"ทำไมกาหลมหรทึกถึงยังไม่เป็นที่สุด?" ในเมื่อใครๆ ต่างก็รับรู้ว่านิยายเรื่องนี้มีรางวัลรับประกันความสำเร็จ
"สำหรับพี่ 'มันทำให้เราอึดอัดนะ' มันทำให้เรารู้สึกโดนคาดหวัง ช่วงแรกๆ ที่กาหลมหรทึกได้รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด แล้วได้เข้ารอบรางวัลซีไรต์ ทุกคนพูดเหมือนกันเลยว่าปราปต์เป็นนักเขียนรางวัล หลังจากนั้นก็มีเสียงที่บอกว่าหนังสือเราไม่เห็นจะดีขนาดนั้นเลย พอมาเรื่องที่สองนิราศมหรรณพ คนก็คาดหวังว่ามันจะต้องดี ต้องเป็นหนังสือรางวัลอีก.." พี่ปราปต์เล่าต่อว่า การเป็นนักเขียนรางวัลทำให้คนติดภาพว่าเขาเป็นนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ทั้งที่เขาเองยังมีแนวอื่นๆ ที่อยากลองทำอยู่อีกมาก ช่วงเวลานั้นทำให้เขารู้สึกเหมือนกำลังถูกยัดเยียดให้เป็นคนอื่น
"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราแอบทุกข์เหมือนกันนะ เพราะมันมีแต่เสียงแบบนี้เข้ามา ทำให้เรายิ่งต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะว่าภาพของนักเขียนรางวัลมันเป็นอีกแบบหนึ่งไม่ได้เป็นตัวเรามากสักเท่าไหร่"
นักเขียนรางวัลกับหัวโขนที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ
"รู้สึกยังไงกับคำว่านักเขียนรางวัล?"
"คำว่านักเขียนรางวัลเป็นเหมือนหัวโขนที่เราใส่อยู่ ตอนนี้พี่ไม่รู้สึกเลยว่าพี่เป็นนักเขียนรางวัล อย่างกาหลมหรทึกเนี่ย พอได้รางวัลมา มีคนพูดประมาณว่าเราเป็นความหวังของวงการนักเขียน มันทำให้เราฟู แต่ตอนที่เราจะขยับไปทำอย่างอื่น มันทำให้เรากลัวว่าเขาจะผิดหวัง สิ่งที่พี่กลัวมากๆ เลยก็คือ กลัวว่าคนอ่านที่เขาศรัทธาในงานของเรา เขาจะผิดหวังในตัวเรา อันนี้เป็นสิ่งที่พี่กลัวที่สุดในการเขียนหนังสือเลยนะ พวกนักวิจารณ์อะไรต่างๆ นานาเป็นคนนอกที่เราไม่ได้แคร์มากขนาดนั้น แต่เราแคร์คนที่เป็นคนอ่านของเราจริงๆ มากกว่า"
"ความรับผิดชอบที่พี่ปราปต์กังวลมากที่สุดก็คือคนอ่าน?"
"สมมติเขาอ่านกาหลมหรทึก หรือนิราศมหรรณพ แล้วรู้สึกว่า 'คุณเป็นนักเขียนรางวัลที่ดี' แล้วเรื่องถัดไปคุณก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ปรากฏว่าพอเรื่องถัดมา พี่ไม่ได้ทำแบบที่เขาคาดหวัง แล้วเขาบอกว่า 'ผิดหวังในคุณจังเลย' แค่เขาพูดแค่นั้น พี่คงเฟลไปอีกนาน มันเป็นสิ่งที่พี่กลัวมากๆ"
'พยนต์' กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปราปต์หันกลับมามองความต้องการที่แท้จริง
"ช่วงกาหลมหรทึก กับนิราศมหรรณพ เป็นช่วงที่พี่รู้สึกกดดันมาก ตอนนั้นเราได้รับเชิญไปงานเสวนาต่างๆ เรารู้สึกว่านักเขียนท่านอื่นเขาพูดกันดีจัง ดูมีหลักการกัน แต่ว่างานของเรา เรารู้สึกว่ามันสนุกก็เลยเขียนออกมาเท่านั้นเอง จากจุดนั้น มันกลายเป็นความคาดหวังว่า ถ้ามีงานชิ้นต่อไป ถ้าเราสามารถเดินไปถึงจุดที่มานั่งเสวนาได้อีกนะ งานหน้าจะพูดให้ยาวกว่านี้อีก! หลังจากนั้นเราก็ใส่ไปเยอะเลย แต่ปรากฏว่า.. พอใส่ไปเยอะมันกลายเป็นงานที่อ่านยาก สำนักพิมพ์บอกว่ามันอ่านยากไป อยากทำให้มันอ่านง่าย นั่นแหละ เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราเดินหนีมาตั้งนาน แต่สุดท้ายเราก็ต้องเดินกลับไปที่เดิมอยู่ดี เหมือนเราพยายามพัฒนาต่อไปจนเรามีลูกเล่นเยอะมาก แต่ทำไมคุณถึงบอกให้เรากลับไปเขียนง่ายๆ เหมือนเดิมล่ะ"
"แล้วงานชิ้นนั้นเป็นยังไงบ้าง?"
"อันนี้โฆษณาได้ไหม (หัวเราะ) ตอนนั้นเขียนเรื่อง 'พยนต์' ออกมา พอถึงจุดที่พยนต์ไม่ได้ตีพิมพ์ เรารู้สึกเฟลมาก มันทำให้เราต้องมาปรับจูนความคิดตัวเองใหม่ จริงๆ ตอนนั้นมีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งในชีวิตส่วนตัว และเรื่องต่างๆ เข้ามาเยอะมาก จนทำให้เรารู้ว่านี่อาจจะไม่ใช่ทางของเรา ไม่ใช่ทางนี้แล้วแหละที่เป็นของเรา ณ ตอนนั้น เราไม่ได้รู้สึกแฮปปี้ขนาดนั้น เราโอเคกับการที่มีคนมาชมเรา แต่เราไม่ได้รู้สึกมีความสุขมากที่ได้อยู่ตรงนี้ แล้วเป็นแบบนี้มันไม่ใช่ตัวเราเลย (พี่ปราปต์ถึงกับน้ำตาคลอ)
มัน-แปลก-มาก คือ ตัวตนของปราปต์ ทั้งงานเขียน และชีวิตจริง
"เป็นตัวของตัวเองเป็นยังไง?"
"พี่เคยคิดคำแล้วใช้นิยามตัวเองนะ เคยตั้งใจแล้วเขียนเอาไว้บนโต๊ะทำงานเลยว่า มันแปลกมาก! คำว่า 'มัน' ในที่นี้คืออ่านแล้วต้องสนุก 'แปลก' คือต้องไม่เหมือนคนอื่น ไม่ได้หมายถึงไม่มีใครเขียนแบบนี้มาก่อนนะ หมายถึงสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน คำว่า 'มาก' หมายถึงเราทุ่มเทกับมันมาก อาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะ บางทีคนอ่านของปราบต์ก็จะรู้สึกว่าหนังสือมันจะระเบิดออกมาอยู่แล้ว มีอะไรอัดกันเต็มไปหมดเลย สำหรับพี่คือ มัน-แปลก-มาก"
"แล้วเอกลักษณ์ของเราอยู่ตรงไหน?"
"มันก็มีคนที่พูดเหมือนกันว่างานเราอ่านยาก มันเหมือนกลายเป็นเอกลักษณ์ของปราปต์ไปแล้วนะที่ต้องสอดแทรกอะไรลงไปในนิยาย แต่ถ้าถามพี่.. พี่ไม่อยากให้อะไรเป็นเอกลักษณ์ของพี่เลย มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งตอนเด็กๆ สมัยนั้นพี่เขียนชื่อเรื่องว่า 'รักต้องปล้ำ' มันเป็นเรื่องตลก ทุกคนก็จะบอกว่าชื่อปราปต์เป็นเรื่องตลก ถ้าใครคิดถึงเรื่องตลกแบบห่ามๆ หน่อยก็จะต้องคิดถึงชื่อปราปต์แน่นอน พอพี่มาเขียน 'กาหลมหรทึก' คนก็จะบอกว่าเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน ต้องปราปต์เลย มันก็จะติดตัวเราไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุดพี่รู้สึกว่าพี่ไม่ได้อยากจะเป็นอะไรทั้งนั้น"
ปราปต์คือนักเขียนที่คุณเชื่อใจได้ นี่คือคำมั่นของปราปต์ถึงนักอ่านทุกคน
"แล้วอยากให้คนจดจำเราแบบไหน?"
"พี่อยากให้คนมองปราปต์ว่าเป็น 'นักเขียนที่ให้เกียรติคนอ่าน' มากกว่า ให้เกียรติในที่นี้หมายความว่า เราพยายามเอาสิ่งที่ดีที่สุดให้คุณอ่านนะ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เดอะเบสสำหรับคนอื่น แต่มันเดอะเบสสำหรับเราในงานทุกชิ้นที่เราเขียน เราพยายามทุกงานทุกชิ้น มันอาจจะมีสิ่งที่สอดแทรกอยู่บ้าง เสียดสีสังคมอยู่บ้าง มีอะไรก็ได้ หรืออาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ จะเป็นสืบสวนหรือไม่สืบสวนก็ได้ ท้ายที่สุดแล้วสำหรับพี่ พี่อยากให้มองแค่ว่า 'ปราปต์คือนักเขียนที่คุณเชื่อใจได้' ว่าผมให้เกียรติคุณแน่นอน ส่วนเรื่องจะสนุกหรือไม่สนุกนั่นแล้วแต่คุณเลย พี่ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะต้องจดจำอะไรในตัวพี่ แต่พี่อยากให้เวลาที่เขาคิดถึงนามปากกาปราปต์ อยากให้เขารู้สึกว่า คนนี้มันมีอะไรอยู่นะ ถ้าคุณอ่านงานของคนนี้อย่างน้อยเขาจะไม่ทำให้คุณรู้สึกเสียเวลา บางเรื่องคุณอ่านแล้วมันอาจจะไม่สนุกนะ คุณอาจจะไม่ชอบ แต่คุณจะบอกไม่ได้ว่าเราไม่พยายาม อันนี้คือคำว่าเราให้เกียรติคุณ สำหรับพี่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ"
ปราปต์กับการวิ่งหนีตัวเองเพื่อหาความแปลกใหม่
"ทำไมพี่ปราปต์อยากลองเขียนนิยายหลายๆ แนว?" ถ้าลองหยิบหน้าปกหนังสือของปราปต์มาเรียงกัน จะเห็นว่าแต่ละเล่มต่างแนวกันมาก
"ตั้งแต่สมัยลงเด็กดี พี่ก็เขียนแนวอะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมดเลย พี่รู้สึกว่าพี่เป็นนักเขียนเต็มเวลาทุกวัน พี่ต้องเขียนหนังสือทุกวัน การที่เราย่ำอยู่กับที่แบบเดิมๆ มันน่าเบื่อนะ เพราะฉะนั้นกว่าพี่จะเขียนเรื่องหนึ่งจบ มันก็ประมาณสามเดือน ถ้าสามเดือนนี้เราทำแบบนี้ไปแล้ว อีกสามเดือนต่อมาก็ต้องทำแบบเดิมอีก เรารู้สึกได้เลยว่าเราเบื่อ ขนาดเรายังเบื่อเลยคนอ่านจะไม่เบื่อเหรอ แล้วพี่เองเคยอ่านเรื่องของนักเขียนบางคนที่ชอบมากๆ อ่านเรื่องแรก แล้วแบบตกหลุมรักเลย แต่พอไปอ่านเรื่องที่สองก็แบบเดิม เรื่องที่สามก็แบบเดิม มันกลายเป็นว่าความรักที่เรามีให้เขามันลดลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเขาเขียนไม่ดีนะ แต่ว่ามันเหมือนเดิม แล้วพี่เป็นคนเบื่อง่าย สมาธิสั้น มันก็เลยกลายเป็นว่า เรากลัวคนอ่านของเราจะเบื่อ เราก็เลยอยากลองหาอะไรใหม่ๆ ที่มันทำให้เราแล้วก็คนอ่านรู้สึกไม่เบื่อดีกว่า"
"เราเปลี่ยนอะไรไปบ้าง?"
"สำหรับพี่ ตอนนี้พี่พยายามจะเปลี่ยนกระทั่งภาษาของตัวเอง (หัวเราะ) สมัยก่อนตอนที่อ่านรวมเรื่องสั้นของคนอื่น พี่จะรู้สึกตลอดเลยว่าเรื่องแรกดี๊ดี แต่พอเรื่องที่สองมันเริ่มเหมือนเดิมแล้ว พอเรื่องที่สามภาษาก็เหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย มันทำให้เราเบื่อ เราก็เลยลองตั้งโจทย์กับตัวเอง ยกตัวอย่างเรื่องคุณหมีปาฎิหารย์ ถ้าเอาภาษาจากเรื่องนี้ไปเทียบกับกาหลมหรทึก ก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นคนละคนกันเลยก็ได้ พี่รู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ 'พี่อยากจะวิ่งหนีตัวเองไปเรื่อยๆ' เราไม่อยากให้คนอ่านรู้สึกว่างานเราอ่านแล้วรู้สึกเหมือนเดิม อยากให้เขาเห็นอะไรใหม่ๆ ในตัวเรา ลองดูจากปกนิยายของพี่ก็ได้ มันแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ด้วยจิตวิญญาณของมัน มันก็คือปราปต์ เพราะยังไงก็ต้องมีส่วนที่มันเชื่อมโยงกับเราเสมอ"
โจทย์ที่ยากและง่ายที่สุด คือเขียนนิยายให้แมส และเป็นตัวเราที่สุด
"ถ้าเราเขียนนิยายอย่างเดียว เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้ โจทย์คือทำยังไงให้มันขายได้ มันก็ต้องแมส ขายได้กว้าง แต่ขณะเดียวกันเพื่อที่เราจะไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง เราก็ต้องพยายามหาอะไรที่มันเชื่อมโยงกับเรา และเราสามารถลงลึกกับมันได้ เพราะงานนิยายมันใช้เวลาเขียนไม่ใช่แค่วันเดียวจบ อย่างน้อยมันก็ต้องเป็นเดือน แล้วการที่เราจะสามารถขับเคลื่อนตัวเองในหนึ่งเดือน ไปกับสิ่งๆ หนึ่งได้ มันไม่ใช่แค่อยู่ดีๆ คุณตื่นขึ้นมา ทำๆ ไปแล้วจบ มันหมือนเรากระโจนลงไปในสระว่ายน้ำ เราก็ต้องเอาตัวเองลงไปด้วย.. เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เรารู้สึกแฮปปี้กับงานที่เราทำได้ พี่ก็เลยต้องเขียนงานที่มันเชื่อมโยงกับเราได้ เราสามารถอยู่กับสิ่งนี้ได้นานๆ งานมันก็จะมีมิติมากขึ้น ชีวิตของเรามันมีประสบการณ์ผ่านเข้ามาเรื่อยๆ อยู่แล้ว งานบางอย่างที่เรารู้สึกว่าคนอื่นเขาอ่านสนุก แต่เราอาจจะอ่านไม่สนุกเลยก็ได้ เพราะในความเป็นพี่ พี่รู้สึกว่าชีวิตจริงมันไม่ใช่แบบนี้ มันบางจัง มันแบนจังเลย ความเศร้ามันไม่ใช่แค่เจอเรื่องบางเรื่องแล้วเศร้า แต่ชีวิตเราเจออะไรที่มันมากกว่านี้มาแล้ว"
'คุณหมีปาฏิหาริย์' นิยายวายเรื่องแรกของปราปต์กับการเขียนแนวใหม่
"ทำไมอยู่ๆ มาเขียนนิยายวาย?"
"จริงๆ คุณหมีปาฏิหาริย์ มันเป็นพล็อตที่มีมานานมากแล้วตั้งแต่สมัยที่เรายังใสๆ อยู่เลย ตอนนั้นเป็นพล็อตชายหญิงนะ ประมาณว่า ผู้หญิงคนหนึ่ง เพอร์เฟ็คมาก แต่เธอมีปัญหาในชีวิตที่ไม่สามารถบอกใครได้ นอกจากตุ๊กตาหมี แล้ววันหนึ่งตุ๊กตาหมีตัวนี้ดันกลายเป็นคนขึ้นมาแล้วบอกว่า ฉันจะปกป้องพี่เอง อะไรแบบนี้ เราก็เก็บพล็อตนี้เอาไว้นานมาก เพราะเหมือนเราแก่แล้ว เราไม่สามารถเขียนเรื่องแนวนี้ได้แล้ว จนวันหนึ่งทางสถาพรบุ๊คส์ก็มาชวนทำโปรเจกต์ แล้วเราก็คิดว่าจะเอาพล็อตอะไรไปเสนอดี เพราะพูดตามตรงพี่ไม่เคยอ่านงานที่เป็นวายมาก่อนเลย ก่อนหน้านี้คือเราเคยดูแบบซีรีส์มาบ้าง เราเข้าใจว่ามันก็ใสๆ นะ เราจะเขียนออกมาได้ไหม"
"มีปรับวิธีการเขียนยังไงบ้าง?"
"เราได้ลองไปอ่านนิยายฟีลกู้ดของญี่ปุ่น ไลท์โนเวลต่างๆ มาเลยรู้สึกว่า มันก็เป็นอีกทางหนึ่ง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราไม่เคยเขียนเลย ด้วยตีมเรื่องของคุณหมีปาฏิหาริย์ มันพอที่จะเป็นแบบนั้นได้มันมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันอยู่ เราก็เลยลองเอาวิธีการเขียนแบบนั้นมาใส่ในงานของเราดู ก็เป็นการท้าทายตัวเองด้วยว่าเราจะทำได้ไหม แต่ในช่วงแรกๆ มันก็จะอึดอัดมาก พี่ไม่ชอบเขียนภาษาแบบนี้ ไม่ชอบฉากแบบนี้ ปกติพี่เขียนแนวระทึกขวัญ สืบสวนสอบสวน มันจะใช้ภาษาแบบฉวัดเฉวียนตัดเรื่องจบเร็ว แต่เรื่องนี้มันจะเล่าแบบนิทานแล้วก็พูดถึงความสัมพันธ์ของคน มันจะแทนด้วย POV ของตุ๊กตาหมี ที่เพิ่งกลายเป็นคน มันจะเหมือนเด็กที่มันไม่เคยเจอโลกมาก่อน แล้วไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร แล้วในบ้านก็จะมีโซฟาพูดได้ ข้าวของในบ้านพูดได้ทุกอย่างเหมือนวอลดิสนีย์ ตอนแรกที่เขียนคืออึดอัดมากมันไม่ใช่เรา เราไม่สามารถเขียนใสๆ ได้ขนาดนั้น แต่เพราะเราอยากลอง เราก็ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ พอเราจับเส้นของมันได้ว่ามันต้องประมาณนี้นะ ก็ค่อยๆ ลื่นไหลขึ้น แต่การเขียนเรื่องนี้ เราต้องสามารถตอบตัวเองให้ได้ว่าเราเขียนแบบนั้นไปเพื่ออะไร มันมีพล็อตของมันอยู่แล้วว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมข้าวของถึงต้องพูดได้ ถ้าพี่ตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมข้าวของต้องพูดได้ พี่จะตัดทิ้งเลย พี่จะไม่เขียนแบบนั้น แต่เราสามารถตอบได้ทั้งหมดว่าเพราะอะไร นิยายเรื่องนี้เลยเกิดขึ้นมา"
"นิยายวายในมุมมองของปราปต์เป็นยังไง?"
"นิยายวายมันคือนิยายรักนะ เพียงแต่ว่ามันเป็นผู้ชายกับผู้ชายเท่านั้นเอง ในประเทศไทยนิยายรักไม่มีวันตาย มันครองตลาดอยู่แล้ว แต่ที่ตอนนี้นิยายวายมันบูมมากๆ ในความเห็นพี่คิดว่าเพราะสังคมมันเปิดมากขึ้น สมัยก่อนไม่ใช่ว่าไม่มีนะ นิยายวายมันมีแต่ว่ามันอยู่ใต้ดิน มีคนอ่านแต่ว่าต้องแอบอ่านเอา แต่สมัยนี้เราสามารถเอาใต้ดินขึ้นมาอยู่ข้างบนได้ และคุณสามารถอ่านโดยที่ไม่รู้สึกว่ามันคือความผิดหรือความอาย เพราะฉะนั้นจากที่เหมือนโดนกดเอาไว้ พอเปิดขึ้นมามันก็เลยเบ่งบาน"
ปัดฝุ่น 'พยนต์' ด้วยการทำหนังสือทำมือครั้งแรก!
"ช่วงนั้นที่พี่รู้สึกเฟล พี่ตัดสินใจเลยว่าไม่พิมพ์ พอ! ไปเขียนเรื่องอื่น พี่ในตอนนั้นไม่สามารถกลับไปอยู่ตรงจุดเริ่มต้นได้อีกแล้ว เพราะเรารู้ว่ามันเป็นงานที่เขียนยาก เป็นงานที่เราทุ่มไปทั้งตัว เป็นความพยายามของเราทั้งนั้นเลยนะ เราเลยรู้สึกเสียดายถ้าต้องไปปรับแก้สิ่งที่เราพยายามมาทั้งหมด เราคิดว่า ถ้าไม่มีใครอยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน จบ! เราคิดแค่นี้เลย แล้วก็ดองเอาไว้อยู่อย่างนั้นแหละ"
"จนกระทั่งช่วงนี้มันมีเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ที่เรารู้สึกว่ามันเหมือนในหนังสือของเราจังเลย เราอยากให้คุณได้อ่าน แต่ว่าถ้าจะไปพึ่งสำนักพิมพ์มันอาจจะไม่ทัน หรืออาจจะไม่ได้พิมพ์แล้วก็ได้ เราก็เลยตัดสินใจพิมพ์เอง แล้วในตอนแรกตัดสินใจว่าจะทำอีบุ๊คแต่ว่าด้วยเนื้อเรื่องมันค่อนข้างที่จะซับซ้อน มันเหมาะกับการอ่านเป็นหนังสือเล่มมากกว่า เพราะบางทีมันต้องเปิดไปเปิดมา ก็เลยโอเค ลุกขึ้นมาทำหนังสือเล่ม ทั้งที่จริงๆ เราเป็นคนขี้เกียจมาก แล้วเพื่อนก็บอกว่าถ้าเราจะทำเราต้องทำให้ได้นะ พี่ก็เลยโอเค ทำก็ได้ มันก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน อย่างตอนแรกพี่รู้สึกว่าทำหนังสือเล่มมันไม่น่าจะยาก เราก็พอที่จะทำปกได้ พอที่จะจัดหน้ากระดาษได้ แต่ปรากฏว่าพอทำจริงๆ มันมีรายละเอียดเยอะ ต้องเลือกกระดาษ เลือกความหนาบาง แล้วพอหนังสือเราออกมา เราในฐานะคนที่ทำครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันดีนะ แต่คนอื่นจะมีคำแนะนำมาให้เราเยอะเลย ก็เป็นประสบการณ์ที่ต้องพัฒนาต่อไปครับ"
นักเขียนที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างยุคออฟไลน์กับยุคออนไลน์
"จริงๆ มันเป็นความเจ็บปวดนะ คือพี่เกิดมาตั้งแต่สมัยที่มันยังไม่มีออนไลน์ มันยังเป็นยุคออฟไลน์อยู่ ในสมัยนั้นที่เราเด็กๆ เราติดตามงานเขียนจากนิตยสารขวัญเรือน สกุลไทย แล้วก็พวกหนังสือเล่ม เมื่อก่อนเราคิดว่าคนที่จะเติบโตขึ้นไปได้ เขาจะต้องโตเพื่อไปอยู่ในหนังสือเล่ม แต่ปรากฏว่าไปๆ มาๆ ทุกอย่างล่ม ในยุคออนไลน์ แม้แต่นักเขียนใหญ่ๆ ก็มาเขียนลงเด็กดี สุดท้ายมันทำให้เราคิดได้ว่า อย่าไปยึดติด สำหรับพี่ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน 'คอนเทนต์ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด' ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่ม หรือตัวเว็บไซต์ หรือต่อไปจะมาอ่านในเฟซบุ๊ก สุดท้ายสิ่งที่คนตามก็คือ คอนเทนต์ เราต้องพยายามตามโลกให้ทัน โลกมันเปลี่ยนไปยังไงเราต้องตามมันให้ทัน
ถึงนักอ่านและนักเขียนชาวเด็กดี
สำหรับนักอ่าน ก็ขอฝากผลงานเล่มใหม่ที่กำลังจะออกด้วยนะครับชื่อ 'คุณหมีปาฏิหาริย์' เจอกันเดือนพฤษภาคมนี้นะครับ แล้วก็ตอนนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเขียนอยู่ชื่อเรื่องว่า 'ถ่านไฟเดียว' เป็นโปรเจกต์ของทางสถาพรบุ๊คส์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณหมอ เป็นเซตรวมกันสี่เรื่อง เดี๋ยวมาอัพเดทกันอีกทีว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
สำหรับนักเขียน พี่จะบอกแบบนี้ตลอดเลยว่า อย่าเขียนหนังสืออย่างเดียว จริงๆ การเขียน ยิ่งเขียนเยอะๆ มันยิ่งพัฒนาประสบการณ์นะ แต่ว่าการที่คุณไม่ได้ใช้ชีวิตเลย คุณก็จะมีไม่มีวัตถุดิบอะไรเลย คุณอาจจะอ่านอะไรบางอย่าง อ่านข่าวทั่วไป หรือดูหนังฟังเพลง มันเป็นวัตถุดิบก็จริง แต่ไม่มีอะไรให้คุณได้เท่ากับการใช้ชีวิต
จากที่ได้พูดคุยกันมา แม้พี่ปราปต์จะไม่ได้บอกเคล็ดลับการเขียนนิยายออกมาตรงๆ แต่จากมุมมองและประสบการณ์ของพี่ปราปต์ ทำให้พี่แนนนี่เพนรวบรวมใจความสำคัญที่น้องๆ สามารถนำไปปรับใช้เป็นเทคนิคในการเขียนนิยายได้ทั้งหมด 4 ข้อ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่น้องๆ สามารถนำไปใช้ในการเขียนนิยายได้จริงแน่นอน มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
4 คีย์เวิร์ดจากปราปต์กับการเขียนนิยายให้มีมิติ
1 - Hint ปริศนาระหว่างบรรทัด
"พี่เป็นคนที่โตมากับหนังสือนิยายสมัยก่อนที่มีบทบรรยายเยอะๆ พี่เลยรู้สึกว่าเราจะทำยังไงให้คนอ่านเขาอยากอ่านบทบรรยายของเรา เพราะฉะนั้นงานของพี่ก็เลยเป็นแบบนี้ คุณไม่สามารถอ่านแค่บทสนทนาได้ ปริศนาต่างๆ มันอยู่ในบทบรรยาย คุณจะต้องตีความด้วย"
จากบทสัมภาษณ์ การเขียนนิยายให้มีฮินท์ หรือซ่อนปริศนาไว้ระหว่างบรรทัด เป็นวิธีการเขียนของปราปต์ที่เหมือนจะกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว งานของปราปต์ที่หลายคนบอกว่าอ่านยาก ที่จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่การใช้ภาษา แต่เป็นความยากในการถอดรหัส หรือถอดคำไบ้ที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหามากกว่า
การซ่อนปริศนาระหว่างบรรทัดน่าสนใจยังไง?
"ตัวอย่างเช่น คุณหมีปาฏิหาริย์ มีเนื้อหาส่วนที่ทั้งลึกและไม่ลึกอยู่ หมายถึงคุณสามารถอ่านโดยที่รู้สึกสนุกไปกับเนื้อเรื่องเฉยๆ ก็ได้ แต่ขณะเดียวกันคุณก็สามารถอ่านเพื่อที่จะอ่านเข้าไปข้างในว่าจริงๆ แล้วมันกำลังสื่อถึงอะไรอยู่ มันกำลังพูดถึงอะไรอยู่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นความสนุกมันมีหลายระดับ คนที่เป็นนักวิจารณ์เลย หรือเรียนวรรณกรรมมา เขาก็จะสนุกกับสิ่งที่มันอยู่ข้างล่างระหว่างบรรทัด ค่อยๆ ขุดคุ้ยไป ว่าเรากำลังพูดอะไรกันอยู่"
2 - Word เพิ่มคลังคำจากการเขียนนิยายหลายแนว
"การที่เราเขียนนิยายได้หลายแนวมันช่วยเราในเรื่องของภาษา งานแต่ละอย่างของเรามันใช้เซนส์ไม่เหมือนกัน งานตลกคุณต้องใช้ภาษาแบบนี้มันถึงจะตลก คุณจะมาใช้ภาษาแบบงานดราม่า หรือใช้ภาษาแบบงานสืบสวนไม่ได้ อย่างวิธีการตัดฉากมันก็เป็นศาสตร์ของแต่ละอัน"
"พี่เขียนเรื่องตลกพี่ก็จะได้อะไรใหม่ๆ ก็จะรู้ว่าเขียนแบบนี้ใช้กับตลกไม่ได้นะ เราก็ต้องเรียนรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ มันจะมีอะไรบางอย่างที่ตกตะกอนในตัวเรา อาจเป็นภาษา วิธีการใช้ภาษา.. เคยมีคนถามนะ ว่าทำไมเราถึงรู้จักคำเยอะ จริงๆ มันก็มาจากตรงนี้เลยครับ"
3 - Mass & Point เขียนนิยายให้มีคนอ่าน และเขียนให้เชื่อมโยงกับตัวเรา
"โจทย์คือทำยังไงให้มันขายได้ มันก็ต้องแมส ขายได้กว้าง แต่ขณะเดียวกันเพื่อที่เราจะไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง เราก็ต้องพยายามหาอะไรที่มันเชื่อมโยงกับเรา และเราสามารถลงลึกรายละเอียดกับมันได้ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เรารู้สึกแฮปปี้กับงานที่เราทำได้ พี่ก็เลยต้องเขียนงานที่มันเชื่อมโยงกับเราได้ เราสามารถอยู่กับสิ่งนี้ได้นานๆ งานมันก็จะมีมิติมากขึ้น"
"อย่างตอนที่พี่ได้รับโจทย์เรื่องเปรต พี่ไม่เชื่อเรื่องเปรตเลย ทำยังไงเราถึงจะสามารถเขียนเรื่องนี้ได้นะ พี่ก็เริ่มจากไปหาความหมายของเปรต หาว่าเปรตมันคืออะไร ปรากฏว่าไปเจอมาว่าเปรตมันไม่ใช่แค่ผี ตัวสูงยาว เท่านั้นนะ ในความเป็นเปรตจริงๆ แล้ว มันหมายถึงผู้ที่ตายไปแล้ว หรือคนกลายเป็นเปรตส่วนใหญ่มีโทษมาจากการเห็นแก่ตัว พอเราจับจุดได้ว่ามันคือความเห็นแก่ตัว มันก็สามารถยึดโยงกับเราได้เลยว่า คนรอบตัวเราที่เห็นแก่ตัว จริงๆ เขาเป็นเปรตหรือว่าเป็นคน แปลว่าเปรตมีรูปร่างแบบไหนก็ได้ใช่ไหม พอคิดแบบนี้แล้วเราเข้าใจ เราก็เลยสามารถเชื่อมโยงต่อไปได้เรื่อยๆ"
4 - Change กล้าลองสิ่งใหม่ๆ
"การที่เราย่ำอยู่กับที่แบบเดิมๆ มันน่าเบื่อนะ เพราะฉะนั้นกว่าพี่จะเขียนเรื่องหนึ่งจบ มันก็ประมาณสามเดือน ถ้าสามเดือนนี้เราทำแบบนี้ไปแล้ว อีกสามเดือนต่อมาก็ต้องทำแบบเดิมอีก เรารู้สึกได้เลยว่าเราเบื่อ ขนาดเรายังเบื่อเลยคนอ่านจะไม่เบื่อเหรอ แล้วพี่เองเคยอ่านเรื่องของนักเขียนบางคนที่ชอบมากๆ อ่านเรื่องแรก แล้วแบบตกหลุมรักเลย แต่พอไปอ่านเรื่องที่สองก็แบบเดิม เรื่องที่สามก็แบบเดิม มันกลายเป็นว่าความรักที่เรามีให้เขามันลดลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเขาเขียนไม่ดีนะ แต่ว่ามันเหมือนเดิม มันก็เลยกลายเป็นว่า เรากลัวคนอ่านของเราจะเบื่อ เราก็เลยอยากลองหาอะไรใหม่ๆ ที่มันทำให้เราและคนอ่านรู้สึกไม่เบื่อดีกว่า"
แม้พี่ปราปต์จะบอกกับเราว่าไม่อยากให้อะไรก็ตามกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่เชื่อเถอะค่ะว่านักอ่านที่ติดตามผลงานของพี่ปราปต์มาโดยตลอด จะต้องจับจุดกันได้แน่นอนว่าจุดเด่นของนักเขียนคนนี้คืออะไร ซึ่งในมุมมองของพี่แนนนี่เพน เมื่อนึกถึงงานของพี่ปราปต์ ขอยกให้ความสมจริงและปริศนาระหว่างบรรทัดเป็นจุดเด่นอันดับต้นๆ เลยค่ะ และหากใครอ่านสัมภาษณ์นี้จนจบครบทุกตัวอักษร จะต้องสังเกตเห็นได้แน่นอนว่าเจ้าของนามปากกาปราปต์ไม่ได้เก่งแค่ซ่อนปริศนาในนิยายเท่านั้น เขาสามารถบอกรักนักอ่านโดยไม่มีคำรักได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว "ปราปต์คือนักเขียนที่คุณเชื่อใจได้แน่นอน" ว่าทุกผลงานของเขาคือเดอะเบสที่สุดแล้วจริงๆ ท้ายที่สุดนี้ พี่แนนนี่เพนขอขอบคุณพี่ปราปต์จากใจจริง ที่นำเรื่องราวในช่วงเวลาที่ทั้งทุกข์และสุขปะปนกันไป นำมาเล่าให้น้องๆ ชาวเด็กดีได้เรียนรู้เส้นทางนักเขียนผ่านประสบการณ์ต่างๆ และทำให้เราเห็นว่า เมื่อเราชื่นชมใครสักคนในวันที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว อย่าลืมมองย้อนถึงวันวาน วันที่เขาพยายามกว่าจะมีวันนี้ด้วย.. หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะเป็นอีกเรื่องดีๆ ในความทรงจำของน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนนะคะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ ^^
พี่แนนนี่เพน
0 ความคิดเห็น