แนะนำ หลักการ 5W 1H
ที่นักเขียนมือใหม่ ไม่ควรพลาด!
สวัสดีค่ะน้องๆ นักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกคน เคยรู้สึกแบบนี้กันไหมคะ เมื่อได้อ่านงานเขียนของคนอื่นแล้ว ก็อาจจะอยากลองเขียนงานของตัวเองดูบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ตัวละครต้องเป็นแบบไหน เนื้อเรื่องควรเป็นอย่างไร เขียนแล้วไม่ตัน ไม่หลงประเด็น อ่านแล้วสนุก เพื่อที่จะให้งานเขียนของเรานั้นออกมาเพอร์เฟกต์
วันนี้พี่น้ำก็เลยจะมาแนะนำเกี่ยวกับ หลักการ 5W 1H ในการเขียนนวนิยาย ของ “ปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร” จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือ “เขียนอย่างนักเขียนมืออาชีพ” น้องๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้น กิ่งฉัตร เป็นนักเขียนมืออาชีพ มีผลงานเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากมาย อย่างเช่น พรพรหมอลเวง ด้วยแรงอธิษฐาน บ่วงหงส์ ดวงใจพิสุทธิ์ พรพรหมอลเวง ฯลฯ ซึ่งพี่คิดว่าคงมีประโยชน์ไม่น้อย จึงอยากนำมาแบ่งปันเป็นแนวทางให้น้องๆ เอาไปลองทำกันดูค่ะ
หลักการ 5W 1H คืออะไร?
W1 : Who (ใคร) คือ ในเรื่องนั้นมีใครบ้าง ใครรับผิดชอบ ใครเกี่ยวข้อง ใครได้รับผลกระทบ
W2 : What (ทำอะไร) คือ เราจะทำอะไร แต่ละคนทำอะไรบ้าง
W3 : Where (ที่ไหน) คือ สถานที่ที่เราจะทำว่าจะทำที่ไหน เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ที่ไหน
W4 : When (เมื่อไหร่) คือ ระยะเวลาที่จะทำจนถึงสิ้นสุด เหตุการณ์ที่ทำนั้นทำเมื่อวัน เดือน ปี ใด
W5 : Why (ทำไม) คือ ทำด้วยเหตุผลใด เหตุใดจึงได้ทำสิ่งนั้น หรือเกิดเหตุการณ์นั้นๆ
H1 : How (อย่างไร) คือ เราจะสามารถทำทุกอย่างให้บรรลุผลได้อย่างไร เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นทำอย่างไรบ้าง
เทคนิค 5W 1H จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือปัญหาได้เกือบทุกรูปแบบ เป็นการคิดวิเคราะห์ที่ใช้ความสามารถในการจำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุ สิ่งของ เรื่องราว หรือเหตุการณ์ นำมาหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล เพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นความเป็นจริงหรือที่เป็นสิ่งที่สำคัญ จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดระบบ เรียบเรียงใหม่ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และหลักการนี้ก็ยังนำมาใช้ในการเขียนข่าวอีกด้วย หากเราตอบคำถาม 5W 1H ได้ก็จะทำให้เราเขียนได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
คำแนะนำที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่หัดเขียนของ กิ่งฉัตร คือ นำหลักการ 5W 1H มาใช้ในการเริ่มต้นเขียน โดยนำกระดาษมาวาดวงกลมตรงกลาง แล้วใส่พล็อตเรื่องลงไป จากนั้นก็ลากเส้นรัศมีทั้ง 6 (เหมือนแผนผัง) เพื่อแยกตอบคำถาม 5W 1H ดังนี้
เส้น 1 - Who (ใคร)
ให้น้องๆ ระบุตัวละคร กำหนดชื่อ บรรยายลักษณะรูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย ในเรื่องของเรานั้นจะให้มีใครบ้าง กำหนดชื่อเสียงเรียงนามแต่ละคน ฐานะ ต้นตระกูล ให้ชัดเจน ตัวละครแต่ละคนมีลักษณะรูปร่าง นิสัย เป็นอย่างไร เข้ากับบทบาทหรือเปล่า ให้น้องๆ เขียนเอาไว้เลยค่ะว่าต้องการให้ตัวละครเราเป็นอย่างไร ในข้อนี้จะช่วยให้เราไม่พลาดหรือหลงลืมตัวละครเวลาเขียนค่ะ
เส้น 2 - What (ทำอะไร)
ให้เขียนเรื่องย่อของสิ่งที่จะเขียน อาจจะเขียนละเอียดหรือเขียนย่อๆ ก็ได้ น้องๆ ตั้งใจให้ในเรื่องมีเหตุการณ์อะไรบ้าง ตัวละครแต่ละคนทำอะไรบ้าง จะได้รู้ว่าเนื้อเรื่องของเรานั้นจะเป็นไปในทิศทางใด การเขียนกำหนดไว้จะช่วยให้เราไม่ลืมเมื่อเขียนไปนานๆ และมีเหตุการณ์ที่ชัดเจนไม่หลงประเด็นนั่นเอง
เส้น 3 - Where (ที่ไหน)
ในเรื่องของน้องๆ ต้องการให้เกิดขึ้นที่สถานที่ใดบ้าง เรื่องราวหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน ฉากต้องเป็นแบบไหนถึงจะสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงในโลกหรือสมมติขึ้นมาเป็นโลกในจินตนาการ เช่น โลกเวทมนต ก็จะเขียนให้มีสถานที่เวอร์วังอลังการ มีดินแดนสวยงามได้ การกำหนดสถานที่ก็เพื่อที่จะบรรยายเนื้อเรื่องให้เข้ากับสถานที่นั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
เส้น 4 - When (เมื่อไหร่)
เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องของน้องๆ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในช่วงไหน กาลเวลาใด อดีต ปัจจุบัน อนาคต หากน้องๆ กำหนดไว้แล้วก็จะได้เขียนถูกว่าถ้าเป็นอดีตเหตุการณ์อาจจะย้อนยุค โบราณ หรือตัวละครอาจจะจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้แล้ว ถ้าปัจจุบันเรื่องราวก็จะทันสมัยขึ้นมาหน่อย ส่วนอนาคตก็อาจจะเขียนเป็นการทำนาย หรือรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าแบบนั้นก็ได้ค่ะ
เส้น 5 - Why (ทำไม)
ทำไมเรื่องราวหรือเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น น้องๆ ต้องการให้ผู้อ่านเห็นอะไรจากเรื่อง ทำไมเหตุการณ์นั้นต้องเกิดขึ้น มีเหตุผลหรือที่มาที่ไปอะไรถึงทำให้เกิด ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นักอ่านจะได้ไม่งงด้วยค่ะ ข้อนี้จะช่วยให้น้องๆ สามารถสร้างปมของเรื่องได้เยอะเลยนะคะ
เส้น 6 - How (อย่างไร)
ให้น้องๆ วางแผนว่าจะให้เนื้อเรื่องและตัวละครดำเนินไปอย่างไร หากเกิดปัญหาตัวละครจะแก้ไขอย่างไร โดยวิธีไหน เนื้อเรื่องจะนำเสนออย่างไรตามเวลาหรือสลับตัดตอนไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีตหรือเปล่า เหตุการณ์เป็นอย่างไรต่อไป ตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร น้องๆ ต้องลองเขียนดูค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ พอจะนำไปลองใช้กันได้ไหม แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าน้องๆ จะใช้หลักการหรือเทคนิคไหนในการเขียนก็ไม่ผิดหรอกค่ะ เพราะมันไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องเชื่อทฤษฎีนี้ ต้องทำตามกฎนั้น ต้องใช้เทคนิคไหน อยู่ที่ว่าเราจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีแค่ไหนมากกว่า งานที่ได้ตรงใจเราหรือเปล่า น้องๆ สามารถที่จะนำเอาหลักการต่างๆ มาปรับใช้ได้หมดค่ะ เพื่อให้งานเขียนของเรานั้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด พี่ก็เพียงอยากนำหลักการดีๆ มาฝากเผื่อจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ได้ไม่มากก็น้อย ลองนำไปใช้กันดูนะคะ แล้วคราวหน้าพี่จะนำสาระดีๆ มาฝากอีก รอติดตามกันได้เลย สวัสดีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ "เขียนอย่างนักเขียนมืออาชีพ"
เว็บไซต์ https://sites.google.com/site/siriprapha205/5w1h
พี่น้ำ ^^
0 ความคิดเห็น