Show Don’t Tell เทคนิคน่าสนใจที่ช่วยขยี้ความรู้สึกนักอ่านได้มากขึ้น
สวัสดีค่ะ ชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน สำหรับววันนี้ แอดมินเปิดตัวมาพร้อมหัวข้อ Show Don’t Tell หรือแสดงให้เห็นแต่ไม่ได้บอก เป็นอีกหนึ่งในกลวิธีการเขียนที่น่าศึกษาเอาไว้ใช้ค่ะ เชื่อกันว่า ถ้าหากทำสำเร็จ จะสามารถขยี้ความรู้สึกของนักอ่านให้อินกับเนื้อเรื่องได้มากขึ้น และหลงรักนิยายของเราได้มากขึ้น
หลายคนไม่แน่ใจว่าแอดมินหมายถึงอะไร ขอให้คำนิยามกลวิธีการเขียนนี้ก่อนแล้วกันค่ะ Show Don’t Tell เป็นเทคนิคการเขียนที่แสดงเนื้อหาและตัวละคร ผ่านความรู้สึกและการกระทำ แทนที่จะเขียนอธิบายออกมาโต้งๆ การเขียนแบบนี้ จะทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวละคร และมีอารมณ์ร่วมไปกับความรู้สึกของเขาหรือเธอ มีคำอธิบายเรื่อง Show Don’t Tell ที่เชคอฟได้บอกไว้คือ “อย่าบอกว่าดวงจันทร์กำลังส่องสว่าง ให้แสดงให้คนอ่านสัมผัสถึงแสงสว่างของดวงจันทร์บนแก้วที่แตกกระจาย” พูดง่ายๆ คือ แสดงให้เห็นภาพนั่นเอง เราขอยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ฟังค่ะ
แสดงให้เห็น : เมื่อแม่ของเขาปิดไฟและออกจากห้องไป เขารู้สึกเครียดมาก เขาซุกตัวลงไปในผ้าห่ม ดึงมันขึ้นมา กลั้นหายใจเอาไว้เมื่อมองเห็นสายลมพัดม่านพลิ้วไปมา
บอกตรงๆ : เขากลัวความมืด
จะเห็นได้ว่าในบริบทของแสดงให้เห็น แทนที่จะบอกตรงๆ ว่าเขากลัวความมืด นักเขียนเลือกบอกเล่าผ่านประสบการณ์ความหวาดกลัวของตัวละครแทนที่จะบอกตรงๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ บอกทางอ้อมนั่นเอง

ประโยชน์ของ Show Don’t Tell
การใช้วิธีแสดงให้เห็นช่วยพัฒนาตัวละครได้ โดยเราไม่ต้องบอกจุดเด่นของลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเขา ยกตัวอย่าง แทนที่จะบอกคนอ่านว่า เขาเป็นคนเห็นแก่ตัวและขาดวุฒิภาวะ คุณสามารถเขียนถึงฉากที่เขาเหวี่ยงวีนเมื่อทุกคนหลงลืมวันเกิดของตัวเอง แต่พอวันเกิดของคนอื่นกลับลืมไปเฉยๆ แทนที่จะพูดตรงๆ ว่า เขาเป็นคนแบบนั้น โดยรวมแล้ว ถ้าหากว่าเขียนได้ถูกทางแล้ว คนอ่านจะเริ่มเข้าใจตัวละครได้โดยเราแทบไม่ต้องบอกอะไรเลย และเรื่องก็จะพัฒนาการไปตามความคิดของคนอ่าน ผ่านการกระทำของตัวละครที่เราค่อยๆ บรรยาย
เราเข้าใจว่าการบอกตรงๆ อาจจะเร็วกว่ามาก และมันก็เป็นเรื่องที่สามารถใช้ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรใช้แค่เทคนิคเดียวในการเล่าเรื่อง อาจจะผสมผสานทั้งการแสดงและการบอกตรงๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้คนอ่านได้เห็นความหลากหลายในการเขียน
4 ข้อสำหรับการใช้เทคนิค Show Don’t Tell
1 สร้างฉากที่สมเหตุสมผล
หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้แสดงได้ดีกว่าบอกตรงๆ ก็คือการสร้างฉากใดฉากหนึ่งขึ้นมา สามารถเขียนว่าตัวละครแสดงออกหรือมีท่าทีอย่างไรกับสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยใส่รายละเอียดทางความรู้สึกและการกระทำในฉากนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องบอกตรงๆ เพื่อให้คนอ่านจินตนาการร่วมไปด้วยว่าฉากนั้นๆ เป็นอย่างไร
บอกตรงๆ : ฉันเดินตรงเข้าไปในป่า ช่วงนี้เป็นฤดูใบไม้ร่วง และฉันหนาวมาก
แสดงให้เห็น : เสียงใบไม้แห้งๆ ดังกรอบแกรบอยู่ใต้รองเท้าระหว่างที่ฉันกระชับเสื้อคลุมให้แนบเข้ากับตัว
2 ใช้บทสนทนาบอกนิสัยตัวละคร
นอกเหนือจากฉากต่างๆ แล้ว เราสามารถใช้บทสนทนาแสดงให้เห็นพัฒนาการของเรื่องได้ บทสนทนาบอกอะไรได้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อเราเปิดตัวตัวละครเป็นครั้งแรกๆ ตัวละครตัวนั้นชอบพูดยาวๆ เรื่อยเจื้อย หรือพูดแบบรวดเร็วกระชับสั้นๆ เป็นคนง่ายๆ เป็นกันเองหรือชอบออกคำสั่ง สามารถใส่ในบทสนทนาได้หมด
3 ถ้าไม่แน่ใจ ให้อธิบายการกระทำตามเสมอ
ถ้าคุณต้องอธิบายทุกฉากที่เขียน คงจะเหนื่อยมาก ยิ่งถ้าตัวละครเดินทางไปหลายๆ ที่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละบท นิยายอาจจะยืดยาวด้วยฉากและภาพใหม่ๆ การบรรยายฉากต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางที ใช้การกระทำช่วยก็ดีกว่าบรรยายไปเรื่อยเปื่อย ยกตัวอย่าง สมมติว่าคุณเริ่มฉากด้วยการให้ตัวละครเดินเข้าไปในห้างแห่งหนึ่ง แทนที่จะบรรยายว่าสถานที่นั้นๆ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็อาจจะเขียนผ่านสายตาและการกระทำของตัวละคร เช่น เขามาสาย นาฬิกาเรือนใหญ่ตีดังหลายครั้ง เมื่อมองไปรอบๆ เขาเห็นคนกำลังเข้าคิวตามร้านอาหาร ด้านหน้ามีฝูงนกรอการให้อาหารอยู่ และเขาก้าวสวบๆ ผ่านพวกมันไป
4 รายละเอียดต้องคมชัด แต่อย่ามากเกินไป
รายละเอียดที่ชัดเจนเกินไปอาจทำให้คนเบื่อได้ ยิ่งถ้าภาษาที่บรรยายทุกซอกทุกมุม เขียนขยายความแล้วขยายความอีก นั่นแย่พอๆ กับการบอกตรงๆ เลย และถ้าคุณไม่เก่งภาษา แต่เขียนได้จืดชืด อ่านแล้วชวนให้ง่วง คนอ่านจะไปจากคุณทันที
รายละเอียดที่มากเกินไป : รูปปั้นนั้นถูกปั้นหยาบๆ ดูแล้วน่าจะเป็นงานศิลปะฟะซาด บัดนี้ ปกคลุมไปด้วยฝุ่นหนาเตอะ เมื่อเอื้อมมือไปลูบ ก็พบว่ามันหนาติดมือ สีสันกระเทาะบางส่วน คงด้วยกาลเวลา
พอดีๆ : รูปปั้นนี้หนักกว่าที่คาดคะเน และเก่ามาก เมื่อเอื้อมมือไปแตะ สีสันต่างๆ ก็หลุดร่อนติดมือ
พยายามสร้างความสมดุลระหว่างการบรรยาย ภาษาก็ควรเรียบร้อยผสมซับซ้อน และรายละเอียดควรพร้อมครบ เพื่อไม่ให้คนอ่านได้รายละเอียดมาเกินไปจนปวดหัว
ตัวอย่างของ Show Don’t Tell จากนิยายดังๆ
ตัวอย่างที่ 1 เรื่องเล่าของสาวรับใช้ มาร์กาเร็ต แอทวู้ด
“ฉันเคยมีสวน ฉันจดจำกลิ่นตอนเราพลิกหน้าดินได้
รูปทรงของเมล็ดพืชแห้งที่แปรเปลี่ยนไปตามปลายนิ้วมือ เวลาผ่านไปรวดเร็วมาก
บางครั้ง ภรรยาเจ้าของบ้านจะนำเก้าอี้ออกมาวางและนั่งลงในสวนของเธอ
มองจากระยะไกล มันเป็นภาพที่ดูสงบ”
รูปทรงของเมล็ดพืชแห้งที่แปรเปลี่ยนไปตามปลายนิ้วมือ เวลาผ่านไปรวดเร็วมาก
บางครั้ง ภรรยาเจ้าของบ้านจะนำเก้าอี้ออกมาวางและนั่งลงในสวนของเธอ
มองจากระยะไกล มันเป็นภาพที่ดูสงบ”
บทบรรยายนี้เล่าผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ กลิ่น สัมผัส และเสียง สร้างบรรยากาศให้เรารู้ว่าสวนของออฟเฟร็ดเป็นเช่นไร ความคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ในอดีต และยังเชื่อมโยงกับความสงบสุขในอดีตด้วย เมื่ออ่านแล้วเราได้รู้แล้วว่า ณ ปัจจุบัน ไม่มีใครรู้สึกสงบอีกต่อไป แม้แต่ภรรยาของเจ้าของบ้านก็ตาม
ตัวอย่างที่ 2 It สตีเฟ่น คิง
“ในที่สุดเขาก็ตามมาถึง ไล่ล่าเรือที่ออกจากถนนวิทแชม
เขาวิ่งอย่างรวดเร็ว แต่น้ำไหลเร็วกว่า และเรือก็ถูกผลักให้ไหลไปข้างหน้า
เขาได้ยินเสียงคำรามลึก และมองเห็นว่าในอีก 50 หลาถัดไป คือหุบเขา
และน้ำไหลลงไปในนั้น มันคือครึ่งวงกลมที่ทั้งยาวและมืด
และเมื่อจอร์จี้มองเข้าไป ก็พบว่ามันดำและมันลื่นเหมือนขนของแมวน้ำ ลึกราวกับคอหอยของสัตว์”
เขาวิ่งอย่างรวดเร็ว แต่น้ำไหลเร็วกว่า และเรือก็ถูกผลักให้ไหลไปข้างหน้า
เขาได้ยินเสียงคำรามลึก และมองเห็นว่าในอีก 50 หลาถัดไป คือหุบเขา
และน้ำไหลลงไปในนั้น มันคือครึ่งวงกลมที่ทั้งยาวและมืด
และเมื่อจอร์จี้มองเข้าไป ก็พบว่ามันดำและมันลื่นเหมือนขนของแมวน้ำ ลึกราวกับคอหอยของสัตว์”
คิงเป็นเจ้าพ่อแห่งการบรรยายฉากที่ดูน่ากลัวและหลอนๆ อยู่แล้ว การใช้คำบรรยายแบบเปรียบเทียบทำให้เขาขนลุกโดยไม่รู้ตัว โดยที่เขาแทบไม่ได้บอกตรงๆ เลยว่า เขาใช้คำบรรยายให้ดูดิบเถื่อนและน่ากลัวแบบกินลึก
ตัวอย่างที่ 3 Gone Girl โดยจิลเลียน ฟลินน์
“ลมหายใจยามเช้าของผมทำให้หมอนอบอุ่น และผมเปลี่ยนความคิด
วันนี้ไม่ใช่วันที่ควรมาคาดเดาหรือเสียใจ มันเป็นวันแห่งการลงมือ
ที่ชั้นล่าง ผมได้ยินเสียงการกลับมาของสิ่งที่ห่างหายไปเนิ่นนาน
เอมี่กำลังทำอาหารเช้า เสียงเปิดปิดประตูตู้ เสียงเปิดกระป๋อง
เสียงของหม้อและกระทะเหล็กกระทบกัน การประสานเสียงของเครื่องครัว”
วันนี้ไม่ใช่วันที่ควรมาคาดเดาหรือเสียใจ มันเป็นวันแห่งการลงมือ
ที่ชั้นล่าง ผมได้ยินเสียงการกลับมาของสิ่งที่ห่างหายไปเนิ่นนาน
เอมี่กำลังทำอาหารเช้า เสียงเปิดปิดประตูตู้ เสียงเปิดกระป๋อง
เสียงของหม้อและกระทะเหล็กกระทบกัน การประสานเสียงของเครื่องครัว”
เป็นการบรรยายที่ทำให้คนอ่านมองเห็นภาพได้โดยไม่ต้องบรรยายภาพอะไรเลย
แล้วถ้าจะบอกตรงๆ อย่างเดียว มันโอเคไหม
แน่นอนอยู่แล้ว บางครั้ง คุณอาจขี้เกียจจะใช้วิธีแสดงให้เห็น ก็ต้องบอกเล่าให้เต็มที่ แต่ถ้าเป็นไปได้ พยายามอย่าอธิบายยืดเยื้อจนทำให้นิยายน่าเบื่อ คุณอาจจะเขียนแบบรวบรัดกระชับให้ได้ใจความ ไม่ต้องเปิดเผยทุกอย่างจนเกินไป อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกเราไม่อยากให้เครียดกับการเขียน เพราะจริงๆ แล้ว นักเขียนที่ทำผลงานได้ดี ไม่ใช่คนที่ยึดติดกับวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่เป็นคนที่ทดลองหลากหลายวิธี และยินดีที่จะเรียนรู้อยู่เสมอนั่นเอง
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
2 ความคิดเห็น
ดีมากค่ะ
ประสบปัญหาเรื่องนี้พอดี ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ