ไขปริศนาแวมไพร์ : เรื่องจริง นิยาย หรือแค่ตำนานกันแน่!?
สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน เมื่อพูดถึงแวมไพร์ หลายคนคงนึกถึงเอ็ดเวิร์ดกับเบลล่าแสนโด่งดังจาก Twilight บางคนนึกถึงสิ่งมีชีวิตหน้าตาดีที่คอยดูดเลือดหญิงสาว แวมไพร์ไม่ได้ปรากฎแค่ช่วงวันฮาโลวีนเท่านั้น แต่ยังสามารถพบแวมไพร์ได้ตลอดปี ทั้งในภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือและตามเว็บไซต์ต่างๆ ดูเหมือนว่าผู้คนจะชื่นชอบแวมไพร์มาก เช่นเดียวกับที่แวมไพร์ชื่นชอบเลือดนั่นแหละ
น้องๆ เคยสงสัยมั้ยว่าแวมไพร์มาจากไหน มีตัวตนอยู่บนโลกนี้จริงๆ หรือเป็นแค่ตำนาน ถ้าหากว่าเคยล่ะก็ ไม่ต้องห่วงค่ะ วันนี้พี่น้ำผึ้งชวนทุกคนมาล้วงลึกถึงเรื่องของแวมไพร์กัน เราจะเริ่มต้นจากต้นกำเนิดแวมไพร์ ไปจนถึงการตามหาและล่าแวมไพร์ รับรองว่าเรื่องราวที่นำมาฝากในวันนี้ตอบโจทย์คนชอบสิ่งลี้ลับ หรือนักเขียนที่กำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเขียนนิยายแน่นอน
อารยธรรมแวมไพร์เริ่มมาตั้งแต่โลกยุคโบราณ
นักเขียนยุคใหม่ที่เขียนนิยายแนวแวมไพร์ รวมถึงสเตเฟนี เมเยอร์, แอนน์ ไรซ์, สตีเฟ่น คิง และคนอื่นๆ นับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์แวมไพร์ที่แสนน่าดึงดูดจนมัดใจคนทั่วโลก ว่าแต่แวมไพร์มาจากไหนล่ะ?
แน่นอนว่าแวมไพร์ที่โด่งดังที่สุดคือ “แดร็กคูล่า” ของแบรม สโตกเกอร์ ผู้ที่ตามหาแดร็กคูล่าตัวจริงในประวัติศาสตร์มักจะอ้างว่าแดร็กคูล่าที่แท้จริงคือเจ้าชายวลาดที่ 3 แห่งโรมาเนีย (1431-1476) แต่หลังจากนั้นสโตกเกอร์ก็ยืนยันว่า ต้นแบบแดร็กคูล่าของเขาเป็นเจ้าชายวลาดที่ 3 จริงๆ อย่างไรก็ตาม ชาวโรมาเนียไม่ได้มองว่าเจ้าชายวลาดเป็นพวกซาดิสม์หรือเป็นแดร็กคูล่านะ แต่เป็นวีรบุรุษของชาติที่ปกป้องอาณาจักรจากเติร์กออตโตมันต่างหาก
แวมไพร์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่นแดร็กคูล่า คือการฟื้นคืนชีพ ซากศพของมนุษย์ที่กลับขึ้นมาจากหลุมศพเพื่อเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต! แวมไพร์เหล่านี้มีต้นกำเนิดจากชนชาติสลาฟเพียงไม่กี่ร้อยปี แต่แวมไพร์รุ่นอื่นๆ ที่อายุมากกว่านั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ ตรงกันข้าม กลับเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่ได้อยู่ในร่างมนุษย์ต่างหาก
แมทธิว แบเรฟอร์ด เจ้าของหนังสือ “From Demons to Dracula: The Creation of the Modern Vampire Myth” เขียนไว้ว่า “มีรากฐานที่ชัดเจนสำหรับแวมไพร์ในโลกยุคโบราณ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์เมื่อตำนานเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีข้อเสนอแนะว่าแวมไพร์เกิดมาจากเวทมนตร์ในอียิปต์โบราณ ปีศาจถูกอัญเชิญเข้ามาในโลกนี้จากผู้อื่น”
เห็นได้ชัดว่ามีแวมไพร์หลากหลายรูปแบบจากทั่วโลก เอเชียก็มีแวมไพร์เช่นกัน เช่น เจียงซือจากจีน หรือที่รู้จักกันดีในนามศพกระโดด วิญญาณชั่วร้ายที่คอยโจมตีผู้คนและดูดพลังงานชีวิตของพวกเขาไป แถมยังดูดเลือดด้วยอีกต่างหาก ศพกระโดดหยึงๆ นี้ปรากฎใน “หนังสือทิเบตแห่งความตาย” และอื่นๆ อีกมากมาย
ขี่ม้าขาวสิ...แล้วคุณจะเจอแวมไพร์
ในขณะที่คนส่วนใหญ่รู้ว่าแวมไพร์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แวมไพร์ต้องดูดเลือดนะ พวกเขากลัวกระเทียม แต่กลับไม่ค่อยมีใครรู้ลักษณะที่แน่นอนของแวมไพร์ บ้างก็ว่าแวมไพร์สามารถเปลี่ยนรูปร่างเป็นค้างคาวหรือหมาป่าได้ บ้างก็ว่าแปลงร่างไม่ได้ บางคนบอกว่าแวมไพร์มีเงา บางคนบอกไม่มี แม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าน้ำมนต์และแสงแดดสามารถฆ่าแวมไพร์ได้ยังเชื่อไม่เหมือนกันเลย
ถึงอย่างนั้นการกระหายของเหลวในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะ “เลือด” เป็นลักษณะสากลอย่างหนึ่งที่แวมไพร์ทุกตนมี เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แวมไพร์เป็นประสบความสำเร็จเช่นนี้คือ พวกเขามีประวัติศาสตร์และตำนานที่หลากหลาย นักเขียนสามารถเล่นกับ "กฎ" ในขณะที่เพิ่ม ลดหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พอดีกับเรื่องราวที่พวกเขามีอยู่ในใจ
แน่นอนการค้นหาแวมไพร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ตามตำนานของโรมาเนียกล่าวว่า คุณจะต้องมีเด็กชายอายุ 7 ปีและม้าขาว เด็กผู้ชายควรแต่งตัวด้วยชุดสีขาว นั่งอยู่บนหลังม้าและทั้งคู่ก็ต้องเข้าไปในสุสานตอนเที่ยงวัน จากนั้นมองดูม้าที่เดินวนไปรอบๆ เมื่อม้าหยุดใกล้หลุมฝังศพใด แปลว่านั่นคือหลุมศพของแวมไพร์นั่นแหละ หรือไม่งั้นก็อาจจะมีบางสิ่งที่ม้ากินได้ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ก็อยู่ที่เราเลือกเลยว่าจะเชื่อแบบไหน
เอ็ดเวิร์ดจากทไวไลท์กำลังกัดเบลล่า
(via: youtube.com)
แวมไพร์เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดของมนุษย์
ความสนใจในเรื่องแวมไพร์เพิ่มขึ้นมากในช่วงยุโรปยุคกลาง ยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน วิธีคลาสสิกที่จะทำให้ตัวเองกลายเป็นแวมไพร์ได้คือ “ถูกกัดโดยแวมไพร์” ในหนังสือชือ "แวมไพร์การฝังศพและความตาย: คติชนวิทยาและความจริง" ของนักคติชนวิทยาอย่างพอล บาร์เบอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนว่า
“บ่อยครั้งที่เราสามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นผู้ฟื้นคืนชีพโดยดูจากทารกแรกเกิด มันมักเกิดจากความผิดปกติหรือมีข้อบกพร่องบางอย่าง เช่น เด็กเกิดมาพร้อมฟัน ในทำนองเดียวกับเด็กที่เกิดมาพร้อมกับหัวนมจุกที่ 3 (เช่นในประเทศโรมาเนีย) เด็กที่กระดูกอ่อนของจมูกหายไป มีริมฝีปากล่างที่แตก (ในรัสเซีย) หรือแม้กระทั่งเด็กที่เกิดโดยมีถุงน้ำคร่ำบางส่วนปกคลุมศีรษะ หรืออยู่ในถุงน้ำคร่ำเลย ทั้งหมดเป็นหลักฐานที่ชาวยุโรปสันนิษฐานว่า เด็กเหล่านี้จะต้องกลับมาจากความตายแน่นอน” เห็นได้ชัดว่าความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ถูกมองว่าเป็นลางบอกเหตุชั่วร้ายในเวลานั้น
จริงๆ แล้วความเชื่อเรื่องแวมไพร์เกิดจากความเชื่อทางไสยศาสตร์ บวกกับข้อสันนิษฐานที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการเน่าเปื่อยของร่างกายหลังความตาย เรื่องราวที่บันทึกไว้ครั้งแรกของแวมไพร์เป็นไปตามรูปแบบที่สอดคล้องกัน ความโชคร้ายบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้อาจเกิดขึ้นกับบุคคล ครอบครัว หรือเมือง อาจเป็นภัยแล้งที่ทำให้พืชผลแห้งแล้งหรือเป็นโรคติดเชื้อ ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะสามารถอธิบายรูปแบบสภาพอากาศและทฤษฎีเชื้อโรคได้ ผู้คนโทษแวมไพร์ทุกครั้งที่เหตุการณ์ไม่ดีที่ไม่มีสาเหตุชัดเจนได้เกิดขึ้น แวมไพร์เป็นคำตอบง่ายๆ เมื่อถามคนมีอายุว่า “ทำไมสิ่งเลวร้ายจึงเกิดขึ้นกับคนดี?”
สมัยก่อนชาวบ้านในยุโรปเชื่อว่ามีบางสิ่งที่สาปแช่งพวกเขาด้วยความหวาดกลัวของความตาย และสรุปได้ว่าบางทีผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตไปอาจต้องรับผิดชอบความหวาดกลัวนี้ด้วยการลุกขึ้นมาจากหลุมฝังศพพร้อมเจตนาชั่วร้าย ทันทีที่หลุมฝังศพถูกขุดขึ้นมา ชาวบ้านที่ประหลาดใจมักเข้าใจผิดว่ากระบวนการสลายตัวตามธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ! ยกตัวอย่างเช่น คนในโบสถ์มักคิดว่าร่างกายสลายตัวทันทีหากโลงศพถูกผนึกเป็นอย่างดี หรือถ้าศพถูกฝันอยู่ในช่วงฤดูหนาว การสลายตัวอาจล่าช้าไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การย่อยสลายในลำไส้ก่อให้เกิดอาการท้องอืด ลำไส้ขยายตัว ซึ่งสามารถบังคับให้เลือดเข้าสู่ปากได้ ทำใหดูเหมือนว่าศพเพิ่งดูดเลือดไป กระบวนการเหล่านี้เป็นที่เข้าใจกันโดยแพทย์สมัยใหม่ แต่ในยุโรปยุคกลางนั้น มีสัญญาณชัดเจนว่าแวมไพร์เป็นของจริงและมีอยู่จริงในบรรดาพวกเขา
(via: https://blogs.baruch.cuny.edu/)
แวมไพร์ต้องสงสัยมักถูกฆ่าด้วยไม้ปักอกทันที!
แน่นอน วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับแวมไพร์คือการป้องกันไม่ให้พวกเขากลับมา แต่เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมาในยุโรป การจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแวมไพร์แล้วฆ่าพวกเขาที่หลุมศพเป็นสิ่งที่ผู้คนทำ หลักๆ ก็คือตรึงร่างกายแวมไพร์ไว้และปักไม้แหลมลงที่กลางหน้าอก เพราะถือว่าเป็นลำตัว ซึ่งนักเขียนได้สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีนี้ผ่านนิยายที่ได้รับความนิยม
นอกจากนี้ยังมีวิธีการฆ่าแวมไพร์อื่นๆ เช่น การตัดหัวและยัดกระเทียมหรืออิฐลงไปในปากของหัวที่ถูกตัด ในความเป็นจริงหลุมศพที่ถูกพบของแวมไพร์ต้องสงสัยนั้นมีร่องรอยเช่นนั้น นักมานุษยวิทยากล่าวในบทความ Live Science ปี 2012 ว่า “มีร่างของหญิงสาวถูกพบในหลุมศพจำนวนมากบนเกาะ Nuovo Lazzaretto ที่เวนิส โดยสงสัยว่าพวกเธออาจจะเป็นแวมไพร์ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นบ้านทั่วไปในเวลานั้น มีคนยัดหินลงไปในศีรษะของพวกเธอเพื่อป้องกันไม่ให้เธอเคี้ยวผ้าห่อศพ และป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ ด้วยโรคระบาด”
แมธทิโอ บอร์รินีแห่งมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์กล่าวว่า “ต่อมานักวิจัยคนอื่นๆ ก็ท้าทายการตีความนี้และแนะนำว่าก้อนอิฐอาจไม่ได้อยู่ในปากหลังจากนั้นก็ได้ แต่อาจเป็นเพราะก้อนอิฐที่ล้อมรอบร่างกายตกลงมาหลังจากที่ฝังศพ” แต่ไม่ว่าศพนั้นจะสะท้อนแวมไพร์ที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ มีหลุมศพอื่นชัดเจนกว่ามาก ในปี 2013 นักโบราณคดีในบัลแกเรียพบโครงกระดูกสองอันที่มีแท่งเหล็กผ่านหีบของพวกเขา เชื่อกันว่าทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแวมไพร์ตามบทความในนิตยสารโบราณคดี
อย่างไรก็ตาม ถ้าการฆ่าแวมไพร์ต้องสงสัยฟังดูโหดร้ายสำหรับเรา ลองวิธีหยุดแวมไพร์ง่ายๆ ด้วยการพกถุงน้ำเกลือติดตัวไป หากเรากำลังถูกไล่ล่า ขอให้ทำเกลือหกบนพื้นด้านหลังเราเท่านั้น ตรงจุดนี้ แวมไพร์จะชะงักและนับเม็ดเกลือทุกเม็ดก่อนที่จะเริ่มต้นไล่ล่าต่อ นอกจากนี้เกลือมักถูกวางไว้รอบๆ ประตูด้วยเหตุผลเดียวกัน บางคนเชื่อว่าแวมไพร์ไม่สามารถเข้าบ้านได้เว้นแต่จะได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเป็นที่มาของคำเตือน “อันตรายจากคนแปลกหน้า (stranger danger)” ไว้คอยเตือนเด็กๆ เพื่อไม่ให้ชวนคนที่ไม่รู้จักเข้ามาในบ้าน
ภาพกระโหลกของศพที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแวมไพร์
เห็นได้ชัดว่ามีอิฐคาอยู่ที่ปาก
(via: https://www.livescience.com)
แล้วแวมไพร์ที่แท้จริงคืออะไร?
แน่นอนว่าในโลกของเรามีสัตว์บางตัวที่คล้ายกับเแวมไพร์ เช่น ปลิง ปลาแลมป์เพรย์ และค้างคาวแวมไพร์ ในทุกกรณีเหล่านี้ เจตนาของแวมไพร์คือการดูดเลือดให้เพียงพอต่อการยังชีพ แต่ไม่มากพอที่จะฆ่าเจ้าของเลือด
แล้วมนุษย์แวมไพร์ล่ะ? จริงๆ แล้วคนจำนวนมากระบุว่าตัวเองเป็นแวมไพร์และมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมแบบกอธิค บางคนเข้าร่วมชมรมหนังสือที่เป็นธีมของแวมไพร์ เข้าร่วมพิธีกรรมการหลั่งเลือด บางคนสวมเสื้อคลุมหยาว รือแม้กระทั่งใส่ฟันแหลมแบบแวมไพร์ แต่การดื่มเลือดนั้นค่อนข้างอันตรายเนื่องจากเลือดเป็นพิษเพราะมันอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แล้วร่างกายมนุษย์มีปัญหาในการขับธาตุเหล็กส่วนเกิน ใครก็ตามที่กินเลือดเป็นประจำจึงมีความเสี่ยงในการเกิด haemochromatosis (ภาวะเหล็กเกิน) ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคและปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทำลายตับและประสาท ดังนั้นจึงหาคนที่ดื่มเลือดสดๆ โดยไม่ผ่านการปรุงแต่ง (เช่นเลือดหมู) ค่อนข้างยาก
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องที่นำมาฝากในวันนี้ เห็นได้ชัดว่าแวมไพร์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์และชาวบ้านในรูปแบบที่แตกต่างกันไป มันไม่ได้เริ่มฮิตมาตั้งแต่สมัยแดร็กคูล่ายังป๊อบปูล่า แต่มีการกล่าวขานถึงแวมไพร์มาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณนานนับพันปี และแม้กระทั่งจนถึงบัดนี้ ดูเหมือนว่านักดื่มเลือดนี้ไม่มีท่าทีว่าจะหายไปจากโลกนี้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นถ้าหากนักเขียนคนไหนอยากลองหยิบแวมไพร์มาเป็นองค์ประกอบในนิยายของเรา พี่ว่าก็ไม่เก่านะ ยังไงแวมไพร์ก็คูลอยู่เสมอ
พี่น้ำผึ้ง :)
ขอบคุณข้อมูล
https://vampiresaroundtheworld.weebly.com/slavic-europe.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Vampire
https://www.livescience.com/33452-how-kill-vampire.html
https://www.archaeology.org/news/2599-141010-bulgaria-perperikon-vampire
https://www.livescience.com/20619-vampire-plague-victim-spurs-debate.html
0 ความคิดเห็น